จงพักใจและใช้ชีวิต เยือน ‘สมิงพระราหูบุ๊คคลับ’ บ้านที่รักของอุรุดา โควินท์

Highlights

  • ‘สมิงพระราหูบุ๊คคลับ’ คือบ้านในปัจจุบัน ของนักเขียน อุรุดา โควินท์ ที่เปิดเป็นห้องพักให้เพื่อน คนรู้จัก นักอ่าน นักท่องเที่ยว มาเปลี่ยนบรรยากาศกันที่เชียงราย
  • สมิงพระราหูคือชื่อสุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ที่อุรุดารักมาก ปัจจุบันมันไปวิ่งเล่นอยู่บนสวรรค์ แต่ยังคงถูกเรียกขานในฐานะชื่อที่พักและห้องสมุดที่เธอเปิดในบริเวณเดียวกัน
  • อุรุดาและอติภพ คนรัก ตกแต่งห้องพักอย่างเรียบง่าย ทำอาหารเช้าให้ ถ้าอยากอ่านหนังสือก็แค่เดินไปเปิดไฟเปิดแอร์ในห้องสมุดที่มีหนังสือหลากหลาย บริการตนเองและใช้เวลาตามสบาย ทำให้บางคนที่แม้เพิ่งจะออกเดินทางไป วกกลับมาพักใหม่อีกครั้ง

“อยากมีบ้าน” วันก่อนฉันเปรยขำๆ ระหว่างเดินเล่นดูของแต่งบ้านคราฟต์ๆ ในงานแสดงสินค้า เพื่อนสองคนหันขวับมามองหน้าในทำนองว่า เพ้ออะไรของแก พูดอย่างกับทุกวันนี้ไม่มีบ้านอยู่ ฉันรีบแก้ต่างให้ตัวเองว่า “อยากมีบ้านของตัวเองไง จะได้แต่งได้ตามใจ” แต่ก็ได้แค่คิดๆ ไปเท่านั้น แค่ห้องที่ตัวเองอยู่ทุกวันนี้ยังจัดการให้ถูกใจไม่ได้ จะเอาอะไรกับการมีบ้าน

อาจเพราะแบบนี้ฉันเลยชอบการย้ายที่นอน ขอแค่เปลี่ยนบรรยากาศการใช้ชีวิตชั่วข้ามคืน ไปเห็นการแต่งบ้านแต่งห้องสวยๆ ของคนอื่น เปลี่ยนความนุ่มของหมอน เปลี่ยนอาหารที่เคยกิน เปลี่ยนมุมที่คอยมองแดดเช้าส่องเข้ามา เท่านี้ก็รู้สึกสดชื่นคึกคักกับวันใหม่

ว่าแล้วใจก็นึกย้อนไปถึงวันที่ไปหลบนอนในบ้านพักกลางสวนลิ้นจี่ วันที่กรุงเทพฯ เริ่มร้อนจนน่ารำคาญ ใจก็ร้อนพอกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง พอตื่นเช้ามาเจออากาศ 17 องศาของเชียงราย เจอเจ้าของบ้านที่ไม่ได้พบหน้ากันนับปี ฉันก็ยิ้มออก

ที่นั่นคือ ‘สมิงพระราหูบุ๊คคลับ’ บ้านในปัจจุบันของนักเขียน อุรุดา โควินท์ เรารู้จักกันในฐานะนักเขียน-นักอ่าน และแน่นอนว่าฉันเป็นเพียงหนึ่งในนักอ่านหลายคนที่ตามไปพักใจที่บ้านหลังนี้ นับตั้งแต่อุรุดาเปิดส่วนหนึ่งของบ้านเป็นห้องพักเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ห้องที่ฉันนอนชื่อก้านเมฆ อีกห้องที่อยู่ติดๆ กันชื่อดาลิยา ชื่อห้องคือชื่อตัวละครในนิยายของเธอ ส่วนสมิงพระราหูคือชื่อสุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ที่อุรุดารักมาก ปัจจุบันมันไปวิ่งเล่นอยู่บนสวรรค์ แต่ยังคงถูกเรียกขานในฐานะชื่อที่พักและห้องสมุดที่เธอเปิดในบริเวณเดียวกัน

บ้านก็คือบ้าน อุรุดาตกแต่งห้องพักอย่างเรียบง่าย ทำอาหารเช้าให้ เราใช้เวลาในรั้วเดียวกันเหมือนมาค้างบ้านเพื่อน ช่วงบ่ายๆ ก็มีหมาของเพื่อนบ้านวิ่งมาเล่นซนในสวน ถ้าอยากอ่านหนังสือก็แค่เดินไปเปิดไฟเปิดแอร์ในห้องสมุดที่มีหนังสือหลากหลาย บริการตนเองและใช้เวลาตามสบาย เอาคอมพิวเตอร์ไปนั่งทำงานฉันก็ทำมาแล้ว

โรงแรมสวยๆ ฉันก็ชอบ แต่ถ้าถามว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้อยากกลับไปที่บ้านหลังนั้นอีก–คงเพราะมันมีพลังชีวิตบางอย่างที่ฉันไม่พบจากที่อื่น

ชีวิตในบ้านใหม่ ชีวิตใหม่ของบ้าน

จะแนะนำบ้านก็ควรเริ่มจากเจ้าของบ้าน ความฝันแรกในชีวิตของอุรุดาคือเป็นมัณฑนากร ปัจจุบันแม้จะไม่ได้เกี่ยวพันกับอาชีพนี้แต่อย่างใด แต่ความฝันที่จะมีบ้านของตัวเองและความรักในการแต่งบ้านยังคงอยู่ บ้านหลายหลังที่โยกย้ายไปอยู่มาในชีวิต เธอจัดการดูแลจนน่าอยู่ ตัวอย่างเช่นบ้านของอดีตคู่ชีวิต กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่พรหมคีรีนั่นอย่างไร

ชีวิตจะพาเธอกลับมาอยู่ที่เชียงรายบ้านเกิดหลายที แต่ก็มีเหตุติดขัด จนกระทั่งน้องสาวแท้ๆ เจ้าบ้านคนเก่าย้ายที่อยู่อาศัย อุรุดากับคนรัก ต้น–อติภพ ภัทรเดชไพศาล จึงกลับมาอยู่ที่นี่ และรับหน้าที่ปรับห้องเช่ารายเดือนเดิมที่มีอยู่เสียใหม่ เปิดเป็นห้องพักให้เพื่อน คนรู้จัก นักอ่าน นักท่องเที่ยว มาเปลี่ยนบรรยากาศ

พื้นที่ดั้งเดิมตรงนี้คือสวนลิ้นจี่กลางเมืองเชียงราย แต่ลิ้นจี่ที่นี่ออกจะแปลกตาเพราะมันสูงใหญ่อย่างกับก้ามปู ทางเดินในสวนโรยด้วยหิน บ้านขนาดย่อมและขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ในที่ดิน หลังตรงกลางที่เคยเป็นร้านอาหาร ปัจจุบันเป็นพื้นที่เสิร์ฟอาหารเช้า ข้างๆ กันเป็นห้องสมุดน่านั่ง

“พอเรามาอยู่ที่ผืนนี้ มันเปลี่ยนไปเยอะจนน้องเขยบอกว่ามันไม่เหมือนเดิมเลย” เธอหัวเราะ ก่อนจะบรรยายว่าก่อนหน้านี้ที่นี่เป็นอย่างไร พื้นที่บางส่วนอย่างห้องสมุดเคยเป็นห้องเก็บของที่รกมาก ห้องเช่ารายเดือนก็เคยเลอะเทอะมาก่อน ต้องเก็บขยะนับสิบๆ ถุง ทาสีใหม่ ต้นไม้บางส่วนต้องนำออกเพื่อให้สวนโปร่งและสะอาดสะอ้านมากขึ้น ถือพร้าดายหญ้าเธอก็ทำมาแล้ว

การจะปรับปรุงพื้นที่กว้างขนาดนี้ได้ต้องอาศัยทั้งระยะเวลาและความอดทน เพราะเธอกับคนรักลงมือทำกันเองเกือบหมด ยกเว้นบางส่วนที่จำเป็นต้องจ้างช่างมาแก้ไข จะได้ประหยัดเงินและได้ปรับบ้านให้เป็นอย่างใจต้องการ บางวันภารกิจนี้ก็ชวนเหนื่อยจนไม่อยากลุกมาทำอะไร แต่เมื่อเริ่มแล้วก็ต้องทำให้เสร็จ

