“อีก 8 วันผมจะอายุ 30 แล้ว อีก 8 วันช่วงเวลาแห่งความเยาว์วัยของผมจะสิ้นสุดลง และผมมีอะไรที่จะทำให้ตัวเองภูมิใจได้บ้าง นอกจากเพลงแฮปปี้เบิร์ทเดย์”
นอกจากชื่อนักแสดงนำอย่าง Andrew Garfield ที่ทำให้อยากดูในเบื้องต้นแล้ว นี่เป็นคำถามหรือประโยคพูดในตัวอย่างที่ทำให้ต้องหันขวับไปมองหนังเรื่องนี้ทันที เพราะที่ผ่านมาผู้เขียนเคยหาคำตอบของคำถามประมาณอยู่นี้ตลอดเวลาเหมือนกัน พร้อมกับถามต่อด้วยว่า อะไรคือสิ่งที่จำแนกระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ และเราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ดีที่สุดกับชีวิตเราจริงๆ
พร้อมกันนั้น ยังได้เห็นอีกว่าหากการกลับมาของ Andrew Garfield ใน Spider-Man: No Way Home เป็นการคัมแบ็กที่ทำให้เขากลับมาป๊อปปูลาร์อีกครั้ง หนังเรื่อง tick, tick…BOOM! ของ Netflix เรื่องนี้คงเปรียบได้กับเสียงปรบมือต้อนรับการกลับมาของเขา ด้วยการปล่อยให้ Andrew ได้เฉิดฉาดและปล่อยของเต็มที่จนฝีมือการแสดงอันยอดเยี่ยมนี้พาเขาคว้ารางวัลลูกโลกทองคำตัวแรกมาครองได้สำเร็จ และล่าสุดก็พาเขาเข้าชิงออสการ์นำชายเป็นครั้งที่ 2 ด้วยเช่นกัน
(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญหนัง tick, tick…BOOM!)
tick, tick…BOOM! กำกับโดย Lin-Manuel Miranda เป็นหนังชีวประวัติของ Jonathan Larson (รับบทโดย Andrew Garfield) โปรดิวเซอร์และคนเขียนบทละครเวทีชื่อดังคนสำคัญของอเมริกาก่อนที่เขาจะได้รับรางวัล Tony Awards กับ Pulitzer Prize และเป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้ ที่เสี่ยงโชค มุ่งมั่น และทุ่มเทกับสิ่งที่ชอบแบบไม่เผื่อใจ
เป็นความเป็นจริงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวประเภท ‘ที่มา (origins)’ ของอะไรสักอย่างน่าสนใจเสมอ เพราะเรื่องราวประเภทนี้มักไม่ใช่เรื่องราวที่จงใจยกยอปอปั้น แต่เป็นเรื่องราวที่มีคุณค่ากับมีมิติและแง่มุมของชีวิตมากกว่า ‘ข่าว’ ที่เอาแต่เชิดชูความสำเร็จ (แล้วใช้เบื้องหลังเป็นเพียงตัวสนับสนุน) ตรงความเป็นมนุษย์และการฝ่าฟันของคนคนหนึ่งก่อนที่โลกจะรู้จักเขาในวงกว้าง รวมถึงความกล้าที่จะทำและปฏิเสธ การเรียนรู้ ความเสี่ยงที่ได้รับ กับสิ่งใดบ้างที่คนในเรื่องราวนั้นเสียสละไปเพื่อมาถึงจุดจุดนี้ แสดงให้เห็นถึง ‘กระบวนการ’ มากกว่าผลลัพธ์ เพราะมันคือเรื่องราวของความพยายาม อดทน สม่ำเสมอ จริงใจ และซื่อสัตย์ต่อความเชื่อและสิ่งที่ตัวเองรักว่าเขารักมันแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นบททดสอบที่ไม่เคยง่าย การที่คนเรารักอะไรสักอย่างหนึ่งแค่แพสชั่นและความสนใจไม่เพียงพอ ไม่ใช่ทุกคนที่ดังเปรี้ยงตั้งแต่ครั้งแรก และถ้าหากยอมแพ้ Jonathan Larson คงไม่มีวันที่จะโด่งดังถึงขั้นที่มีคนเอาชีวิตเขามาสร้างเป็นหนังเรื่องนี้ได้
ความจริงหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังดราม่าเกี่ยวกับคนทำละครเวทีโดยมีเพลงเป็นองค์ประกอบในเนื้อเรื่องก็ได้ แต่ด้วยความที่ชีวิตเขามีแต่โน้ต เสียงเพลง เครื่องดนตรี และการขับร้อง ความเป็นมิวสิคัลจึงเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของกระบวนการเล่าเรื่องเพื่อสอดประสานระหว่างเนื้อหาและสิ่งที่ Jonathan ให้ค่าที่สุดเหล่านี้ โดยที่เนื้อหาของเพลงแต่ละเพลงที่เขาแต่งก็สะท้อนถึงการตามล่าหาความฝันและความในใจต่อทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับตัวเอง ความคิดตัวเอง ความไม่แน่ใจในเส้นทางนี้ แฟน เพื่อนสนิท การพบการจากลา การหยิบเพลงมาใช้เป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องราวจึงเพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีก
ชื่อหนัง tick, tick…BOOM! มาจากชื่อละครเวทีเรื่องหนึ่งของ Jonathan ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาเองที่ตามล่าหาความฝัน ณ นครแห่งโอกาส การงาน และความฝัน อย่าง New York บนเส้นทางที่ไม่แน่นอนและตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าเขาตัดสินใจถูกหรือไม่
แม้ Jonathan จะได้เปรียบชีวิตเป็นระเบิดเวลาที่ดัง ติ๊ก ติ๊ก แล้วตามด้วยเสียงระเบิดตู้ม แต่เมื่อมองลึกไปอีกชั้น ระเบิดเวลาเป็นสิ่งที่สื่อความหมายได้ถึงสองอย่างในตัวมันเอง คือนับถอยหลังแล้วระเบิดภายในที่เรียกว่า ‘implode’ คือการดับสูญไปโดยที่โลกไม่ได้รับรู้ โลกไม่จำ หรือ ทำไม่สำเร็จ และจบสิ้นล้มเหลว ในขณะที่อีกทางซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ Jonathan สั่งสมทุกความพยายาม อดทน มุ่งมั่น แล้วระเบิดออกมาให้โลกได้ยิน หรือเป็นการระเบิดแบบ ‘explode’
ตัวเขาเองนั้นไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวเองจะระเบิดแบบไหน แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน สำหรับ Jonathan แล้วการเสี่ยงทำตัวเป็นระเบิดเวลาก็ยังบรรลุเป้าหมายการมีอยู่และการเป็น ‘ระเบิดเวลา’ มากกว่าระเบิดเวลาที่ไม่ได้ทำงาน ไม่มีเสียงนาฬิกาติ๊กๆ จนทำหน้าที่เป็นที่ทับอะไรสักอย่าง หรือถูกเก็บเอาไว้ในลิ้นชักสักที่แล้วถูกลืมไป
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าจุดเด่นของหนังชีวประวัติไม่ใช่การอวยคนคนนั้นแบบไม่ลืมหูลืมตา หรือจะต้องใส่ความเป็นตัวเอกอันเต็มไปด้วย ‘main character syndrome’ หรือมุมมองประเภท ‘เพราะเป็นตัวเอกจึงต้องโดดเด่นและโลกหมุนรอบตัวเขา/เธอ’ แต่ tick, tick…BOOM! เป็นหนังที่แสดงให้เห็นว่า Jonathan เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งในโลกใบใหญ่ๆ นี้ที่จะหมุนต่อไปไม่ว่าจะมีชายคนนี้ติดสอยห้อยตามไปด้วยหรือไม่ และหมุนต่อไปอย่างไม่แคร์อันใดว่าชายคนนี้จะเป็น someone หรือ no one
ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าการเป็นมนุษย์นั้นเต็มไปด้วย ‘ข้อบกพร่อง (flaw)’ กับ ‘ความไม่รู้ (know-nothingism)’ ซึ่งขับเน้นองค์ประกอบของความเป็นจริงตรงนี้ออกมาได้ดีเลยทีเดียว
สำหรับเรื่อง flaw เพราะมนุษย์ไม่มีใครเพอร์เฟกต์ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการตัดสินใจ การจัดการอารมณ์ คำพูดคำจา และนิสัยใจคอ การเห็นความไม่สมประกอบในอะไรเหล่านี้ทำให้เรื่องราวนี้สมจริงกับตัวละคร Jonathan มีความ ‘เป็นมนุษย์’ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือการที่ Jonathan พยายามเลี่ยงตอบทุกครั้งที่ตัวละครแฟนของเขาอย่าง Susan ทวงถามถึงคำตอบเกี่ยวกับการย้ายไปอยู่ด้วยกันให้ใกล้ที่ทำงานใหม่ Susan การที่ Jonathan ไม่ตอบและบ่ายเบี่ยงด้วยการชม Susan ว่าสวยบ้าง ปัดตอบด้วยการมีเซ็กส์บ้าง และบอกว่าทำงานยุ่งค่อยคุยบ้าง ลึกๆ แล้วเขารู้กับเข้าใจดีว่า 1. การตอบ Susan ไม่ต่างอะไรไปกับการยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นมีโอกาสสูญเปล่าสูงกว่าสำเร็จ 2. เขาไม่สามารถให้ความแน่นอนกับแฟนได้เลย และหากบอกเธอเช่นนี้เขาจะเสียเธอไป จึงได้รั้งไว้อย่างเห็นแก่ตัวด้วยการไม่พูด และ 3. สำหรับเขาแล้วความฝันตัวเองสำคัญกว่าความสัมพันธ์ Jonathan ไม่มีทีท่าว่าจะรั้งแฟนไว้ด้วยซ้ำ ซึ่งพอเป็นเช่นนี้ก็เข้าใจได้ว่าไม่ใช่ความผิดของ Susan เลยถ้าจะไม่อยู่ข้างเขาจนถึงวันที่ประสบความสำเร็จ Susan เองก็มีชีวิตของตัวเองและคู่รักต่างก็ต้องการความชัดเจนจากอีกฝ่ายกับการ value สิ่งเดียวกัน
หนังพูดเรื่องความไม่รู้ของมนุษย์ ด้วยการพาคนดูไปตั้งคำถามมากมายผ่านตัวละคร Jonathan ว่าสุดท้ายแล้ว คนเราไขว่คว้าอะไรกันแน่? อะไรคือสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต? เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้นเราต้องทำอะไรหรือแลกมาด้วยอะไร? และทำอย่างไรเราถึงจะรู้ตัวว่าสิ่งที่ทำอยู่คือสิ่งที่ถูกต้อง? ซึ่งคำตอบของคำถามนั้นก็เหมือนที่ Morpheus พูดกับ Neo เอาไว้ในหนัง The Matrix ว่าเขาทำได้เพียงชี้ประตู ที่เหลือคือคนคนนั้นต้องเดินเข้าไปเอง tick, tick…BOOM! ไม่ใช่หนังที่จะหาคำตอบเหล่านี้หรือตั้งตนว่าตัวเองเป็นผู้รู้ เพราะต่างคนต่างวาระ แต่ละคนถูกหล่อหลอมมาให้มีเป้าหมายในชีวิต มุมมอง การให้ค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือนิยามต่อคำคำหนึ่งต่างกัน เช่น คำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ ‘ดัง’ ‘เจ็บปวด’ ‘มีความสุข’ หรือ ‘ลำบาก’
หนังจึงทำหน้าที่แค่กระตุ้นให้คนดูเกิดคำถามและเกิดการตรวจสอบตัวเอง ไม่ว่าคนที่ได้ดูจะยังไม่ถึงวัย กำลังจะถึง หรือผ่านพ้นวัย 30 มาแล้วก็ตาม
แต่ทำไมต้อง 30? ทำไมตัวเลขนี้ถึงเป็นสิ่งที่คั่นกลางระหว่างความเป็นวัยรุ่นและความเป็นผู้ใหญ่?
