‘สรรพรส’ ร้านอาหารไทยออร์แกนิกที่ใช้ทักษะการปรุงไม่แพ้น้ำยาสรรพรสแต่ราคาไม่เกินร้อย

Highlights

  • สรรพรส คือร้านอาหารออร์แกนิกฟิวชั่นที่ต้องการส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับลูกค้าด้วยราคาสบายกระเป๋า โดย กิ๊ฟลลิตา มิตรวิจารณ์ และ สไมล์ชุติมณฑน์ ศิวาวุธ สองสาวเพื่อนรักผู้ตั้งใจสร้างสรรค์เมนูอาหารออร์แกนิกอันหลากหลายและเข้าถึงทุกคน
  • แต่กว่าจะเป็นอาหารที่พร้อมเสิร์ฟ เจ้าของร้านทั้งสองต้องออกเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ เปิดเอกสารงานวิจัย ค้นหาวัตถุดิบที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้เมนูสุขภาพดีแบบไทยๆ ที่มีคุณภาพคับคั่ง ตอบโจทย์ต่อคนทุกวัยไม่ว่าไทยหรือเทศ ในราคาไม่เกินร้อยบาท
  • นอกจากสุขภาพของคนที่ร้านสรรพรสจะห่วงใยแล้ว สุขภาพของโลกก็เป็นอีกสิ่งที่เจ้าของร้านตั้งใจดูแลและอยากส่งต่อแนวคิด eco-friendly ให้ลูกค้าที่เข้ามาได้ร่วมใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

หากคุณเป็นอีกคนที่เคยสัญญากับตัวเองว่าจะขอเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพบ้าง แต่ความตั้งใจต้องหล่นหายไปตามกาลเวลา เพราะนอกจากจะแพ้ใจให้อาหารที่คุ้นเคยแล้ว ราคาอาหารออร์แกนิกก็ไม่ได้ทำให้กระเป๋าสตางค์คุณสบายใจเท่าไหร่นัก เราขอยกมือโอบไหล่ ตบบ่า เพื่อบอกว่าต่อไปนี้คุณจะไม่ต้องผิดสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองแล้ว

เพราะร้านที่คัดสรรวัตถุดิบออร์แกนิกด้วยความตั้งใจผสมผสานสุขภาพดีลงไปในทุกๆ เมนูอาหารด้วยราคาไม่เกินร้อยบาทมีอยู่จริง!

ท่ามกลางร้านอาหารนับร้อยในย่านอารีย์ ‘สรรพรส’ คือร้านอาหารออร์แกนิกฟิวชั่นที่ต้องการส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับลูกค้าด้วยราคาสบายกระเป๋า โดย กิ๊ฟลลิตา มิตรวิจารณ์ และ สไมล์ชุติมณฑน์ ศิวาวุธ สองสาวเพื่อนรักผู้ตั้งใจสร้างสรรค์เมนูอาหารออร์แกนิกอันหลากหลายและเข้าถึงทุกคน

แน่นอน นี่ไม่ใช่เมนูออร์แกนิกอย่างที่เราคุ้นเคย เพราะอาหารเพื่อสุขภาพของสรรพรสได้แรงบันดาลใจมาจากอาหารไทยที่เจ้าของร้านทั้งสองทุ่มเทขึ้นเหนือล่องใต้ไปเรียนรู้อาหารพื้นถิ่น พลิกกระดาษศึกษาเอกสารงานวิจัยเพื่อรังสรรค์ให้เป็นอาหารออร์แกนิกสัญชาติไทยที่ทันสมัยเข้าถึงได้ทุกชาติ

รสชาติสุขภาพดีแบบสรรพรสจะเป็นยังไง กิ๊ฟและสไมล์พร้อมออกจากหน้าเตามาเล่าให้เราฟังแล้ว

จากก้นครัวคอนโดสู่ร้านอาหารออร์แกนิกในย่านอารีย์

หากถามถึงจุดเริ่มต้นการก่อตั้งร้านสรรพรส กิ๊ฟและสไมล์พาเราย้อนไปวันที่พวกเธอลงมือทำอาหารกินเองที่ห้องครัวในคอนโด

“ตอนนั้นเราสองคนมีปัญหาสุขภาพคนละแบบ ร่างกายกิ๊ฟย่อยแลคโตสไม่ดี ทำให้ท้องอืดหรือบางทีท้องเสีย ส่วนเราแพ้ผงชูรส หลังๆ ลิ้นชา แล้วก็บวมมีเม็ดตุ่มขึ้น เราเห็นว่ากิ๊ฟทำอาหารกินเองอยู่แล้ว เลยมาปรึกษาว่าจะทำยังไงดี อยากกินอาหารดีๆ และอร่อย รสชาติไม่ได้คลีนๆ หรือธรรมดา” สไมล์เริ่มต้นเล่า

เมนูแรกที่สองสาวลองทำคือหอมเคยกับละอ่อนคำ หรือน้ำพริกกะปิและน้ำพริกหนุ่ม ทั้งคู่บอกกับเราว่าด้วยความชื่นชอบอาหารเบาๆ ไม่หนักมาก ทำให้พวกเธอเลือกทำใน​สิ่งที่ชอบกินก่อน

“พวกเราคิดสูตรน้ำปรุงหรือก็คือน้ำพริก แต่เราเรียกน้ำปรุงเพราะมันสามารถนำไปประกอบเป็นเมนูอาหารอื่นๆ ได้ เราออกแบบเมนูกันจนเป็นเซตอาหารออกมา ลองผิดลองถูกเยอะมากจนได้เมนูที่ชอบ เลยลองเปิดพรีออร์เดอร์ขายออนไลน์ เริ่มแรกมีออร์เดอร์จากกลุ่มเพื่อนในแวดวงออฟฟิศเราก่อน” สไมล์เล่าต่อ

เปิดขายได้ไม่นานผลตอบรับดีเกินความคาดหมายของพวกเธอ จากช่วงแรกที่มีออร์เดอร์ 10-20 กล่อง ก็ไต่ระดับมาจนถึงร้อยกล่องในเวลาเพียง 2-3 เดือน 

“ฟีดแบ็กดีมาก ลูกค้าส่งต่อปากต่อปาก แล้วตอนหลังติดต่อให้จัดสัมมนา ให้ไปออกงานอีเวนต์ แล้วเราไปดร็อปตามบีทีเอสเองเลยนะ ลูกค้าก็บอกว่าสั่งจากละแวกนี้เยอะ บอกว่าอาหารหน้าตาน่ากินมาก มีหน้าร้านหน่อยได้ไหม ตอนหลังก็เลยคุยกับกิ๊ฟ งั้นลองเปิดหน้าร้านเล็กๆ ดูก่อน” 

แรงบันดาลใจจากอาหารไทยสู่อาหารออร์แกนิกฟิวชั่น

เมื่อมีฟีดแบ็กที่ดีในการขายออนไลน์จนกระทั่งมาเปิดหน้าร้านในย่านอารีย์ กิ๊ฟและสไมล์จึงค่อยๆ ต่อยอดเมนูอาหารให้หลากหลายมากขึ้น จากเมนูน้ำพริกที่พวกเธอช่วยกันสร้างสรรค์ในครัวจนออกมาเป็นอาหารฟิวชั่นชื่อแปลกหู ไม่ว่าจะเป็นหอมเคย ไฉไล ละอ่อนคำ พันคำ หรือลังชุบ 

“ลูกค้ามาถึงก็ถามทุกคนเหมือนกันว่ามันคืออะไร” กิ๊ฟพูดขึ้น หลังจากเห็นเราทำหน้าฉงนให้กับเมนูอาหารตรงหน้า ก่อนที่ทั้งสองจะค่อยๆ อธิบายแต่ละเมนูให้เราฟัง

“อาหารร้านเราเป็นแบบฟิวชั่น มันคือการประยุกต์ขึ้นมาใหม่ ชื่อแต่ละเมนูเราตั้งใจใช้ชื่อภาษาไทยโบราณเพราะทุกเมนูแรงบันดาลใจมันเริ่มจากการเป็นอาหารไทย เราก็เลยคิดว่าถ้ามันพูดถึงความเป็นไทย ไม่มีอะไรสื่อได้ดีกว่าภาษาไทยแล้ว” กิ๊ฟบอกเหตุผลก่อนที่สไมล์ค่อยๆ อธิบายความหมายของแต่ละเมนูให้เราทำความรู้จัก 

“อย่างหอมเคย คำว่าเคยก็มาจากกุ้ง มันคือการบอกว่าหอมเคยกุ้ง เมนูนี้จะเสิร์ฟเป็นข้าวกล้องคู่กับปลาทู ผักสดห่อด้วยเต้าหู้เป็นท็อปปิ้ง และมีน้ำปรุงหอมเคยซึ่งก็คือน้ำพริกกะปิราดให้ หรือว่าเมนูลังชุบ มันคือคำว่าปลาลังผสมกับน้ำชุบ ปลาลังคือปลาทู ส่วนน้ำชุบคือน้ำพริกในภาษาใต้ เพราะเมนูลังชุบเราได้แรงบันดาลใจมาจากอาหารใต้ เมนูนี้เราจะเสิร์ฟปลาทูราดด้วยน้ำพริกมาคู่กับข้าวกล้อง”  

ทั้งสองยังอธิบายเหตุผลด้วยว่าที่ใช้ชื่อไทยเข้ามาเรียกแต่ละเมนูอาหาร เพราะอยากให้คนเริ่มหันมาสนใจอาหารไทยมากขึ้น ไม่ได้มองเป็นเพียงข้าวแกงทั่วไปหรือสำรับบนโต๊ะอาหารราคาแพงที่คนไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกวัน และที่สำคัญเป็นการสร้างภาพจำเกี่ยวกับอาหารไทยในรูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงชาวต่างชาติได้อีกด้วย

“เราอยากให้ฝรั่งเข้าใจว่าอาหารไทยไม่ได้มีแค่ผัดไทย หมูสะเต๊ะ หรือต้มยำกุ้งนะ แต่มีอาหารแบบอื่นๆ ด้วย อย่างสมัยก่อนที่กะทิยังไม่เข้ามา คนไทยกินน้ำพริก เราก็เลยเอาน้ำพริกมาเป็นส่วนประกอบ แต่เราเรียกว่าน้ำปรุง แล้วก็ออกแบบอาหารให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ทั้งคนไทยรุ่นใหม่และฝรั่ง” กิ๊ฟพูดจบก็แนะนำให้เรารู้จักกับพันคำ เมนูฟิวชั่นที่เธอกับสไมล์นำเนื้อสัตว์พร้อมผักออร์แกนิกมาห่อด้วยแป้งที่ทำขึ้นมาเอง 

นอกจากเมนูที่คิดค้นมาอย่างร่วมสมัยแล้ว กิ๊ฟและสไมล์ยังสร้างสรรค์ตัวเลือกอื่นๆ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากน้ำพริกไทยให้ลูกค้าได้เพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนเข้าไปในแต่ละเมนู อย่างน้ำปรุงที่ร้านก็มีให้เลือกถึง 5 แบบ

“ตอนแรกเรามีน้ำปรุง 2 แบบคือ หอมเคยและละอ่อนคำ ซึ่งก็คือน้ำพริกหนุ่ม เรารู้สึกว่าสองอย่างนี้กินง่ายและคนไทยรู้จักเยอะ แต่อยากให้มีรสชาติอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เราก็เลยเพิ่มน้ำชุบเข้ามาอีก ซึ่งก็คือน้ำพริกใต้ที่เรารู้สึกว่ามีความใกล้เคียงกับยำ เพราะคนไทยชอบกินยำ นอกจากนี้ก็มีสลัดละอ่อนคำ คือการมิกซ์ระหว่างละอ่อนคำกับครีมที่เราตีขึ้นมาเอง เพื่อให้รสชาติละมุน ต่างชาติกินง่าย ส่วนเขอซ้มที่เราเพิ่มมาเป็นตัวสุดท้าย มันคือมะเขือ อันนี้เราได้แรงบันดาลใจมาจากน้ำพริกอ่อง วีแกนกินได้ เราก็พยายามเพิ่มเข้ามาเพื่อให้เป็นอีกตัวเลือกสำหรับคนที่เป็นวีแกนด้วย” กิ๊ฟอธิบายพร้อมชี้ให้เราดูเมนูก่อนที่สไมล์จะแอบเล่าให้เราฟังว่า

“แต่กว่าจะได้แต่ละตัวเลือกเมนูเหล่านี้เราเดินทางกันเยอะมาก ไปกินร้านอาหารใต้  ไปต่างจังหวัดเพื่อดูว่ามีอะไรบ้าง ไปกินนู่นไปกินนี่ เพราะอยากให้อาหารที่เราทำออกมามีความเป็นไทยด้วยจริงๆ”  

‘สรรพรส’ หลากหลายรสชาติออร์แกนิกเพื่อสุขภาพของคุณ

นอกจากความตั้งใจที่อยากให้อาหารออร์แกนิกมีความเป็นไทยแล้ว อีกสิ่งที่ทั้งสองอยากให้อาหารในร้านสรรพรสตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลายคือการมีเมนูอาหารที่ไม่ว่าคนทั่วไปหรือวีแกนก็สามารถกินได้ทั้งคู่  

“เราเป็นวีแกน ส่วนเพื่อนกินเนื้อสัตว์ปกติ เวลาไปกินข้าวที่ไหนหาร้านที่จะเสิร์ฟทั้งสองอย่างยากมาก แล้วอีกอย่างคือในบ้านเราอาหารสำหรับวีแกนที่หลากหลายไม่มีเลย คนมักจะนึกว่าคนไม่ทานเนื้อสัตว์ต้องกินแต่เต้าหู้กับผักหรือโปรตีนเกษตร” กิ๊ฟแอบบ่นให้เราฟัง 

ทั้งสองจึงออกแบบอาหารสำหรับวีแกนขึ้นมาสองอย่างโดยใช้ส่วนผสมที่ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กลายร่างออกมามีสีและรูปร่างคล้ายเนื้อวัวและเนื้อไก่

“คนกินวีแกนไม่ได้หมายความว่าไม่อยากลิ้มรสหรือได้กลิ่นเนื้อสัตว์นะ เขาแค่ไม่ชอบขั้นตอนการที่สัตว์ถูกทรีต ดังนั้นเมนูที่เราออกแบบเลยมีการแต่งกลิ่นโดยใช้ herb และ spice ทำให้กลิ่นและสีของอาหารเหมือนเนื้อวัว แต่ถ้ากัดเข้าไปจะรู้ว่ารสชาติไม่ใช่เนื้อสัตว์” กิ๊ฟอธิบายเสร็จก็นำเมนูไฉไลวีแกน ขนมปังประกบเนื้อที่เธอทำขึ้นมาเสิร์ฟให้เราได้ลิ้มลองรสชาติ

สีสันข้างนอกคล้ายกับเนื้อจริงๆ ทำให้เราแอบคิดไม่ได้ว่ามีส่วนผสมของเนื้อรวมอยู่ด้วย แต่กิ๊ฟบอกกับเราว่าทั้งหมดนี้ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ไข่ นม รวมอยู่เลย แต่เธอใช้ธัญพืช ถั่ว 5 สี และเห็ดปรุงด้วยกระเทียม พริกไทย เพื่อให้สีและกลิ่นเหมือนเนื้อสัตว์แทน นอกจากนี้ยังมีเนื้อไก่แบบวีแกนที่รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนไก่ทอดมาเสิร์ฟให้ลูกค้าด้วย

“หลายคนเข้าใจผิดว่ามันคือเนื้อไก่ แต่จริงๆ คือขนุนที่เอามาเคี่ยวให้ได้กลิ่น แล้วนำมาฉีกเป็นชิ้นๆ จากนั้นเอาไปทอดจนได้สีเหมือนเนื้อไก่จริงๆ ซึ่งกว่าจะได้สองเมนูนี้เราทำรีเสิร์ชเยอะมาก คุยกับคนที่เป็นวีแกนมา 10 ปี ดูข้อมูลทางการวิจัยที่เขาทำปริญญาเอกเรื่องสารอาหารจากวีแกน แล้วเอามาประยุกต์ให้เป็นสไตล์ของเรา” กิ๊ฟอธิบาย

นอกจากอาหารที่เสิร์ฟให้วีแกนแล้ว สรรพรสยังมีเมนูออร์แกนิกที่เสิร์ฟพร้อมเนื้อสัตว์ให้เราได้เลือก โดยแต่ละเมนูหลักของร้านไม่ว่าจะเป็นไฉไล พันคำ ชุดข้าวหอมเคย หรือละอ่อนคำ ลูกค้าก็สามารถเปลี่ยนตัวเลือกแป้ง ข้าวหรือน้ำปรุงได้ตามที่ใจต้องการ

“เรามีขนมปังโฮมเมดที่ทำเอง เป็นซอฟต์บันแบบวีแกน คนจะไม่รู้เลยว่าไม่ใส่นม ไข่ หรือมาการีน เนย เพราะผิวสัมผัสเหมือนขนมปังปกติ  ถ้าหากเมนูไหนลูกค้าอยากลองเปลี่ยนไปกินกับขนมปังบ้างก็ลองได้” กิ๊ฟบอกกับเรา

“เมนูเราค่อนข้างวาไรตี้ ลูกค้าบางคนมาทุกวัน เขาบอกว่าซื้อสามอาทิตย์แล้วเมนูยังไม่ซ้ำเลย เพราะว่ามันมีตัวเลือกให้ได้เลือกเยอะ สมมติว่าวันนี้ไม่อยากกินไก่ขอเปลี่ยนเป็นปลาได้ไหม หรือวันนี้อยากกินขนมปังไม่อยากกินข้าว ก็เลือกเองได้หมดเลย” สไมล์อธิบาย

 แต่ถ้าใครได้จัดการอาหารหลักกันจนอิ่มหนำและต้องการของหวานต่อท้าย สรรพรสก็พร้อมเสิร์ฟทั้งบราวนี่ ช็อกโกแลตฟัดจ์เค้ก ไปจนถึงโดนัทชุ่มฉ่ำด้วยครีมวานิลลา ที่สำคัญคือทั้งหมดนี้ใช้วัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพและวีแกนก็กินได้อีก

“สำหรับเรา ลูกค้าที่มาไม่จำเป็นต้องกินคลีนหรือกินเฮลตี้ทุกคน บางคนที่ไม่กลัวอ้วน ขอของหวานมาเลย ก็สามารถกินร้านเราได้หมด  แล้วขนมที่เราทำมีทั้งส่วนผสมแบบไร้แป้ง และแบบแป้งไม่ขัดสีอย่างโฮลวีตร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือแบบใช้ธัญพืช อย่างโดนัทไส้วานิลลาเราก็เลือกใช้วานิลลาบีน ไม่ใช่แบบ extract แบบน้ำใสๆ เพราะว่าแบบบีนกลิ่นดีกว่า เพราะมาจากธรรมชาติแท้ๆ”  

 

คัดสรรวัตถุดิบด้วยความใส่ใจ

แต่กว่าจะออกมาเป็นอาหารหลากหลายรสชาติ หลากหลายรูปแบบ ทั้งสองบอกกับเราว่าต้องทุ่มเทในการค้นหาส่วนผสมและวัตถุดิบให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ผัก และเนื้อสัตว์ต่างๆ 

“ข้าวที่เราเลือกใช้เป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ผสมกับข้าวที่เป็นดัชนีมวลน้ำตาลต่ำ คือน้ำตาลต่ำกว่าข้าวปกติ ซึ่งจะช่วยคนที่เป็นโรคเบาหวานได้”

สไมล์ยังบอกอีกว่าพันธุ์ข้าวแต่ละชนิดที่นำมาใช้เธอและกิ๊ฟเลือกจากเกษตรกรที่ผ่านการวิจัยมาแล้ว พยายามเลือกจากหลายๆ เจ้าที่มีข้าวตามฤดูกาลต่างๆ หากข้าวพันธุ์ไหนที่ไม่มีในช่วงนั้นๆ พวกเธอจะเลือกพันธุ์อื่นเป็นวัตถุดิบแทน 

“เราคิดว่ามันควรเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะถ้าไปตามหาพันธุ์ที่มันไม่มีในฤดูนั้นอาจจะเสี่ยงต่อการใช้สารเคมีก็ได้ ไม่ใช่แค่กับข้าว แต่ยังรวมถึงส่วนผสมอื่นๆ ที่เราเอามาทำอาหาร อย่างส้มหรืออัญชันที่เอามาทำเป็นน้ำส้มปากกับชัญชื่น ถ้าไม่มีวัตถุดิบเราก็จะบอกลูกค้าตรงๆ เลย”  

เราว่าจำเป็นต้องรู้ส่วนประกอบทั้งหมด ดังนั้นก่อนไปทำอะไรเรารีเสิร์ชกันเยอะมาก ข้าวของเกษตรกรคนนี้เป็นยังไง บริษัทนี้เลือกใช้ส่วนผสมอะไรบ้าง เราถามจนเซลล์ที่ขายต้องไปถามเจ้าของ เราอ่านหนังสือ อ่านตำราอาหาร หาข้อมูลกันเยอะมากจนนึกว่าเรียนปริญญาเอก” เราหัวเราะครืนหลังกิ๊ฟพูดจบ

ห่วงใยใส่ใจสุขภาพโลก

นอกจากการเลือกวัตถุดิบเพื่อสร้างสรรค์อาหารสุขภาพดีแล้ว สิ่งที่กิ๊ฟและสไมล์ใส่ใจคือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งดใช้พลาสติกและใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติเสิร์ฟคู่ไปกับอาหารออร์แกนิกเพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคนและโลก  

“คอนเซปต์ของร้านคือ eco-friendly ตั้งแต่ทำออนไลน์อยู่แล้ว พยายามใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด เปลี่ยนจากกล่องกระดาษมาห่อใบตอง” สไมล์เล่า

ไม่เพียงแค่อาหารอย่างหอมเคย ละอ่อนคำ พันคำ หรือไฉไลที่ถึงมือลูกค้าด้วยการห่อใบตองหรือใส่กล่องกาบหมาก แต่น้ำปรุงซึ่งเป็นของเหลวทั้งสองคนก็ช่วยกันคิดค้นจนสามารถบรรจุใส่ใบตองได้สำเร็จ

“เราลองสำรวจมาแล้วพบว่าก่อนหน้านี้ยังไม่มีร้านไหนสามารถห่อของเหลวด้วยใบตองได้เลย จึงอยากทำให้สำเร็จ แต่กว่าจะทำได้เรางมกันเป็นบ้าไปเลย นั่งรีดนั่งห่อกัน เสียใบตองไปเยอะมาก เพราะใช้ใบตองห่อของเหลวไม่ใช่ง่ายๆ ทุ่มทุนนั่งรีเสิร์ชหาวิธีการห่อแบบโบราณ เปิดดูหนังสือเครื่องแกงเก่า หนังสือที่เกี่ยวกับเครื่องยาพระนารายณ์  จนกระทั่งสำเร็จ” กิ๊ฟอธิบาย

เหตุผลที่ทั้งสองยอมทุ่มเททำให้ใบตองสามารถห่อน้ำปรุงได้ นอกจากจะต้องการลดใช้ถุงพลาสติกแล้ว กิ๊ฟยังบอกกับเราว่าใบตองจะทำให้อาหารมีกลิ่นหอม และสามารถช่วยยืดอายุของอาหารได้ด้วย

แต่สำหรับใครที่อยากเลือกกินอาหารที่ร้าน เมนูสุขภาพดีของสรรพรสก็พร้อมเสิร์ฟมาให้ในเข่งปลาทู ใบตอง และจานกาบหมาก  ซึ่งหลังจากที่เรากินเสร็จแล้ว ยังมีอีกกิจกรรมที่เจ้าของร้านทั้งสองอยากให้เราลงมือทำกันด้วยตัวเอง

“เราอยากให้ลูกค้าแยกขยะเอง มีถังขยะอยู่ 3 แบบอยู่ข้างๆ ร้าน มี compost, recycle, general waste เราคิดสิ่งนี้ขึ้นมาเพราะอยากให้รู้จักแยกขยะอย่างถูกต้องเลย ในเมืองไทยไม่ค่อยมีสอนการแยกขยะเท่าไหร่ อย่างน้อยเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้ว่าเรื่องพวกนี้สำคัญนะ” กิ๊ฟอธิบาย

แต่สำหรับใครที่ไม่สะดวกกินที่ร้าน กิ๊ฟบอกกับเราว่าสามารถสั่งกลับบ้านไปทานได้ ยิ่งถ้านำกล่องมาใส่อาหารเองจะได้ลดราคาลง 5 บาททุกเมนู แต่ถ้าไม่มีกล่องมาทางร้านจะขอบวกเพิ่ม 5 บาท

“มีคนถามว่าทำไมต้องบวกเพิ่มเพราะปกติร้านอื่นก็เอาอาหารใส่บรรจุภัณฑ์ให้อยู่แล้ว แต่เราอยากให้คนพกกล่องมาใช้ เพราะถึงแม้จะบอกว่าเป็นวัสดุธรรมชาติ แต่สุดท้ายมันก็ต้องเป็นขยะอยู่ดี เพราะไม่ได้ย่อยภายในหนึ่งนาทีหลังจากที่เรากินเสร็จ เราคิดว่าอย่างน้อยจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ค่อยๆ เห็นว่าประหยัดได้วันละ 5 บาทก็ยังดีกว่าประหยัดไม่ได้เลย” กิ๊ฟอธิบาย

 

อาหารสุขภาพดีราคาไม่ถึงร้อย

แม้ว่าอาหารที่เสิร์ฟในร้านสรรพรสจะผ่านการคัดสรรวัตถุดิบและผ่านการรีเสิร์ชข้อมูลมามาก แต่อีกสิ่งที่เป็นความตั้งใจของทั้งสองคือการทำอาหารออร์แกนิกในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทำให้อาหารที่ราคาสูงสุดของร้านอยู่ในราคา 90 บาท

“เราเคยทำงานบริษัท มีช่วงหนึ่งกินคลีนเพื่อควบคุมแคลอรี่เลยสั่งเซตอาหารมาเป็นกล่อง ปรากฏว่ากินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม กลายเป็นว่าเสียเงินเยอะ ไม่ผอม แล้วยังไม่อร่อยด้วย” สไมล์เล่า 

ช่วงหลังเมื่อทั้งสองเริ่มทำอาหารด้วยตัวเองถึงได้รู้ว่าต้นทุนวัตถุดิบที่เลือกใช้ไม่ได้แพงอย่างที่คิด แต่คำถามคือ ทำไมอาหารที่เคยซื้อกลับราคาสูง เมื่อเปิดร้านสรรพรส ทั้งสองจึงตั้งใจจะไม่ขายอาหารในราคานั้น

“คือเราคอนเซิร์นถึงคนที่ใช้ชีวิตในปัจจุบัน พนักงานออฟฟิศจะกินมื้อละร้อย สามมื้อ ทุกวันไม่ได้ อย่างน้อยถ้ากินอาหารของเรา โอเคคุณกินอิ่ม สุขภาพดีแน่ๆ ที่สำคัญราคาจับต้องได้ เพราะเราไม่ได้อยากให้คนรู้สึกว่าอาหารดีๆ ต้องแพง หรือว่าคนที่มีรายได้ไม่มากก็สามารถสัมผัสถึงอาหารที่มีคุณภาพได้” 

“เพราะถึงแม้ว่าเราจะทำธุรกิจ แต่เราจะคิดถึงคนที่เป็นลูกค้าตลอด คนส่วนใหญ่เวลาทำธุรกิจมักบอกว่าต้องได้กำไรเยอะๆ แต่เราคิดว่า ถ้ากำไรเยอะๆ มันก็ดีแค่กับคนขาย แล้วคนซื้อจะอยู่ยังไง ถ้าไม่เหลือบ่าไปกว่าแรง เราไม่ได้ลำบากขนาดนั้น ก็ถือว่าเราได้รับแล้วก็ให้ไปพร้อมๆ กันน่าจะดีกว่า ถือว่าช่วยกันทุกฝ่าย ช่วยคนกิน ช่วยเกษตรกร ช่วยตัวเราเอง มันน่าจะดีกว่าด้วย”


สรรพรส (Sapparos)
address: ซอยอารีย์ 1
hours: จันทร์-ศุกร์ 07:30-18:00 น. หยุดเสาร์-อาทิตย์
tel: 094-414-1946
facebook: Sapparos

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่