Minari ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของชาวเอเชีย หรืออีกหนึ่งโฆษณาชวนเชื่อของฮอลลีวูด

ปี 2021 ดูเหมือนจะเป็นปีทองของคนเชื้อสายเอเชียบนเวทีภาพยนตร์โลก เรามี Chloé Zhao ที่คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวที Golden Globes และ BAFTA ด้วยภาพยนตร์เรื่อง Nomadland ทั้งยังเป็นผู้กำกับหญิงเอเชียและผู้กำกับหญิงผิวสี (woman of color) คนแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม ด้านนักแสดงเองก็มี Riz Ahmed นักแสดงเชื้อสายปากีสถานจากภาพยนตร์เรื่อง Sound of Metal ที่ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากทั้งเวที Golden Globes, BAFTA และออสการ์เช่นกัน

แต่อีกหมุดหมายสำคัญประจำปีนี้สำหรับหลายๆ คนคือการที่ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของคนเอเชียนอเมริกันมากๆ อย่าง Minari ของผู้กำกับเชื้อสายเกาหลี Lee Isaac Chung ได้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมในเวที BAFTA และออสการ์ ส่งให้นักแสดงในเรื่องอย่าง Youn Yuh-Jung เป็นนักแสดงเอเชียคนแรกที่คว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงจากเวที BAFTA และ Screen Actors Guild และ Steven Yeun ให้เป็นนักแสดงเกาหลีและคนเอเชียนอเมริกันที่เกิดในอเมริกาคนแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์

minari

Minari เล่าเรื่องราวเล็กๆ ของคนเกาหลี-อเมริกันอพยพซึ่งเป็นประสบการณ์วัยเด็กของผู้กำกับเอง ในวัยเด็ก พ่อของเขาพาครอบครัวย้ายจากรัฐแคลิฟอร์เนียไปทำฟาร์มผักเกาหลีในรัฐห่างไกลอย่างอาร์คันซอตามวิถี American Dream ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยอมรับจากเวทีรางวัลภาพยนตร์ตะวันตกมากมาย ต่อจากความสำเร็จของภาพยนตร์เอเชียนต่างประเทศอย่าง Parasite ของผู้กำกับ​ Bong Joon Ho ในปีก่อนหน้า

นี่ดูจะเป็นสัญญาณของการยอมรับหนึ่งในชนกลุ่มน้อยของอเมริกาที่เคยมีที่ยืนน้อยที่สุดและถูกตีกรอบมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์อเมริกัน โดยเฉพาะฝั่งนักแสดงที่ในที่สุดก็ได้ยืนทัดเทียมคนผิวขาวที่ยึดครองวงการมาเกือบร้อยปีเสียที

แต่ในขณะที่วงการฮอลลีวูดกำลังแซ่ซ้องคนเชื้อสายเอเชีย สถานการณ์ของคนเชื้อสายเอเชียในโลกนอกโรงภาพยนตร์กลับสวนทางกับทิศทางของเวทีรางวัลต่างๆ อย่างน่าตกใจ 

เพราะสถานการณ์โควิด-19 กระแสต่อต้านคนเอเชียจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วสหรัฐอเมริกา ยอดอาชญากรรมต่อคนเชื้อสายเอเชียพุ่งสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ มีผู้เสียชีวิตจากการต่อต้านคนเชื้อสายเอเชียแล้วนับสิบราย จนผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าการเทรางวัลให้หนังเอเชีย 2 ปีติดนี้เกิดขึ้นเพราะคนเอเชียและเอเชียนอเมริกันได้รับการยอมรับจากฮอลลีวูดแล้วอย่างแท้จริง หรือทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงเพื่อผลประโยชน์และการเมืองเรื่องสีผิวในฮอลลีวูดที่พานักแสดงเอเชียหลุดจากกับดักหนึ่งเพื่อตกลงไปในอีกกับดักหนึ่งอย่างที่เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ของฮอลลีวูดกันแน่ 

ความรักในความเกลียด และดาราเอเชียในฮอลลีวูดยุคแรก 

หลายคนอาจจะไม่รู้ แต่ในยุคแรกๆ ของฮอลลีวูดมีนักแสดงเชื้อสายเอเชียหลายคนที่ต่อสู้จนเป็นที่นิยมไม่แพ้ดาราผิวขาวยอดนิยมในยุคนั้น เช่น นักแสดงญี่ปุ่น Sessue Hayakawa นักแสดงสาวชาวจีนอย่าง Anna May Wong และ Philip Ahn นักแสดงเชื้อสายเกาหลีคนแรกๆ ของฮอลลีวูด ท่ามกลางกระแสการต่อต้านคนเอเชียที่เกิดขึ้นในยุคนั้น

Sessue Hayakawa (ภาพโดย Fred Hartsook, 1918)
Philip Ahn และ Anna May Wong จากภาพยนตร์เรื่อง Daughter of Shanghai (1937) 

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ชาวเอเชียจำนวนมากอพยพมาหางานในสหรัฐอเมริกา คนอเมริกันผิวขาวจำนวนมากเกิดทัศนคติว่าชาวเอเชียเหล่านั้นมาแย่งงานของตน จนเกิดกระแสต่อต้านคนเอเชียขึ้นอย่างรุนแรง ในวงการภาพยนตร์ก็เช่นกัน กฎหมายห้ามมีความสัมพันธ์ข้ามเชื้อชาติ (Anti-Miscegenation Laws) ที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งสหรัฐอเมริกาถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมนักแสดงเชื้อสายเอเชียอย่างเข้มงวด เนื่องจากภาพยนตร์ดังส่วนใหญ่ในยุคนั้นเป็นหนังรัก นักแสดงเชื้อสายเอเชียจึงไม่มีโอกาสรับบทนำเพราะกฎหมายดังกล่าวห้ามไม่ให้นักแสดงเชื้อสายเอเชียจูบกับนักแสดงผิวขาวที่รับบทด้วยกัน 

ด้วยเหตุนี้ นักแสดงเชื้อสายเอเชียจึงถูกกำหนดกรอบให้ได้รับแต่บทรองที่เป็น ‘ภาพจำ’ ฉาบฉวย ในลักษณะที่ทำให้คนเชื้อสายเอเชียดูเป็นคน ‘ต่างชาติ’ ที่แค่มาอาศัยในอเมริกา และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกันโดยรวม นักแสดงชายมักได้รับบทเป็นตัวร้าย ส่วนนักแสดงหญิงถ้าไม่รับบทหญิงเอเชียชั่วผู้ยั่วยวนผู้ชายผิวขาวให้ผิดลูกผิดเมีย ก็ต้องเป็นสาวเอเชียผู้นอบน้อมที่ศิโรราบต่อพลังรักของชายผิวขาวเท่านั้น ร้ายที่สุดคือสตูดิโอต่างๆ เลือกที่จะมองข้ามนักแสดงชาวเอเชียแท้ๆ แล้วใช้นักแสดงผิวขาวที่มีชื่อเสียงมาแต่งหน้าท่าทางให้เป็นคนเอเชีย (yellowface) แทน

