ลดเหลื่อมล้ำยังไงให้ยั่งยืน? คุยกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

Highlights

  • จากการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) สรุปปัญหาการศึกษาในบ้านเราได้ 4 อย่าง คือ หนึ่ง คุณภาพการศึกษาต่ำ สอง ระบบการศึกษาของเราดูจะเป็นอุปสรรคในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สาม ระบบการจัดสรรทรัพยากรในระบบการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ สี่ มีความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา
  • รัฐธรรมนูญ ปี 2560 จึงระบุว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยการจัดตั้งองค์กรอิสระเข้ามาดูแล นั่นคือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เพื่อขับเคลื่อนดูแลเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
  • การทำงานของ กสศ.เน้นความยั่งยืนมากกว่าการสงเคราะห์ด้วยเงินเพียงอย่างเดียว และยังมีกระบวนการติดตามผลที่เป็นระบบ
  • ที่สำคัญพวกเขามีแนวทางการทำงานแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ช่วยเหลือเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยใช้มาตรการช่วยเหลือแบบ targeted intervention เพื่อให้เข้าถึงเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างแท้จริง

หนังสือเรียนไม่เพียงพอ เด็กใส่เสื้อผ้าซ้ำ ทั้งโรงเรียนมีห้องเรียนเพียงห้องเดียว คือภาพที่เราจำได้ดีตอนที่มีโอกาสไปทำค่ายอาสาช่วงมัธยม

แม้ยังเด็กแต่เรารู้ดีว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะการได้ไปช่วยเหลือโรงเรียนห่างไกลหลายโรงเรียนทำให้เราได้เห็นความลำบากในการเข้าถึงการศึกษาและความต้องการทุนช่วยเหลือให้เด็กๆ ที่อยากมีฝันแบบคนอื่น

ยิ่งตอนได้ดูภาพยนตร์เรื่อง คิดถึงวิทยา การเห็นครูสองขับเรือไปเรียกให้เด็กๆ มาเรียนหนังสือ ต้องสอนทุกวิชาให้นักเรียนสามารถสอบผ่าน ทั้งยังมีประเด็นเรื่องเด็กขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน หรือไม่มีเงินเพียงพอจนต้องออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว ภาพเหล่านี้ช่วยสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระบบการศึกษาไทย

นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำเป็นโรคติดต่อที่ลุกลามไปสู่หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดินทำกิน การเข้าถึงอาชีพ และที่เราได้สัมผัสและเห็นชัดเจนที่สุดตั้งแต่เด็กจนโต–ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เมื่อลองเอาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากางออกเพื่อมองหาปัญหา จะพบว่าปัจจัยสำคัญเกิดจากปัญหาความยากจน รายงานเรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ระบุว่า ประเทศไทยมีเด็กยากจนด้อยโอกาสเสี่ยงไม่ได้ไปโรงเรียนราว 2 ล้านคน และมีเด็กในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน (3-17 ปี) หลุดจากระบบการศึกษากว่า 670,000 คน

แม้ที่ผ่านมาจะมีหลายองค์กรทั้งรัฐและเอกชนพยายามแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวโน้มที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษานั้นมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องร่วมมือกันศึกษาและแก้ไขอย่างละเอียดมากขึ้น หนึ่งในหน่วยงานที่พยายามทำงานด้านนี้คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งแม้จะมีอายุการทำงานได้ปีกว่าๆ แต่ที่ผ่านมาพวกเขาส่งต่อทุนให้กับเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ไปแล้วประมาณ 700,000 คน

เห็นตัวเลขแล้วเหมือนจะเป็นการช่วยเหลือในจำนวนที่เยอะ แต่นี่เป็นเพียงแค่ 38 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มเด็กขาดแคลนทุนที่ กสศ.ช่วยเหลือ และยังมีโจทย์ใหญ่ที่พวกเขาต้องลงแรงคิดและทำงานกันมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เราจึงตามไปพูดคุยกับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ถึงการทำงาน ความสำคัญ และวิธีแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กขาดแคลนให้ดีขึ้น

จุดเริ่มต้นและภารกิจหลักของ กสศ.คืออะไร

จุดอิงของเราคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งเขียนไว้ในมาตรา 54 ว่าอยากให้มีกองทุนที่มีการบริหารอิสระขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษา กล่าวคือ ให้ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดทุนทรัพย์ และเพิ่มภารกิจอีกอย่างหนึ่งคือพัฒนาครู ซึ่งอิงกับการลดความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษา

ขอขยายความให้ฟังว่าจริงๆ การศึกษาบ้านเรามีปัญหาเยอะ ไม่ว่าไปถามความเห็นใครทุกคนรับรู้และยอมรับ ทั้งงานศึกษา งานวิจัย ผลทดสอบ ผลสำรวจ ก็เห็นชัดว่ามีปัญหา ทีนี้มีกรรมการชุดหนึ่งชื่อว่า กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ซึ่งตั้งขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เช่นกัน มี ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานฯ แล้ว กอปศ.ศึกษาปัญหาการศึกษาในบ้านเราแล้วพบว่าสรุปได้อยู่ 4 อย่าง

หนึ่ง คุณภาพการศึกษาต่ำ สอง ระบบการศึกษาดูจะเป็นอุปสรรคในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สาม ระบบการจัดสรรทรัพยากรในระบบการศึกษาไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และสี่ มีความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา ซึ่งภารกิจของ กสศ.จะเน้นข้อที่สี่ ช่วยเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งแม้จะเป็นโจทย์เดียวแต่ด้วยตัวโจทย์นี้เองก็ใหญ่มาก แล้วก็ซับซ้อนมาก เพราะเรื่องความเหลื่อมล้ำมันไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินทุน แต่มันมีมิติอื่นๆ ด้วย

แต่ไม่ได้หมายความว่าด้วยโจทย์ความเหลื่อมล้ำเราจะไปตั้งให้ กสศ.ทำงานแต่ผู้เดียว เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่ามีคนอื่นๆ ทำอยู่ด้วย ตั้งแต่หน่วยงานของรัฐ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือแม้แต่ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ เขาก็ทำอยู่ ดังนั้นเราต้องวางตำแหน่งของ กสศ.ให้ดี ว่าจะทำงานด้านไหนบ้าง ซึ่งเราจะเน้นด้านการศึกษาค้นคว้านวัตกรรม ชี้เป้า กระตุ้น ติดตาม วัดผล ดังนั้นบทบาทและความสำเร็จของเราไม่ใช่ว่าเราทำอะไรแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าสามารถผลักดันให้คนอื่นทำอะไรด้วยได้ไหม นี่คือวิธีคิดของเรา

 

แล้ว กสศ.ขับเคลื่อนการทำงานในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังไงบ้าง

ยุทธศาสตร์การทำงานของเราจะมีทั้งมิติปริมาณ คุณภาพ และเรื่องระยะสั้น-ระยะยาว

ในระยะสั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน คือมีเด็กวัยประมาณ 3-15 ปี จำนวนราวๆ 2 ล้านคนที่ควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา สาเหตุเบื้องต้นที่สุดเพราะขาดทุนทรัพย์ แล้วยังมีเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาอีกประมาณ 600,000 คน เพราะฉะนั้นนี่คือเรื่องเร่งด่วนและเรื่องระยะสั้นที่จะต้องลดความเสี่ยงด้วยการนำงบประมาณแผ่นดินมาช่วยประคองสถานการณ์ไม่ให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้หลุดออกจากระบบการศึกษา

ประการที่สองคือ เราวางตำแหน่งแล้วว่า กสศ.เป็นหน่วยงานที่เห็นความสำคัญในการสร้างฐานข้อมูล การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมเพื่อชี้เป้าให้ตรงจุด แล้วใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างนวัตกรรมที่เราร่วมมือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาระบบที่ชื่อว่า iSEE เป็นระบบที่เชื่อมโยงกับการช่วยเหลือเร่งด่วนของเรา นั่นคือการทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีข้อมูลให้เห็นทั้งหมดว่าทั้งประเทศมีโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานประมาณ 30,000 กว่าโรงเรียน แล้วในจำนวนนี้จะมีการสำรวจฐานะ สภาพความเป็นอยู่ จำนวนผู้ที่ต้องพึ่งพากันของเด็ก โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งทั้งหมดในทางเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่า วิธีการวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test หรือ PMT) ในการชี้เป้าหมายเด็กฐานะยากจนซึ่งเราต้องเข้าไปช่วยเหลือเร่งด่วน

กสศ.วางตัวเองในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม เพราะเราตั้งใจจะเป็น Think Tank ในภาคการศึกษา สามารถนำสิ่งที่ค้นพบมาใช้ได้จริง เป็นสถาบันต้นแบบในการทำงานด้วยนวัตกรรมนั้นๆ ไม่ได้เป็นเพียงข้อเสนอทางวิชาการอย่างเดียว เพราะเราหวังว่าจะสามารถขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นๆ คือวันข้างหน้าในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะไม่ใช่ กสศ.ทำคนเดียว แต่ กสศ.สามารถให้คำแนะนำ ชี้แนะ แสดงให้หน่วยงานอื่นๆ ร่วมมือแก้ปัญหาไปด้วยกันได้

 

ในเมื่อการช่วยเหลือของ กสศ.ส่วนหนึ่งคือการให้เงินเด็ก อย่างนี้หน่วยงานต้องใช้เงินช่วยเด็กไปตลอดเลยหรือเปล่า

เราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำงานในลักษณะสังคมสงเคราะห์เป็นหลัก เพราะเราอยากเน้นเรื่องความยั่งยืน การเพิ่มเรื่องทักษะ หรือการส่งเสริมเรื่องความคิด (mindset) ไปด้วย

ในกลุ่มที่เราจัดสรรเงินให้จะเป็นการจัดสรรแบบมีเงื่อนไข ไม่ใช่ว่าให้เงินแล้วให้เลย แต่เด็กที่ได้รับเงินทุนจากเราควรจะต้องมีพัฒนาการด้านต่างๆ เช่น เราจะติดตามประเมินผล อัตราการมาเรียน วัดส่วนสูง วัดน้ำหนัก วัดผลการเรียน เด็กบางคนอาจจะไม่มีค่าเดินทางเขาจึงไม่มาเรียน หรือไม่มีเงินสำหรับอาหารเช้า เพราะโรงเรียนมีเฉพาะอาหารกลางวันให้ เราจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องสุขภาพของเขา เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก ซึ่งทั้งหมดเราจะติดตามผลผ่านระบบ iSEE เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ทำเพียงแค่หว่านเงินลงไปเสร็จแล้วก็ปล่อยไปตามยถากรรม แต่เนื่องจากว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจนเราจึงสามารถติดตามและประเมินผลได้

อีกอย่างคือเงินที่เราส่งไปให้เด็กในโครงการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขนี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ กสศ.ทั้งหมด เราจะขอให้โรงเรียนกับครูกันงบออกมาส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการฝึกทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เป็นโครงการที่เข้าไปสอนทักษะต่างๆ เช่น การทำอาหาร การช่างฝีมือ ซึ่งจะทำให้เห็นว่าแม้เด็กนักเรียนเหล่านี้จะอยู่ในระดับการศึกษาพื้นฐาน แต่เขาสามารถสัมผัสกับอาชีพได้ อย่างน้อยถ้าเขาออกจากระบบการศึกษาไปก็ยังมีศักยภาพที่จะดูแลตัวเอง เลี้ยงชีพตัวเองได้

เราพยายามสร้างค่านิยมในลักษณะที่ไม่ได้ให้เงินสงเคราะห์เด็กเพียงอย่างเดียว แต่ว่าตัวเด็กเองต้องมีศักยภาพที่ดีขึ้น เมื่อโตขึ้นระดับหนึ่งเด็กก็ควรดูแลการดำรงชีวิตตัวเองได้ ไม่ได้หวังที่จะได้รับการอุดหนุนทางการเงินไปตลอด

