สูดกลิ่นกรุงเทพฯ และเมืองอื่นกับ Wax Valley Candle Co. เทียนหอมออร์แกนิกที่ใช้กลิ่นเล่าเรื่องราว

Highlights

  • Wax Valley Candle Co. คือแบรนด์เทียนหอมออร์แกนิกทำจากไขถั่วเหลือง 100% ที่โดดเด่นเรื่องการออกแบบกลิ่นเทียนหอมให้มีเรื่องราว เช่น กลิ่น Bangkok ที่สื่อถึงการโหยหาความสงบในเมืองอันวุ่นวาย, กลิ่น Siam Disc ที่ตีความความเป็นไทยออกมาเป็นกลิ่นหอมดอกมะลิ, กลิ่น Library ที่ดมแล้วเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในห้องสมุด หรือแม้กระทั่งกลิ่นข้าวเหนียวมะม่วงสำหรับต้อนรับฤดูร้อน
  • ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ Wax Valley Candle Co. คือ หนึ่ง–อภิชาติ คชพัฒน์ทรัพย์ ชายหนุ่มผู้ได้รู้จักเทียนหอมจากถั่วเหลืองเป็นครั้งแรกเมื่อเข้าร่วมโครงการ work & holiday ที่ประเทศออสเตรเลีย ก่อนได้ไอเดียเปิดแบรนด์ของตัวเอง โดยตั้งใจว่าแม้จะไม่ใช่แบรนด์เทียนไขจากถั่วเหลืองเจ้าแรกในท้องตลาด แต่เขาจะตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวผ่านกลิ่น เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้แบรนด์ของเขาไม่เหมือนใคร

1.

คุณเคยดมกลิ่นของกรุงเทพฯ ไหม? คิดว่ากลิ่นของเมืองหลวงแห่งนี้เป็นยังไงกัน?

หากยังไม่เคย ไม่ต้องรีบวิ่งออกจากบ้านไปสูดกลิ่นของเมืองทันทีก็ได้ เพราะเทียนหอมแบรนด์ Wax Valley Candle Co. มีกลิ่น Bangkok ให้ลองทดสอบ พร้อมกับเทียนกลิ่นหอมของเมืองอื่น อย่าง Chiang Mai และ Pattaya รวมไปถึงกลิ่นหอมของสถานที่ต่างๆ ด้วย

แต่นอกจากกลิ่นสร้างสรรค์ Wax Valley Candle Co. แบรนด์เทียนหอมอายุเกือบสองปียังโดดเด่นด้วยการนำไขถั่วเหลืองมาใช้ทำตัวเทียน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ของแต่ละกลิ่นผ่านการปรุงอย่างพิถีพิถัน

“นอกจากการขายสินค้า เราตั้งใจจะส่งต่อประสบการณ์ให้ลูกค้าด้วย”

หนึ่ง–อภิชาติ คชพัฒน์ทรัพย์ ผู้ก่อตั้ง Wax Valley Candle Co. แบรนด์เทียนหอมจากไขถั่วเหลือง เริ่มต้นพูดคุยด้วยการหยิบเทียนแต่ละกลิ่นมาให้เราจับและสูดกลิ่น พร้อมเล่าเรื่องย้อนความไปถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์

“ผมไปเจอเทียนหอมไขถั่วเหลืองจากตลาด Art Market ที่เมือง Cairns เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วตอนที่ไป Work and Holiday ที่ออสเตรเลีย ด้วยความที่เราเคยทำงานที่ไทยในสายโลจิสติกส์ เราเลยสนใจโปรดักต์นี้ อยากนำเข้ามาขายในไทยบ้าง แต่ปรากฏว่าเขาไม่ได้ส่งออก ทำขายแค่ในควีนส์แลนด์เท่านั้น พอเราเห็นเขาทำเทียนก็รู้สึกว่าอยากพาตัวเองมาอยู่จุดนี้บ้าง”

เมื่อแบรนด์เทียนหอมที่หนึ่งถูกใจไม่ส่งออก สิ่งที่เขาทำต่อมาไม่ใช่การยอมแพ้ แต่คือการลุกขึ้นศึกษาด้วยตัวเอง

จากความรู้เรื่องเทียนเป็นศูนย์ หนึ่งศึกษาขั้นตอนการทำเทียนหอมจากไขถั่วเหลืองด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่การซื้อชุดทดลองมาลองต้มเทียน ผสมส่วนประกอบต่างๆ จนเข้าใจและมองเห็นความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจนี้ โปรเจกต์เล็กๆ นี้ของหนึ่งทำให้ชีวิตที่ออสเตรเลียช่วง 3-4 เดือนก่อนกลับไทยหมดไปกับการวางแผนธุรกิจ คิด positioning ของแบรนด์เทียนหอม สร้างแฟนเพจ คิดชื่อแบรนด์ คิดเรื่องราวการนำเสนอ คำนวณราคา และเมื่อเขากลับมาไทยก็รวบรวมวัตถุดิบต่างๆ จากซัพพลายเออร์พร้อมกับเปิดตัวแบรนด์ Wax Valley Candle Co. ครั้งแรกในงาน K Village Christmas 2017

แม้เวลาจะผ่านมาเกือบสองปี แต่เมื่อเล่าถึงช่วงเวลาก่อตั้งแบรนด์ แววตาและน้ำเสียงของหนึ่งกลับเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น จนเราออกปากถามว่าทำไมแบรนด์เทียนหอมจากออสเตรเลียแบรนด์นั้นถึงจุดไฟในใจของเขาได้ขนาดนี้

“เราคิดว่าเทียนหอมจากถั่วเหลืองน่าสนใจตรงที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่มีพาราฟินที่อยู่ในเทียนแท่งที่เมื่อเผาไหม้แล้วอาจจะมีสารพิษตกค้าง แต่เทียนหอมของเราใช้วัตถุดิบหลักเป็นไขถั่วเหลืองร้อยเปอร์เซ็นต์และน้ำมันหอมระเหย เมื่อจุดแล้วไม่มีเขม่าดำและระเหยไปกับอากาศเลย ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม

“ข้อดีอีกอย่างคือเทียนหอมจากถั่วเหลืองเป็นเทียนที่จุดได้นาน ให้ความหอมได้ดีกว่า แถมเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติจริงๆ สามารถนำไปทาผิวหนังที่แห้งได้ด้วยโดยไม่เป็นอันตราย”

 

2.

นอกจากการหยิบเอาไขถั่วเหลืองมาใช้จะเป็นไอเดียที่สะดุดใจเราแล้ว ชื่อของเทียนหอมแต่ละกลิ่นที่แปะอยู่บนแพ็กเกจจิ้งยังสะดุดตา จนต้องขอถามหนึ่งให้รู้ที่มาสักหน่อย

ก็เพราะครั้งแรกที่เปิดตัว Wax Valley Candle Co. ผลิตเทียนหอมอออกมา 6 กลิ่น ได้แก่กลิ่น Bangkok, Tender, Siam Disc, Roaster, Delightful และ Woodland ที่ล้วนแล้วแต่น่าเข้าไปสูดดมและค้นหาเรื่องราวเบื้องหลังทั้งสิ้น

“สิ่งที่เราคิดคือแบรนด์เราไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำเทียนจากไขถั่วเหลือง ฉะนั้นเราจะทำยังไงให้เทียนของเราแตกต่างจากคนอื่น เราเลยย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เราพบว่าตัวเองเป็นคนชอบเล่าเรื่อง งานอดิเรกของเราคือการจดบันทึก เลยคิดว่านำเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้กับโปรดักต์ดีกว่า จึงออกมาเป็นเทียน 6 กลิ่นแรก ซึ่งเราพยายามออกแบบให้มีหลายโทนเพื่อตอบสนองตัวตนลูกค้าหลายๆ กลุ่ม” หนึ่งอธิบายให้เราฟังอย่างกระตือรือร้น

กระบวนการของหนึ่งเริ่มต้นจากการคิดค้นคอนเซปต์ เรื่องราวที่ต้องการที่จะเล่า ก่อนตามหาส่วนผสมที่ให้กลิ่นที่ใช่สำหรับการเล่าเรื่องราวนั้นๆ ส่วนมากเขาจะใช้วิธีการนำกลิ่นสองชนิดมาจับคู่กันด้วยสัดส่วนที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างครบถ้วน

เขายกตัวอย่างให้เราฟังว่ากลิ่น Bangkok ที่ทำให้เราสนใจ Wax Valley ตั้งแต่แรกนั้นมีที่มาจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่ ชายหนุ่มจึงออกแบบกลิ่นเพื่อเล่าเรื่องการโหยหาความสงบด้วยการใช้กลิ่นดอกลาเวนเดอร์ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย นำมาจับคู่กับอบเชยที่มีกลิ่นในโทนเผ็ดร้อนสนุกสนาน กลายเป็นบรรยากาศของกรุงเทพฯ ในแบบของเขาเอง

“กลิ่น Bangkok จะตอบโจทย์กลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลิ่น Siam Disc เราออกแบบเพื่อกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย โดยตีความค้นหาความเป็นไทยและเลือกกลิ่นมะลิซึ่งเป็นกลิ่นที่ทำให้เรานึกถึงประเทศไทย มาจับคู่กับ Citrus ที่ให้กลิ่นโทนเปรี้ยว สร้างความสดชื่นหมือนได้กลับบ้านมาอยู่ที่เมืองไทย กลิ่นนี้ผู้ใหญ่เลยจะชอบซื้อไปจุดหน้าหิ้งพระเพราะมีกลิ่นมะลิ และทดแทนการจุดเทียนที่มีเขม่าด้วย

 

“กลิ่น Library ก็เป็นอีกหนึ่งกลิ่นที่มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เราอยากเล่าเรื่องราวของห้องสมุดเก่าที่มีชั้นไม้สีแดง มีแสงลอดมาจากหน้าต่าง จึงเลือกใช้กลิ่นอำพัน และกานพลู ช่วยให้สร้างบรรยากาศสงบขรึมได้เหมือนเข้าไปอยู่ในห้องสมุด”

นอกจากชื่อกลิ่นที่เป็นชื่อสถานที่แล้ว Wax Valley ยังมีคอลเลกชั่นกลิ่นที่อิงตามฤดูกาล โดยล่าสุด ในหน้าร้อนอย่างนี้ เขาก็เพิ่งปล่อยกลิ่น Tropical หรือกลิ่นข้าวเหนียวมะม่วง ของดีของฤดูร้อน ที่นำกลิ่นน้ำนมข้าวมาจับคู่กับกลิ่นมะม่วงสุก กลายเป็นความหอมหวานที่คนรักข้าวเหนียวมะม่วงต้องหลงรัก

เห็นหนึ่งทำเทียนหอมกลิ่นใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ขนาดนี้ แต่เจ้าตัวกลับบอกว่ากว่าจะได้กลิ่นที่ลงตัวเขาต้องผ่านการลองผิดลองถูกมามากมาย เพราะแม้จะมีเรื่องราวในหัวที่ต้องการเล่าอย่างชัดเจน แต่การหาสัดส่วนที่ลงตัวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“เราไม่ค่อยมีปัญหากับการเลือก 2 กลิ่นหลักมาผสมกัน เพราะเราค่อนข้างชัดเจนว่าหากจะสร้างบรรยากาศแบบนี้ต้องใช้กลิ่นไหน แต่เรามักใช้เวลาไปกับการหาสัดส่วนการผสมที่ลงตัว ใช้ไขถั่วเหลืองเท่าไหร่ น้ำมันแต่ละกลิ่นต้องผสมอัตราส่วนเท่าไหร่ เพราะแต่ละกลิ่นเราไม่ได้ผสม 2 กลิ่นในสัดส่วน 50-50 เราทดลองกระทั่งอุณหภูมิเทียนระหว่างเทลงแพ็กเกจด้วยว่าต้องใช้อุณหภูมิเท่าไหร่ผิวหน้าเทียนจึงจะออกมาโอเค”

3.

เมื่อได้เทียนกลิ่นที่ตัวเองชื่นชอบมาแล้ว ขั้นต่อไปของความท้าทายไม่ได้อยู่ที่ตัวเขาคนเดียว แต่อยู่ที่คนสำคัญคือ ‘ลูกค้า’

“การสื่อสารเรื่องราวของแต่ละกลิ่นคือความท้าทายนะ เราคิดเสมอว่าจะทำยังไงให้ลูกค้ารู้สึกแบบเดียวกับที่เรารู้สึก ทำยังไงให้เวลาลูกค้าเห็นภาพสินค้าของเรา อ่านเรื่องราวของเราแล้วสมองรู้สึกได้ถึงกลิ่นตอนนั้นเลย เราเลยพยายามถ่ายทอดประสบการณ์นั้นด้วยการเขียนอธิบายแต่ละกลิ่น ให้คนอ่านแล้วจินตนาการได้ รวมถึงภาพถ่ายเทียนแต่ละกลิ่น เราจะพยายามคิดโทนสีหรือองค์ประกอบในรูปที่ต้องสื่อสารว่าสิ่งที่เราต้องการจะเล่าคือเรื่องอะไร กลิ่นจะออกมาแนวไหน”

นอกจากการเขียนและภาพถ่ายที่หนึ่งใช้เป็นอาวุธหลักในการสื่อสารแล้ว เขายังมีวิธีที่ช่วยให้กลุ่มลูกค้าเข้าใจจินตนาการถึงกลิ่นได้ ผ่านดีไซน์แพ็กเกจและเพลย์ลิสต์ประกอบการจุดเทียนด้วย

“อาร์ตเวิร์กบนแพ็กเกจจิ้งของเราได้ลายเส้นของคุณชะเอม–ปัณรสี ศะศินิล แห่ง WHITE HAT. มาวาดลายเส้นให้ในแต่ละกลิ่น ซึ่งเรามองว่างานสไตล์สีไม้ลายเส้นแบบนี้เข้ากับความเป็นแบรนด์ของเรามาก มีความคราฟต์ เป็นงานทำมือ ให้ความรู้สึกสโลว์เหมือนเทียนของเรา”

“ด้วยความตั้งใจของเราที่อยากเสิร์ฟประสบการณ์มากกกว่าโปรดักต์ เราจึงจัดเพลย์ลิสต์สำหรับเทียนแต่ละกลิ่นใน Spotify ไว้ให้ด้วย เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อเทียนไปได้รับบรรยากาศ ได้รับประสบการณ์ไปได้อย่างครบถ้วน เช่น กลิ่น Woodland ที่นำกลิ่นยูคาลิปตัสจับคู่กับกลิ่นไม้จันทน์หอม ถ่ายทอดเรื่องราวความรู้สึกของการเดินเข้าป่า การได้ค้นหาตัวเอง ได้อยู่กับตัวเอง กลิ่นจะเป็นโทนสงบ เพลย์ลิสต์ของกลิ่นนี้ก็คือ ‘run into a wild’ เป็นเพลงแนวโฟล์ก แคมป์ปิ้ง

“เรามองว่าสิ่งนี้เป็นบริการหลังการขายด้วยนะ เวลาที่เราไปเจอเพลงที่มันเชื่อมโยงกับตัวกลิ่นนั้นๆ เราก็จะเพิ่มเพลงนั้นลงเพลย์ลิสต์

เราเห็นความมุ่งมั่นในแววตาของหนึ่งแล้วอยากถามว่าอะไรคือความฝันสูงสุดที่เจ้าของแบรนด์อย่างเขาต้องการไปให้ถึง

“เราไม่ได้เป็นเจ้าแรกที่เข้ามาในตลาดเทียน ดังนั้นเราจะทำยังไงให้แบรนด์ของเราแตกต่าง ทำให้ดีในแบบที่เราต้องการ สิ่งนี้เป็นจุดที่เราคิดอยู่ตลอดและต้องการไปให้ถึง”

ชายหนุ่มทิ้งท้ายด้วยเป้าหมายที่เขากำลังขะมักเขม้นหาคำตอบ

AUTHOR