“เราวาดกรอบทำงานให้มันเล็ก แล้วทำไปทีละกรอบๆ ทำส่วนที่ง่ายก่อน บางวันมีแรงฮึบก็ไปทำส่วนยากๆ พอทำเสร็จมานั่งดูตอนนี้ เออ โคตรมีความสุขเลย เราภูมิใจที่มันพัฒนาขึ้น สวยขึ้น แม้มันไม่ใช่ของเรา ตอนนี้ไม่มีตังค์ก็ไม่เป็นไร เงินหาใหม่ได้” เธอหัวเราะสดใสและเอ่ยอย่างภูมิใจ “เชื่อไหมว่ามันคือเงินเขียนหนังสือ เงินทำน้ำพริก ที่ปรับที่ผืนนี้จากที่มันระเกะระกะจนเจ้าของเขาบอกว่า โห มันน่าอยู่ ชมพูทำสวย”

อาจไม่ใช่แค่เจ้าบ้านคนเก่าเท่านั้นที่รับรู้การเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ยังรวมถึงต้นไม้ในสวนที่พากันงอกงามแม้ในหน้าแล้ง ด้วยการดูแลจากเจ้าบ้านคนปัจจุบัน

บ้านแบบอุรุดา ที่พักแบบอุรุดา

คืนแรกพวกเราออกมานั่งคุยกันช่วงดึก อากาศเย็นสบายและไม่มียุงสักตัว “บ้านแบบอุรุดาต้องเป็นแบบไหน” ฉันโยนคำถาม

“ต้องมีครัวที่พร้อมใช้งานหนัก พร้อมเลี้ยงคน ไม่สวยไม่เป็นไร ทุกอย่างในบ้านต้องมีประโยชน์ใช้สอย มีของให้น้อยที่สุด จะได้ไม่เหนื่อยเช็ดทำความสะอาด มีตู้เสื้อผ้าใหญ่ ทุกอย่างต้องมีที่เก็บเป็นที่เป็นทาง” เธอตอบ

คำตอบเป็นอย่างไร ที่พักก็เป็นอย่างนั้น อย่างเช่นห้องก้านเมฆซึ่งแต่งด้วยโทนสีฟ้า อุรุดาแต่งห้องด้วยหนังสืออ่านสบาย บ้านเซรามิกเล็กๆ เพียง 2 หลัง ดอกไม้จิ๋วในแจกันที่เธอหยิบมาใส่ด้วยตัวเอง โต๊ะในห้องนอนก็เรียบง่าย ไม่วางอะไรให้ระเกะระกะนอกจากกระจกบานเล็กให้แต่งหน้า มีราวแขวนเสื้อโปร่งๆ ที่ไม่ทำให้ห้องอึดอัด ที่สำคัญคือเตียงนอนและผ้าห่มนุ่มสบายไม่แพ้โรงแรมจนอยากจะขดตัวนอนอยู่ในนั้นไปจนสาย

ฉันไม่รู้จะมีคำไหนนิยามการใช้ชีวิตของอุรุดาได้ดีไปกว่าคำว่า practical เพราะมันเป็นชีวิตที่ ‘จริง’ และ ‘ใช้งานได้จริง’ พอถึงเวลาที่เธอต้องออกแบบที่พัก เธอก็คัดสรรแต่สิ่งที่จำเป็นและพอดีสำหรับคนอยู่ ทั้งยังดูแลง่ายสำหรับเจ้าของ

“เวลาไปพักที่ไหน เราไม่ชอบนอนโรงแรมหรูหราหรือเป็นทางการที่ให้ความรู้สึกว่าตัวเราเล็ก เรามองหาที่แบบนี้และเราก็สร้างที่ที่เรามองหา ที่ที่มีอาหารเช้าอร่อยพร้อมเตียงที่ดี ห้องที่สะอาด คนเราต้องการแค่สะอาดและสบายนี่แหละ สบายในที่นี้หมายถึงสบายใจด้วยว่าเจ้าของอัธยาศัยดี เป็นมิตร”

แม้ตอนแรกอติภพจะทักท้วงว่าจะมีใครมาพักที่นี่ แต่อุรุดาก็เชื่อว่าต้องมีคนที่ตามหาสิ่งเดียวกัน แล้วมันก็เป็นจริงตามนั้น บางคนเพิ่งออกเดินทางไปต่อแล้วก็ยังวกอยากกลับมาพักอีก

“ส่วนหนึ่งที่เราทำที่พักก็เพราะเราก็ไม่ได้อยากอยู่กันแค่สองคน ไม่อย่างนั้นมันจะปิดมาก มันเหงา เราอยากเจอคน คุยกับคน เราทำทุกอย่างเองเป็นส่วนใหญ่เพราะอยากให้เกิดความรู้สึกว่าเขามานอนในบ้านของเรา สำหรับเรา การได้เจอคนคือการได้เจอตัวละครและได้รับพลังงาน คนที่มามักจะมาสถานที่แบบนี้ด้วยพลังงานที่ดี เราจะสะท้อนกันไปมา ทุกคนมีแต่ความน่ารัก ต้นซึ่งเป็นคนขี้อายยังรู้สึกเลยว่าคนที่มาพักกับเราเป็นคนคล้ายๆ เราคุยกันได้”

ไม่ทันไร อติภพซึ่งเป็นผู้ดูแลเครื่องดื่มประจำที่พักก็เสิร์ฟจินโทนิกกับม็อกเทลรสชาติดีให้พวกเรา แกล้มบรรยากาศการพูดคุยให้ออกรสขึ้น ในห้องพักจะมีเมนูเครื่องดื่มค็อกเทลวางไว้ให้เห็น พวกเขาเลือกใช้แต่ของดีเหมือนชงดื่มเอง เมนูจึงแล้วแต่ว่าเดือนนั้นได้อะไรมา แต่เครื่องดื่มมาตรฐานเช่น Old Fashioned หรือ Bee’s Knees จะมีอยู่ตลอด อนาคตถ้าอะไรเข้าที่เข้าทาง เคาน์เตอร์บาร์ อาหารเช้า กับห้องสมุดจะเปิดให้บริการคนนอกเป็นเวลาชัดเจน

แค่จินตนาการว่ากำลังนั่งอยู่ในห้องสมุด ค่อยๆ พลิกหน้ากระดาษ จิบอะไรเย็นๆ และมีบทสนทนาแกล้ม ใจก็อยากอยู่ตรงนั้นตลอดไปแล้ว คุณว่าไหม

อาหารที่อิ่มทั้งกายและใจ

หากไม่เล่าถึงอาหารฝีมืออุรุดาก็คงเหมือนมาไม่ถึงที่นี่ เช้าวันถัดมาเธอทักทายฉันด้วยคำเชิญให้เข้าไปในครัว ดูวิธีการทำไข่กระทะให้กลับไปทำที่บ้านได้ ไข่กระทะสำหรับ 2 ที่ของเธอใช้ไข่ไก่สด 4 ฟองที่ยังไม่เข้าตู้เย็นเท่านั้น เครื่องเคราต่างๆ อย่างแฮม เบคอน หอมใหญ่ พริกหวาน มะเขือเทศ ก็จัดเต็มอย่างไม่เคยเห็นที่ไหนทำ เธอแนะว่าไม่ต้องปรุงอะไรเยอะเพราะเบคอนให้รสชาติอยู่แล้ว น้ำผักที่ออกมาก็ช่วยทำให้รสกลมกล่อมขึ้นและช่วยทำให้ทุกอย่างสุกพอดีได้ในไฟอ่อน ไม่ต้องใช้น้ำมันเยอะ

เมื่อเสิร์ฟขึ้นโต๊ะ การจัดโต๊ะและจานชามสวยๆ ก็ยังเป็นซิกเนเจอร์ของอุรุดา เมนูนี้เธอเสิร์ฟให้แขกได้กินตอนร้อนๆ เท่านั้นเพื่อให้ไข่แดงเป็นครีมที่อร่อยที่สุด นอกจากนี้ก็ยังมีขนมปังอุ่นๆ กาแฟที่อติภพดริปให้ (เป็นเมล็ดกาแฟจากในท้องที่เชียงรายนี่เอง) น้ำส้มคั้นสดที่เย็นสดชื่นแบบไม่ง้อน้ำแข็ง พร้อมผลไม้ล้างปากอย่างมะม่วงสุก สำหรับฉันทุกอย่างอร่อยมาก โดยเฉพาะไข่กระทะรสชาติกลมกล่อมชุ่มฉ่ำ ปริมาณก็อิ่มสมกับที่อุรุดากล่าวไว้ว่า “กินแล้วอยู่ไปถึงบ่ายโมงเลย อาหารเช้าเราน่ะ”

ฉันชอบที่เธอบอกว่าที่พักที่มีอาหารเช้าอร่อยและอิ่มท้องจะช่วยให้ผู้มาพักประหยัดเงินและเวลา มีพลังงานออกไปเดินทางต่อได้เลย จุดสำคัญที่อุรุดาไม่เคยลืมก็คือการสอบถามก่อนเสมอว่าคนมาพักกินอะไรไม่ได้บ้าง หรือมีเมนูอะไรอยากกินเป็นพิเศษไหม ถ้าพอคุ้นเคยกัน เธออาจจะชวนคุยว่าอยากกินเมนูนี้ไหม จะได้ทำแบ่งกัน เธออยากให้เพื่อนที่มาพักได้กินสิ่งที่อยากกินจริงๆ  

คนส่วนใหญ่ชอบกินไข่กระทะ แต่ยังมีเมนูอื่นๆ อีก เช่น สตูผักแบบเอเชียกลางที่เหมาะกับหน้าหนาว สลัดมันฝรั่งเสิร์ฟเย็นที่เหมาะกับหน้าร้อน ข้าวต้มเครื่องแน่น ขนมจีนผัด และข้าวคลุกกะปิที่เจ้าบ้านมั่นใจในรสมือ ไม่ว่าเมนูไหน เธอประณีตกับมันเสมอ ถ้าจะทำสลัดมันฝรั่ง เธอก็จะไม่ยอมทำแช่เย็นไว้ข้ามคืน แต่จะปรับเวลาตื่นเร็วขึ้น เผื่อเวลาต้มมันฝรั่งและแช่เย็นพักไว้ในเวลาพอดิบพอดี ทำให้ได้รสชาติอร่อยที่สุด

“อาหารบางอย่างอาจแพงด้วยวัตถุดิบ แต่อาหารบางอย่างก็แพงด้วยวิธีการทำ มันอยู่ที่ความประณีตและเวลาที่ให้ลงไป เช่นถ้าทำอเมริกันเบรกฟาสต์แล้วต้องซื้อมาหมดก็แพง แต่บางคนก็ใช้วิธีลวกไส้กรอกให้เราเพราะมันเร็วดี ไม่ได้กริลล์ให้ อย่างนี้ของแพงก็กลายเป็นของถูกด้วยวิธีการทำ” เธอเล่า

เวลาคุยกับอุรุดา ไม่ว่าเรื่องอะไร แปลกดีที่กลับรู้สึกว่าเธอกำลังพูดถึงวิธีการใช้ชีวิตอยู่ทุกทีเลย

บ้านคือทุกอย่างที่เป็นเรา

เมื่อได้เห็นสิ่งที่อุรุดาและคนรักตั้งใจทำ ฉันก็อดประหลาดใจไม่ได้เมื่อรู้ว่าเธอไม่ได้ยึดติดอะไรหากวันหนึ่งจะเกิดเหตุให้ย้ายออกจากที่นี่ โยกย้ายที่อยู่อาศัยเหมือนที่เคยเป็นมา แต่ทั้งๆ ที่รู้เช่นนี้ เธอก็ดูแลสถานที่แห่งนี้อย่างดีเหมือนว่าจะปักหลักอยู่ไปอีกนาน

“ถ้าหากเราไม่มีพื้นที่ของเรา ศักยภาพของเราจะถูกจำกัด” เธออธิบาย “พื้นที่ที่เราเคยอยู่เป็นพื้นที่ชั่วคราว อยู่แล้วก็ไปๆ แต่เรารู้ว่าในช่วงเวลาที่มีพื้นที่ของตัวเอง ในศักยภาพที่เรามี เราจะทำได้หมดเลย เวลาแค่หนึ่งปีก็ถือว่าถาวรแล้วสำหรับเรา เราต้องอยู่อย่างสบายใจ เพราะหนึ่งปีทำอะไรได้เยอะมาก พอได้ทำบ้านที่นี่ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำและไม่คิดว่าจะทำได้ มันก็ทำให้รู้ว่าเราทำอะไรได้อีก มันเพิ่มศักยภาพในตัวเรา”

ทุกวันนี้อุรุดาแบ่งเวลาช่วงกลางวันมาดูแลที่พักและไปจ่ายตลาด เธอไม่ได้รู้สึกเหนื่อยว่ากำลังทำงานบริการ แต่มีความสุขมากกว่าที่จะได้ต้อนรับ ‘เพื่อน’ มานอนบ้าน ส่วนตอนกลางคืนก็เป็นเวลาเขียนหนังสือ บางคนอาจมองวิถีชีวิตแบบนี้ว่ายุ่ง แต่เธอไม่คิดแบบนั้น

“มันเหมาะกับธรรมชาติเราอยู่แล้วที่ไม่ชอบอยู่เฉยๆ พอบ้านเสร็จ เราก็เริ่มคิดนิยายเรื่องใหม่ พอถึงหน้าฝนคนมาพักน้อยลงก็ให้เวลากับการเขียนมากขึ้น ชีวิตมันไม่ได้อยู่กับที่ตลอดเวลานะ ถ้าเรามอง เราเห็นว่านี่หน้าหนาวแล้ว ร้อนแล้ว ฝนแล้ว เราก็ปรับไปตามฤดู ชีวิตมันเป็นอย่างนั้น ถึงที่สุดถ้าเราพอใจและอยู่ได้ เห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด ณ ช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งคุณค่ามันอาจจะเปลี่ยนไปอีกก็ได้”

ฉันได้เห็นชีวิตชีวาที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้แล้วก็อดถามไม่ได้ว่า ถ้าอยากมีพื้นที่แบบนี้บ้าง เราจะต้องเริ่มจากตรงไหน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทำอย่างไรเราจะมีชีวิตอย่างที่ได้สัมผัสจากที่นี่

“อันดับแรกเลยคือเราต้องไม่ขี้เกียจนะ” อุรุดายิ้ม “ถ้าเราอยากทำจริงๆ อยากได้จริงๆ เราจะลงแรงเอง ถ้าอยากได้แล้วยังไม่ทำ แสดงว่าเรายังไม่ต้องการมันจริงๆ”

“ลองเริ่มลงมือทำจากจุดเล็กๆ ก่อน ความสำเร็จในจุดเล็กๆ จะทำให้เราชื่นใจและมีกำลังใจไปทำอีกจุดหนึ่ง เราใช้วิธีนี้เหมือนการวิ่งและการเขียน คนต้องให้กำลังใจตัวเองเป็นอันดับแรก และกำลังใจที่ดีที่สุดก็คือความสำเร็จ แต่เราต้องนับมันเป็นความสำเร็จด้วยนะ อย่าไปคิดว่าลำบากจังเลย ถ้าเราคิดว่าทำไมต้องมาทำที่นี่ เหนื่อยก็เหนื่อย เราจะไม่รู้สึกว่ามันสำเร็จอะไรตรงไหนเลย มันอยู่ที่เราด้วยว่าเรารู้สึกว่างานที่ทำมันมีประโยชน์อย่างไร มีความหมายกับเราและคนอื่นอย่างไร มีภาพรวมที่อยากเห็นทดไว้ในใจ แล้วค่อยๆ ทำไปจนถึงจุดนั้น มันต้องไปถึง”

เมื่อถึงเวลาบอกลาสมิงพระราหู ฉันมองดูต้นหมากรากไม้ ห้องสมุดที่ได้ใช้นั่งทำงาน เบื้องหลังสิ่งที่มองเห็นคือน้ำพักน้ำแรงและความตั้งใจที่ทำให้ที่นี่น่าอยู่ เวลานั้นแดดเช้ากำลังไล่ทักทายพื้นที่ต่างๆ ของบ้าน ฉันนึกถึงประโยคแรกๆ ที่อุรุดาเอ่ยว่า บ้านน่ะ มันบอกทุกอย่างที่เป็นตัวเรานะ

เธอกล่าวไว้ไม่ผิดจริงๆ

 


สมิงพระราหูบุ๊คคลับ

address : ถนนวัดใหม่หน้าค่าย ซอย 3 อำเภอเมืองเชียงราย

facebook :Samingbookclub (สอบถามเรื่องการจองที่พักได้ทาง inbox เพจ)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย