เบื้องหลังวิธีคิดการออกแบบศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ พื้นที่แห่งใหม่เพื่อจุดประกายการเรียนรู้สร้างเด็กธรรมดาให้สวยงาม

Highlights

  • ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าโดยทีเอ็มบี คือศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนที่ตอบโจทย์ความสนใจและความต้องการของเด็ก เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุ 12-17 ปีซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะและพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต โดยเปิดพื้นที่มาแล้ว 4 แห่งในกรุงเทพฯ คือ ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์, ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ, ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า จันทน์ และศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า บางกอกน้อย
  • ทีเอ็มบีตั้งใจออกแบบศูนย์เรียนรู้ในแต่ละแห่งเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานและเข้าถึงบริบทชุมชนด้วยการดึงเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่มาผสมผสานกับตัวอาคาร โดยมีการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของคนในชุมชนก่อนลงมือออกแบบทั้งเนื้อหาและพื้นที่
  • ในปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 10 ทีเอ็มบีได้สร้างศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นศูนย์ฯ แห่งแรกที่ตั้งนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ทีเอ็มบียังคงเน้นการออกแบบที่ตอบโจทย์ชุมชน โดยออกแบบพื้นที่ร่วมกับทีมนักออกแบบภายในจาก Erdini DeSign มีการดึงแนวคิดสายน้ำเข้ามาสร้างสรรค์พื้นที่ให้เด็กรู้สึกสนุกและสนใจที่จะเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าแห่งนี้

‘เด็กคืออนาคต’ ดูจะเป็นประโยคที่ได้ยินกันมานาน 

แต่การจะสร้างเด็กให้เติบโตเพื่อเป็นอนาคตที่งดงามนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมาก ไม่ใช่เพียงแค่การเรียนวิชาการในห้องเรียน แต่ยังรวมไปถึงการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะอื่นๆ ในชีวิต โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ซึ่งใช่ว่าเด็กทุกคนจะได้รับโอกาสนั้น ยังคงมีเด็กอีกจำนวนมากที่ขาดโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

จากอุปสรรคดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์เรียนรู้เพื่อเยาวชนในชุมชนที่ชื่อว่า ‘ไฟ-ฟ้า’  

เมื่อทีเอ็มบีเล็งเห็นปัญหาและเชื่อว่าเด็กทุกคนมีพลังและศักยภาพซ่อนอยู่ อีกทั้งอยากส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ทักษะ มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถ เพื่อค้นพบศักยภาพของตนเองและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนไปในทางที่ดี จึงเริ่มทำสถานที่แห่งนี้เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเด็กในช่วงอายุ 12-17 ปีที่มาจากครอบครัวรายได้น้อยให้เข้ามาร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะและทักษะการใช้ชีวิต เช่น วาดรูป ร้องเพลง เต้น กีตาร์ มวยไทย เทควันโด ทำอาหาร และอื่นๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ 

ก้าวสู่ปีที่ 10 ของศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กในชุมชนมาแล้ว 4 แห่งคือ ประดิพัทธ์, ประชาอุทิศ, จันทน์ และบางกอกน้อย โดยแต่ละศูนย์จะมีการออกแบบเนื้อหาวิชาและพื้นที่ให้ตอบโจทย์กับการใช้งานและความสนใจของเด็กแต่ละชุมชน โดยในปีนี้ทีเอ็มบีได้ขยายพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าจากกรุงเทพฯ ออกสู่ปริมณฑล เกิดเป็น ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ตอบสนองความสนใจของเด็กในชุมชนปากน้ำ

แล้วการสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้ตอบโจทย์เด็กในแต่ละชุมชนนั้นทำยังไง หากคุณสงสัย เรานำคำถามไปหาคำตอบกับ เอ–นิรันดร์ เมฆโปธิ และ เอ็ดดี้–ณภัทร มหาอุดมพร นักออกแบบภายในจาก Erdini DeSign ที่จะมาบอกเล่าแนวคิดการออกแบบศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการให้เข้าถึงเด็กๆ ชุมชนปากน้ำได้อย่างเป็นมิตร  

การออกแบบพื้นที่อย่างเป็นเอกลักษณ์เพื่อสร้างจุดสนใจและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน

ที่ผ่านมา ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้ามีแนวคิดในการออกแบบอาคารในแต่ละศูนย์ให้มีเอกลักษณ์เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน และออกแบบตัวอาคารให้น่าสนใจเพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม

ตั้งแต่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าแห่งแรกบนถนนประดิพัทธ์ ซึ่งมีแนวคิดสร้างอาคารโปร่งโล่งสบายเพื่อให้มีแสงธรรมชาติเข้ามาในอาคาร และมีการเลือกใช้วัสดุอย่างผนังอิฐสีน้ำตาลแดงเพื่อแสดงถึงวิถีชีวิตชุมชนแบบไทย หรืออย่างศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า บางกอกน้อยก็นำเอกลักษณ์การใช้ชีวิตของคนไทยในชุมชนมาออกแบบอาคารให้เหมือนลานกลางแจ้งสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ โดยให้มีแสงจากธรรมชาติและอากาศปลอดโล่ง

โดยในแต่ละพื้นที่จะคำนึงถึงความต้องการของเด็กๆ ในชุมชนเป็นหลัก ทั้งเรื่องการออกแบบห้องเรียนและวิชาเรียน รวมถึงที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าแห่งใหม่ล่าสุดที่สมุทรปราการก็ได้ให้หลักสำคัญของเด็กเป็นตัวตั้งในการออกแบบเช่นกัน

“การออกแบบที่นี่จะนึกถึงผู้มาใช้งานเป็นหลัก นั่นคือเด็กในพื้นที่” เอ็ดดี้เริ่มต้นอธิบาย “ซึ่งเด็กจะคุ้นเคยสิ่งที่ใกล้ตัว เราเลยพยายามค้นหาและดึงวัฒนธรรมในพื้นที่มาใช้”

“เราเริ่มจากการระดมความคิดกันก่อนว่าสมุทรปราการมีอะไรบ้าง สภาพแวดล้อมเป็นยังไง แล้วก็พบว่าสิ่งที่เราอยากนำเสนอก็คือ ‘สายน้ำ’ เพราะสมุทรปราการเป็นเมืองแห่งน้ำ ประกอบกับจุดที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าอยู่ในย่านชุมชนปากน้ำ เราจึงนำทั้งสายน้ำและวัฒนธรรมในชุมชนมาผสมผสานกัน ถ้าให้เห็นภาพรวมก่อน มันจะออกมาเป็นโทนสีฟ้า สีน้ำทะเล และเสริมลูกเล่นด้วยภาพศิลปะบนกำแพงจากศิลปินอาสาสมัครที่บอกเล่าถึงสถานที่ต่างๆ ในสมุทรปราการด้วย” เอแจกแจงแนวคิดตั้งต้น

อีกโจทย์ในการออกแบบครั้งนี้คือ การสร้างพื้นที่การเรียนรู้นี้ให้เป็นที่สนใจของเด็กๆ ซึ่งพร้อมจะเปิดประตูเข้ามาเปิดโลกและเรียนรู้กันที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าแห่งนี้

“จริงๆ โจทย์นี้ไม่ง่ายเลย เพราะบางคนอาจจะยังไม่รู้จักว่าไฟ-ฟ้าคืออะไร เราเลยต้องพยายามสร้างสิ่งที่ทำให้พวกเขาสนใจขึ้นมา เช่น ด้านหน้าตึกจะมีฟาซาด (facade) หรือการตกแต่งภายนอกอาคาร ที่เราออกแบบมาจากแนวคิดความลื่นไหลของน้ำ และการออกแบบให้เป็นฟองอากาศของน้ำ ซึ่งในตอนกลางคืนจะมีแสงไฟตรงกลางฟองอากาศส่องสว่างออกมาและเปลี่ยนสี ไล่เฉดได้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากแพลงก์ตอน ทำให้ตึกแถวธรรมดามันดูมีอะไรน่าสนใจขึ้น” เออธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ทีมออกแบบยังเลือกให้ทางเข้าด้านหน้าศูนย์ฯ เป็นกระจกทั้งหมดเพื่อให้คนจากข้างนอกเห็นกิจกรรมและบรรยากาศข้างในที่น่าสนใจและสะดุดตา เช่น สีสันสดใสในมุมห้องสมุด หรือภาพศิลปะบนกำแพงฝีมือศิลปินอาสาสมัคร

นอกจากอาคารภายนอกที่อยากดึงดูดให้เด็กๆ สนใจโดยเชื่อมโยงกับแนวคิดสายน้ำแล้ว เมื่อเดินเข้ามาข้างในเราจะได้สัมผัสกับโทนสีฟ้าและรูปทรงวงกลมน้อยใหญ่ทั่วอาคาร

“เมื่อออกแบบมาเพื่อเด็กๆ ฉะนั้นรูปทรงที่เราใช้จะเน้นรูปทรงที่เป็นเรขาคณิต บวกกับแนวคิดที่บอกให้เห็นว่าเป็นเมืองแห่งสายน้ำ เราเลยนึกถึงฟองอากาศ จึงนำเอารูปแบบที่เป็นวงกลมมาใช้ เราเลือกแบบง่ายๆ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ง่าย” เอ็ดดี้อธิบายเสริม

ไม่ใช่แค่สีและรูปเรขาคณิตอย่างวงกลมที่เป็นตัวแทนของน้ำในอาคารนี้ เอและเอ็ดดี้บอกกับเราว่าเขาสร้างลูกเล่นให้กับศูนย์เรียนรู้ด้วยการออกแบบแต่ละชั้นให้ตอบโจทย์ตามแนวคิดที่ต้องการด้วย

“พื้นวัสดุที่เราเลือกใช้ อย่างเช่นกระเบื้องยางที่ชั้น 1” เอพูดแล้วชี้ให้เราดูพื้นบริเวณชั้น 1 “เราเลือกกระเบื้องยางที่มันเปลี่ยนสี ไล่เฉดเรื่อยๆ เหมือนน้ำ” 

“ที่นี่มีทั้งหมด 5 ชั้นรวมดาดฟ้า ถ้าลองเดินขึ้นไปเรื่อยๆ จะสังเกตเห็นว่าสีห้องจะต่างกัน สีชั้นล่างก็จะเป็นน้ำเงินเข้ม ชั้นต่อๆ ไปจะเริ่มไล่เฉดอ่อนลงเรื่อยๆ นั่นคือการไล่ระดับเหมือนความลึกของน้ำ จากน้ำลึกขึ้นไปจนถึงน้ำตื้น” เออธิบาย  

อีกสิ่งที่ทีมออกแบบให้ความสำคัญคือการผสมผสานวัฒนธรรมในพื้นที่เข้ามาตกแต่งภายใน เพื่อสร้างความคุ้นชินให้กับเด็กๆ

“ก่อนหน้านี้เราลงพื้นที่สำรวจก่อนด้วยว่าในละแวกนี้มีวัฒนธรรมอะไรที่น่าสนใจ เพื่อเพิ่มเติมให้ศูนย์ฯ กลมกลืนกับพื้นที่ เห็นอาคารฝั่งตรงข้ามไหม ผมอยากให้ลองสังเกตหลังคาดู” เอชี้ไปยังอาคารตรงข้ามให้เราสังเกตรูปแบบหลังคาสีน้ำตาลแปลกตา

“เราดึงรูปแบบตรงนั้นมาตกแต่งเพิ่มเข้าไปในศูนย์ฯ ด้วย” คราวนี้เขาชี้มือไปที่หลังคาเล็กๆ ติดกำแพงชั้น 1 ในศูนย์ฯ นับเป็นการเลือกหยิบจับวัฒนธรรมใกล้ตัวมาเพิ่มเติม เป็นการทำน้อยแต่เห็นผลมาก

 

ออกแบบห้องเรียนให้ตอบโจทย์การเรียนรู้

นอกจากนี้ การออกแบบห้องให้ตอบโจทย์กับการใช้งานในวิชาเรียนต่างๆ เป็นอีกโจทย์ที่ทีมออกแบบให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

“วิชาที่ใช้พื้นที่กว้างเราจะสร้างให้พื้นที่เปิดโล่งเข้าหากันได้ อย่างเช่นห้องเรียนเทควันโดจะเป็น 2 ห้อง แต่สามารถเปิดผนังกับประตูรวมกันแล้วกลายเป็นห้องเดียวได้ ซึ่งสามารถดัดแปลงได้ว่าวันนี้จะเป็นห้องอะไร” เออธิบาย ก่อนเอ็ดดี้จะช่วยเสริมว่า

“อย่างห้องเทควันโดนี่จริงๆ ไม่ใช่แค่ห้องเรียนเทควันโด แต่ยังใช้เรียนมวย เรียนเต้นได้ แล้วเราจะไม่จัดห้องไว้ชั้นบน เพราะไม่อย่างนั้นเต้นกันเสียงดังลงไปถึงข้างล่าง เด็กที่มาเรียนชั้นล่างอาจจะไม่มีสมาธิในชั้นเรียนของตัวเอง เราก็พยายามจัดลำดับความสำคัญตรงนี้ด้วย” เอ็ดดี้กล่าวด้วยรอยยิ้ม 

นอกจากรายละเอียดในห้องเรียนแล้ว พื้นที่ใช้สอยในมุมอื่นๆ ทีมออกแบบก็ใส่ใจเช่นกัน เช่น พื้นที่ชั้น 2 ซึ่งเอและเอ็ดดี้เล่าว่าพวกเขาออกแบบให้จัดแสดงผลงานของเด็กๆ ได้ โดยมีบาร์แขวนผลงานและไฟดวงเล็กเพิ่มแสงสว่างให้กับงาน หรือพื้นที่ห้องสมุดที่ดึงแนวคิดฟองอากาศของน้ำมาออกแบบเป็นที่นั่งอ่านหนังสือ ให้เด็กๆ รู้สึกอยากเข้ามาอ่านหนังสือที่นี่

“อย่างตรงบันไดด้านหน้าชั้น 1 เราไม่ได้ออกแบบให้เป็นบันไดเดินขึ้น-ลงอย่างเดียว แต่เรามองว่าเวลาศูนย์ฯ มีกิจกรรมอะไร มันสามารถให้เด็กๆ และคุณครูมานั่งทำกิจกรรมกันได้ ผู้ปกครองมาดูหรือนั่งรอเด็กได้” เออธิบาย

 

คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็ก

เมื่อพื้นที่แห่งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กได้เข้ามาใช้งาน การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงเด็กเป็นหลัก นอกจากการสร้างพื้นที่ให้เด็กรู้สึกสนุกสนานที่จะได้เข้ามาแล้ว อีกสิ่งที่ทีมออกแบบจะต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัย

“ต้องบอกก่อนว่าเดิมทีที่นี่เป็นอาคารเก่าที่มีห้องซอยย่อยหลายๆ ห้อง ลักษณะคล้ายโรงเรียนกวดวิชาเก่า” เอ็ดดี้อธิบายกับเรา “แต่เราต้องเอามาปรับให้มันมีห้องที่ตอบโจทย์วิชาที่เด็กจะเรียน ซึ่งบางวิชาใช้พื้นที่กว้าง เราจึงต้องรื้อห้องออกเหลือแต่โครงสร้างตึกไว้”

ทีมออกแบบยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะที่นี่เป็นอาคารเก่า โดยหลักการแล้วเมื่อมีการปรับปรุงจะต้องคำนึงถึงโครงสร้าง นั่นทำให้เขาต้องใส่ใจรายละเอียดอย่างมากในการทำให้โครงสร้างแข็งแรงแบบเดิมได้

“เรารื้อบันไดเก่าด้วยเพราะเดิมอาคารนี้บันไดอยู่ด้านหลัง แล้วเราคิดว่ามันไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของเด็ก เราเลยทำโครงสร้างใหม่ของบันไดด้วยการเจาะพื้นที่ตรงกลางตึกให้เป็นบันไดใหม่ แล้วปิดช่องบันไดเก่า” เออธิบาย 

ทีมออกแบบเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า พวกเขาพยายามเลือกใช้วัสดุที่ป้องกันการเกิดอันตรายกับเด็ก เช่น การเลือกใช้พื้นหรือกระเบื้องยางเพื่อลดความลื่น หรือพยายามไม่ใช้พื้นที่มีรอยต่อเยอะเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับเด็กเวลาวิ่งเล่น 

“อีกอย่างคือเราก็จะพยายามออกแบบไม่ให้มีจุดอับสายตา” เออธิบายก่อนที่เขาจะยกตัวอย่างเรื่องความปลอดภัยอีกว่า พื้นที่บันไดที่เรากำลังนั่งคุยอยู่นั้นทีมออกแบบก็เลือกใช้วัสดุกันชนหุ้มตรงมุมบันไดด้วยเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

“นอกจากวัสดุแล้วยังมีเรื่องความปลอดภัยของอาคาร ถ้าสังเกตข้างหลังเราทำบันไดหนีไฟเพิ่ม เพราะเดิมทีตึกแถวนี้ไม่มีบันไดหนีไฟที่เหมาะสำหรับการใช้งานกับกลุ่มคนเยอะๆ ทีมเราลองคิดว่าถ้าทุกคลาสเต็มเด็กจะค่อนข้างเยอะ ดังนั้นต้องทำบันไดหนีไฟเพิ่มเพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องหลักๆ ที่เราคุยกับทางศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าด้วย” เอเล่าให้ฟัง

อีกพื้นที่ที่ทีมออกแบบต้องคำนึงถึงอย่างมากคือชั้นดาดฟ้าของตึก เอและเอ็ดดี้บอกกับเราว่าโชคดีที่มีอาคารขนาบข้างศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าอยู่ แต่ที่น่าเป็นกังวลคือพื้นที่ด้านหน้าซึ่งพวกเขาต้องเลือกออกแบบเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กพลัดตก แต่ก็ต้องให้เห็นวิวข้างนอกด้วย

“ตอนแรกพื้นที่ด้านหน้ามีราวกันตกเตี้ยๆ ประมาณ 90 เซนติเมตรแค่นั้นเอง เราเลยดีไซน์เป็นแผงกันตกและทำ facade ให้สูง แต่ในขณะเดียวกันเราเสียดายวิวข้างนอก ไม่อยากให้มันปิดทึบหมด เราเลยออกแบบให้ facade ของเราเป็นซีทรู มองทะลุหอคอยในเมืองได้ เพื่อให้เห็นบรรยากาศ ที่สำคัญคือให้ลมพัดเข้ามาได้ ทำให้บรรยากาศข้างบนน่าขึ้นไปใช้งานมากขึ้น” เอ็ดดี้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า พวกเขาออกแบบพื้นที่ดาดฟ้าให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น ฉายหนังกลางแปลง ดูดาว ออกกำลังกาย หรือขึ้นไปทำกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ ก็ได้

“เราดีไซน์ให้มีลู่วิ่งและตารางตั้งเตที่เป็นการละเล่นของไทยเสริมเข้าไปด้วย” เอช่วยเสริม

ตลอดระยะเวลาการสนทนาเรื่องการออกแบบในครั้งนี้ ทำให้เราได้รู้ว่ารายละเอียดที่จะต้องใส่ใจนั้นมีอยู่มาก เพื่อให้ตอบโจทย์การสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กทุกคน

“ดังนั้นการออกแบบของเราไม่ใช่เพื่อสวยอย่างเดียว เพราะถ้าเด็กบอกว่ามันสวย แต่เข้ามาใช้แล้วไม่โอเคเลยก็คงไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเราจึงคำนึงถึงเด็กๆ เป็นหลัก เมื่อเราออกแบบมาแล้วจะต้องพัฒนาให้ตอบโจทย์ทั้งภายในอาคาร พื้นที่ใช้สอย ฟังก์ชั่นต่างๆ รวมไปถึงตอบโจทย์คนที่จะมาใช้อาคารนี้ด้วย” เอ็ดดี้อธิบายทิ้งท้าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก