VOSTOK MAGAZINE : นิตยสารภาพถ่ายอิสระที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้

Highlights

  • VOSTOK MAGAZINE คือนิตยสารภาพถ่ายรายสองเดือนสัญชาติเกาหลีใต้ที่ก่อตั้งโดยหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงจำนวน 5 คนเพื่อเปิดพื้นที่ในการนำเสนอผลงานให้กับศิลปินภาพถ่ายหน้าใหม่ที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์และน่าจับตาจากทั่วทุกมุมโลก
  • นอกจากการเปิดโอกาสให้ช่างภาพหน้าใหม่ VOSTOK MAGAZINE ยังเกิดจากความต้องการที่จะเห็นนิตยสารภาพถ่ายที่มีคุณภาพและแปลกใหม่ แตกต่างจากนิตยสารภาพถ่ายแบบเดิมๆ ที่เคยมีมา เป็นเหตุให้พวกเขาไม่พูดถึงเรื่องข่าวสารอย่างอุปกรณ์กล้องออกใหม่ ทว่าในแต่ละฉบับจะลงลึกไปที่หัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง เช่น การเล่าเรื่องเมือง กาลเวลา สิทธิสตรี การเมือง ความรัก ความน่ารัก และความเศร้าโศกในภาพถ่าย
  • จากจุดเริ่มต้นที่เลขศูนย์ ปัจจุบันทีมงานเบื้องหลังได้พา VOSTOK MAGAZINE ก้าวขึ้นมาเป็นนิตยสารภาพถ่ายลำดับต้นๆ ของเกาหลีใต้ที่มีแฟนคลับเหนียวแน่น และกำลังก่อร้างสร้างตัวเป็นคอมมิวนิตี้เล็กๆ ที่แข็งแกร่ง

ถ้าไม่นับรวม Magazine B นิตยสารของคนรุ่นใหม่ที่เล่าเรื่องแบรนด์ชื่อดังจากทั่วโลก

คุณพอจะรู้จักนิตยสารอิสระหรือนิตยสารสัญชาติเกาหลีใต้หัวอื่นๆ อีกไหม? เพราะนอกจาก B จะได้รับความนิยมในประเทศไทยจนเป็นตลาดใหญ่อันดับที่ 5 เรายังตื่นเต้นและอยากแนะนำนิตยสารของคนตัวเล็กที่ลงมือทำเนื้อหาด้วยพลังงานบวกหัวอื่นๆ ให้ทุกคนได้รู้จัก ยิ่งถ้าหลงรักการชมภาพ รักการถ่ายภาพสวยๆ หรือกำลังแสวงหามุมมองใหม่ๆ ของภาพถ่าย คุณเองน่าจะเป็นคนที่อินไม่น้อย

วงการศิลปะและสิ่งพิมพ์เกาหลีใต้ช่วงนี้กำลังคึกคักมากเป็นพิเศษ สังเกตจากกระแสตอบรับอันล้นหลามของงาน Unlimited Edition 10: Seoul Art Book Fair 2018 เทศกาลหนังสือศิลปะที่จัดขึ้นในโซลเป็นประจำทุกปี แถมครั้งล่าสุดเพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคมที่ผ่านมา จากตัวเลขที่บันทึกไว้ในปีที่แล้ว มีคนเข้าร่วมงานมากถึง 16,000 คน และมีแนวโน้มจะมีคนสนใจร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี

หนึ่งในนิตยสารศิลปะที่เนื้อหอมสุดๆ ซึ่งเราเกริ่นรายละเอียดไปข้างต้นบ้างแล้วคือ VOSTOK MAGAZINE สิ่งพิมพ์ที่ทำยอดขายในเทศกาลได้มากถึง 5,500 เล่ม ภายในเวลาเพียง 2 วัน VOSTOK คือนิตยสารภาพถ่ายจากทีมคนเกาหลีรุ่นใหม่ไฟแรงที่กำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่พวกเขาเชื่อและลงมือทำ ทำให้เรารู้จักความหมายของความทุ่มเท ความพิถีพิถัน และความเข้าใจคนอ่านถ่องแท้ จนเราอยากให้ทุกคนได้รู้จักบ้าง

เริ่มจากความฝันของกลุ่มคนเล็กๆ

ฮงแด ย่านมหาวิทยาลัยศิลปะชื่อดังอย่างฮงอิก เป็นหนึ่งในสถานที่รวมวัยรุ่นชาวกิมจิยอดฮิตของโซลที่คนไทยส่วนใหญ่จดจำได้ ออฟฟิศ VOSTOK ตั้งอยู่ในมุมสงบกลางพื้นที่แสนคึกคักแห่งนี้อย่างเงียบเชียบ