เลข 30 ถูกนำไปใช้เกี่ยวพันกับความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ยังคงเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามมาถึงทุกวันนี้ว่าคืออะไรกันแน่? 30 ในฐานะเลขที่คั่นระหว่างความเป็นผู้ใหญ่กับวัยรุ่น ก็เป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาเองพอๆ กับการที่เราคิดระบบตัวเลขฐานสองหรือฐานอะไรก็ตามเพื่อใช้ในการนับ การกะเกณฑ์ การคำนวณอะไรต่างๆ หรือการสร้างศาสนา พระเจ้า เงินตราสำหรับแลกเปลี่ยน และระบบสังคมการเมืองขึ้นมา ซึ่งก็ว่ากันตามลักษณะความเป็นไปของร่างกายตามธรรมชาติแล้วการเติบโตทางสรีระหรือความเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ เช่น เริ่มปวดหลังแล้ว กระดูกดังกร๊อบแกร๊บแค่ขยับตัวนิดหน่อย หรือรอยเหี่ยวย่นและผิวหนังที่เริ่มหย่อนคล้อย หากนับอะไรพวกนี้ 30 อาจเป็นตัวเลขที่ทำให้ใครๆ ก็ตระหนักว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ รวมไปถึงประสบการณ์การพบเจอและเก็บเกี่ยวบทเรียนต่างๆ นานาจากการใช้ชีวิตในแต่ละวันกับความเจนโลก ความรอบรู้ ความสามารถจัดการชีวิตตัวเอง รับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน โดยเฉพาะวุฒิภาวะและการใช้ประสบการณ์ในการตัดสินได้เฉียบคมก็อาจจะใช้วัดได้ว่าคนคนนั้นเป็นผู้ใหญ่แล้วได้เช่นกัน
ไม่ว่าแต่ละคนจะนิยามความเป็นผู้ใหญ่ว่าอย่างไร ทั้งความเป็นผู้ใหญ่และเลข 30 ต่างก็เป็นสิ่งที่สังคมและคนในสังคมกำหนดกันเองขึ้นมา (โดยไม่รู้ต้นตอแน่ชัด) เป็นตัวเลขหลักไมล์ที่หวังไว้เราโตบ้าง เลิกเล่นเกมบ้าง เลิกดูแอนิเมะบ้าง หรือต้องประสบความสำเร็จหรือการที่ควรจะมั่นคงและยึดกับงานงานนึงได้แล้วโดยที่ไม่มีสิทธิ์ในการตามหาความต้องการและสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังเช่นตอนต้นของหนังที่มีโมโนล็อกเกี่ยวกับเลข 30 ว่า “เมื่อผม 30 ผมจะแก่กว่า Stephen Sondheim ตอนได้ทำละครบรอดเวย์เรื่องแรก แก่กว่า Paul McCartney ตอนแต่งเพลงสุดท้ายกับ John Lenon และตอนพ่อแม่ผมอายุ 30 พวกท่านมีลูกแล้วสองคน มีอาชีพและรายได้ที่มั่งคง กับมีอสังหาริมทรัพย์” ทั้งที่โลกเราไม่ได้สวยงามและอำนวยความสะดวกให้ทุกคนได้มีโอกาสขนาดนั้นที่จะประสบความสำเร็จ บางคนสำเร็จช้า บางคนสำเร็จเร็ว บางคนสำเร็จตอนแก่ หรือตอนตายไปแล้วถึงจะสำเร็จก็มี และในทางตรงกันข้าม โลกเราก็มีคนที่ทำอะไรไม่เคยสำเร็จเลยตลอดชีวิตเช่นกัน
สิ่งเหล่านี้ที่เขายกตัวอย่างมาเปรียบเทียบกับตัวเองคือการที่ตัว Jonathan เองกับสังคม (ที่ในชีวิตจริงก็เช่น เพื่อนฝูง พ่อแม่ ญาติๆที่มารวมตัวกันวันเชงเม้ง หรือป้าข้างบ้าน) ต่างก็คาดหวังให้คนคนนึงโตเป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว หรือเมื่อถึงจุดจุดนึงซึ่งก็คืออายุราวๆ 30 คนคนนั้นจะต้องประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง
จึงได้เกิดประโยคที่เขาพูดว่า “ห้องผมมีแต่เทปคาสเซ็ตต์และแผ่นเสียงเพลงที่คนอื่นแต่ง กับชั้นหนังสือที่ย้อยด้วยน้ำหนักของบทละครและนิยายที่ผมไม่ได้เขียน” ประโยคนี้เป็นตัวสะท้อนของแรงผลักดันที่เขาได้รับ เสมือนสร้างเดดไลน์ให้เขาเกิดความเครียดและวิตกกังวลเมื่อเวลาใกล้สิ้นสุดลงทุกทีๆ จน Jonathan ที่มีพรสวรรค์เลือกที่จะปล่อยอะไรบางอย่างอย่างความสัมพันธ์ไปเพื่อแลกมาซึ่งชื่อเสียงและการได้ทำในสิ่งที่รัก (เป็นการปล่อยที่ไม่ได้ตั้งใจจะปล่อย เพียงแต่รั้งไว้ไม่ได้และเขาเข้าใจตรงนี้ดี) แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมองดูดีๆ ก็มองแบบนี้ได้เช่นกันว่า แรงกดดันนี้ที่เขาได้รับเป็นสิ่งที่ Jonathan สร้างให้กับตัวเองหรือรนหาที่เองมากพอๆ กับที่สังคมสร้างให้กับเขาเช่นกัน
กล่าวคือ สังคมคาดหวังเราก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนหรือทุกอย่างที่บังคับชี้นิ้วให้ Jonathan ต้อง be successful ก่อน 30 ซะหน่อย แต่เป็นเขาที่กำหนดเดดไลน์นี้สำหรับตัวเขาเองขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือโลกรู้จัก Jonathan Larson เพราะการมีเดดไลน์ดีกว่าไม่มี และแรงกดดันภายใต้เวลาที่จำกัดหลายครั้งเป็นตัวดึงศักยภาพสูงสุดของคนคนนั้นออกมาใช้ จึงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าเพราะเขามีมันเขาจึงมาถึงจุดนี้ได้ ส่วนข้อเสียคือเขาไม่สามารถจับมือจูงทุกอย่างไปด้วยกันไปถึงปลายทางได้ภายใต้เดดไลน์นี้ โดยเฉพาะคนรักอย่าง Susan
ในขณะที่หนังนำเสนอแง่มุมพวกนี้ อีกตัวละครนึงที่ทำหน้าที่สะท้อนกับขับเคลื่อนถึงประเด็นอีกสองประเด็น อย่าง ‘ระบบทุนนิยมกลืนกินคน’ กับความเป็นจริงอันโหดร้ายที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ที่ว่า ‘ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ทำตามความฝัน หรือทำตามฝันแล้วจะประสบความสำเร็จ’ ได้ดี คือตัวละคร Michael ที่เป็นเพื่อนสนิทที่รู้จักกันตั้งแต่วัยเด็กของเขา
ทั้งคู่โตมาด้วยกัน และ Michael รักทั้งเสียงเพลง การเต้น การร้อง และรักละครเวทีดั่งชีวิตพอๆ กับที่ Jonathan รัก แต่ Michael กลับเลือกทำงานบริษัทโฆษณาที่ทำให้เขาได้มีห้องพักสุดหรูและคุณภาพชีวิตดี มีฉากนึงที่ทั้งคู่ทะเลาะกันซึ่งเป็นหนึ่งในฉากที่อิมแพ็กต์ที่สุดในเรื่อง Jonathan พูดราวกับว่า Michael ขายวิญญาณและพ่ายแพ้ให้วัตถุนิยม ในขณะเดียวกัน Michael ก็สวนกลับอย่างมีพอยต์ว่า “แล้วฉันผิดด้วยเหรอที่อยากมีชีวิตที่ดี” ใช่ที่เขาพูดไม่ผิด ในเมื่อไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงเป้าหมาย การประสบความสำเร็จก็เหมือนการวิ่งระยะยาวที่ไม่รู้ปลายทางบนพื้นผิวหยาบ หากทุกคนวิ่งไปได้เท่ากันก็จะไม่มีเกณฑ์วัดคำว่า ‘สำเร็จ’ ในเมื่อไม่มีใครนำหน้าหรือโดดเด่นกว่าใคร หลายคนจึงเลือกหยุดสถิติไว้ตรงนั้นแล้ววิ่งในลู่ที่มีพื้นเรียบกับมั่นคงกว่าเส้นทางขรุขระ ทุกคนต่างก็อยากมีชีวิตที่ดี และ Jonathan ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเขานั้นบ้าบิ่นและเททุกอย่างเพื่อสิ่งนี้แบบหมดหน้าตักด้วยการโชว์นิ้วกลางใส่ทุนนิยมและงานในเชิงการค้า (commercial) พร้อมกับหัวเราะร่า แม้ว่าเขากำลังอาศัยในโลกทุนนิยมกับเมืองนิยมทุนก็ตาม
