‘หอมกลิ่นย่า’ ที่พักหอมกลิ่นทุ่งนาที่อยากเติบโตไปพร้อมกับเพื่อนบ้านในชุมชน

Highlights

  • 'หอมกลิ่นย่า cafe & camp' คือที่พักสไตล์แคมป์ที่ตั้งอยู่กลางท้องทุ่งนาในอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้ก่อตั้งคือครีเอทีฟงานคอนเสิร์ตชื่อ แนน–จินดา โพธิ์บำรุง
  • คำว่าหอมกลิ่นย่ามี 2 ความหมาย หนึ่ง คือหมายถึงคุณย่าผู้แบ่งที่ดินให้ลูกๆ หลานๆ ได้นำมาใช้ทำที่พัก ส่วนอีกความหมายคือหญ้าที่อยู่ในท้องทุ่งรอบๆ
  • นอกจากการพัฒนาที่พัก แนนยังอยากพัฒนาชุมชนโดยรอบไปพร้อมๆ กัน เช่น ไม่ขายขนมชนิดเดียวกับที่ร้านเพื่อนในชุมชนทำขายเพื่อกระจายรายได้ หรือวางแผนทำโรงสีรับซื้อเมล็ดข้าวอินทรีย์ เป็นต้น

หอมกลิ่นย่า

แดดบ่ายวันนั้นร้อนระอุราวกับจะเผาไหม้ทุกสิ่ง แต่เมื่อนั่งแอบตัวอยู่ใต้ร่มไม้หนา สูดกลิ่นหอมของดินและหญ้าที่โชยมากับลมเอื่อยๆ พร้อมจิบกาแฟน้ำมะพร้าวเย็นฉ่ำ แดดที่ว่าแรงก็ทำร้ายเราไม่ได้เท่าไหร่

ใต้ร่มไม้ที่เรานั่งอยู่คือบริเวณหนึ่งของ ‘หอมกลิ่นย่า cafe & camp’ ที่พักเล็กๆ สไตล์แคมป์ในอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ซุกตัวอยู่ท่ามกลางทุ่งนาเขียวชอุ่ม ต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์ คูคลองเล็กๆ และชุมชนเก่าแก่ที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของคนรุ่นปู่ย่าตายายมาก่อน

หอมกลิ่นย่า

หอมกลิ่นย่า

ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ดินผืนใหญ่กว่าร้อยไร่ของปู่ย่า ก่อนย่าจะแบ่งสรรปันส่วนให้ลูกหลานเป็นมรดก หลานสาวอย่าง แนน–จินดา โพธิ์บำรุง จึงชวนพี่ๆ น้องๆ ปรับที่ผืนที่ได้รับให้เป็นแคมป์พักแรมที่ประกอบไปด้วยเตนท์ 5 หลังและคาเฟ่ขนาดอบอุ่น ทั้งหมดอบอวลด้วยบรรยากาศเอื่อยเฉื่อย ไม่รีบร้อน ชวนให้นอนเอกเขนกทั้งวัน ส่วนกลางคืนมีดาวให้นอนดูเต็มฟ้า แค่แวะมาคืนสองคืนก็หายเหนื่อยขึ้นเป็นกอง

ลมอ่อนๆ พัดพากลิ่นหญ้ามาแตะจมูกอีกครั้ง พร้อมกับกลิ่นหอมอื่นๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวในอาณาเขตหอมกลิ่นย่าแห่งนี้

 

หอมกลิ่นทุ่งนา

ขัดกับทุ่งกว้างสีเขียวชอุ่มตรงหน้า แนนเล่าให้เราฟังว่าจุดกำเนิดของหอมกลิ่นย่าไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่อยู่ในเมือง

“ปกติงานของเราคือการทำครีเอทีฟสำหรับคอนเสิร์ตซึ่งทำให้เราต้องอยู่กรุงเทพฯ ต้องเจอคนเยอะ ทำงานเสิร์ฟความต้องการของคนอื่น บางทีก็ทำให้เราเหนื่อย เราเลยอยากกลับมาทำอะไรของตัวเองที่บ้าน

หอมกลิ่นย่า

“ย่าของเรามีที่ดินอยู่กว่าร้อยไร่ที่เขาแบ่งให้ลูกๆ หลานๆ เราเองก็ได้มาส่วนหนึ่ง เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วมันยังเป็นแค่ทุ่งนาโล่งๆ กับสวนและท้องร่องอยู่เลย ทุกๆ หน้าหนาวเราจะชวนเพื่อนมากางเตนท์กัน จนกระทั่งเพื่อนที่ทำโรงแรม 2-3 คนบอกเราว่าลองทำที่พักไหม เราเองอยากลองทำโฮมสเตย์อยู่แล้วบวกกับเราคิดว่าที่นี่มีที่ท่องเที่ยวสำหรับคนแก่แต่ยังไม่มีที่ท่องเที่ยวสำหรับคนรุ่นใหม่หรือคนทำงานเลย ก็เลยตัดสินใจลองดู

“เราตั้งชื่อว่าหอมกลิ่นย่าเพราะว่าที่นี่เป็นที่ดินของย่า อ่านแล้วแปลได้สองความหมายคือหมายถึงคุณย่าของเราและต้นหญ้าที่สื่อถึงธรรมชาติ”

เมื่อความฝันในการเปิดโฮมสเตย์มาบวกกับความชอบเที่ยวธรรมชาติ ไอเดียการสร้างที่พักในรูปแบบแคมป์จึงเกิดขึ้นโดยยังคงความสะดวกสบายไว้ระดับหนึ่งจนคนที่ไม่เชี่ยวชาญการออกป่าสามารถโยนความกังวลเรื่องการกางเตนท์ทิ้ง และดื่มด่ำกับธรรมชาติได้อย่างเต็มอิ่ม 

หอมกลิ่นย่า

หอมกลิ่นย่า

“เราชอบเที่ยวธรรมชาตินะแต่เป็นประเภทเพื่อนชวนไปเราก็ไป ไปอยู่ ไปนอนได้ แต่ไม่ได้เป็นสายแคมป์ปิ้งจ๋าที่ต้องซื้อเตนท์ยี่ห้อดีๆ ขนไปกางในป่าด้วยตัวเอง พอมาทำที่พักเราก็อยากเสิร์ฟคนที่คิดเหมือนเราคืออยากไปนอนเตนท์แต่ขี้เกียจกางเอง เราเลยมีเตนท์บริการให้ แต่ละหลังมีฟูกนอน มีถุงใส่ของอำนวยความสะดวก เช่น ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน มีแอร์ ซึ่งตอนแรกเราจะไม่ติด แต่พอเราไปนอนเองแล้วอากาศเมืองไทยมันไม่ไหวจริงๆ ก็เลยยอม

“ถึงอย่างนั้นก็จะมีบางคนโทรมาถามว่ามีทีวีไหม เราก็ต้องบอกว่าไม่มี มันไม่ได้สะดวกสบายขนาดนั้น ห้องน้ำก็ใช้รวมเหมือนแคมป์ หรือมด แมลงมันก็ต้องมีเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าคุณชอบก็มาลองดู”

 

หอมกลิ่นขนมปัง

จากเตนท์ที่พัก เมื่อเดินตามสะพานไม้มาจนสุดเราจึงพบที่ตั้งของหอมกลิ่นย่าคาเฟ่ ร้านกาแฟที่เปิดให้บริการแก่คนทั่วไปด้วย ซึ่งหลายคนที่มาถึงกลับต้องงงเพราะพวกเขาไม่ขายขนมคลาสสิกคู่คาเฟ่อย่างเค้กเลยสักชิ้นเดียว 

หอมกลิ่นย่า

หอมกลิ่นย่า

หอมกลิ่นย่า

“ส่วนของคาเฟ่น้องของเราเป็นคนรับผิดชอบเป็นหลัก ตอนคิดเมนูเราก็มานั่งคุยกันว่าร้านเค้กแถวท่าเรือก็เป็นพันธมิตร เป็นเพื่อนเราทั้งนั้น ถ้าเขาขายเค้กเราก็ไม่ขายเค้กที่ทับกับเขา พอดีเรามีเพื่อนที่มีสตูดิโออบขนมอยู่ที่เอกมัยทุกๆ วันอังคารน้องแนนจะเข้ามากรุงเทพฯ อยู่แล้วเขาก็จะรับครัวซองต์ ขนมปังไปขายที่คาเฟ่ 

“การทำแบบนี้ นอกจากจะไม่ทับไลน์กับร้านของเพื่อนๆ เรายังได้แนะนำขนมใหม่ๆ ให้คนแถวนี้ด้วย ซึ่งเขาก็ชอบนะเพราะไม่มีขนมแบบนี้ขายที่นี่ ส่วนอาหารเราก็ไม่ขายแต่จะแนะนำให้ไปกินก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยที่สุดในอำเภอท่าเรือ หรือไปกินอาหารดีๆ แถวนี้แทน”

 

หอมกลิ่นอาหารของย่า

แม้จะไม่ขายอาหารที่คาเฟ่ แต่หากมาใช้เวลาค้างคืนที่หอมกลิ่นย่า นอกจากจะได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของน้ำค้างและไอแดดในยามเช้าแล้ว กลิ่นหมูปิ้งเค็มๆ และน้ำเต้าหู้หวานมันยังเป็นของคู่กันชวนให้น้ำลายสอ

“คาเฟ่ของเราไม่ขายอาหารก็จริงแต่ถ้ามาพักเราจะเสิร์ฟข้าวเหนียวหมูปิ้งและน้ำเต้าหู้ใส่ตะกร้าเล็กๆ ให้แขก ทั้งสองเมนูมาจากร้านที่เรากินตั้งแต่เด็ก เราก็ผูกปิ่นโตกับเขาไว้ เราคิดว่าเราช่วยชุมชนด้วยและคนก็ได้กินของอร่อยๆ ที่เราชอบด้วย

หอมกลิ่นย่า

หอมกลิ่นย่า

“มื้ออื่นๆ เรามีอาหารให้สั่ง เป็นอาหารที่ย่าทำเอง เช่น ขนมจีนน้ำยากะทิ หรือข้าวแมว ข้าวคลุกปลาทู เราอยากแนะนำให้คนที่มาพักได้ลองกินเพราะย่าเขามีรสมือแบบโบราณๆ และอร่อยมาก ที่สำคัญคือหากินแถวนี้ไม่ได้ด้วย แต่ลูกค้าต้องจองอาหารตั้งแต่ 3 วันก่อนเข้าพักเพราะแต่ละอย่างย่าต้องใช้เวลาเตรียมของเยอะมาก”

ไม่เพียงรสมือของคุณย่า แต่ความอบอุ่นแบบครอบครัวยังสะท้อนออกมาผ่านความใส่ใจ เช่น เมื่อรู้ว่ามีแขกเข้าพักสองคืน คุณย่าของแนนก็ลงมือทำอาหารเช้าเมนูใหม่ให้เพื่อความไม่จำเจ

“ส่วนใหญ่ลูกค้าของเราจะมาพักคืนเดียว แต่เร็วๆ นี้เพิ่งมีลูกค้านอนสองคืน ย่าก็ทำข้าวต้มให้ลูกค้าทาน เอาจริงๆ เวลาลูกค้าจะจองที่พักสองคืนเราจะถามก่อนเลยว่าแน่ใจเหรอเพราะที่นี่ไม่มีกิจกรรมให้ทำนะ เราเป็นที่พักนอนอ่านหนังสือ นอนดูดาวนะคะ เราว่าเราน่าจะเป็นที่พักแห่งเดียวที่พยายามห้ามไม่ให้พักสองคืน”

แนนเล่าพร้อมเสียงหัวเราะก่อนอธิบายต่อว่าที่นี่เหมาะกับการนอนเอกเขนก พักกาย พักใจจากเรื่องวุ่นๆ ภายนอก แต่หากแขกต้องการไปเที่ยวเธอมักจะแนะนำให้ไปดูตลาดหรือทุ่งทานตะวันใกล้ๆ แถมวันไหนหากพ่อของเธอว่างก็จะรับบทบาทไกด์ชวนลูกค้าไปเที่ยว เป็นบริการพิเศษสำหรับคนที่โชคดีเท่านั้น

 

หอมยั่งยืน

ที่แคมป์แห่งนี้ มองไปทางไหนก็เห็นสีเขียวขจีสุดสายตาและเพื่อรักษาธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบนี้ไว้ แนนจึงตั้งใจทำที่พักของเธอให้ดีต่อโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เริ่มจากถุงอุปกรณ์ในเตนท์ที่พยายามบรรจุวัสดุย่อยสลายได้อย่างแปรงสีฟันไม้ไผ่และผ้าขนหนู ส่วนคาเฟ่ก็เลือกใช้แก้วและหลอดกระดาษทั้งหมด รวมถึงเธอยังมีโครงการในอนาคตที่จะเป็น refill station ให้ชาวบ้านรอบๆ มาซื้อสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์เพื่อลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

“เราอยากรณรงค์ให้คนแถวนี้เข้าใจ อย่างที่บ้านเรามีธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตเราก็บอกให้เขางดแจกถุงพลาสติก ที่บ้านเขาก็กลัวคนจะมาด่าว่าเราไม่ให้ถุง แต่เราคิดว่าถ้าเราไม่เริ่มก่อนเขาก็จะไม่รู้หรอกว่ามันไม่ต้องใช้ก็ได้ คนชอบคิดว่าคนต่างจังหวัดไม่เข้าใจเรื่องนี้ทั้งๆ ที่จริงๆ เราไปปิดกั้นเขาก่อน ไม่ให้ตัวเลือกเขามากกว่า

“ในอนาคตเรามีแผนว่าอยากจัดตลาดอีโค่ อย่างฝั่งนครปฐมเขาจะมีตลาด Little Tree แต่แถบอยุธยา สระบุรีบ้านเรายังไม่มีเลย เราคิดว่าจะชวนเพื่อนๆ นี่แหละมาเป็นแม่ค้า เอาขนมที่อร่อยๆ ของแต่ละเจ้ามาขายกัน ทดสอบให้คนแถวนั้นเห็นก่อนว่าตลาดแบบนี้มันน่ารักนะ มันน่ามาเดินเล่น”–จินดา

นอกจากคำแนะนำแสนน่ารักให้แขกไปอุดหนุนเพื่อนบ้านร้านค้าและวางแผนทำให้ชุมชนเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น แนนยังกำลังวางแผนจะขยับขยายด้วยการเพิ่มห้องพักที่ไม่ใช่เตนท์​ โดยยังคงเป้าหมายในใจว่าหากหอมกลิ่นย่าจะเติบโต พวกเขาต้องโตไปพร้อมๆ กับคนในชุมชน

“เราเกิดและโตที่นี่เลยอยากทำอะไรให้บ้านบ้าง ตอนนี้เรากำลังพยายามทำนาของเราให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีเพื่อเป็นตัวอย่างให้คนรอบๆ ข้างเห็นว่ามันทำได้นะ และต่อไปเราจะทำโรงสีเพื่อชวนให้ชาวบ้านแถวนี้งดใช้สารเคมี เพราะโรงสีปกติที่ชาวบ้านขายข้าวเขาต้องการปริมาณเยอะ ซึ่งข้าวอินทรีย์มันได้ผลผลิตน้อยกว่าอยู่แล้ว อีกอย่างคือต่อให้ปลูกแบบอินทรีย์ข้าวที่ขายก็ไม่ได้ราคาดีขึ้น เราเลยอยากมีโรงสีเล็กๆ รับข้าวอินทรีย์ ให้ราคาดีๆ แล้วทำโปรดักต์ของชุมชนออกมาขาย

“อีกเรื่องที่เราอยากทำคือเรื่องการท่องเที่ยว แต่ก่อนคนที่มาเที่ยวอำเภอท่าเรือคือคนแก่ที่มาขอหวยที่วัดสะตือ ถ้าถูกหวยก็จะมีการจ้างนางรำมาแก้บนกันใหญ่โต ซึ่งพอคนมาเที่ยวเยอะๆ มาเป็นกลุ่ม กิจการที่มาคู่กันคือบริการล่องเรือในแม่น้ำป่าสัก แต่พอคนมาเที่ยวน้อยลง ตอนนี้เรือแบบนี้ก็หายไปแล้ว เราคิดว่าต่อไปถ้ามีคนมาเที่ยวเยอะขึ้นเราจะลองคุยกับผู้ใหญ่ของตำบลว่าเราลองรื้อโครงการนี้กลับมาดีไหม คนที่มาเที่ยวจะได้มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น

“เราอยากให้ชุมชนรอบๆ เขาได้โตไปกับเราด้วย ถ้าเราดึงคนมาเที่ยวที่นี่แล้วได้ประโยชน์อยู่คนเดียว คนรอบๆ เราเขาจะมองเราว่ายังไง เราก็เลยคิดว่าเราไปพร้อมๆ กับชุมชนดีกว่า”

แนนทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม และเราเชื่อว่าหากฝันของเธอสำเร็จเมื่อไหร่ หอมกลิ่นย่าจะไม่ใช่ที่เดียวที่ส่งกลิ่นหอมชวนให้คนมาเที่ยวที่อำเภอท่าเรือแน่นอน

 

หอมกลิ่นย่า

หอมกลิ่นย่าโซนแคมป์ที่พักเปิดให้บริการวันพุธ-จันทร์ ส่วนคาเฟ่เปิดให้บริการเวลา 10:00-17:00 น. หยุดวันพุธ
address : 9/1 ต.ท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

tel : 096 986 9656
facebook : Horm Glin Ya • หอมกลิ่นย่า

ขอบคุณภาพจาก หอมกลิ่นย่า

aday

“เราเกิดและโตที่นี่เลยอยากทำอะไรให้บ้านบ้าง ตอนนี้เรากำลังพยายามทำนาของเราให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีเพื่อเป็นตัวอย่างให้คนรอบๆ ข้างเห็นว่ามันทำได้นะ และต่อไปเราจะทำโรงสีเพื่อชวนให้ชาวบ้านแถวนี้งดใช้สารเคมี เพราะโรงสีปกติที่ชาวบ้านขายข้าวเขาต้องการปริมาณเยอะ ซึ่งข้าวอินทรีย์มันได้ผลผลิตน้อยกว่าอยู่แล้ว อีกอย่างคือต่อให้ปลูกแบบอินทรีย์ข้าวที่ขายก็ไม่ได้ราคาดีขึ้น เราเลยอยากมีโรงสีเล็กๆ รับข้าวอินทรีย์ ให้ราคาดีๆ แล้วทำโปรดักต์ของชุมชนออกมาขาย
“อีกเรื่องที่เราอยากทำคือเรื่องการท่องเที่ยว แต่ก่อนคนที่มาเที่ยวอำเภอท่าเรือคือคนแก่ที่มาขอหวยที่วัดสะตือ ถ้าถูกหวยก็จะมีการจ้างนางรำมาแก้บนกันใหญ่โต ซึ่งพอคนมาเที่ยวเยอะๆ มาเป็นกลุ่ม กิจการที่มาคู่กันคือบริการล่องเรือในแม่น้ำป่าสัก แต่พอคนมาเที่ยวน้อยลง ตอนนี้เรือแบบนี้ก็หายไปแล้ว เราคิดว่าต่อไปถ้ามีคนมาเที่ยวเยอะขึ้นเราจะลองคุยกับผู้ใหญ่ของตำบลว่าเราลองรื้อโครงการนี้กลับมาดีไหม คนที่มาเที่ยวจะได้มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น
แดดบ่ายวันนั้นร้อนระอุราวกับจะเผาไหม้ทุกสิ่ง แต่เมื่อนั่งแอบตัวอยู่ใต้ร่มไม้หนา สูดกลิ่นหอมของดินและหญ้าที่โชยมากับลมเอื่อยๆ พร้อมจิบกาแฟน้ำมะพร้าวเย็นฉ่ำ แดดที่ว่าแรงก็ทำร้ายเราไม่ได้เท่าไหร่
ใต้ร่มไม้ที่เรานั่งอยู่คือบริเวณหนึ่งของ ‘หอมกลิ่นย่า cafe & camp’ ที่พักเล็กๆ สไตล์แคมป์ในอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ซุกตัวอยู่ท่ามกลางทุ่งนาเขียวชอุ่ม ต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์ คูคลองเล็กๆ และชุมชนเก่าแก่ที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของคนรุ่นปู่ย่าตายายมาก่อน
“ย่าของเรามีที่ดินอยู่กว่าร้อยไร่ที่เขาแบ่งให้ลูกๆ หลานๆ เราเองก็ได้มาส่วนหนึ่ง เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วมันยังเป็นแค่ทุ่งนาโล่งๆ กับสวนและท้องร่องอยู่เลย ทุกๆ หน้าหนาวเราจะชวนเพื่อนมากางเตนท์กัน จนกระทั่งเพื่อนที่ทำโรงแรม 2-3 คนบอกเราว่าลองทำที่พักไหม เราเองอยากลองทำโฮมสเตย์อยู่แล้วบวกกับเราคิดว่าที่นี่มีที่ท่องเที่ยวสำหรับคนแก่แต่ยังไม่มีที่ท่องเที่ยวสำหรับคนรุ่นใหม่หรือคนทำงานเลย ก็เลยตัดสินใจลองดู“เราตั้งชื่อว่าหอมกลิ่นย่าเพราะว่าที่นี่เป็นที่ดินของย่า อ่านแล้วแปลได้สองความหมายคือหมายถึงคุณย่าของเราและต้นหญ้าที่สื่อถึงธรรมชาติ”เมื่อความฝันในการเปิดโฮมสเตย์มาบวกกับความชอบเที่ยวธรรมชาติ ไอเดียการสร้างที่พักในรูปแบบแคมป์จึงเกิดขึ้นโดยยังคงความสะดวกสบายไว้ระดับหนึ่งจนคนที่ไม่เชี่ยวชาญการออกป่าสามารถโยนความกังวลเรื่องการกางเตนท์ทิ้ง และดื่มด่ำกับธรรมชาติได้อย่างเต็มอิ่ม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว