LITTLE TREE ROOM ห้องทดลองในป่าเล็กกับความฝันที่ไม่เล็กของ วิทย์ Little Tree

WORK

ในอาณาเขตของบ้านหลังน้อยที่ห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ วิทย์–ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง เปิดประตูห้องทำงานส่วนตัวขนาดอบอุ่น ชี้ชวนให้เราดูกองทัพต้นไม้ที่เขาขนมาไว้เป็นสมาชิกประจำห้อง ตั้งแต่ต้นอะกาเวในกระถางเล็ก กิ่งหมากผู้หมากเมียในหลอดแก้ว เฟิร์นป่าใบเรียงสวยในโหลใส่น้ำ เศษใบไม้แห้งที่นำมาจัดเรียงเป็นงานศิลปะ ก่อนบอกเราว่ากองทัพสีเขียวทั้งหมดนี้เป็นทั้งการทดลอง และการพักผ่อนของเขา

“เดิมห้องทำงานเป็นห้องเล็กๆ ตรงริมน้ำของสวน แต่ว่าพอลูกค้าเริ่มเยอะขึ้นก็เลยยกพื้นที่นั้นให้เป็นส่วนของร้าน Little Tree ไป แล้วพอดีห้องนี้เป็นห้องเก็บของเก่าที่มีระเบียง มันก็ดีกับการปลูกต้นไม้มาก เอาไว้พักต้นไม้ แขวนต้นไม้ เวลาเหนื่อยๆ ก็เอาออกมารับแสงแดดได้”

“ห้องนี้เป็นเหมือนห้องทดลองต้นไม้ เอาต้นนั้นต้นนี้มาลองปลูกด้วยวิธีการที่ไม่ได้ใหม่หรอก แต่เป็นวิธีการที่เราเคยเห็นคนในครอบครัวทำกันมาตั้งแต่เด็กๆ อย่างการปลูกไม้โชว์ราก แต่ก่อนที่บ้านก็เอากิ่งไม้ที่ตัดมาปักไว้ในขวดแบนบ้าง ขวดกลมบ้าง” เจ้าของสวน Little Tree ชายผู้ถูกคนจดจำในฐานะนักออกสวน A List ของเมืองไทยและผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้บอกเรา

“ด้วยความที่คนเขามองเราว่า โห…เป็นกูรูเรื่องต้นไม้ ต้องแม่นเรื่องต้นไม้ทุกอย่าง (หัวเราะ) ก็จะชอบมีคำถามจากทางบ้านมาว่าต้นนี้ปลูกในร่มได้ไหม ต้นนั้นจะตายรึเปล่า เอ๊ะ! หรือจะปลูกต้นไหนดี เพราะสมัยนี้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีพื้นที่ปลูกต้นไม้นอกบ้านเท่าไหร่ แต่จริงๆ คือเราไม่ได้รู้หมดทุกอย่าง เพียงแต่เราเติบโตมากับต้นไม้ เราเลยต้องลองขนต้นนั้นต้นนี้มาทดลองปลูกในห้องด้วยตัวเอง”

“ถ้าไม่ทดลองเองเราก็ตอบเขายาก อยากมั่นใจว่ามันปลูกได้จริงๆ รอดนะ ทนนะ แล้ววิธีดูแลต้องรดน้ำวันละกี่ครั้ง ก็จะคอยสังเกตแล้วบันทึกข้อมูลเก็บไว้”

พอต้องทำงานกับต้นไม้ โต๊ะทำงานของวิทย์จึงถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้เป็นโต๊ะทำงานไม้สักขนาดใหญ่ร่วม 2 เมตร หุ้มด้วยสังกะสี เขาว่าง่ายต่อการทำความสะอาดเวลาเลอะปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เลอะดินเวลาทำสวนขวดแก้ว เลอะน้ำเวลารดดูแลต้นไม้ แถมยังเรียบเนียนจนสามารถเป็นแผ่นรองเวลาสเก็ตช์งานในตัวได้ง่ายๆ

“ห้องทำงานต้องไม่ใช่แค่สถานที่ทำงาน แต่ต้องมีอารมณ์สุนทรีย์ ต้องมีความเป็นเรา ไม่ใช่เป็นออฟฟิศมีแต่เอกสาร มีแต่คอมพิวเตอร์ ไม่มีชีวิต ออฟฟิศเราต้องมีต้นไม้ ต้องมีข้าวของตกแต่งที่ใช้งานได้ แล้วก็ส่วนใหญ่เป็นสไตล์เรา เวลานั่งคิดงานในพื้นที่ที่เราชอบ มันมีความสุข พอมีความสุขจะคิดอะไรมันก็ง่าย อย่างสมัยเรียนเราเคยต้องไปอยู่บ้านญาติที่กรุงเทพฯ แล้วอยู่ไม่ได้ ทุกวันหยุดต้องกลับมาที่นี่ เราโตมากับต้นไม้ ถ้าไม่มีต้นไม้เราอยู่ไม่ได้ มันไม่ใช่เราจริงๆ”

BALANCE

เจ้าของห้องทดลองสีเขียวบอกเราว่าชีวิตระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวนั้นแทบจะไม่ค่อยสมดุลเท่าไหร่ แต่เขากลับไม่รู้สึกเป็นปัญหา ไม่ได้โหยหาวันหยุดพักผ่อน เพราะต้นไม้คือสิ่งที่เขารักมาตั้งแต่เด็กๆ จนวันนี้

“เราไม่ได้รู้สึกว่าการไม่มีวันหยุดเหมือนคนทำงานออฟฟิศเป็นปัญหาหรือเป็นเรื่องเครียดนะ ทุกวันที่ตื่นมาทำงาน เราก็อยู่กับสิ่งที่เรารักแล้ว ยิ่งพอทำงานอยู่ท่ามกลางต้นไม้ อยู่ใกล้ครอบครัว ก็เลยไม่ได้รู้สึกโหยหาว่าต้องไปพักผ่อน กินอยู่หรูหราที่ไหน หรือสมมติเราเดินทางไปต่างประเทศหรือต่างจังหวัด เราก็ไม่ได้สนใจอย่างอื่นมาก ก็ไปตื่นเต้นกับต้นไมเมืองนอก ไปต่างจังหวัดก็ไปเก็บเกี่ยวความรู้จากต้นไม้แปลกๆ ที่เราเห็นระหว่างการเดินทาง (หัวเราะ)”

“เวลาได้เห็นต้นไม้ในสวนเติบโต เวลาเห็นต้นไม้ที่เราปลูกอยู่ได้หลายปี นั่นคือความภูมิใจ คือความสำเร็จของเราแล้ว”

LIFE

เจ้าของห้องทดลองสีเขียวบอกเราว่า เส้นทางการเป็นนักออกแบบสวนของเขาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรักและผูกพันมาตั้งแต่เด็กๆ แม้แต่เราเองก็เพิ่งได้รู้ความลับว่า เขาคือแชมป์ปลูกผักประจำโรงเรียนที่หาคนมาโค่นตำแหน่งลงได้ยากมาก

“เมื่อคืนเราก็นั่งคิดกับตัวเองนะว่าต้นไม้อยู่ในสายเลือดเราแต่เด็กเลย อย่างตอนประถมเราก็ตื่นเต้นอยากมีต้นหม่อนเหมือนเพื่อนในห้องหลังจากเขาชวนเรากินผลของมันดู หรือตอนประกวดดูแลแปลงผัก เราก็ไม่ได้คิดว่าเราต้องได้รางวัลหรือเป็นแชมป์นะ แต่เหมือนเราไปเช้า เราก็เอาเวลาตรงนั้นไปรดน้ำ เก็บวัชพืช พรวนดิน”

“ครั้งหนึ่งคุณครูให้แต่ละห้องแข่งกันปลูกผักบุ้งจีน เราก็ได้ที่หนึ่งอีก จำได้ว่างอกงามมาก ต้องตัดแจกกันกลับบ้านเลย (หัวเราะ) แต่เราไม่รู้ตัวว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่าแพสชัน เราก็ไม่ได้เรียนต่อด้านนี้ แต่พอสะสมต้นไม้มากเข้า รักต้นไม้มากเข้า ก็กลายมาเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้”

นอกจากการเป็นนักออกแบบสวนและอดีตแชมป์ปลูกผัก ปัจจุบัน วิทย์คือชายผู้ส่งต่อความสุขสีเขียวให้คนอื่นๆ ที่แวะเวียนมายังบ้านน้อยในป่าใหญ่ของเขาและครอบครัว

“เวลาเห็นคนอื่นมีความสุขกับต้นไม้ที่เราปลูก เราก็มีความสุขไปด้วย แค่เห็นเขามาสูดอากาศ มาดูต้นไม้โบราณ มาดูลูกอินลูกจันที่ร่วงตามต้น หรือเดินเก็บดอกปีบ ดอกแก้วที่ร่วงตามพื้นมาดมก็ชื่นใจแล้วนะ เพราะเรามีความสุขของเราอยู่แล้วในพื้นที่สีเขียวตรงนี้ แต่พอมีคนอื่นมาเห็นแล้วเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากกลับไปปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ที่มีอยู่ เห็นคุณค่าของต้นไม้มากขึ้น ก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราอยากทำต่อ อยากขยายพื้นที่สีเขียว พอมีกำลังทุน กำลังทรัพย์ก็อยากขยายอาณาจักรสีเขียวออกไปเรื่อยๆ” เขาแบ่งปันความฝันให้เรารับรู้ผ่านทั้งคำพูดและการกระทำ

“นี่มันต้นอะไรหรอคะพี่วิทย์”

“ลองปลูกดูสิ”

ฉันผู้ไม่เคยปลูกต้นไม้รับเมล็ดพันธุ์นิรนามจากเขาด้วยความหวังเล็กๆ ว่ามันจะงอกเงยเป็นต้นไม้ใหญ่สักวัน

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR