กว่าจะเป็น ‘วิชาชีวิต’ เว็บไซต์สำรวจตัวเองใน 7 นาทีที่อยากให้คนเล่นภูมิใจในตัวเองมากๆ

Highlights

  • วิชาชีวิต คือเว็บไซต์ที่ชวนให้คนมาสำรวจตัวเองใน 7 นาที ผ่านเรื่องราวที่จำลองการเดินทางกลับไปยัง ‘บ้าน’ สถานที่ที่เคยมีความทรงจำที่ดีและไม่ดี และตอบคำถามไม่กี่ข้อเพื่อทบทวนช่วงชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเล่นเสร็จแล้วสามารถแชร์การตกตะกอนของตัวเอง รวมทั้งอ่านบทเรียนของคนอื่นได้ด้วย
  • แคมเปญวิชาชีวิตนี้เป็นโครงการของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมี Glow Story และ Deadline Always Exists เป็นผู้สร้างสรรค์เว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้น้องๆ นักเรียนทุนของ กสศ.ที่อาจเคยประสบปัญหาในชีวิตและมีความไม่มั่นใจในตัวเองได้กลับมาคุยกับตัวเอง โดยเชื่อว่าการทบทวนตัวเองจะทำให้น้องๆ มองเห็นคุณค่าในชีวิต กล้าตัดสินใจเรื่องอนาคต และได้รู้ว่าประสบการณ์ชีวิตของตัวเองก็อาจมีคุณค่ากับคนอื่นได้เช่นกัน
  • นอกจากน้องๆ ในโครงการของ กสศ. เว็บไซต์นี้เปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาเล่นเช่นกัน เพียงหนึ่งสัปดาห์ เว็บไซต์วิชาชีวิตถูกเล่นมากกว่าหนึ่งล้านครั้ง

วิชาชีวิต

เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์หนึ่งเพิ่งทำเราร้องไห้

พูดก็พูดเถอะ ถ้าไม่ใช่ซีนบีบหัวใจในหนังเรื่องโปรดที่ดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็ไม่ค่อยจะอ่อนไหวกับการอ่านเรื่องราวบนเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียเท่าไหร่หรอก แต่อาจเพราะในเว็บไซต์ ‘วิชาชีวิต’ เรื่องราวนั้นคือเรื่องของตัวเราเอง

สำหรับใครที่ยังไม่เคยเล่น ขอแนะนำสั้นๆ ว่า ‘วิชาชีวิต’ คือเว็บไซต์ที่ชวนให้เราลองใช้เวลา 7 นาทีในการสำรวจตัวเองผ่านการดำเนินเรื่องที่จำลองว่าเรากำลังเดินทางกลับ ‘บ้าน’ พื้นที่ที่อาจมีทั้งความทรงจำที่ดีและแย่ มีการให้ตอบคำถามไม่กี่ข้อเพื่อให้เรานึกทบทวนช่วงชีวิตที่ผ่านมา

สารภาพตามประสาของคนไม่ค่อยได้สำรวจความรู้สึก (และความทรงจำ) ของตัวเองบ่อยเท่าไหร่ การได้อยู่เงียบๆ แล้วค่อยๆ เดินทางไปกับเรื่องราวบนหน้าจอนั้นทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังปอกเปลือกความรู้สึกตัวเองทีละชั้น ไม่ว่าจะเพราะเว็บไซต์มีการดำเนินเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป มีคำถามที่ทำให้เราเอะใจและคิดนานกว่าจะตอบ รวมทั้งภาษาแสนปลอบประโลมที่ใช้ รู้ตัวอีกทีก็มาถึงหน้าจบพร้อมน้ำตาที่รื้นขอบตา

เมื่อไล่สายตาดูเครดิตคนทำ ชื่อของ Glow Story และ Deadline Always Exists ที่เคยทำผลงานแนวๆ นี้มาก่อนไม่ได้ทำให้เราแปลกใจ แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์เราคือจุดเริ่มต้นของเว็บไซต์ที่มีคนเล่นมากกว่าหนึ่งล้านครั้งในสัปดาห์เดียวเว็บไซต์นี้ มาจากความตั้งใจของหน่วยงานเล็กๆ ชื่อ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.