น้องๆ เด็กนอกระบบที่เข้าร่วมกับ กสศ. ส่วนหนึ่งจะได้ฝึกอาชีพช่วยเหลือครอบครัวไปพร้อมๆ กัน

ในเมื่อเราไม่อยากสงเคราะห์เด็กด้วยการให้เงินอย่างเดียว แสดงว่าเงินก็ไม่ใช่ความช่วยเหลือทั้งหมดที่ กสศ.ทำอยู่ใช่ไหม

ถูกต้อง ถ้าคุ้นกับศัพท์ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะพวกสายคณิตศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ จะมีคำอธิบายอยู่ 2 คำคือ necessary condition กับ sufficient condition คือถามว่าเงินทุนไม่สำคัญเลยใช่ไหม ไม่ใช่ มันเป็น necessary condition แต่ถามว่ามันเป็นปัจจัยเดียวที่เพียงพอ ทำให้เราแก้ความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ เราก็ต้องตอบว่าไม่ใช่

ผมจะขยายความตัวนี้ ถามว่าทำไมเงินเป็น necessary ก็ชัดเจนเลย เราเอาคะแนน PISA มาดู พบว่าถ้าเรียงตามฐานะ เด็กที่มีฐานะยากจนหรือขาดแคลนทุนทรัพย์จะได้คะแนนโดยรวมต่ำ ส่วนผู้ที่มีฐานะดีจะมีคะแนนสูง อาจจะมีความพร้อมไปโรงเรียนดีๆ เก็บค่าเล่าเรียนสูง พอเอามาเรียงกันเพื่อดูอัตราการเรียนต่อ ข้อมูลการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติบอกว่าในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์ที่ยากจนที่สุดมีโอกาสเรียนสูงกว่าชั้นมัธยมศึกษาแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พวกที่มีฐานะในกลุ่ม 75 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปมีโอกาสเรียนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

เราลงพื้นที่จนพบสาเหตุและอุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียนต่อ เด็กขาดเรียนเนื่องจากต้องช่วยทางบ้านหาเลี้ยงชีพ ไม่มีค่าเดินทางไปโรงเรียน หรือถ้ามาเรียนก็ไม่ได้กินอาหารเช้า ดังนั้นมันจึงตอบว่าเงินเป็นเงื่อนไขสำคัญไหม มันสำคัญ

แต่เงินก็ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหา เพราะเราพบว่าในบรรดากลุ่มเด็กยากจนที่สุด 25 เปอร์เซ็นต์มีนักเรียนช้างเผือก คือนักเรียนที่ทำคะแนนได้ดีแต่มาจากครอบครัวที่มีทุนทรัพย์น้อยซึ่งมีประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ แล้วพบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่เด็กกลุ่มนี้แตกต่างจากเด็กยากจนคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด เช่น เด็กกลุ่มนี้มีความพร้อมของครอบครัวในการสนับสนุนทางจิตใจ สนับสนุนทางการศึกษา มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต ในขณะที่เด็กกลุ่มยากจนคนอื่นๆ พ่อแม่ของเขาอาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญของการศึกษา พ่อแม่อาจจะมองว่าเรียนทำไม ออกมาช่วยกันทำงานดีกว่า ไม่ได้มองเห็นประโยชน์ของการลงทุนด้านการศึกษาของลูกในระยะยาว หรือมองไม่เห็นหนทางในการยกระดับชีวิตของตน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อมายด์เซตของเด็ก ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมเงินไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งหมด

น้องๆ เด็กนอกระบบที่ได้รับการดูแลจาก กสศ.

การแก้โจทย์นี้มีประเด็นเชิงคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เราต้องไม่หลงว่าเป็นแค่เรื่องเชิงปริมาณ กสศ.จึงไม่ได้เน้นที่การให้เงินเพียงอย่างเดียว แต่ทำงานอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ผมยกตัวอย่างเช่น บ้านเรามักจะมีปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรโดยเฉพาะทรัพยากรในเชิงคุณภาพ อย่างเช่นครู ไม่ใช่ว่าเราไม่มีครู ในภาพรวมเรามีครูเพียงพอ แต่ครูเก่งๆ หรือมีประสบการณ์สูงมักกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนใหญ่หรือโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเท่านั้น ในขณะที่โรงเรียนในชนบทห่างไกลกลับขาดแคลนครู

อีกอย่างคือเราผลิตครูจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สถาบันฝึกหัดครู ซึ่งอาจจะได้รับการอบรมในบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่มีความพร้อม มีเครื่องมือสารพัดในการศึกษา ทั้งดิจิทัล อินเทอร์เน็ต หนังสือ แต่ในสถานการณ์จริงยังมีโรงเรียนในชนบทอีกไม่น้อยที่ไม่มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาเพียงพอ แม้แต่อุปกรณ์กีฬาก็ไม่มี ดังนั้นถ้าเราสร้างครูภายใต้บริบทที่มีความพร้อม แต่เขาต้องไปทำงานในโรงเรียนที่ไม่ค่อยมีความพร้อม เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในชนบท เขาก็จะอยู่ไม่ได้ แล้วเขาจะมาบอกเราว่าเขาทำงานไม่สำเร็จเพราะไม่มีเครื่องมือให้ หรือต้องการย้ายไปอยู่โรงเรียนที่มีความพร้อมมากกว่า

คณะครูและกสศ.ร่วมมือพาน้องๆกลับสู่ห้องเรียน

ปัจจัยอีกอย่างที่สำคัญต่อการอยู่ได้-ไม่ได้คือแพสชั่นที่ทำให้ครูอยากไปทำงานในโรงเรียนห่างไกล ดังนั้น กสศ.จึงมีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยไปสำรวจว่าเยาวชนที่มีศักยภาพในท้องถิ่นชนบทห่างไกลมีใครบ้างที่อยากเป็นครู แล้วเราก็ให้ทุนแก่เขาไปเรียนครู โดย กสศ.จะทำงานร่วมกับสถาบันฝึกหัดครูในการคัดเลือกนักเรียน ออกแบบหลักสูตร เมื่อเขาเรียนจบก็ต้องมีตำแหน่งบรรจุเป็นครูในพื้นที่ให้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ เราต้องประสานงานกับภาครัฐเพื่อรับประกันกับนักเรียนที่รับทุนครูว่าจะมีตำแหน่งบรรจุเมื่อเรียนจบ ซึ่งตอนนี้เราได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลจนสำเร็จ นี่คือมิติเรื่องคุณภาพ

 

แต่ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณมากที่สุด ทำไมเรื่องความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาอยู่

รัฐบาลก็ทำเรื่องความเหลื่อมล้ำอยู่ แต่เขาใช้งบประมาณในการลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในประเด็นเด็กที่ยากจนพิเศษแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ จากงบประมาณทั้งหมด

พูดง่ายๆ คือ เขาจัดสรรมาเพื่อช่วยเหลือถึงตัวเด็กยากจนน้อย แต่ว่าไปใช้ในเรื่องอื่น เช่น อาคารสถานที่ ตึกเรียน แล้วก็ระยะหลังที่คนพูดกันเยอะมากคือ ครูได้รับค่าตอบแทนเยอะขึ้น มีการเลื่อนวิทยฐานะ แล้วงานวิจัยต่างๆ ก็พบว่าครูไทยใช้เวลาในการสอนน้อยกว่าที่ควรเป็น ครูส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาไปกับการทำเอกสารเพื่อประเมินผลงาน ครูต้องออกไปอบรมนอกห้องเรียน

ปัญหาอีกอย่างของประเทศคือการมีทรัพยากรอันจำกัดแต่จัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาจึงไม่เกิดผล ฉะนั้นการมาทำงานของ กสศ.จึงต้องเน้นทำงานแบบชี้เป้า เรียกว่า targeted intervention ต่างกับหน่วยงานอื่นบางแห่งที่ทำงานแบบ universal intervention

บรรยากาศในห้องเรียนของน้องๆ เด็กนอกระบบที่ได้กลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง

อธิบายง่ายๆ universal intervention คือวิธีการให้แบบหว่านกว้าง เช่น นโยบายการศึกษาของรัฐให้เรียนฟรีก็จะนับเงินต่อหัว เด็กในโรงเรียนมีกี่คนก็ให้เท่ากันหมด แล้วเราพบว่ามีโรงเรียนจำนวนเยอะมากที่บ้านเด็กมีฐานะแล้วแต่ก็ได้รับ ซึ่งผู้ปกครองเขาก็งงว่าฐานะดีอยู่แล้วทำไมถึงต้องให้ บางโรงเรียนพ่อแม่ก็เลยรวบรวมเงินที่ได้มาไปบริจาค
ส่วนวิธีของเราคือ targeted intervention คือเราเจาะจงว่าจะมอบเงินให้เด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดแคลนแบบไหน รายได้ต้องเท่าไหร่ เราสำรวจและประเมินผลในระบบ iSEE อย่างที่กล่าวถึงแล้ว

 

แสดงว่าการช่วยเหลือแบบ universal intervention ยังไม่ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ

เราคิดว่าไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์มากกว่า อย่าไปพยายามอธิบายว่ามันขาว-ดำหรือถูก-ผิด แต่ละวิธีจะมีจุดอ่อน-จุดแข็งเท่านั้นเอง เวลาพูดถึงประเทศ สังคม แนวทางแบบ universal intervention มันก็มีข้อดีตรงที่มันหว่านทั่ว ไม่ต้องห่วงว่าจะมีใครตกหล่น แต่จุดอ่อนคือมันไม่ละเอียด มีรอยแตก พอไม่ละเอียดคนที่ควรได้กลับได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ คนที่ไม่จำเป็นต้องได้กลับได้ ส่วน targeted intervention ซึ่งเป็นแนวทางของ กสศ. คือเข้าไปเติมเต็มกลุ่มคนที่ได้ไม่เพียงพอ ไปเสริมรอยแตก แล้วก็ตั้งใจจะทำอย่างมีประสิทธิภาพ คือใช้ทรัพยากรที่เรามีจำกัด

แต่ตอนนี้ กสศ.ก็ได้รับงบประมาณประจำปีจากรัฐบาลอยู่แล้ว ทำไมจึงมีความจำเป็นต้องรับบริจาคจากประชาชนเพิ่มเติมอีก  

โจทย์ครั้งนี้มันใหญ่และซับซ้อนมาก ทรัพยากรเรามีจำกัด กอปศ.เคยเสนอไว้ว่าการจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ต้องใช้เงินจำนวน  25,000 ล้านบาทต่อปี แต่เราได้งบประมาณจริงๆ เพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คำตอบเบื้องต้นก็คือว่ามันไม่พอ

 

ในแง่หนึ่งประชาชนอาจคิดว่าเสียภาษีแล้ว ทำไมยังต้องช่วยบริจาคส่วนนี้อีก

มันก็เป็นคอนเซปต์เรื่อง universal intervention กับ targeted intervention อีกเหมือนกัน นั่นคือถ้าเราเสียภาษีผ่านกระทรวงการคลังไปเข้ากองกลาง เสร็จแล้วฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องออกพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี แล้วจัดสรรเงินกองกลางไปสู่จุดต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของประเทศ ซึ่งประเทศมีวัตถุประสงค์หลากหลาย เช่น สร้างทางรถไฟ เขื่อน ถนน โรงพยาบาล จิปาถะ ส่วนหนึ่งก็ลงมาเรื่องการศึกษา แต่เราเพิ่งคุยกันไปว่าลงเงินมา 5 แสนล้านบาท แต่ตกไปอยู่กับการช่วยเหลือเรื่องความเหลื่อมล้ำแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3,000-4,000 ล้านบาท

ถ้ามองในมิติ targeted intervention มันน้อยมากจากเงินภาษีเพราะมันมีจำกัด ดังนั้นการบริจาคเข้า กสศ.จึงเป็นการบริจาคแบบมีวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น บอกว่าถ้าอยากบริจาคเข้า กสศ.จะไปช่วยเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ช่วยพัฒนาครู ช่วยนักเรียนกลุ่มวัยรุ่นในการเสริมทักษะอาชีพทางอาชีวะ ช่วยเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของสังคม มันก็จะมีวัตถุประสงค์ที่เจาะจงมาก เราจึงไม่ได้บังคับบริจาค แต่ถ้ามีคนบอกว่าภาษีฉันเสียไปแต่ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไร มันไม่สามารถส่งต่อไปแบบที่ฉันอยากทำก็สามารถมาบริจาคได้

บางประเทศในตะวันตกจะมีค่านิยมเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการศึกษาเหมือนกันเพราะเขารู้ว่ามันคือการสร้างทุนมนุษย์ สร้างเด็กและเยาวชน คนรวยในอเมริกาเขาบอกว่า ถ้าเขาจากไปเงินทั้งก้อนมันลงไปที่ลูก เขาก็ไม่แน่ใจว่าลูกเขาจะเป็นคนดีหรือเปล่า หรือจะได้เงินเยอะไปไหม บางทีเขาเหลือให้ลูกเขาแค่จำนวนหนึ่ง ที่เหลือเขาก็บริจาคมหาวิทยาลัย อันนี้เราก็จะเห็นว่านอกจากเสียภาษีเป็น universal expenditure เขายังบริจาคเป็น targeted expenditure ด้วย

แสดงว่าถ้าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริงๆ ต้องใช้เงินทั้งหมด 25,000 ล้านบาทต่อปีใช่ไหม

ที่ กอปศ.เสนอไว้นี้คือคิดแบบขั้นต่ำ สุดท้าย 25,000 ล้านบาทต่อปีอาจไม่ได้จบสมบูรณ์ก็ได้ แต่เนื่องจากเราไม่เหมือนประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อย่างฟินแลนด์ที่เขาโตมาจากรัฐสวัสดิการ แน่นอนเขาจะมีความพร้อมกว่าตรงที่การเก็บรายได้จากภาษีเขาสูง แล้วเขาก็ทำเป็นรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมประชากรทั้งหมด แต่ของเรา 25,000 ล้านบาทต่อปีเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำ ไม่ใช่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด

แต่ความหมายตรงนี้เพื่อขยายความให้ชัด ในเงินจำนวนนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องมาลงที่ กสศ.อย่างเดียวนะ ส่งต่อไปที่หน่วยงานอื่นๆ ก็ได้ แต่จุดประสงค์คือจะต้องใช้เงินเหล่านั้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านกลไกต่างๆ ในส่วนของ กสศ.เราคิดว่าถ้าตอนนี้ได้งบ 10 เปอร์เซ็นต์ เรารู้ว่าทรัพยากรมีจำกัดก็พยายามทำงานในส่วนที่เห็นความสำเร็จได้ เช่น ปีนี้ถ้าเงินผ่านสภามาได้เราจะช่วยเหลือให้ทุนเด็กที่ขาดแคลนได้ 900,000 คน จากที่บอกว่ามีเด็กที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบ 2 ล้านคน แล้วก็เป็นความท้าทายของเราที่จะไปชวนหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้มาช่วยกันทำงานแบบ targeted intervention ให้เห็นผล เอาไหม แล้วเราก็จะมีระบบติดตามให้ว่าผลเป็นยังไง

นอกจากการดูแลเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แล้ว กสศ.จะพัฒนาและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไงอีกบ้าง

มีหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานคล้ายๆ กันมาเห็นการทำงานของเรา เขาก็สนใจอยากจะทำงานกับเราด้วย ดังนั้นในปี 2563 เราจึงเพิ่มการอุดหนุนให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การดูแลของเราก็จะเพิ่มเด็กนักเรียนจาก 700,000 เป็น 900,000 คน

ปีนี้เราจะเริ่มทำเรื่องเด็กปฐมวัยด้วยเพราะมีความเชื่อว่าถ้าทำตั้งแต่อนุบาล อายุ 3-6 ขวบ ห่วงโซ่มันก็จะดีขึ้น ถ้าไปทำตรงปลายมันจะทำยาก การศึกษาของ James J. Heckman นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลเมื่อหลายปีก่อน พบว่าการพัฒนาเด็กและเยาวชน ถ้าเราลงทุนตั้งแต่ต้นด้วยเม็ดเงินจำนวนเดียวกันมันจะให้ผลตอบแทนมากกว่าไปทำตรงปลายถึง 7 เท่าด้วยกัน เราจึงสนใจทำงานด้านนี้

อีกด้านที่เราทำคือเรื่องอาชีวศึกษา การเรียนอาชีวะในไทยมีอคติมาแต่เดิมว่าไม่ดี เกเร ไม่น่าเรียน เราก็พยายามร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีความสามารถทางวิศวกรรมศาสตร์ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ต่างๆ แล้วก็ทำงานร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาในระดับ ปวช. ปวส. โดยคัดเลือกสถานศึกษามาประมาณ 20-30 แห่ง ร่วมกันปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับนักเรียนทุนของเราและความต้องการของตลาดแรงงาน และยังร่วมมือกับสถาบันฝึกอาชีวะในประเทศจีน ทำให้นักเรียนทุนของเราจะได้รับ 2 ดีกรี คือจากไทยและจีน ปี 2562 เราให้ทุนไปแล้ว 2,000 กว่าทุน ปีนี้จะให้ทุนอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นอีกเป็น 5,000 ทุน

ใครหลายคนบอกว่าการศึกษาคือการลงทุน ความจริงแล้วการศึกษาคือการลงทุนไหม แล้วจำเป็นที่จะต้องลงทุนด้วยเงินหรือเปล่า

เป็นความจริงที่การศึกษาคือการลงทุน อาจจะไม่ได้หมายความว่าต้องลงทุนด้วยเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการลงทุนด้านเวลา การลงทุนความรู้ ความพยายามในการร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ หรือการทำด้วยจิตอาสา ซึ่งหลายๆ เรื่องก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นการเปลี่ยนแนวคิดหรือทัศนคติ การใช้นวัตกรรมแบบประหยัด (frugal intervention) การหามาตรการที่คุ้มค่าประเภทลงทุนน้อยแต่ได้ผลมาก ปัจจุบันหลายประเทศมีการระดมทุนเพื่อการศึกษาหลายแนวทาง เช่น การใช้ social impact bonds หรือการใช้ crowdfunding รวมทั้งควรมีการสนับสนุนบทบาทของ social enterprise ในระบบการศึกษา ซึ่งจะมีความคิดสร้างสรรค์ คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ ในการแก้ปัญหาในระบบการศึกษาได้

จริงๆ แล้วหลายๆ ประเทศที่ลงทุนด้านการศึกษาสูงและมีประสิทธิภาพก็จะส่งผลต่อการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจด้วย เพราะการพัฒนาการศึกษาก็คือการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ในทางกลับกันมีงานศึกษาที่พบว่ากรณีของเด็กที่ต้องตกหล่นออกนอกระบบโรงเรียนส่งผลกระทบในทางลบต่อ GDP ของประเทศเป็นมูลค่าถึง 3 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ดังนั้นการไม่ลงทุนทางการศึกษาที่เพียงพอก็อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากเช่นกัน

ส่วนจะต้องใช้รูปแบบการลงทุนหรือการระดมทุนวิธีไหน หรือมาตรการใดจึงจะคุ้มค่าและได้ผลสูงสุด เป็นสิ่งที่ กสศ.และภาคีภาคส่วนวิชาการต่างๆ คงต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อไป

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก