เรารู้ว่าโคเปนเฮเกนมีทางสำหรับจักรยานที่ดีที่สุด เป็นเมืองที่เอื้อต่อการเดินเท้ามากที่สุด และแม้จะต้องจ่ายภาษีกันราวครึ่งหนึ่งของรายได้ ผู้คนชาวโคเปนเฮเกนก็มีความสุขมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เราอาจอิจฉาคุณภาพชีวิตของพวกเขา และปลอบตัวเองว่าเราไม่ได้โชคดีแบบนั้น แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือกว่าจะมีวันนี้ พวกเขาเคยผ่านจุดที่ต้องเลือกทางเดินให้กับเมืองของตนเองมาก่อน โชคดีที่พวกเขาเลือกมันอย่างชาญฉลาด
นั่นคือ เลือกที่จะมีความสุข
โชคดีที่จน
ไม่ต่างจากเมืองริมทะเลส่วนใหญ่ โคเปนเฮเกนเริ่มต้นจากการเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ราวพันปีก่อน เติบโตในฐานะเมืองท่าสำหรับการค้า ร่ำรวยและทรงพลังในยุคที่มีผู้ปกครองแข็งแกร่ง และผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันกับประวัติศาสตร์ยุโรป
ในเชิงโครงสร้างของเมือง โคเปนเฮเกนก็เหมือนกับเมืองยุโรปส่วนใหญ่ แม้เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 18 จะทำลายอาคารบ้านเรือนไปแทบสิ้น แต่ร่องรอยจากยุคกลางยังปรากฏชัดในรูปแบบของถนน ขณะที่การสร้างเมืองขึ้นใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอคลาสสิกกลายเป็นพื้นหลังสำคัญของเมืองในปัจจุบัน
จุดหักเหที่ทำให้โคเปนเฮเกนต่างจากเมืองส่วนใหญ่ในยุโรป เริ่มต้นราวทศวรรษ 1960
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชัยชนะของอเมริกาตามมาด้วยการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ระบบถนน และการขยายตัวของชานเมือง อิทธิพลของอเมริกาที่แผ่ขยายไปทั่วโลกทำให้วัฒนธรรมดังกล่าวแพร่หลายไปในประเทศต่างๆ ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ผู้คนในปัจจุบันอาจนึกภาพตามได้ยากคือ ในวันที่วัฒนธรรมรถยนต์เบ่งบานนั้น ความคิดพื้นฐานในการพัฒนาเมืองแทบไม่ต่างจากการทำให้รถยนต์มีความสุข นั่นคือการโฟกัสที่ความคล่องตัวของการสัญจรด้วยรถยนต์ ไม่ว่าจะในประเทศไทย หรืออีกหลายเมืองในยุโรปซึ่งลดพื้นที่ทางเท้าที่เคยกว้างให้แคบเข้าเพื่อเพิ่มพื้นที่ถนน รวมถึงการเชื่อมต่อทางหลวงในเมืองด้วยการสร้างถนนไขว้กันแบบเส้นสปาเกตตี
โคเปนเฮเกนก็เกือบจะเป็นอย่างนั้น เมื่อรถยนต์เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน และเมืองมีแผนสร้างถนนวงแหวนขนาด 12 เลน ซึ่งจะพาดอยู่เหนือทะเลสาบที่โอบล้อมตัวเมืองชั้นในเอาไว้ร่วมกับคลองที่เชื่อมต่อจากทะเลในอีกฟาก โชคดีที่พวกเขายากไร้เกินกว่าจะทำอย่างนั้นในช่วงหลังสงคราม
ขณะที่บทเรียนจากเพื่อนบ้านในยุโรปซึ่งมีกำลังทรัพย์มากกว่าและพัฒนาระบบถนนไปก่อน ทำให้ชาวโคเปนเฮเกนตระหนักได้ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่ถนนใหญ่ๆ ที่ตัดขาดบ้านเรือนและชีวิตผู้คนออกจากกันแบบนั้น และโชคดีอีกอย่างก็คือพวกเขารู้จักมองหาทางเลือก
เสียงของประชาชนสร้างให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางสังคม เป็นเวลาเดียวกันกับที่ Jan Gehl อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน กับเหล่าเพื่อนร่วมงานของเขาต่างเห็นตรงกันว่า ความสุขที่แท้จริงควรจะเป็นของ ‘ผู้คน’ ไม่ใช่รถยนต์ พวกเขาเริ่มทำการศึกษาว่าผู้คนควรจะใช้เมืองอย่างไร โดยใช้โคเปนเฮเกนนั่นเองเป็นห้องทดลอง โชคดีอีกอย่างคือเมืองเปิดโอกาสให้พวกเขาทำอย่างนั้น
การทดลองเริ่มขึ้นในปี 1962 เมื่อถนนการค้าสายหลักอย่าง Strøget หรือ Stroll ในภาษาอังกฤษ ซึ่งในตอนนั้นเป็นถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์ ได้รับการทดลองเปลี่ยนให้เป็นถนนปลอดรถยนต์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันสร้างให้เกิดเสียงก่นด่ามากเพียงใด ไม่นับว่านายกเทศมนตรีถึงกับถูกขู่ฆ่าและต้องได้รับการอารักขาจากเจ้าหน้าที่อย่างเข้มข้นในวันเปิดใช้ถนนคนเดินสายนี้
