“เราทำอะไรและใครตกหล่นไปบ้างในระบบการศึกษาของประเทศไทย” – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

Highlights

  • ในช่วงปิดเทอมที่ตรงกับวิกฤตโควิด-19 การศึกษาถือเป็นส่วนสำคัญที่ได้รับกระทบไม่แพ้ฟากเศรษฐกิจ ซึ่งหากพิจารณาในสถานการณ์ที่เป็นปกติ เราก็ยังพบว่าระบบการศึกษาไทยมักทิ้งใครไว้ข้างหลังเสมอ ปัญหานั้นมาจากการคิดทุกอย่างแยกส่วน ไม่เชื่อมโยงกัน
  • นอกจากการมุ่งเน้นที่ 'เนื้อหาสาระ' จนหลงลืมการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายของการเรียนรู้แล้ว การศึกษาไทยยังมีปัญหาเรื่องการแยกกายกับใจของเด็กออกจากกัน ซึ่งที่จริงแล้วทั้งสองอย่างเชื่อมโยงกันและส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แม้คนไทยจะพูดเรื่องการศึกษามาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงปรากฏให้เห็นในหลายรูปแบบ แน่นอนว่าเรามีคำตอบและวิธีแก้ไขมากมาย แต่เงื่อนไขการบริหารทรัพยากรของประเทศก็ไม่เคยเอื้ออำนวย

ปิดเทอมกับเจ้าโควิดนี้พอได้เห็นเด็กๆ หาวิธีสนุกสนานด้วยตัวเอง ได้นั่งมองดูเด็ก ลูกหลานครู และคนสวนของโรงเรียน เล่นกันกลางแดดอุ่นบนสนามหญ้าผืนใหญ่สีเขียว แทบไม่มีใครรุ่นราวคราวเดียวกัน ตัวเล็ก ตัวใหญ่ เขาหาวิธีเล่น กระโดดบ้าง ลื่นไปกับดินเหนียวชุ่มน้ำฝนจากเมื่อคืน วิ่งไล่กันไปมา ไม่หันมาสนใจจอได้ทีละหลายๆ ชั่วโมง ก็ชวนให้ทบทวนหลายเรื่อง

ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นคำถามที่ว่า ‘เราทำอะไรและใครตกหล่นไปบ้างในระบบการศึกษาของประเทศไทย’

การคิดทุกอย่างแยกส่วน ไม่เชื่อมโยงกัน คือปัญหาเชิงหลักการข้อสำคัญในการศึกษาไทย

 

เมื่อทุกอย่างสำคัญ…จะไม่มีอะไรสำคัญ

เมื่อการศึกษาคือการสร้างคน ท่ามกลางสภาวะที่หลายคนกังวลถึงความไม่แน่นอนในอนาคต เรียนจบแล้วจะตกงานหรือไม่ เราทับถมความกลัวและความกังวลเหล่านั้นด้วยเนื้อหาและข้อมูลมหาศาลที่เด็กๆ ต้องท่องจำ แทนที่จะได้นำไปใช้ในชีวิตของเขา เรามีสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มฯ กับตัวชี้วัดมากมายที่เด็กๆ ต้องไปให้ถึงในแต่ละช่วงวัยของเขา ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเข็มทิศนำทางให้คุณครูได้เดินไปตามแนวทางนั้น ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อเราใส่เนื้อหาเข้าไปมากขนาดนี้และทำเสมือนว่าทุกอย่างต้องสำคัญเท่ากันหมด ทุกอย่างจะไม่สำคัญเลย ทุกคนจึงหลงทางเพราะเข็มทิศพาเราไปทุกทิศทุกทาง

ประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นวัยที่เด็กกำลังปรับตัวจากการเรียนแบบอนุบาล ที่ทั้งไม่ได้เน้นเนื้อหาความรู้มากมายเท่ากระบวนการเรียนรู้ ปรับตัวเข้าสู่วัยที่ต้องเริ่มเน้นข้อมูลความรู้ แต่ทันทีที่ปีนป่ายมาถึงชั้น ป.1 เด็กๆ ต้องเรียนสัญลักษณ์บวก-ลบ แสดงวิธีหาคำตอบโจทย์ปัญหาของจำนวนนับไม่เกิน 100 สาระที่เด็กๆ ต้องเรียนคือการแก้โจทย์ การสร้างโจทย์ พร้อมทั้งหาคำตอบ

อยากให้ทุกๆ คนลองอ่านดูและย้อนนึกถึงวัยเด็กของตัวเองว่าถ้าเราอายุ 6-7 ขวบ เพิ่งเปลี่ยนจากอนุบาล 3 มาเข้า ป.1 แต่ต้องเรียนรู้เนื้อหามากมาย (เพราะนี่เป็นเพียงกลุ่มสาระฯ เดียว) สิ่งที่หายไปจากสมการนี้คือการคิดและการมองภาพรวมว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีคิด กระบวนการคิดแก้ปัญหาพื้นฐานต่างๆ หรือยัง ซึ่งนี่คือแก่นแท้หนึ่งของการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในวัยเด็ก

การมุ่งเน้นที่ ‘สาระ’ มากกว่ากระบวนการเรียนรู้แบบที่หลักสูตรเรากำลังทำอยู่และทำมาตลอดนั้นส่งผลให้การออกแบบระบบการเรียนการสอนมองเห็นเฉพาะเนื้อหา ซึ่งเป็นเพียงด้านเดียวของการเรียนรู้ แต่ละเลยเรื่องที่สำคัญที่สุดไป นั่นคือการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการเรียนรู้ ที่ไม่ได้มีเฉพาะเนื้อหาเท่านั้น

เมื่อจุดเริ่มต้นไม่ถูกที่ถูกทาง สิ่งที่สำคัญกลับไม่สำคัญ เราจึงทำเรื่องสำคัญตกหล่นไปอีกหลายประการ

 

อย่าแยกกายกับใจเด็กออกจากกัน

เมื่อเนื้อหานำ เราต่างวิ่งไปสู่ปริมาณโดยหลงลืมว่าเมื่อวิ่งเร็วเด็กๆ ของเราจะหมดแรง การจัดการเรียนการสอนหลายๆ คาบติดกันต่อเนื่องจนเด็กๆ แทบไม่ได้พักทำให้พวกเขาล้าตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นเรียนรู้อะไรเป็นรูปเป็นร่าง

ความอ่อนล้านี้แสดงออกมาในรูปแบบของความเหนื่อยหน่าย เบื่อหน่าย ไร้แรงบันดาลใจ และหาสิ่งอื่นๆ ทดแทนการเรียนตรงหน้า เมื่อไม่มีแรงใจ จะไปหาแรงกายมาจากไหน ความอยากเรียนรู้จะมีที่ยืนตรงไหน แต่หลายคนก็ติดอยู่กับระบบที่ไม่สามารถสร้างจุดสมดุลของกายและใจได้ ถ้าไม่เรียน สอบไม่ได้ จะเรียนต่อได้ไหม จะเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือเปล่า แต่เรียนเยอะแยะไปก็เหนื่อยล้า เสียเงินทองมากมายและได้ความเครียดมาเป็นของแถมแทน

คิดดูง่ายๆ ก็ได้ นักเรียนนั่งเรียน แปะอยู่ที่เก้าอี้ แทบไม่ได้ขยับไปมาอะไรมากมาย จะทำให้เกิดอะไรบ้าง พวกเราผู้ใหญ่ยังเป็นออฟฟิศซินโดรมกัน แล้วการเรียนแบบนั่งนิ่งๆ เงียบๆ นานๆ มันจะไปสนุก มันจะน่าอยากเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ได้ยังไงกัน

คำตอบที่สมบูรณ์แบบของคำถามนี้ไม่มีอยู่ เว้นเสียแต่ว่าจะมีผู้ที่ทำความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นและพยายามหลุดออกจากกรอบความคุ้นชินเดิมๆ ให้มากขึ้น เพิ่มเวลาพัก เข้าใจว่าระหว่างอยู่ในคาบก็ต้องให้เด็กๆ ได้ยืดเส้นยืดสายทำกิจกรรมอื่นๆ รับออกซิเจนผ่านการขยับร่างกายบ้าง เราจะ
จำกัดการเคลื่อนไหวร่างกายเด็กๆ ไว้ที่วิชาพลศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวหรือ เราต้องทดลองดูว่าจะสามารถทำให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีคุณภาพด้วยเวลาที่น้อยลงได้จริงหรือไม่ อย่างน้อยๆ จะทำให้เขาสนใจเรียนรู้ได้มากขึ้นหรือไม่

นี่คือเรื่องเล็กที่ไม่เล็กซึ่งการศึกษาประเทศไทยแทบไม่เคยมองเห็น

 

ข้างใน-ข้างนอกห้องเรียนก็คือห้องเรียน

ยิ่งโตเรายิ่งหมกตัวอยู่ในห้องเรียนมากขึ้น ด้วยเนื้อหาที่มากขึ้น ภาระการท่องจำที่เพิ่มขึ้น ทำให้โลกในห้องเรียนของเราเป็นโลกที่มีเพียงกรอบตำราเรียนและตัวชี้วัดการเรียนรู้เท่านั้น ทั้งที่นอกห้องเรียนซึ่งหมายความรวมทั้งการใช้พื้นที่นอกห้องเรียนและการใช้พื้นที่ในห้องเรียนแต่พานักเรียนออกไปเรียนรู้โลกกว้างผ่านเทคโนโลยีต่างๆ กลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในระบบการศึกษาไทย

คำอธิบายกลับไปสู่จุดเดิมที่ว่า เราถูกการทดสอบและข้อสอบกำหนดเอาไว้ว่าเด็กต้องรู้ จำ และแค่เข้าใจอะไรได้บ้าง มากกว่าจะฝึกฝนให้เด็กๆ ได้ใช้เครื่องมือทางความคิดเพื่อนำไปใช้ต่อยอดการเรียนรู้ของตนเอง เมื่อนั้นการศึกษาจะสามารถนำพาให้เด็กๆ ได้สร้างความหมายและคุณค่าของชีวิตตนเองต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่นอกห้องเรียนหลายแห่งมีทั้งธรรมชาติ ชุมชน ปัญหาตรงหน้าชวนให้ขบคิด แก้ไข มีวัฒนธรรม ผู้คนหลากหลายน่าสนใจ ชวนให้ทำความเข้าใจและปรับตัว แต่เหล่านี้กลับถูกนำมาใช้ในการเรียนรู้ของเด็กๆ น้อยมาก

อีก 2 เหตุปัจจัยของปัญหานี้คือ กระบวนการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่เป็นความเคยชินของครู และกระบวนการผลิตครูที่ยังคงใช้วิธีเดิมอยู่ หรือหากมีครูสักคนที่พยายามอย่างยิ่งที่จะหลุดออกจากกรอบคิดนี้ พวกเขาจะถูกระบบการประเมินและวิธีคิดชุดเดิมฉุดรั้งเอาไว้

 

เมื่อโลกการศึกษาไทยหมุนรอบตัวชี้วัด เราจึงทำเด็กตกหล่นไปเป็นจำนวนมาก

คำว่า ‘ตกหล่น’ ในที่นี้ขอแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือเด็กที่ตกหล่นเพราะไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ และเด็กที่การศึกษาไม่สามารถทำให้เขารู้จักและเข้าใจตนเองได้มากพอ

การวัดประเมินด้วยตัวชี้วัดบนทรัพยากรที่แตกต่างกันไปตามขนาดโรงเรียนทำให้ความเหลื่อมล้ำเป็นหัวข้อสำคัญของการศึกษามานานหลายทศวรรษ ความเหลื่อมล้ำที่ว่าหน้าตาเป็นแบบนี้

เรามีเด็กๆ ที่แทบจะไม่มีอาหารกลางวันที่เหมาะสมกิน ครูไม่พอสอนแต่ละห้อง เด็กๆ อาจต้องนั่งดูโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดผ่านห้องเรียนทางไกลมาโดยไม่มีครูอยู่ และเขาก็ไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังนั่งดูอะไรอยู่ ที่นั่นการมาโรงเรียนหมายถึงการมีข้าวกลางวันกินหนึ่งมื้อ และการได้ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนๆ

และเรามีเด็กๆ ที่เรียนมากมายตั้งแต่ในโรงเรียน นอกโรงเรียน เรียนพิเศษ เพิ่มทักษะ เพิ่มความรู้ ไม่ต้องกังวลเรื่องอะไรนอกจากพาตัวเองไปเรียนตามตารางที่ถูกกำหนดมา

แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำยังมีอีกหลายรูปแบบ คงอรรถาธิบายกันได้ไม่จบสิ้น แต่ถ้ามองภาพรวมแล้วตัวเลขของความเหลื่อมล้ำคือประเทศไทยมีเด็กจำนวน 2 ล้านคนที่ถูกผลักออกไปนอกระบบการศึกษาเพราะความยากจน และมีเด็กที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาถึง 6.7 แสนคน หรือร้อยละ 5 ของเด็กวัยเรียน (ปัจจุบันตัวเลขขยับขึ้นสูงแล้วเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและโควิด-19)

และแม้เด็กๆ เหล่านี้จะเข้าถึงการศึกษาได้ คุณภาพยังเป็นคำถามต่อมาที่ต้องตอบให้ได้ ซึ่งเรามีคำตอบมากมาย ทางเลือกมากมาย แต่ยังทำไม่ได้ ด้วยติดเงื่อนไขการบริหารทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำของระบบราชการซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพนัก

ส่วนเด็กๆ อีกกลุ่มที่ ‘ตกหล่น’ ไป พวกเขาสูญเสียความสนใจใคร่รู้ทั้งกับตัวเองและโลกภายนอก เครื่องบ่งชี้ที่ดีที่สุดคือระบบการศึกษาไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับวิชาอย่างแนะแนวหรือสุขศึกษา ที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของตนเอง แทบไม่มีการใช้ศาสตร์อย่างจิตวิทยาเข้ามามีส่วนร่วมในการโอบอุ้มดูแลนักเรียนเลย

ถ้าตัวเลขของความเสียหายทางเศรษฐกิจของเด็ก 6.7 แสนคนที่เสี่ยงออกนอกระบบคือ 2 แสนล้านบาทต่อปี มูลค่าความเสียหายของผู้ใหญ่ที่เติบโตแบบ ‘ไม่รู้’ อะไรเลยนั้นแทบจะประเมินค่าไม่ได้ และหากความท้าทายของโลกใหม่ทั้งผันผวนและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยากเลยที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนคนกลุ่มนี้ และไม่ยากเลยที่เราจะต้องเจอกับปัญหาทั้งจำนวนเด็กเกิดน้อย ไปพร้อมกับประชากรที่ไม่พร้อมปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะพวกเขาไม่ได้รับการเตรียมพร้อมที่ดีเพียงพอ

เขียนมาจนถึงตรงนี้คำว่า ‘ตกหล่น’ คงดูเล็กน้อยไปสำหรับปัญหาภาพรวมการศึกษาของประเทศไทย เราทำทั้งหลักคิด เด็ก นักเรียน และครู หล่นหายระหว่างทาง แต่กลับโดนบังคับด้วยระบบที่ยึดถือตัวชี้วัดบนกระดาษ ที่เราเองก็ไม่แน่ใจว่าเข้าใจมันดีพอหรือยัง


อ้างอิง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

AUTHOR