The Lost Daughter ปัจจุบันที่ทิ่มแทงและอดีตของหญิงผู้กระทำความบาป

The Lost Daughter เป็นหนัง Netflix อีกเรื่องที่อาจดูไม่มีคนสนใจมากนัก แต่ก็ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 2022 อย่างสมเหตุสมผลทั้งสาขาบทดัดแปลงยอดเยี่ยม และสาขานำหญิงกับสมทบหญิงในบทบาทเดียวกัน

ดู The Lost Daughter แล้วชวนให้นึกถึงหนังชิงออสการ์ปีที่แล้วอย่าง Minari ที่ว่าด้วยความพร้อมและความฝันของผู้เป็นพ่อแม่ที่ขัดแย้งกันเอง หนังเรื่องนี้พูดทั้งสองประเด็นนี้ได้อย่างลึกซึ้ง ละเมียดละไม ค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ยังชูคำถามว่าความเป็นพ่อแม่ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง และสะท้อนให้เห็น ‘บทบาท’ ที่คนหนึ่งคนมีมากกว่าหนึ่งในความสัมพันธ์ เช่น เป็นได้ทั้งลูกคน พ่อแม่คน และวันนึงจะกลายเป็นปู่ย่าหรือตายาย ซึ่งหนังก็แสดงให้เห็นว่าเราได้แต่ทำให้ดีที่สุด แต่ไม่มีทางที่จะบาลานซ์คุณภาพในการสวมทุกบทบาทนี้อย่างเท่าๆ กันได้เลย

The Lost Daughter เป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ Maggie Gyllenhaal ดัดแปลงจากนิยายสัญชาติอิตาลีชื่อเดียวกันของ Elena Ferrante ที่พูดประเด็นเดียวกันกับ Minari แต่เป็นฉบับที่กระโตกกระตากกว่า ให้อารมณ์ทริลเลอร์และจิตวิทยากว่า และเน้นอารมณ์กว่าด้วยมุมกล้องใกล้ๆ ติดตามตัวละครให้ชวนรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน ผ่านผู้เป็นทั้งแม่และภรรยา ที่ในไทม์ไลน์ปัจจุบันรับบทโดย Olivia Colman และแฟลชแบ็กย้อนอดีตรับบทโดย Jessie Buckley

(บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญภาพยนตร์ The Lost Daughter)

ฝีไม้การกำกับของ Maggie Gyllenhaal ในหนังเรื่องแรกนับว่าไม่เลวเลยทีเดียว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเล่าหนังดราม่าที่ดูเหมือนจะธรรมดาได้สนุกได้อย่างตลอดรอดฝั่งเช่นนี้

หนังว่าด้วยเรื่องของ Leda หญิงวัยกลางคนอายุ 48 ผู้เป็นศาสตราจารย์สอนวรรณกรรมเปรียบเทียบที่ไปพักผ่อนหย่อนใจที่ประเทศกรีก ได้เจอกับแม่ลูก Nina กับ Elena ที่ทำให้ตัวเองหวนนึกถึงอดีตทีละนิดทีละน้อย โดยทั้งหมดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ ‘ลูกหาย’ ของ Nina ตามชื่อเรื่อง แต่ลูกสาวของ Nina ไม่ได้หายทั้งเรื่อง หรือหนังทั้งเรื่องไม่ได้เป็นหนังที่เกี่ยวกับตัวละครตามหาลูกตลอดเวลา

เช่นเดียวกัน Elena หายไปแค่ชั่วครู่เท่านั้น ประเด็นจึงตกไปอยู่ที่เหตุการณ์ลูกหายนี้จะนำไปสู่อะไรมากกว่า และสิ่งที่หนังนำพาเราไปชี้ให้ดู คือดู ‘การกะเทาะเปลือกออก’ ของ Leda ทีละเล็กละน้อย เผยให้เห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ข้างใน ที่ไม่มีใครแงะมันออกจากปากเธอได้จนกว่าเธอจะเผยมันเอง

กลายเป็นว่าพอๆ กับที่ครอบครัวมาเฟียฝั่งสามีของ Nina และ Nina ไม่รู้จัก Leda เราเองก็ไม่ได้รู้จัก Leda ดีไปกว่ากันเท่าไหร่ เรารู้เท่าที่ตัวละครนี้บอกให้ตัวละครอื่นรู้ หรือจะได้รู้ก็ต่อเมื่อบทสนทนาบางอย่างหรือฉากบางฉากทำให้ Leda ต้องนึกย้อนไปในช่วงที่เธอยังเป็นแม่ที่ยังสาวกับลูกสองคน และสามีหนึ่งคน ในบ้านหนึ่งหลัง

หนังเรื่องนี้ให้ตัวละครเอกมีทุกอย่าง (ซึ่งตรงกันข้ามกับหนังส่วนใหญ่ที่จะใส่ตัวละครเอกเข้าไปในสถานการณ์อะไรสักอย่างและนำพาเราค้นพบอะไรไปพร้อมๆ กัน) แต่กลับเป็นตัวละครที่หวงแหนด้านอื่นๆ ของร่างกายและแสดงออกด้วยการโชว์ให้เห็นแค่ด้านที่เธอจะสบายใจให้เห็น หนังให้เราเห็นว่า Leda ทำตัวเป็นมนุษย์ป้า มีนิสัยยอมหักไม่ยอมงอ และไม่สุงสิง ซึ่งคนบุคลิกแบบนี้แทบไม่มีใครอยากเป็น แต่คนคนนั้นจะต้องหวงอะไรสักอย่าง อาจเป็นพื้นที่ส่วนตัว ระยะห่าง หรือความลับบางอย่าง

สำหรับ Leda เป็นอย่างหลัง การเป็นมนุษย์ป้าตามวัยกับการพูดออกมาว่า “เด็กสมัยนี้” เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ที่จะออกมาจากปากผู้ใหญ่ แต่การทำตัวแข็งกร้าวส่วนหนึ่งเพราะเธอปิดประตูใส่หน้าทุกคนเพื่อที่จะไม่ต้องสนิทชิดเชื้อกับใคร และเพื่อไม่ต้องถูกซักถามเรื่องของตัวเองมากนัก โดยเฉพาะเรื่องของเธอกับลูกที่ในช่วงต้นเธอตอบส่งๆ ไปว่าเธอเป็นแม่คนและมีลูกสองคน

Leda เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยอดีต เธอปากแข็งไม่ยอมเปิดเผย จนกว่าเสี้ยนที่ตาเห็นและผิวสัมผัสจะทิ่มแทงลึกไปจนเธอต้องร้องโอดโอย ถึงจะยอมปริปาก เสี้ยนที่ว่าคือ Nina กับลูกที่เธอต้องมาเจอที่ชายหาดทุกวันตราบเท่าที่ต้องการใช้วันหยุดให้คุ้ม ความเยาว์วัยและความโหยหาอิสระของ Nina ถูกแสดงออกมาผ่านการแต่งตัวและการพูดที่ดูวัยรุ่น

Nina และ Elena ทำให้เธอนึกถึงเมื่อครั้งที่เธอยังอยู่กับ Bianca และ Martha หนังแสดงให้เราเห็นแง่มุมของความวุ่นวายและโกลาหลในการเป็นแม่ซึ่งต้องศึกษาวรรณกรรมอยู่บ้านโดยต้องดูแลลูกไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกทั้งสองที่ป่วน ก้าวร้าว ดื้อ ฉากนึงที่แสดงถึงการไม่มีความเป็นส่วนตัวชัดเจนที่สุด คือฉากที่เธอช่วยตัวเองอย่างเข้าด้ายเข้าเข็ม แต่กลับถูกลูกขัดจังหวะ หนำซ้ำเมื่อหนังดำเนินไปเราจะได้รู้อีกว่าชีวิตเธอในฐานะภรรยาก็น่าผิดหวัง สามีของเธอก็ไม่สามารถทำให้เธอเกิดความพึงพอใจบนเตียงได้เช่นกัน

ทั้งหมดสั่งสมแบบ collective จนหมดความอดกลั้น Leda รู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่และสถานที่แห่งนั้นไม่ใช่ที่ทางของเธอ เธอต้องการไปในที่ที่ได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้เป็นตัวเอง เป็นอิสระจากห่วงโซ่พันธนาการที่เรียกว่า ‘ชีวิตสมรส’ และบ้านที่เริ่มจะกลายเป็นคุกเข้าไปทุกที จึงได้ออกจากบ้านโดยตั้งใจว่าจะเป็นการออกจากบ้านไปชั่วคราว แต่ความชั่วคราวก็เหมือนการพูดเลข 1 ที่ดำเนินไปทีละ 1 แต่เมื่อนำมารวมกันมันมากกว่านั้นจนถึงตลอดกาลได้เลย

เมื่อ Leda พบเข้ากับศาสตราจารย์ Hardy ที่รับบทโดย Peter Sarsgaard และทั้งคู่คบชู้กัน ช่วงเวลานั้นราวกับโลกหยุดหมุน โซ่ตรวนทั้งหมดถูกปลด มีความสุขกับช่วงเวลาตรงหน้าโดยไม่ต้องคิดต้องกังวลถึงสถานะหรือผลลัพธ์ที่จะตามมา นั่นทำให้ Leda เกิดอาการเห็นแก่ตัวและเลือกที่จะทิ้งลูกไว้กับสามี หรือแย่กว่านั้นคือทิ้งไว้กับแม่ที่เลี้ยงเธอมาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ เช่นกัน

การที่แม่ของ Leda เลี้ยงดูเธอมายังไง ดูเหมือนจะส่งผลกับเธอโดยตรง สร้างเธอให้รู้สึกว่าทุกอย่างคือภาระและเธอไม่เคยพร้อม หนังบอกเราแบบอ้อมๆ ว่าเราควรมีลูกเมื่อพร้อม เหมือนเวลาที่เราอยากทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ เราจะทำมันได้ดีโดยที่หากมันไม่ได้ดั่งใจหวังก็ยังไม่แตกร้าวถึงขั้นล้มเลิก แต่กับ Leda เธอล้มเลิกบทบาทในความเป็นแม่และภรรยาตั้งแต่ออกจากบ้านโดยไม่รู้ตัว นั่นทำให้เธอกลายมาเป็นมนุษย์ป้าอย่างที่เราเห็น

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งให้ Leda ทำเช่นนั้น (ทิ้งลูกสามี หนีออกจากบ้าน) ก็คือคู่รักนักปีนเขาที่บังเอิญผ่านมาเจอบ้านของเธอและมาร่วมดื่มกินพูดคุยกัน คู่รักคู่นี้หนีตามกันมาและปฏิเสธกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่จะทำให้ทั้งคู่อยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ เนื่องจากบริบทสมัยนั้นมีแต่ข้อห้ามและข้อบังคับ ประโยคหนึ่งที่ทิ่มใจเธอคือเมื่อผู้หญิงพูดขึ้นว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่เมกเซนส์สำหรับฉัน” เมื่อสถานการณ์เดือดระอุเหมือนกาน้ำที่ต้มไฟแรง คู่รักสองคนนี้กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นที่มาเปิดฝากาน้ำนั้น

สัญลักษณ์สำคัญที่หนังใส่เข้ามาคือ ‘ตุ๊กตา’ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตุ๊กตาหายและหนังได้เผยว่าคนที่ขโมยมันไปคือ Leda อดีตของเธอก็เริ่มที่จะถูกกะเทาะออกมาเรื่อยๆ ตุ๊กตาจึงเป็นตัวแทนของ ‘เธอ’ และ ‘อดีต’ แม้หนังจะไม่ได้บอกชัดว่าทำไมเธอถึงทำเช่นนั้นและ Leda เองก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม แต่ตุ๊กตาตัวนี้ทำให้เธอนึกถึงตุ๊กตาของตัวเองที่ชื่อ Mina ที่เธอรักและหวงแหน มันแสดงถึงความปกติของเธอและเป็นตัวแทนให้กับ Leda แต่แล้วเมื่อเธอมอบมันให้กับลูก ก็ถูกลูกเอาไปวาดซะเละเทะ การที่ตุ๊กตาถูกวาดอย่างยุ่งเหยิงจึงไม่ต่างอะไรไปกับการความยุ่งเหยิงที่เธอในฐานะแม่กำลังเผชิญอยู่กับการเลี้ยงลูกอยู่บ้าน

ตราบเท่าที่ตุ๊กตาของเด็กหญิง Elena อยู่กับ Leda เธอจะนึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมา และเริ่มที่จะมีอาการปวดหัววิงเวียนหนักขึ้นเรื่อยๆ ตุ๊กตาไม่ได้เป็นแค่ตัวแทนเธอและการจมอยู่กับอดีต แต่มันยังสื่อความหมายถึงการที่เธออยากย้อนกลับไปแก้ไขให้อะไรดีกว่านี้ ทั้งทางเลือก ความสัมพันธ์ของเธอ สามี ลูก และชู้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางทำแบบนั้นได้

สำหรับ Leda เธอไม่มีอะไรให้ looking forward to ขนาดนั้นอีกแล้ว คนที่ใช้ชีวิตเกิน 40 เหมือนดวงอาทิตย์ที่ขึ้นมาแล้ว ผ่านจุดกึ่งกลางมาแล้ว กำลังอยู่ในเส้นทางสู่เป้าหมายที่เรียกว่า ‘ความตาย’ สิ่งที่ Leda มีและคิดอยู่ตลอดจึงเป็นแค่คำถามที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า..? (what..if?)” หรือ “ถ้าเป็นแบบนี้ก็ดีสินะ” เพราะแม้เธอจะไม่อยากพูด ไม่อยากจำ และอยากลืมมันมากๆ สิ่งที่สำคัญจริงๆสำหรับ Leda คืออดีต

ตั้งแต่ที่ Leda ได้คุยกับ Nina ครั้งแรก เธอรู้สึกถึงการมาทาบกันบางอย่างราวกับเดจาวู สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเธอกำลังจะเกิดขึ้นกับ Nina และที่เธอห่วงไม่ใช่เรื่องที่ว่าสามีของ Nina นั้นน่ากลัวหรือเมื่อถูกจับได้เธอผู้สมรู้ร่วมคิดกับ Will จะมีชะตากรรมอย่างไร Leda สนใจแค่ว่าแม่ผู้ยังสาวคนนี้จะรู้สึกกับตัวเองและทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งลูก สามี และครอบครัวอย่างไร หลังจากได้ลิ้มรสความอิสระและความสุขชั่วครั้งชั่วคราว เหนือสิ่งอื่นใดนอกจากจะถูกจับได้ ที่น่ากลัวกว่าคือจิตใจที่อาจรู้สึกผิดไปตลอดชีวิตหรือทำอะไรที่ตัวเองอาจเสียใจจนกู่ไม่กลับได้ (ทั้งการทำแบบนี้ หรือหลังจากนี้) และ Nina จะมองว่ามันเป็นบาปที่ติดตัวเธอไปตลอดจนวันนึงมันวกกลับมาทำลายเธอมั้ย

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Leda ได้ถามให้ Nina คิดทบทวนดีๆ อีกครั้งว่าอยากได้กุญแจบ้านพักเธอหรือไม่ และได้ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดคือเธอนำตุ๊กตาคืนให้กับ Nina โดยไม่ให้เหตุผลว่าขโมยมาทำไมและเอามาคืนให้เธอทำไม ที่เธอทำเช่นนั้นแม้รู้ว่าจะทำให้ Nina เกลียดเธอมาก แต่ก็ตัดสินใจทำเพราะรู้ว่ามันจะเป็นการปิดโอกาสในการที่ Nina จะนัด Will ทำสิ่งที่อาจทำให้เธอเสียใจไปตลอดชีวิต

การที่ Leda ให้ตุ๊กตา Nina นอกจากเป็นการแก้ไขอดีตแล้ว หนังยังบอกเราแบบนัยๆ อีกด้วยว่าเรื่องราวอดีตของ Leda กับการนึกเสียใจของเธอ ได้จบลงแล้ว จากนี้เหลือแต่ปัจจุบัน

ท้ายที่สุดแล้วเรื่องราวมาจบลงแบบปลายเปิด หลังจากที่ Nina จากไป เธอได้ทิ้งแผลที่ท้องของ Leda ทำให้เธอเสียเลือดจำนวนมากจนรถเสียการควบคุม หนังไม่ได้เล่าชัดว่าเธอมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว แต่จู่ๆ ผลส้มก็โผล่มา และเธอคุยโทรศัพท์กับลูกอย่างปกติหน้าตาเฉย พร้อมกับนั่งปอกส้มแบบต่อเนื่องเหมือนงูไม่ให้ขาดตอน

ตีความได้สองทางว่า 1. เธอตายไปแล้ว และก่อนตายคิดถึงสิ่งที่อยากทำคือการคุยกับลูกและปอกส้มแบบที่ชอบปอก กับ 2. คือเธอกำลังสติเลือนรางและนึกถึงสิ่งที่อยากทำ

ทั้งหมดทั้งมวลคือเรื่องราวของความเสียใจและความเสียดาย อันเกิดมาจากความรู้สึกสับสนไม่มั่นคง ไม่พร้อม และไม่สามารถรับสภาวะปัจจุบันได้อีกต่อไปของ Leda วัยสาว เป็นเหตุให้เธอมาสู่จุดนี้ หากตายเธอก็ต้องมาตายอย่างโดดเดี่ยว แต่หากไม่ตาย เธอก็ต้องมาเกิดอุบัติเหตุในโลกที่ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ว่า เธอคือแม่และภรรยาที่แย่ ที่ตอนนี้ต้องมาลงเอยด้วยการอยู่คนเดียว โดยที่ไม่ว่าจะตายตอนนี้หรือตอนไหนก็ไม่อาจลบล้างความรู้สึกผิดเหล่านั้นได้เลย

Leda คือคนที่หวังจะให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบเรียบ ไม่สะดุด และทำหน้าที่ทุกอย่างให้สมศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็นแม่ ภรรยา หรือในฐานะคนคนหนึ่ง แต่ความเป็นมนุษย์กับสิ่งที่เรียกว่าชีวิตไม่ได้ง่ายเช่นนั้น อย่างน้อยหากทำอะไรอย่างเต็มที่ ดีที่สุด และคิดให้รอบคอบ ต่อให้เป็นการปอกส้มที่ขาดตอน ไม่สมบูรณ์แบบ ก็ยังดีกว่าไม่มีโอกาสได้ลงมือทำ

AUTHOR