คุยกับ บ.ก.แห่ง Magazine B นิตยสารสัญชาติเกาหลีที่เล่าเรื่อง ‘แบรนด์’ เชิงลึกและสนุกเป็นที่สุด

Highlights

  • Magazine B คือนิตยสารสัญชาติเกาหลีที่เล่าเรื่องแบรนด์ระดับโลกอย่างลงลึก ที่ผ่านมาพวกเขาเคยเล่าเรื่องแบรนด์ดังอย่าง IKEA, MUJI, Helvetica, Netflix และ FREITAG มาแล้ว
  • นิตยสารแต่ละฉบับเล่าตั้งแต่แรงบันดาลใจเบื้องหลังการก่อตั้งแบรนด์ วิธีทำแบรนดิ้งให้แข็งแรง ไปจนถึงบทสัมภาษณ์ผู้คนน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง แถมยังตีพิมพ์ทั้งเวอร์ชั่นภาษาเกาหลีและภาษาอังกฤษ จึงมีผู้อ่านหลั่งไหลมาซื้อจากทั่วโลก
  • ที่สำคัญนิตยสารหัวนี้ไม่มีโฆษณา ไม่รับเงินจากแบรนด์​ แต่เพราะเนื้อหาเล่าเรื่องของแบรนด์เต็มๆ จึงส่งประกวดเวทีโฆษณาและความคิดสร้างสรรค์ Cannes Lions ได้ แถมยังคว้ารางวัลกลับบ้านมาด้วย

หากพูดถึงนิตยสารต่างประเทศที่เราชอบเป็นพิเศษ เรามักนึกถึงนิตยสารสารคดีสัญชาติเกาหลีอย่าง B

เหตุผลแรก พวกเขาคือนิตยสารที่เลือกนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘แบรนด์’ เพียงหนึ่งแบรนด์ทั้งเล่ม แถมเลือกเฉพาะแบรนด์ระดับโลกที่ใครได้ยินชื่อก็ย่อมรู้จักอย่าง FREITAG, Ray-Ban, Leica, Google, Vans, Star Wars, MUJI หรือ IKEA

เหตุผลที่สอง นิตยสารหัวนี้ไม่เคยมีหน้าโฆษณาโผล่มาเลยสักหน้า แถมไม่ยอมรับเงินจากแบรนด์ใดๆ หนักแน่นในอุดมการณ์ของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เพราะทุกเล่มพูดถึงแบรนด์ B จึงเข้าข่าย ‘การโฆษณา’ จนสามารถส่งเข้าประกวดเวทีโฆษณาระดับโลกอย่าง Cannes Lions แถมคว้ารางวัลกลับมาได้เสียด้วย

เหตุผลสุดท้ายคือความเป็นมิตรต่อผู้อ่าน หน้าปกและรูปเล่มถูกดีไซน์อย่างร่วมสมัย มีการตีพิมพ์เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษให้ชาวต่างชาติผู้สนอกสนใจเรื่องแบรนด์อย่างเราๆ ซึมซับเนื้อหาในเล่มได้สบายๆ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงไม่แปลกที่ B จะกลายเป็นนิตยสารที่มีคนรออ่านอยู่ทั่วโลก รวมถึงเราเองที่แทบยกพวกเขาให้เป็น ‘อปป้า’ ที่ต้องตามกรี๊ดอยู่เป็นประจำทุกเดือน

B ดำเนินการโดย JOH & Company บริษัทสัญชาติเกาหลีเจ้าของร้านอาหารคาเฟ่ ร้านหนังสือ และแกลเลอรีในไลฟ์สไตล์คอมเพลกซ์ Sounds Hannam ใจกลางย่านฮันนัมดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของออฟฟิศพวกเขาด้วย

เราได้รับอีเมลตอบกลับจาก Heather Yoo (Heeyoung Yoo) senior editor จาก B (ปัจจุบันเธอเป็นคุณแม่ลูกหนึ่งและออกจาก B เพื่อไปเลี้ยงลูกเต็มเวลา) เธอยินดีตอบหลายสิ่งที่เราสงสัยเกี่ยวกับนิตยสารสุดเท่เล่มนี้ แถมยังชวนเราเยี่ยมชมห้องทำงาน สัมผัสบรรยากาศช่วงปิดเล่มอันดุเดือดอย่างเต็มอกเต็มใจอีกด้วย

ย้อนกลับไปตอนเริ่มต้น ทำไมจู่ๆ บริษัทไลฟ์สไตล์โปรดักต์ถึงตัดสินใจทำนิตยสารที่พูดเรื่องแบรนด์

เราอาจจะต้องเล่าถึงคุณ Suyong Joh ซีอีโอและ publisher ของพวกเราก่อน ในอดีต เขาเคยเป็น chief creative officer ให้กับบริษัท NAVER แต่ตัดสินใจลาออกมาตั้งบริษัท JOH & Company ของตัวเองในปี 2010 ตอนนั้นคุณโจเป็นผู้บริหารอายุ 40 ที่มีพลังมาก เขาชอบเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนและชอบใส่ตัวตนลงในทุกงานที่ทำ เขามุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจไลฟ์สไตล์และผลิตคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นพื้นฐานของชีวิตอย่างอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และข้อมูลข่าวสาร

ตอนก่อตั้งบริษัท คุณโจรวมทีมคนรุ่นใหม่ 6 คนที่เป็นครีเอทีฟและผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน พวกเขามีอายุเฉลี่ยสามสิบกลางๆ ฉันคิดว่านี่เป็นสิ่งที่แปลกแตกต่างจากบริษัทเกาหลีทั่วไป เขาไว้วางใจคนรุ่นใหม่ ให้พวกเขาได้เป็นไดเรกเตอร์ ทำหน้าที่ตัดสินใจเรื่องต่างๆ แม้อายุจะยังไม่มาก แต่พวกเขาก็เป็นมืออาชีพและมีแพสชั่นในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

หากมองตลาดนิตยสารในเกาหลียุคนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นหัวที่ทำมาแล้วเกินสิบปี มีเนื้อหาเกี่ยวกับแฟชั่นและความงามแบบนิตยสารทั่วไป ในขณะที่ B เริ่มนับหนึ่งพร้อมๆ กับการก่อตั้งบริษัท

ในปีแรกพวกเราเป็นเพียงทีมคนรุ่นใหม่ไฟแรง เราเริ่มต้นจากความรู้สึกอยากทำอะไรสนุกๆ อยากพูดถึงแบรนด์ที่ชอบผ่านมุมมองของพวกเราเอง และอยากนำเสนอสิ่งที่อยู่ในขอบเขตของ 4 เรื่องพื้นฐานเหล่านั้น

ซีอีโอของพวกเราไม่เคยทำงานในวงการสิ่งพิมพ์มาก่อน และ JOH & Company ก็ไม่ใช่สำนักพิมพ์ ไม่แปลกที่คนจะมองว่าพวกเราบ้าค่ะ (หัวเราะ) แต่ฉันคิดว่าคนที่มองว่า B ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ คงเป็นเพราะเขาไม่รู้จักตัวตนของคุณโจมากกว่า สำหรับเขาแล้วการทำนิตยสารเป็นเรื่องท้าทายมากๆ และทีมงานทุกคนก็มีพลังเหลือล้นมากเหมือนกัน พวกเราจึงเชื่อมาตลอดว่าพวกเราทำได้

คำว่า ‘โฆษณา’ เป็นอะไรที่ขัดแย้งกับนิตยสารของคุณมาก แต่ทำไมชื่อ B ถึงปรากฏบนเวทีประกวดโฆษณา Cannes Lions 2013 แถมยังคว้ารางวัลติดไม้ติดมือกลับมาด้วย

เดิมทีผู้คนในวงการนิตยสารเชื่อว่า เราไม่สามารถทำนิตยสารที่ไม่มีโฆษณาได้ เพราะว่ารายได้จากยอดขายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนในการตีพิมพ์นิตยสารได้

การมีโฆษณาแปลว่าลูกค้าจะมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคอนเทนต์ของพวกเรา แล้วคนอ่านก็จะได้คอนเทนต์ที่ไม่ได้มีเมสเสจที่แท้จริง เราคิดว่านี่คือข้อจำกัดของวงการนิตยสารในรูปแบบเดิม

ตั้งแต่เริ่มต้นทำ B เราไม่อยากเปิดช่องให้ลูกค้าหรือนักโฆษณาเข้ามาแทรกแซง และเราเชื่อว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้โฆษณาโน้มน้าวคนอ่าน แค่เราทำคอนเทนต์ที่ดี คนอ่านก็จะเห็นและเข้าใจเอง

จุดที่น่าสนใจคือ การทำคอนเทนต์ของเรากลายเป็นโฆษณาที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าโฆษณาจริงๆ เสียอีก มันเป็นอะไรที่ย้อนแย้งมาก แต่เราก็อยากใช้ความย้อนแย้งนี้แสดงพลังของคอนเทนต์ที่ดี นั่นคือสาเหตุที่เราเสนอชื่อตัวเองไป Cannes Lions การได้รางวัลในครั้งนั้นกระตุกต่อมความคิดของผู้คนได้พอสมควร เมื่อนิตยสารไร้โฆษณาได้รับการยอมรับในพื้นที่ของแวดวงโฆษณา

จากทั้งหมด 66 ฉบับ 66 แบรนด์ พวกคุณมีวิธีการเลือกแบรนด์ยังไง

ในทางปฏิบัติ เรามี 2 วิธีหลักๆ ในการเลือกแบรนด์ อย่างแรกคือเลือกจากรายชื่อแบรนด์ที่คุณโจและกองบรรณาธิการอยากศึกษา แบรนด์ที่เราพูดถึงใน B เป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจพวกเราและอยากร่วมงานด้วยตั้งแต่แรก เช่น HOSHINOYA, Patagonia, Maison Margiela

อย่างที่สองคือตลอดระยะเวลา 8 ปีที่พวกเราทำนิตยสารเล่มนี้มา บางแบรนด์ที่หยิบมาเล่าคือแบรนด์ที่เราค้นพบในช่วงเวลานั้น เช่น Netflix หรือ Apple Music ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เราเริ่มจากการเป็นผู้บริโภคแล้วรู้สึกติดใจจึงนำมันมาเสนอกับทีม

ตัว B ในหน้าปกของเรามาจากคำว่าแบรนด์ (brand) และบาลานซ์ (balance) เพราะเกณฑ์หนึ่งที่เราใช้เลือกคือแบรนด์นั้นต้องมีความบาลานซ์ใน 4 องค์ประกอบพื้นฐาน ได้แก่ การใช้งานได้จริง สไตล์ ราคาที่สมเหตุสมผล และปรัชญาของแบรนด์ ไม่ใช่โดดเด่นเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

ในการเล่าเรื่องแบรนด์แบบนิตยสารสารคดีพวกคุณให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง

การทำนิตยสารสารคดีของเรามี 2 แนวคิดหลัก เริ่มแรกเราแค่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ แสดงสิ่งที่แบรนด์เป็นจริงๆ พร้อมกับนำเสนอมุมมองและความรู้สึกของผู้บริโภคของแบรนด์ โดยไม่ดัดแปลงหรือตีไข่ใส่สีอะไรทั้งนั้น อาจมีความเห็นด้านลบของแบรนด์อยู่บ้างเพราะไม่ใช่ทุกคนจะเห็นดีเห็นงามกับทุกเรื่องเสมอไป เราเชื่อว่าความเห็นด้านลบแท้จริงแล้วมีนัยสำคัญบางอย่างอยู่ ดังนั้นเราจึงใส่มันลงไปในเนื้อหาด้วย เพราะนี่คือสารคดี

ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งคือ เราพยายามดีไซน์ตัวเล่มให้คนอ่านรู้สึกเหมือนกำลังดูภาพยนตร์สารคดี ถ้าเราคิดว่านี่เป็นหนังสือที่คุณอ่านจบได้ภายใน 30-40 นาที เราก็จะออกแบบให้คอนเทนต์และรูปภาพเล่าเรื่องไปพร้อมกันเหมือนภาพยนตร์ที่มีเวลาเท่าๆ กัน

สิ่งแรกที่คุณจะเห็นคือรูปภาพหรือสัญญะที่บอกธีมของเล่ม อย่างเล่ม IKEA เราเริ่มจากวิวทิวทัศน์สวยๆ ของสถานที่ที่แบรนด์ถือกำเนิดตามด้วยภาพของกำแพงหินที่มีนัยสำคัญต่อต้นตอและตัวตนของ IKEA เล่มนี้จึงเป็นการสืบหาจุดกำเนิดของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์แบรนด์นี้

จากนั้นเราจะพาคุณไปพบปะผู้บริโภคของแบรนด์ผ่านบทสัมภาษณ์ต่างๆ เรามองหาบ้านของคนสวีเดนและไปเยี่ยมบ้านของพวกเขาจริงๆ ก่อนจะลงลึกกับตัวแบรนด์ สำรวจโรงงานและออฟฟิศ ดูว่าพวกเขาทำเฟอร์นิเจอร์ยังไง ทำแคตตาล็อกยังไง รวมทั้งดูว่าพวกเขาทำอะไรบ้างในโชว์รูมของตัวเอง

หลังจากนั้นก็เป็นบทสัมภาษณ์บุคคลในแบรนด์ ตั้งแต่พนักงานทั่วไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง เรื่องที่เราใส่ใจคือการสร้างความลื่นไหลของเนื้อหา เหมือนกับการฉายภาพจากที่ไกลแล้วค่อยๆ ขยับเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นบรรยากาศที่เราตั้งใจสร้างให้กับนิตยสาร

การผลิต B หนึ่งเล่มมีระยะเวลาที่ตายตัวไหม

อันที่จริงขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์ บางแบรนด์เราสามารถทำได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว บางแบรนด์กินเวลานานถึง 6 เดือนเพราะพวกเขามีเบื้องหลังและข้อมูลให้เราศึกษามากมาย เรารวบรวมข้อมูลทั้งจากการนัดสัมภาษณ์ เจอคนนั้นคนนี้ จนถึงตามไปดูกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด แต่หลักๆ เราจะใช้เวลา 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ตามเก็บข้อมูลที่สำนักงานใหญ่ของพวกเขา

คุณชอบฉบับไหนมากที่สุด

สำหรับฉัน นี่เป็นคำถามที่ตอบยากเสมอ (หัวเราะ) ฉันไม่สามารถตอบได้หรอกว่าชอบเล่มไหนมากที่สุด แต่ฉันบอกได้ว่าเล่มที่ฉันประทับใจเป็นพิเศษคือเล่มที่เราสามารถออกแบบการเล่าได้อย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ

หลังจากที่เรื่องราวของแบรนด์ถูกตีพิมพ์ไปแล้ว พวกคุณยังคงเฝ้ามองความเป็นไปของพวกเขาต่อไหม

แน่นอนค่ะ สำหรับพวกเรามันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ หากแบรนด์ที่เราร่วมงานด้วยมีการเติบโตทางด้านธุรกิจ อย่าง 4 ปีก่อนเราเคยร่วมงานกับ Ace Hotel เมื่อไม่นานมานี้ เขาเพิ่งประกาศว่าจะเปิดสาขาแรกในเอเชียที่เกียวโต มันทำให้พวกเราได้ฉุกคิดอะไรหลายอย่าง หากเป็นไปได้เราก็อยากจะกลับไปพูดคุยกับพวกเขาอีกครั้ง

ในอนาคต เราหวังว่าจะได้บอกเล่าเรื่องการขยายตัวของแบรนด์ที่เคยร่วมงานด้วย เช่น เมื่อวันเวลาผ่านไปแบรนด์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง แต่เราอาจเล่าผ่านสื่อรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่นิตยสาร

มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้แบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์เปิดใจให้ข้อมูลที่ลึกมากๆ กับพวกคุณ

จริงๆ เรียกได้ว่าไปขอเจาะข้อมูลจากเขาเลยดีกว่าค่ะ จนบางครั้งพวกเขาก็รู้สึกกดดันไปเลย (หัวเราะ)

เราใส่ใจกับวิธีที่เราสื่อสารกับคนในแบรนด์เพราะมันเป็นการทำงานระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ สิ่งสำคัญคือการสร้างความไว้วางใจตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งทำความเข้าใจตัวตนและวัฒนธรรมของพวกเขา ไม่ว่าพวกเขาจะพูดภาษาอะไร ภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่น แต่วิธีที่พวกเขาสื่อสารหรือศัพท์ที่พวกเขาเลือกใช้จะมีลักษณะเฉพาะที่เป็นตัวตนของพวกเขาจริงๆ จะเรียกว่าพวกเขามีภาษาเฉพาะเป็นของตัวเองก็คงไม่ผิดนัก

เมื่อพวกเขารู้สึกวางใจและเห็นว่าพวกเรามีความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว หลังจากนั้นผู้คนก็จะเริ่มเปิดใจและเล่าเรื่องราวให้เราฟัง

ในช่วง 2-3 ปีแรก ยากลำบากมากที่เราจะสร้างความไว้วางใจ เราถูกปฏิเสธหลายครั้ง เพราะแบรนด์ยังไม่รู้จักเรา แต่ตอนนี้เราตีพิมพ์มา 66 ฉบับแล้ว ทั้งภาษาเกาหลีและภาษาอังกฤษ พวกเขาเริ่มรู้แล้วว่า B กำลังทำอะไร เลยกลายเป็นว่าตอนนี้แบรนด์เป็นฝ่ายเข้าหาเราอยู่บ่อยๆ

เมื่อ B กลายเป็นที่รู้จัก คงมีหลายแบรนด์ที่อยาก ‘จ้าง’ พวกคุณด้วย จัดการเรื่องนี้ยังไง

จริงอย่างที่คุณสงสัย มีหลายแบรนด์ที่อยากจ้างพวกเราให้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพวกเขา แต่เราไม่เคยร่วมงานกับแบรนด์ที่ไม่ตรงกับความเชื่อของเรา ต่อให้พวกเขาจะเสนอค่าตอบแทนก้อนใหญ่ก็ตาม เราไม่มีวันทำแบบนั้นแน่ๆ ถ้าเราทำ เราก็จะไม่ต่างอะไรกับนิตยสารแบบเดิมๆ ที่ยอมให้นักโฆษณาควบคุมคอนเทนต์ เราเชื่อว่ามีวิธีมากมายที่คอนเทนต์ที่ดีหรือสื่อที่ดีจะสร้างรายได้

พอไม่รับเงินจากแบรนด์และโฆษณาเลย พวกคุณพึ่งพารายรับจากยอดขายเพียงอย่างเดียวเลยหรือเปล่า

คุณคงเข้าใจในฐานะที่อยู่ในวงการนิตยสารเหมือนกัน ยอดขายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการทำงานทั้งหมดได้ แต่ถึงอย่างนั้นยอดขายของ B ฉบับภาษาอังกฤษก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

และอย่างที่ฉันอธิบายไปในตอนต้น B เป็นส่วนหนึ่งของ JOH & Company ดังนั้นหากมองในภาพรวมของบริษัท B เป็นผลงานที่สำคัญและเป็นภาพจำของเรา เราสามารถถ่ายทอดปรัชญาและตัวตนผ่าน B ซึ่งนั่นก็เปิดประตูไปสู่ธุรกิจและการร่วมงานกับบริษัทอื่นๆ

จากโครงสร้างนี้ คำถามหนึ่งที่เราน่าจะถามกันและกันคือ นิตยสารจำเป็นต้องดำเนินการโดยบริษัทสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือเปล่า บทความทุกชิ้นต้องเขียนโดยนักเขียนเท่านั้นหรือไม่

ในท้ายที่สุด ฉันคิดว่าจริงๆ แล้วคำถามของคุณคือ เราควรจะมีมุมมองต่อคอนเทนต์ยังไง มันควรจะเป็นเครื่องมือแบบไหน ถ้าคุณหลุดออกจากมุมมองเดิมๆ ได้ คุณก็จะเห็นโครงสร้างธุรกิจที่หลากหลายกว่าเดิม

ผลตอบรับจากคนอ่านทั้งในเกาหลีและทั่วโลกเป็นยังไงบ้าง

ผลตอบรับจากผู้อ่านในเกาหลีและผู้อ่านในต่างประเทศค่อนข้างคล้ายกัน เราไม่เคยจำกัดหรือแบ่งประเภทของผู้อ่าน เราพยายามหาแบรนด์ใหม่ๆ มานำเสนอให้กับคนอ่านตลอด มีกิจกรรม มีพอดแคสต์พูดถึงสิ่งที่เราทำ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เรามีคนเฉพาะกลุ่มที่ติดตามเราตลอด และพวกเขาก็มีท่าทีว่าจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ เราได้รับฟีดแบ็กที่ดีอย่างสม่ำเสมอตลอดหลายปีที่เราทำนิตยสารเล่มนี้

ตอนที่เราตีพิมพ์ฉบับ HOSHINOYA (รีสอร์ตสไตล์เรียวกังชื่อดังของญี่ปุ่น) ร้านหนังสือเจ้าใหญ่ที่ญี่ปุ่นอย่าง Tsutaya ก็ชวนเราจัดนิทรรศการนิตยสารที่นั่น เขาอยากวาง B ฉบับนี้ไว้บนเชลฟ์หน้าสุดเพราะว่าคนญี่ปุ่นสนใจ HOSHINOYA อย่างล้นหลาม นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เขาอยากช่วยโปรโมตนิตยสารเรา

ในญี่ปุ่นเป็นที่รู้กันว่า HOSHINOYA เป็นแบรนด์ที่เข้าถึงยาก พวกเขาค่อนข้างระวังตัวในการเปิดเผยข้อมูลกับสื่อต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่พวกเขาจะยอมร่วมงานกับนิตยสารแบบเรา ในมุมของคนญี่ปุ่นคงอยากรู้ว่าเราเขียนถึงแบรนด์ยังไงบ้าง หรือเรามีวิธีการอย่างไรที่ทำให้แบรนด์ยอมเปิดใจกับเรา

สำหรับคำถามนี้ ที่จริงแล้วฉันแอบทำการบ้านมานิดหน่อย เพราะส่วนตัวก็สงสัยเหมือนกันว่า B เล่มไหนขายดีที่สุด (หัวเราะ) สำหรับเวอร์ชั่นภาษาเกาหลีที่ขายดีที่สุดคือ MUJI ตามด้วย Leica และ FREITAG ส่วนเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เล่มที่ขายดีที่สุดคือ Leica, MUJI และ Aēsop ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างในเรื่องรสนิยมและกระแสสังคมซึ่งเป็นเรื่องที่ฉันรู้สึกว่าน่าสนใจมาก

อีกอย่างคือประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ในบรรดาประเทศที่ซื้อ B มากที่สุด พวกเราถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่เลยทีเดียว ต้องขอบคุณผลตอบรับที่น่าประทับใจนี้มากๆ ค่ะ

อะไรที่ทำให้ B เชื่อในพลังการสื่อสารผ่านสิ่งพิมพ์

พวกเราติดตามอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ทั้งในประเทศเกาหลีและทั่วโลก ทุกที่มีความเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกันหมด คนมักไถ่ถามกันว่าควรทำสิ่งพิมพ์อย่างไรให้อยู่รอด แต่ฉันคิดว่าสิ่งที่พวกเราควรพูดคุยกันและให้ความสำคัญคือเรื่องทัศนคติมากกว่า

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่รูปแบบสื่อ ไม่ว่าจะผ่านหน้ากระดาษ สื่อดิจิทัล หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก เนื้อหาอะไร รูปแบบไหนๆ ก็ไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เราต้องการจะสื่อให้ผู้คนรับรู้ ไม่ว่าคุณจะเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ หรือคนสร้างคอนเทนต์อิสระ ฉันรู้สึกว่า ‘แนวคิดการทำงาน’ เป็นสิ่งที่คุณสามารถสร้างให้เข้มแข็งได้ ซึ่งคุณทำอย่างนั้นได้ด้วยการฟังเสียงของตัวเอง

คุณวางแผนการทำงานในอนาคตไว้ยังไง

เมื่อฤดูหนาวที่แล้วเราเพิ่งเปิดตัวนิตยสารอีกเล่มคือ F ซึ่งพวกเราตั้งใจเล่าเรื่อง ‘อาหาร’ ที่ผูกพันกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน เพื่อตอกย้ำสิ่งที่ JOH & Company ให้ความสำคัญ ฉบับแรกเราทำเรื่อง ‘เกลือ’ ตอนนี้มีแค่เวอร์ชั่นภาษาเกาหลี ส่วนเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษจะเริ่มวางจำหน่ายภายในปีหน้าค่ะ

สำหรับ B ในอนาคตเราอยากเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารกับผู้อ่านผ่านโซเชียลมีเดียและพอดแคสต์ แต่ท้ายที่สุด เราอยากจะกลับคืนสู่แก่นแท้ของสิ่งที่เราทำ นั่นคือการคงไว้ซึ่งมาตรฐานและมุมมอง และทำนิตยสารของเราต่อไป

ขอบคุณภาพจาก Magazine B

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย