‘นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ’ คืออะไร ทำไมประเทศไทยต้องเร่งเดินเครื่องสร้างให้เกิดขึ้น ร่วมค้นคำตอบกับ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา

‘นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ’ คืออะไร ทำไมประเทศไทยต้องเร่งเดินเครื่องสร้างให้เกิดขึ้น ร่วมค้นคำตอบกับ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา

Highlights

  • หากพูดถึงคำว่า “นวัตกรรม” หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ไอที หรือโลกดิจิทัล เพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วยังหมายถึงแนวคิดหรือกระบวนการใหม่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหา
  • รู้หรือไม่ว่าในมุมของสุขภาพเองก็ได้มีการสร้าง “นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม ครอบคลุมไปถึงสุขภาวะองค์รวม
  • เมื่อถามว่า “นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” แท้จริงแล้วมีนิยามอย่างไร และมีความจำเป็นแค่ไหนต่อสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ทำไมเราต้องรีบเร่งเดินเครื่องสร้างให้เกิดขึ้น ผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคือ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. หน่วยงานซึ่งมีบทบาทสำคัญในการมุ่งสร้างให้เกิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพให้กับประเทศไทยของเรา

ทุกวันนี้โลกเราเต็มไปด้วยความก้าวหน้าใหม่ๆ

แต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป นำพาเราเผชิญหน้ากับปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ และสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม มีปัญหาใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสังคมมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องหาทางรับมือปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน

นี่ที่มาทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งส่งเสริม สนับสนุน จัดประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ติดต่อกันถึง 5 ปี เริ่มจากโครงการ ThaiHealth Inno Awards สู่การยกระดับเป็นรางวัลระดับชาติ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation ปูเส้นทางผลิตนวัตกร สร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับแวดวงสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย

นิยามของ ’นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ’ แท้จริงแล้วหมายถึงอะไร สำคัญอย่างไร การประกวดดังกล่าวได้สร้างนวัตกรรมดีๆ อะไรให้เกิดขึ้นบ้าง รวมถึงตัวคุณเองสามารถที่จะเป็นนวัตกรได้ไหม ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. มีคำตอบ

ทำไม สสส. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสุขภาวะจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม

ตั้งแต่ตอนก่อตั้งได้เมื่อ 21 ปีก่อน ไม่ว่าจะด้วยแนวคิด รูปแบบ ตลอดจนการดำเนินงานบริหารงบประมาณที่ได้รับมา ฯลฯ ต้องบอกว่า สสส. เป็นนวัตกรรมมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้วครับ เราเป็นองค์กรในประเทศไทยเพียงไม่กี่แห่งที่มีรูปแบบการทำงานในลักษณะนี้ ทำงานเพื่อการสร้างเสริมด้านสุขภาวะ (Health Promotion) จริงๆ แล้วก็เป็นเหมือนองค์กรที่สนับสนุนให้ภาคีทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ฉะนั้นการออกแบบจัดตั้งองค์กรของ สสส. เราจึงเป็นนวัตกรรมกันมาตั้งแต่ต้นเลยนะครับ 

สมัยก่อนมุมมองด้านสุขภาพของสังคมไทยส่วนใหญ่ จะมองสุขภาพเป็นเรื่องต้องซ่อม คือเมื่อเจ็บป่วยแล้ว หรือมีการบาดเจ็บ เป็นโรคต่างๆ แล้วจึงค่อยหาทางแก้ ฉะนั้นพอเราพูดถึงการสร้างเสริมสุขภาพคือหาทางป้องกันตั้งแต่การเจ็บป่วยยังไม่เกิดมันจึงเป็นแนวคิดใหม่มากๆ ตอนนั้น ในแง่นี้การเกิดขึ้นและการทำงานของ สสส. จึงเป็นนวัตกรรมด้วยเหมือนกัน 

ทำไมการสร้างเสริมสุขภาวะจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ปัญหาสุขภาพของคนไทยเป็นสิ่งที่แก้ได้ยากนะครับ แล้วตัวปัญหาเองก็มีการพัฒนาไปตามแต่ละยุคสมัยด้วย คนไทยเราส่วนมากเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากสาเหตุหลักๆ โดยโรคไม่ติดเชื้อ หรือที่เรียกว่า โรค NCDs (Non-Communicable Diseases) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของตนเอง เช่น การกินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย การกินอาหารหวานมันเค็ม รวมถึงมลพิษสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วยล้มตายกันด้วยโรค NCDs ปีหนึ่งถึงเกือบ 400,000 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เยอะมากนะครับ และโรคเหล่านี้จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดขึ้นแค่วันนี้พรุ่งนี้ แต่มันเกิดจากพฤติกรรมที่สะสมมาทั้งชีวิตทำให้เราป่วย แต่การจะทำให้คนเปลี่ยนนิสัยไม่ง่าย ฉะนั้นเราก็เลยมองปัญหาข้อนี้เหมือนภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งการจะแก้ไขได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ด้าน ซึ่ง สสส. เราเรียกกันว่า ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ หรือ ‘ไตรพลัง’ ได้แก่ พลังความรู้  (Knowledge) เพราะการจะแก้ปัญหาอะไรได้นั้นเราต้องรู้เกี่ยวกับปัญหานั้นให้ถ่องแท้ก่อน จึงจะหาวิธีแก้ไขได้ เช่น ทำการวิจัยว่าถ้าเราจะป้องกันโรค NCDs หรือป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างไร พฤติกรรมคนที่ทำให้เกิดโรคนั้นๆ มีอะไรบ้าง แล้วจะมีวิธีในการปรับพฤติกรรมแก้ไขที่ตรงไหนอย่างไร ดังนั้น สสส. จึงมักจะทำงานวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ค่อนข้างเยอะ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ออกมา 

ไตรพลังอีกสองอย่างที่เป็นหลักการทำงานของ สสส. คืออะไร

อย่างที่ 2 คือพลังสังคม (Social Mobilize) ทุกภาคส่วนของสังคม ตั้งแต่ บุคคล ชุมชน องค์กร ล้วนมีส่วนร่วมในการขยายผล ทำให้เกิดค่านิยม การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม สร้างการรับรู้ การจดจำของสังคมในประเด็นสุขภาพต่างๆ

นอกจากนี้เรายังมีกลุ่มคนที่ทำงานเป็นภาคีขับเคลื่อนอีกเยอะ เช่น NGO ประชาสังคม มูลนิธิต่างๆ ที่นำเอาองค์ความรู้จากเราไปขับเคลื่อนให้เกิดการรณรงค์ลดละเลิกบุหรี่ มาตรการสงกรานต์ปลอดเหล้า ปีใหม่ปลอดเหล้า อุบัติเหตุ กิจกรรมทางกาย อาหาร ครอบคลุมประเด็นคนพิการ ผู้สูงอายุ ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเรามีภาคีเครือข่ายที่เป็นพลังสังคมแบบนี้อยู่เยอะมากครับ 

ส่วนอีกพลังหนึ่งที่สำคัญมากคือ พลังนโยบาย เช่น การขับเคลื่อนผลักดันออกกฎหมาย นโยบายสาธารณะหรือกติกาภายในองค์กรตลอดจนสังคมว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างจำเป็นต้องมีกติการ่วม ไม่อย่างนั้นคนนึกจะสูบบุหรี่ที่ไหนก็สูบ หรือคนจะเมาแล้วก็ยังขับรถได้ใช่ไหมครับ จึงต้องมีกฎหมาย หรือกติกาที่ทำให้คนเราอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ละเมิดกระทบสิทธิและสุขภาพของคนอื่น

ทั้งหมดที่เล่ามาเกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมของ สสส. อย่างไร

เราทำงานผ่านไตรพลังพวกนี้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 21 ปี แต่ก็ต้องบอกว่าด้วยรูปแบบการทำงานที่ผ่านมากับปัญหาสุขภาพในแต่ละช่วงเวลาก็มีวิวัฒนาการของมัน คือหมายความว่ามีความซับซ้อนไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ปัญหาสุขภาพของคนแต่ละ generation ก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นลำพัง สสส. กับภาคีที่ทำงานด้วยกันจึงไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เราจึงจำเป็นต้องดึงคนที่มีความพร้อม มีไอเดียดีๆ โซลูชั่นใหม่ๆ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราให้ความสำคัญกับ ‘นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ’ มาก

คนทั่วไปอาจจะนึกถึงนวัตกรรมกันในแง่ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่จริงๆ แล้ว ‘นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ’ ตามนิยามของ สสส. หมายถึงอะไร 

‘นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ’ เป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งเราพบว่าปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องนิยาม ซึ่งบางทีคนก็มองไม่เหมือนกัน บางคนพอพูดถึงนวัตกรรมก็จะมองเฉพาะในมุมที่ตัวเองทำงานอยู่ เช่น เป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยอะไรบางอย่าง เป็นพวกอุปกรณ์ทางไอที ฯลฯ แต่ถ้าเราจะตีความกันจริงๆ ก็อยากให้ลงลึก ซึ่งโดยแก่นหลักแล้วมันก็คือเรื่องความใหม่ ช่วงแรกๆ ที่เราพยายามนิยามกลางขึ้นมา เราเอางานของ สสส. ทุกประเภทเลยที่ทำอยู่มาย้อนดูแล้วก็พบว่ามีหลากหลายมาก เรามีงานตั้งแต่นวัตกรรมเชิงประเด็น ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่ อาหาร กิจกรรมทางกาย สุขภาพจิต ซึ่งแต่ละประเด็นก็จะมีนวัตกรรมของตัวเองอีก เช่น นวัตกรรมลดบุหรี่ นวัตกรรมลดเหล้า นวัตกรรมเพื่อสุขภาพจิตอะไรอย่างนี้ นอกจากนี้ สสส. ก็ยังทำงานเชิงชุมชน เชิงองค์กรเยอะ อย่างเราเข้าไปทำงานในหมู่บ้าน อำเภอ ซึ่งก็อาจไม่ได้มีชิ้นงานที่เป็นนวัตกรรมที่จับต้องได้ แต่นวัตกรรมพวกนี้มันอาจปรากฏขึ้นในรูปแบบกระบวนการทำงานของชาวบ้าน เช่น สมมติว่ามีผู้สูงอายุติดบ้านไม่ออกกำลังกาย เขาก็จะมีนวัตกรรมว่าทำอย่างไรให้คนมารวมกัน แล้วลุกขึ้นมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เอาเด็กไปชวนผู้สูงอายุมาเต้นออกกำลังกาย เป็นต้น หรืออย่างงานบุญปลอดเหล้าก็ถือเป็นนวัตกรรมในชุมชนอย่างหนึ่ง หรือโรงเรียนต่างๆ เอานักเรียนมาช่วยกันกำจัดขยะ ทำให้ไม่ต้องนำไปเผาไหม้จนกลายเป็นฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น 

กระบวนการใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในชุมชนแบบนี้ก็ถือเป็นนวัตกรรมสำหรับเราเช่นกัน เพราะฉะนั้นกล่าวโดยสรุปนิยามของนวัตกรรมของ สสส. คือ 1) ผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ หรือไม่ก็เป็น 2) กระบวนการ แนวคิด กิจกรรม ทั้งนี้เวลาจะพิจารณาว่าอะไรเป็นนวัตกรรม เราจะดูแค่ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือกระบวนการอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูองค์ประกอบสามัญอีก 3 อย่างประกอบด้วย หนึ่งคือมีความใหม่ สองคือสร้างคุณค่าที่มีประโยชน์ (Value) สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพให้ใครก็ตามได้ สามคือช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนหรือไม่ ถ้ามีครบทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพครับ

นี่จึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การประกวด Prime Minister’s Awards for Health Promotion Innovation ใช่หรือเปล่า 

ครับ ถามว่าทำไมเราถึงต้องมีการประกวดนวัตกรรม คำตอบมีอยู่ด้วยกันสองอย่างครับ อย่างแรกคือมันเป็น Demand หรือความต้องการของคนที่อยากจะแก้ไขปัญหานั้นๆ ครับ เช่น การที่คนเรายังเลิกเหล้าไม่ได้ เลิกบุหรี่ไม่ได้ หรือยังเมาแล้วขับกันอยู่ ถึงแม้ว่าเราจะมีการรณรงค์หาวิธีแก้กันมาตั้งนานแล้ว แต่ปัญหาเหล่านั้นก็ยังแก้ไม่ได้หมด เราก็ยังคงต้องการโซลูชั่นหรือนวัตกรรมอะไรบางอย่างเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้กันอยู่ รวมถึงเรื่องปัญหาเชิงสุขภาพจิตที่ยากและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีผลมากๆ 

ความเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนในแต่ละยุคสมัยเป็นเหตุให้เราต้องเร่งเดินเครื่องหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เหมาะกับสถานการณ์

ครับ อย่างสมัยก่อนสังคมเราไม่ได้มีโซเชียลมีเดียไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์แบบทุกวันนี้ ซึ่งจริงอยู่ว่าข้อดีมันก็มี แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราพบเจอกับปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การพนันออนไลน์ การขายของผิดกฎหมาย ปัญหาสุขภาพจิตกับความสัมพันธ์ของครอบครัวส่งผลให้คนเป็นโรคซึมเศร้าและโรคจิตเภทกันมากขึ้น ทั้งยังนำไปสู่การฆ่าตัวตาย หรือสมัยก่อนไม่มีสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อชีวิตคนเราและสังคมมากมาย อย่างการ Work From Home ก็ทำให้คนไม่มีกิจกรรมทางกาย เพราะไม่ต้องออกนอกบ้านทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง ฯลฯ คือทุกอย่างมันมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่เราไม่เคยเจอมาก่อน สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้วิธีการหรือการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ มันเริ่มไม่ได้ผลแล้ว จึงบีบให้เราต้องมองหาโซลูชั่นนวัตกรรมใหม่ๆ เสมอนะครับ

นี่ก็เลยเป็นที่มาของการจัดประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ

ครับ ในฐานะที่ สสส. เราเป็นองค์กรที่สร้างนวัตกรรม ซึ่งจากที่ผ่านมาคนอาจจะยังติดภาพเดิมๆ กันอยู่เช่นการทำงานกับ NGO โดยที่ไม่ค่อยได้นึกถึงเราในแง่ของนวัตกรรมสักเท่าไหร่ ดังนั้นเพื่อเป็นการตอกย้ำเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพใหม่ๆ เราเลยริเริ่มโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ชื่อ ‘ThaiHealth Inno Awards’ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักศึกษาอาชีวศึกษาระดับ ปวช. ทั่วประเทศ เสนอผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ส่งเสริมให้คนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ในช่วงการประกวดปีแรกๆ เราโฟกัสเฉพาะเยาวชนกลุ่ม ม.ปลาย และเด็ก ปวช. ก่อน เพราะเขาเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง อย่างกลุ่ม ม.ปลายก็มักจะมีไอเดียล้ำๆ ความคิดสร้างสรรค์สูงมาก ส่วนกลุ่ม ปวช. ก็มักจะคิดผลงานที่นำไปใช้ได้จริง ที่สำคัญคือเยาวชนทั้งสองกลุ่มนี้มีอายุน้อย ยังมีอนาคตและช่วงชีวิตอีกยาวนาน ถ้าเราพัฒนาให้เด็กๆ เป็นนวัตกรกันตั้งแต่เนิ่นๆ ต่อไปพวกเขาก็จะทำหน้าที่แทนเราได้ 

การประกวดนี้มีการต่อขยายความสำเร็จและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เลยไช่ไหม

ครับ จากปีแรกที่จัดประกวดเรามีการตกผลึกและต่อยอดขยายผลโครงการมาเรื่อยๆ จนมาถึงในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ 4 สสส. ได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีให้ใช้ชื่อรางวัล ‘Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2021’ ยกระดับขึ้นเป็นรางวัลเกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี สู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเยาวชน ครู อาจารย์ และสถาบันการศึกษา ที่ร่วมขบวนการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรสร้างเสริมสุขภาพของสังคมไทยอย่างยั่งยืน ผลักดันให้นวัตกรรมต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากการประกวดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เกิดการขยายผลต่อไป ความสำเร็จที่ผ่านมา ได้รับความสนใจและมีสถานศึกษาส่งผลงานนวัตกรรมเข้าประกวดเพิ่มมากขึ้นจากครั้งแรกมี 134 ทีม เพิ่มเป็น 362 ทีมจากผู้เข้าสมัครทั่วประเทศ มีผลงานส่งเข้าประกวด 1,234 ชิ้นเลยทีเดียวครับ 

สำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา 
ทั้งนักจัดการความรู้ นักวิจัย นักคิดเชิงออกแบบ 
ไปจนถึงนักดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา

รบกวนช่วยยกตัวอย่างของนวัตกรรมที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นจากการประกวดที่ผ่านมา และถามว่าสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงไหม 

อย่างผลงานชนะเลิศในการประกวดครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นปีแรก มีผลงานนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ‘เสาหลักจากยางพารา’ ผลงานจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี คว้ารางวัลชนะเลิศระดับ ปวช. คิดค้นนวัตกรรมเสาหลักนำทางจากยางพารา เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน เพราะเสาหลักกิโลทั่วไปมักทำจากปูนซึ่งเวลารถชนทีหนึ่งคนก็บาดเจ็บหนักใช่ไหมครับ แถมราคาของยางพารายังตกต่ำมาก ดังนั้นเขาจึงคิดไอเดียทำเสาหลักจากยางพาราเพื่อช่วยในเรื่องของความปลอดภัย และยังช่วยให้ผู้ผลิตยางพาราขายของได้ จนต่อมาเราได้มีการขยายผลเสาหลักยางพารานี้ไปใช้ในถนนบางสายของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมทางหลวงชนบทขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปลี่ยนเสาหลักนำทางยางพาราทั่วประเทศกว่า 7 แสนต้น เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ ภายในปีงบประมาณ 2565 โดยใช้งบประมาณรวม 1,402.172 ล้านบาท 

และยังมีผลงาน ‘เครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัยเสริมสร้างสุขภาวะของผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้โดยสาร’ จากวิทยาลัยการอาชีพ นวมินทราชูทิศ กรุงเทพฯ โดยเยาวชนทีมนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับอาชีวศึกษา จากการประกวด Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2021 โดย สสส. ได้สนับสนุนการพัฒนาต่อยอผลงานให้สามารถใช้ได้จริงภายใต้โครงการ Innovation Booster ถือเป็นตัวอย่างของนวัตกรที่ยังคงพัฒนาต่อยอดผลงาน เพื่อให้นวัตกรรมเกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นครับ และตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เราดำเนินการประกวดนี้มาก็มีนวัตกรรมดีๆ แบบนี้เกิดขึ้นมากมายเลยครับ 

ทราบมาว่าในการประกวด Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022 ครั้งล่าสุดได้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายและผู้เข้าร่วมประกวดเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มไหน

ใช่แล้วครับ คือนอกจากกลุ่มเยาวชน ม.ปลาย และ ปวช. ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเดิมแล้ว ในปีล่าสุดเรายังได้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายการประกวดเพิ่มขึ้นอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ บุคคลทั่วไป/Startup และภาคีเครือข่ายซึ่งมีทั้งเกษตรกร ชุมชน ชมรม ธุรกิจต่างๆ ที่มองเห็นปัญหาด้านสุขภาพร่วมกัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เปิดกว้างทางความคิดสร้างสรรค์ สานพลังเครือข่ายนวัตกรรุ่นใหม่ สร้างนวัตกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มาตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริมสุขภาพของชุมชน

นวัตกรรมชนะเลิศที่น่าสนใจจากการประกวดปีล่าสุดได้แก่อะไรบ้าง แต่ละอย่างโดดเด่นอย่างไรจึงได้รับรางวัล

อย่างของกลุ่มประกวด ม.ปลาย เป็นผลงานกิจกรรมสร้างความรู้เรื่องบุหรี่โดยนวัตกรรมบอร์ดเกม Just Say No ของน้องๆ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) คือทำให้คนรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ และให้ความรู้ถึงวิธีการลดละเลิกบุหรี่ว่าต้องทำได้อย่างไรผ่านบอร์ดเกม คือมันเกิดจากปัญหาที่เด็กๆ เขาเจอเพื่อนๆ ในโรงเรียนที่ติดบุหรี่ ซึ่งบางคนก็สูบโดยไม่รู้พิษภัย หรืออยากจะเลิกแต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เลยคิดเป็นนวัตกรรมบอร์ดเกมขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งระหว่างที่เด็กๆ เขาเล่นสนุกกับบอร์ดเกมนี้ก็จะได้รู้ถึงพิษภัยและคำแนะนำในการเลิกบุหรี่ ส่วนงานประกวดที่ชนะเลิศในกลุ่ม ปวช. ปีนี้ก็คือผลงาน Wireless Helmet Signal Light อุปกรณ์เสริมหมวกกันน็อกนิรภัยอัจฉริยะ ซึ่งเกิดจาก Pain Point คือเวลากลางคืนคนมักมองไม่ค่อยเห็นผู้ขับมอเตอร์ไซค์เพราะระดับไฟของมันต่ำจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะหากมีรถสิบล้อหรือรถเก๋งที่ขับตาม อุปกรณ์เสริมหมวกกันน็อกนี้ก็เลยจะมีไฟ LED ซึ่งเมื่อเลี้ยวซ้ายมันก็จะกะพริบไฟบอกว่าเลี้ยวซ้าย หรือถ้าจะเลี้ยวขวาก็จะส่งสัญญาณไฟเลี้ยวขวา ช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้ดีมาก

ผลงานบอร์ดเกม Just Say No ชนะเลิศกลุ่ม ม.ปลาย
นวัตกรรมช่วยในการสร้างความตระหนักรู้ภัยและเลิกบุหรี่ 
อุปกรณ์เสริมหมวกกันน็อคนิรภัยอัจฉริยะ 
นวัตกรรมชนะเลิศกลุ่ม ปวช. ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน

แล้วในส่วนของรางวัลชนะเลิศของกลุ่มบุคคลทั่วไป/Startup และภาคีเครือข่ายล่ะ

สำหรับของบุคคลทั่วไป/Startup ทีมนี้เขามีธุรกิจอยู่แล้วผลงานของเขาคือ Green Smooth เป็นนวัตกรรมตู้จำหน่ายน้ำผักผลไม้สดปั่น เกิดจาก Pain Point และโจทย์ประกวดเรื่องการกินผักผลไม้มากขึ้น คือที่ผ่านมาเรามองว่านวัตกรรมที่เป็นอาหารสุขภาพมันก็มีอยู่จริงแต่ส่วนใหญ่ไม่อร่อย และก็ไม่สะดวก แต่สำหรับทีมนี้เขามีฟาร์มออร์แกนิกอยู่ แล้วปรุงสูตรให้มีสีสันและรสชาติอร่อย แถมยังมีหลายสูตร ทั้งยังคิดในเรื่องของระบบโลจิสติกส์มาค่อนข้างดี ว่าจะส่งตรงจากฟาร์มมาปรุงยังไงแล้วส่งเข้าตู้จนมาขายโดยที่ยังคงความสดได้อยู่ แถมยังเข้าถึงผู้คนได้ง่าย ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มภาคีซึ่ง สสส. เราทำงานร่วมด้วยอยู่แล้ว เราคัดมา 5 ทีม โดยไม่ได้มีรางวัล 1 2 3 แต่เราให้รางวัลเชิดชูเกียรติเท่ากันหมดครับ ผลงานของภาคีที่เรามอบรางวัลให้ในปีนี้ส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต อย่างอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ โปรแกรมสอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กสำหรับผู้ปกครองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เน็ตป๊าม้า : Net PAMA) เป็นแพลตฟอร์มเว็บไซต์ที่เป็นทั้งห้องสมุดความรู้ บอร์ดสนทนา และยังมีคอร์สที่ช่วยฝึกให้ผู้ปกครองมีทักษะในการรับมือกับปัญหาพฤติกรรมของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ปกครองมีมุมมองต่อปัญหาพฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มีทักษะในการดูแลเด็กมากขึ้น ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก ช่วยให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมลดลงจากการควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น อย่างนี้เป็นต้นครับ ซึ่งถ้าผู้ปกครองท่านไหนสนใจก็สามารถดูได้ที่ www.netpama.com ครับ