สิ่งนึงที่ทำให้ประทับใจคือหลังจากที่ทั้งคู่ทะเลาะกัน ในวันเวิร์กช็อปวันสำคัญที่จะกำหนดชะตากรรมสายบรอดเวย์ของ Jonathan ไปตลอดกาล Michael ก็โผล่ไปให้กำลังใจเขา และประโยคสำคัญที่สร้างความมั่นใจให้กับ Jonathan ในการทำสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ คือประโยคที่ Michael พูดกับเขาว่า “นายคิดว่าข้างนอกนั่นมีนักแสดงละครเวทีกี่คน แต่ Jonathan Larson มีคนเดียว” (นักแสดงละครเวทีมีกี่คนในที่นี้ Michael หมายถึงตัวเองด้วยเพราะเขาเบื่อชีวิตที่ต้องแข่งขันแล้ว) เมื่อได้ยินเช่นนี้ Jonathan จึงรู้สึกเต็มที่กับเรื่องนี้มากกว่าที่เคย คนประเภทเขาต้องการคนซัพพอร์ตแม้ความสุดโต่งเกินเบอร์ของตัวเขากับความมีอีโก้เป็นสิ่งที่ผลักไสคนรอบข้างให้ออกจากชีวิตเขาทั้งแบบออกทันทีหรือค่อยๆ เฟดหายไปก็ตาม
ดูหนัง tick, tick…BOOM! แล้ว รู้สึกเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณแวน-ธิติพงษ์ ใน The Goodhuman (mockumentary จิกกัดคนรวยผู้อุดมไปด้วย growth mindset ของเบ๊น-ธนชาติ) ในข้อเท็จจริงที่ว่าคนรวยล้มบนฟูก และถ้าไม่ทำตัวแย่เกินไปยังไงก็ประสบความสำเร็จ
หนังเรื่องนี้โชว์ให้เห็นว่าสิ่งที่ Jonathan Larson ตามล่าไขว่คว้า ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมาย ความสำเร็จ การได้ทำในสิ่งที่ชอบ หากคุณภาพชีวิตเขาดีกว่านี้และเกิดมาในครอบครัวคนมีเงิน เขาจะกังวลเรื่องบิลค่าน้ำค่าไฟน้อยลง ไม่เครียดเรื่องอนาคตว่าจะไปรอดไม่รอดด้วยฟูกหนาๆ นุ่มๆ สุดหรูที่รองรับอยู่ด้านล่างเสมอ แล้วทำมันให้เต็มที่ ใช่ก็ดี ไม่ใช่ก็ทำอย่างอื่นแทน หรือใช้ข้อได้เปรียบที่มีเงินเป็นฟ่อนและแวดวงของชนชั้นสูงที่มักคบกันเองเพื่อดึงตัวเองกับสิ่งที่ต้องการเข้าหากันมากขึ้น ไปจนถึงเรียนคอร์สต่างๆ ติวตัวต่อตัว ความสามารถในการหาอุปกรณ์ ที่ฝึกซ้อมที่ดี ครูที่ค่าตัวแพง สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
แต่สิ่งที่ Jonathan มีคือมี ‘ใจรัก’ แม้ที่ผ่านมาเขาจะทำแบบครึ่งๆ กลางๆ โดยที่ไม่แน่ใจเลยว่าที่ทำอยู่มันดีมั้ย และเขาฝันเฟื่องรอวันตื่นอยู่รึเปล่าจึงไม่ได้เต็มที่กับมันและทำงานอื่นไปด้วย แต่เขาแสดงให้ตัวเองกับคนรอบข้างรวมถึงผู้คนที่เคยเขียนจดหมายปฏิเสธละครเวทีของเขาว่าเขารักมันแค่ไหน และเขาทำได้ เพียงแต่เคสนี้ต้องอาศัยพรสวรรค์ และการรู้ลิมิตของตัวเอง Jonathan รู้ตัวว่าเขาเป็นคนมีของ และหากในระยะเวลาก่อนวันเกิดเขาไม่ทุ่มเทมากพอหรือไม่ได้มีความมุ่งมั่นประเภท go hard or go home (ซึ่งไม่แนะนำให้ใครทำตาม) เขาจะไม่มีวันได้ไปถึงฝั่งฝันเป็นแน่
