เชื่อไหมว่าคนเกาหลีใต้หลั่งไหลมาเยือนไทยมากเป็นอันดับ 3 (ตามสถิติของปีก่อน พวกเขาเป็นรองแค่นักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย) พอเป็นแบบนี้เราคงพูดได้เต็มปากว่า คนเกาหลีชอบมาไทยพอๆ กับที่คนไทยชอบไปเกาหลี
Kim Zoo-young คือหนึ่งในชาวเกาหลีที่ตกหลุมรักเมืองไทยตั้งแต่แรกพบ จนวันนี้เรากล้าเรียกเธอว่าเป็นคนกรุงเทพฯ เพราะเธอใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มากว่า 8 ปี มิหนำซ้ำเธอยังออกต่างจังหวัด ขึ้นเหนือล่องใต้เป็นว่าเล่น หากใครติดตามอินสตาแกรม @zooey_kim ของเธอคงจะรู้กันดีว่า หญิงสาวคนนี้รักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ
ทริปเชียงใหม่เมื่อหลายปีก่อน เป็นครั้งแรกที่เธอได้รู้จักกับ Jung Da-woon ภรรยาสาวชาวเกาหลีของหนุ่มลำปาง นุจัง–ณัฐวุฒิ ปันสิน ทั้งคู่ลงหลักปักฐานใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่มานานหลายปีจนช่ำชองทุกซอกมุมของเมือง
ราวกับเรื่องบังเอิญ ทั้งสามต่างชื่นชมนิยมศิลปะ วัฒนธรรมความเชื่องช้า และหลงใหลงานแฮนด์คราฟต์เหมือนกัน
และด้วยความเป็นคนคอเดียวกัน พวกเขาตัดสินใจรวมพลังกันสร้าง Enough for life Bangkok โชว์รูมขายงานหัตถกรรมจากฝีมือชาวถิ่นภาคเหนือ ผสานการขายของวินเทจกระจุกกระจิกจากยุโรป เสริมด้วยโซนร้านกาแฟแสนอบอุ่นสไตล์เกาหลี ซึ่งทั้งหมดถือกำเนิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลา 1 เดือน แถมทำออกมาได้อย่างน่าสนใจมาก ชนิดว่าคนแน่นร้านตั้งแต่ช่วง soft opening เลยทีเดียว
แต่ก่อนอื่นใดขอชวนคุณจิบกาแฟฟังจุดเริ่มต้นของพวกเขาสักนิด
เชียงใหม่ 696 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ
ก่อนเปิด Enough for life Bangkok เดิมทีพวกเขามีร้าน Enough for life บ้านข้างวัด และ Enough for life village ที่จังหวัดเชียงใหม่มาก่อน
“Enough for life แปลตามตัวว่าความพอเพียงในชีวิต พอโตขึ้นมาถึงจุดหนึ่ง เรานำเอาหลักนี้มาใช้ในชีวิต เป็นความทรงจำและความรู้สึกตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก แล้วได้เอามาใช้ตอนโต เราเลือกใช้คำว่า enough เพราะมันเป็นสากล ซึ่งภรรยาผมก็สัมผัสความหมายของมันได้” นุจังเริ่มเล่าถึงที่มาของชื่อร้านและคอนเซปต์ร่วมของทั้ง 3 ร้านให้เราฟัง
“ความพอเพียงคือการใช้ชีวิตกับสิ่งที่เรามีอยู่ เงินที่พอหามาได้ แม้แต่กับเรื่องเวลาก็เหมือนกัน เราเอาเวลาไปหาเงินเสียเยอะ จนลืมครอบครัว ลืมลูกและภรรยา ซึ่งแบบนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะเราเลือกให้น้ำหนักกับงานมากเกินไป”
“เราทำงานโดยมีเงินเป็นตัวล่อ บ้างานมาก แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ จนทะเลาะกับแฟนบ่อยมาก ต้องมาหยุดคิดว่าแฟนเราจากบ้านเมืองมาจากเกาหลี เพราะเขาแค่ต้องการอยู่กับผม จังหวะนั้นมีโครงการบ้านข้างวัดเปิด เราอยากทำร้าน เลยเริ่มต้นทำ แล้วแฟนเป็นฝ่ายช่วยจัดการร้าน”
จากความสำเร็จของ Enough for life บ้านข้างวัด ที่เป็นทั้งร้านกาแฟ ร้านขายงานหัตถกรรมท้องถิ่น และที่ทำเวิร์กช็อปงานฝีมือต่างๆ นุจังและดาวุน เปิด Enough for life village เปิดชั้นบนของร้านเป็นเกสต์เฮาส์เล็กๆ ส่วนข้างล่างเป็นช็อปขายงานแฮนด์เมดจากคนท้องถิ่นในภาคเหนือ และมีคาเฟ่เล็กๆ โดยมีมือของซูยองเข้ามาช่วยจัดการ จนกระทั่งทั้งสามคนตัดสินใจขยายความฝัน เปิด Enough for life สาขากรุงเทพฯ ในปีนี้ ด้วยเหตุว่าลูกค้าในแถบกรุงเทพฯ ก็มีความต้องการซื้องานแฮนด์เมดอันประณีตไม่ต่างจากลูกค้าในพื้นที่แถบจังหวัดเชียงใหม่
“ระยะทางกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่แตกต่างกัน ลูกค้าที่อยู่กรุงเทพฯ ส่วนมากเป็นคนกรุงเทพฯ ลูกค้าที่เชียงใหม่ส่วนมากก็จะอยู่ที่เชียงใหม่ เราเลยอยากสร้างสะพานเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมคนหลายๆ ที่มากขึ้น” นุจังเสริม
Enough for life สะพานสโลว์ไลฟ์ที่เชื่อมคนไทยกับคนเกาหลี
“เราไม่ได้เน้นว่าสินค้าในร้านต้องเป็นแบบไหน เพราะแล้วแต่ว่าจะมีสินค้าอะไรที่คนในท้องถิ่นทางเหนือทำออกมา” นุจังเล่าถึงสินค้าส่วนงานหัตถกรรมที่วางขายในร้าน ก่อนจะเสริมว่า
“เราว่าการทำร้านขึ้นมา มันคือการวิน–วิน แฟนเราเป็นดีไซเนอร์ เขาเป็นคนออกแบบสิ่งที่อยากได้ไปให้ชาวบ้านที่มีทักษะทำ เป็นวิธีการเอาดีไซน์ใหม่ๆ ไปประยุกต์เข้ากับงานชาวบ้าน ของที่ได้มามีจากหลากหลายสถานที่มากๆ”
“อย่างเซรามิกก็มีมาจากจังหวัดลำปาง เป็นของเล็กๆ ที่เราอาจจะสั่งโรงงานทำก็ได้ แต่เราไม่อยากทำแบบนั้น เพราะคิดว่าคนที่นั่นทำงานแบบนี้เก่งมาก เราอยากให้เขาทำให้ หรือช้อนส้อมที่ทำมาจากเขาควาย เราแค่ทำดีไซน์ และออกแบบโลโก้ไปให้เขาช่วยทำ เพราะเราอยากจะช่วยเขาด้วย” ซูยองกล่าวเสริม
“เป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน ทั้งในลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย เราขับรถเข้าไปหาชาวบ้านเองทุกที่ ส่วนแฟนเราและซูยองก็ช่วยกันออกแบบ เพราะเขาทั้งสองคนเรียนจบดีไซน์มาจากเกาหลีกันทั้งคู่” นุจังเล่าอย่างภูมิใจ
เมื่อเราถามถึงที่มาของร้านน้องใหม่ล่าสุดที่สาขาแบริ่ง ซูยองซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ รีบตอบทันทีว่า
“เพราะว่าฉันเป็นคนแบริ่งไปแล้ว (หัวเราะ) มีออฟฟิศที่แบริ่ง ซอย 2 จนตอนนี้ ฉันอยู่ที่แบริ่งมา 5 ปี ฉันชอบแบริ่งมาก เพราะที่นี่มีความโลคอล ไม่ได้ชอบสถานที่ที่วุ่นวายอย่างสุขุมวิท ที่ตรงนี้ทุกอย่างเป็นโลคอลจริงๆ มีตลาดเยอะมากๆ ฉันเองก็ชอบไปตลาดด้วย อย่างผลไม้ก็ไปซื้อทุกวัน”
“ฉันอยากเปิดโชว์รูมตรงนี้เพราะว่าคนเกาหลีที่มาไทยบ่อยๆ เขาอยากจะมาซื้อของจากเชียงใหม่ แต่บางคนไม่มีเวลาไปถึงเชียงใหม่ ฉันเลยคิดว่า ถ้าเขาอยากจะซื้อของที่กรุงเทพฯ จะได้มาที่นี่ได้ง่ายๆ หน่อย” ซูยองเสริม
ดาวุนและซูยองทำหน้าที่จัดการทั้งเรื่องไอเดียการโปรโมต รวมทั้งอาร์ตไดเรกชั่นทั้งหมด โดยเฉพาะซูยอง เธอเป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารหลายหัวในโซลอยู่แล้ว เธอใช้โอกาสนี้เขียนเรื่องราวเชิงท่องเที่ยวในไทยสื่อสารกับคนเกาหลีเป็นประจำ ทำให้มีลูกค้าชาวเกาหลีและชาติอื่นๆ ตามรอยมาเยือนร้านอยู่เสมอ
“นอกจากจัดการเรื่องไอเดียให้ Enough for life เราขายของที่เกาหลีด้วย ด้วยการส่งของทำมือจากเมืองไทยไปขาย เพราะคนเกาหลีชอบงานแบบนี้มากๆ แต่งานคราฟต์ที่เกาหลีจะมีราคาแพงสุดๆ อย่างคนเกาหลีมาที่เชียงใหม่ พอเห็นของแบบนี้จะชอบมาก เกิดความรู้สึกอยากซื้อ ซึ่งฉันคิดว่าเรื่องงานคราฟต์คนไทยเก่งกว่าคนเกาหลีอีก”
แรกเริ่มพวกเขาอยากเปิดโชว์รูมขายงานแฮนด์คราฟต์และออฟฟิศที่แบริ่งเท่านั้น แต่ซูยองออกไอเดียว่าควรเปิดคาเฟ่เพิ่มด้วย เพราะเล็งเห็นว่าแบริ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนมากเป็นตึกรามบ้านช่อง หากมีคาเฟ่ไว้หย่อนใจ การเดินทางมาที่นี่จะได้ไม่แห้งแล้งจนเกินไป
“ถ้าคนเสียเวลามาตั้งไกลแล้ว งั้นเราเปิดเป็นคาเฟ่ด้วยดีกว่า เขาจะได้พักผ่อนอยู่ที่นี่นานๆ ได้ ถ้าแค่ซื้อของแล้วกลับบ้าน คงเสียเวลามากเลย” ซูยองกล่าว
นอกจากการทำร้าน พวกเขายังขับเคลื่อนกลุ่มช้าช้าแห่งเมืองเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนให้คนทำงานคราฟต์ได้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีความสุข
“เรามีกลุ่มชื่อว่า ‘ช้าช้า’ เป็นกลุ่มคนทำร้านงานคราฟต์เล็กๆ ในเชียงใหม่ คนที่รวมตัวมาจากร้านผ้า ร้านเค้ก ร้านกาแฟ หรือร้านขายของน่ารักๆ เราเป็นคนที่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน เคยไปจัดงานที่เกาะเชจู ชื่อ ช้าช้า มาร์เก็ต ซึ่งออกเงินไปเองโดยไม่มีสปอนเซอร์ แล้วอาศัยความบังเอิญและการวัดดวงข้างหน้า ตอนนี้ทำมาได้ 2 ปีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นทำตลาดช้าช้าที่เชียงใหม่ที่ Enough for life village มาก่อน ครั้งต่อไปน่าจะได้ไปจัดที่โซลบ้าง” นุจังเล่า
“คำว่าช้าช้าภาษาเกาหลีคือ ‘ชอนชอน’ (천천히 천천히) ฉันประหลาดใจว่า ทำไมคำของทั้งสองภาษาเหมือนกัน แถมคนเชจูก็มีสไตล์คล้ายๆ คนเชียงใหม่ ถ้าเคยไปเมืองใหญ่ๆ ในเกาหลี ที่นั่นทุกอย่างจะเร็วมากๆ ทุกคนเครียดมาก เพราะจะคอยบอกกันว่าเราต้องสู้ๆ ต้องทำทุกอย่างให้เก่งเท่านั้น” ในเมื่อเกาหลีเป็นประเทศที่คนทำอะไรเร็วและเคร่งเครียด ทั้งสามจึงต้องการนำเสนอชีวิตช้าช้าให้แขกและลูกค้าต่างชาติได้รับรู้
“เราพยายามทำตัวเป็นทูต เป็นสะพานสื่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทย ทั้งวิถีชีวิตและเครื่องมือเครื่องไม้ หรืองานหัตถกรรมของคนไทยไปสู่คนเกาหลี อยากให้เขามองตรงจุดนี้มากๆ เขาจะได้เห็นความหมายของชีวิตด้านอื่น ไม่ใช่ว่าชีวิตที่อยู่แต่ในคอนโดที่พักและที่ทำงานเท่านั้น”
Enough for life ทั้งสามสาขาไม่เน้นขายสินค้าราคาแพง สิ่งที่เจ้าของเน้นในการทำธุรกิจเสมอคือหลักวิน–วินที่ทุกคนจะต้องได้ผลประโยชน์เท่าๆ กันทุกฝ่าย
“เราซื้อของจากชาวบ้านที่เขาขายให้เรา แล้วเขาต้องอยู่ได้ด้วย เราเอาไปขายในราคาที่ทำให้เราพออยู่ได้ ลูกค้าเขาก็ต้องซื้อไปจากเราในราคาที่รับได้ เป็นการกระจายสินค้าออกไปให้กว้างขึ้น และแฟร์กับทุกฝ่าย”
“เราตั้งใจจะเชื่อมสะพานระหว่างคนไทยกับคนเกาหลีด้วย ฉันทำงานกับการท่องเที่ยวเกาหลีเลยพยายามแนะนำกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ให้คนเกาหลีได้รู้จักเยอะๆ เพราะคนเกาหลีมักจะรู้จักเมืองไทยแค่เรื่องที่เกี่ยวกับนิชคุณ ผัดไทย ตลาดกลางคืน หรือการนวดเท่านั้น”
ทั้งนุจังและซูยองตั้งใจสร้างพื้นที่ตรงแบริ่งให้เป็นสะพานเชื่อมคนไทยและเกาหลีสายใหม่ เพิ่มขึ้นจากสะพานสองสายแรกที่เชียงใหม่ สะพานที่รวมเอาคนรักงานสายคราฟต์ กาแฟอร่อยๆ บนพื้นฐานชีวิตช้าช้าที่หลีกเร้นออกมาจากเมืองที่วุ่นวาย ให้เราพอมีเวลาได้ทบทวนตัวเองและมีทางเลือกใหม่ในการเลือกซื้อใช้สอยสิ่งของที่เกิดจากกรรมวิธีทำมือช้าๆ
กรุงเทพฯ 696 กิโลเมตรจากเชียงใหม่
บริเวณหน้าร้าน Enough for life Bangkok เป็นกระจกใสมีผ้าม่านสีขาวตกแต่งลงตัว แรกก้าวเข้ามาจะพบกับโซนโชว์รูมงานคราฟต์ มีทั้งตะกร้า แก้วน้ำ จานเซรามิก ช้อนส้อมจากเขาควาย งานผ้าถักรองจาน กระเป๋า และผลิตภัณฑ์ทำมืออีกหลายอย่าง
ส่วนห้องตรงกลางมีของกระจุกกระจิกอย่างแก้วน้ำดื่มสกรีนลายน่ารัก รวมถึงโปสต์การ์ดดีไซน์สวย ด้านหลังสุดเป็นห้องที่ถูกทุบกำแพงออกเพื่อเชื่อมร้านขายของเข้ากับโซนคาเฟ่เล็กๆ ถ้าใครอยากจะนั่งดูบาริสต้าชาวเกาหลีชงชาหรือกาแฟก็นั่งตรงม้านั่งหน้าบาร์ได้ ส่วนใครที่อยากรับลมหรือแดดก็มีโซนเล็กๆ ด้านนอกให้เลือกนั่งได้ตามใจชอบ แต่ถ้าที่นั่งไม่พอ ยังมีบริเวณชั้นสองรองรับ
“บาริสต้าที่มาช่วยเรามาจาก Oasis ร้านอาหารชื่อดังที่โซล ร้านนี้อยู่ตรงข้าม SM Entertainment เหล่าไอดอลจากค่ายเพลงจะมานั่งกินอาหารที่นี่ ทำให้คนตามไปกินร้านนี้กันเยอะมากๆ ฉันมีเพื่อนที่นั่น ซึ่งช่วยส่งพนักงานมาวางระบบให้ร้านเรา 2 คน เป็นบาริสต้าที่ชอบเมืองไทยและอยากลองมาทำกาแฟ เขาอาสามาเองเพราะอยากดูว่าถ้าทำกาแฟให้คนไทยได้ดื่ม คนไทยจะคิดยังไงบ้าง” ซูยองเล่า
บาริสต้าทำเครื่องดื่มมาให้เราลอง 3 อย่าง เริ่มจากอเมริกาโน่รสชาติบางๆ ที่ปลุกให้เราตื่นหลังจากเดินทางมาถึง ต่อด้วยลาเต้นุ่มๆ ละมุนลิ้น ถ้าใครเป็นสายกาแฟนมที่เน้นนมมากกว่ากาแฟน่าจะชอบแก้วนี้เป็นพิเศษ
ส่วนกาแฟแก้วที่เราชอบโดยส่วนตัวคือ black sugar latte ที่หวานกลมกล่อม รสชาตินวลกำลังพอเหมาะพอดี แถมน้ำตาลดำนั้นก็หอมมากจนน่าประทับใจ แต่ถ้าใครไม่ดื่มกาแฟก็ไม่เป็นไร เพราะมีโมฮิโต้มินต์ของร้านที่มาตอบโจทย์แทนที่ ส่วนสายของหวานก็ไม่ต้องห่วง เพราะเจ้าของร้านแนะนำของกินเล่นอย่างสโคนที่กินแกล้มกับซอสเบอร์รีเปรี้ยวชื่นใจให้ลิ้มลอง
ส่วนเรื่องการตกแต่งร้านก็โดดเด่นไม่แพ้ใคร การดีไซน์เหล่านี้มาจากรสนิยมชอบเดินทางของซูยอง หยิบไอเดียจากหลายๆ ที่มาผสมผสานจนออกมาเป็นคาเฟ่ที่ดูเป็นมิตรกับทุกคน ส่วนเบื้องหลังงานรีโนเวต นุจังเป็นคนจัดการเองทั้งหมด ทั้งสามคนช่วยกันทำร้านเองด้วยงบประมาณที่ไม่สูง แต่สิ่งที่สูงมากเป็นพิเศษคือความตั้งใจและไอเดียที่ไม่เคยอยู่นิ่งของหนึ่งหนุ่มไทยและสองสาวชาวเกาหลี
นอกจาก Enough for life Bangkok จะเป็นร้านที่เหมาะกับการอุดหนุนสินค้าทำมือไปใช้สอยที่บ้าน ที่แห่งนี้ยังเป็นร้านกาแฟน่านั่งที่หาได้น้อยมากในย่านแบริ่ง
นุจังบอกเราก่อนจากกันด้วยว่าอยากให้สถานที่แห่งนี้เป็นต้นกำเนิดของการสนับสนุนการทำงานของคนท้องถิ่นในภาคเหนือ เขาทิ้งข้อคิดน่าสนใจว่า ถ้าภาครัฐสนับสนุนคนทำงานฝีมือ ชาวบ้านเหล่านี้จะได้ช่องทางในการทำกินเพิ่มขึ้นมากมาย ที่สำคัญกว่านั้นชาวบ้านจะได้เห็นว่าฝีมือของพวกเขานั้นล้ำค่า หากต่อยอดมันด้วยไอเดีย มูลค่าก็น่าจะเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว เมื่อชีวิตคนที่ทุ่มเททำงานคราฟต์ดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศไทยเราก็น่าจะดีขึ้นเช่นเดียวกัน