แม้จะถูกกีดกันและกำหนดกรอบอย่างรุนแรง นักแสดงเชื้อสายเอเชียรุ่นแรกๆ ก็ล้วนแสดงพลังในกรอบของตัวเองจนกลายเป็นที่นิยมของคนดู เซสสึเอะ ฮายากาวะ กลายเป็นขวัญใจของสาวๆ ผิวขาวทั่วโลกหลังรับบทเศรษฐีญี่ปุ่นผู้ขืนใจนางเอกอเมริกันในเรื่อง The Cheat (1915) จนกลายเป็นนักแสดงนำเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับความนิยมทั้งในอเมริกาและยุโรป และได้ค่าจ้างเทียบเท่ากับดารานำผิวขาวคนอื่นๆ ในยุค ส่วนแอนนา เมย์ หว่อง ก็ใช้ทั้งบทผู้หญิงเอเชียผู้นอบน้อมใน The Toll of the Sea (1922) และบทนางยั่วใน Daughter of the Dragon (1931) พาตัวเองไปสู่ความสำเร็จในระดับนานาชาติ แต่ไม่ว่านักแสดงเชื้อสายเอเชียในยุคนั้นจะประสบความสำเร็จในด้านชื่อเสียงหรือรายได้เท่าไหร่ สิ่งที่นักแสดงเหล่านั้นไม่เคยได้รับในยุครุ่งเรืองของตัวเองแม้แต่ครั้งเดียวคือรางวัลการแสดงจากสถาบันต่างๆ ในฮอลลีวูด กลับกลายเป็นนักแสดงผิวขาวอย่าง Luise Rainer ที่ชนะรางวัลออสการ์นักแสดงนำหญิงจากบทหญิงชาวจีนในภาพยนตร์เรื่อง The Good Earth (1937) เซสสึเอะเองก็เพิ่งได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายจากเรื่อง The Bridge on the River Kwai (1954) ในช่วงท้ายๆ ของชีวิตการแสดง

ต้องรอจนถึงปี 1956 ถึงจะมีนักแสดงเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นั่นคือ Yul Brynner นักแสดงเชื้อสายรัสเซีย-มองโกเลียจากบทพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในภาพยนตร์เรื่อง The King and I ในปีเดียวกันนั้นเอง Miyoshi Umeki นักแสดงเชื้อสายญี่ปุ่นก็ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Sayonara (1957) ถึงอย่างนั้น บทบาททั้งสองก็ยังเป็นบทของตัวละครชาวเอเชียที่รับใช้เรื่องราวของคนขาว ทั้งรัชกาลที่ 4 ที่ต้องได้รับการสอนให้เป็นชาว ‘ซิวิไลซ์’ โดยแหม่มแอนนา และนางเอกของ Sayonara ที่มีชีวิตเพื่อรอรักจากทหารจีไออเมริกัน

Yul Brynner in the 1985 Broadway revival
Miyoshi Umeki / Credit : Photo by ABC Photo Archives/ABC via Getty Images

หรือฟ้าจะเปิดให้คนเอเชีย : จาก Flower Drum Song ถึง The Joy Luck Club 

การเคลื่อนไหวด้านสิทธิของชนกลุ่มน้อยในอเมริกาโดยเฉพาะชาวแอฟริกัน-อเมริกันในยุค 60-90s ทำให้นักแสดงเชื้อสายเอเชียในฮอลลีวูดเหมือนจะมีที่ยืนในวงการมากขึ้นตามไปด้วย เช่น มีภาพยนตร์เพลง Flower Drum Song (1961) ภาพยนตร์เรื่องแรกของฮอลลีวูดที่เล่าประสบการณ์ของผู้อพยพเชื้อสายเอเชียและมีนักแสดงนำเป็นคนเชื้อสายเอเชียทั้งหมด ทางด้านโทรทัศน์ ซีรีส์ไซ-ไฟคลาสสิกอย่าง Star Trek ก็ดันให้นักแสดงเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกันอย่าง George Takei ได้รับบทสำคัญอย่างซูลูในปี 1966 ส่วนทางเวทีรางวัลก็มี Haing S. Ngor นักแสดงชาวกัมพูชาและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดงอย่าง The Killing Fields (1984)

George Takei
 Haing S. Ngor

แต่แล้วความสนใจในวัฒนธรรมและคนเชื้อสายเอเชียก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นกรอบภาพจำใหม่ๆ ที่กักขังคนเชื้อสายเอเชียเอาไว้เอง เช่น ความโด่งดังของ Bruce Lee ในยุค 70-80s ทำให้เกิดภาพจำคนเชื้อสายเอเชียในฐานะนักสู้กังฟูหรือเด็กเนิร์ดด๊อกด๋อยในหนังไฮสกูลต่างๆ จนแม้คนเชื้อสายเอเชียจะมีที่ยืนมากขึ้น แต่ก็เป็นการยืนอยู่ในกรอบของภาพจำอันฉาบฉวยแบนราบที่ฮอลลีวูดสร้างเอาไว้ให้อยู่นั่นเอง

แม้เมื่อถึงต้นยุค 90s คนเชื้อสายเอเชียจะมีชัยชนะเล็กๆ จากกระแสของหนังที่พยายามเล่าเรื่องราวของคนเชื้อสายเอเชียอย่างมีมิติและนำแสดงโดยนักแสดงเอเชียอเมริกันทั้งเรื่องอย่าง The Joy Luck Club (1991), Pushing Hands (1991) หรือ The Wedding Banquet (1993) แต่เมื่อภาพยนตร์กังฟูตระการตาจากทวีปเอเชียอย่าง Crouching Tiger, Hidden Dragon (2001) และ Hero (2002) ทำรายได้ดีทั้งในอเมริกาและในต่างประเทศ ฮอลลีวูดก็เลิกสนใจภาพยนตร์ที่สร้างมิติให้กับคนเชื้อสายเอเชียในประเทศตัวเอง แล้วหันไปเทรางวัลให้กับภาพยนตร์กังฟูเอเชียนนอกประเทศที่ตรงกับภาพจำของคนเอเชียในสายตาฮอลลีวูดมากกว่า นำไปสู่การสร้างภาพยนตร์ที่หากินกับภาพจำนักกังฟูเดิมๆ และนำแสดงโดยนักแสดงที่มีวิชาต่อสู้มือเปล่าอย่างเฉินหลง (Jackie Chan) หรือเจ็ต ลี (Jet Li)

The Joy Luck Club (1991)

เมื่อบวกกับการอ้าแขนรับนักแสดงเอเชียจากนอกประเทศอย่าง Gong Li ใน Miami Vice (2006) Ken Watanabe ใน Inception (2010) และ Hiroyuki Sanada ใน The Wolverine (2013) ให้มารับบทตัวประกอบหรือตัวร้ายเอเชียนในภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องราวของคนขาว ก็จะเห็นได้ว่าเกือบหนึ่งร้อยปีต่อมา ที่ทางของคนเชื้อสายเอเชียในฮอลลีวูดได้หวนกลับไปเหมือนยุคแรกเริ่มที่บทบาทในภาพยนตร์กระแสหลักมีเพียงแค่ในฐานะตัวประกอบและตัวร้าย และไม่มีที่ให้คนเอเชียนอเมริกันได้เล่าเรื่องราวของตัวเอง เพราะพวกเขาก็ยังเป็น ‘คนนอก’ ที่สังคมอเมริกันไม่มีวันยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งอย่างแท้จริง

แต่แล้วทุกอย่างก็เหมือนจะเปลี่ยนไปในปี 2013 ด้วยการมาถึงของสิ่งที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย

#AsiansAreHumansToo : เมื่อโซเชียลมีเดียเปลี่ยนทุกอย่าง

หลังเหตุการณ์ที่ตำรวจผิวขาวกระทำเกินกว่าเหตุและยิง Trayvon Martin วัยรุ่นแอฟริกัน-อเมริกันตายในปี 2013 และยิง Michael Brown กับ Eric Garner ในปีต่อมา เรื่องการเหยียดสีผิวก็กลับมาเป็นประเด็นร้อนทั่วอเมริกาอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคการเรียกร้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยทั่วอเมริกาในยุค 60-70s

แต่ต่างจากยุคก่อนหน้าที่สื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ในอเมริกาอยู่ในมือของคนขาวรุ่นบูมเมอร์จำนวนไม่มาก ปัจจุบันชนกลุ่มน้อยในสังคมอเมริกาที่รู้สึกว่าโดนกดขี่จากคนผิวขาวมาตลอด โดยเฉพาะชาวแอฟริกัน-อเมริกันต่างออกมาใช้โซเชียลมีเดียเรียกร้องสิทธิ และรวมกลุ่มกันถล่มหรือบอยคอตต์เครือบริษัทยักษ์ใหญ่และสื่อต่างๆ ที่ไม่สนับสนุนกลุ่มของตนจนยอดขายและยอดโฆษณาของบริษัทและองค์กรต่างๆ ทั่วอเมริกาตกฮวบเป็นประวัติการณ์  

บริษัทและสถาบันต่างๆ ทั่วอเมริกาจึงพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างกระแส ‘ความหลากหลาย’ (diversity) ขึ้น เครือบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยทั่วอเมริกาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สถาบันต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนแสดงท่าทีสนับสนุนชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในประเทศ และรับพนักงานที่เป็นชนกลุ่มน้อยมากขึ้นเพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นเป้าหมายของการบอยคอตต์

ออสการ์เองก็หนีไม่พ้นปรากฏการณ์นี้เช่นกัน ในปี 2015 หลังผู้เข้าชิงออสการ์ด้านการแสดงทุกรางวัลเป็นคนผิวขาว 2 ปีติดกัน ก็เกิดกระแสแฮชแท็ก #OscarsSoWhite ขึ้นในทวิตเตอร์และแพร่สะพัดไปทั่วอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็วจนเกิดปฏิกริยาต่อต้านเวทีออสการ์จากคนทั่วโลก คนจำนวนมากขู่ว่าจะเลิกดูถ่ายทอดสดพิธีประกาศรางวัลซึ่งจะกระทบยอดโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดซึ่งเป็นช่องทางหาเงินหลัก และเป็นสัญญาณที่แย่มากของรายการที่ยอดคนดูตกลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2014  จนทางเวทีออสการ์ต้องออกมาประกาศว่าจะเปิดโอกาสให้ทั้งผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยในประเทศได้เข้าชิงรางวัลมากขึ้นภายในปี 2020

ผลกระทบจากการผลักดันความหลากหลายในฮอลลีวูดทำให้ปัจจุบันเหมือนเป็นยุคทองของคอนเทนต์เอเชียนอเมริกัน ซีรีส์ Fresh Off the Boat (2015-2020), Kim’s Convenience (2016-2021) และซีรีส์จากไอเดียดั้งเดิมของบรูซ ลี อย่าง Warrior (2019-ปัจจุบัน) เป็นที่นิยมจากคนดูทั่วโลก ด้านภาพยนตร์เองก็มี Crazy Rich Asians (2018) ที่มีชาวเอเชียเป็นตัวละครหลักทั้งเรื่องเป็นเรื่องที่ 3 ในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูด (ใช่ เพียงเรื่องที่ 3 เท่านั้น) แถมภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่เอเชียนอย่าง Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings (2021) จากค่ายมาร์เวลก็กำลังจะออกฉายในเดือนกันยายนปีนี้

ด้านเวทีรางวัล นักแสดงเชื้อสายเกาหลี-แคนาดา Sandra Oh สามารถคว้ารางวัล Golden Globes สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากซีรีส์ Grey’s Anatomy ในปี 2005 และรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากซีรีส์ Killing Eve ในปี 2019 ตามมาด้วย Parasite ภาพยนตร์เอเชียนอเมริกันที่สามารถคว้ารางวัลทีมนักแสดงยอดเยี่ยมจากเวที Screen Actors Guild ได้เป็นเรื่องแรก ถือเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศและภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเอเชียนแท้ๆ เรื่องแรกที่สามารถคว้ารางวัล Best Picture ในเวทีออสการ์ได้ จนมาถึงการเข้าชิงรางวัลต่างๆ ของ Minari ในปีนี้

