Y.Farmily : แบรนด์น้ำมะพร้าวที่ยกหน้าที่ปรุงความอร่อยให้เป็นของธรรมชาติ

เราไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ผลิตภัณฑ์มะพร้าว แต่พอได้ชิมน้ำมะพร้าวจากสวนที่ราชบุรีของ เอก-อัครชัย ยัสพันธุ์ หนุ่มผู้ร่ำเรียนมาทางวิศวะก็ต้องตกใจ

ความหวานหอมละมุนชื่นใจแบบนี้แทบไม่เคยได้ชิมจากที่ไหนเลย ทำยังไงให้มันอร่อยเหรอ เราเอ่ยถาม

“ไม่รู้ ถ้ามันอร่อยก็อร่อย เราไม่ได้ทำ มันเป็นของมันเอง ถ้ามันจะไม่อร่อย เราก็โทษมันเหมือนกัน” ชายหนุ่มตรงหน้าหัวเราะ ฟังเหมือนขำๆ แต่เขาพูดจริง

แบรนด์ Y.Farmily ของครอบครัวเอกเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการของเครือข่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ Blue Basket สวนมะพร้าวในปัจจุบันอยู่ในที่ทางดั้งเดิมของครอบครัว สมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง พ่อของเขาเคยเข้ามาจับงานเกษตรแต่ไปได้ไม่สวยเท่าไหร่ จึงเบนเข็มไปทำงานอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย เอกก็เข้ามาช่วยกิจการ แต่พบว่าไม่ชอบลักษณะงาน เขาจึงให้เวลาตัวเอง 1 ปีเต็มค้นหาตัวตนอีกครั้ง จนกระทั่งมาลงเอยที่การทำสวนมะพร้าว พืชยืนต้นที่พ่อปลูกไว้ในที่ดินจังหวัดราชบุรีมาเนิ่นนาน

มะพร้าวจาก Y.Farmily เติบโตภายใต้แนวทางของเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่เอกตั้งใจมากๆ คือ แทรกแซงธรรมชาติให้น้อยที่สุด การทำงานในฐานะเกษตรกรของเขาจึงไม่มีอะไรซับซ้อนอย่างที่คาด

ทว่าในผลิตภัณฑ์ที่ดูธรรมดา ทั้งมะพร้าวเจียและน้ำมะพร้าวเหล่านี้ นอกจากความอร่อย กลับเต็มไปด้วยความพยายามที่จะทำให้คนกินเข้าใจถึงความสำคัญในการเลือกอาหารมาบริโภค เพราะไม่กี่คำที่กลืนลงไปอาจมีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมรอบข้างแบบที่เรานึกไม่ถึงเลยก็ได้

งานเกษตรที่เริ่มจากการค้นหาตัวตน

“มะพร้าวเนี่ยเกษตรกร 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจะปลูกอย่างเดียว แล้วจะมีล้งหรือพ่อค้าคนกลางมาตัดและเก็บมะพร้าว จ่ายเงินให้ชาวสวน ล้งจะมีอำนาจมากเพราะเป็นคนรวบรวมมะพร้าวและกระจายไปตามตลาดต่างๆ มะพร้าวในรถที่ขายข้างทางก็รับมาจากล้งเช่นกัน เมื่อก่อนเราก็อยู่ในระบบนี้เพราะมันง่าย ยิ่งใช้เคมียิ่งง่าย เดือนนึงรดน้ำไม่กี่ครั้ง ใส่ปุ๋ยก็จ้างแรงงานเอา ปล่อยให้คนมาเช่าหน้าดินปลูกผัก ถือว่าวินๆ กันไป”

“จนช่วง 1 ปีที่หยุดไปค้นหาตัวตน เราอ่านหนังสือเยอะขึ้น เล่มหนึ่งที่อ่านคือ ฉันจะเป็นชาวนา ของ อุ้ม สิริยากร ตอนนั้นไม่ได้คิดจะทำเกษตรเลย แค่อยากออกจากวงโคจรอาชีพเดิม พอซื้อกลับมาอ่านก็คิดว่าแนวคิดเขาน่าสนใจ บริบทในหนังสือคือพี่อุ้มไม่ได้ทำนาเป็น แต่อยากเรียนรู้ก็เลยเดินทางไปหาผู้รู้ด้านต่างๆ”

“ตอนนั้นเราเริ่มตามรอยเขา มันเป็นอีกมุมมองหนึ่งในการทำเกษตรที่เราไม่เคยสนใจ ได้รู้จักแนวคิดเกษตรอินทรีย์ มุมมองเรื่องอาหารการกินเริ่มเปลี่ยน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันตอนนั้นคือ หนึ่ง ความเครียดจากงาน สอง ปัญหาเสื้อแดงเสื้อเหลือง เรารู้สึกว่าเราเป็นยูนิตหนึ่งในสังคมแต่ไม่เคยทำอะไรเพื่อสังคมเลย เราแค่ทำหน้าที่ของตัวเองและทำได้แค่บ่น ตอนนั้นมีทั้งเงินเก็บและเวลาก็อยากจะลงมือทำอะไรให้สังคมบ้าง”

“แต่ก่อนเราเคยคิดว่าเป้าหมายความสำเร็จในชีวิตคือเรียนให้เก่ง สอบคณะที่คนอยากเข้าได้ ทำงานมีเงินเยอะๆ แต่พอใกล้ครบปีนั้น เราก็อยากรู้ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร พอกลับมาลองทำเกษตรในที่เล็กๆ ดู ขุดดินไปอะไรไปมันก็ได้ทั้งความคิดและปฏิบัติไปด้วย ตอนแรกเราปลูกเพราะอยากเปลี่ยนวิธีเข้าถึงปัจจัย 4 แต่ก่อนนั้นการเข้าถึงปัจจัย 4 มันต้องผ่านตัวเงิน แต่ถ้าไม่ใช้เงินจะทำได้ไหม เพราะเกษตรอินทรีย์เขาพยายามจะพึ่งพาตนเอง เราเลยเริ่มทำสิ่งต่างๆ เอง พอเริ่มเรียนรู้ก็มองเห็นว่าเราก็มีสวนมะพร้าว ถ้าเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่เดิมมันง่ายสุด เลยลองต่อยอดจากตัวเองดู”

มือใหม่หัดปลูกมะพร้าว

“ปัญหาของเราคือการทำสวนมะพร้าวแบบอินทรีย์ไม่ค่อยมีคนสอน ไม่เหมือนพืชอื่นอย่างผักหรือข้าว โชคดีที่ได้มาเจอพี่เก๋ (ศิริวรรณ ประวัติร้อย เกษตรกรทำสวนมะพร้าวที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเอกร่วมงานกันในกลุ่มทำน้ำตาลมะพร้าวชื่อ ‘เพียรหยดตาล’) เขาทำสวนมะพร้าวอินทรีย์แบบครบวงจรอย่างที่เราอยากทำ พอเรียนจบจากพี่เก๋ก็กลับมาทำของตัวเอง”

“เราไม่ใช้สารเคมี ฉะนั้นต้องดูว่ามีอะไรใช้แทนกันได้ พยายามเน้นเรื่องการจัดการ บางอย่างถ้าทำเองแล้วต้นทุนสูงกว่าก็อุดหนุนกลุ่มข้างนอก ของอย่างแรกเริ่มจากปุ๋ยก่อน เราใช้ปุ๋ยหมักแทนปุ๋ยเคมี ทำจากขี้วัว เศษฟางและวัชพืชที่ใส่น้ำหมัก รอย่อยสลายจนเป็นปุ๋ยก็เอาไปใช้ได้ การกำจัดแมลงถ้าไม่ใช้สารเคมีฉีดพ่นใบ เราก็ต้องเลี้ยงแมลงเพื่อกำจัดแมลงกันเอง มันคือแตนเบียนบาคอนที่คอยกำจัดหนอนหัวดำที่มาทำลายต้นมะพร้าว”

“นอกจากฉีดพ่นใบ วิธีร้ายแรงสุดคือเจาะยาเข้าต้น ให้ยาไปตามระบบน้ำเลี้ยง เพราะศัตรูพืชบางตัวถ้าจะตายต้องขึ้นกับยาที่ใช้ บางอย่างต้องโดนตัวถึงจะตาย อย่างหนอนหัวดำมีรังรอบตัว แถมมะพร้าวอายุเยอะก็ต้นสูง ฉีดพ่นใบลำบาก ถ้าจะทำต้องฉีดยาเข้าต้น พอหนอนกินใบที่มีน้ำเลี้ยงมันก็จะตาย แต่น้ำเลี้ยงก็ไปทุกส่วนของต้น ถ้าจะใช้เคมีเขาถึงมีข้อกำหนดว่าต้องใช้ยังไงถึงจะปลอดภัย แต่บางทีการปฏิบัติอาจไม่ถูกต้องก็ได้ เราเลยใช้แมลงแทนแม้จะยุ่งยากกว่าก็ตาม”

“การกำจัดวัชพืชถ้าไม่ใช่ยาฆ่าหญ้า เราก็ต้องตัดหญ้าเอง ที่จริงเราไม่ได้มองว่าหญ้ามันแย่ แต่พอหญ้ารกก็ไม่มีใครอยากทำงานกับเรา การเก็บมะพร้าวอ่อนต้องใช้คนประมาณ 3 คน คนนึงตัด คนนึงค้ำให้มะพร้าวหล่นลงในน้ำ อีกคนคอยลากเก็บ มะพร้าวอ่อนจะเก็บเกี่ยวระยะอ่อน กะลายังบาง ถ้าสอยลงพื้นลูกจะแตก ถ้าหญ้ายาวก็เป็นปัญหาเพราะเขาทำงานไม่สะดวก อีกส่วนคือมันแย่งอาหาร แต่สวนอินทรีย์ยังไงก็มีหญ้า ที่เราเห็นโล่งเตียนได้คือใช้ยาฆ่าหญ้า ถ้ามันมีกระบวนการเอามะพร้าวออกมาง่ายกว่านี้เราคงปล่อยให้หญ้ามันโต โตไปเลยลูก (ยิ้ม)”

ข้อความที่ซ่อนอยู่ในมะพร้าวหน้าตาไม่คุ้นเคย

“มะพร้าวเราต่างจากมะพร้าวที่อื่นตรงที่ขนาดเล็กกว่า เนื่องจากเราไม่ใช้ปุ๋ยเคมี กลไกการทำงานระหว่างปุ๋ยเคมีกับอินทรีย์มันต่างกัน สองคือเรื่องการจัดการหลังเก็บเกี่ยว มะพร้าวโดยธรรมชาติหลังปอกจะเป็นสีน้ำตาล เพราะเราไม่ใช้น้ำยาฟอกขาวหรือกันเชื้อรา พอไม่แช่ การจัดการก็ยากกว่าเพราะต้องเก็บในที่เย็น ใส่ตู้เย็นออกมาสีก็ไม่สวย เป็นสีน้ำตาลแห้งๆ คนจะสงสัยว่ามันเสียหรือเก่ารึเปล่า”

“อีกอย่างคือเราทำ Fair Trade เราให้ค่าแรงที่เป็นธรรม คนเก็บมะพร้าวเราได้ลูกละ 2 บาท ถ้าเขาอยู่ตามล้งจะได้ 50 สตางค์หรือ 80 สตางค์ต่อลูก ส่วนคนปอกมะพร้าวได้ลูกละ 3 บาท เรามีต้นทุนตั้งแต่เก็บมาจนกินได้ก็ 5 บาทแล้ว แต่เราส่งไปที่ตลาดที่เขาสนับสนุนเรา มะพร้าวมีมูลค่าเพิ่ม แต่เป็นมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่เขาเห็นว่าเราทำ ไม่ใช่จากแพคเกจจิ้ง ถ้าเขาซื้อเราในราคานี้ เราก็มีเงินจ่ายให้คนที่อยู่ในระบบเรา ถ้าเขามีงานทำทุกวันจริงๆ เขาจะได้เงินมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เราได้ค่าดำเนินการส่วนที่เหลือ แฮปปี้กันทุกฝ่าย”

“พวกเราอยากให้เกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่ยากจน แต่เราก็ไม่ค่อยเต็มใจจะบริโภคของแพงขึ้น บางทีตอนได้มาบริโภคมันไม่มีข้อมูล ไม่มีช่องทางให้แทร็กกลับไปว่ากระบวนการได้มาต่างกันยังไง หรือเราอาจจะรู้แต่ไม่สนใจ เราก็จะรู้สึกว่ามันแพง ที่จริงมันเกี่ยวกันหมด ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่สนใจ ผู้ผลิตก็จะไม่สนใจ ฉันจะทำให้ฉันอยู่ได้ ใช้ยาฆ่าหญ้าต้นทุนถูกกว่า ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วลูกใหญ่กว่า ใช้น้ำยาฟอกขาวแล้วสวยกว่า ถ้าคุณอยากได้แบบนั้นฉันก็ทำให้ได้ ที่จริงถ้าเราเลือก มันเป็นพลังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงการผลิตได้นะ

“ไม่อย่างนั้นแค่ทำของให้ดีมันก็ยังขายไม่ได้ นี่คือความจริง”

แบรนดิ้งคือธรรมชาติ

“มะพร้าวก็คือมะพร้าว เราไม่ได้อยากทำให้มันพิเศษหรือพรีเมียม มันไม่ใช่ของแปรรูป มันคือวัตถุดิบ คือของที่เป็นธรรมชาติ เราอยากทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ได้คิดว่าเพราะเทรนด์กำลังมา ไม่ได้มองมุมธุรกิจมาก่อน เราคิดง่ายๆ ว่าเรามีต้นมะพร้าวที่บ้าน เราต้องการกินมะพร้าวยังไง เราก็อยากกินมะพร้าวที่อร่อยและปลอดภัย ไม่สวยไม่เป็นไร โลโก้หรือแพจเกจจิ้งอาจไม่ต้องมีก็ได้เพราะเราไปสอยมาจากต้น”

“แต่พอเราทำเป็นอาชีพก็ค่อยๆ ปรับบางอย่าง ลูกค้าเขาต้องจ่ายเงินซื้อ เขาจะคิดอย่างเรารึเปล่า เราเลยพยายามทำแบรนด์ แต่แบรนด์เราตั้งใจสื่อสารว่าธรรมชาติมันเป็นแบบนี้นะ นี่คือคุณค่าที่แท้จริง พวกสัญลักษณ์โลโก้แค่ส่วนเสริม ไม่ใช่คุณค่าหลัก ถ้าคุณยอมซื้อมะพร้าวหน้าตาไม่สวยแล้วกินได้ นั่นคือการประสบความสำเร็จของแบรนด์เรา สิ่งนี้มันเกี่ยวข้องมากเลยว่าแล้วเราจะดูแลสวนยังไง สื่อสารยังไง กาจัดการที่สวนเราเลยไม่ค่อยเอาความรู้ไปแทรกแซง อยากให้มันเป็นอย่างที่มันเป็นมากที่สุด”

“เราคิดว่าพวกยาฆ่าหญ้าหรือปุ๋ยเคมีคือปัจจัยที่ทำให้รสชาติที่แท้จริงเปลี่ยนไป เราเองไม่ได้ทำให้รสชาติน้ำมะพร้าวอร่อยขึ้น เราแค่ทำให้มันได้สะท้อนรสชาติที่แท้จริงว่ารสชาติตามธรรมชาติมันเป็นแบบนี้”

ยุยงให้คน ‘เลือกกิน’ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

“ความปลอดภัยจากการกินอาหารปลอดภัยไม่ใช่สิ่งที่เห็นผลในทันที คนที่ยังไม่ป่วย การจะจ่ายเงินในราคาสูงขึ้นก็ยาก เราเลยมองว่าคนที่มาอยู่ในวงจรเกษตรอินทรีย์ทุกคนเป็นพาร์ทเนอร์ ทุกคนที่ทำอยู่ด้วยกัน ทั้งพ่อค้าคนกลาง คนแปรรูป หรือผู้บริโภคก็ตาม การซื้อขายต้องเกิดจากความเข้าใจ ไม่ใช่แค่ซื้อขายขาดให้เกิดรายได้ มันต้องส่งสารอย่างอื่นไปด้วย”

“เกษตรอินทรีย์ดีอย่างไร มันดีตรงที่เราจะได้สิ่งแวดล้อมกลับมาด้วย ดีทั้งระบบ บางทีเราคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงสังคม เราต้องไปเป็นนักการเมือง เป็นนู่นเป็นนี่ ถ้าเรียนหนังสือก็ต้องทำกิจกรรมเพิ่มถึงจะเป็นการทำเพื่อสังคม แต่เรารู้สึกว่าทุกอาชีพมีคุณค่า มีพลังในการประกอบอาชีพหรือเลือกบริโภค แค่ทำสิ่งนั้นให้ดี ทำหน้าที่ที่ตัวเองทำอยู่และสอดคล้องกับตัวเอง ไม่ต้องทำอะไรยิ่งใหญ่ มันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ทุกอาชีพสร้างสรรค์สังคมได้หมดแหละ”

ถ้าให้เลือกแนะนำสินค้าหนึ่งอย่างจะแนะนำอะไรดี

“น้ำมะพร้าวของเราแตกต่างจากเจ้าอื่นตรงที่เราไม่ได้แช่แข็ง แค่ใช้เทคโนโลยีล้ำๆ อย่างการกรองผ้าขาวบางแล้วบรรจุขายเลย (หัวเราะ) คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าน้ำมะพร้าวที่ขายตามโมเดิร์นเทรดผ่านการแช่แข็งมาก่อน ทำให้รสชาติเปลี่ยน ถ้าใช้วิธีแช่แข็งจะลดต้นทุนได้เพราะอายุยาวกว่า พอจะขายก็เอาออกมาละลาย ไม่มีส่วนเหลือทิ้ง แต่เราเป็นระบบพรีออเดอร์ ปอกมะพร้าวบรรจุขวดแล้ววันรุ่งขึ้นก็ส่งเลย เราเก็บสต็อกในรูปของผล เราไม่เจาะมันเพราะเรากินทุกวัน เรารู้ว่ามันต่าง ถ้าต้องแช่แข็งเราก็พูดได้ไม่เต็มปากว่านี่คือน้ำมะพร้าวสด สดของเราคือแบบนี้”

ผลิตภัณฑ์มะพร้าวจาก Y.Farmily มีให้ซื้อหาที่เว็บไซต์ Blue Basket ตะกร้าสุขภาพของคนช่างเลือก แหล่งรวมสินค้าเพื่อสุขภาพ ถ้าชอบใจ ติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพน่าสนใจอย่างนี้ได้ทุกวันพุธที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน ที่คอลัมน์ Blue Basket นะ : )

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย