เมื่อพูดถึง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เมืองไทยเองก็มีชื่อเสีย (ง) อยู่ไม่น้อย
ในช่วงสองสามปีมานี้ ชื่อของประเทศไทยติดโผต้นๆ จากแทบทุกสำนักที่นำเสนอรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำ หนึ่งในรากของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ตามติดเป็นเงาอย่างทุกวันนี้คือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สกัดขาไม่ให้เด็กต้นทุนชีวิตน้อยได้เรียนต่อ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีความรู้ความสามารถมากพอจะพลิกฟื้นและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่ได้ ทำให้เกิดวงจรความยากจนวนเวียนซ้ำซากข้ามชั่วคนไม่รู้จบสิ้น
แน่นอนว่าเด็กทุกคนมีความฝัน แต่หลายคนไม่กล้าแม้แต่จะฝัน เพราะต้นทุนชีวิตน้อยและขาดโอกาส
เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลหลายคนต้องทำงานส่งตัวเองเรียน ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ปากกัดตีนถีบ ต้องเดินทางจากพื้นที่ห่างไกลหลายสิบกิโลฯ เพื่อมาโรงเรียนในแต่ละวัน บ้างก็ต้องลาหยุดเรียนไปช่วยพ่อแม่ทำงาน บ้างก็ต้องพักการเรียนเพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ทั้งไม่มีเงินพอสำหรับค่าอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน หรืออุปกรณ์การเรียน
เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสของเด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกลถูกถ่างให้กว้างออกไปราว 20 เท่าของเด็กในเมือง ในขณะที่เด็กในเมืองกำลังนั่งกวดวิชาและสอบแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อแย่งที่นั่งเรียนในสถาบันในฝัน เด็กนักเรียนในโรงเรียนห่างไกลทั่วประเทศไทยกำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพราะความยากจน
ตอนนี้เด็กไทยไม่น้อยกว่า 500,000 คนหลุดออกจากระบบไปแล้ว และอีก 2,000,000 คนสุ่มเสี่ยงไม่ได้เรียนต่อ และมีแนวโน้มว่าในอนาคตเด็กที่หยุดเรียนกลางคันจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แน่นอนว่าตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่สะท้อนให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาสะสมเรื้อรังมานานจนทำให้เด็กนักเรียนเป็นล้านๆ คนอาจจะไม่ได้เรียนต่อ ทั้งที่การศึกษาควรจะเป็นสิ่งที่พลเมืองทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่แบ่งชนชั้น
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เกริ่นให้เราฟังถึงข้อเท็จจริงที่ว่า
“มีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถต้านทานกับปัญหาความยากจนของครอบครัวได้ ดังที่เราได้เห็นจากข่าวความเดือดร้อนของเด็กๆ ปรากฏในสื่อทุกแขนงไม่เว้นแต่ละวัน ที่น่าตกใจคือปัจจุบันมีเด็กไทยมากกว่า 2,000,000 คนมีความเสี่ยงต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะ ‘ความยากจน’ เด็กจำนวนมากต้องลาหยุดเรียนไปช่วยพ่อแม่รับจ้างทำงานหารายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว บางคนขาดเรียนกว่าสัปดาห์ บางคนหายไปนานนับเดือน จนส่งผลกระทบต่อการเรียนอย่างหนัก และหลายคนไม่ได้กลับมาเรียนอีกเลย
“ผมเชื่อว่าสังคมไทยทุกภาคส่วนตระหนักและตื่นตัวว่า เด็กกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน และข้อเท็จจริงชี้ชัดว่าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ทันท่วงทีและพอเพียง พวกเขาและเธอมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีความเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในวงจรที่ดำมึดของสังคม ที่สำคัญคือการตกอยู่ในวงจรความยากจนข้ามชั่วคน” ดร.ประสารกล่าวย้ำ
หลายคนอาจจะพยักหน้าเห็นด้วยว่าปัญหาเรื่องความยากจนเป็นหนึ่งในรากปัญหาที่ทำให้การศึกษาของเด็กๆ ต้องหยุดชะงักลง เราเลยขอพาไปดูแฟกต์ที่ตีแผ่ 5 เรื่องจริงของเด็กยากจนด้อยโอกาสที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบที่ ดร.ประสารเกริ่นไว้ ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่สกัดขาไม่ให้เด็กทุนน้อยได้เรียนต่อ
1. ครอบครัวของนักเรียนยากจนมีรายได้ 15 บาทต่อวัน
จากการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ครอบครัวของนักเรียนยากจนด้อยโอกาสมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด 462 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 15 บาทต่อวัน นั่นหมายความว่าครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้จะมีรายได้เพียงห้าพันกว่าบาทต่อปีเท่านั้น ส่วนรายได้เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 2,093 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 69 บาทต่อวัน
หากนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคำนวณค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียน ก็แทบจะไม่พอใช้ในแต่ละวันด้วยซ้ำ หลายๆ ครั้งเด็กนักเรียนในกลุ่มยากจนจึงต้องลาเรียนบ่อยๆ หรือพักการเรียนไปเลย เพราะต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงานเพื่อให้พอค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพวันต่อวัน
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังทำให้คนยากจนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากกว่าครอบครัวที่ร่ำรวยถึง 4 เท่า เพราะครอบครัวของเด็กยากจนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงมากเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีฐานะดี
กลายเป็นว่าการศึกษาทิ้งคนจน (เป็นล้านคน) ไว้ข้างหลังโดยการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล และความยากจนนี่แหละที่เป็นเหมือนปมปัญหาแรกที่ทำให้ปมอื่นๆ ในข้อต่อไปผูกทบกันแน่นขึ้นจนยากจะคลี่คลาย
2. 44.5% ของเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้กินข้าวเช้า
นอกจากการขาดเรียนนานๆ นักเรียนที่ยากจนเป็นพิเศษยังมีภาวะทุพโภชนาการหรือผอมต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานร่วมด้วย ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คุณครูทั้งหมด 1,337 คน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่า มีเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลราว 44.5 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้กินอาหารเช้า เพราะมีสาเหตุมาจากฐานะยากจน โดยในช่วงเช้าเด็กต้องช่วยพ่อแม่ทำงานก่อนมาเรียน ไม่ว่าจะเป็นงานเกษตรกรรมและค้าขาย ทำให้เด็กไม่มีเวลากินอาหารเช้าก่อนเข้าเรียน ประกอบกับโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารหลายโรงไม่มีงบประมาณเพียงพอจะจัดสรรข้าวเช้าให้นักเรียนได้ ซึ่งปัญหานี้คุณครูเกินครึ่งจากการสำรวจมองว่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนแน่นอน
นอกจากนี้ข้อมูลจากนักโภชนาการยังระบุตรงกันว่า การที่เด็กไม่ได้รับประทานอาหารเช้าจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะสมองที่จะได้รับผลกระทบไวที่สุด เด็กจะเซื่องซึม ไม่มีเรี่ยวแรง เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง คิดแก้ปัญหาเกี่ยวกับบทเรียนได้ไม่คล่อง ส่วนเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการตั้งแต่อายุน้อยจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์และเจ็บป่วยง่าย
3. เด็กในพื้นที่ทุรกันดารต้องเดินเท้ากว่า 20 กิโลเมตรเพื่อไปโรงเรียน
ข้อมูลจากชมรมนักจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ภูเขาสูงและถิ่นทุรกันดารพบว่า มีโรงเรียนในพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารซึ่งเป็นโซนที่ราบสูงและบนภูเขาทั้งหมด 1,190 แห่ง และมีโรงเรียนบนเกาะ 124 แห่ง ซึ่งเด็กนักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนทุรกันดารเหล่านี้มีความเสี่ยงจะหยุดเรียนกลางคันมากกว่าเด็กในเมืองหลายเท่า เพราะเด็กบางคนต้องเดินเท้าไป-กลับโรงเรียนกว่า 20 กิโลเมตร บ้างก็ต้องเดินทางข้ามภูเขา ข้ามห้วย ข้ามแม่น้ำ เพื่อไปเข้าเรียนให้ทันในแต่ละวัน
ความยากลำบากขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ซึ่งมีบริบทแตกต่างกัน เช่น ในช่วงหน้าฝน เด็กนักเรียนหลายคนต้องหยุดเรียนไปโดยปริยาย เพราะสู้ลมพายุไม่ไหว และเดินทางลำบากเกินกว่าจะเดินลุยน้ำท่วมเสี่ยงให้น้ำป่าซัด ซึ่งสามารถลุกลามไปเป็นอุบัติเหตุที่จะส่งผลต่อชีวิตของตัวเด็กด้วย
นานวันเข้าอุปสรรคเรื่องบ้านไกล ไร้ค่าเดินทาง และความทรหดของเส้นทางไปโรงเรียนก็ค่อยๆ บั่นทอนกำลังใจ ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยขอยอมแพ้ ต้องหยุดเรียน หรือต้องออกจากระบบไป เพราะเด็กเลือกเส้นทางรับจ้างหาเลี้ยงชีพ หรือทำไร่ทำสวนช่วยพ่อแม่แทนที่จะกลับมาเรียนหนังสือซึ่งต้องเดินทางไกลมาก
4. เด็กนักเรียนราว 200,000 คนกำพร้าและหลุดออกจากระบบการศึกษา
หลายคนอาจจะมองว่าปัญหาเด็กกำพร้าดูไม่น่าเกี่ยวกับความยากจนและปัญหาการศึกษาได้ตรงไหน แต่รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยมีนักเรียนยากจนด้อยโอกาสที่กำพร้า ไม่มีพ่อหรือแม่ หรือไม่มีทั้งพ่อและแม่อยู่ที่ราว 200,000 คน
แม้ปัญหานี้จะไม่ได้กระทบต่อการศึกษาของเด็กโดยตรง แต่ก็สร้างความกดดันไม่น้อย เพราะการไม่มีพ่อแม่อยู่ดูแลจะทําให้เด็กรู้สึกขาดความรักความอบอุ่นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะเมื่อเด็กมีปัญหา เขาจะไม่มีที่พึ่ง ยิ่งพ่อหรือแม่ที่รับภาระเลี้ยงดูบุตรเพียงคนเดียว หรือปล่อยเด็กให้เป็นภาระแก่ปู่ย่าตายายที่แก่เฒ่า ยิ่งซ้ำเติมให้รู้สึกว่าชีวิตขาดความรักความอบอุ่น ท้ายที่สุดเด็กหลายคนก็ต้องระหกระเหินเร่ร่อน และหลุดออกนอกระบบการศึกษาในที่สุด เนื่องด้วยปัญหาความไม่มั่นคงทางจิตใจจากการกำพร้าพ่อแม่
5. สภาพบ้านที่ทรุดโทรมก็มีผลต่อการศึกษา
จากการสำรวจของคุณครูในเครือข่ายของ กสศ. พบว่าบ้านของนักเรียนยากจนบางหลังจะเรียกว่าบ้านก็พูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะเป็นเพียงเพิงผ้าใบหรือป้ายไวนิลโฆษณาเก่าๆ ขึงกันแดดกันฝนชั่วคราว เวลาฝนตกหนักทีก็ไม่สามารถช่วยคุ้มกันคนในครอบครัวได้ หรือบางหลังไม่มีแม้แต่ฝาผนัง หลังคาก็มุงด้วยหญ้าคาเก่าๆ เท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นสภาพบ้านที่ไร้ความปลอดภัยและแทบจะให้ความอบอุ่นใจไม่ได้
บางหลังยิ่งแล้วใหญ่ตรงที่ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้าใช้ หากเด็กๆ จะทำการบ้านก็ต้องจุดเทียน จุดตะเกียง บางครั้งก็ต้องอาศัยแสงไฟจากท้องถนนหรือขออาศัยไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน ทำให้เด็กหลายคนกังวลใจ นอนหลับก็ไม่เต็มอิ่ม ไม่มีสมาธิในการเรียนหนังสือ เพราะบ้านมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อาศัยอย่างแยกกันไม่ออก เมื่อบ้านซึ่งเป็นเหมือนที่พักพิงของชีวิตไม่สามารถมอบความอบอุ่นปลอดภัย และความสะดวกในการเรียนหนังสือได้ เด็กจึงรู้สึกท้อแท้ ไม่มีกำลังใจทบทวนบทเรียน และเสี่ยงหลุดออกจากระบบ เพราะบ้านไม่สามารถมอบความปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจได้
โอกาสทางการศึกษา คือโอกาสพัฒนาประเทศ
จากสถิติจะเห็นว่าปมปัญหาแรกที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาล้วนตั้งต้นมาจากความยากจนทั้งสิ้นที่ทำให้เยาวชนเสียโอกาส ถูกมองข้าม และไม่ได้แรงสนับสนุนในเรื่องการศึกษาต่อ เพราะถูกมองว่าเป็นพลเมืองตกชั้น ไม่มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศ แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วการมอบโอกาสทางการศึกษาให้เด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะช่วยสร้างผลกระทบทางบวกให้แก่การพัฒนาประเทศโดยรวม
อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก Dr.Nicholas Burnett เคยประเมินว่าปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยมากกว่าปีละ 1-3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP หากมองในมิตินี้ การลดความเสี่ยงเด็กออกกลางคัน พร้อมๆ กับรักษาเด็กไว้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงไม่เพียงช่วยสร้างโอกาสในอนาคตของเด็กไทย แต่ยังสร้างผลกระทบทางบวกในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในภาพรวมได้ในระยะยาว
หรืออย่างนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีนี้อย่างศาสตราจารย์ Abhijit Banerjee และ Esther Duflo ที่คว้ารางวัลจากการสรุปบทเรียนจากการศึกษาเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจจากหลายประเทศทั่วโลกมาตลอดหลายทศวรรษ ก็ได้ย้ำชัดว่าแนวทางที่ดีที่สุด (the best bet) ในการพัฒนาประเทศ อาจไม่ใช่การมุ่งอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ แต่คือการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผ่านการลงทุนในการศึกษาและระบบสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปสู่การขจัดความยากจนหิวโหย เพิ่มขีดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
เพราะการศึกษาคือโอกาสที่เปลี่ยนชีวิตคนเราได้ ในช่วงเทศกาลแห่งการให้และก้าวสู่ปีใหม่เช่นนี้ กสศ.ขอเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศร่วมทำบุญครั้งสำคัญกับ กสศ.ในโครงการ “ล้านพลังคนไทยมอบโอกาสทางการศึกษาเป็นของขวัญ” เพื่อเด็กๆ ที่มีความฝันและมีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมได้มีอนาคตดีขึ้นและไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะสังคมไทยจะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 079 5475, E-mail: [email protected] และเฟซบุ๊กเพจ EEFthailand