พักใจในธรรมชาติกลางกรุงที่ Natura Garden Cafe คาเฟ่ในสวนลิ้นจี่ร้อยปีริมคลองบางขุนเทียน

Highlights

  • Natura Garden Cafe คือคาเฟ่ในภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ร้อยปีที่เจ้าของอย่าง เอ๋–พรทิพย์ เทียนทรัพย์ และ แอนดี้–อันดามัน โชติศรีลือชา ตั้งใจดูแลรักษาพื้นที่ธรรมชาติในเมืองกรุงไว้อย่างภูมิใจ
  • สวนเป็นมรดกจากบรรพบุรุษของเอ๋ผู้เป็นแม่ของแอนดี้ จากการศึกษาประวัติศาสตร์ในพื้นที่ทำให้เธอและลูกชายพบว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เพราะได้ผลผลิตเป็นลิ้นจี่รสชาติหวานไม่เหมือนใคร
  • แม้ว่าตอนนี้ลิ้นจี่จะออกนานทีปีหน แต่แอนดี้ก็อยากทำให้ชุมชนแห่งนี้ยังคงขับเคลื่อนวิถีชีวิตชาวสวนไปได้ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้เกษตรกรรมในเมืองกรุง นำรายได้กระจายสู่ชุมชน เพื่อให้เกษตรกรยังคงวิถีเดิมได้อย่างยั่งยืน
  • พวกเขาจึงเปิดพื้นที่สวน สร้าง public space อย่างคาเฟ่ขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงที่นี่กับคนอื่นๆ ในชุมชน โดยออกแบบให้พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจแสดงตัวตนของวิถีริมคลองบางขุนเทียนผ่านอาหารที่ทำ และได้บริษัท ธ.ไก่ชนมาช่วยออกแบบคาเฟ่ไม้ไผ่ในสวนลิ้นจี่นี้ด้วย

ในฐานะเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ใหม่ๆ เราแอบทำใจไว้ว่าอาจไม่ได้ตื่นมาเจอกับต้นไม้และธรรมชาติแบบที่เคยทำได้ตอนอยู่ที่บ้าน

แม้จะแอบหวังใจว่าคงมีสักพื้นที่ที่คอยต้อนรับเราอย่างเป็นมิตรด้วยต้นไม้ ดอกไม้ และความเขียวขจี แต่สุดท้ายเราได้เห็นแค่ต้นไม้ต้นเล็กๆ ในกระถางที่ห้อง และความพยายามของชาว a team ที่ปลูกต้นไม้ไว้บนโต๊ะกันคนละต้นสองต้นในออฟฟิศ  

จนกระทั่งเราได้เจอกับ Natura Garden Cafe คาเฟ่ไม้ไผ่ในสวนลิ้นจี่ร้อยปีอย่างภูมิใจการ์เด้น ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความว้าวุ่นและฝุ่นควันใจกลางเมือง

ความคิดที่ว่ากรุงเทพฯ ไม่เหลือพื้นที่เกษตรกรรมให้ได้ไปเยี่ยมเยือนจึงถูกทำลายไป

สวนแห่งนี้มีที่มาจากความตั้งใจและความภูมิใจของแม่ลูกอย่าง เอ๋–พรทิพย์ เทียนทรัพย์ และ แอนดี้–อันดามัน โชติศรีลือชา ซึ่งดูแลสวนมานานนับสิบปี จนหลายคนให้ความสนใจและขอเข้ามาเที่ยวเล่นกัน ทำให้งานอดิเรกหลังบ้านกลายเป็นงานอนุรักษ์ที่มีความสำคัญต่อพื้นที่ทางประวัติศาสตร์

แม้เพื่อนบ้านรอบข้างหลายครัวเรือนจะเลิกทำสวนไปนานแล้ว แต่เจ้าบ้านของภูมิใจการ์เด้นยังคงให้ความสำคัญและดูแลธรรมชาติในสวนมาตลอดโดยเปิดให้เพื่อนๆ หรือคนที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม ที่สำคัญคือทุกอณูของสวนยังคงเต็มไปด้วยวิถีชีวิตเกษตรกรริมคลองดั้งเดิมไม่ผิดเพี้ยน

ท่ามกลางเสียงจอแจของผู้คนและกลิ่นควันเครื่องยนต์บนถนน เราอยากชวนคุณออกมา แล้วมุ่งหน้าไปเจอกับธรรมชาติ แวะพักกายใจใกล้ร่มต้นไม้ที่นี่กัน

 

‘ภูมิใจการ์เด้น’ สวนลิ้นจี่ร้อยปีที่เจ้าของภูมิใจ

พื้นที่สีเขียวเต็มสวน เคราฤาษีแขวนบนต้นลิ้นจี่มากมาย คลองท้องร่องตรงกลาง และคาเฟ่ไม้ไผ่สีน้ำตาลอ่อน คือภาพที่เราได้เห็นหลังจากเดินผ่านประตูไม้ไผ่เข้ามา ลมพัดอ่อนๆ และความร่มรื่นของที่นี่ทำให้เราต้องเอ่ยปากชมการดูแลกับเจ้าบ้านอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่เขาจะเริ่มเล่าถึงที่มาของสวนแห่งนี้

“ภูมิใจการ์เด้นเป็นโครงการที่คุณแม่ริเริ่มดูแลและปรับปรุงสวนที่เสื่อมโทรมในพื้นที่กว่า 8 ไร่ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ของบรรพบุรุษนี้ไว้” แอนดี้เล่า

“สมัยก่อนพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของกรุงเทพฯ จนมีคำกล่าวว่า ‘สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง’ สวนในบางกอกคือย่านบางมด ก็มีส้มบางมด บางประทุนทำเกษตรกรรมอย่างมะพร้าว กล้วย และบางขุนเทียนคือลิ้นจี่ ส่วนสวนนอกบางช้างคืออัมพวา บางคนที ดำเนินสะดวก” 

ด้วยสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพียง 20 กิโลเมตร บางฤดูกาลจะมีน้ำเค็มเข้ามาจนทำให้เกิดน้ำกร่อย ผลไม้เมืองร้อนที่แต่ละย่านปลูกกันเป็นพืชที่รักจืดรักเค็มอยู่แล้วส่งผลให้ลิ้นจี่บางขุนเทียนมีรสชาติหวานกว่าที่อื่น

“มันเลยเป็นเหตุผลว่าในอดีตแถวนี้เขาทำเกษตรกรรมกันหมด ครอบครัวเราศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ก็พบว่ามีรายละเอียดต่างๆ เชื่อมโยงกันอยู่ ที่นี่ยังเป็นย่านการค้าของคนจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย วัดราชโอรส วัดประจำรัชกาลที่ 3 ก็ตั้งอยู่ใกล้ๆ ในยุคนั้นไทยเราเปิดรับวัฒนธรรมจากชาติอื่น ลิ้นจี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่จีนนำเมล็ดเข้ามา ทำให้บรรพบุรุษได้ปลูกกัน” แอนดี้อธิบายให้ฟังอย่างภูมิใจ

ไม่ใช่แค่เพียงลิ้นจี่ แต่แม่และแอนดี้ยังเห็นหลักฐานทางวัฒนธรรมจากวิถีชีวิตหลายอย่างซ่อนตัวอยู่ในสวน เช่น ท้องร่อง คลองขนาดเล็กที่อยู่ตรงกลางสวน เจ้าบ้านบอกว่าจะเห็นท้องร่องได้เฉพาะการทำเกษตรกรรมภาคกลางเท่านั้น เพราะนี่เป็นนวัตกรรมการใช้น้ำดูแลต้นไม้จากมณฑลกวางสี ซึ่งเข้ามาในไทยพร้อมๆ กับลิ้นจี่นั่นเอง 

