คุยเรื่องศิลปะและยุคสมัยกับ สหวัฒน์ เทพรพ ในบทบาทผู้ก่อตั้ง Kinjai Contemporary

Highlights

  • เนื่องในโอกาสที่เหล่าโปสเตอร์จากนิทรรศการ Bangkok Through Poster 2019 จะกลับมาจัดแสดงอีกครั้งในงาน Bangkok Design Week 2020 เราจึงชวนผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง เป้–สหวัฒน์ เทพรพ มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปและความตั้งใจในการทำโปรเจกต์นี้ รวมถึงอัพเดตแวดวงศิลปะไทยผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของ Kinjai Contemporary แกลเลอรีอายุเกือบ 2 ปี
  • แม้ในปัจจุบันโอกาสจะมีมากขึ้นสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ แต่เป้มองว่าพื้นที่ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนแวดวงศิลปะ การมีแกลเลอรีเกิดใหม่และอีเวนต์อย่าง Bangkok Through Poster นอกจากสะท้อนความเคลื่อนไหวของยุคสมัยแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับคนที่ตั้งใจอยากมีอาชีพศิลปินในอนาคต

เมื่อปลายปีที่แล้วฉันได้ตามไปดูนิทรรศการ Bangkok Through Poster งานจัดแสดงโปสเตอร์ฝีมือการออกแบบของศิลปินนักสร้างสรรค์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ภายใต้คอนเซปต์ ‘คีย์เวิร์ด’ ที่แต่ละคนต้องการบอกเล่าหรือสื่อสารแก่สังคมจากประสบการณ์ตลอดปี 2019 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของโปรเจกต์นี้

โปสเตอร์จำนวน 75 ชิ้นที่แปะเรียงรายบนผนังสีขาวตั้งแต่ชั้น 1-4 ในแกลเลอรีสร้างความรู้สึกหลากหลายให้ฉัน เส้น สี รูปทรง และข้อความ ในกระดาษขนาด A2 ประกอบรวมกันกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารความในใจของศิลปิน บ้างเป็นเรื่องสังคม บ้างเป็นเรื่องการเมือง บ้างเป็นเรื่องส่วนตัว

นอกจากความตั้งใจให้เป็นอีเวนต์ประจำปีที่ archive ความเป็นไปของผู้คนตามยุคสมัยแล้ว ทีมผู้จัดนิทรรศการยังมุ่งหวังให้ศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหม่ใช้งานนี้เป็นพื้นที่แสดงศักยภาพ เพื่อโอกาสในการทำงานต่อไปในอนาคต

เนื่องในโอกาสที่โปสเตอร์ทั้งหมดจัดแสดงอีกครั้งในเทศกาล Bangkok Design Week 2020 ตั้งแต่วันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2562 ณ O.P. PLACE ชั้น 2 ก่อนจะนำไปติดตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ขยายช่องทางการมองเห็นและเข้าถึงมากขึ้น ฉันจึงชวน เป้–สหวัฒน์ เทพรพ ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปและความตั้งใจในการทำ Bangkok Through Poster รวมถึงอัพเดตแวดวงศิลปะไทยผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของ Kinjai Contemporary แกลเลอรีอายุเกือบ 2 ปี

ก่อนอื่น อยากให้เท้าความเล่าถึงที่มาที่ไปในการทำแกลเลอรีก่อน

ก่อนหน้านั้นเราทำงานมาหลายอย่าง ออกแบบ ทำอีเวนต์ ทำงานเบื้องหลังจำพวกข้อมูลและรีเสิร์ช ส่วนใหญ่เป็นแบ็กอัพให้ศิลปินซึ่งปัจจุบันก็ยังทำอยู่ ที่จริงเราเริ่มทำงานตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เรียนจบช้าไป 2 ปีเพราะซิ่วจากมัณฑนศิลป์มาเรียนจิตรกรรมฯ ใช้เวลาเรียนที่ศิลปากร 7 ปีกว่าจะจบ ระหว่างนั้นเราทำงานไปด้วยเรื่อยๆ พอจบปุ๊บเราก็เก็บข้อมูลมาเปิดแกลเลอรีในระยะสั้นมากๆ อาศัยประสบการณ์จากการทำงานและความรู้ที่พอมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจว่าจะเปิดเป็นแกลเลอรีขนาดนั้น กะเปิดแค่สตูดิโอด้วยซ้ำ แต่คราวนี้มันเลยเถิด เราก็ทำมาเรื่อยๆ เก็บสะสมประสบการณ์ ปรับรูปโฉมตามความต้องการจนปัจจุบัน เรียกว่าใกล้เคียงกับความต้องการแล้วประมาณ 4.5 เต็ม 10 เกือบผ่านครึ่งแล้ว

จุดไหนที่ทำให้เลยเถิดมาเป็นแกลเลอรีได้

เริ่มจากเราอยากแสดงงานตัวเองเหมือนกัน แต่เพราะงานที่เราทำต้องทำงานร่วมกับผู้คนกับพื้นที่ และที่สำคัญคือขายไม่ได้ ไม่ใช่งานเข้าแกลเลอรีได้ง่ายๆ เหมือนเพนต์ติ้ง สมัยผมเรียนแกลเลอรียังมีไม่มากเมื่อเทียบกับตอนนี้ รู้สึกว่าตัวเองและคนที่ทำงานในลักษณะเดียวกับเราไปต่อได้ยาก ต้องไปในแกลเลอรีเฉพาะกลุ่มซึ่งมีไม่กี่แห่ง ยิ่งศิลปินหน้าใหม่หรือเด็กจบใหม่ไฟแรงแทบไม่มีที่ไป หรือถ้ามีก็น้อยมากๆ ทั้งยังมีการแข่งขันค่อนข้างสูงอีก ถ้าเราปรับตรงนี้เป็นสเปซให้นักศึกษาศิลปะจบใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาแสดงงานก็น่าจะเป็นประโยชน์ประมาณหนึ่ง

แต่เราจะแสดงงานแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่า คงไม่ได้มีโพเทนเชียลในการขายงานได้ขนาดนั้น ซึ่งเราบอกศิลปินเสมอ แต่เราจะเน้นการที่ศิลปินได้พรีเซนต์และแสดงอัตลักษณ์ความเป็นตัวเอง แสดงไอเดียและผลงาน ถ้าพูดถึงเรื่องการขายงานเราไม่ใช่คอมเมอร์เชียลแกลเลอรีขนาดนั้น พอได้จุดยืนแล้วเราก็ขยับตัวเข้าหาศิลปินที่รู้จักก่อน เป็นรุ่นพี่เราที่ทำงานเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์อยู่ช่างชุ่ย เขาหยุดทำงานศิลปะไปด้วยบริบททางสังคม ร่วมกับศิลปินอีกคนหนึ่งที่เป็นนักวาดภาพประกอบ เราเลยลองชักชวนเขาทั้งสองคนมาทำนิทรรศการแรก ก่อนไล่ยาวทำนิทรรศการกับคนอื่นมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้

มีเกณฑ์ในการเลือกงานมาจัดแสดงยังไง

ถ้าเทียบกับช่วงแรกๆ เราไม่สามารถเลือกสิ่งที่ชอบจริงๆ ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น ดูอะไรหลายอย่างเปรียบเทียบกันไปด้วย แต่พักหลังอันดับหนึ่งของเราเลยคือ ความมุ่งมั่น วิสัยทัศน์ และวิธีคิดในงานเป็นหลัก เราไม่ได้กำหนดตัววิชวลที่เกิดขึ้นขนาดนั้น มันเลยเป็นมีเดียอะไรก็ได้ที่สามารถสนับสนุนและสอดคล้องกับวิธีคิดของตัวศิลปิน เช่น วิดีโออาร์ต อินสตอลเลชั่น ปรินต์ติ้ง เพอร์ฟอร์แมนซ์ หรืออะไรก็ได้ แต่จะเรียกว่าเป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ เลยไหมก็คงไม่ขนาดนั้น เพียงแต่มันนำพามาเอง

 

แล้ว Bangkok Through Poster เกิดขึ้นมาได้ยังไง

ถ้าให้เท้าความกลับไปคือ มันเกิดจากการที่เวลาเล่นทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก เราเห็นคนบ่นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม บ้านเมือง การศึกษา ฯลฯ เลยหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในฐานะนักออกแบบเราจะทำอะไรได้บ้าง เราพอทำอะไรได้ไหม หรือเราจะใช้ชีวิตแบบพลเมืองตั้งรับตลอดเวลา ทุกวันนี้เหมือนเราอยู่ในการปกครอง แต่ไม่ได้อยู่ในการเมืองมาตลอด แล้วเราจะเพิ่มความเป็นเจ้าของเมืองกับสังคมให้กับตัวเองหรือสร้างแรงกระตุ้นส่วนนี้ได้ยังไง เลยคุยกับเพื่อนว่าอยากทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง บวกกับตัวผมเองสนใจสิ่งพิมพ์อยู่แล้ว โปสเตอร์ก็มีฟังก์ชั่นในการสื่อสารในตัวมันเอง น่าจะเป็นมีเดียที่เหมาะและใช้ต้นทุนไม่สูง มันน่าจะมีความเป็นไปได้ด้วยอาร์ตเวิร์กที่ไม่ได้หนักขนาดที่ทุกคนต้องเสียเวลามาทำกับมันเยอะ แค่อาจจะใช้เวลาคิดหน่อย เราลองโปรเจกต์โปสเตอร์ก็ได้

เราเริ่มจากการชักชวนคนรู้จักก่อน เขียนโครงการมาเรื่อยๆ พอได้คนรู้จักกลุ่มแรกแล้วก็เริ่มชวนคนอื่น แต่ปีแรกยังเป็นการอินบอกซ์หรืออีเมลอยู่ ไม่มีเปเปอร์โครงการใดๆ open call ก็ไม่มี รู้จักใครหรือชอบใครก็ไปชวน ชอบแอ็กชั่นคนนี้ สนใจไทม์ไลน์การใช้ชีวิตของคนนี้ สังเกตจากชีวิตจริง รู้จักเขาแค่ไหนก็ดูแค่นั้นและชักชวนเขามา

พัฒนาการตั้งแต่ปีแรกจนมาถึงปีที่ 2

ปีแรกมีความหลากหลายมากๆ จะเรียกว่าสะเปะสะปะไหม ก็ถือเป็นการทดลอง มีทั้งดีไซเนอร์อาชีพ นักศึกษา แต่เราชอบตรงที่มันหลากหลายมากๆ ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ รู้สึกว่านักศึกษาและเด็กรุ่นใหม่อยากทำงานมากเลย เป็นโอกาสดีที่แกลเลอรีมาชักชวนพวกเขาให้ไปทำโปรเจกต์ลักษณะนี้ และในฐานะที่เราทำงานประจำและงานคอมเมอร์เชียลทุกวันมาทั้งปี ลองมาทำอะไรแบบนี้สักปีละครั้งก็เป็นความรู้สึกที่สนุก เพราะมันสามารถแสดงตัวตนหรือสื่อสารสิ่งที่เราคิดออกมาโดยไม่ต้องกังวล เนื่องจากเราไม่แสวงหาผลกำไรใดๆ

แต่ปีแรกก็มีความผิดพลาดบ้างตามสไตล์ เป็นปีทดลอง จนมาเข้าปีที่ 2 เราลองขยาย Bangkok Through Poster จากบุคคลสู่องค์กร จึงมีองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มกิจกรรมต่างๆ และสิ่งหนึ่งที่เรายังให้ความสำคัญคือ การให้โอกาสหน้าใหม่ ทั้งนักออกแบบ ศิลปิน นักเขียน นิสิตนักศึกษาที่อยากทำ เรากันพื้นที่ไว้ให้คนกลุ่มนี้ตั้งแต่เปิดโปรเจกต์แล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มไปชักชวนสตูดิโอมาร่วม แอบแปลกใจและดีใจที่เขามาแจมด้วยเพราะเป็นองค์กรใหญ่ บางแห่งเป็นสตูดิโอดังในแง่การออกแบบ บางคนเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว คิดว่าทุกคนน่าจะมีหรือคิดอะไรบางอย่างเหมือนกัน

ตั้งคอนเซปต์อะไรกันบ้าง

ปีแรกเปิดฟรีเลย ตั้งท็อปปิกง่ายๆ กว้างๆ ก่อนว่า ‘กรุงเทพฯ ในมุมมองของคุณ’ ซึ่งฟังดูทั้งกว้างและแคบในเวลาเดียวกัน พอปีที่ 2 อยากเปิดกว้างมากขึ้น เพราะปีที่แล้วตอนทำโปรเจกต์มีเพื่อนและดีไซเนอร์ต่างชาติในโซเชียลมีเดียติดต่อเข้ามาพูดคุยกันตั้งแต่ตอนนั้นว่าสนใจ แต่ปีที่แล้วไม่ทันเวลาเลยไม่ได้ร่วมงานกัน

แต่ปีนี้มีสตูดิโอและดีไซเนอร์ต่างชาติมาร่วมเยอะพอสมควรเพราะดีลกันไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โจทย์ปีนี้เราเลยตั้งเป็นคำว่า คีย์เวิร์ด หรือคำสำคัญที่ต้องการพูดหรือสื่อสารกับสังคม ผู้คน หรือเหตุการณ์อะไรก็ได้รอบตัว ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2019  ศิลปินต่างชาติก็ปรับจากบริบทประเทศไทยเป็นประเทศของเขา มีความเคลื่อนไหวอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วโปรเจกต์นี้มีไอเดียอย่างหนึ่งตรงที่เราต้องการเก็บเป็นหมวดหมู่และไทม์ไลน์ว่า แต่ละช่วงปีผู้คนคิดยังไงกับเมืองและสิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมรอบตัว อย่างชิ้นงานปี 2018 กับ 2019 ต่างกันเยอะมาก ผู้คนมีวิธีคิดกับมายด์เซตต่อเรื่องเรื่องหนึ่งไม่เหมือนเดิม เพราะมีศิลปินคนเดิมทำประเด็นใกล้เคียงกับชิ้นงานเก่าของตนเองเมื่อปีก่อน มาเทียบแล้วมันแอดวานซ์ขึ้น ผมรู้สึกว่าใช้คำว่าหดหู่ขึ้นก็ได้นะ บางคนเริ่มตายด้านมากขึ้น เหมือนว่าฉันตั้งรับจนชินแล้ว

เกิดความเคลื่อนไหวใดที่น่าสนใจไหม

ปกติเราจัดแสดงที่แกลเลอรีสั้นๆ หลังจากนั้นก็เอาไปติดทั่วกรุงเทพฯ ตามโลเคชั่นที่ดีไซเนอร์เลือก บางคนไม่เลือกเราจะเลือกให้เองโดยดูคอนเซปต์ในการสื่อสาร เดือนหนึ่งติด 3-4 ชิ้นให้มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ดูว่าโปสเตอร์มีความเคลื่อนไหวกับพื้นที่มากแค่ไหน มันก็เกิดความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจนะ มีคนเห็น มีคนถ่ายรูปส่งมาในเพจ มีคนถ่ายส่งมาฟ้องว่ายามดึงทิ้งลงถังขยะ ปีนี้เลยพยายามแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ติดตั้งเพราะอยากให้คนอื่นมาดูด้วย แต่ไม่อยากตีกรอบขนาดนั้น แค่เสียดายที่บางชิ้นติดปุ๊บโดนดึงทิ้งเลยก็มี

เห็นว่าลงทุนลงแรงไปเยอะ อะไรที่ทำให้คุณยังอยากทำโปรเจกต์นี้อยู่

อาจจะยังรู้สึกว่ามีสำนึกพลเมืองบางอย่างที่อยากทำอยู่ เราไม่อยากอยู่เฉยๆ นิทรรศการศิลปะหรืออีเวนต์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพวกนี้ได้หรอก แต่มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีกว่าอยู่เฉยๆ เราควรทำอะไรบ้าง นี่คือความตั้งใจที่เรายังทำอยู่

 

ทำไมคุณถึงผลักดันให้มันไปที่ Bangkok Design Week ด้วย

มันเป็นโอกาสที่ดีของทุกคน อย่างสตูดิโอดังๆ เขาอาจทำงานมาเยอะแล้ว แต่สำหรับนักออกแบบหน้าใหม่หรือนักศึกษาที่ไม่มีประสบการณ์ ทุน หรือผลงานที่ดีและมากพอ คงจะเป็นไปได้ยากกว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะมีคน สตูดิโอ และบริษัท มาเห็นงานของทุกคน และนำไปสู่การจ้างงานหรือโอกาสอื่นๆ ของนักออกแบบหน้าใหม่ เป็นการขยายพื้นที่ให้มากกว่าพื้นที่เราด้วย ซึ่งพอเป็นแฟร์คนทั่วไปก็เห็นโปสเตอร์มากขึ้น มีการเสพในกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย นอกจากคนที่เข้าแกลเลอรีอย่างเดียว

เหมือนคุณมองว่าพื้นที่การแสดงออกยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคนทำงานศิลปะ

สำคัญนะ ที่ผ่านมามีแกลเลอรีเปิดมากขึ้น แต่มันก็ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับอย่างอื่น ส่วนตัวคิดว่ารัฐแทบไม่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม เผลอๆ เขาไม่ได้มองเห็นความสำคัญของมันด้วยซ้ำ แต่ผมดีใจมากที่มีแกลเลอรีเปิดใหม่มากขึ้น ได้เห็นความเคลื่อนไหวในวงการว่าบางคนอยากจะสู้เป็นศิลปินอาชีพมากแค่ไหน

ความใฝ่ฝันอีกอย่างของเราคือ การได้เห็นศิลปินมีโครงสร้างอาชีพที่ชัดเจน จะได้ไม่มีวาทกรรมประมาณว่าวาดรูปฟรีให้หน่อย คล้ายๆ ถ้าคุณไปขอให้สถาปนิกออกแบบอาคารให้ฟรีมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเขามีโครงสร้างอาชีพที่ชัดเจน นี่คือสิ่งที่คนเรียนศิลปะต้องการให้มี ส่วนตัวมองว่าศิลปินเองก็ควรได้ฝึกงาน มันต้องพูดไปถึงระบบเลยว่าเราปลูกฝังให้คุณมีวิธีคิดแบบไหนในการปฏิบัติตัวเป็นศิลปินอาชีพ คุณต้องรู้และทำอะไรเป็นบ้าง ทำสัญญาซื้อ-ขายยังไง ทำ invoice และไม่รับงานตกลงปากเปล่าหรือไม่ บริหารจัดการตัวเองในการทำงานต่อวันยังไง ลิขสิทธิ์ผลงานหรือกฎหมายอะไรที่ควรทราบบ้าง ส่วนตัวตอนผมเรียนจบแทบไม่ทราบอะไรพวกนี้อย่างชัดเจนเลย ไม่มีบรรจุในหลักสูตรด้วยซ้ำ สมัยนี้ศิลปินรู้แต่ศิลปะอย่างเดียวไม่ได้แล้ว นี่คือสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตและช่วยทำให้อาชีพนี้ชัดเจนขึ้น บวกกับสังคมต้องเห็นความสำคัญของอาชีพด้วย อยากให้สอดคล้องกันทั้งตัวศิลปินและสังคม ต้องเข้าใจกันและกัน มันถึงเติบโต

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เปิดแกลเลอรี มีความยาก-ง่ายยังไงบ้าง

กดดันสำหรับเรา เพราะส่วนใหญ่เจ้าของแกลเลอรีที่อื่นพร้อมมากกว่าเรา แต่ผมยังต้องทำงานข้างนอกอยู่เลย ทำงานเพื่อบริหารที่นี่ไปด้วยประกอบกัน เราไม่ได้มีทุนทำที่นี่ขนาดนั้น ก็สร้างไปเรื่อยๆ มันอยู่ได้แต่ไม่ราบรื่นขนาดที่เราไม่ต้องเหนื่อย ดีที่ผมมีแฟนช่วยมาตั้งแต่เริ่ม คอยแบ่งเบางานช่วงที่ผมไม่ว่าง ตอนนี้ยังต้องปรับตัวปรับแบรนด์ไปเรื่อยๆ ยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่มันมีเรื่องอายุที่ยังน้อย การเป็นเจ้าของ และสังคม เกิดแง่มุมที่มองว่าทำได้ไง เราทำอะไรบ้าง

ตอนเริ่มทำที่นี่ผมไม่รู้อะไรเลย รู้เฉพาะสิ่งที่ควรรู้ในระบบเท่านั้น ขนาดเราเป็นคนไปแกลเลอรี เสพงานศิลปะ และเรียนรู้ระบบการทำงานศิลปะมาแล้วในช่วงเรียน ก็ยังรู้สึกว่าไม่พอ การเป็นเจ้าของแกลเลอรีทำให้วิธีคิดผมเปลี่ยนไปเลย เห็นอะไรหลายอย่างจากมุมอื่นๆ อย่างแกลเลอรีมองศิลปินแบบไหน ศิลปินควรมีอะไรบ้าง แกลเลอรีสามารถทำและให้อะไรได้บ้าง เป็นมุมที่รู้สึกว่าจะมีแค่เราเท่านั้นที่มองเห็น

ที่ผมอยากทำตรงนี้ไม่ใช่เพราะโลกสวยอยากช่วยสังคม แต่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่คนทำงานศิลปะควรรู้จริงๆ เหมือนเป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยได้แต่ถ้าให้คนอื่นได้ก็น่าจะดี ถึงจะได้อะไรกลับมาไม่ค่อยเยอะ แต่ในแง่หนึ่งเรายังได้เห็นความเคลื่อนไหวในสังคมและวงการศิลปะ อย่างน้อยก็มีคนที่ทำเป็นอาชีพ มีศิลปินรุ่นใหม่ น้องๆ มัธยมที่เราเคยเห็นเมื่อหลายปีก่อนกำลังกลายเป็นศิลปินแล้ว นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังไว้ อย่างที่บอกว่าที่นี่เน้นการทำงานหลากหลายกับผู้คน อยากชักชวนนักออกแบบมาทำนิทรรศการในอนาคต รู้สึกว่านักออกแบบมีวิธีคิดที่น่าสนใจมากๆ เราพยายามมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเป็นใครก็ได้ที่อยากสื่อสาร นำเสนอ และบอกเล่าสิ่งต่างๆ ผ่านผลงานสร้างสรรค์กับการทำนิทรรศการ

แม้โอกาสในปัจจุบันจะมากขึ้น แต่แกลเลอรีก็ยังมีความจำเป็นใช่ไหม

ยังจำเป็นอยู่ คิดว่าแกลเลอรีมีความจำเป็นทั้งในแง่การเป็นฟันเฟืองสำคัญในการศึกษา ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับโอกาส จริงๆ แกลเลอรีไม่ควรเป็นแค่พื้นที่เฉพาะกลุ่ม แต่ควรเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้ามาทำอย่างอื่นได้ด้วย เป็นพื้นที่ของบทสนทนาและอินเทอร์แอ็กทีฟอื่นๆ

 

ถ้าเปลี่ยนอะไรก็ได้หนึ่งอย่างในแวดวงศิลปะไทย อยากเปลี่ยนอะไร

หลายอย่างมาก แต่คิดว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากระบบการศึกษา เราไม่ได้พูดถึงแค่ศิลปะด้วยซ้ำ ถ้าเราปรับมาให้ความสำคัญกับพื้นฐานการศึกษาและมีความเสมอภาคทางการศึกษาจริงๆ มันจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทุกอย่าง ส่วนบนสุดก็ควรเห็นว่าส่วนนี้สำคัญก่อน เพราะถ้าเขาเห็นว่าส่วนนี้ไม่สำคัญก็ยังเปลี่ยนอะไรไม่ได้อยู่ดี

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่