tick, tick…BOOM! ทำให้หลายคนพยักหน้าหงึกๆ กับเนื้อหาและไดอะล็อก ทั้งยังอดไม่ได้ที่จะน้ำตาซึมกับสิ่งที่เกิดขึ้นและการแสดงอันยอดเยี่ยมของ Andrew Garfield ในหนังเรื่องนี้ เพราะโดยทั่วไปแล้วประเด็นเกี่ยวข้องกับ ‘สิ่งที่อยากทำ’ กับ ‘เวลาและเส้นตายชีวิต’ เป็นหัวข้อร่วมกันหรืออะไรเราทุกคนเผชิญกับมันอยู่ตลอดเวลาจึงอินได้ไม่ยาก และ tick, tick…BOOM! เป็นหนังอีกเรื่องที่ผลักหัวข้อสำคัญเหล่านี้ออกมาได้สุดทางและน่าจดจำ
สุดท้ายแล้วคำตอบของคำถามทั้งหมดที่ได้กล่าวไป คือการบอกให้คนดูตอบตัวเองเพราะมุมมองต่อคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องตายตัว และบอกเราด้วยสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว นั่นก็คือ เรา ‘ไม่รู้’ ไม่มีทางรู้ได้เลยถึงหนทางข้างหน้าว่าจะเป็นเช่นไร หนังไม่ได้บอกให้เอาเยี่ยงอย่าง Jonathan Larson แต่ใช้เรื่องราวของนายคนนี้เพื่อบอกให้ทุกคนตั้งคำถามตรวจสอบถึงสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ให้ดีๆ ว่าคุ้มมั้ย กับบอกเราว่าไม่ผิดที่จะเป็นอย่าง Jonathan หรือ Michael หากเรามองว่านั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดและเรายอมรับได้ว่าเราต้องแลกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอีกสิ่งระหว่าง ‘ความฝัน’ กับ ‘ความจริง’ และบอกเราอย่างที่ตัวละคร Rosa พูดกับ Jonathan หลังจากเขาถามว่าจากนี้ไปเมื่อเขาโด่งดังจากเวิร์กช็อปแล้วยังไงต่อ “เขียนละครเวทีเรื่องต่อไปไง และหลังจากเสร็จเรื่องนี้ ก็เขียนอีกเรื่อง และเขียนเรื่องต่อๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ” เพราะนั่นแหละคือคีย์ การทำมันไปเรื่อยๆ ทำอีก ทำอีก จนกว่าจะนิยามกับตัวเองและคนอื่นนิยามให้ได้อย่างเต็มปากว่านี่คือสำเร็จแล้ว และเมื่อสำเร็จ ก็ทำตัวเป็นระเบิดดัง ติ๊ก ติ๊ก บูม แบบนี้ต่อไปลูกแล้วลูกเล่า เพราะในโลกของการแข่งขันคือการวิ่งระยะสั้นแล้วตามด้วยการวิ่งมาราธอนต่อ ที่พิสูจน์ว่าไม่ใช่แค่ใครวิ่งเร็วนำคนอื่น แต่คนนั้นจะวิ่งได้นานแค่ไหน
สำหรับ Jonathan ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ น่าเสียดายที่มันคือระเบิดลูกเดียว แต่เป็นระเบิดลูกที่สำคัญและเป็นระเบิดที่มีค่าที่สุดของเขาที่ชาวอเมริกันต่างก็กล่าวขานชื่ออย่าง ‘RENT’ เป็นเรื่องเศร้าไม่น้อยที่ชายผู้นี้ต้องมาจากโลกนี้ไปในเช้าวันเดียวกับที่ผลงานชิ้นเอกนี้เปิดให้ชมรอบพรีวิว แต่สิ่งนึงที่ดีใจกับเขาด้วยคือการได้ทำในสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบ Jonathan Larson จากไปในฐานะศิลปินดังที่เขาปรารถนาจะเป็นมาโดยตลอด และที่สำคัญที่สุด เขาตอบคำถามเดียวคำถามนั้นที่ได้พร่ำเขียนมาตลอด 30 ปีได้ว่าเขา ‘มีอะไรให้ตัวเองภาคภูมิใจ’