ตามไปดูป้ายรถเมล์ที่เปลี่ยนไปด้วยภาพถ่ายและสิ่งของมากมายจากชุมชน

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เราสะดุดตากับป้ายรถเมล์ย่านเจริญกรุงที่มีบอร์ดโชว์รูปถ่ายและข้าวของเครื่องใช้มากมายแขวนไว้ หยุดสังเกตอีกสักนิดเราก็เห็นผู้คนแวะเวียนมาชมและมาใช้คล้ายกับว่าป้ายรถเมล์หน้าวั สุทธิวราราม ป้ายรถเมล์ตรงจุดเชื่อมต่อ BTS สะพานตากสิน และป้ายรถเมล์ตลาดน้อยเป็นนิทรรศการหรือพื้นที่แสดงศิลปะขนาดย่อมๆ ซึ่งเรามารู้ทีหลังว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบริเวณป้ายรถเมล์นั้น เกิดจากความตั้งใจของ Ten to Ninety กลุ่มสถาปนิกที่ชวนเราตั้งคำถามกับการใช้พื้นที่สาธารณะผ่านงานทดลอง ซึ่งหนึ่งในงานของพวกเขาที่เราคุ้นตาก็คือการนำเสื่อไปปูที่โถงกลางสถานีหัวลำโพงเมื่อปีที่ผ่านมา

ปีนี้พวกเขาคิดอะไร ทำไมถึงสนใจป้ายรถเมล์ นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย Director แห่ง Cloud-floor ทีมสถาปนิกพี่เลี้ยงของโครงการจะเล่าให้เราฟัง

ป้ายรถเมล์สุดเก๋โดยกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรง

ป้ายรถเมล์ทั้ง 3 แห่งนั้นเกิดจากการสร้างสรรค์ของ Ten to Ninety องค์กรที่รวมนิสิตนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์และรัฐศาสตร์ สถาปนิกชุมชนรุ่นใหม่ และบริษัทสถาปนิก Integrated Field (IF) และ Cloud-floor โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ พวกเขากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่สาธารณะทุกรูปแบบเพื่อบอกเล่าให้คนทั่วไปรับรู้สิทธิการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะและเรียนรู้การพัฒนาพื้นทีสาธารณะร่วมกัน

ป้ายรถเมล์ Dot Line Play! : Bus Stop & Co

Dot Line Play! : Bus Stop & Co คือโครงการลำดับที่สองของ Ten to Ninety พวกเขาเห็นว่าป้ายรถเมล์เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนออกมารวมกลุ่มกันในเวลาสั้นๆ และเป็นที่ที่คนเข้าถึงได้มากที่สุดในประเทศ จึงชวนมาตั้งคำถามและร่วมกันหาคำตอบผ่านการเปลี่ยนป้ายรถเมล์เป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะจากรูปถ่ายและของใช้สารพัดอย่างจากคนในพื้นที่ รวมถึงคำบอกเล่าเรื่องราวจากผู้ขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะทั้งวินมอเตอร์ไซค์ คนขับรถเมล์ รถตุ๊กตุ๊ก หรือแม้กระทั่งคนขับเรือ โดยเลือกจากป้ายรถเมล์ที่รถเมล์สาย 1 ซึ่งเป็นสายแรกในกรุงเทพฯ ผ่าน และพิจารณาป้ายรถเมล์ที่มีความโดดเด่นในแง่การเป็นจุดเชื่อมโยงของชุมชนและพื้นที่รอบข้างที่มีความพิเศษแตกต่างกัน นั่นก็คือ ป้ายรถเมล์หน้าวัดสุทธิวราราม ป้ายรถเมล์บริเวณจุดเชื่อมต่อ BTS สะพานตากสิน และป้ายรถเมล์ตลาดน้อย

เปลี่ยนป้ายรถเมล์เป็นห้องรับแขกชุมชน

ป้ายรถเมล์เป็นสถานที่แรกที่ผู้สัญจรบนท้องถนนจะได้พบเจอ ป้ายรถเมล์จึงเป็นภาพสะท้อนชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ Ten to Ninety ทดลองเปลี่ยนป้ายรถเมล์ทั้ง 3 แห่งให้แตกต่างกัน และพยายามดึงเสน่ห์ของชุมชนออกมานำเสนอ

ป้ายรถเมล์หน้าวัดสุทธิวราราม : Everything & Everyday Objects

ทีมงานเปลี่ยนป้ายรถเมล์หน้าวัดสุทธิวรารามเป็นห้องทดลองขนาดเล็กด้วยการจัดวางสิ่งของหลายรูปแบบทั้งที่ให้หยิบฟรี เช่น น้ำดื่ม ยาดม ลูกอม ผ้าปิดปาก ไปจนถึงของที่ให้ผู้คนผลัดเปลี่ยนกันมาใช้ เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก กีตาร์ และเก้าอี้สัดส่วนถูกต้องเหมาะกับการนั่งคอยรถเมล์

ป้ายรถเมล์บริเวณจุดเชื่อมต่อ BTS สะพานตากสิน : Bus stop & other informal transportation modes

ป้ายรถเมล์แห่งนี้กลายเป็นนิทรรศการขนาดกะทัดรัด มีป้ายแนะนำกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนระบบคมนาคมขนส่งทั้งวินมอเตอร์ไซต์ คนขับรถเมล์ คนขับรถสองแถว ไปจนถึงคนขับเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาว่ามีบทบาทสำคัญต่อคนเมืองอย่างไร พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการทำนามบัตรให้กลุ่มคนเหล่านั้นเพื่อแจกจ่ายให้ผู้รับบริการอย่างเรา

ป้ายรถเมล์ตลาดน้อย : Bus stop & community living

ที่นี่ถูกปรับเป็นแกลเลอรี่ขนาดกะทัดรัด แสดงภาพถ่ายจากมุมมองของคนในชุมชนด้วยการให้กล้องถ่ายรูปไปบันทึกภาพประทับใจหรือสิ่งที่พบเห็นจนชินตาในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็เนรมิตรป้ายรถเมล์แห่งนี้ให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ด้วยการนำข้าวของเครื่องใช้ที่คนในชุมชนมอบให้มาตกแต่ง มีตั้งแต่กระถางต้นไม้ไปจนถึงงานพับกระดาษของเด็กพิเศษ รวมถึงมีการแสดงดนตรีเล็กๆ จากเด็กในชุมชนด้วย

ป้ายรถเมล์เป็นมากกว่าจุดจอดรับส่งผู้คน

Dot Line Play! : Bus Stop & Co เป็นการทดลองที่สะท้อนให้เห็นว่าป้ายรถเมล์ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ให้ผู้คนมารอรถเมล์เท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์เรื่องการใช้พื้นที่ให้กับคนในชุมชนทั้งการเป็นพื้นที่ให้คนชุมชนได้พบเจอกันหรือได้สื่อสารความเป็นชุมชนผ่านงานศิลปะ ยิ่งไปกว่านั้น โครงการป้ายรถเมล์นี้ยังส่งเสียงเล็กๆ ที่บอกเราว่าป้ายรถเมล์ที่คนไทยต้องการควรมีหน้าตาเป็นอย่างไรและควรมีอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของโครงการนี้คือการทำให้เราเห็นว่า การพัฒนาและให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะไม่ควรตกอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหรือคนใดคนหนึ่ง แต่ควรเป็นพวกเรา ผู้ใช้ประโยชน์จากการขนส่งสาธารณะต่างหากที่ต้องช่วยกันดูแล

แนะนำให้ตามไปดู

ป้ายรถเมล์น่ารักๆ ของ Ten to Ninety เป็นโครงการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 6 – 12 มีนาคม 2560 ตามไปดูกันได้ที่ป้ายรถเมล์ตลาดน้อย ป้ายรถเมล์บริเวณจุดเชื่อมต่อ BTS สะพานตากสิน และป้ายรถเมล์หน้าวัดสุทธิวราราม ถ้าใครอยากสัมผัสบรรยากาศแบบใกล้ชิด ขอแนะนำให้เดินทางด้วยรถเมล์สาย 1

Facebook l Ten for Ninety

ภาพ Ten for Ninety

AUTHOR