Washington Square Park แม้ไม่เคร่งขรึมตามฉบับพื้นที่อนุสาวรีย์ แต่นี่คือสิ่งที่พื้นที่สาธารณะควรเป็น

Washington Square Park แม้ไม่เคร่งขรึมตามฉบับพื้นที่อนุสาวรีย์ แต่นี่คือสิ่งที่พื้นที่สาธารณะควรเป็น

Highlights

  • ประวัติศาสตร์บอกกับเราว่าไม่ใช่ทุกการพัฒนาที่สร้างสรรค์ แต่ถ้าผู้คนแข็งแรง พวกเขาก็จะต่อสู้และส่งต่อสิ่งสำคัญให้คนรุ่นต่อไปได้
  • ในช่วงพัฒนาเมืองสวนสาธารณะวอชิงตันสแควร์ของอเมริกาก็เกือบจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ เพราะแผนพัฒนาที่จะตัดถนนเข้ามาในพื้นที่โดยการอนุญาตให้รถยนต์สัญจรผ่านใจกลางของสวนสาธารณะ
  • แน่นอนว่าประชาชนที่มาใช้พื้นที่สวนสาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจย่อมได้รับผลกระทบและเกิดการต่อต้านจนโครงการนี้ต้องถูกยกเลิกไป

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามันคือพื้นที่สาธารณะที่อุทิศให้กับ George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา และเป็นที่จดจำด้วยภาพประตูชัยใจกลางนิวยอร์ก ในย่านกรีนวิชวิลเลจ (Greenwich Village) สุดปลายถนนหมายเลขห้า (Fifth Avenue) ทางทิศใต้

นอกจากประตูชัย ภาพจำที่ทำให้เรานึกถึงความมีชีวิตชีวาของสวนสาธารณะวอชิงตันสแควร์ (Washington Square Park) ก็คือน้ำพุขนาดใหญ่ที่ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ยอดนิยมทั้งสำหรับนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นในละแวกมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

ในความเป็นจริง สวนสาธารณะแห่งนี้อยู่มาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 1826 และเปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่จอร์จ วอชิงตัน ในปี 1889 ในวาระครบรอบ 100 ปีของการรับตำแหน่งประธานาธิบดี ประตูชัยก็สร้างขึ้นในช่วงเวลาเฉลิมฉลองนี้เอง ส่วนน้ำพุสร้างขึ้นก่อนหน้านั้น

ลองนึกๆ ดู หากไม่มีน้ำพุที่ดึงดูดผู้คนให้มาพักผ่อนหย่อนใจหรือพบปะ วอชิงตันสแควร์ก็อาจเป็นเพียงพื้นที่อนุสาวรีย์ที่เอาไว้ฉลองกันปีละครั้งหรือน้อยกว่านั้น ปฏิสัมพันธ์ต่างหากที่ทำให้พื้นที่สาธารณะทำงานของมันได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ หรือระหว่างคนด้วยกัน แต่กว่าจะอยู่มาถึงวันที่จะมีอายุครบ 200 ปีในอีกไม่นานนี้ วอชิงตันสแควร์เองก็ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาเช่นกัน

ประวัติศาสตร์บอกกับเราว่าไม่ใช่ทุกการพัฒนาที่สร้างสรรค์ แต่ถ้าผู้คนแข็งแรง พวกเขาก็จะต่อสู้และส่งต่อสิ่งสำคัญเอาไว้ให้คนรุ่นต่อไป

 

The Village Voice

มันคือการต่อสู้ที่เริ่มต้นในปี 1952 และมีผู้นำเป็นแม่บ้านลูกสี่

เมื่อเมืองมีแผนการที่จะเชื่อมต่อถนนหมายเลขห้า ซึ่งในเวลานั้นยังตัดเข้ามาในพื้นที่สวนฯ กับถนนเวสต์บรอดเวย์ทางตอนใต้เพื่อทำให้การสัญจรคล่องตัวขึ้น แต่สิ่งที่ต้องแลกคือน้ำพุและการอนุญาตให้รถยนต์สัญจรผ่านใจกลางของสวนสาธารณะ

ในเวลานั้น Shirley Hayes แม่บ้านลูกสี่ คือผู้อยู่อาศัยในย่านกรีนวิชวิลเลจ มักมาพักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่นี้ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เป็นสวนสาธารณะที่ทุกคนหวงแหนอย่างในปัจจุบัน มันมีการสัญจรในพื้นที่อยู่บ้าง โดยเฉพาะรถบัสที่มากลับรถในวงเวียนน้ำพุ จึงไม่แปลกนักหรอกที่เมืองจะนึกถึงการสร้างถนนตัดผ่านเพื่อเชื่อมการจราจร

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เชอร์ลีย์อยากเห็น และสิ่งที่เธอทำเพื่อหยุดยั้งมันคือการรวบรวมรายชื่อผู้คนราว 16,000 รายชื่อ เกิดเป็นแคมเปญ Save the Square ซึ่งไม่เพียงต่อต้านการขยายถนนหมายเลขห้า แต่ไปไกลถึงการเรียกร้องไม่ให้รถบัสเข้ามากลับรถที่วงเวียนน้ำพุได้อีกต่อไป

แน่นอนมันคือการต่อสู้อันยาวนาน การทำประชาพิจารณ์ในปี 1958 เพื่อตัดสินชะตาทางเดินรถที่ผ่านพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่มาร่วมสนับสนุนเชอร์ลีย์ นั่นรวมถึง Eleanor Roosevelt อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้เคยอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 29 Washington Square Park West ไปจนถึง Jane Jacobs นักเขียนและบรรณาธิการผู้ได้รับการยกย่องในหมู่นักผังเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนสำคัญและได้รับเครดิตอย่างมากในการต่อสู้ครั้งนี้ อย่างไรก็ดีเธอได้ยกความดีความชอบให้กับเชอร์ลีย์และผู้คนของกรีนวิชวิลเลจไว้ในหนังสือชื่อดังของเธอ The Death and Life of Great American Cities

การต่อสู้ที่เริ่มต้นโดยเชอร์ลีย์นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสวนสาธารณะวอชิงตันสแควร์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชุมชน 36 แห่ง รวมถึงเจ้าของอาคารรายรอบ องค์กรประชาสังคม สมาคมผู้ปกครอง ครู และโบสถ์ ในฐานะผู้นำการเคลื่อนไหวเชอร์ลีย์ยืนยันว่ากฎหมายควรมีไว้สำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในชุมชนทั้งยังบอกอีกว่าความสงบและสุนทรียภาพควรได้รับอนุญาตให้อยู่รอด

ไม่แปลกที่เธอจะได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘เสียงของหมู่บ้านที่แท้จริง’ (True Village Voice) คำว่าหมู่บ้านที่อ้างถึงกรีนวิชวิลเลจน่าจะหมายถึงชุมชนด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันวอชิงตันสแควร์ยังเป็นพี้นที่ที่ผู้คนมาพักผ่อนหย่อนใจและใช้ชีวิต มันอาจไม่เคร่งขรึมตามแบบฉบับพื้นที่อนุสาวรีย์ แต่นั่นคือสิ่งที่พื้นที่สาธารณะควรจะเป็น พื้นที่ของชาวเมืองและสะท้อนให้เห็นการอยู่ร่วมกันในเมือง 

 

Good Fences Make Good Neighbors

ในปี 2017 ประตูชัยของวอชิงตันสแควร์เป็นหนึ่งในสถานที่จัดแสดงผลงานประติมากรรมของ Ai Weiwei ศิลปินร่วมสมัยชาวจีนผู้โด่งดัง

มันคือนิทรรศการ Good Fences Make Good Neighbors ที่ต้องการสร้างการรับรู้และบทสนทนาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในวิกฤตผู้อพยพผ่านชิ้นงานมากถึง 300 ชิ้นที่กระจายติดตั้งทั่วไปในนิวยอร์ก สื่อให้เห็นการเปลี่ยน ‘รั้วกันภัย’ ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘การหลอมรวม’

ภาพ : archdaily.com

ภาพ : thespaces.com

ชิ้นงานที่ติดตั้งใต้โค้งประตูชัยและถือเป็นหนึ่งในชิ้นงานเด่นนี้อุทิศแด่ Marcel Duchamp ศิลปินผู้แนะนำให้โลกรู้จักศิลปะสมัยใหม่ด้วยโถปัสสาวะ ผู้มาเล่นหมากรุกที่วอชิงตันสแควร์แห่งนี้เป็นประจำ เช่นเดียวกับศิลปินเจ้าของผลงานที่มักมาที่นี่เช่นกันในตอนที่เขาอาศัยอยู่ในย่านอีสต์วิลเลจใกล้ๆ กันในช่วงเริ่มต้นอาชีพศิลปิน

แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ประตูชัยถูกใช้เป็นผืนผ้าใบสำหรับงานศิลปะ เพราะในปี 1980 มันเคยถูกพันด้วยเส้นโพลีเอสเตอร์ความยาว 8,000 หลาที่ออกแบบให้ดูคล้ายพลาสเตอร์ปิดแผล โดย Francis Hines ศิลปินชื่อดังของนิวยอร์ก สำหรับการระดมทุนของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กและชุมชนในการฟื้นฟูประตูชัยและพื้นที่สวนแห่งนี้ นั่นคือช่วงเวลาที่นิวยอร์กเพิ่งผ่านพ้นจากความตกต่ำในทศวรรษ 1970

ภาพ : artsandculture.google.com

ที่นี่จึงเป็นผลงานยอดเยี่ยมที่ชาวนิวยอร์กโดยเฉพาะชาวกรีนวิชวิลเลจไม่ลืม เช่นเดียวกับผลงานการต่อสู้ของเชอร์ลีย์ แม่บ้านลูกสี่ผู้สร้างรั้วกันภัยที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่าทิ้งไว้ให้พื้นที่เปี่ยมพลวัตนี้

 

 

อ้างอิง

6sqft

Citylab

NYC Parks

AUTHOR