ดูแผนพลิกฟื้นผืนป่าของเกาหลีใต้ในวันที่ประเทศยังยากจนกว่านี้มาก

เราคือหนึ่งในคนเมืองที่ชอบนั่งจิบกาแฟในคาเฟ่ ดูงานศิลปะในหอศิลป และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในออฟฟิศ ได้เห็นรถรา ผู้คนหนาแน่น และตึกแออัดจนชิน การอยู่ในวงล้อมมลพิษทุกวันทำให้ลืมว่าสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกำลังย่ำแย่ นี่เป็นตัวอย่างเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด แต่ยังมีปัญหาสังคมอีกหลายด้านแย่ลงเรื่อยๆ

รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทยปี 2559 ชี้ว่ามีพื้นที่ป่าไม้เหลือแค่ร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศ และตั้งแต่ปี 2557-2559 เป็นต้นมา พื้นที่ป่าไทยลดลงร้อยละ 0.02 ทุกปี นี่คือภาวะวิกฤตที่น่าเป็นห่วง อาจด้วยต้นเหตุจากรัฐบาลที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาเต็มที่ ภาคเอกชนเข้าไปหาผลประโยชน์ไม่จบสิ้น และคนในประเทศส่วนใหญ่คิดว่าไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ปัญหาทรัพยากรและมลภาวะจึงยังถูกท้าทาย


ภาพ k-learn.adb.org

ถ้าในตอนนี้บ้านเรามีวิกฤตเรื่องป่าไม้ หลายสิบปีที่แล้ว เกาหลีใต้ก็เจอกับปัญหานี้ แต่ที่ต่างคือพวกเขามองวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อจัดการและทำให้ความเป็นอยู่ของคนและเมืองดีขึ้น

60 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศยากจน มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำไปทำเชื้อเพลิงสูง แถมคนส่วนมากยึดอาชีพเกษตรกร ขยายพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยเป็นมหกรรม ซ้ำร้ายภาครัฐยังอ่อนแอ สถานการณ์ด้านป่าไม้ของเกาหลีจึงเข้าขั้นร้ายแรง แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาใช้เวลาตั้งแต่ปี 1952-2012 เพิ่มพื้นที่ป่าของเกาหลีที่เหลืออยู่เดิม 35 เปอร์เซ็นต์ เป็น 64 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มความหนาแน่นของต้นไม้ต่อพื้นที่ได้ถึง 14 เท่า

ประเทศยากจนและด้อยพัฒนาประเทศนี้ลุกขึ้นมาพลิกผืนป่า ปลุกพื้นที่สีเขียวให้กลับมีชีวิตอีกครั้งได้อย่างไร


ภาพ k-learn.adb.org

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปช่วงที่เกาหลีใต้ได้รับอิสรภาพจากญี่ปุ่นในปี 1945 และการเกิดขึ้นของสงครามเกาหลีระหว่างปี 1950-1953 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดของทรัพยากรธรรมชาติในเกาหลี เพราะป่าในประเทศถูกทำลายมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ยุคสมัยของประธานาธิบดี Syngman Rhee (1948-1960) เป็นยุคแรกที่ภาครัฐมีความพยายามฟื้นฟูป่า แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะขาดระบบดูแลที่ดีและงบประมาณไม่เพียงพอ แต่ฤดูกาลแห่งความหวังก็มาถึงในปี 1961 เมื่อ Park Chung-hee ขึ้นมาบริหารประเทศ ความโดดเด่นของชุงฮีคือการบริหารประเทศอย่างเด็ดเดี่ยว ประกอบกับความสนใจด้านเศรษฐกิจและป่าไม้ เขาจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ทั่วประเทศมีพื้นที่สีเขียว

หลังผ่านสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ชุงฮีเห็นว่าเกาหลีใต้มีความบอบช้ำหลายด้าน ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เพิ่งตั้งไข่ ปัญหาภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม ภัยแล้ง การกัดเซาะหน้าดินขั้นรุนแรงที่นำไปสู่ปัญหาดินถล่ม และไม้ฟืนเชื้อเพลิงที่ขาดแคลนอย่างหนัก ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า เขาจึงตัดสินใจว่าต้องเริ่มฟื้นฟูป่าไม้เร่งด่วน ด้วยความมุ่งมั่นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำเพื่อลูกหลานในอนาคต


ภาพ hikingresearch.files.wordpress.com

ความน่าสนใจคือ ประธานาธิบดีชุงฮีดำเนินการและเดินทางไปตรวจสอบ ลงมือฟื้นฟูภูเขาหัวโล้นที่บางแห่งไม่เหลือหน้าดินหลายๆ ที่ด้วยตัวเอง ทั้งยังชวนประชาชนขึ้นไปปลูกป่า ขนดินขึ้นไปทีละกองๆ เริ่มจากปลูกหญ้าปกคลุมหน้าดิน และนำพันธ์ุพืชต่างๆ ขึ้นไปเสริมทัพ โดยนำร่องที่เมืองยองอิลจนแพร่หลายไปทั่วประเทศในที่สุด

นอกจากการลงแรง ชุงฮียังวางแผนการเป็นรูปธรรมที่รัดกุม ออกกฎหมายหลายๆ ฉบับ และรณรงค์ให้ทุกคนปลูกต้นไม้ จากภาพภูเขาหัวโล้นและที่ดินร้างสีน้ำตาลกรังๆ กลายเป็นภาพต้นไม้สีเขียวปกคลุมภูเขาและที่ดินแทนที่ในปี 1980 สะท้อนให้เห็นถึงภารกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างที่เขาตั้งใจ

สาเหตุที่ชุงฮีให้ความใส่ใจเรื่องป่าไม้เพราะเขามองว่าทรัพยากรธรรมชาติจำเป็นต่อคนรุ่นถัดไป ด้วยเรื่องง่ายๆ คือสุขภาพที่ดีของคน คุณภาพชีวิตของสัตว์ ความหลากหลายของระบบนิเวศ และช่วยลดความรุนแรงของภัยพิบัติด้านต่างๆ ทั้งยังช่วยฟื้นฟูพื้นที่ทำการเกษตรให้ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพ และหัวข้อใหญ่ๆ อย่างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะรากฐานที่ชุงฮีวางไว้ในอดีตนำมาสู่ผืนป่าที่สร้างกำไรให้สาธารณะเป็นจำนวนเงินถึง 126 ล้านล้านวอน ซึ่งคิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ของรายได้มวลรวมทั้งประเทศ


ภาพ koreabizwire.com

ในแต่ละปี เงินค่าสวัสดิการป่าไม้จะมาจากประชาชน 2.16 ล้านวอน คนเกาหลีในปัจจุบันจึงเห็นคุณค่าของป่าและรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ คงพอเดากันออกว่าถ้าใครขืนฝ่าฝืนเข้าไปทำลาย จะต้องเจอกับอะไรบ้าง

ในปี 1982 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า ‘เกาหลีเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงแห่งเดียวของโลกที่ประสบความสำเร็จด้านการปลูกป่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2’ จนถูกเรียกว่าเป็นความมหัศจรรย์ของประเทศในศตวรรษที่ 20

เกาหลีใต้ประกาศเสร็จสิ้นการปลูกป่าในปี 1992 จากวันนั้นถึงวันนี้ เกาหลีใต้กลายเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมดุลกับชีวิตเมืองและความหลากหลายทางชีวภาพจนเราอิจฉา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2014 กรมป่าไม้เกาหลีใต้ประกาศให้ความช่วยเหลือในการถ่ายทอดความรู้เรื่องการฟื้นฟูป่าไม้ให้กับประเทศภาคีอื่นๆ ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 21) โดยรัฐบาลมีแผนการสนับสนุนโครงการนี้ด้วยจำนวนเงินสูงถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มความพยายามในการฟื้นฟูโดยการแบ่งปันความรู้และการสนับสนุนด้านเทคนิคต่างๆ อย่างเต็มอกเต็มใจ

ถ้าลองมองปัจจัยความสำเร็จในการฟื้นฟูป่าของเกาหลีใต้ มันประจวบเหมาะกับปัจจัยหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงจากการใช้ฟืนเป็นถ่านหินและแก๊ส และระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงสู่ประเทศอุตสาหกรรม ประกอบกับความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของชุงฮี ซึ่งสร้างแรงจูงใจสูงและสนับสนุนให้ประชาชนสร้างผืนป่าอย่างต่อเนื่อง สร้างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เต็มใจจะรับราชการและทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ ที่สำคัญคือการดึงเอาเกษตรกรระดับหมู่บ้านให้มีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้จนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับป่า ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้การฟื้นฟูป่าของเกาหลีใต้เป็นอีกตัวอย่างของความสำเร็จหลายๆ ด้านให้นานาชาติได้เรียนรู้

การฟื้นฟูป่าที่ทรงพลังของเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า แม้ในอดีตประเทศนี้จะยากจน สิ่งแวดล้อมเสียหายอย่างหนัก แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะเริ่มลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์หรือพัฒนาเมืองที่เราอาศัยอยู่ เพื่อพัฒนาให้คนมีคุณภาพ และปลูกปั้นให้เมืองเป็นเมืองที่ยั่งยืน เพราะคนจะอยู่รอดและอยู่ได้ดีก็ต่อเมื่อเรามีสภาพแวดล้อมและธรรมชาติที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในโลกที่กำลังเสื่อมโทรมใบนี้อย่างมีความหวัง


ภาพ www.businesskorea.co.kr

อ้างอิง

blog.worldagroforestry.org/

english.forest.go.kr/

k-learn.adb.org/

greenworld.or.th

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา