ช่วงเวลาแห่งการผลิดอก ของศิลปินสาวผู้ห้อมล้อมด้วยดอกไม้ WHITE HAT.

WHITE HAT. น่าจะเป็นชื่อที่หลายคนคุ้นเคยและจดจำลายเซ็นผลงานได้จากภาพวาดพอร์เทรตสวยๆ ผู้อยู่เบื้องหลังเพจนี้คือ ชะเอม-ปัณรสี ศะศินิล หญิงสาวคนหนึ่งผู้ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมแบรนด์เสื้อผ้า เธอเริ่มวาดรูปด้วยความรักและเปิดเพจนี้ในปี 2013 จนกระทั่งปัจจุบัน จากภาพวาดพอร์เทรต เธอขยับมาวาดภาพดอกไม้ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นตัวตนของเธอมากกว่าสิ่งไหน

ดอกไม้คือธรรมชาติ คือสิ่งที่คงอยู่ชั่วคราว แต่เพียงการคงอยู่ของมันก็ทำให้ใครบางคนรู้สึกสดชื่นขึ้นมาได้

ตลอดจากวันนี้นับไปจนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม ชะเอมเป็นหนึ่งในศิลปินที่จัดแสดงงานในนิทรรศการ ‘In Bloom ความรัก ความงาม และความตาย’ ที่ Kinjai Contemporary การพูดคุยในวันนี้ เราจึงเปรียบเธอเป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง มองย้อนไปถึงเมล็ดพันธุ์จุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเดินเข้ามาสู่เส้นทางนี้ ไถ่ถามถึงการฟูมฟักดูแลตัวเอง และปุ๋ยที่ทำให้เธอเติบโตได้ดียิ่งขึ้น ก่อนจะผลิดอกออกผลให้เราเห็นกัน

หย่อนเมล็ดพันธุ์

ก่อนจะเริ่มเส้นทางของตัวเอง ชะเอมคืออดีตนักศึกษาสาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอเริ่มชีวิตหลังเรียนจบเหมือนทุกคนคือเข้าทำงานประจำในบริษัทแบรนด์เสื้อผ้า แต่ระหว่างนั้นก็คอยวาดรูปเล่นลงสมุด คล้ายเมล็ดพันธุ์เล็กจิ๋วที่ดูไม่สำคัญ แต่นั่นแหละคือต้นทางที่นำมาสู่เพจและวันนี้

“ตอนนั้นทำงานประจำมาสองปีกว่าแล้ว เริ่มรู้สึกเหมือนทำอะไรเดิมๆ ทุกวัน แบรนด์เสื้อผ้าจะเล่นอะไรในกรอบเดิมๆ แพทเทิร์นเดิมๆ พอเรามีความรู้พอสมควรแล้วก็เริ่มอยากเอาลายที่วาดไปลงโปรดักต์อะไรบ้าง เลยเริ่มทำขายตามงานเล็กๆ น้อยๆ พอเริ่มมีงานเข้ามาก็ต้องทำงานฟรีแลนซ์หลังเลิกงานประจำ หรือทำเสาร์อาทิตย์ เราเริ่มอยากลองทำอะไรของตัวเองบ้าง อยากโตขึ้น อยากลองอะไรใหม่ๆ”

ไม่กลัวบ้างเลยเหรอในจังหวะที่จะทิ้งงานประจำมาเป็นคนอิสระ เราถามคำถามคลาสสิก เธอตอบทันใจว่ากลัว แต่พอคิดว่านี่คือการสร้างผลงานของตัวเองโดยแท้จริงก็ทำให้กล้ามากขึ้น ระหว่างนั้นก็หารายได้ผ่านการสอนเวิร์กช็อปวาดรูปไปด้วย

“วัยเราเป็นวัยที่ยังเสี่ยงได้อยู่ เลยลองดู”

ดินและสิ่งแวดล้อม

หญิงสาวเติบโตมาในบ้านสวนของยาย ยามเด็กก็วิ่งเล่นในสวนแห่งนั้น เมื่อเติบโตแล้วจากมา ความรักในธรรมชาติก็ยังติดตัวมาด้วย

“ตอนแรกไม่ได้วาดดอกไม้ เราวาดอะไรที่อยากวาดเช่นภาพพอร์เทรต แต่พอวาดไปๆ มาๆ ก็รู้สึกยังไม่มีแก่น พอสักพักนึงมาวาดดอกไม้ มันเหมือนไปต่อได้เรื่อยๆ คงเพราะเราได้วาดสิ่งที่ชอบ อีกอย่างดอกไม้มันกว้าง มีหลายชนิด บางทีทำงานเยอะๆ แล้วอยากได้สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น แค่หาดอกไม้มาเสียบแจกันบนโต๊ะก็ดีขึ้นแล้ว”

ไม่ใช่เพียงในพื้นที่ทำงานส่วนตัวเท่านั้นที่เธอเอาดอกไม้มาไว้ใกล้ตัว เมื่อมีเวลาว่าง ชะเอมจะเดินทางทั้งใกล้และไกลไปอยู่ใกล้ธรรมชาติ แน่นอนว่าสถานที่แรกที่เป็นแหล่งพลังงานของโปรดก็คือปากคลองตลาด เธอแนะว่าอย่างในฤดูร้อนนี้ เราจะได้เห็นดอกทานตะวันหรือเดซี่ บางร้านก็นำดอกไม้เมืองนอกเข้ามาขาย แม้จะราคาแพง แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะได้เห็นของจริง

ดอกไม้ดอกไหนที่เธอชอบ อาจกลายมาเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นดอกไม้ทับที่ชะเอมทำไว้เพื่อศึกษารูปร่างรูปทรง นอกเหนือไปจากการศึกษาจากหนังสือหรืออินเตอร์เน็ต แต่ถ้ามีเวลานานๆ เธอจะออกเที่ยวป่าเพื่อเจอธรรมชาติที่ต่างกันไป

“ที่เราไปแล้วชอบคือดอยเชียงดาว ตอนนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งออกจากงานใหม่ๆ เพื่อนชวนล่วงหน้าแค่สองวันเราก็เก็บกระเป๋าขึ้นรถไฟเลย เราอยู่ในกรอบมาตลอด ชีวิตควรจะได้เจออะไรใหม่ๆ เส้นทางมันโหด เป็นหินและดินลื่นๆ แต่มันก็สวยจริงนะ ถ้าเราข้ามผ่านความเหนื่อยไปได้ก็คุ้ม เหมือนได้ข้ามผ่านขีดจำกัดของตัวเอง โชคดีที่เพื่อนเป็นสายชอบธรรมชาติเหมือนกัน ก็เลยเดินดูไปเรื่อยๆ มันจะมีดอกไม้ชื่อดอกเทียนนกแก้วที่มีฟอร์มเหมือนนกแก้วเลย เห็นได้แค่ที่นั่นที่เดียว แม้คนจะบอกว่าสวยเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าอยากสัมผัสความรู้สึกนั้นจริงๆ มันต้องไปเอง”

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราจับสัมผัสได้ว่าภายใต้น้ำเสียงนุ่มๆ หรือตัวเล็กๆ ของเธอมีความกล้าบางอย่างซ่อนอยู่

งอกเงยและตัดแต่งกิ่งใบ

ต้นไม้ที่งาม ไม่ใช่ต้นไม้ที่ถูกปล่อยให้เติบโตอย่างไร้ทิศทาง จุดเด่นในงานชะเอมคือภาพดอกไม้ที่วาดด้วยสีไม้ในเส้นสโตรกที่ละเอียด นุ่มนวล ศิลปินสาวจะเลือกดอกไม้ที่อยากวาดจากฟอร์มที่น่าสนใจ ทำให้ได้เส้นสายของธรรมชาติที่มีความโค้ง การดัด หรือการพับ แต่ความงามอย่างภาพเหมือนจริงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่เธออยากได้

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้เราจึงได้เห็นสีสันในดอกไม้รูปแบบใหม่ ชะเอมพยายามลดทอนรายละเอียดในดอกไม้ลง ทดลองใช้สีสันสดใสมากขึ้น เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่นิยมความมินิมอล โดยยังคงไว้ซึ่งความงามของดอกไม้ จากนั้นเธอจะนำภาพเหล่านี้มาสร้างเป็นแพทเทิร์น จากแพทเทิร์นก็ต่อยอดเป็นงานสร้างสรรค์หรือสินค้าอื่นๆ ได้อีกมากมาย

เริ่มจากสินค้าง่ายๆ อย่างโปสการ์ด นอกจากลายปลอกหมอน ชุดยูกาตะ ที่ได้ทดลองทำขึ้นมาแล้ว เป้าหมายในอนาคตของเธอก็คือเสื้อผ้า แม้การทำเสื้อผ้ามีรายละเอียดจุกจิกมากมาย แต่ความฝันของชะเอมก็คือการทำให้ผลงานของตัวเองได้ไปอยู่ในสินค้าต่างๆ ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

“เคยมีคนบอกว่าแค่มองภาพที่เราวาดก็ผ่อนคลาย เราเลยอยากเอาภาพมาทำเป็นของที่เขาใช้ได้ งานที่เป็นรูปภาพมันก็ดูได้แค่นั้น ถ้ามันไปอยู่กับเขาก็จะน่าจะสร้างความรู้สึกดีให้เขาได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะรู้สึกเหมือนชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น มากกว่าแค่วาดภาพงานตัวเองไปเรื่อยๆ”

ปุ๋ยบำรุงกำลัง

จากภาพลักษณ์อ่อนหวาน ชะเอมนิยามตัวเองว่าเป็นคน ‘โคตร’ บ้างาน เธอจะมีความสุขเมื่อได้ทำงาน และสิ่งที่เราเห็นอยู่นี้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เธอเชื่อว่าคนเราทำอะไรได้หลายอย่าง เหมือนที่เธอยังทำงานในฝั่งลูกค้าควบคู่กันไปเสมอ

“เราเป็นนักออกแบบ นักวาดภาพประกอบ เป็นครูสอนเวิร์กช็อปเพราะชอบสอน และเป็นแม่ค้า เราดูแลแบรนด์เสื้อผ้าเล็กๆ ของเรากับแม่ด้วย เงินที่ได้จากแบรนด์เสื้อผ้านี้ให้แม่ไปทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าเล่าเรียนของน้องชาย และยังให้แม่ต่างหากอีกส่วนหนึ่งในทุกๆ เดือน มันเป็นความภาคภูมิใจของเราเองนะ เหมือนเรามีจุดประสงค์หรือเป้าหมายที่จะบ้างาน เราอยากเก็บตังค์ไว้ดูแลตัวเอง คนที่เรารัก และทำสิ่งที่ตัวเองชอบ”

“สำหรับเรา การบ้างานไม่ถึงกับขัดความรื่นรมย์หรืออารมณ์ศิลปินของเรา ตรงกันข้าม เราว่ามันเป็นแรงผลักดันที่ดี เราว่ามันถูกแล้ว มันต้องมีกรอบของเวลา มีเป้าหมายของการนำงานไปใช้ มีความกดดัน มีความเครียดบ้าง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่แสดงว่าเรากำลังตั้งใจทำงานอยู่นะ งานจะออกมาดีไม่ดีมันอยู่ที่การวางแผนด้วย ไม่ว่าอาชีพอะไรก็น่าจะเหมือนกันตรงนี้”

แต่แน่นอนว่าในเส้นทางการทำงานย่อมมีวันที่พลังตก

“ถามว่าอะไรเป็นปุ๋ยของเรา เราว่ามันคือแรงบันดาลใจ คือแพชชั่น มันเป็นตัวเร่งให้เราเติบโต ถ้าคนเราไม่มีสิ่งนี้ มันก็จะทำไปเรื่อยๆ ทำไปอย่างนั้นเอง แรงบันดาลใจเราได้จากการไปเที่ยว ดูดอกไม้ต้นไม้ ดูหนังที่ให้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับธรรมชาติ อย่างเช่นเรื่อง This Beautiful Fantastic”

ถ้าช่วงไหนหมดแรงจริงๆ เธอก็จะพักผ่อน ออกไปดูงานที่ชอบ หรือใช้เวลากับคนที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข ซึ่งเราสังเกตว่า สุดท้ายแล้วมันก็คือเรื่องใกล้ตัวทั่วไปในชีวิตนั่นเอง

“เราว่าแรงบันดาลใจมันมาจากอะไรแบบนี้แหละ ไม่ต้องหาจากไหนไกลหรอก” ชะเอมบอกยิ้มๆ

ความงามของธรรมชาติ

พูดคุยมาจนช่วงท้าย เราสรุปในใจว่าการทำงานของชะเอมเหมือนดอกไม้ในธรรมชาติ การผลิบานในเนื้องานของเธอเหมือนดอกไม้ ใครผ่านมาพบเห็นก็มอบความรู้สึกดีให้ แม้แต่กลีบกุหลาบแห้งที่ทั่วไปจะต้องถูกกวาดทิ้ง เธอก็ทดลองนำมาตัดเป็นรูปทรงใหม่ สร้างชีวิตใหม่ให้มัน

“ธรรมชาติเป็นสิ่งไม่จีรัง ดอกไม้ดอกหนึ่งเกิดขึ้นมา มันมีเวลาของมัน วันหนึ่งมันต้องตาย ต้องเหี่ยวเฉา แต่ถ้าเราวาดดอกไม้ในช่วงเวลาที่สวยที่สุดออกมาเป็นงาน เราก็ได้เก็บบันทึกความงามในช่วงที่มันงามที่สุดเอาไว้”

เธอกล้าลงมือทำสิ่งต่างๆ ในช่วงวัยที่ชีวิตเบ่งบาน ทำสวนของตัวเองไปเรื่อยๆ ผ่านอุปสรรคที่ต้นไม้ทุกต้นต้องเจอ แล้วก็ค่อยๆ ผลิบานในทางของตัวเอง

อนาคตเรายังไม่รู้ว่า WHITE HAT. จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน แต่เมื่อมองย้อนกลับมาจากอนาคต สำหรับตัวเธอเองแล้ว วันนี้คงเป็นการบันทึกภาพชีวิตที่สวยงาม

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, ปัณรสี ศะศินิล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!