วิชาชีวิต

กสศ. คือหน่วยงานเล็กๆ ที่มีภารกิจในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กด้อยโอกาส ยากจน ได้รับการศึกษาที่จำกัด ในช่วงหลายปีที่ทำงานมา ปัญหาหนึ่งที่ กสศ.พบจากการสนับสนุนเงินและติดตามเด็กหลายแสนคน คือสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่เพียงแค่ทุนทรัพย์ที่เป็นตัวเงิน แต่ยังขาดการสนับสนุนในด้านการสร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นในตัวเอง

เมื่อมีเป้าหมายในการสร้าง self-esteem ให้เด็กๆ วิชาที่เขาต้องเรียนอาจไม่ใช่แค่แคลคูลัสหรือวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิชาที่จะทำให้เขาได้คิดทบทวนตัวเอง และเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในอนาคตของตัวเองที่เท่าเทียมกับเพื่อนวัยเดียวกัน

“เราเริ่มทำงานนี้จากอินไซต์ที่ได้จากนักเรียนทุน กสศ. ก่อนจะพยายามมองหาเครื่องมือที่จะปลดล็อกเรื่องนี้ ทำยังไงเราถึงจะประคับประคองเด็กให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง” ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.จึงออกไอเดียชวน Glow Story และ Deadline Always Exists มาจับมือกันทำโปรเจกต์ที่จะแก้ปัญหานี้

ย่อหน้าต่อไปนี้คือเบื้องหลังโปรเจกต์ ‘วิชาชีวิต’ ของพวกเขา

 

1

ความคิดว่าคนรอบข้างไม่เข้าใจ ความไม่มั่นใจในตัวเอง ความรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น และความสับสนที่อาจทำให้เลือกทางเดินชีวิตผิด คือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กนักเรียนทั้งในและนอกระบบการศึกษา

ข้อมูลนี้ถูกส่งต่อมาให้ Glow Story พร้อมฐานข้อมูลของกลุ่มเด็กนักเรียนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และโจทย์ที่อยากชวนให้มาแก้ไขร่วมกันคือ จะทำยังไงให้น้องๆ เหล่านี้เห็นคุณค่าในประสบการณ์ชีวิตตัวเองมากขึ้น

ก่อนจะมาเป็นเว็บไซต์วิชาชีวิต ไกรยสและทีมเริ่มจากการสำรวจความคิดเห็นของเด็กกับครู มีการออกค่าย 4 ภาคเพื่อพูดคุยถามไถ่ถึงปัญหาที่น้องๆ เจอ รวมถึงปรึกษาผู้ที่คลุกคลีและช่วยแก้ปัญหาให้เยาวชนหลายๆ คนอย่าง ป้ามล–ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการแห่งบ้านกาญจนา

นอกจากนี้ยังมีการปรึกษานักจิตวิทยาจนสามารถสรุปเป็นแนวทางได้ว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเด็กๆ ให้มีความมั่นใจมากขึ้นได้คือการให้พวกเขาได้คุยกับตัวเอง ผ่านเทคนิค 3 ข้อ ได้แก่

ข้อแรก growth mindset การทำให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องยากแค่ไหนก็สามารถผ่านไปได้ เพราะจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา พวกเขาก็ผ่านสิ่งที่ยากลำบากมาเยอะแล้วเหมือนกัน

ข้อที่สอง self-acceptance การทำให้เด็กๆ รู้สึกยอมรับและภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าต้นทุนที่เขามีสามารถต่อยอดได้

และข้อสุดท้าย modeling มาจากการสำรวจแล้วพบว่าที่เด็กๆ มองไม่ค่อยเห็นอนาคตตัวเอง เพราะเขาไม่ค่อยได้เห็น ‘แบบอย่าง’ ที่คล้ายกับตัวเขา หรือมีสิ่งที่ตัวเขาจะรู้สึกเชื่อมโยงด้วยได้

3 ข้อนี้เองที่ต่อยอดมาจนกลายเป็น ‘วิชาชีวิต’

วิชาชีวิต

ทีม Glow Story

2

ก่อนจะมาเป็นเว็บไซต์ โปรเจกต์วิชาชีวิตเคยจะเป็นแค่แคมเปญที่ใช้เล่นบนเฟซบุ๊กเท่านั้น

แรกเริ่มเดิมที กสศ.และ Glow Story ออกแบบให้เป็นโพสต์บนเฟซบุ๊กที่บรรจุ 3 คำถามสำคัญซึ่งนำไปสู่การทบทวนตัวเองคือ หนึ่ง–มีเรื่องราวในชีวิตไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีที่อยากแชร์ให้ฟังบ้างไหม เล่าให้ฟังหน่อยว่าเรื่องนั้นคืออะไร สอง–จุดเปลี่ยนหรือเหตุการณ์ที่คิดว่ามีผลต่อตัวตนทุกวันนี้คือจุดไหน สาม–บทเรียนวิชาชีวิตที่ได้รับคืออะไร

พวกเขาอยากให้ผู้เล่นได้ตอบคำถามสั้นๆ แล้วแท็กเพื่อนเพื่อเล่นต่อ ปรากฏว่าทดลองแล้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว ถ้าไม่มีคนช่วยนำทางให้ การตกตะกอนชีวิตที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ยาก ไอเดียของแคมเปญนี้จึงถูกปัดตกไป

กสศ.และ Glow Story จึงนึกถึงทีม Deadline Always Exists ผู้เคยทำโปรเจกต์ในรูปแบบเว็บไซต์ที่ชวนให้คนตอบคำถาม คิดตามไปทีละสเตปๆ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำให้คนเล่นได้คุยกับตัวเองได้ง่ายขึ้น พวกเขาจึงชวนทีมเดดไลน์ฯ มาทำโมเดลใหม่ โดยใช้คอนเซปต์ว่า ‘หนังสือบนเว็บไซต์อินเทอร์แอ็กทีฟ’ ให้ความรู้สึกคล้ายการอ่านนิทาน

“โจทย์คือจะทำยังไงให้หนังสือนิทานเล่มนี้เป็นนิทานของคุณ ให้คุณได้ใช้เวลาอยู่กับมันแล้วได้ทำงานกับสิ่งที่อยู่ในใจของตัวเอง” ไกรยสเล่า “เราเรียกสิ่งนี้ว่า hero journey โดยพยายามทดสอบคำถามหลายๆ ข้อแล้วคัดว่าคำถามแบบไหนที่จะช่วยเขาย้อนกลับไปมองประสบการณ์ในอดีต คำถามไหนจะช่วยให้เขาเห็นว่าตัวเองผ่านสิ่งนั้นมาได้และผ่านมาได้เพราะอะไร คำถามไหนช่วยให้เขาตกตะกอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้สอนอะไรเขา วิชาชีวิตของเขาคืออะไร

“ด้วยโจทย์นี้มันเลยกลายมาเป็นเว็บไซต์ที่ขอเวลาคุณได้อยู่กับตัวเอง ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำสิ่งนั้น”

วิชาชีวิต

3

ทั้งสามทีมเริ่มพัฒนาโปรเจกต์ร่วมกันตั้งแต่เดือนเมษา เวลาหลายเดือนผ่านไปพร้อมกับดราฟต์ของเรื่องราวกว่า 50 เวอร์ชั่น

“จริงๆ ก่อนหน้านั้นเรื่องจะไม่ได้เกี่ยวกับบ้านเลย” ทีมงาน Glow Story บอกสิ่งที่ทำให้เราแปลกใจ “เหมือนตอนแรกจะเล่าเข้าประเด็นเลย แล้วทางทีมเดดไลน์ฯ เขาก็แนะนำมาว่า เวลาคนเราจะนึกถึงเรื่องเก่า สิ่งแรกที่เขานึกถึงมักจะมาจากเรื่องใกล้ตัวก่อน ซึ่งก็คือบ้าน แล้วค่อยๆ พาให้เขาครุ่นคิดถึงอดีต

“ก่อนหน้านี้มันดาร์กกว่านี้เยอะมาก ตอนแรกเราทำเป็นห้อง แต่พอได้คุยกับน้องๆ จริงๆ แล้วน้องไม่มีห้องด้วยซ้ำ คือบ้านของน้องบางคนมุงด้วยสังกะสี จะกินข้าว ทำอาหาร ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะเข้าห้องน้ำก็ต้องเดินออกไปข้างนอก เราจึงเอาคอนเซปต์ตอนแรกที่ตั้งว่า ‘ย้อนกลับไปคิดถึงห้องของคุณ’ ออก เพราะมันไม่ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเรา จากนั้นก็พัฒนามาได้เรื่อยๆ”

วิชาชีวิต

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำว่าบ้าน คือบ้านไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน การดีไซน์เรื่องราวแบบนี้อาจรื้อฟื้นความทรงจำที่ไม่ดีของบางคนได้ไหม–เราสงสัย

ตัวแทนของ Glow Story บอกว่าพวกเขาก็คิดถึงและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ด้วยเหมือนกัน ต่อให้บ้านอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน แต่บ้านก็เป็นสิ่งที่บันทึกความทรงจำไว้ ไม่ว่าความทรงจำนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม

“เราเน้นประเด็นนี้ในข้อความแรกก่อนจะเล่นเป็น trigger warning ไว้ ซึ่งจริงๆ เรื่อง trigger warning ก็เป็นเรื่องที่เราปรับหลายรอบเหมือนกัน เพราะอยากให้ทุกคนรู้สึกเซฟที่สุด ตอนแรกจะขึ้นหน้าแรกมาแค่ 7 วินาที แต่ปรึกษากับนักจิตวิทยาแล้ว เราว่าควรจะมีการกดปุ่ม แตะเพื่อไปต่อ ให้ยินยอมมากกว่าเพื่อให้คนเล่นยอมรับ ภาษาในหน้าแรกเราก็ปรับหลายรอบ และผู้เล่นสามารถหยุดเล่นตอนไหนก็ได้หากรู้สึกไม่ปลอดภัย และเมื่อกากบาทออก หน้าต่างจะแสดงป๊อปอัพโชว์เบอร์โทรของสายด่วนเกี่ยวกับสุขภาพจิตเผื่อว่าพวกเขาอยากได้ความช่วยเหลือ”

เพราะความรู้สึกของคุณสำคัญที่สุด ข้อความหนึ่งในหน้าแรกระบุไว้อย่างนั้น

วิชาชีวิต

4

7 นาที คือเวลาที่ถูกวิเคราะห์มาแล้วว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และไม่นานจนเกินไป (“เราเช็กสถิติของเวลาหลังจากปล่อยออกไป คนก็จะใช้เวลาประมาณนี้แหละ” ทีมงานบอกกับเรา) แต่นอกจากเวลาแล้ว ในเว็บแอพพลิเคชั่นวิชาชีวิตยังซ่อนองค์ประกอบต่างๆ ที่ดีไซน์อย่างตั้งใจ

ไม่ว่าจะเป็นอาร์ตไดเรกชั่นที่มีลายเส้นคล้ายภาพที่ถูกเขียนด้วยดินสอ เพราะอยากให้คนเล่นได้นึกถึงภาพวาดของตัวเองในวัยเด็ก รวมถึงดนตรีที่มีการทำใหม่เพื่อโปรเจกต์นี้โดยเฉพาะ ซึ่งทีมงานบอกเราว่าเพลงประกอบวิชาชีวิตจะมีทั้งหมด 5 เพลง คือเพลงเปิด เพลงปิด และเพลงระหว่างทางอีก 3 เพลง ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้เล่น

“จะมีคำถามข้อแรกๆ ที่ถามว่าวันนี้อากาศเป็นยังไง แดดจ้า ฝนเพิ่งหยุดตก หรือวันที่ฟ้าสวย เพลงที่เปิดในเรื่องก็จะเล่นให้เข้ากับมู้ดอารมณ์ของคนเล่น” ไกรยสอธิบาย

มากกว่านั้น เรื่องราวระหว่างทางยังถูกปรับเปลี่ยนไปตามคำตอบของคำถามตอนต้นที่ถามว่า ‘เธอชอบตัวเองตอนนี้ไหม แล้วถ้าเทียบกับเมื่อก่อน’ และ ‘ตอนยังเด็กกว่านี้ เธอชอบตัวเองตอนนี้หรือตอนเด็กมากกว่ากัน’ ซึ่งคำตอบของสองคำถามนี้จะควบคุมทิศทางของเรื่องราวที่คุณกำลังจะได้เจอ รวมถึงโควต ‘วิชาชีวิต’ ที่จะโผล่มาให้กำลังใจตอนสุดท้าย ซึ่งจะเป็นโควตให้กำลังใจจากคนมีประสบการณ์คล้ายๆ คนเล่นนั่นเอง

ถ้าบุคคลทั่วไปเล่น อาจเห็นได้ว่าโควตที่ขึ้นมาตอนสุดท้ายจะเป็นโควตจากน้องๆ ในโครงการของ กสศ. (ซึ่งมีการขออนุญาตนำวิชาชีวิตของน้องๆ มาเผยแพร่เรียบร้อย) ในขณะที่หากน้องๆ นักเรียนทุน กสศ.เล่น โควตที่ให้กำลังใจพวกเขาจะมาจากพี่ๆ คนมีชื่อเสียงในสังคมที่มีประสบการณ์คล้ายกัน เช่น นักเขียนอย่างพาย ภาริอร, แหม่ม วีรพร ไปจนถึงแรปเปอร์ชื่อดัง AUTTA

วิชาชีวิต

5

นอกจากบนเว็บไซต์จะเปิดให้เล่นและแชร์วิชาชีวิตแล้ว ยังมีพื้นที่ที่เราสามารถเข้าไปดูวิชาชีวิตของผู้เล่นคนอื่นที่ยินดีแบ่งปัน โดยแบ่งเป็น 5 หมวดหมู่คือ วิชามิตรภาพและความรัก วิชาความสัมพันธ์ในบ้าน วิชาที่ได้เรียนรู้จากคนอื่น วิชาจากความผิดพลาด และวิชาที่พึ่งพาตัวเอง นอกจากนี้ก็สามารถระบุได้อีกว่าอยากอ่านวิชาชีวิตของคนอายุเท่าไหร่

“วิชาชีวิตเป็นเหมือนวิชาใหญ่ โดยมีตำราแบ่งเป็นห้าเล่ม รวมทั้งมีระบบให้ค้นหาข้อมูลได้ง่ายๆ”

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้น้องๆ หรือคนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้ว่าในวัยเดียวกัน (หรืออาจต่างวัย) ทุกคนมีประสบการณ์ที่หนักหนาในความหมายของแต่ละคน รวมทั้งสิ่งที่ทุกคนเรียนรู้กันทั้งนั้น

“เพราะเราเชื่อว่าแต่ละคนมีตำราชีวิตของตัวเอง เราเขียนไปเรื่อยๆ และเราไม่มีวันรู้ว่าหน้าต่อไปจะเป็นยังไง เราเชื่อว่าทุกประสบการณ์คือตัวที่สร้างให้ทุกคนกลายเป็น best version ของตัวเองในวันนี้”

วิชาชีวิต

ภายในหนึ่งสัปดาห์ เว็บไซต์วิชาชีวิตมีคนกดเข้าเล่นกว่าหนึ่งล้านครั้ง มองเผินๆ หลายคนอาจคิดว่านี่คือผลตอบรับที่เกินความคาดหมายสำหรับเว็บไซต์ที่พัฒนาเพื่อให้เด็กๆ เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง แต่สำหรับไกรยสและ กสศ. พวกเขาบอกเราว่าเป้าหมายของเขายังอีกไกล

“เป้าหมายของเราคืออยากให้เด็กทุกคนรู้สึกแบบนี้ รู้สึกว่าเขาเป็น best version ของเขา อยากให้เขามีพลังในการวางแผนอนาคตให้ตัวเอง ซึ่งด้วยเป้าหมายนี้ เรายังมีงานอีกเยอะเลยที่ต้องทำ อาจเป็นเวอร์ชั่นออฟไลน์ของวิชาชีวิต นิทรรศการ พ็อดแคสต์ หรืออื่นๆ ก็ได้

“อย่างน้อยสิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือวันนี้เรากำลังมาถูกทาง มีคนรู้จัก กสศ.เพราะโปรเจกต์นี้ และเราอยากให้ทุกคนรู้ว่า กสศ.คือหน่วยงานหนึ่งที่อยากช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม อยากให้คนรู้ว่า กสศ.ทำอะไรได้และเห็นว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่

“ท้ายที่สุดแล้วนอกจากมุมมองของวิชาชีวิตที่ผู้เล่นได้รับ นอกเหนือจากการตกตะกอนตัวเอง เขาได้เห็นคุณค่าของน้องๆ และได้แชร์วิชาชีวิตของตัวเองให้น้องๆ ที่อยู่รอบตัว ให้เขาได้มีพลังในการฝ่าฟันความฝันต่อ” ไกรยสทิ้งท้าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone