จำเป็นไหมที่ความเป็นไทยจะต้องอยู่ไกลตัว?
ไม่ คือคำตอบของ ฉัตร-คณิตา คนิยมเวคิณ เจ้าของแบรนด์เครื่องหนัง Kanita Leather ผู้หยิบของไทยแสนใกล้ตัวอย่างขนมไทยทั้งข้าวต้มมัด ขนมเบื้อง ขนมใส่ไส้ ขนมเทียน มาดัดแปลงเป็นคอลเลคชั่นเครื่องใช้จากหนัง ที่มีหน้าตาและขนาดคล้ายของจริงจนบางคนถึงกับออกปากว่าแยกไม่ออก
นอกจากขนมไทย ใบตองคือของไทยอีกอย่างที่ฉัตรใช้เป็นแรงบันดาลใจ เกิดเป็นกระเป๋าคอลเลคชั่น ‘วันเพ็ญ’ ที่ชวนให้นึกถึงกระทงและเทศกาลประจำวันเพ็ญเดือนสิบสอง หนึ่งในงานเทศกาลที่อยู่กับชีวิตคนไทยเรามาโดยตลอด
ความใกล้ตัวและใกล้ใจเช่นนี้คือเสน่ห์ที่ทำให้ในวันที่อากาศอบอ้าววันหนึ่ง เราขอเดินทางไปเยี่ยมห้องทำงานของ Kanita Leather จิบน้ำผสมน้ำยาอุทัยทิพย์ที่เจ้าบ้านยกมาเสิร์ฟเพื่อดับร้อน และฟังเรื่องราวการเดินทางจากร้านเครื่องหนังธรรมดาๆ สู่ร้านที่มีกิมมิคเป็นของไทยอย่างทุกวันนี้
และเป็นเรื่องราวที่กรุ่นกลิ่นอายไทยๆ ไม่แพ้น้ำยาอุทัยทิพย์เลย
เรียนรู้เรื่องหนังจากความบังเอิญ
“เราเรียนคณะสถาปัตย์ฯ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ เอกบรรจุภัณฑ์ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตอนทำธีสิส เราจะต้องมีบริษัทที่รองรับของที่เราออกแบบ เราได้ทำแพคเกจผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องหนัง ก็เลยเริ่มศึกษาเครื่องหนังบ้าง พอเรียนจบก็ได้เข้าทำงานที่บริษัทนั้นเลย”
“ที่ทำงานเราอยู่ใกล้ที่เขาขายเครื่องหนังพอดี เราเห็นหนังอยู่ทุกวัน ต้องผ่านแหล่งร้านขายหนัง แหล่งเครื่องมือต่างๆ และเราเป็นคนชอบทำงานแฮนด์เมดอยู่แล้ว เลยเริ่มทำเครื่องหนังเป็นของขวัญ เป็นพวงกุญแจหนังตัดเป็นรูปปลา รูปผีเสื้อให้คนในที่ทำงาน พอทำก็มีคนอยากได้แบบนั้นแบบนี้ เลยเริ่มเอาไปขายที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ทำพวกสมุดปกหนัง คนต่างชาติก็ให้ความสนใจเยอะมาก ขายดีมากจนรู้สึกว่าสิ่งนี้สนุก คือเราทำสิ่งนี้ได้ ใช้เวลากับเขาดึกๆ ดื่นๆ เราก็อยากทำ พอขายแล้วผลตอบรับดีวันหนึ่งก็เลยออกจากงานมาทำเครื่องหนัง ขายสมุดจริงจัง”
จากเครื่องหนังทั่วไปสู่ขนมไทยหลากรส
“ในช่วงที่ทำสมุด ทาง TCDC เขามีโครงการจับคู่นักออกแบบรุ่นใหม่กับผู้ประกอบการ เราต้องส่งพอร์ตเข้าไปว่าเรามีสินค้าอะไร เราอยากทำเครื่องหนัง แต่เราคิดว่าสมุดไม่ใช่พอร์ตที่จะเอาไปเสนอได้ ก็เลยเริ่มคิดว่าเราจะทำเครื่องหนังที่แตกต่างจากคนอื่นยังไงดี”
“โจทย์แรกที่ตั้งไว้เลยคืออยากให้มันมีความเป็นไทย คิดไว้สารพัดแบบ จนมาปิ๊งเรื่องขนมตอนที่ไปเปิดรูปเก่าๆ ดูแล้วไปเจอรูปที่เราช่วยคุณยายทำขนม นั่งดูคุณยายห่อข้าวต้มมัด เราก็คิดขึ้นมาว่าขนมไทยมีเอกลักษณ์ที่แพคเกจ เราน่าจะเอาจุดเด่นตรงนี้มาทำเป็นเครื่องหนังดู”
