ตามไปดูว่าใครเอาเสื่อไปปูกลางหัวลำโพง

ไม่กี่วันมานี้เราเห็นภาพถ่ายที่เห็นคนแชร์กันมาแล้วถึงกับขยี้ตา เพราะไม่อยากเชื่อว่าพื้นที่โถงกว้างใจกลางสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ จะมีเสื่อหลายสิบผืน บีนแบ็ก และต้นไม้ดอกไม้ไปวางประดับ แถมยังมีผู้คนหลากหลายเข้าไปนั่งบ้าง นอนบ้าง กลิ้งบ้าง ใช้งานร่วมกันอย่างมีความสุข ราวกับเป็นภาพถ่ายจากพื้นที่สาธารณะเก๋ๆ ของเมืองนอก

ไม่ว่าสิ่งนี้จะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นของใคร ถ้าหากเรารู้ เราจะตามไปดู

 

ใคร: Ten for Ninety

เจ้าของไอเดียปูเสื่อกลางหัวลำโพงคือนิสิตนักศึกษาจากคณะสถาปัตย์ฯ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และสถาปนิกรุ่นใหม่จากหลายสถาบัน ร่วมกับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่มารวมตัวกันทำงานทดลองในโครงการ Ten for Ninety ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรรมาธิการสถาปนิกชุมชนและสมาคมสถาปนิกสยาม โดยน้องๆ นิสิตนักศึกษาเหล่านี้มีกลุ่มออฟฟิศสถาปนิกไฟแรงอย่าง Integrated Field (IF) และ CloudFloor มาคอยดูแลเป็นพี่เลี้ยง ร่วมด้วยทีมงานสถาปนิกชุมชนรุ่นใหม่ Young CAN: Community Act Network

ความหมายของ ‘10 for 90’ มาจากความจริงที่ว่า สถาปนิกส่วนใหญ่ทำงานเพื่อคนส่วนน้อยของโลก (เหล่าชนชั้นหรือสถาบันที่มีอำนาจมากหรือรวยมาก) พูดง่ายๆ ว่าสถาปนิกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เรียนสร้างตึกกันมาแทบตาย แต่อิมแพ็คกลับอยู่ที่แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของคนในสังคม พวกเขาจึงอยากกลับสมการเสียใหม่เป็น ขอเวลา 10 เปอร์เซ็นต์จากสถาปนิกให้ทดลองทำงานออกแบบสาธารณะเพื่อคน 90 เปอร์เซ็นต์ในสังคมดูบ้างนั่นเอง เท่ไปเลย

 

ทำอะไร : Public Transit Lounge

Public Transit Lounge คือการทดลองสร้างพื้นที่สาธารณะในสถานีขนส่งมวลชน ด้วยการเอาเสื่อแบบไทยๆ บ้านๆ จำนวน 40 ผืนไปปูตรงพื้นที่ขนาด 144 ตารางเมตรใจกลางหัวลำโพง เพื่อสังเกตพฤติกรรมการใช้งานของคนหลากหลายกลุ่มที่มาใช้บริการที่หัวลำโพง เริ่มทดลองตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2559 โดยในแต่ละวันจะค่อยๆ เพิ่มองค์ประกอบและกิจกรรมลงไป จากวันแรกที่มีแต่เสื่อเปล่าๆ วันหลังๆ กลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีทั้งบีนแบ็ก ต้นไม้ ดอกไม้ แถมบางวันยังมีการแสดงเต้นแบบคอนเทมโพรารี่ เพื่อให้คนที่ใช้พื้นที่ร่วมกันได้มีจุดเชื่อมโยงกันด้วย สนุกเข้าไปอีก

 

ที่ไหน: หัวลำโพง

หัวลำโพงเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของบ้านเรา จึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนใช้ในการนั่งรอ (นานๆ) ทั้งรอรถไฟและรอรับคน แต่ไม่ได้เป็นพื้นที่แค่ของคนรอเท่านั้น โปรเจกต์นี้ยังพบว่ามีกลุ่มแม่บ้านที่ต้องแอบนั่งตามซอก คนต่างจังหวัดที่เดินทางมาแล้วยังไม่มีที่อยู่จึงต้องมาแอบนอน และกลุ่มคนไร้บ้านอีกด้วย การเลือกทดลองที่หัวลำโพงจึงไม่ได้สนใจแค่การออกแบบ แต่ยังตั้งคำถามต่ออำนาจในการใช้พื้นที่ของคนหลากหลายในสังคมด้วย ว่าทำยังไงจึงจะสร้างความชอบธรรมในการใช้พื้นที่สาธารณะให้กับคนทุกชนชั้น ทุกเพศสภาพ ทุกสถานะ

 

ทำทำไม: ตั้งคำถามว่าพื้นที่สาธารณะเป็นของใคร

นอกจากได้เห็นกับตาว่ามีผู้คนมากมายไปนั่งๆ นอนๆ บนเสื่อนี้กันอย่างคึกคักจริงจัง เรายังได้ปูเสื่อนั่งคุยกับที่ปรึกษาคนสำคัญของโครงการ นั่นคือ ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ หรืออาจารย์หน่อง จากคณะสถาปัตย์ฯ ม.ศิลปากร ว่าพวกเขาทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไรกันแน่ เราได้รับคำตอบเป็นคำถามที่แสนคมคายดังนี้

“เราไม่ได้ทำเพื่อบอกว่านี่คือทางออก ไม่ได้บอกว่าหัวลำโพงจะต้องมีพื้นที่แบบนี้ เราแค่ทดลอง อยากให้คนตั้งคำถามและคุยกันเรื่องพื้นที่สาธารณะแบบไทย เพราะการตั้งคำถามเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ การทำพื้นที่ทดลองตรงนี้มันทำให้เกิดการเป็นไปได้อื่นๆ ของการนั่งพักรอ จากเดิมที่มีแต่เก้าอี้ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าคนต้องการนั่งเป็นกลุ่ม ต้องการที่นั่งแบบเอกเขนกนิดนึง เพราะพวกเขารอรถนาน การทดลองนี้อาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในอนาคตได้ เราไม่ได้พูดแค่กับดีไซเนอร์ แต่กับคนที่มีอำนาจด้วย อยากให้เขามองความต้องการของคนให้ละเอียดขึ้น รวมทั้งความคิดของคนในสังคมเอง ว่าจะทำให้ช่องว่างของชนชั้นลดลงได้อย่างไร

“หัวลำโพงเป็นพื้นที่ที่คนต่างจังหวัดและคนเมืองมาเจอกัน ตอนแรกเห็นคนต่างจังหวัดนอนกับพื้น คนเมืองอาจจะมองว่า เฮ้ย ดูไม่ดี เลอะเทอะ แต่พอเราเอาเสื่อกับบีนแบ็กลงไปวาง สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการนั่งพื้น ทุกคนนั่งแล้วไม่เขิน นั่งล้อมวงกันได้ คนไร้บ้านกับคนเมืองพิงหมอนเดียวกันได้ สลายขอบเขตของชนชั้น มีพื้นที่ให้คนแต่ละแบบได้อยู่ในส่วนของเขา และมีจุดที่เชื่อมโยงกันได้เมื่ออยากเชื่อม เป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคนจริงๆ”

บทสรุปของการตามไปดูงานนี้คือ เรามีความหวังเล็กๆ ว่า Ten for Ninety จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้โปรเจกต์พื้นที่สาธารณะที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในไทย (โปรเจกต์ที่คุณก็รู้ว่าอะไร) ว่าการมีส่วนร่วมของผู้คนนั้นสำคัญต่อความเป็น ‘สาธารณะ’ มากแค่ไหน

 

แนะนำให้ตามไปดู

โปรเจกต์ทดลองนี้ถึงจะจัดแค่ช่วงสั้นๆ แต่บทสรุปทั้งหมดของงานนี้จะไปอยู่ในงานสถาปนิก ’59 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 เมษายนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ตามไปดูกันได้ที่ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี และติดตามได้ในเพจ Ten for Ninety

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย