Tool School of Visual art โรงเรียนสอนศิลปะและการออกแบบที่อยากสร้างความหลากหลายและใส่ใจตัวผู้เรียน

Highlights

  • Tool School of Visual art คือโรงเรียนสอนศิลปะและการออกแบบที่ก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มเพื่อน ศิลปิน คิวเรเตอร์ และนักออกแบบ ร่วมกับพาร์ตเนอร์ Kinjai Contemporary
  • ด้วยความที่อยากสร้างความหลากหลายในการเรียนศิลปะ เป้–สหวัฒน์ เทพรพ และ กีต้าร์–ญาดา ฤทธิมัต อดีตนักเรียนศิลปะจึงพยายามรีเสิร์ชและออกแบบวิชาที่เหมาะกับหลายกลุ่มเป้าหมาย ทั้งยังมุ่งหวังให้ที่นี่เป็นคอมมิวนิตี้และพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ในระยะยาว

เมื่อไม่นานนี้ ฉันได้มีโอกาสเรียนศิลปะอย่างเป็นจริงเป็นจังครั้งแรก คอร์สที่ลงเรียนคือ How to say something by some paper ที่สอนทำสิ่งพิมพ์ทำมือหรือที่หลายคนคุ้นชินกันในชื่อซีน (zine)

พูดตรงๆ ว่าตอนแรกไม่มั่นใจในทักษะความสามารถเรื่องศิลปะของตัวเองสักนิด ไม่ว่าจะวาดภาพ เลย์เอาต์ หรือวางคอนเซปต์ ฉันรู้ตัวเองดีว่าไม่ถนัดอะไรสักอย่าง แต่พอได้เจอเพื่อนร่วมคลาสกับ instructor สุดเฟรนด์ลี่ รวมถึงบรรยากาศการเรียนการสอนที่สบายๆ ก็ทำให้ฉันหายเกร็ง

สองวันในการเรียนเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ไม่ว่าจะการลงมือทำซีนด้วยตัวเอง ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในคลาสที่มาจากหลายสาขาอาชีพ รวมถึงได้เรียนรู้หลักการคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์กับสายงานตัวเองต่อได้

ที่นี่คือ Tool School of Visual art โรงเรียนสอนศิลปะและการออกแบบที่ก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มเพื่อน ศิลปิน คิวเรเตอร์ และนักออกแบบ ร่วมกับพาร์ตเนอร์ Kinjai Contemporary โดยมี เป้–สหวัฒน์ เทพรพ เป็นหัวเรือสำคัญร่วมกับ กีต้าร์–ญาดา ฤทธิมัต

หลังจากจบคลาสและได้ซีนเล่มแรกในชีวิตมาแล้ว ฉันก็นัดพูดคุยกับทั้งสองคนทันที

วิชาที่มหาวิทยาลัยไม่เคยสอน

“ความจริงแล้วการทำโรงเรียนเป็นความตั้งใจตั้งแต่สมัยเราเป็นนักศึกษาแล้ว และยิ่งพอจบมาทำงานเรามีสิ่งที่คิดว่าเราควรจะรู้ตั้งแต่ตอนเรียนหลายเรื่อง รู้สึกว่ามีหลายสิ่งในระบบที่ขาดหายไป ซึ่งมันควรรู้ในระดับนักศึกษาจบใหม่โดยเฉพาะสายศิลปะ อย่างการจัดการตัวเองของศิลปินและการเรียนรู้หลายๆ ระบบที่เกี่ยวข้อง” เป้เล่าถึงที่มาในการก่อตั้งโรงเรียนนี้อย่างจริงจัง

“เราทำ Tool School of Visual art ขึ้นมา เพราะอยากดึงซับเจกต์ที่มันควรจะมี และไม่ค่อยมีในตลาดทั่วไปขึ้นมาทำ เลยตั้งเป็นโรงเรียนร่วมกับแฟนที่ทำด้วยกันมาตั้งแต่แรก ตอนนั้นเขายังเรียนหนังสืออยู่ ผมก็ทำของผมไป เก็บข้อมูลเรื่อยๆ”

อันที่จริงทั้งสองคนเคยทดลองเปิดโรงเรียนมาเมื่อช่วงครึ่งปีที่แล้ว ทว่าระบบยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางนัก จึงพับโครงการเก็บไปเพื่อรีเสิร์ชเพิ่มเติม ก่อนเปิดให้บริการอีกครั้ง

“เรารีเสิร์ชจากหลายๆ ส่วนทั้งฝั่งดีไซน์และอาร์ต ด้วยความที่เราจบจิตรกรรมและแฟนจบมัณฑนศิลป์ก็จะมีคอนเนกชั่นจากเพื่อนทั้งสองฝั่ง หาฟีดแบ็กว่าสมัยเรียนเพื่อนมีอะไรขาดตกบกพร่อง อะไรที่ควรจะมีควรจะเป็น เราก็รีเสิร์ชและคัดกรองท็อปปิกว่ามีความน่าสนใจอะไรบ้างที่สามารถนำมาทำเป็นซับเจกต์ได้จริง ก็ทยอยทดลองทำดู”

วิชาที่ Tool School of Visual art เปิดสอนมีทั้งหมด 3 วิชา ได้แก่ Organic Thai color, Nude Experiment และ How to say something by some paper ที่ไม่ว่าใครก็เรียนได้ และช่วงนี้พวกเขากำลังพัฒนาวิชาเพิ่มเติมเพื่อรองรับกลุ่มผู้เรียนอื่นๆ ในอนาคตอย่างวิชา Art Management ที่สอนโดยคิวเรเตอร์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการและวางตัวของศิลปิน วิธีการดีลงานกับแกลเลอรี และข้อควรรู้อย่างเรื่องภาษีกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมถึงวิชา Creative Fundamental for Kids ที่ผู้ปกครองหลายคนเรียกร้องมา เป้และทีมงานต้องรีเสิร์ชกันอย่างหนักเพราะไม่อยากสอนแค่ทักษะวาดรูปและสร้างสมาธิอย่างเดียว เนื่องจากเขามองว่ายังมีเรื่องอื่นที่เด็กสามารถทำได้อีกนอกเหนือจากการวาดรูป

“เราไม่อยากเน้นสกิลเชิง academic อย่างเดียว เพราะมันมีกระบวนการคิดและวิธีการแสดงออกหลายแบบ เราไม่ค่อยเชื่อในระบบการติวเพื่อไปสอบแบบนั้นเท่าไหร่ คนมีความหลากหลาย มหาวิทยาลัยก็มีหลากหลาย ถึงเราจะเรียนคณะและมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องสกิลร้อยเปอร์เซ้นต์ คนเก่งที่ได้รับการยอมรับคือคนมีทักษะเชิงช่างก็จริง แต่เรารู้สึกว่ายังมีมุมอื่นอีก มันมีเด็กที่ทำด้านอื่นได้ดีกว่า เราอยากสร้างความหลากหลายตรงนั้น”

การเรียนที่โฟกัสผู้เรียน

กระบวนการเลือกวิชาการสอนของที่นี่ส่วนใหญ่มาจากความน่าสนใจและการนำไปต่อยอดได้ ยกตัวอย่างวิชาทำซีนที่เป็นความชอบของเป้อยู่แล้ว

“ตอนแรกเราอยากทำหนังสือด้วยซ้ำ แต่มันกินเวลานานหลายสัปดาห์ เราวางคลาสนี้ให้เรียนวันหยุดสี่สัปดาห์ แต่ความอดทนคนไม่ได้มากขนาดนั้น คนชอบจริงๆ ก็มี แต่สำหรับคนที่อยากมาเวิร์กช็อปแบบวันเดียวจบ เขาจะมีความรู้สึกว่ามันควรเสร็จได้แล้ว เราเลยตัดให้เหลือสองสัปดาห์แทน ดังนั้นด้วยความที่เราอยากทำซับเจกต์เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ เลยปรับจากหนังสือให้เป็นซีนที่เริ่มต้นง่ายและอาจเสร็จทันใน process ความจริงเราคิดถึง process ของซีนหลายๆ อย่าง เช่น มีพิมพ์ซิลค์ ที่ตอนนี้ช็อปยังไม่เสร็จ เพื่อให้คนเรียนได้ลองทำกระบวนการพิมพ์หนังสือหลายๆ แบบ”

ส่วนคลาสสีไทยที่กำลังได้รับความนิยมนั้น เป้เลือกหยิบมาจากวิชาที่เคยเรียนสมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งปกติเป็นกระบวนการโบราณที่ศิลปินใช้ในการผลิตสีเพื่องานศิลปะไทยโดยเฉพาะ ทั้งยังใช้สารเคมีน้อยกว่าสีทั่วไป

“มันเป็นกระบวนการที่คนสนใจว่าสีมาจากไหน บางคนคิดว่าเป็นอะคริลิกด้วยซ้ำ ซึ่งวัดสมัยใหม่ในยุคนี้ก็มีที่เขาปรับแก้งานด้วยสีอะคริลิกแล้ว กระบวนการที่ช่างทำสีบดเลยเหลือน้อยมากเพราะเสียเวลา กว่าจะบดสีหนึ่งออกมาได้ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ เป็นแร่ที่ทำยากๆ กวดออกมา รู้สึกว่ากระบวนการน่าสนใจและน่าส่งต่อ ก็คุยกับเพื่อนที่เรียนปริญญาโทด้านศิลปะไทย เพื่อนสนใจเลยมาจอยด้วย ตอนนี้ที่จริงก็มีคนผลิตสีไทยได้แล้ว แต่เราไม่ถึงขั้นผลิตเป็นโปรดักต์ได้ขนาดนั้น แค่อยากเน้นที่ process learning มากกว่าว่าความเป็นมาเป็นยังไง และสามารถต่อยอดทำเองได้ในกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน”

นอกจากวิธีการสอนที่ค่อนข้างเน้นให้ตัวผู้เรียนลงมือทำเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่ฉันชอบของ Tool School of Visual art คือบรรยากาศการเรียนการสอนสบายๆ ต่อให้ไม่มีพื้นฐานการออกแบบแต่ก็เอนจอยกับกระบวนการเรียนได้ทุกขั้นตอน

“เราพยายามคุยกับ instructor ว่าให้สอนกลางๆ ก่อนและลงลึกได้บ้างในบางเรื่อง อย่างเรื่องซีนก็มีหลายๆ ที่ที่สอน ซึ่งวิธีการนำเสนอกับการสอนของที่อื่นก็มีหลากหลายลักษณะ แต่เรารู้สึกว่ากระบวนการสอนที่มี instructor น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการนำสิ่งที่ได้ไปสร้างใหม่ด้วยตัวเอง” ชายหนุ่มอธิบายถึงวิธีการสอนของที่นี่

“สังเกตว่าปัญหาของหลายๆ คนเป็นการไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง ไม่รู้จะเล่าเรื่องอะไรดี การมี instructor สอนมันเหมือนเป็นการลำดับเรื่องราวให้ตั้งแต่ต้น และเวลาที่คนมาเรียนทุกๆ คลาส เราจะจดข้อดีข้อเสียไว้ เพื่อที่คลาสต่อๆ ไปเราจะพัฒนาให้เข้ากับผู้เรียนมากขึ้น” กีตาร์ผู้เป็นหนึ่งในทีมผู้ช่วยในคลาสเรียนของฉันเสริมด้วยรอยยิ้ม

สร้างคอมมิวนิตี้และพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน

หลังจากเปิดโรงเรียนมาได้ประมาณ 4-5 เดือน ทั้งคู่ค่อนข้างพอใจกับฟีดแบ็กในระยะเริ่มต้น แม้ทำเลไม่ได้เดินทางง่ายขนาดนั้น ทว่าทุกคลาสก็มีคนมาเรียนเรื่อยๆ

“รู้สึกว่าอยากเปิดวิชาให้ได้มากกว่านี้ด้วย ตอนนี้เหมือนวิชามันไม่ทันความสนใจของคน แต่คนเรามีกันน้อย เดี๋ยวคงมีการปรับขยับในปีหน้า เพราะตอนทดลองระบบเราก็ดูกันว่าต้องใช้คนจำนวนเท่าไหร่ ตอนนี้มันน้อยเกินไป ทำไม่ทัน เพราะแต่ละวิชาต้องหาข้อมูลเยอะ”

กีตาร์เล่าถึงความตั้งใจในอนาคตที่จะมีการปรับโฉมพื้นที่ใหม่ ซึ่งอาจต้องปิดปรับปรุง 2-3 เดือน เพื่อขยายพื้นที่และแยกโซนของแกลเลอรีกับโรงเรียนให้พร้อมรองรับความสนใจของคนมากขึ้น

และเมื่อฉันถามถึงจุดมุ่งหมายในการเปิดโรงเรียนนี้ เป้ก็ตอบด้วยท่าทีตั้งใจ

“เราอยากให้คนมาเรียนได้สิ่งที่เขาต้องการกลับไป เพราะเราไม่ต้องการให้เรียนหนึ่งครั้งแล้วจบเลย เรามักบอกกับผู้เรียนว่าเขาสามารถกลับมาได้อีก มีอะไรที่ติดขัดหรืออยากจะเข้ามาทำงานนำเสนอโปรเจกต์ก็เข้ามาคุยกันได้ เราอยากให้เขาได้ความเข้าใจจริงๆ กับซับเจกต์นั้น ได้เป้าหมายที่ตัวเองต้องการกลับไปจริงๆ นี่คือสิ่งที่เราต้องการที่สุด”

ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังมองเรื่องการเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดคอมมิวนิตี้ใหม่ด้วย เพราะการที่คนหลายคนมารวมตัวกันย่อมเกิดความสัมพันธ์อันเชื่อมโยงไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดผ่านบทสนทนาในห้องเรียน

“ในแวดวงดีไซน์ อาร์ต และครีเอทีฟ การแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญมาก จริงๆ สำคัญสำหรับทุกวงการ ทุกเรื่อง ด้วยซ้ำ การแลกเปลี่ยนกับคนอื่นถึงบางทีเราอาจจะไม่ชอบเขา แต่ความเห็นเขาอาจเป็นประโยชน์ ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ ยิ่งเราทำงานที่ต้องใช้ไอเดียในการขับเคลื่อน เรายิ่งต้องแลกเปลี่ยนความเห็นและศึกษาเยอะๆ”

ในฐานะที่เป้ทำทั้งแกลเลอรี่และโรงเรียนสอนศิลปะ ทั้งยังคลุกคลีกับวงการนี้มาเป็นเวลาไม่น้อย ชายหนุ่มมองสถานการณ์ศิลปะปัจจุบันของไทยในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ในแง่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ควบรวมไปโอกาสใหม่ๆ ของคนทำงานด้านนี้ด้วย

“มันน่าสนใจตรงที่สื่อมันกว้างขึ้น ช่องทางการเสพมีหลากหลาย คิดว่าดีที่มีคนเสพศิลปะเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม อย่างน้อยก็มีคนสนใจมากกว่าเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้มีแกลเลอรีมีครีเอทีฟสเปซเกิดขึ้นเต็มไปหมด ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เริ่มทำได้ไม่นาน”

ก่อนจากกัน ฉันเห็นทีมงานกำลังจัดเตรียมวัสดุคลาสสีไทยสำหรับการเรียนวันพรุ่งนี้อย่างขะมักเขม้น ไหนๆ ก็เรียนทำซีนไปแล้ว จะมาเรียนทำสีไทยอีกสักคลาสก็น่าสนใจดี ว่าแต่…คุณสนใจมาเรียนด้วยกันไหมล่ะ


Tool School of Visual art

address : Kinjai Contemporary

hours : พุธ-ศุกร์ 10:30-7.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 9:30- 7:00 น. ปิดวันจันทร์-อังคาร

facebook : Tool School of Visual art 

Line : @toolschool

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!