“เราชอบกินขนมใส่ไส้ ก็เลยคิดจะทำกระเป๋าทรงขนมใส่ไส้ขึ้นมาก่อน แล้วก็มีกระทงใบตอง ขนมจาก (รุ่นเก่า) ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ลองซื้อหนังมาทำ สุดท้ายเราไม่ได้ถูกคัดเลือกแต่ก็มีคนที่ว้าวกับสิ่งนี้ เราเลยคิดว่ามันน่าจะขายได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดว่าเราจะทำแบรนด์ให้มีความเป็นไทยไปเลย จากนั้นก็เลยทำขนมชนิดอื่นด้วย”
ขนมไทยต้องมาคู่กับใบตอง
“จริงๆ เราชอบของไทยๆ อยู่แล้ว ตอนเด็กๆ ก็เคยประกวดทำบายศรี คัดลายมือ ขอให้ไม่ใช่เรื่องวิชาการเราเอาหมด แล้วเราชอบซื้อหนังสือไทยๆ อย่างพวกหนังสือวิธีห่อใบตอง ตอนซื้อมาก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำคอลเลคชั่นนี้ พอเกิดไอเดียว่ามันใกล้วันลอยกระทงแล้ว เราก็เลยคิดว่าทำจับจีบใบตอง เอาใบตองมาเล่นดีกว่า”
“คอลเลคชั่น ‘วันเพ็ญ’ เกิดจากเวลาเราทำกระเป๋า มันจะมีหนังชิ้นเล็กๆ เหลืออยู่ที่เราไม่รู้จะทำเป็นกระเป๋าใบใหญ่ได้ยังไง เราเลยคิดว่าอาจจะเอามาทำอะไรชิ้นเล็กๆ ได้ ก็มาปิ๊งไอเดียว่าจะถึงวันลอยกระทงแล้ว เลยทำกระเป๋าตัวแรกเป็นทรงกระทง พรีเซนต์ด้วยการถือด้วยสองมือเหมือนถือกระทง จากนั้นก็ทำกระเป๋าอีกอันตามมาให้มีการจับจีบเหมือนกัน ซึ่งเดี๋ยวก็จะมีชิ้นอื่นๆ ตามมาอีก”
หน้าตาเหมือนของจริงแต่ไม่ทิ้งฟังก์ชั่น
“เราออกแบบให้มันมีหน้าตาคล้ายของจริง แล้วก็สามารถใช้งานจริงๆ ได้ด้วย ไม่ได้ต้องการให้เหมือนแต่ไม่รู้ว่าจะเอามาใช้งานอะไร สมมติจะทำข้าวต้มมัด เราก็ต้องคิดว่าด้วยรูปทรงประมาณนี้จะใส่อะไรได้ เลยคิดว่าจะทำเป็นที่ใส่กุญแจ เพราะมีความจุดี แบ่งเป็นสองมัด สองฝั่ง ให้ใส่กุญแจคนละแบบ
“ตัวขนมเทียน ทรงมันป่องตรงกลาง เราก็เอามาทำเป็นกระเป๋าใส่เหรียญ หรือกระทง จริงๆ แล้วกระทงสามารถใส่ของได้หมดเลย อย่างกระทงใบตองของจริงก็จะใส่ห่อหมก ใส่ตะโก้ ใส่อะไรก็ได้ แต่พอเอามาทำเป็นเครื่องหนัง เราก็เพิ่มประโยชน์ให้มันด้วยการใส่แม่เหล็กเข้าไปข้างๆ เผื่อเขาใส่คลิปหนีบกระดาษแล้วมันจะได้ไม่ร่วง”
“ตอนเอาไปขาย เด็กบางคนที่มากับผู้ใหญ่ เขาเคยทาน เขาก็มาชี้ๆๆ ว่านี่ข้าวต้มมัด คุณป้าคุณลุงก็จะอิน เคยมีคุณลุงถามว่านี่ไส้อะไรเนี่ยหนู เราก็บอกว่าไส้เหรียญค่ะ (หัวเราะ) ก็ลองเปิดกระเป๋าให้เขาดู เวลาขายก็สนุกมาก บางทีมีคนเดินมาบอกว่า อ้าว ไม่ใช่ของจริงเหรอเนี่ย กินไม่ได้เหรอเนี่ย (หัวเราะ)”
วัสดุจากหนังแท้เพื่อความแข็งแรง ทนทาน
“หนังที่เราใช้เป็นหนังแท้ เพราะกว่าเราจะคิดแบบขึ้นมาได้ เราก็อยากจะให้มันใช้ได้นานๆ เราอยู่กับวัสดุหนังมาหลายปีเลยพอรู้ว่างานแต่ละชิ้นควรใช้หนังอะไร หนังมีหลายชนิดมากทั้งหนังนิ่มมาก หนังบางมาก หนังที่บางและนุ่ม หนังบางและแข็ง มีเท็กซ์เจอร์หรือไม่มี หนังเงาหรือด้าน เวลาเราจะทำโปรดักต์อะไรเราก็ไปเลือกหนังชนิดที่เหมาะ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกหนังที่ทำความสะอาดง่ายด้วย”
“สีของหนังก็จะต้องใกล้เคียงกับสิ่งที่เราได้แรงบันดาลใจมา อย่างสีของขนมใส่ไส้ก็เป็นสีใบตองนึ่ง ถ้าหนังสีเขียวเข้มก็เป็นสีใบตองสด สีน้ำตาลก็อาจจะเป็นใบตองที่นึ่งมาสักพักแล้วจนเป็นใบตองแห้ง ส่วนขนมเบื้องเราก็จะเลือกหนังฟอกฝาด มันก็จะมีเอกลักษณ์ของเขาคือแค่โดนแดดโดนลม สีก็จะเปลี่ยน จะเข้มขึ้นตามธรรมชาติ ก็เลยคิดว่าหนังชนิดนี้เหมือนขนมเบื้องที่พออยู่บนเตานานๆ ก็ยิ่งเข้มขึ้นๆ”
“หนังที่เราใช้จริงๆ ไม่ค่อยมีใครใช้ คือโรงงานเขาทำหนังหลายสีอยู่แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับร้านนี่แหละว่าเขาจะรับมาหรือเปล่า บางร้านเขาก็ไม่รับสีนี้มาหรอกเพราะไม่มีใครซื้อ ที่ร้านเขาก็บอกว่ารับจากโรงงานมาเพื่อคุณฉัตรคนเดียวเลย (หัวเราะ)”
แพทเทิร์นซับซ้อนจนช่างเย็บยังมึน
“การขึ้นแบบแต่ละแบบค่อนข้างใช้เวลาเพราะแพทเทิร์นค่อนข้างหลากหลาย ช่างก็ไม่ค่อยเข้าใจแบบของเรา แต่ละแบบจะมีวิธีจุกจิก บางทีเราจินตนาการว่ามันต้องเย็บได้สิ แต่เอาจริงๆ คือจักรมันไม่สามารถเย็บได้ ก็ต้องคุยกันว่าจะปรับแบบเป็นแบบไหน ต้องค่อยๆ ปรับไป”
“คอลเลคชั่นขนมว่ามีรายละเอียดแล้ว คอลเลคชั่นวันเพ็ญนี่ยิ่งละเอียด ตัวกลีบนี่เราร้องไห้เลยว่าทำไมช่างถึงไม่เข้าใจ ทำไมถึงทำไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ คุยแบบไปจนเขาเข้าใจ อย่างถ้าเป็นกลีบใบตองจริงๆ เราก็จะตัดเป็นสี่เหลี่ยม พับ แล้วก็ตัดในส่วนที่เราไม่เอา แต่พอเป็นหนังมันไม่ใช่อย่างนั้น เราก็ต้องคิดแพทเทิร์นขึ้นมาว่าส่วนไหนที่เราจะใช้ ส่วนไหนที่เราจะแปะกาว ส่วนไหนที่เราจะเย็บ ขนาดเท่าไหร่ที่ต่อกันแล้วดูสวยงาม ต้องมีวิธีเย็บทีละชั้น รายละเอียดค่อนข้างเยอะ”
ความเป็นไทยในแบบ Kanita Leather
“ตอนนี้โปรดักต์ดูเป็นของกระจุกกระจิกใช่มั้ย แต่เดี๋ยวเราจะมีโปรดักต์ที่ผู้หญิงใช้ได้หลากหลายแบบมากขึ้น และผู้ชายสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น อย่างกระเป๋าสตางค์ผู้ชาย กระเป๋านามบัตร ที่ยังมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยอยู่ ส่วนคอลเลคชันวันเพ็ญตอนนี้มีสองตัวเพราะเพิ่งออกมาเดือนเดียว ต่อไปก็จะมีไซส์ใหญ่ขึ้น มีแบบถือ มีสีเพิ่มด้วย หรืออาจจะมีวัสดุอื่นเข้ามาบ้างก็ต้องรอดู”
“ต่อจากนี้เราก็ยังจะโฟกัสเรื่องคอนเซปต์ความเป็นไทย อยากสร้างคอนเซปต์ของผลิตภัณฑ์ไทย คือความเป็นไทยมีอะไรตั้งมากมาย มากกว่าที่เราทำตรงนี้อีกเยอะ ทั้งลาย ทั้งสี ที่เราสามารถหยิบจับมาทำเป็นให้คนไทยได้ถือความเป็นไทย”
Kanita Leather
ประเภทธุรกิจ: แบรนด์สินค้าเครื่องหนัง
คอนเซปต์: ของใช้เครื่องหนังที่ผสมเอกลักษณ์ไทยๆ ลงไปในชิ้นงาน
เจ้าของ: คณิตา คนิยมเวคิณ
Facebook | Kanita Leather
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์