“ไม่มีรถยนต์ก็คือไม่มีลูกค้า ไม่มีลูกค้าก็ไม่มีธุรกิจ“
“เราคือชาวเดนมาร์ก ไม่ใช่ชาวอิตาเลียน”
“การใช้ชีวิตในที่สาธารณะนอกบ้านไม่ใช่วัฒนธรรมในสแกนดิเนเวีย“
เสียงเหล่านี้บอกกับเราสองอย่าง หนึ่งคือชาวโคเปนเฮเกนไม่มีแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะในวันนั้น และสอง มันบอกเราว่านโยบายที่ดีเปลี่ยนเมืองได้จริง ลองดูก็แล้วกันว่าโคเปนเฮเกนเปลี่ยนแปลงมากเพียงใดจากวันนั้น
เพราะในที่สุด ความสำเร็จของถนนคนเดินสายแรกของโคเปนเฮเกนที่แสดงออกผ่านความนิยมของผู้ใช้และตัวเลขทางธุรกิจก็กลบเสียงก่นด่าทั้งหมดไป โดยสิ่งที่ตามมาแทนคือบทสนทนาสาธารณะเรื่องถนนและจัตุรัส ถนนคนเดินค่อยๆ พัฒนาเป็นเครือข่าย เมื่อถึงจุดหนึ่งโคเปนเฮเกนก็กลายเป็นเมืองที่เอื้อต่อการเดินเท้า ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นวิธีหลักสำหรับการสัญจรในเขตเมืองชั้นใน
พร้อมกับการเปลี่ยนถนนรถยนต์เป็นถนนคนเดิน คือการจัดสรรพื้นที่จอดรถยนต์เสียใหม่ นั่นรวมถึงการยกเลิกที่จอดรถยนต์ในจัตุรัส 18 แห่งเพื่อคืนชีวิตชีวาให้กับเมือง
การขยายเครือข่ายถนนคนเดินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้เวลากับชาวเมืองในการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและค้นพบโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ขณะที่ผู้ใช้รถยนต์เริ่มรู้สึกทีละน้อยว่า การใช้รถไม่สะดวกเท่ากับการขี่จักรยานหรือการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
ผ่านมา 5 ทศวรรษ โคเปนเฮเกนกลายเมืองที่ยังคงเต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ พร้อมกับถนนคนเดินและวัฒนธรรมจักรยานอันแข็งแรง พื้นที่ริมทะเลสาบยังคงเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ขณะที่เมืองกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับเมืองทั่วโลกในปัจจุบัน จนกระทั่งมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า Copenhagenisation เลยทีเดียว
เกห์ลกลายเป็นสถาปนิกนักพัฒนาเมืองผู้ทรงอิทธิพล บริษัท Gehl Architects ที่เขาก่อตั้งร่วมกับลูกศิษย์ มีบทบาทในการศึกษาและผลักดันเมืองทั่วโลกให้กลับมาเป็น ‘เมืองของผู้คน’ ไม่ว่าจะเป็นเซาเปาลู เม็กซิโกซิตี อัมมาน ไบรท์ตัน นิวยอร์ก หรือมอสโก
ขอคืนพื้นที่ชีวิต
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมืองส่วนใหญ่ในโลกมีการเก็บข้อมูลการใช้รถยนต์อย่างเป็นระบบ แต่เราไม่ค่อยเห็นสิ่งเดียวกันนี้กับการเดินเท้าและการใช้พื้นที่สาธารณะของผู้คน
และนี่เองคือยุทธศาสตร์ที่สร้างความได้เปรียบให้กับโคเปนเฮเกน ที่มีการทำการศึกษาอย่างครอบคลุมและต่อเนื่องนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ตัวเลขกิจกรรมสันทนาการที่เพิ่มขึ้นคือเครื่องพิสูจน์ชั้นดีถึงการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะนอกบ้านของชาวโคเปนเฮเกน
“การเดินทัวร์ในเขตใจกลางเมืองโคเปนเฮเกนในหน้าร้อนทำให้เห็นกิจกรรมอันหลากหลายที่ไม่มีใครคิดถึงมันเมื่อ 30-40 ปีก่อน วัฒนธรรมเมืองใหม่นี้เติบโตจากการมีพื้นที่สาธารณะใหม่ๆ และหักล้างเสียงที่เคยบอกว่าชาวเดนมาร์กไม่มีวันใช้พื้นที่สาธารณะ” นั่นคือสิ่งที่รายงาน Public Spaces in Copenhagen ซึ่งจัดทำโดย Gehl Architects บอกไว้ โดยมีตัวอย่างของการฟื้นคืนพื้นที่สาธารณะ เช่น
Gammeltorv & Nytorv
จัตุรัสสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ซึ่งเกิดจากการรวมจัตุรัส 2 แห่งเข้าเป็นผืนเดียวกัน นั่นคือ Gammeltorv และ Nytorv ทั้งสองจัตุรัสเคยเป็นที่ตั้งของศาลาว่าการเมือง (Gammeltorv ถือเป็นจัตุรัสเก่าแก่ที่สุดของเมืองด้วย) ในช่วงหลังสงครามโลกพื้นที่นี้ถูกใช้เป็นที่จอดรถ ได้รับการปรับปรุงบางส่วนพร้อมกับถนน Strøget ที่พาดผ่าน ก่อนมีการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ทั้งหมดในปี 1993 ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะคอนเสิร์ต รวมถึงเทศกาลดนตรีแจ๊สประจำปี
Gråbrødretorv
เช่นเดียวกับอีกหลายจัตุรัส Gråbrødretorv ก็เคยใช้เป็นพื้นที่จอดรถ แต่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นจัตุรัสที่โดดเด่นด้วยต้นเพลนที่ยืนต้นเด่นเป็นสง่า และน้ำพุจากฝีมือประติมากรชาวเดนมาร์ก จนกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีความหรูหราและเป็นที่นิยมของชาวเมือง โดยเฉพาะบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนที่อยู่ใกล้ๆ โดยช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างในทศวรรษ 1980 จัตรัสแห่งนี้มักจะแน่นขนัดในฤดูร้อน ปัจจุบันลดความนิยมลงไปบ้างและกลายเป็นจัตุรัสที่ถือว่าค่อนข้างสงบและมีบรรยากาศผ่อนคลาย
Strædet
Strædet มีความหมายว่าตรอก มันคือถนนแคบๆ ที่เคยใช้เป็นทางสัญจรของรถยนต์ แต่ได้รับการทดลองปรับการใช้งานเป็นถนนคนเดินในปี 1989 เมื่อประสบความสำเร็จจึงมีการปูพื้นใหม่และเอาฟุตพาทออก ปัจจุบันถือเป็นถนนที่มีการใช้งานแบบผสม ทั้งการเดินเท้า จักรยาน และรถยนต์ ถนนสายเล็กแห่งนี้ขนานกับถนน Strøget แต่มีบุคลิกต่างกันมาก ในขณะที่ Strøget เป็นถนนคนเดินสายหลักที่เต็มไปด้วยร้านค้าที่พบเห็นได้ตามเมืองทั่วไป (และในปัจจุบันอาจถือได้ว่าน่าเบื่อ) ร้านรวงส่วนใหญ่ในตรอกนี้จะเป็นร้านทางเลือกเล็กๆ ที่ขายของเก่าและงานฝีมือ รวมถึงแกลเลอรีศิลปะ อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะฐานที่มั่นของวัฒนธรรม LGBT ในโคเปนเฮเกน
Søren Kierkegaards Plads
พื้นที่สาธารณะริมอ่าวข้างๆ อาคาร Black Diamond อันเป็นส่วนขยายของหอสมุดหลวง (Royal Library) หรือหอสมุดแห่งชาติของเดนมาร์ก ถือเป็นหอสมุดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง การก่อสร้างหอสมุดส่วนต่อขยายนี้ใหม่หมายถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ด้านข้างด้วยเช่นกัน ปัจจุบันถือเป็นทำเลหนึ่งที่ชาวเมืองใช้นั่งรับลมริมน้ำ
Superkilen
สวนสาธารณะใหม่ในย่าน Nørrebro ที่เพิ่งเปิดใช้บริการในปี 2012 เป็นงานออกแบบร่วมกันของกลุ่มศิลปิน SUPERFLEX กับ BIG (Bjarke Ingels Group) บริษัทออกแบบชื่อดังของโคเปนเฮเกน และ Topotek 1 บริษัทภูมิสถาปนิกเยอรมัน สวนสาธารณะแห่งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาย่านที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้คนทั่วโลก เนื่องจากออกแบบจากความต้องการของคนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยมีผลลัพธ์เป็นพื้นที่ 3 ส่วนที่แปลกไปจากสวนสาธารณะที่เราคุ้นชิน ได้แก่ Red Square, Black Market และ Green Park
เกห์ลเคยกล่าวไว้ว่า วัฒนธรรมและสภาพดินฟ้าอากาศนั้นแตกต่างกันทั่วโลก แต่ผู้คนนั้นไม่ต่าง พวกเขาจะรวมตัวกันในที่สาธารณะหากคุณมีพื้นที่ที่ดีให้กับพวกเขา
ส่วนสิ่งที่เราเรียนรู้จากเกห์ลและโคเปนเฮเกนของเขาก็คือ วัฒนธรรมที่ทำให้ชีวิตดีกว่านั้นสร้างได้ ความคิดที่คิดว่าหยั่งรากลึกก็เปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับว่าเรากล้าที่จะเผชิญหน้าและตัดสินใจแม่นยำพอหรือไม่
อ้างอิง
รายงาน Public Spaces in Copenhagen โดย Gehl Architects