ถ้าสังคมสร้างระบบการศึกษาที่ดีเพียงพอ กลไกของโรงเรียนจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลัง และทำให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความหวัง อาจดูเลี่ยนสักหน่อย แต่เรายังเชื่อมั่นว่าศักยภาพของความหวังเหล่านี้ คือสิ่งชุบชโลมหัวใจมนุษย์หลายๆ คน
Yeomyung โรงเรียนทางเลือกในเมืองโซล เกิดจากการก่อตั้งของกลุ่มคริสเตียนกลุ่มหนึ่งในเกาหลีใต้ ด้วยความหวังให้เยาวชนเกาหลีเหนือที่อพยพได้รับการศึกษาเท่าเทียม พวกเขาเชื่อว่า การเปิดโอกาสให้พี่น้องผู้ตกยากจากฝั่งเหนือ คือการเปิดประตูบานใหญ่ให้มนุษย์ทุกคนได้เห็นแสงสว่างทางโอกาสในชีวิตอีกหลายด้าน หลังจากต้องหลบหนีจากบ้านเกิดที่มีทางเลือกในชีวิตไม่มากมายนัก
Kim Jung-hyang อดีตนักเรียนชาวเกาหลีเหนือที่เรียนจบจากโรงเรียนทางเลือกโยมยองเล่าถึงการตัดสินใจก่อนมาเรียนที่นี่ว่า “ตอนแรกลังเลที่จะมาเรียน” “ฉันมาเรียนที่โรงเรียนโยมยอง ส่วนหนึ่งเพราะที่นี่มีหอพักฟรี อาหารฟรี และสาธารณูปโภคที่ดี”
โยมยองตั้งอยู่ที่เขา Namsan ใจกลางโซล เปิดสอนโดยให้สิทธิชาวเกาหลีเหนือเข้ามาร่ำเรียนกันฟรีๆ ตั้งแต่ปี 2004 ที่นี่เป็นโรงเรียนเล็กๆ มีนักเรียนอายุตั้งแต่ 17-27 ปีเพียงแค่ไม่กี่ร้อยคน
สถานศึกษานี้ออกแบบการสอนใหม่ๆ เพื่อให้เข้ากับวิถีนักเรียนเกาหลีเหนือโดยเฉพาะ ภารกิจของโรงเรียนคือการให้การศึกษาทั้งความรู้เชิงวิชาการ และสอนการปรับตัวเพื่อให้ใช้ชีวิตในเมืองได้เหมือนพลเมืองที่เป็นคนใน นอกจากโยมยอง ยังมีโรงเรียนทางเลือกสำหรับคนเกาหลีเหนืออีก 8 โรงเรียนที่ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา แต่อาจมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องความเคร่งเครียดของสังคมเกาหลีใต้บ่อยครั้ง ทั้งหัวข้อการเมืองระหว่างเกาหลีเหนือ การฆ่าตัวตาย การว่างงาน การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่โหดหิน สังคมเกลียดเกย์ การกดขี่ผู้หญิง และอีกหลายๆ เรื่องที่พวกเขาได้พบเจอ
ประเด็นเหล่านี้สะท้อนว่าชีวิตคนเกาหลีมีส่วนที่ยากมากอยู่ ซึ่งสำหรับคนเกาหลีเหนือที่อพยพมายังเกาหลีใต้นั้นยิ่งแสนจะยากเย็นขึ้นอีกหลายเท่าตัว ยากทั้งในแง่การปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ และการพยายามลบเลือนบาดแผลที่รวดร้าวในอดีต โยมยองจึงเป็นเหมือนสถานที่ขัดเกลาและเพิ่มพูนประสบการณ์ให้เยาวชนเกาหลีเหนืออยู่ในสังคมเกาหลีใต้ได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
โดยทั่วไปคนเกาหลีเหนือที่หลบหนีมายังเกาหลีใต้ต้องเดินทางผ่านอย่างน้อย 2-3 ประเทศ หนึ่งในเส้นทางที่คนเลือกกันคือการหลบหนีมายังจีนแผ่นดินใหญ่ แล้วต่อมายังไทย ก่อนที่ทางการไทยจะส่งพวกเขาไปยังประเทศเกาหลีใต้
Pak Sool ผู้หลบหนี ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเรียนของโยมยองเล่าประสบการณ์ว่า เขาเพิ่งรู้จักอินเทอร์เน็ต และได้ดูซีรีส์เกาหลีเป็นครั้งแรกเมื่อมาพักที่เซฟเฮาส์ในไทย ช่วงเวลานั้นภาพสังคมเกาหลีใต้ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนกระแทกใจเขาทันที
ในแง่วิชาการ โยมยองตอบโจทย์นักเรียนด้วยวิชาพื้นฐานได้ไม่ต่างจากโรงเรียนทั่วไป แต่สิ่งพิเศษคือเรื่องที่เด็กเกาหลีเหนือไม่เข้าใจอย่างนิสัยใจคอ มารยาททางสังคม การใช้บัตรเครดิตเพื่อจับจ่ายในชีวิตประจำวัน การเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินที่มีเส้นทางเชื่อมกันหลายสายจนพวกเขางุนงง การใช้อินเทอร์เน็ต ความเคร่งเครียดของการสอบ ‘ซูนึง’ หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ที่จำเป็นกับชีวิตที่นี่ ไปจนถึงสอนการใช้ภาษาของคนเกาหลีใต้ที่มีวิวัฒนาการทางภาษาไปไกลมาก ทั้งศัพท์ใหม่ ศัพท์สแลง และคำทับศัพท์ ในขณะที่ศัพท์เกาหลีเหนือค่อนข้างหยุดนิ่งอยู่กับที่
culture shock พวกนี้ไม่ใช่ของกล้วยๆ มองไปทิศทางไหนก็มีแต่เรื่องน่ากลัวและแสนจะท้าทาย ถ้าไม่แกร่งพอคงอยู่ยาก การสอนวิถีใช้ชีวิตประจำวันให้เท่าทันคนอื่นเหล่านี้เป็นเรื่องที่โรงเรียนและบุคลากรภายในไม่อาจละเลย แต่วิธีการสำคัญอีกอย่างคือการเยียวยาจิตใจนักเรียนจากบาดแผลในชีวิต
พวกเขามีความเจ็บปวดที่พกติดตัวมา ทั้งชีวิตที่ลำบาก ทางเลือกน้อยในบ้านเกิด และปัญหาที่ต้องมาเผชิญในสังคมเกาหลีใต้ เช่น การล้อเลียน หรือการแบ่งแยกเชื้อชาติจากคนใน ทั้งที่กระทำไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทำให้พวกเขาไม่กล้าเปิดเผยตัวว่าตัวเองเป็นคนเกาหลีเหนือ เพราะกลัวความเจ็บปวดและอับอายจากการถูกทำให้เป็นคนชายขอบหรือคนนอก ซึ่งเป็นเรื่องที่คนเกาหลีใต้เองอาจไม่เข้าใจว่าพี่น้องจากฝั่งเหนือที่ตกยากกลุ่มนี้ต้องเจอกับอะไรมาบ้าง ดังนั้นจึงมีคลาสศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด และวิชาอื่นเข้ามาคลายความเครียด
สิ่งที่ท้าทายมากกว่าการสอนและเรียนรู้ในโยมยองทั้งหมด คือการเสริมความมั่นใจให้เยาวชนคนเกาหลีเหนือในรั้วโรงเรียนภูมิใจในความเป็นคนเกาหลีเหนือ แสดงอัตลักษณ์และตัวตนของตัวเองอย่างกล้าหาญ โดยไม่หลีกหนีความจริงหรืออับอายที่จะบอกว่ารากเหง้าของตัวเองมาจากไหน ประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและท้าทายความคิดของคนเกาหลีทั้งสองฝั่งกันต่อไปอีกยาว
ข้อดีของสถาบันทางเลือกรูปแบบนี้คือการผลักดัน สนับสนุนให้คนเกาหลีเหนือเติบโตด้วยตัวเอง เช่น มีความสามารถที่จะเข้าวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย จบออกมามีงานทำ
นอกจากความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจที่เด็กๆ ต้องเจอเป็นพื้นฐาน เช่น นักเรียนในห้องเรียนบางคนถูกสภาพแวดล้อมทางบ้านบีบให้ลาออก เพื่อออกไปหางานส่งเงินให้ครอบครัวที่ยากจนในเกาหลีเหนือ หรือทำงานอย่างหนักเพื่อเก็บเงินสนับสนุนให้ครอบครัวของตนเดินทางมายังเกาหลีใต้ ส่วนที่โชคร้ายที่สุดคือ หากระบบโรงเรียนไม่รัดกุมและโอบอุ้มได้มากพอ นักเรียนบางส่วนจะถอดใจจนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ควรจะเป็น ถ้าคนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ได้ อาจนำไปสู่อาชญากรรม ความพ่ายแพ้และความตายในที่สุด