เมื่อเราก้าวเข้าไปในตึกสีอิฐเข้มๆ บริเวณชั้นสองเป็นห้องทำงานสีขาวขนาดย่อมๆ ที่จุคนทำนิตยสารจำนวน 5-6 คนเอาไว้ เช้าวันที่เราไปเยือนทีมผู้ผลิตกันถึงถิ่น Kim Hyunho ไดเรกเตอร์ และ Park Jisoo บรรณาธิการบริหารนิตยสาร กำลังง่วนกับการทำงานกันอย่างแข็งขัน ทั้งคู่ทักทายเราและหยิบ VOSTOK ให้เป็นที่ระลึกกับเรามา 3 ฉบับ ก่อนส่งไม้ต่อให้เราไปพูดคุยกับ Kim Injeong บรรณาธิการสาวที่รับหน้าที่เล่าเรื่องของนิตยสารภาพถ่ายหัวนี้ที่ไม่เหมือนใครในเกาหลีให้เราฟัง

“จุดเริ่มต้นของ VOSTOK เกิดจากความต้องการแน่วแน่ที่จะเห็นศิลปินภาพถ่ายหน้าใหม่ได้มีพื้นที่นำเสนองานเป็นของตัวเอง ประกอบกับเราอยากเห็นนิตยสารภาพถ่ายดีๆ ซึ่งต้องมีความแตกต่างไปจากสิ่งที่คนในเกาหลีเคยทำมาก่อนหน้า” อินจองเล่าถึงการจุดประกายไอเดียการทำสื่อกระดาษเมื่อ 2  ปีที่แล้ว

5 คือตัวเลขสมาชิกตั้งต้น ปัจจุบันกลายเป็น 6 เมื่องานเพิ่มดีกรีความเข้มข้นขึ้น กองบรรณาธิการของ VOSTOK แต่ละคนมาจากสาขาอาชีพที่หลากหลาย ตั้งแต่สื่อสารมวลชนที่ทำประเด็นเรื่องศิลปะเกาหลีสมัยใหม่ นักสังคมวิทยา ผู้สื่อข่าว และนักวิจารณ์ภาพถ่าย พวกเขารวมตัวด้วยเป้าหมายเดียวกันนั่นคือความกระหายให้นิตยสารหัวนี้เกิดขึ้นจริง นอกจากโจทย์ที่ว่าต้องทำสิ่งพิมพ์ที่แตกต่างจากนิตยสารภาพถ่ายที่เคยมีมาก่อน คนไฟแรงกลุ่มนี้ยังต้องการสร้างความรู้สึกใหม่ให้เกิดในพื้นที่ศิลปะการถ่ายภาพ

ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงทุกวันนี้ นิตยสารราย 2 เดือนหัวเล็กๆ ที่เคยเป็นความฝันของหนุ่มสาว 5 คนได้เกิดขึ้นจริง และกำลังคืบคลานเข้าไปครองใจคนเฉพาะกลุ่มและคนในวงการถ่ายภาพอย่างช้าๆ ทว่าต่อเนื่อง

ทำนิตยสารให้เหมือนงานศิลปะ

‘เริ่มต้นจากความไม่มี’ ไม่มีทุนจะทำสิ่งพิมพ์กันเลยสักนิด น่าจะเป็นคำนิยามให้กับการถือกำเนิดของ VOSTOK ได้ดีที่สุด เมื่อเริ่มจากเลขศูนย์ พวกเขาจึงตัดสินใจใช้แพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์ของเกาหลี ด้วยการนำเสนอคอนเซปต์และการแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะทำนิตยสารภาพถ่ายที่ไม่เหมือนใคร เงินก้อนแรกสำหรับการทำสิ่งพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้คือ 7 ล้านวอน (ประมาณ 204,000 บาท) คือหลักไมล์ที่ตั้งกันเอาไว้ในตอนต้น แต่พลังของโซเชียลและความกระหายใคร่รู้ที่จะให้เกิดสื่อใหม่ๆ ในสังคมหนุ่มสาวชาวเกาหลี ทำให้กระแสตอบรับเกินคาด เพราะ VOSTOK รวบรวมเงินลงขันได้มากถึง 32 ล้านวอน (ประมาณ 934,000 บาท) เกินจากจุดตั้งต้น 100 เปอร์เซ็นต์ ไปแตะตัวเลข 500 เปอร์เซ็นต์ สร้างความตื้นเต้นระคนประหลาดใจให้กองบรรณาธิการตัวเล็กๆ เหล่านี้ราวกับเป็นความฝัน เราคิดว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์โชคช่วย แต่เป็นเพราะรากวัฒนธรรมการอ่านของคนเกาหลีแข็งแรงมากพอที่จะสนับสนุนนิตยสารดีๆ ให้คลอดออกมาใหม่ได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาโฆษณาที่จะแทรกเข้าไปในเล่มเลยแม้แต่น้อย

อินจองบอกเราว่าคนอ่านคือปัจจัยสำคัญของการเกิดนิตยสาร และผู้บริโภคเหล่านี้เป็นคนกำหนดทิศทางของ VOSTOK ส่วนทีมทั้ง 5 คนเป็นเพียงผู้เล่นที่ทำให้รูปเล่มปรากฏตัวและเกิดขึ้นจริงเท่านั้น ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าคำพูดของเธอเป็นการกล่าวเกินจริงไปหรือเปล่า จนกระทั่งเธอเล่าว่า

VOSTOK ไม่ใช่ผู้ผลิตเนื้อหาที่มุ่งเน้นการทำนิตยสารเพียงอย่างเดียวแน่ๆ แต่ผู้อ่านต่างหากที่เป็นคนสร้างสรรค์นิตยสารของเรา เราเพียงแค่ส่งเสริมและคัดสรรสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสื่อออนไลน์มาลงในนิตยสาร นั่นคือหัวใจของงานเรา”

ในวันที่แพลตฟอร์มของสื่อทั่วโลกเคลื่อนทัพจากหน้ากระดาษไปสู่จอมือถือและคอมพิวเตอร์มากขึ้น อินจองก็เข้าใจว่าการดำรงอยู่ของนิตยสารหน้าใหม่ที่ถือกำเนิดมาในช่วงเวลาที่สวนกระแสแบบนี้ นอกจากจะต้องมีความแน่วแน่ พวกเขายังต้องสร้างความแตกต่างให้ผู้บริโภคเห็นอย่างชัดเจน

“เรารู้ว่าการคงอยู่ของระบบนิตยสารไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนอ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราที่มีอายุ 20-30 ปีอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นทีมจึงตั้งใจเลยว่า VOSTOK จะไม่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร อย่างการแนะนำอุปกรณ์ถ่ายภาพ หรือแนะนำนิทรรศการภาพถ่ายทั่วๆ ไป เพราะนั่นคือสิ่งที่ใครๆ ก็ค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการที่เราทำนิตยสารภาพถ่ายเล่มหนามากๆ แบบนี้ เราต้องมั่นใจว่าโดยส่วนใหญ่เนื้อหาควรบรรจุภาพและบทความพิเศษๆ เอาไว้ในเล่มเท่านั้น”

 

เมื่อมอง VOSTOK ให้ดี เรามองเห็นความคล้ายคลึงกับ a day บางอย่าง เพราะมีลักษณะเป็นนิตยสารที่เล่าเรื่องโดยตั้งหัวข้อเป็นธีมในแต่ละฉบับ และเล่าเรื่องลงลึกอย่างเข้มข้น

ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปีนี้ VOSTOK มีมาแล้วถึง 10 ฉบับ พวกเขาสนใจบอกเล่าเรื่องราวในขอบข่ายของสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น การเล่าเรื่องเมือง กาลเวลา สิทธิสตรี การเมือง ความรัก ความน่ารัก และความเศร้าโศกในภาพถ่าย การเฟ้นหาศิลปินภาพถ่ายใหม่ๆ ให้คนรู้จัก รวบรวมภาพถ่ายสแนปให้คนดูรู้สึกว้าว และอื่นๆ

“อย่างช่วงไม่กี่ปีมานี้ เกาหลีใต้มีการตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิสตรี ผู้หญิงเกาหลีถูกกดทับและอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่มานาน เราจึงสนใจที่จะใช้ภาพถ่ายผู้หญิงเป็นปากเสียงในการทำให้คนตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ตรงนี้ด้วย”

ยิ่งไปกว่านั้นคือการที่อินจองและทีมหยิบยืมปากเสียงจากนักเขียนนวนิยายร่วมสมัย กวี และนักวิเคราะห์ เพื่อใช้เติมเต็มเนื้อหาของนิตยสารให้แน่นหนาและแข็งแรงขึ้น ซึ่งความน่าสนใจคือการที่ทีมมองว่าภาพถ่ายจะเป็นการเชื่อมคนจากหลากหลายศาสตร์ให้เข้ามารวมตัวกันบนพื้นที่ของศิลปะการถ่ายภาพ ชาว VOSTOK เรียกวิธีคิดนี้ว่าการขยายพรมแดนใหม่ๆ ให้โลกศิลปะภาพถ่าย แถมในทุกๆ ฉบับจะมีนักเขียนจากหลายสาขาอาชีพที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนอ่านอยู่เสมอ

“เราติดต่อนักเขียนและศิลปินถ่ายภาพที่เหมาะสมให้เข้ากับหัวข้อแต่ละเล่ม เพื่อทำงานร่วมกัน ดังนั้นจึงมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละเล่ม คุณจะเดาไม่ออกเลยว่าใครจะเขียนอะไร หรือใครจะมาเป็นคนเขียน”

จุดเด่นอีกอย่างของนิตยสารภาพถ่ายหัวนี้ที่เราสังเกตเห็นและอดพูดถึงไม่ได้ คือเลย์เอาต์ที่เป็นการนำเสนอภาพถ่ายที่จัดวางได้อย่างสวยงามและทรงพลัง

“Jeong Byeong-kyu นักออกแบบหนังสือที่เป็นบรรณาธิการคนหนึ่งของเราพูดว่า อย่าออกแบบนิตยสารภาพถ่ายที่ไม่สามารถทำให้คนสนใจและจดจ่อกับภาพถ่ายได้ โดยต้องไม่ลืมว่าควรจะแยกข้อความและภาพให้เป็นสัดส่วนไปเลย” อินจองอธิบายให้ฟังถึงเบื้องหลังการจัดวางภาพและข้อความสุดละเมียดที่อยู่บนหน้านิตยสารเล่มหนานี้

หัวใจสำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินหน้าใหม่

นอกจากการวางเลย์เอาต์อย่างประณีต การคัดเลือกคอลเลกชั่นภาพถ่ายถือเป็นเรื่องสำคัญ อินจองเล่าว่านิตยสารหัวอื่นอาจเลือกนำเสนอศิลปินดังที่ผู้คนกำลังสนใจหรืออยู่ในกระแสก่อน แต่สำหรับ VOSTOK พวกเขาเลือกจากชุดผลงานที่น่าสนใจที่สุดก่อนเสมอ

“ถ้าทีมพูดคุยกันแล้วพูดคำว่า “ภาพถ่ายนี้เหมือนของคนอื่นๆ เลย” “มันคลีเช่ไปหน่อยนะ” หรือ “ภาพมันน่าสนใจน้อยเกินไป” เราจะไม่หยิบชุดผลงานนั้นมานำเสนอเด็ดขาด” อินจองเผยรายละเอียดการเฟ้นหางานที่ใช่อันเข้มข้น และที่ขาดไม่ได้คือความจับใจในภาพ

ดังนั้นภาพที่ปรากฏภายในนิตยสารแต่ละฉบับจึงผ่านกระบวนการพูดคุย ถกเถียงสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง ที่สำคัญคือความพยายามขยายขอบเขตการแนะนำศิลปินหน้าใหม่ที่โดดเด่น ซึ่ง VOSTOK ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำ

“ศิลปินถ่ายภาพหน้าเก่าหรือศิลปินถ่ายภาพดั้งเดิมที่มีชื่อเสียงและจบมาจากสถาบันการถ่ายภาพ ล้วนมีพื้นที่หรือมีองค์กรต่างๆ สนับสนุน ดังนั้นส่วนใหญ่จึงมีพลังและที่ทางของตัวเองกันอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้โลกเราเปลี่ยนไปไวมาก ทุกคนมีอำนาจที่จะซื้อกล้องส่วนตัว ประกอบกับตั้งแต่ประเทศเกาหลีมีการพัฒนาอินเทอร์เน็ตจนสมบูรณ์แบบ แล้วการใช้โซเชียลมีเดียก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้มีพื้นที่สำหรับศิลปินหน้าใหม่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ” อินจองพูดถึงใจความสำคัญที่พยายามทำนิตยสารอย่างเข้าใจธรรมชาติของสังคมที่กำลังขยับไปสู่ผู้คนเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ

อินจองเน้นย้ำกับเราว่า “เมื่อเราตั้งใจทำนิตยสารให้คนรุ่นใหม่เสพ นักวิจารณ์ภาพถ่ายรุ่นเด็กที่ร่วมงานกับเราก็น่าจะเข้าใจและนำเสนอได้ว่างานของศิลปินภาพถ่ายคนไหนกำลังติดเทรนด์ในช่วงนี้”

สิ่งที่เราประทับใจไม่ใช่แค่การเฟ้นหาศิลปินหน้าใหม่ภายในแดนกิมจิเท่านั้น เพราะพวกเขากำลังทำหน้าที่ควานหาศิลปินถ่ายภาพหน้าใหม่จากทั่วโลกเพื่อติดต่อนำคอลเลกชั่นผลงานมาลงในนิตยสารของตัวเอง ดังนั้นนอกจากคนอ่านชาวเกาหลีจะได้ลงลึกกับงานภาพถ่ายของศิลปินที่หลากหลาย VOSTOK เองก็ได้ขยายเครือข่ายศิลปินที่พวกเขาผูกมิตรให้กว้างขวางขึ้น

ขยับจากหน้ากระดาษไปสู่การรวมตัวของคนคอเดียวกัน

นอกจากจะทำนิตยสาร VOSTOK ยังทำสำนักพิมพ์ Vostok Press ที่พร้อมต่อยอดการจัดพิมพ์หนังสือด้านศิลปะการถ่ายภาพอื่นๆ ในอนาคต

บรรณาธิการสาวเล่าให้เราฟังว่านอกเหนือเรื่องเล่าในภาพถ่ายและในตัวหนังสือ ยังมีกิจกรรม lecture project ที่เปิดพื้นที่การพูดคุยเรื่องการถ่ายภาพและสังคมวัฒนธรรมให้กับแฟนๆ นิตยสารและคนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาร่วมพูดคุยกันเป็นประจำ ด้วยความมุ่งมั่นว่าเรื่องราวรอบๆ ภาพถ่ายภาพหนึ่งจะทำให้เกิดองค์ความรู้และไอเดียก้อนใหม่ๆ ได้ไม่หยุดหย่อน

“เรามีความหวังว่าตัวเองจะสามารถเปิดการบรรยายเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้มาเข้าร่วม ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าตัวเองทำได้ดีที่สุด ในอนาคตเรายังมีความฝันอีกว่า VOSTOK จะมีศักยภาพเป็นโรงเรียนสอนถ่ายภาพ เพื่อให้ประโยชน์กับผู้อื่น และช่วยให้เกิดผลกำไรในการทำงานนิตยสารที่เรารักต่อไปด้วย”

ไม่ใช่แค่การพูดคุยเพื่อดำดิ่งลงไปในสาระสำคัญของภาพถ่ายแต่ละรูปเพียงอย่างเดียว แต่เทศกาลสำคัญของคนเกาหลีอย่างวันคริสต์มาส พวกเขายังมารวมตัวเพื่อพูดคุยในเรื่องสนุกๆ และผ่อนคลาย ตามประสาของคนสนทนาภาษาเดียวกันอีกด้วย

ทุกวันนี้แม้ VOSTOK จะยังเป็นชุมชนเฉพาะกลุ่ม ทีมยังคงผลิตเนื้อหาเป็นภาษาเกาหลี และมีสถานที่วางจำหน่ายนิตยสารหัวนี้เพียงไม่กี่แห่งในโซล แต่คนอ่านของพวกเขาก็เป็นกลุ่มคนที่แสนจะเหนียวแน่นและพร้อมที่ติดตามการเคลื่อนไหวของนิตยสารอยู่เสมอ

บางครั้งรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างการมีอยู่ของสิ่งพิมพ์ภาพถ่ายรุ่นใหม่เล่มนี้ อาจมีความหมายเหมือนชื่อนิตยสารที่อินจองแชร์ให้เราฟังไว้ว่า

“ชื่อของ VOSTOK คือชื่อของยานอวกาศสหภาพโซเวียต ซึ่งถือเป็นยานลำแรกที่บรรจุมนุษย์คนแรกไปสู่อวกาศในปี 1961 ส่วนเราคือนิตยสาร VOSTOK นิตยสารที่ปรารถนาจะแหวกว่ายไปกับผู้อ่านในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เรียกว่าการถ่ายภาพ”

ขณะที่ใครๆ ก็สามารถกระโดดลงมาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ในวงการการทำนิตยสารเฉพาะทางในเกาหลีใต้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ได้ต่อเนื่องยาวนาน บทเรียนจาก VOSTOK ทำให้เราพบกับกุญแจสำคัญดอกหนึ่งในการทำนิตยสารทางเลือก นั่นคือความเข้าใจในโจทย์ที่ตัวเองตั้งไว้ และความสามารถในการถอดรหัสสิ่งที่คนอ่านต้องการได้อย่างถ่องแท้ 

AUTHOR