ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม : เมื่อ ‘เรือไฟฟ้า’ ลำเดียวในไทยกลายเป็นห้องเรียนไฟฟ้าและวิถียั่งยืน

Highlights

  • โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างขึ้นบนเรือลำใหญ่ ซึ่งหอบเอาความสว่างไสวจากแดนอาทิตย์อุทัยมาสู่ไทยเมื่อราว 40 ปีก่อน
  • นอกจากจะเป็นโรงไฟฟ้าแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ในฐานะแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของภาคใต้ นำเสนอเทคนิคการก่อสร้างและการยึดโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ และมิติความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของการผลิตไฟฟ้าที่หลายคนคงเคยผ่านตามาสมัยเรียนชั้นมัธยม

เพราะต้นทางดีย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี

วลีดังกล่าวคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสถานที่ซึ่งปกติแล้วห่างไกลจากวิถีชีวิตพอสมควร ด้วยสถานที่นั้นคือ ‘โรงไฟฟ้า’ เก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

‘โรงไฟฟ้าขนอม’ เป็นมากกว่าแหล่งกำเนิดแสงสว่างตามบ้านเรือน เพราะสถานที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องไฟฟ้าแห่งใหญ่ในภาคใต้ที่ครบครันทั้งความรู้และทัศนียภาพสบายตา ที่สำคัญคือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่โอบรับเอาวิถีชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกัน

ความเก่าแก่ที่เรากล่าวข้างต้นนั้นย่อมไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่ปี ด้วยโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นความหวังของพี่น้องชาวใต้มานานหลายสิบปี ทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างขึ้นบนเรือลำใหญ่ ซึ่งหอบเอาความสว่างไสวจากแดนอาทิตย์อุทัยมาสู่ไทยเมื่อราว 40 ปีก่อน

แสงแรกแห่งความหวังบนเรือลำใหญ่

ย้อนเวลากลับไปเกือบครึ่งศตวรรษก่อน ในวันที่หลายจังหวัดภาคใต้ยังขาดแคลนการพัฒนา เนื่องจากกระแสไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงและการสร้างโรงไฟฟ้าสักโรงอาจต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี แน่นอนว่านานเกินกว่าสถานการณ์การขาดแคลนไฟฟ้าในภาคใต้จะรอไหว กระทั่งวันหนึ่งความหวังก็เรืองรองขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของ ‘โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ’ แห่งแรกของประเทศไทย ณ บริเวณปากน้ำขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นของชาวบ้านนับร้อย ทันทีที่เรือลำใหญ่จากแดนปลาดิบเดินทางมาเทียบท่า

และความน่าตื่นตาตื่นใจนั้นไม่ใช่แค่ขนาดของลำเรือ

ทว่ายังรวมถึงเทคนิคทางวิศวกรรมที่เรียกว่าล้ำหน้าในยุคนั้นของโรงไฟฟ้าประกอบสำเร็จที่สร้างอยู่บนเรือลำใหญ่ ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ในมหาสมุทรได้อย่างอิสระ ก่อนนำมาติดตั้งบริเวณปากน้ำด้วยนวัตกรรมด้านวิศวกรรมในสมัยนั้น จนกลายเป็นโรงไฟฟ้าถาวรบริเวณริมชายฝั่ง และเริ่มเดินหน้าผลิตไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของพี่น้องชาวใต้ในปี 2524 กระทั่งหมดสัญญาเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนสถานะโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไปตลอดกาล

จากแหล่งไฟฟ้าสู่แหล่งความรู้

แนวคิดในการเริ่มต้นพัฒนาโครงการศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมนั้นใช้เวลาถึงราว 3 ปี

เป็นระยะเวลาแห่งการเคี่ยวกรำทั้งองค์ความรู้ การออกแบบพื้นที่ และการสื่อสารอย่างประณีต ผ่านการจับมือกันทำงานระหว่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ร่วมกับเอสโก ในกลุ่มเอ็กโก และบริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) เรียกว่ามากกว่าระยะเวลาในการประกอบโรงไฟฟ้าเสียอีก จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงใช้เวลากับการปรับปรุงและพัฒนาถึงขนาดนี้

แต่คำถามดังกล่าวก็คลี่คลาย เมื่อเราได้สัมผัสกับบรรยากาศการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบอย่างละเอียดลออ ทั้งแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์ในฐานะแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของภาคใต้ รวมถึงการนำเสนอเทคนิคการก่อสร้างและการยึดโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ ที่ต้องอาศัยการขุดลอกผืนดินบริเวณปากแม่น้ำขนอมเป็นร่องลึกเพื่อนำเรือเทียบจอด ก่อนถมทับแผ่นดินให้แนบสนิท รวมถึงมิติความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของการผลิตไฟฟ้าที่หลายคนคงเคยผ่านตามาสมัยเรียนชั้นมัธยม ทว่าศูนย์เรียนรู้แห่งนี้นำมาย่อยและนำเสนอให้เข้าใจง่าย ผ่านสื่อมัลติมีเดียแบบอินเตอร์แอ็กทีฟที่ชวนให้เรารู้สึกว้าวตลอดเส้นทางการเดินชมนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องจุดกำเนิดของไฟฟ้าที่เปิดโอกาสให้เราได้ประลองกำลังในการปั่นไฟได้เต็มที่ หรือการนำเสนอเรื่องราวของกิจการไฟฟ้าไทยในห้องมืด ที่ให้เราดึงปลั๊กเพื่อเปิด-ปิดภาพด้วยตัวเอง รวมถึงสัมผัสประสบการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าขนอมกันชนิดสมจริง เช่น ส่วนจัดแสดง ‘ภารกิจกู้ไฟฟ้าวัน blackout day’ หรือสถานการณ์ไฟดับเป็นวงกว้าง ที่เจ้าหน้าที่ต้องจัดการแก้ไขอย่างทันท่วงทีภายใต้กรอบเวลาอันเร่งด่วน ซึ่งจัดแสดงอย่างสมจริงทั้งแสง สี เสียง และภาพเคลื่อนไหว ทำให้เรารู้ว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแสงสว่างนั้นต้องเสียสละขนาดไหน 

ปลายทางของการเรียนรู้คือการอยู่อย่างยั่งยืน

นอกเหนือจากมิติของความรู้เชิงประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอออกมาได้สุดสนุก ศูนย์เรียนรู้บนเรือลำใหญ่แห่งนี้ยังประกอบด้วยมิติด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ผ่านการนำเสนอกระบวนการจัดการภายในโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งทั้งหมดถูกนำมาจัดแสดงอย่างเป็นระบบให้เราได้ศึกษาแนวคิดในการอยู่ร่วมกับชุมชนชาวประมงในบริเวณใกล้เคียง หรือบริเวณปากน้ำขนอมซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่และแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด โดยเฉพาะ ‘โลมาสีชมพู’ ที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติบริเวณนี้มานานนับร้อยปี และปัจจุบันยังมีให้เห็นเมื่อทอดสายตาจากศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ไกลออกไปยังทะเลกว้างบริเวณปากน้ำขนอมแห่งนี้

การทำงานอนุรักษ์แบบทุ่มทั้งตัวและหัวใจนั้นเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งนี้จึงเป็นมากกว่าแหล่งผลิตแสงสว่าง แต่ยังเป็นความหวังในอีกหลายด้านของชุมชน ซึ่งความหวังเหล่านั้นได้ถูกจัดแสดงอยู่ในห้องสุดท้ายนาม ‘บ้านของเรา’ ซึ่งนำเสนอผ่านเวทีหนังกลางแปลงขนาดย่อมที่บอกเล่าการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม และชุมชน ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งวิถีชาวประมงพื้นบ้าน วิถีภายในตลาดชุมชน เพียบพร้อมด้วยอาหารสะอาด รวมถึงวิถีของคนรุ่นใหม่ที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดบนหลักความพอเพียงและยั่งยืน

ทุกวันนี้ โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างสมบูรณ์ และหวังจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการท่องเที่ยวเชิงความรู้ที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในอำเภอขนอมต่อไปในอนาคต… อ่านมาถึงตรงนี้ หากใครอยากมาสัมผัส ‘ต้นทางที่ดี’ บนเรือลำใหญ่ด้วยตัวเอง สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันอังคาร-เสาร์ เวลา 8 โมงเช้า เรื่อยไปจนถึง 5 โมงเย็น


ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อร่วมเรียนรู้เรื่องไฟฟ้าและสัมผัสการอยู่ร่วมกันของโรงไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม และชุมชน เพิ่มเติมได้ที่ egco.com/th/khanom-learningcenter หรือเพจเฟซบุ๊ก Khanom Learning Center

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย