แย้มบาน – AUTTA
“ผมอยากจะกราบแล้วก็กอดพ่อแม่ แต่ไม่อาจที่จะบอก
ว่าอันที่จริงเราเป็นไอ้กากมาตลอด เป็นไอ้อ่อนดีแต่ปาก ไม่เคยทำเหี้ยไรได้ดีเลยสักอย่าง
ตั้งใจซ้อมดนตรีมาจนจะปี แต่ก็กาก
คำชมไม่มี มีแต่ด่า ทำกร่าง ตอนที่เมา แล้วพอสร่าง
ก็มานั่งเสียใจกับชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด ที่ไม่ได้เรื่องเลยนี่หว่า”
เมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนหน้า ศิลปินนามว่า AUTTA เพิ่งปล่อยผลงานเพลงใหม่ของตัวเองในชื่อ ‘แย้มบาน’
ในเบื้องต้น นั่นคือวาระและความสนใจแรกที่ผมติดต่อสัมภาษณ์เขา แต่ในเบื้องลึก มีอะไรมากกว่าเพลงใหม่ที่นำพาเรามาเจอกัน
ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ‘อัตตา’ มีความหมายว่า ‘ตัวตน’
แต่ตามพจนานุกรม ฉบับคนดนตรี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน ‘AUTTA’ มีความหมายในฐานะชื่อ aka ในวงการเพลงของ กร–อัษฎกร เดชมาก
กรปรากฏตัวครั้งแรกจากการเข้าแข่งขันในรายการ RAP IS NOW ครั้งนั้นจากหนุ่มแว่นที่ไม่มีใครรู้จัก เมื่อจับไมค์แรป เขาฝากไรม์เด็ดๆ ไว้เพียบจนมียอดวิวในยูทูบรวมกันเกิน 10 ล้านวิว
AUTTA เริ่มเป็นที่พูดถึงในกลุ่มแฟนเพลงเฉพาะทาง และหลังจากนั้นไม่นาน ชื่อของเขาเริ่มกระจายเข้าสู่วงกว้างจากการเข้าร่วมในรายการ The Rapper จนกรได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินเต็มตัวกับค่ายเพลง YUPP! ในที่สุด
เรื่องทั้งหมดบนเวทีเหล่านี้เกิดขึ้นในเวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น แต่เรื่องหลังเวทีต่างหากคือใจความหลักที่นำพาผมมาเจอเขา
ถ้าไรม์คือการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของชีวิตคนเขียน สิ่งที่ผมสงสัยคืออะไรเป็นเรื่องราวเบื้องหลังของเนื้อหาเพลงที่กรถ่ายทอด
“ผมไม่เคยมีความฝัน ผมแค่มีความหวังว่าอยากมีค่าบ้าง”
“วันที่โดนกดดันและปากคนมันยังคงนินทาเป็นประจำ กูต้องมาเจอคนที่เหยียดทั้งที่ไม่ทันได้รู้จักแล้วมึงก็พากันเกลียดกู สัส!”
“AUTTA ไม่ใช่แค่ผม แต่ทุกคนนั่นแหละคืออัตตา”
บทเพลงชีวิตของ AUTTA ที่ว่าด้วยเรื่องอัตตาเริ่มต้นบรรเลงตอบคำถามในบรรทัดถัดไป
1
นี่น่าจะเป็นการสัมภาษณ์ที่มีฉากหลังรื่นรมย์มากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตผม
ผมนั่งคุยกับกรโดยมีเสียงเปียโนคลอเป็นฉากหลัง ผสมด้วยร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ที่บดบังแดดจ้าร้อนแรงช่วงบ่าย ห่างไปไม่ไกลมีนักศึกษาสองคนกำลังฝึกซ้อมกีตาร์คลาสสิกแบบฟิงเกอร์สไตล์ และที่ไหนสักแห่งในอาคารนี้มีเสียงเฟรนช์ฮอร์นกำลังขับขานดังลั่น
เราอยู่กันที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากการเป็นคนทำดนตรี ที่นี่คืออีกหนึ่งบทบาทของกร เขาเป็นนักศึกษาและนักเรียนของสถาบันแห่งนี้ตั้งแต่ชั้น Pre-College จนถึงปัจจุบันที่เขาอยู่ปี 3 และกำลังขะมักเขม้นเรียนทางด้าน Sound Engineering โดยมีสาขาย่อยคือกีตาร์แจ๊ส
เครื่องดนตรีหลังนี่เองคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด
“ผมเริ่มเล่นกีตาร์ในวิชาเรียนตอน ป.5-6 ด้วยความอยากเท่ตามประสาเด็กทำให้ผมเริ่มติด ผมเริ่มแกะเพลงเอง เริ่มหัดเล่นกีตาร์ไฟฟ้า เริ่มหัดโซโล่ และเริ่มไปเรียนพิเศษช่วงมัธยมจนได้เจอพี่ ม.6 ที่ไปติวที่เดียวกัน เขาอยากเข้าที่นี่ และพวกเขานี่แหละคือคนแนะนำผมว่าจริงๆ แล้วที่นี่เปิดรับ ม.4 ด้วย
“ตอนนั้นผมขี้เกียจเรียนสายปกติ คือผมเป็นเด็กดีนะ ส่งงานครบ แต่ผมไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม เหมือนเรียนให้หมดวันไป ต่างกับดนตรีที่ผมมีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งเล่นยิ่งชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ผมเลยเริ่มลองศึกษาดูจนสุดท้ายก็ไปติวกับพี่ๆ ทั้งการฝึกเล่นกีตาร์ เรียน Music Theory และ Ear Training”
ด้วยวัยในตอนนั้นความสนใจของกรต่อเสียงดนตรีไม่ใช่ทั้งแนวแจ๊สหรือฮิปฮอปใดๆ ทั้งสิ้น เขาบอกผมว่าตัวเองคือชาวหูเหล็กที่ฟังดนตรีร็อกและเมทัลเป็นหลัก เขาหลงใหลการโซโล่กีตาร์ที่ผสมเข้ากับดนตรีหนักๆ และนั่นเองนำมาซึ่งการตัดสินใจในทางแยกเมื่อเขาตัดสินใจสอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับมือกีตาร์ หลักสูตรของที่นี่ทำให้คนที่สนใจเข้าเรียนมี 2 ทางเลือก หนึ่งคือเรียนกีตาร์คลาสสิก และสองคือเรียนกีตาร์แจ๊สเท่านั้น เหตุนี้เองทำให้กรตัดสินใจเลือกชอยส์หลังเพราะคิดแค่เพียงว่าอย่างน้อยกีตาร์แจ๊สก็ได้เล่นกีตาร์ไฟฟ้า มันน่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาอยากเป็นมากกว่า
“ช่วงแรกร้องไห้เลยครับ” กรย้อนความหลังให้ผมฟังก่อนเล่าต่อ
“จากที่คิดว่าเราคงเก่งพอตัว ผมกลับเล่นไม่ได้เลย ผมไม่เข้าใจภาษาแจ๊ส เหมือนผมไม่ได้ยินแจ๊สเป็นดนตรี แต่ผมได้ยินเป็น noise ถึงขนาดตอนที่ติวสอบแล้วเล่นไม่ได้ อาจารย์ด่าผมเลยว่า ‘นายเปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่นไหม เปลี่ยนไปเล่นอะไรที่ง่ายกว่านี้’”
“โดนขนาดนี้ทั้งที่เป็นเด็กด้วย ทำไมถึงยังสู้ต่อ” ผมถามให้เขาย้อนคิด
“จริงๆ วันนั้นนั่งรถเมล์กลับบ้านคือร้องไห้ตลอดทางเลยครับ เพราะมีคำพูดอีกเยอะด้วยที่ทิ่มแทง (นิ่งคิด) แต่ที่ยังทำต่อคงเพราะ Music Theory และ Ear Training ผมยังทำได้ ต่างกับคนส่วนใหญ่ที่มักไม่ผ่านตรงนี้ไม่กัน ผมเลยรู้สึกว่าเหลือแค่การเล่นอย่างเดียว มันอีกนิดเดียว เลยหวดต่อจนไปสอบ สุดท้ายก็สอบติด”
“พอเข้ามาเรียนแล้วเป็นไงบ้าง”
“โห ผมเหมือนหมาชิวาว่าที่ดันคิดว่าตัวเองเจ๋งสุด”
2
ในยุคที่กรเข้ามาเรียน Pre-College วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีหลายเกณฑ์ที่เป็นระบบตัดสินว่านักเรียนจะผ่านหรือไม่ผ่าน และหนึ่งในเกณฑ์ที่เป็นตัวชี้วัดอย่างดีคือรูปแบบที่เรียกว่า ‘Small’
อธิบายอย่างง่าย ระบบ Small คือการแบ่งคนที่เข้าเรียนในสาขาเครื่องดนตรีเดียวกันทุกระดับชั้นตั้งแต่ Pre-College จนถึงมหาวิทยาลัยออกเป็นวง แต่ละวงบ่งบอกเกรดที่ได้โดยเริ่มต้นจากวง X ที่แปลว่า ‘ไม่ผ่าน’ ค่อยๆ ไล่ขึ้นไปจากวง E D C B จนถึงวง A ซึ่งนักเรียนที่เข้ามาใหม่ ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากวง X ต่างกับกรที่เป็นเพียงไม่กี่คนที่เริ่มต้นโดยการอยู่วง E
“นั่นตามมาด้วยข้อเสียครับ” ปัจจุบันกรที่อยู่วง B อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของเขาเมื่อหลายปีก่อน
“ผมยังไม่เก่งขนาดนั้น แค่ตอนคัดเลือกผมได้เล่นเพลงที่ถนัดพอดี ดังนั้นผมจึงได้เข้าไปเจอว่าเราแม่งกากมาก ผมได้เจอคนที่เก่งกว่า แต่ละคนเป็นเหมือนปีศาจทั้งนั้น
“กีตาร์แจ๊สต้องมีทั้งทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และความเข้าใจ การที่เล่นได้ไม่ได้แปลว่าคุณเก่ง คุณต้องเล่นได้และเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่คุณเล่นเป็น music หรือยัง เหมือนแจ๊ส based on improvisation ครับ เราต้องสร้างสิ่งใหม่ตลอดเวลา เราไม่มีทางเล่นไปเรื่อยๆ และหลอกใครได้ ดังนั้นคนที่เก่งและไม่เก่งจึงแยกไม่ยากเลย”
“แปลว่าต้องซ้อมเยอะกว่าคนอื่น” ผมทวนตามที่เข้าใจ
“ด้วยต้นทุนในตอนแรก ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องซ้อมอะไร ผมอาศัยงมๆ ไป แต่เน้นซ้อมทุกวัน กลับบ้าน 3 ทุ่มแทบทุกวัน ซ้อมเรื่อยๆ จนกลายเป็นกิจวัตร หรืออย่างถ้ามาตอนเช้า ผมจะเดินเข้ามาแม้มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ตาม เพราะผมจะได้มีเวลาให้ตัวเองได้ฟังเพลงใหม่ๆ บ้าง ซ้อมให้มาก ฟังให้มาก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งเอาจริงผมก็สนุกนะที่ได้ค่อยๆ เก่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นมาแล้วเก่งเลยเหมือนใครเขา”
พอมาถึงตรงนี้ ภาพนักศึกษาสองคนที่กำลังซ้อมกีตาร์คลาสสิกอยู่ไม่ไกลจากเราดูมีเรื่องราวขึ้นมาทันที
“การเรียนที่นี่ช่วงแรกเปิดโลกอันน้อยนิดของผม จากแต่ก่อนที่ผมคิดว่าเพลงแบบนี้คือดี เพลงแบบนี้คือที่สุด แต่พอได้มาเจอเพลงแนวแจ๊สหรืออื่นๆ ผมได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองมีในตอนแรกนั้นน้อยมาก การได้เรียนที่นี่จึงทำให้ผมค่อยๆ เข้าใจรูปแบบและองค์ประกอบของเพลงมากขึ้น โดยเฉพาะการฝึก Ear Training
“อย่างเสียงบรรเลงเปียโนที่เราได้ยินกันอยู่ตอนนี้ ผมจะได้ยินเป็นคอร์ด”
ตอนนั้นเองที่เสียงเปียโนที่บรรเลงอยู่ในฉากหลังเป็นการกดโน้ตตัวหนึ่งยาวๆ
“เสียงนี้คือ ‘ลา’” กรลากเสียงยาวเป็นตัวอย่าง ก่อนเข้าสู่โน้ตต่อไป
“เสียงนี้คือ ‘ฟา’ และผมก็พอเข้าใจความเคลื่อนไหวของดนตรีว่าต่อไปน่าจะเป็น ‘ซอล’”
แน่นอนว่ากรถูกต้อง
“พอเริ่มเข้าใจ ผมจึงเริ่มเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้าเป็นคอร์ดนี้มันให้อารมณ์แบบไหน ต้องสัมพันธ์กับเสียงร้องยังไง ทุกอย่างเกี่ยวกันหมดเพื่อการเข้าถึงแก่นแท้ทางดนตรี
“ช่วงแรกจึงเป็นความรู้สึกดี เหมือนผมค่อยๆ ได้เข้าใกล้ดนตรีมากขึ้น อย่างจากที่ดนตรีแจ๊สเป็น noise ตอนนี้สมองผมสามารถประมวผลได้บ้างแล้ว อาจไม่ได้ลึกล้ำ แต่ผมพอเข้าใจบ้าง ผมเริ่มเห็นความงามของดนตรีขึ้นมาบ้าง”
“ฟังดูราบรื่น แต่ทำไมตอนนี้ถึงเปลี่ยนไปเน้นเรียนด้าน Sound Engineering” ผมสงสัย
กรนิ่งเงียบไปครู่หนึ่งก่อนตอบ “พอถึงวันหนึ่งผมก็เริ่มหมดความสนใจในแจ๊ส ผมยังซ้อมให้พอส่งอาจารย์อยู่นะ แต่พอถึงจุดที่มีคนเก่งรอบตัวเยอะ และด้วยนิสัยผมก็มักเอามาเปรียบเทียบกับตัวเองว่าผมซ้อมแค่ไหนก็ยังเข้าไม่ถึงแจ๊สอย่างคนอื่นสักที
“และด้วยปัญหาอีกหลายอย่างที่ซ้อนทับกันช่วงนั้น ชีวิตผมก็พัง”
3
ถ้าว่ากันด้วยวันเวลาที่จรดปากกาเขียนอักษรตัวแรก เพลงแย้มบานเกิดขึ้นในวันที่กรอยู่ ม.6 ถึงช่วงชีวิตที่เขานิยามว่าหนักหนาที่สุด
“ทำไมต้องเป็นเราวะที่เศร้าใจ ทำไมวะที่เราดีไม่เท่าใคร
ทำไมกูต้องใส่ใจคนอย่างมึง แล้วทำไมคนอย่างมึงถึงไม่เคยคิดจะเข้าใจ
ไม่ได้โศกเศร้าแต่ได้โปรดทราบ ว่าผมแค่อยากหายไปจากโลก”
“ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น”
“ตั้งแต่เด็กแล้วที่ผมรู้สึกว่าถ้าตัวเองเป็นภาระเมื่อไหร่ ผมจะอยู่ไม่ได้ และตอนนั้นเป็นช่วง ม.6 ที่พ่อผมทักมาบอกว่าธุรกิจที่บ้านมีปัญหา จริงๆ เขาไม่ได้กดดันอะไรเลย แต่เป็นผมเองที่คิดว่าค่าเทอมและค่าอุปกรณ์ของเราแพงมาก ทำไมผมช่วยอะไรพ่อไม่ได้ พอดีกับตอนนั้นมีรับสมัครประธานนักเรียนพอดี และการเป็นประธานนักเรียนจะทำให้ได้ทุน ผมจึงคิดตื้นๆ ว่า ‘เอาวะ’ เพราะอยากช่วยที่บ้าน (นิ่งคิด) สิ่งนี้ทำร้ายตัวผมฉิบหาย
“ผมเป็นคนที่ความรับผิดชอบต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก การจัดการแย่มาก ยิ่งช่วงนั้นคณะปรับเปลี่ยนระบบใหม่ ผมเป็นตัวกลางระหว่างนักเรียนและอาจารย์พอดี ก็มีแต่ปัญหา เพื่อนมาทะเลาะกันอีก พังทุกอย่าง ชีวิตฉิบหายไปหมด ยิ่งด้วยธรรมชาติ ผมเป็นคนคิดอะไรอยู่คนเดียว ทุกอย่างยิ่งแย่ไปใหญ่
“แย่ที่สุดขนาดไหน” ผมเอ่ยถามโดยที่พอเดาคำตอบได้ล่วงหน้าจากไรม์ในเพลงที่กรเขียน
“อยากตายทุกวันเลย กลับบ้านไปก็ไม่อาบน้ำ นอนคิดและร้องไห้อยู่บนโซฟาคนเดียว”
“ช่วงนั้นผ่านมาได้ยังไง”
“จิม ฮอลล์”
ด้วยสีหน้าสงสัยของผม กรเล่าต่อโดยไม่ต้องรอถาม
“จิม ฮอลล์ เป็นแมวจรจัดที่ผมตั้งชื่อตามมือกีตาร์แจ๊ส ก่อนหน้านั้นผมเคยให้อาหารมันอยู่บ้าง แต่พอช่วงที่ผมหนักๆ มันมาหาผมทุกวัน ผมซื้อโน่นนี่ให้มันเรื่อยๆ จนกลายเป็นซื้อแชมพูมาอาบน้ำให้เพื่อที่ผมจะกอดได้ ตอนนั้นผมกอดจิม ฮอลล์ ทุกวันและมันโคตรช่วยผมเลย
“สำหรับผม เวลาที่เป็นแบบนี้ คำพูดไม่ค่อยช่วยผมเท่าไหร่ ผมจึงไม่อินในการทำเพลงที่ให้กำลังใจเพราะผมไม่เคยฮีลตัวเองได้จากสิ่งนี้เลย ผมกลับรู้สึกว่านั่นคล้ายมาสคอตโง่ๆ ที่มายืนบอกว่า ‘ผ่านไปด้วยกันนะ’ มากกว่า มันทำให้ผมแย่กว่าเดิม ผมจึงรู้สึกกับอะไรที่ลึกไปกว่านั้นอย่างเช่นการตอบสนองทางอารมณ์ด้วยการสัมผัสและการกอด เช่น การกอดจิม ฮอลล์ มันโคตรดีสำหรับผม
“ผมคิดถึงมันมากเลยนะ เพราะมันมาหาผมจนถึงวันที่รับตำแหน่งประธานนักเรียนวันสุดท้าย หลังจากนั้นมันก็หายไป ไม่กลับมาอีกเลย”
ถ้าดูตามไทม์ไลน์ ชีวิตหลังจากนั้นของกรมีอะไรที่ซ้อนทับกันหลายอย่าง แม้ตำแหน่งประธานนักเรียนและจิม ฮอลล์ จะจากไปแล้ว แต่สิ่งที่อยู่ในหัวของเขายังคงไม่ได้รับการแก้ไข มันเปราะบางและพร้อมแตกสลาย แต่เพราะเหตุนี้เองที่ผลักดันให้กรไปเจอทั้งอะไรใหม่ๆ และอะไรเดิมๆ ที่เขาเกือบหลงลืม
“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเริ่มกลับไปหาตัวตนของตัวเองจริงๆ โดยไม่ต้องฝืน ผมค่อยๆ นึกย้อนว่าจริงๆ แล้วผมไม่ได้อยากเป็นนักดนตรีแจ๊สนี่นา ผมไม่ได้อยากโซโล่พราวพริ้ง แต่อะไรล่ะคือสิ่งที่ผมชอบ
“ผมค่อยๆ จำได้ว่าตอนที่ออกจากโรงเรียนตอน ม.ต้น เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งห้ามผมไว้ แต่ครั้งนั้นผมตอบอาจารย์ไปว่าผมอยากเป็นนักแต่งเพลงครับ ผมชอบอ่านหนังสือ ผมชอบเขียน ในตอนนั้นผมมีความสุขเวลาที่ได้เขียนเพลงไว้ร้องกับเพื่อน แต่ด้วยอะไรบางอย่าง ระหว่างทางผมทำสิ่งนี้หายไป จนถึงจุดหนึ่งที่เริ่มกลับมาฉุกคิดได้ว่าหรือผมจะชอบทางนี้”
“ตอนนั้นเองที่ผมได้เห็นคลิปของ RAP IS NOW พอดี”
4
ในกลางดึกคืนหนึ่งที่กรนอนไม่หลับ เขาบังเอิญได้เห็นคลิป Rap Battle จากรายการ RAP IS NOW ระหว่างสองแรปเปอร์อย่าง YOUNGOHM และ KQ จากที่ไม่ได้สนใจกระแสแรปเพราะคิดว่านี่เป็นดนตรีที่เต็มไปด้วยคำด่า คืนนั้นกรตัดสินใจลองเปิดใจฟัง
วันนั้นเขาได้พบว่าแรปสามารถมีไรม์สร้างสรรค์และล้ำลึกได้ แม้มีคำหยาบ แต่ไม่ได้ฟังกระดากหู ที่สำคัญคือนี่เป็นเครื่องมือที่กรค้นเจอว่าสามารถถ่ายทอดความรู้สึกของเขาได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องประดิษฐ์ใดๆ
“ผมไม่ได้สนใจวัฒนธรรมฮิปฮอป แต่ผมสนใจรูปแบบของการแรปมาก ศาสตร์ดนตรีที่ผมเรียนมาทำให้ผมเห็นความงามของดนตรีแรป
“พอเริ่มศึกษา ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองได้กลับไปเป็นนักทดลองอีกครั้งหนึ่ง ผมลองฟังแรปเปอร์แต่ละคนพร้อมวิเคราะห์ว่าทำไมคนนี้ใช้คำนี้ลงแบบนี้แล้วเท่ สุดท้ายพอศึกษาไปเรื่อยๆ ผมก็ลองเขียนเอง
“สำหรับผม แรปคือดนตรีที่โคตรพอดีกับความอัดอั้น ผมได้กลับมาสนุกกับดนตรีและชีวิตอีกครั้ง เหมือนผมได้เขียนบันทึกประจำวันโดยที่ไม่ต้องสนใจว่าใครต้องมาฟัง ผมเขียนเพื่อดูตัวเอง
“แรปทำให้ผมค่อยๆ ตกตะกอนความคิด การเขียนเนื้อช่วยให้ผมลำดับเรื่องราวที่ยุ่งวุ่นวายในหัว ที่สำคัญคือผมได้ถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วผมคิดอะไรอยู่กันแน่ เพราะเวลาใช้แต่ละคำ ผมถามตัวเองเสมอว่านี่ผมใช้เพื่อให้คำสัมผัสกันหรือผมใช้เพราะผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ลึกลงไปกว่านั้นคือนี่เป็นความรู้สึกที่แน่นอนหรือเป็นแค่ชั่ววูบ ผมใช่คนแบบนั้นจริงๆ เหรอ พูดง่ายๆ ว่าแรปทำให้ผมเข้าใจตัวเองมากขึ้น”
เรื่องราวหลังจากนั้นของกรล้วนอยู่ในสปอตไลต์บนเวที
จากความชื่นชอบในขั้นต้น กรค่อยๆ เริ่มทำเพลงของตัวเองและลงลึกในศาสตร์นี้ไปเรื่อยๆ เขาพาตัวเองสมัครตามรายการต่างๆ และค่อยสะสมประสบการณ์ สุดท้ายจากเด็กแว่น (ตามคำนิยามของเขา) ที่ไม่มีใครรู้จักใน RAP IS NOW เขาก้าวสู่รายการ The Rapper และเป็นที่รู้จักในชื่อ AUTTA นับแต่นั้น
“ไวมากเลย” กรนิยามถึงจังหวะชีวิตของตัวเองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“บ่อยครั้งที่ผมหยุดคิดว่าผมมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง เพราะในตอนที่ผมทำ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองต้องไปได้ไกลแค่ไหน ผมแค่ทำเพราะมันช่วยชีวิตผม การทำเพลงของผมไม่ใช่การวิ่งแข่งและเข้าเส้นชัย แต่ผมว่ามันคล้ายๆ การเดินเล่นกลางชายหาดที่ไม่มีวันจบมากกว่า ผมอยากเดินไปเรื่อยๆ ก้มหน้าก้มตาทำสิ่งที่ตัวเองสนุก ไม่รีบร้อนว่าต้องเป็นใครหรืออะไรอีกแล้ว เพราะถ้าผมคิดแบบนั้นอีก ผมคงทำลายตัวเองชัดๆ ผมขอทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อและอยากทำจริงๆ ดีกว่า ผมว่าเดี๋ยวจะมีคนเชื่อตามเราเอง”
“แต่ระหว่างทางคุณเจอก้อนหินบ้างหรือเปล่า” ผมแย้งให้เขาคิด
“มีอยู่แล้วครับ อย่างเรื่องไอ้ขี้ก๊อปไง” กรตอบผมด้วยน้ำเสียงราบเรียบ
ในช่วงที่กรแข่ง RAP IS NOW คำนี้ถือเป็นก้อนหินที่เขาโดนเยอะที่สุด ลีลาการแรปโต้ตอบโดยประยุกต์สไตล์ของแรปเปอร์คนอื่นมาจิกกัดกลายเป็นความโดดเด่นที่นำมาด้วยคำครหา
ลอกโฟลว์คนอื่นมาบ้างล่ะ ไอ้ขี้ก๊อปบ้างล่ะ–กรโดนมานับไม่ถ้วนแล้ว
“ผมโกรธโคตรๆ เวลาคนมองว่าผิดโดยที่ผมไม่ได้ทำ ดังนั้นช่วงแรกๆ ที่โดนแบบนี้ก็ถือว่าหนักอยู่ ยิ่งเป็นคนที่อ่านทุกคอมเมนต์ด้วย มันทำให้เซ็งอยู่เหมือนกัน แต่พอนานๆ เข้าก็เริ่มดีขึ้น
“ถึงคนจะตีตราผมแบบนี้ แต่เวลามองไปที่งาน ผมยังเห็นว่าเป็นงานของผม ผมยังเห็นโครงสร้างที่เป็นของตัวเองและไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไร นี่ต่างหากคือเรื่องสำคัญ ผมพยายามไม่ให้คำพูดคนมาทำร้ายเราได้ขนาดนั้น อีกเรื่องคือผมเชื่อว่าทุกๆ อย่างมีเวลาของมันในการทำให้คนเข้าใจ ดังนั้นทุกวันนี้ก้อนหินไม่ได้หายไปหรอก แต่ไม่ได้หนักสำหรับผมแล้ว
“เพราะเหตุนี้ทำให้ปัจจุบันเวลาผมทำงาน ผมเริ่มต้นโดยยึดเอาตามสิ่งที่ตัวเองชอบก่อน งานผมต้องฟังแล้วผมเองไม่จั๊กกะจี้ ที่สำคัญคือต้องมีความครีเอทีฟอยู่ในนั้น ผมอยากให้งานตัวเองมีเบื้องลึกเบื้องหลัง ผมชอบแบบนี้มากกว่าการมีดนตรีแล้วเว้นช่องว่างให้ผมไปใส่เนื้อเพลง
“ผมอยากมีสายสัมพันธ์กับเพลงเพื่อผมได้กลับไปฟังมันอีก”
5
รู้ตัวอีกที แดดร้อนแรงช่วงบ่ายก็กลายเป็นเมฆครึ้ม ฝนเริ่มลงเม็ดตอนบทสนทนาของเราใกล้จบ
ตอนนั้นเสียงเปียโนและกีตาร์คลาสสิกที่ขับกล่อมบทสนทนาของเรายังอยู่ สวนทางกับเสียงเฟรนช์ฮอร์นที่หายไปแล้ว พร้อมกับการมาถึงของเสียงฝนกระทบหลังคาที่ทำหน้าที่คล้ายอีกหนึ่งเสียงที่ประกอบกับเสียงเครื่องดนตรีรอบๆ และเสียงการสนทนาของผมและกร
“ดูคุณให้ความสำคัญกับการเป็นตัวเองมาก” ผมสรุปความเห็นตามสิ่งที่กรเล่าก่อนหน้า
“ก่อนหน้านี้ไม่ใช่แบบนี้หรอก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะนิสัยหรือสันดาน แต่ตั้งแต่เด็กแล้วที่ผมมักอยากให้คนมองว่าดีไว้ก่อนทั้งที่ข้างในผมกลวงโบ๋ มันตามมาด้วยความคาดหวังที่ผมมักทำพังทลาย ผมจึงค่อยๆ เรียนรู้ในการปล่อยตัวมากขึ้นเพื่อให้ตัวเองสบายใจ เป็นตัวเองดีกว่า”
“แล้วคุณนิยามตัวเองว่าอะไร อยากให้คนจำแบบไหน”
“อะไรก็ได้ เพราะผมว่าตัวเองเป็นเหมือนลูกแก้วที่คนเห็นจากแต่ละด้านไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ดังนั้นผมไม่คิดว่าคนต้องจำผมยังไง อีกอย่างผมว่าถ้าไปกำหนดให้คนจำเราแค่ด้านเดียว เราจะแบนทันที ถ้าเรามีด้านอื่นโผล่มา เขาจะรับเราไม่ได้
“ดังนั้นจะเรียกอะไรก็เรียกได้เลยครับ แค่ไม่ใช่ไอ้ขี้ก๊อปก็พอ” เสียงหัวเราะเกิดขึ้นชั่วครู่ ก่อนกรเล่าต่อ
“ผมเคยคุยกับป๋าทศ (โจ–กิตติกานต์ แซ่หลี aka. ทศกัณฐ์) ว่า ‘สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการเป็นศิลปินคือผู้ฟังไม่อนุญาตให้มึงเป็นมึง ถ้างั้นมึงจะเป็นอะไรวะ’ ผมเลยพยายามหลีกเลี่ยง worst case นี้มาก ถึงคนเราจะเจอคนที่คาดหวังให้เราเป็นนั่นเป็นนี่จากคนละมุมของลูกแก้ว แต่เพราะที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ผมผ่านการทำตามความคาดหวังมาแล้วแม่งไม่เคยเวิร์ก ดังนั้นผมขอทำอะไรที่ผมรับตัวเองได้ดีกว่า
“ในเพลง แย้มบาน ประโยคแรกของเพลงคือ ‘ฉันอยากมีชีวิตอยู่’ แล้วถ้าให้สรุปย้อนคิด ตอนนี้คุณอยากมีชีวิตอยู่เพราะอะไร” ผมถามคำถามสุดท้ายก่อนจบบทสนทนา
“ผมยังรู้สึกว่าตัวเองส่งต่ออะไรบางอย่างให้คนได้นะ ใครที่หยิบไปใช้ ผมยังเชื่อว่ามันอาจดีกับใครคนนั้นและกับตัวผม ซึ่งทั้งหมดนี้ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องเป็นใคร ผมมีความสุขกับการใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่ต้องมีอะไรพิเศษ ผมยังคงเดินบนชายหาดต่อไปท่ามกลางชีวิตที่ผมพยายามดีลกับมันอยู่เรื่อยๆ
“อาจมีโอนเอนบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องหาสมดุลให้ชีวิตกลับมาได้”
ตอนนั้นเองที่ผมเพิ่งสังเกต
ประหลาดดีที่ในวันนั้น ฝนที่ตกปรอยๆ เป็นฉากหลังนั้นมีแสงแดดอุ่นแซมอยู่