ดูเหมือนว่าในปี 2021 การยอมรับและความเท่าเทียมทางเชื้อชาติได้เกิดขึ้นในทั้งวงการฮอลลีวูดและสังคมอเมริกันเสียที แต่เมื่อลองมองดูดีๆ การ ‘ยอมรับ’ นี้อาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตาจากองค์กรต่างๆ เพื่อผลประโยชน์และการยอมรับจากสังคมอย่างผิวเผินเท่านั้น

ยอมรับหรือแค่ ‘ทนอยู่’ ไปด้วยกัน

ในปัจจุบันพนักงานที่เป็นชนกลุ่มน้อยในบริษัทต่างๆ หลายคนพบว่าตัวเองเป็นเพียงแค่ ‘diversity hire’ หรือพนักงานที่บริษัทจ้างมาเพื่อให้เต็มโควตาความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมเพื่อให้พ้นคำครหาจากสังคม มากกว่าถูกจ้างเพราะความสามารถของพนักงานเอง ในโลกภาพยนตร์เองก็เช่นกัน ภาพยนตร์หลายเรื่องมีนักแสดงที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากขึ้นก็จริง แต่บทของนักแสดงเหล่านั้นกลับไม่มีความสำคัญอะไรกับเรื่อง ไม่ต่างอะไรจากตัวประกอบที่มีไว้เพื่อเติมโควตานักแสดงจากชนกลุ่มน้อยให้เต็ม ถ้าไม่นับเรื่องผลงานการแสดงที่ดีเยี่ยมของทั้งสตีเวน ยูน, ยุนยอจอง และริซ​ อาห์เม็ด แล้วลองมองสภาวะแวดล้อมของรางวัลในปีนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าการเทรางวัลให้คนเชื้อสายเอเชียในปีนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะผลงานการแสดง แต่อาจมีการเมืองเรื่องสีผิวและผลประโยชน์ของสตูดิโอต่างๆ และเวทีออสการ์มาเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง

การให้รางวัลบุคลากรและภาพยนตร์จากชนกลุ่มน้อยในประเทศย่อมเป็นการแสดงจุดยืนของสถาบันออสการ์ว่ามีความ ‘เปิดกว้าง’ และก้าวหน้าทันสมัย ทำให้รางวัลมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งในกลุ่มคนดูที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ได้เข้าชิงและในหมู่คนดูที่ต้องการเห็นความก้าวหน้าทางสังคม อันจะนำมาซึ่งคนดูและรายได้ของเวทีออสการ์ที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับเป็นการชำระล้างประวัติศาสตร์ความไม่เท่าเทียมของสถาบันไปพร้อมๆ กัน

การเทรางวัลให้กับคนเอเชียในปีนี้จึงอาจไม่ได้เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากความเท่าเทียมที่แท้จริง แต่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองและผลประโยชน์ของเวทีรางวัลต่างๆ ก็เป็นได้

minari
minari

จากกรอบหนึ่งถึงอีกกรอบ

ยิ่งไปกว่านั้น กระแสการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้สื่อต่างๆ ดันประเด็นความเป็น ‘ครั้งแรก’ ของการได้รางวัลของคนเอเชียในปีนี้อย่างออกนอกหน้า โดยเฉพาะในกรณีของ Minari ที่สื่อต่างผลักดันว่าเป็นชัยชนะของภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวประสบการณ์ของ ‘ชาวเอเชียนอเมริกันแท้ๆ’ ในเวทีที่ถูกยึดครองโดยคนขาวมาตลอด  

ทว่าการเฉลิมฉลองนี้อาจกลายเป็นดาบสองคมอย่างที่หลายคนไม่ทันคาดคิด สตีเฟน ยอน ออกมาพูดกับ The Hollywood Reporter ไม่นานมานี้ว่าเขากลัวว่าการได้รางวัลนี้จะทำให้คนมองเขาเป็น ‘นักแสดงเอเชียนอเมริกัน’ มากกว่าการเป็นแค่ ‘นักแสดง’ คนหนึ่ง

minari

กลายเป็นว่าการติดป้ายให้นักแสดงคนหนึ่งว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มเชื้อชาติและเป็นชัยชนะของความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาจเป็นหลุมพรางที่สร้างกรอบจำกัดให้นักแสดงคนนั้นได้รับแต่บทในภาพยนตร์ที่เล่าประสบการณ์ของกลุ่มเชื้อชาติตัวเอง หรือบทที่ต้องใช้คนเชื้อสายนี้เล่นเท่านั้น เช่น ในเรื่อง Minari แทนที่เขาจะสามารถรับบทนำอะไรก็ได้ ในภาพยนตร์อะไรก็ได้ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นการเล่าประสบการณ์ของชีวิตคนเชื้อสายใดเชื้อสายหนึ่งเหมือนอย่างโอกาสของนักแสดงนำผิวขาวทั่วไปในฮอลลีวูด นี่ต่างหากถึงจะเป็นการยอมรับว่าคนเชื้อสายเอเชียนอเมริกันเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของสังคมอเมริกันอย่างแท้จริง

ไม่เพียงสำหรับนักแสดงเท่านั้น การตีค่า Minari ว่าเป็นหมุดหมายของ ‘ภาพยนตร์เอเชียนอเมริกันในอุดมคติ’ ก็เป็นการสร้างภาพจำอันตรายให้กับภาพยนตร์เอเชียนอเมริกันในฮอลลีวูดในอนาคตได้อย่างไม่ตั้งใจ เพราะการเสริมสร้างแนวคิดว่าภาพยนตร์เอเชียนอเมริกันที่เหมาะสมจะได้รับรางวัลต้องเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาของเชื้อสายของตัวละคร ต้องผลิตซ้ำความยากลำบากและเศร้าสร้อยของคนเอเชียนอเมริกันในการเป็นคนอพยพในอเมริกาเท่านั้น ก็เป็นการปิดกั้นภาพยนตร์ที่ต้องการเล่าแง่มุมชีวิตคนเอเชียนอเมริกันในมุมอื่นๆ หรือแนวอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซ้ำร้าย การเน้นแต่เนื้อหาการเป็น ‘คนอพยพ’ ของคนเอเชียมากเกินไปก็ไม่ต่างอะไรกับการผลิตซ้ำความเป็นคน ‘ต่างชาติ’ ที่ฮอลลีวูดทำตลอดมา

แน่นอนว่าการที่คนเอเชียและเอเชียนอเมริกันได้รับรางวัลต่างๆ เป็นเรื่องน่ายินดี และการที่ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวที่เป็นเอเชียนอเมริกันมากๆ อย่าง Minari มีที่ทางของตัวเองในเวทีรางวัลก็เป็นจุดหมายที่สำคัญในการนำเสนอคนเอเชียบนจอภาพยนตร์ แต่ชัยชนะที่แท้จริงของคนเอเชียในวงการฮอลลีวูดอาจจะไม่ใช่การสร้างที่ทางของตัวเองด้วยการผลิตซ้ำเรื่องราวที่มีความเอเชียนเฉพาะตัวยิ่งขึ้นเรื่อยๆ บนจอภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นวันที่ภาพยนตร์ที่เอเชียนอเมริกันมากๆ อย่าง Minari ภาพยนตร์ที่มาจากคนเอเชียนอกประเทศอย่าง Parasite และภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวสากลอย่าง Sound of Metal ที่เปิดโอกาสให้คนเอเชียสามารถรับบทใดๆ ก็ได้ทัดเทียมกับคนขาว สามารถเข้าชิงรางวัลพร้อมกันได้อย่างเป็นเรื่องปกติอย่างไม่น่าตื่นเต้นอะไร เป็นการทลายกรอบที่ห้อมล้อมคนเอเชียตลอดมาอย่างสมบูรณ์ 

minari

อ้างอิง

hollywoodreporter.com

hollywoodreporter.com

huffingtonpost.co.uk

nytimes.com

nytimes.com

rollingstone.com

theguardian.com

wjla.com

AUTHOR