Passion Island : ย่านกินดื่มยอดฮิตในโซลที่ปลูกปั้นด้วยคนรุ่นใหม่

Highlights

  • ประเทศเกาหลีมีระบบทุนนิยมที่เรียกว่า chaebol ซึ่งจำกัดการเติบโตของธุรกิจคนรุ่นใหม่ แต่ภายใต้ข้อจำกัดก็มีความหวังเกิดขึ้นอยู่ อย่างเช่นธุรกิจฝีมือ Kim Yun-kyu หัวหอกคนสำคัญที่ชักชวนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ให้มาทำธุรกิจด้วยแพสชั่น
  • เขาสร้าง Passion Island หรือแหล่งกินดื่มของคนหนุ่มสาวในย่านยงซานที่ได้ชื่อว่าเป็นโกสต์ทาวน์จนนำมาสู่ความคึกคักได้สำเร็จ เพราะมีมุมมองต่อการทำธุรกิจไม่เหมือนใคร และไม่ยอมจำนนต่อระบบค่านิยมแบบเดิม

ไม่ว่าคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้จะทะเยอทะยานอยากร่ำรวยมากแค่ไหน ความปรารถนาในเรื่องนี้ก็ยังดูเป็นเรื่องห่างไกลและยากเย็นแสนเข็ญ เพราะ chaebol (แปลว่าก๊วนการเงิน) ระบบทุนนิยมแบบฉบับเกาหลี ที่มีกลุ่มนักธุรกิจใหญ่ไม่กี่เจ้าชักใยและจำกัดระบบเศรษฐกิจของประเทศ

แชโบลส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่แทบไม่ได้แจ้งเกิด เพราะพวกเขาสืบทอดอำนาจทางเศรษฐกิจในสายตระกูล คนเกาหลีส่วนใหญ่จึงถูกจำกัดชนชั้นให้เติบโตได้แค่ในเพดานตัวเอง ซ้ำร้ายรัฐยังควบคุมระบบการลงทุนอย่างเข้มงวด แต่ถ้าทุกคนยอมจำนนกับระบอบไปเสียทั้งหมด เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นผู้ประกอบการรายใหม่ลุกขึ้นมาทำธุรกิจด้วยไฟแรงกล้า

Kim Yun-kyu เป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้เป็นหัวหอกคนสำคัญที่ชักชวนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ให้มาทำธุรกิจด้วยแพสชั่น และเริ่มลงมือสานฝันอย่างมุ่งมั่น จนเกิดเป็น ‘Passion Island’ หรือย่านกินดื่มสุดฮอตขึ้นมา

คิม ยุนคยู คงไม่ต่างจากคนโซลทั่วไป หากวันนั้นเขามองเห็นทำเลย่านยงซานนี้เป็นเพียงย่านโรงพิมพ์ร้าง หลังโรงพิมพ์ทั้งหลายได้ย้ายไปปักหลักที่เมืองหนังสืออย่างพาจู ย่านนี้จึงดูไม่เป็นมิตร กลายเป็นถนนเปลี่ยวบรรยากาศเงียบเหงาและดูน่ากลัว เหตุผลพวกนี้มากพอที่จะไม่มีใครอยากเข้ามาเยือน และแน่นอนว่ายงซานยังเป็นพื้นที่ห่างไกลคำว่าฮิปหรือคูลสำหรับวัยรุ่นในโซล ซ้ำร้ายที่สุดคือถูกเรียกว่าโกสต์ทาวน์ไปเสียอย่างนั้น

ในอดีต แพสชั่นไอซ์แลนด์ที่เรารู้จักในทุกวันนี้ เคยเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่ล้อมด้วยตึกสูงอย่างอพาร์ตเมนต์ KCC Weltz Tower, Iaan Apartments และ Iaan Premier ก่อนคิมมาลงทุน เหล่านักพัฒนาเมืองมีแผนพัฒนาที่นี่เพื่อทำกำไร แต่ประเมินแล้วว่าไม่น่าจะคุ้มทุน แผนการจึงถูกพับลงลิ้นชักไปในที่สุด

แม้ยงซานไม่ได้โดดเด่นเหมือนย่านกังนัม อีแทวอน ฮงแด หรือซัมช็องดง แต่สำหรับคิม เขาเห็นว่าที่นี่มีศักยภาพมากพอที่จะลงมือทำโปรเจกต์มันๆ อย่างแพสชั่นไอซ์แลนด์ เพื่อจะสร้างให้เป็นย่านป๊อปดึงดูดนักท่องเที่ยว นักดื่มกิน เป็นแม่เหล็กเรียกผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือร้นด้านธุรกิจแต่ขาดเงินทุน ให้มาเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง โดยเน้นให้เกิดพลังงานการระดมความคิดเพื่อพัฒนาร้านรวงและพื้นที่ให้ไฉไลมากกว่าเดิมหลายเท่า

แพสชั่นไอซ์แลนด์ไม่ได้เกิดจากความอยากสนองความต้องการตัวเองเฉยๆ ของคิม แต่เขายังมีแผนการที่ยั่งยืน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในช่วงเวลาว่างจากการทำงานในร้าน จะมีการเชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญมาเสริมทักษะเรื่องการทำธุรกิจ ทำอาหาร และการตกแต่งร้าน ให้คนทำธุรกิจและลูกจ้างเรียนรู้ที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจให้ดีขึ้นด้วย

ก่อนหน้ามาทำโปรเจกต์นี้ คิมเคยประสบความสำเร็จจากการเปิดร้านมันฝรั่งทอดใกล้ๆ พระราชวังคย็องบก แต่ปัญหาที่พบบ่อยเมื่อเปิดร้านอาหารคือค่าเช่าที่มักขึ้นราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องย้ายออก พวกเขาจึงต้องการเปิดร้านอาหารในยงซาน ส่วนหนึ่งเพราะต้องการสร้างย่านการค้าของตัวเอง ประกอบกับที่นี่มีข้อเสนอค่าเช่าราคาถูก (ในปี 2014 ค่าเช่าพื้นที่ 33 ตารางเมตร (35 ตารางฟุต) ในซอยโรงพิมพ์เก่าอยู่ระหว่าง 500,000 – 700,000 วอนต่อเดือน) นอกจากนี้คิมยังตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายด้านการออกแบบตกแต่งภายในด้วยการคงสภาพบรรยากาศโรงพิมพ์ไว้อย่างเดิม ผสมผสานกับรูปลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ในบริเวณใกล้เคียง เสริมด้วยสวนขนาดกะทัดรัดและภาพวาดบนฝาผนัง บรรยากาศดิบๆ ที่คิมคงไว้อย่างจงใจกลายเป็นเสน่ห์ในแบบที่ย่านอื่นในโซลไม่มี

แพสชั่นไอซ์แลนด์เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2014 แม้การเริ่มต้นมักเป็นขั้นตอนที่ยากลำบากที่สุด แต่ผู้ประกอบการหนุ่มคนนี้ก็บ้าบิ่นพอที่ลงทุนเองในขั้นแรก เพื่อให้เงินหมุนในชุมชนร้านค้าได้ก่อน

จากนั้นเขาจึงชักชวนคนรู้จักที่มีความสนใจให้เริ่มมาเปิดร้าน โดยมีเงื่อนไขง่ายๆ ว่าเจ้าของร้านต้องเข้ามาอยู่ในท้องถิ่นจริงๆ เพื่อแทรกซึมและทำความรู้จักกับที่นี่ ทั้งในแง่บรรยากาศ ผู้คน และลักษณะของการทำการค้าในพื้นที่ เขาตัดสินใจชวนทั้งเพื่อนของตัวเอง นักดนตรี พ่อค้าแม่ค้าวัยรุ่นให้มาเปิดร้านไลฟ์สไตล์ เสื้อผ้า บาร์ อาหาร คาเฟ่ เล่นดนตรี เปิดแผงตลาดนัด และเปิดฟู้ดทรักเด็ดๆ ที่นี่จึงกลับมาอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารอร่อย เครื่องดื่มและการแสดงดนตรีสดที่ดึงดูดให้แขกมาเยือนทุกวัน ในส่วนตลาดนัดมีของกิ๊บเก๋ให้ได้จับจ่ายใช้สอยกันเพลินๆ ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือน

ความหลากหลายของร้านไม่ได้เกิดขึ้นในรวดเดียว ในช่วงต้นของขวบปีแรก แพสชั่นไอส์แลนด์ เริ่มต้นเพียงจากร้านอาหารและเครื่องดื่ม 6 ร้าน จนกระทั่งขวบปีที่ 4 ในปี 2017 จำนวนร้านมีมากถึงประมาณ 50 กว่าร้าน ถึงทุกวันนี้คนจะหลั่งไหลเข้ามาในย่านมากขึ้น แต่คิมก็คิดอยู่เสมอว่า เขาไม่ได้อยากให้แพสชั่นไอซ์แลนด์เติบโตรวดเร็วเท่านั้น แต่ต้องการให้เติบโตด้วยความยั่งยืนต่างหาก

“สังคมคนเกาหลีไม่ส่งเสริมให้วัยรุ่นเลือกเดินไปในเส้นทางชีวิตที่ไม่ปลอดภัย พวกเขาสนับสนุนว่าควรทำงานในองค์กรดีๆ หรือทำงานข้าราชการ แต่ผมกลับเชื่อว่ามีอีกหลายเส้นทางที่ชีวิตเลือกได้ โปรเจกต์ที่เราลงมือทำเป็นการพิสูจน์ว่า ไม่ต้องทำตามขนบแบบที่คนเกาหลีทั่วไปนิยมก็ประสบความสำเร็จได้ แถมเรายังมีความฝันอื่นๆ ที่หลากหลายได้ด้วย” คิมให้สัมภาษณ์กับสื่อแห่งหนึ่ง

ความสำเร็จย่านยงซานน่าจะเป็นต้นแบบให้คนรุ่นใหม่ได้กล้าลุกขึ้นมาทำธุรกิจตามแนวคิดของตัวเอง เป็นกรณีศึกษาว่านอกจากมีเงินทุนแล้ว ขอให้มีการวางแผนที่รัดกุมแน่วแน่และการลงมือทำอย่างมุ่งมั่น ความสำเร็จก็สร้างขึ้นได้ จริงอยู่ว่านี่ไม่ใช่หนทางที่ง่ายหรือโรแมนติก แต่ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่เต็มไปด้วยความหวังในระบอบที่ยากเย็นไม่ใช่หรือ?

อ้างอิง
http://koreajoongangdaily.joins.com/news/article/article.aspx?aid=3019660
http://magazine. seoulselection.com/2015/08/07/exploring-the-yongsan-archipelago
https://www.greatbigstory.com/stories/how-a-korean-passion-project-is-revitalizing-this-seoul-neighborhood

AUTHOR