Green Smooth นวัตกรรมตู้จำหน่ายน้ำผักผลไม้ปั่น 
ชนะเลิศในกลุ่มบุคคลทั่วไป/Startup
เน็ตป๊าม้า : Net PAMA
นวัตกรรมโปรแกรมสอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็ก
สำหรับผู้ปกครองผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

หลังจากดำเนินโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพติดต่อกันมาจนถึงปีที่ 5 มีข้อสังเกตอะไรที่น่าพูดถึงบ้าง 

จริงๆ แล้วผมคิดว่าโครงการนี้ช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ สสส. ไปได้เยอะเลยนะครับ เพราะว่าตลอดการประกวด Prime Minister’s Award นี้เราได้สร้างนวัตกรและนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพขึ้นมากมายเลย ยกตัวอย่างทุกๆ ปี เราก็จะได้เด็กที่มีความรู้ความเข้าใจนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพปีละไม่ต่ำกว่า 100 คน สะสมมาเรื่อยๆ ไม่นับรวมครูอาจารย์และสถาบันการศึกษาที่มีการพัฒนาตัวเองเพื่อส่งเด็กเข้าประกวดจนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย 

การประกวดดังกล่าว และการเร่งเดินเครื่องพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพจะส่งผลดีต่อประเทศไทยของเราอย่างไร

การที่เราได้ผลลัพธ์จากการประกวดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาย่อมมีข้อดีอย่างแน่นอนครับ จะเห็นว่าทุกๆ ปีจะเกิดตัวนวัตกรรมขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือกิจกรรม ซึ่งปีหนึ่งก็ประมาณ 20 อย่างจากหลายๆ กลุ่ม ในจำนวนนี้หลายอย่างก็มีการนำไปต่อยอดขยายผลใช้จริงในระดับชุมชน และในระดับประเทศ และในปีหลังๆ เราก็เริ่มหยิบยกเอาโครงการที่ดีมาสนับสนุนต่อยอดด้วยนะ อันนี้คือผลลัพธ์ที่สอง คือตัวนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง ส่วนอย่างที่สาม เราเรียกว่าระบบนิเวศหรือ Ecosystem ซึ่งประกอบด้วยหลายอย่าง เช่น การที่เราได้เจอผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆ ด้าน เรามีแพลตฟอร์มที่จะคุยกับคน ขยายไปเรื่อยๆ เรามีภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วยเยอะขึ้น มีทั้งโรงพยาบาล ภาครัฐ ภาคการศึกษา ฯลฯ กลุ่มพวกนี้เริ่มมองเห็นนวัตกรรมของเราและเอาไปขยายผลปรับใช้มากขึ้น พูดง่ายๆ คือเรามีจำนวน partner ที่ใหญ่และเยอะขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสร้างระบบนิเวศในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและยั่งยืนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นผลดีกับประเทศไทยของเราโดยรวมในการรับมือกับปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ 

อยากจะทิ้งท้ายอย่างไรในเรื่องของนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพกับอนาคตของประเทศไทยเรา 

ผมมองว่าสุขภาพเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องช่วยกันครับ คืออย่างน้อยถ้าเราดูแลสุขภาพของตัวเองได้ ก็ช่วยแบ่งเบาสังคมไปได้เยอะ และบางทีนวัตกรรมมันก็เริ่มต้นจากแค่ตัวเราเองคนเดียวก็ยังได้ มันอาจจะไม่ใหม่สำหรับคนอื่น แต่หากตัวเราเองปรับวิธีคิดหรือใช้เครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาทำให้เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งบางอย่างเราอาจเคยทำไม่ได้ให้ทำสำเร็จ ตัวเราเองก็ถือว่าเป็นนวัตกรแล้ว สรุปง่ายๆ คือทุกคนเองก็สามารถเป็นนวัตกรได้ ขอเพียงลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่าต่อสุขภาพของตัวเองหรือคนอื่น ก็จะสามารถนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้อย่างยั่งยืน ผมว่าอันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ ครับ

AUTHOR