พระโขนง-บางนา 2040 โปรเจกต์ใหม่ของ UddC เปลี่ยนย่านชายขอบให้น่าอยู่สำหรับทุกคน

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่อยู่นิ่ง เปลี่ยนไปตลอดเวลา ย่านที่เคยเจริญรุ่งเรือง ซบเซาเมื่อเวลาเปลี่ยนผ่าน ย่านที่เคยเงียบสงบ กลับคึกคักอย่างคาดไม่ถึง

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดขึ้นที่พระโขนงและบางนาเช่นกัน ย่านนี้เคยเป็นศูนย์รวมความบันเทิงที่ทันสมัยและมีชื่อเสียงมากที่สุด มีทั้งศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โรงละครโอเปร่า และอีกมากมาย 

เมื่อเวลาผ่านไป ความเจริญกระจายอยู่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ ผู้คนจึงเลือกที่จะออกไปอาศัยในพื้นที่ต่างๆ ที่สะดวกและตอบโจทย์การใช้ชีวิต ทำให้ย่านพระโขนง-บางนาถูกลดทอนความสำคัญลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นพื้นที่ชายขอบกรุงเทพฯ ที่เงียบเหงา นอกจากนี้ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจย่านนี้ซบเซาและร่วงโรยไปตามกาลเวลา

ฟ้าหลังฝนย่อมจะมีสิ่งดีๆ ใหม่ๆ เข้ามาเสมอ ปัจจุบันอะไรหลายอย่างก็เริ่มดีขึ้น สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ย่านพระโขนง-บางนาเริ่มกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในแง่ของการเป็นย่านที่มีศักยภาพ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ถ้าพัฒนาถูกจุด ย่านนี้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาเมืองในอนาคตอย่างแน่นอน

เรามีโอกาสได้คุยกับ ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) อีกครั้ง เดือนนี้ทีมงานมีโครงการใหม่ที่เน้นพัฒนาอนาคตของย่านพระโขนง-บางนา ซึ่งเป็นโครงการศึกษาและออกแบบอย่างมีส่วนร่วม โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ร่วมกับ สตูดิโอการฟื้นฟูย่าน ภาคผังเมือง จุฬาฯ ซึ่งโครงการนี้ยังสอดคล้องกับ ‘นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี’ ของ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่อีกด้วย

นอกจากนี้เรายังสรุปเนื้อหาจากการนำเสนอสาธารณะ “ย่านพระโขนง-บางนา 2040: อนาคต ความฝัน ย่านของเรา” โดย UddC และภาคีเครือข่าย ทั้ง WE! PARK, PNUR, Local Dialects, User-Friendly, BUILK ONE GROUP  ในวันที่ 8 มิ.ย.65 ที่ BITEC เพื่อให้เห็นอนาคตชัดขึ้นว่าย่านนี้ควรเติบโตในทิศทางไหนจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ทำไมต้องเป็นพระโขนง-บางนา

แน่นอนว่าย่านที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของย่านชุมชนชานเมืองที่เรียบง่าย เมื่อผสานรวมกับความเจริญที่มีแหล่งความสะดวกสบายมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ย่านพระโขนง-บางนา กลายเป็นอีกหนึ่งทำเลที่น่าจับตามองอย่างมาก

นี่เป็นพื้นที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ แหล่งงาน และที่อยู่อาศัย เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่แห่งโอกาส กำลังมีการเติบโตและมีความหลากหลาย แต่ก็ยังมีช่องโหว่และปัญหาอีกมากมายที่เป็นเหมือนโอกาสในการพัฒนาต่อยอด จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ย่านพระโขนง-บางนา กลายเป็นตัวเลือกเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาย่านอื่นในอนาคต

ย่านศักยภาพสูง แต่ยังไม่น่าอยู่

ความจริงพระโขนง-บางนากลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหลังรถไฟฟ้ามาถึง ฟังดูเหมือนจะดีแต่ความจริงแล้วแม้จะมีสถานีผ่านเยอะแค่ไหน แต่ระบบขนส่งสาธารณะก็ยังมีอย่างจำกัดและไม่ทั่วถึงอยู่ดี อีกทั้งยังมีซอยลึกซอยตันอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้สัดส่วนที่คนจะสามารถเดินได้ก็น้อยมาก ทางเท้าที่มีอยู่ก็เป็นทางเท้าที่เดินไม่ได้ ถึงเดินได้ก็ยังไม่สะดวกและไม่น่าเดิน เรียกได้ว่า ‘เข้าถึงง่ายแต่ไปต่อยาก’

ในขณะเดียวกันเมื่อคนไม่สามารถเดินเข้าถึงที่ต่างๆ ได้ทำให้จำเป็นต้องใช้รถ ถึงแม้ระบบสัญจรไม่ทั่วถึงแต่รถติดแบบทั่วถึงทีเดียว ยิ่งคนใช้รถมากเท่าไหร่ ก็ต้องเจอกับสภาพรถติดมากเท่านั้น ทำให้เกิดฝุ่นควัน ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจตามมา

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ย่อมเกิดความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พื้นที่สาธารณะจึงเป็นสถานที่ที่หลายคนโหยหา แต่ก็อดไม่ได้ที่ต้องยอมรับว่า แท้จริงแล้วกรุงเทพฯ ของเราขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจแทบไม่มี แม้ในย่านนี้จะได้ชื่อว่าเป็นย่านที่น่าจับตามองสำหรับที่อยู่อาศัย จำนวนผู้อยู่อาศัยหน้าใหม่ๆ ก็เพิ่มจำนวนเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่จำนวนพื้นที่สีเขียวสาธารณะกลับไม่ได้สูงตาม 

นอกจากนี้การบริการสาธารณสุขที่ยังขาดแคลน ปัญหาน้ำท่วมอันเป็นปัญหาหลักๆ ของย่าน อีกทั้งคลองยาวหลายสิบกิโลเมตรที่ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทำให้ไม่สามารถใช้ทำกิจกรรมต่างๆได้เลย ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้โอกาสกระจายความมั่งคั่งจากการลงทุนของรัฐบาลหรือเอกชนจึงเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งหมดนี้เองจึงทำให้ย่านพระโขนง-บางนา ‘ยังไม่น่าอยู่’ สำหรับทุกคน

จินตนาการใหม่ วิถีชีวิตใหม่ ‘OUR FUTURES

ย่านนี้จะถูกพัฒนาและออกแบบอย่างมีส่วนร่วมผ่านความคิดเห็นจากทุกคนแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหน่วยงาน คนดั้งเดิมในย่าน รวมไปถึงคนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต โดยใช้วิธีการลงพื้นที่ เวิร์กช็อปพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถเข้าร่วมได้ เพื่อพัฒนาย่านให้น่าอยู่และตอบโจทย์สำหรับทุกคนจริงๆ  

ระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ในที่สุดก็ได้กลายเป็นแผนพัฒนาย่านและโมเดลผ่านแนวคิดหลัก 11 ด้าน ซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาพื้นที่ (Hardware) และด้านกลไกการบริหารจัดการ (Software) นอกจากนี้ทางโครงการยังเปรียบเทียบภาพอนาคตในย่านบางนา-พระโขนงให้เราเห็นได้ชัดเจนอีกด้วย

ภาพที่ 1 : ภาพอนาคตฐาน ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ ผู้คนผ่านมาต่างคนต่างทำงาน วุ่นวายในเรื่องของตน ผ่านไป ไม่ได้พบ ไม่ได้เจอ จะมีความรักยังยาก

ภาพที่ 2 : ภาพอนาคตฐานทางเลือก ‘The Wolf of Wall Street’  ถนนกลายเป็นแหล่งรวมของสถาบันทางเศรษฐกิจสำคัญ ดูมีชีวิตชีวา แต่ตัดขาดกับโลกภายนอก และทำให้ทุกคนมีโอกาสกลายเป็นเหยื่อทางเศรษฐกิจ แม้แต่ตัวเอง

ภาพที่ 3 : ภาพอนาคตที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ‘Die Hard 4.0’ มีเทคโนโลยีให้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการบริหารเมือง แต่ไม่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่เกิดประโยชน์สาธารณะ จนทำให้ย่านทั้งย่านอยู่ในสภาพไม่ตาย แต่เลี้ยงไม่โต 

ภาพที่ 4 : ภาพอนาคตที่พึงปรารถนา ‘Downtown Cha Cha Cha’ พื้นที่ Feeling Good ที่คนในทำงานร่วมกับคนนอก ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ และสมดุลทรัพยากรในพื้นที่ กับองค์ความรู้จากภายนอก ผ่านกระบวนการทางสังคม

Uddc และเครือข่ายนักออกแบบ เสนอยุทธศาสตร์ในการพัฒนา โดยเริ่มจากการเสนอ พระโขนง-บางนา โมเดล การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐท้องถิ่น ภาครัฐส่วนกลาง ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 แกนฝั่งเหนือและใต้ ได้แก่ ถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินทร์ พื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา 4 แกนฝั่งตะวันออกและตะวันตก ได้แก่ เส้นทางสีเขียวเชื่อมบางกระเจ้า-หนองบอน คลองบางนา คลองพระโขนง ถนนบางนา-ตราด

ในแง่ระยะเวลา จะแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็นสั้น กลาง และยาว ได้แก่

ยุทธศาสตร์ระยะสั้น

  • ฟื้นฟูแกนสุขุมวิท
  • พัฒนาพื้นที่ยุทธศาสตร์ภายในซอย
  • สร้างการเชื่อมต่อด้วยโครงข่ายทางเดินเท้าที่มีคุณภาพ

ยุทธศาสตร์ระยะกลาง

เพิ่มความหนาแน่นอย่างมีคุณภาพบริเวณถนนศรีนครินทร์

ยุทธศาสตร์ระยะยาว

พัฒนาพื้นที่ริมน้ำ

ในการนำเสนอยังมีการพูดถึงรายละเอียดด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น กลุ่ม WE!PARK พูดถึงแนวคิดเรื่องการสร้าง Pocket Park ที่ประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่และเชื่อว่าสามารถนำมาปรับใช้ในย่านนี้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้กลุ่ม LOCAL DIALECTS, USERS FRIENDLY และ DEEPHEAD ยังมาเล่ายุทธศาสตร์การสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อย่านและชุมชน ที่ลงลึกในรายละเอียดจนเห็นภาพตามอีกด้วย

แผนพัฒนาคือเข็มทิศในการพัฒนาเมือง

เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ งานพัฒนาเมืองของบ้านเรามีระบบที่ค่อนข้างซับซ้อน เวลาจะสร้างหรือพัฒนาอะไรจะใช้เวลานานจนคนเมืองรู้สึกเบื่อหย่าน อ่อนล้า และชินชา

เมื่อมีบทความหรือเนื้อหาด้านพัฒนาเมือง มีภาพอนาคตที่สวยงาม เราจึงมักตั้งคำถามก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ จะช้าเหมือนโครงการอื่นๆ ก่อนหน้านี้มั้ย?

ในความเป็นจริง โครงการพัฒนาอนาคตของย่านพระโขนง-บางนาคือการวางแผนในระยะยาว การสร้างเมืองนั้นมักต้องใช้เวลา ไม่เหมือนเล่นเกม ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันทีเพราะมีคนและองค์กรที่เกี่ยวข้องเยอะมาก การจะทำอะไรสักอย่างจึงควรเริ่มจากแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง แม่นยำ ประหนึ่งเป็นเหมือนเข็มทิศที่จะพาเราเดินทางไปสู่เมืองที่ดีได้จริง แผนที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดการมีส่วนร่วมจากทุกคน นี่คือหัวใจของโครงการพัฒนาย่านที่ UddC และเครือข่ายนักออกแบบต้องการเล่าให้สังคมฟัง

สำหรับเรา โครงการพัฒนาอนาคตของย่านพระโขนง-บางนา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่ยนแปลงเมือง ที่ผ่านมากรุงเทพฯ มีศักยภาพเยอะและความฝันมากมาย แต่ไม่สามารถทำได้หรือทำได้ยากมากเพราะขาดความร่วมมือของภาคสังคม ภาครัฐ และเอกชน บางคนอาจมองว่าเป็นแค่พื้นที่พื้นที่หนึ่งซึ่งไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นโอกาสพัฒนาและมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงย่านตัวเองในแบบที่อยากให้เป็นได้

เราเชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเสมอ ชวนทุกคนร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนาไปด้วยกันได้ที่ https://web.facebook.com/SS2040CollectiveDistrict

AUTHOR