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน สายลมแห่งกาลเวลาพัดพาให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การทำเกษตรกรรมแปรเปลี่ยนตาม ยิ่งนานวันผลผลิตยิ่งเติบโตช้า รายได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน สวนรอบข้างของบ้านชายหนุ่มจึงทยอยส่งต่อพื้นที่ให้กับนายทุนข้างนอก เพื่อเปลี่ยนจากธรรมชาติสีเขียวเป็นตึกรามบ้านช่องตามธุรกิจและเศรษฐกิจยุคใหม่

“อีกปัจจัยที่ทำให้คนในพื้นที่ไม่เลือกทำเกษตรกรรมอีกแล้วเพราะการพัฒนาเมืองโดยไร้ทิศทางและการวางแผน แต่ก่อนย่านนี้ใช้เรือสัญจรหมด มีตลาดน้ำให้คนได้เอาผลผลิตมาขายกัน แล้วอยู่มาวันหนึ่งถนนเข้ามาเปลี่ยนวิถีคนไปจากเดิม การเดินทางด้วยรถเข้ามาแทนที่เรือ หลายคนขาดรายได้ทันที บางบ้านจึงจำเป็นต้องขายที่ดินเอาเงินก้อน หรือบางบ้านไม่ขาย ไปทำงานอย่างอื่น แล้วปล่อยเป็นที่รกร้างแทน”

ในเมื่อสภาพแวดล้อมและปัจจัยข้างนอกผลักให้คนข้างในต้องออกมา คำถามสำคัญคือทำไมครอบครัวแอนดี้ยังคงเลือกทำสวนอยู่ตรงนี้

“คุณแม่ผมคิดตรงข้ามกับคนอื่น คุณแม่มองว่าพื้นที่แห่งนี้คือที่ทำกินของบรรพบุรุษ มีประวัติศาสตร์ มีคุณค่าทางจิตใจ เพราะมันคือมรดกของแผ่นดิน อย่างที่ดินติดกันของญาติเขาจะขายต่อให้คนอื่น คุณแม่ก็ขอซื้อไว้แล้วปรับปรุงดูแลจากสภาพเสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นสวนอย่างที่เราได้เห็นกันตอนนี้”

กว่าจะออกมาเป็นสวนที่สมบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยอายุของต้นลิ้นจี่กว่าร้อยปีต้องอาศัยวิธีการดูแลจากรุกขกร ทำให้พวกเขาต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดรอบคอบและอดทนดูแลในยามที่สภาพแวดล้อมรอบตัวไม่เหมือนเคย

“ตลอดเวลาที่แม่ผมดูแลสวนมาเป็นสิบปี แม่โดนคำครหาทุกอย่าง เจอมรสุมทุกด้าน คนหาว่าแม่บ้า ทำไปทำไม ทำไปแล้วจะมีคนมาหาเหรอ ทำสวนไปแล้วจะได้ตังค์ได้ยังไง แน่นอนว่ามันไม่ได้ตังค์ แต่มันได้อย่างอื่นกลับมา ได้ความสุขเป็นของตัวเอง ได้เห็นคนอื่นมีความสุข ซึ่งมันเป็นหลักการเริ่มต้นของคุณแม่เลย คือทำในสิ่งที่ใกล้ตัวของเราให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปสนใจคำครหาต่างๆ” 

 

Natura Garden Cafe คาเฟ่ที่พร้อมให้คุณมาพักผ่อนกายใจท่ามกลางธรรมชาติ

หลังจากปรับปรุงดูแลสวน ความเสื่อมโทรมก็ถูกแทนที่ด้วยความสมบูรณ์ ธรรมชาติอันรื่นรมย์เรียกร้องให้ใครที่ผ่านมาอยากเที่ยวเล่นชมสวนในบ้านของแม่และแอนดี้บ้าง