Pak นักเรียนเกาหลีเหนือ เชื่อว่าการรวมกันของสองชาติจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเขา เขามีความฝันอยากเป็นหมอ เพื่อที่ว่าเมื่อพรมแดนเปิด ตนจะได้กลับไปยังบ้านเกิดใกล้ๆ กับชายแดนประเทศจีน “ระบบการแพทย์ของคนเกาหลีเหนือไม่ดีและยังไม่มีหมอที่ดี” เขาเล่า “เมื่อการรวมชาติเกิด ผมหวังว่าจะสามารถกลับไปช่วยเหลือคนที่ยังคงเจ็บปวดที่นั่นได้”
แน่นอนว่าข่าวสารความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและใต้นั้นสั่นสะเทือนต่อทั้งสองชาติและโลกทั้งใบ ถ้ามองในระดับบุคคล เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากข่าวเสมอ บางครั้ง ถ้าการเจรจาทางการเมืองของสองชาติเป็นไปด้วยดี หัวใจของพวกเขาต่างพองโต แต่หากขัดแย้ง พวกเขาก็รู้สึกบอบช้ำ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกหากเห็นภาพที่เด็กๆ หัวเราะเวลากลางวัน แต่ในเวลากลางคืนพวกเขาอาจจะยังคงฝันร้ายซ้ำๆ
มองให้ดี โยมยองไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียน แต่เป็นเหมือนบ้าน เพราะนักเรียนบางคนหนีมาเพียงลำพัง Lee Hye-won คุณครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเล่าว่า “นักเรียนของฉันมีโรงเรียนที่เป็นเหมือนพ่อแม่ เด็กๆ ได้รับการดูแลจากครูที่ช่วยพวกเขาทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งรวมไปถึงความสัมพันธ์เหมือนครอบครัวกับเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ”
ไม่ใช่เรื่องเกินจริง หากบอกว่าโยมยองอาจเป็นสวรรค์ของนักเรียนเกาหลีเหนือหลายๆ คน แต่สิ่งที่ครูลีหวังมากกว่านั้นคือ การสร้างให้นักเรียนของเธอแข็งแกร่งและพร้อมออกไปต่อสู้ในสังคมจริงเมื่อเรียนจบได้อย่างดีที่สุด
Lee Hung-hoon ผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบันบอกชัดเจนว่า “เราต้องการเป็นโมเดลการศึกษาสำหรับคนเกาหลีเหนือหลังจากมีการรวมชาติ และต้องการให้นักเรียนมีส่วนร่วมเป็นแรงผลักดันในการรวมชาติ ทั้งการเคลื่อนไหวและการแพร่กระจายข้อความต่างๆ ออกไปด้วย”
นอกจากนี้ผู้อำนวยการลียังมีความหวังว่า นักเรียนของเขาจะเป็นบุคคลแถวหน้าเมื่อเกิดการรวมเพื่อนบ้านทั้งสองฝั่งเป็นหนึ่งเดียว และหวังว่าลูกศิษย์จะเป็นบุคคลในแถวหน้าที่ช่วยเชื่อมรอยร้าวกว่า 6 ทศวรรษที่ยาวนานนี้ได้สำเร็จด้วย
ทุกวันนี้ความต้องการเข้าเรียนในโรงเรียนทางเลือกกำลังเติบโตไม่หยุด ประเทศเกาหลีใต้มีชาวเกาหลีเหนือวัยเรียนในหลักหลายพัน ขณะที่ครูอาจารย์อยากเห็นเยาวชนเกาหลีเหนือต่อสู้ในสังคมโลกได้ทัดเทียม เด็กเองก็หวังว่าอนาคตของพวกเขาและชาติของตัวเองจะเดินทางไปยังเส้นทางแห่งสันติภาพที่แท้จริง