“เดิมทีเราก็เปิดต้อนรับเฉพาะเพื่อนๆ แต่หลังจากนั้นก็มีคนนอกเข้ามามากขึ้น เลยจัดให้เป็นเซสชั่นเล็กๆ พาเที่ยวในสวนพื้นที่ 7-8 ไร่ เรียกว่าการ์เด้นทัวร์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องจองล่วงหน้าและมีค่าเข้า เพราะเราต้องเตรียมอาหาร อุปกรณ์ และการทำงานต่างๆ รวมทั้งหาน้องๆ มาเป็นไกด์เตรียมรับแขกด้วย” 

ยิ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีคนก็ยิ่งสนใจเข้ามาเยี่ยมชมกันหลากหลาย แต่หลายครั้งคนที่ตั้งใจมาที่นี่ไม่รู้ว่าต้องจองล่วงหน้าและจำต้องผิดหวังที่เจ้าบ้านไม่สามารถต้อนรับได้อย่างเต็มที่

“ผมเลยคิดว่างั้นต้องมีสถานที่รับรองคนที่เขามาตรงนี้ด้วย เลยคิดทำ public space ขึ้นมาในสวนให้คนได้มาเดินเล่นพักผ่อนกัน”   

นี่จึงเป็นที่มาของ Natura Garden Cafe คาเฟ่ไม้ไผ่ในสวนลิ้นจี่ร้อยปีนั่นเอง

“คอนเซปต์การสร้างร้านของเราคือ นำเรื่องวัฒนธรรมการกินเข้ามาสื่อสารกับคนที่เขาเข้ามา เพราะผมเชื่อว่าการที่เราจะอธิบายอะไรก็ตามถ้าเราสื่อสารผ่านทางอาหารจะเข้าถึงคนได้มากที่สุด เป็นการสื่อสารที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด” 

ระหว่างบทสนทนา จานเมี่ยงพร้อมใบชะพลูและตะลิงปลิงก็วางเสิร์ฟบนโต๊ะของเราพอดิบพอดี

“เมี่ยงคืออาหารท้องถิ่นของที่นี่ เดี๋ยวผมจะสอนทาน” แอนดี้เริ่มอธิบายพร้อมหยิบใบชะพลูขึ้นมา “เมี่ยงที่นี่จะทานแบบคลุกมาแล้ว เราใช้ส่วนผสมต่างๆ จากสวนมาเป็นวัตถุดิบ เช่น ส้มซ่า ตะลิงปลิง พืชที่คนไม่ค่อยเห็นว่าสำคัญ ผมเลยอยากสื่อสารว่าของที่ไม่มีคุณค่าสำหรับบางคนถ้าเรานำกลับมาประยุกต์ใช้มันก็สามารถมีคุณค่าได้ ลองทานได้นะครับ”

ไม่รอช้า เรารีบหยิบใบชะพลูห่อเมี่ยงคลุกพร้อมใส่ตะลิงปลิงหั่นบางลงไป คำแรกที่ได้สัมผัสกับรสชาติคือเมี่ยงรสหวานนิดๆ ตัดกับตะลิงปลิงรสเปรี้ยวฝาด ทานคู่กันแล้วลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ

“มันเป็นการผสมผสานของรสชาติวัตถุดิบหลายๆ ชนิดที่ลงตัว” แอนดี้พูดขึ้น เรารีบพยักหน้าเห็นด้วยเป็นคำตอบ

นอกจากเมี่ยงตะลิงปลิงแล้ว ในร้านยังมีตะลิงปลิงแช่อิ่มโซดา เมนูเครื่องดื่มสุดสร้างสรรค์ มาให้เราได้ลองรสชาติความแปลกใหม่ และยังรวมไปถึงอาหารประจำย่านคลองบางขุนเทียน ทั้งมัสมั่น แกงคั่วขาว ผัดไทย ไข่พะโล้ และอีกหลากหลายความอร่อยที่แอนดี้เลือกมาจากเมนูที่หลายๆ บ้านปรุงอาหารไปทำบุญ

“เวลาไปทำบุญแต่ละบ้านจะมีเมนูซิกเนเจอร์ที่ทำแล้วอร่อยไปแข่งกัน บ้านนี้ทำมัสมั่นอร่อย หรือบ้านนี้มีขนมใส่ไส้ ห่อหมกบ้านนั้นรสชาติดี สิ่งเหล่านี้เป็นสไตล์ของคนที่นี่ซึ่งผมเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ผมอยากเก็บความดีงามนี้ไว้ด้วยการเลือกมาเป็นเมนูที่คาเฟ่เพื่อสะท้อนถึงวัฒนธรรมของคนในย่านนี้และเข้าถึงคนอื่นๆ ได้ง่าย” 

ไม่ใช่แค่อาหารเท่านั้นที่ได้รับการคัดสรรเพื่อสื่อสารวิถีชีวิตของผู้คนโดยรอบคลองบางขุนเทียน แต่ยังรวมไปถึงการตกแต่งภายในคาเฟ่ ซึ่งประกอบไปด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่  

“ไม้ไผ่เป็นพืชที่อยู่คู่สวนมานาน ใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะทำเป็นพวกเฟอร์นิเจอร์ บ้านกระต๊อบ หรืออุปกรณ์ที่เรียกว่าตะขาบ เดี๋ยวลองดูนี่นะครับ” แอนดี้พูดพร้อมรอยยิ้ม ก่อนลุกขึ้นไปดึงเชือกที่เชื่อมกับไม้ไผ่ทรงกระบอกที่อยู่ข้างบนต้นไม้ด้านหน้าทางเข้า เมื่อดึงเชือกหนึ่งครั้งไม้จะกระทบกันแล้วส่งเสียงดังออกมา

“สิ่งนี้เรียกว่าตะขาบ เป็นอุปกรณ์ไล่นก กระรอก หรือค้างคาว สมัยก่อนตอนกลางคืนจะมีเชือกโยงมาที่ห้างหรือกระต๊อบเป็นร้อยๆ เส้น เพื่อให้คนเฝ้าสวนดึงให้ตะขาบกระทบเสียงไล่สัตว์ได้ นอกจากนี้เรายังใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นที่ตักน้ำ หรือแม้กระทั่งพะอง บันไดไม้ไผ่ใช้ปีนเก็บผลไม้ด้วย

“ไม้ไผ่เป็นพืชสารพัดประโยชน์มาก เป็นของที่ทุกสวนต้องมี พอได้ไอเดียสร้างคาเฟ่ผมก็รีบติดต่อพี่ตั๊บ (ธนพัฒน์ บุญสนาน) สถาปนิกเจ้าของบริษัท ธ.ไก่ชน ให้ช่วยดูแลออกแบบคาเฟ่บริเวณพื้นที่บ้านพักของคนงานที่ญาติผมเคยเปิดให้เช่า ผมรู้ว่าพี่ตั๊บเชี่ยวชาญเรื่องไม้ไผ่อยู่แล้ว เลยไว้ใจว่าคาเฟ่ที่ออกมาจะตรงคอนเซปต์ตามที่ต้องการ”

 

ไม่ใช่แค่การทำสวน แต่ต้องทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อวิถีชีวิตริมคลองที่ยั่งยืน

เป้าหมายอีกหนึ่งอย่างของแม่และแอนดี้ในการเปิดพื้นที่ภูมิใจการ์เด้นต้อนรับทุกคนคือ การทำให้ชุมชนริมคลองบางขุนเทียนได้รักษาวิถีชีวิตเกษตรที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

“พื้นที่ตรงนี้แต่ก่อนเป็นพื้นที่ปิด เวลาวิ่งตามถนนมาคุณจะเห็นแค่ตึก แต่ไม่รู้หรอกว่าข้างหลังนี้มีสวน มีคลอง และมีธรรมชาติอยู่ คนจะเข้ามาค่อนข้างยาก พอเราเปิดสวน เปิดคาเฟ่ ให้คนเข้ามา ผมจึงอยากทำให้เกิดอิมแพกต์ในระดับท้องถิ่น ไม่ใช่แค่เกิดในภูมิใจการ์เด้น แต่อยากโปรโมตให้ชุมชนนี้เป็น community-based tourism ให้สวนเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างความเป็นเมืองและวิถีดั้งเดิมของเกษตรกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อให้คนข้างนอกเข้ามาเที่ยวและเรียนรู้ชุมชนรอบๆ ได้

“ตอนนี้ผมทำงานร่วมกับกลุ่มเดินเรือ พาเขาไปดูตามจุดต่างๆ ว่าตรงไหนน่าสนใจ เพราะบางครั้งสิ่งที่เขาเห็นทุกวันอาจเป็นสิ่งที่ว้าวสำหรับคนอื่นก็ได้ แล้วทำเป็น boat tour ที่เป็นเรือชาวบ้านพานำเที่ยว เช่น ชมอุโมงค์พืชจากระบบนิเวศที่ยังสมบูรณ์อยู่ในย่านนี้ ทั้งจิก จาก ลำพู โมก แวะย่านสวนโบราณ ย่านตลาดน้ำไทรท้ายเกาะ และผมก็เชื่อมต่อกับชุมชนบางประทุน ให้ชาวบ้านพาเข้าไปเที่ยวสวนมะพร้าว ไปดูวิธีเก็บมะพร้าวด้วย”

ทั้งหมดที่แอนดี้อธิบายคือทริปการ์เด้นทัวร์ที่ถ้าใครสนใจเรียนรู้สวนภูมิใจการ์เด้นและวิถีชุมชนริมคลองบางขุนเทียนต้องจองล่วงหน้าเพื่อร่วมทริป ซึ่งเจ้าบ้านหวังว่าการท่องเที่ยวนี้จะสามารถกระจายรายได้ไปสู่ชาวบ้าน โดยที่เกษตรกรยังรักษาวิถีชีวิตเกษตรกรรมในเมืองหลวงได้อย่างมั่นคง

“ที่วิถีชีวิตเขาอยู่กับสวนไม่ได้เพราะสวนไม่สามารถทำมาหากินได้ แต่ถ้าสมมติว่าอยากรักษาวิถีตรงนี้ไว้ แน่นอนว่าจะต้องมีสิ่งที่ทำให้เขาหาเลี้ยงตัวเองได้ การทำงานครั้งนี้ของผมเลยใช้หลักของอิคิไก คือทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ทำสิ่งที่ตัวเองมีแพสชั่น ทำสิ่งที่สังคมรอบข้างต้องการ แต่ที่สำคัญคือสิ่งที่ผมทำต้องสามารถเลี้ยงตัวของเราได้ด้วย”

หลังจบบทสนทนาแอนดี้อาสาพาเราเที่ยวสวนของเขาซึ่งเต็มไปด้วยพืชผักสวนครัวที่แม่ปลูกไว้ ทั้งส้มซ่า มะอึก ทองหลาง ทั้งหมดล้วนเป็นพืชที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในสวนทั่วไปแล้ว

สุดท้ายแอนดี้ยังพาเรานั่งเรือทัวร์รอบเกาะริมคลองบางขุนเทียน ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนแบบที่ไม่คิดว่าจะได้เจอในเมืองกรุงมาก่อน ที่สำคัญทำให้เราเข้าใจเป้าหมายที่เขาและแม่ตั้งใจทำเพื่อให้วิถีชีวิตเกษตรที่นี่ยั่งยืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอีกด้วย


Natura Garden Cafe สวนภูมิใจการ์เด้น

address: 9, 3 หมู่ 6 ถนนจอมทอง แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

tel: 085 123 1386

website: poomjaigarden.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่