พูดถึงหนังคาวบอย ส่วนมากเราจะนึกถึงหนังที่มีใบไม้ปลิว ตัวละครพร้อมเผชิญหน้ากัน กล้องจับที่ปืน ซูมหน้า ตามมาด้วยเสียงดัง แล้วใครสักคนก็ล้มลง
หนัง Netflix ดัดแปลงจากนิยายของ Thomas Savage เรื่อง ‘The Power of the Dog’ ของผู้กำกับ Jane Campion ที่เพิ่งจะกวาดสามรางวัลลูกโลกทองคำไปหมาดๆ เป็นหนังคาวบอยที่สร้างความสดใหม่ให้กับหนังตระกูลนี้ด้วยการเล่าเรื่องแนวดราม่า (จริงๆ ต้องเรียกว่าดราม่า-จิตวิทยา) ที่บอกเล่าเรื่องแบบประณีตบรรจง เนิบช้า ค่อยๆ ดิ่งลึกผ่านเรื่องราว 5 บทในเรื่องเดียวกัน แต่กลับน่าสนใจและเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ปะทุอยู่ภายในคำพูด สีหน้า การกระทำ ไม่ต่างจากเสียงดังของปืนลูกโม่ในหนังคาวบอยแอ็กชั่น สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงตอนของหนังก็เทียบได้กับการยิงกราดจิตใจซะจนเละเทะเช่นกัน
(บทความต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญภาพยนตร์)
เรื่องราวในหนัง The Power of the Dog เกิดขึ้นในรัฐมอนทาน่า ปี 1925 ช่วงเวลาปลายแห่งยุคคาวบอย ที่ใช้ตัวละครกับพื้นที่ในการถ่ายทอดประเด็นที่อยากจะพูดได้อย่างคุ้มค่า
หนังเปิดเรื่องมาโดยนำตัวละคร Phil (Benedict Cumberbatch) และ George (Jesse Plemons) สองพี่น้อง Burbank เจ้าของฟาร์มผู้ร่ำรวย มาเทียบกันให้เห็นชัดๆ ทำให้ได้รู้ว่า สองพี่น้องคู่นี้นิสัยต่างกันสิ้นเชิง คนนึงเป็นคนชอบข่ม ชอบกดคนอื่น ขี้เหยียด เดาใจยาก กับจะว่าเป็นคนใจร้ายก็ได้ แต่ฉลาด มีหัวคิด รู้ว่าต้องทำอะไร ส่วนอีกคนเหลาะแหละ ดูไม่ได้เรื่อง พึ่งพาไม่ได้ ตัดสินใจไม่เป็น แต่กลับจิตใจดีและใสซื่อกว่า
บุคลิกสุดโต่งของสองพี่น้องทำให้เราต้องมาตั้งคำถามตั้งแต่ต้นเรื่องว่าแล้วแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่างคนพี่ที่อยู่ในโลกอันโหดร้ายใบนี้ได้แต่นิสัยเสีย กับคนน้องที่ดูปราศจากคนพี่แล้วทำอะไรไม่เป็น แน่นอนว่าคำตอบที่ได้คือการเรียนรู้อะไรจากคาแรกเตอร์ทั้งสองมากกว่าต้องเลือกเชียร์คนใดคนหนึ่งในเมื่อเราสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูกไม่ถูกควรไม่ควรที่จะเป็นจากการสังเกตสองตัวละครนี้ในฐานะผู้ชม ความรู้สึกไม่ชอบหน้าที่เรามีให้คนพี่ และความสงสารคนน้องต้องบังเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ตามไดเรกชั่นที่ผู้กำกับได้วางไว้
ต่อมาการนำทั้งสองมาพบกับสองแม่หม้ายและลูกชาย Rose (Kirsten Dunst) กับ Peter หรือ Pete (Kodi Smit-McPhee) ยิ่งทำให้ประเด็นตรงนี้ชัดขึ้น เมื่อ George หลงรัก Rose ส่วน Phil นอกจากไม่ไว้ใจแล้ว เขายังถูกบทขับเน้นให้เห็นบุคลิกที่ชัดขึ้น เมื่อทำการเหยียด Pete โดยการเรียกเขาว่า ‘เด็กติ๋ม (sissy boy)’ หลังจากเห็น Pete ทำดอกไม้ประดิษฐ์กับแจกผ้าเช็ดปากที่แสดงถึงการเอาใจใส่เรื่องความเนี้ยบและความสกปรก ซึ่งแทนที่จะเป็นเรื่องดี Pete กลับถูกหัวเราะเยาะเย้ยจนเสียหน้า ขาดความมั่นใจในตัวเอง
ตั้งแต่ Phil กับน้องชายที่เรียกน้องว่า ‘ไอ้อ้วน’ เสมอ และ Phil กับ Pete จึงจะเห็นได้ว่านี่เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบแบบ 2 มุมมอง คือการเปรียบเทียบให้คนอื่นต่ำกว่า (Downward Comparison) กับการเปรียบเทียบให้คนอื่นอยู่สูงกว่า (Upward Comparison)
ทั้งสองแบบต่างกันที่ แบบแรกคือสิ่งที่ Phil ทำ เขาใช้คำพูดและการกระทำพูดให้คนอื่นดูแย่และรู้สึกแย่ เพื่อที่เขาจะได้อยู่สูงกว่าคนอื่น หนังไม่ต้องบอกก็วิเคราะห์ได้ว่าคนประเภทนี้ต้องมีปมหรือลึกๆ รู้สึกอะไรบางอย่าง เช่น การรู้สึกด้อยภายใน หรือต้องการเอาชนะต้องการอยู่เหนือกว่า ในขณะที่แบบที่สองคือการที่ George กับ Pete โดนกดเช่นนั้น นอกจากทั้งจะมองว่าตัวเองต่ำกว่าและ Phil อยู่สูงกว่า คุณค่าในตัวเองในมุมมองของพวกเขาก็หดหายไปเช่นกัน นอกจากเปราะบางแล้วยังรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ขาดความมั่นใจ (self-confident) ไม่กล้าตัดสินใจ และกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง (imposter syndrome) ในที่สุด
สิ่งที่เราต้องการจะเห็นจากหนังเรื่องนี้จึงมีอยู่สองสามสิ่ง 1. อะไรทำให้ Phil ผู้ดูฉลาด เก่ง สมบูรณ์แบบ เป็นคนทำตัวแย่ๆ 2. เขาจะบูลลี่อะไรอีกและคนที่โดนเขาบูลลี่จะโต้กลับยังไง โดนข่มไปเรื่อยหรือเอาชนะได้มั้ย? 3. เรื่องราวจะไปจบที่ตรงไหน
สำหรับตัวละคร Phil เราจะรู้ว่าเขามี mentor คือ Bronco Henry ผู้ชี้นำวิถีคาวบอยและแนวทางการเป็นลูกผู้ชายให้กับเขา เราจะได้ยิน Phil พูดถึงชื่อ Bronco ในเชิงเทิดทูนและรำลึกถึงอยู่บ่อยครั้ง ประมาณว่าหากไม่มี Bronco ก็จะไม่มีเขาในวันนี้
ลูกน้องต่างก็เทิดทูนและมองว่า Phil คือความสมบูรณ์แบบและผู้นำที่ยอดเยี่ยม ในขณะเดียวกันก็คล้อยตามเห็นดีเห็นงามไปกับเขาหมดซะทุกอย่าง นั่นทำให้นอกจาก Phil จะมีบุคลิกและนิสัยร้ายๆ แบบนี้ คนรอบตัวของเขาที่คอยเอาแต่เออออและไม่ห้ามปรามหรือกล้าขัดแย้ง (ส่วนนึงเพราะอยู่ใน position ที่พูดอะไรไม่ได้) ยิ่งทำให้ Phil เป็น Phil มากขึ้นไปอีก คนคนนึงจะมีอำนาจได้ก็ต่อเมื่อเขาทำตัวมีอำนาจกับมีกลุ่มคนผู้สนับสนุนเขา ซึ่งในหนังเรื่องนี้ตัวละคร Phil มีทั้งสองอย่างนี้ครบ บวกกับสีหน้าท่าทางและคำพูดที่ดูน่ากลัว ทั้งหมดจึงกลายมาเป็นออร่าความไม่น่าเข้าใกล้ของ Phil และลุคที่ให้ความรู้สึกกดขี่ข่มเหงอย่างสิ้นเชิง (dominant & intimidate)
พฤติกรรมและสูตรสำเร็จของการเป็น Phil คือการสื่อสารอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการหัวเราะเยาะ แววตา ปฏิกิริยาโต้ตอบ และการมองคนอื่นต่ำเขาสูงกว่าเสมอ ที่แสดงออกไปเพื่อให้มีคนได้เห็นและคนที่ถูกพูดถึงได้รู้สึกว่าตัวเองนั้นไร้ค่า กระจอกสิ้นดี ซึ่งพอเนื้อเรื่องแสดงชัดว่า Phil อยู่ศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดราวกับเป็นคนกระโดดสระแล้วทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของน้ำรอบด้าน และชีวิตทุกคนได้รับผลกระทบจากคำพูดการกระทำของเขา
นอกจากน้องชายและ Pete ที่โดนเหยียดว่าเป็นเกย์หรือทำตัวเหมือนเด็กผู้หญิงตลอดเรื่อง ตัวละครนึงที่โดนจิตวิทยาใส่อย่างหนักคือตัวละคร Rose แม่หม้ายที่ Phil สงสัยว่าจะมาปอกลอกน้องชายหัวอ่อนและไม่ทันคนของเขา Phil จึงได้ทำการบั่นทอนจิตใจ Rose เพื่อให้ Rose อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ทนไม่ไหว และถอนตัวไป
Phil กระทำการบูลลี่ Rose ด้วยการทำให้เธอสงสัยในความคู่ควรของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฐานะ ความเป็นภรรยาที่ดี รวมไปถึงความสามารถ เช่นฉากที่ Rose เล่นเปียโน เธอเล่นอย่างไม่มั่นใจ เมื่อ Phil เห็นดังนั้นเขาถือคติ ‘คนล้มไม่ใช่แค่ข้าม แต่ต้องเหยียบ’ จึงได้เล่นแบนโจเพลงเดียวกันอย่างชำนาญเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความต่างชั้น เขากดดัน Rose จนทำให้เธอกลายเป็นคนติดเหล้า แล้วคอยผิวปากกับปรากฏตัวให้ Rose กลัวทุกครั้งจนต้องพึ่งแอลกอฮอล์แล้วหลับไปเพื่อจะได้ไม่ต้องเจอ Phil และไม่รับรู้อะไร นอกจากนี้กิจวัตรประจำวันของ Phil นอกเหนือจากต้อนวัวและขี่ม้าแล้ว คือการแกล้งและแซว Pete จากระยะไกล
ตัวละคร Phil ยังแสดงความไม่พอใจบ่อยครั้งเมื่อสิ่งที่ตัวเองพูดไม่เป็นไปตามที่พูด และสิ่งที่ห้ามปรามหรือสิ่งที่เขาไม่ต้องการให้เกิดขึ้นได้เกิดขึ้น เช่นช่วงเวลาที่น้องชายบอกว่าเขาแต่งงานกับ Rose เห็นได้ชัดว่า Phil หงุดหงิด เขาเอาไปลงกับม้าและข้าวของ เราไม่อาจรู้ได้จริงเลยว่า Phil ผิดหวังน้อง อิจฉา หรือรู้สึกว่าตัวเองด้อยความสำคัญในสายตาน้อง ซึ่งมันก็เป็นไปได้เช่นกันว่าเป็นทั้งสามอย่างรวมกัน
จุด twist point ของเรื่องราวแสดงให้เห็นตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องจนถึงกลางเรื่อง อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่าทุกคนมีปม (โดยเฉพาะคนนิสัยเลวร้าย) ขอเสริมเช่นกันว่าทุกคนมีความลับ และสองอย่างนี้สำหรับ Phil เป็นสิ่งเดียวกัน
Phil มีรังลับที่มีทางเข้าเป็นกิ่งไม้เล็กใหญ่คอยปิด เขาแหวกมัน และเข้าไปยังอาณาเขตของเขาราวกับนี่เป็นรังลับที่จะเผยธาตุแท้ของตัวเองออกมา ความลับหรือสิ่งที่เรารู้เพียงคนเดียวจนกว่าจะเปิดให้ใครเข้ามาหรือมีใครสักคนบังเอิญค้นพบก็เปรียบเสมือนรังลับแห่งนี้ สถานที่ที่ Phil สามารถเป็นตัวเองได้โดยไม่ต้องเสแสร้งเหมือนที่ทำอยู่ในโลกภายนอก ไม่ว่าจะผ่อนคลาย แสดงความเกรี้ยวกราด เสียใจ หรือเก็บซ่อนสิ่งของบางอย่าง
สถานที่แห่งนี้ในฐานะ ‘โซนที่ตัดขาดกับพื้นที่และกาลเวลา’ ปราศจากบริบททางสังคม ไม่อิงกับมุมมองและการถูกตัดสินจากผู้อื่น หรือกฎเกณฑ์ใดๆ จึงทำให้ Phil สามารถปลดเปลื้องทุกอารมณ์กับความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์และสบายใจอย่างที่สุด เป็นที่มาของฉากที่เขาลูบไล้ลูบคลำตัวเองด้วยผ้าที่ถักทอเป็นตัวอักษร BH ที่น่าจะย่อมาจาก Bronco Henry ฉากนี้เป็นครั้งแรกที่ทำให้เราได้ทราบว่าเขาเป็นเกย์ซึ่งทำให้ช็อกไม่น้อย นั่นตอบคำถามทุกอย่างทันทีถึงสาเหตุที่ทำไมเขาต้องบูลลี่ Pete พฤติกรรมเขาไม่ต่างไปจากตอนเราเรียน ม.ปลาย แล้วแสร้งทำเป็นไม่สนใจคนที่ชอบ หรือการที่เราไปแกล้งล้อไม่ก็ทุบหลังใครสักคนเพราะเราชอบคนคนนั้น Phil มีความปรารถนาชายเบื้องลึก และลึกๆ เขารู้สึกบางอย่างกับ Pete (แม้หนังจะไม่ได้บอกตรงๆ) แต่เขาไม่เพียงแต่จะเก็บมันไว้ เขาเลือกจะแสดงมันออกมาแบบกลับด้านด้วยการทำตัวแบบเพศชายที่มีความเป็นพิษ (toxic masculinity) เพื่อปฏิเสธความเป็นจริงนี้แล้วสามารถอยู่ในสังคม ณ ช่วงเวลานั้นที่มีค่านิยมเชิดชูเพศชาย กับรังเกียจเพศหญิงและเหยียดคนที่รักคนเพศเดียวกันอย่างรุนแรง ได้อย่างสบายใจในฐานะ ‘ผู้ชายอกสามศอก’ ซึ่งเป็นการหลอกตัวเอง (self-deception) ในทางหนึ่ง นั่นรวมไปถึงการที่เขามักจะทำตัวห้าวอยู่เสมอ โดยเฉพาะการไม่ใส่ถุงมือและทำอะไรมือเปล่า ทั้งหมดเพื่อแสดงความแข็งแกร่งและบอกคนอื่นว่า ‘ข้ามันแน่’ แล้วใช้มันเป็นเกราะปกปิดตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง
นอกจากนี้ Pete ยังบังเอิญเข้าไปในรังลับของ Phil และพบกับนิตยสารคนเล่นกล้ามเข้า จุดนี้เป็นอีกจุดที่หนังทำให้เรารู้ พร้อมๆ กับที่ Pete รู้ความจริง
น่าสนใจที่ว่า ตัวละคร Pete ที่เหมือนจะถูกบูลลี่รังแกและเหยียดหยามตลอดทั้งเรื่องนั้น กลับเป็นตัวละครที่ทำให้คนเพอร์เฟกต์และมั่นใจอย่าง Phil หวาดหวั่นมากที่สุด เพราะทุกครั้งที่เขาเห็น Pete เขารู้สึกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกลัวว่าตัวเองจะเผลอเผยธาตุแท้ กลัวจะห้ามใจไม่ได้และเผลอรู้สึก กลัวว่า Pete จะจับได้ ไปจนถึงลึกๆ แล้วรู้สึก respect กับอิจฉา Pete ในเวลาเดียวกัน เขาอิจฉาที่ Pete เป็นตัวของตัวเองและแสดงด้าน feminine ออกมาได้อย่างไม่อาย อิจฉาที่กล้าหาญกว่าเขา และเคารพที่ Pete กล้าหาญแสดงตนโดยไม่สนใจค่านิยม
Pete เป็นเด็กผอมกะหร่อง ดูอ่อนปวกเปียก แต่เขาดูเป็นเด็กฉลาดและสนใจความรู้และการประดิษฐ์คิดค้นมากกว่าใช้แรงและใช้กำลัง การให้ความสำคัญกับการศึกษาของเขากับร่างกายที่บอบบางเป็นตัวบ่งบอกว่า Pete ให้ค่ากับอะไร เรายังได้พบว่า Pete มีด้านที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายหรือเป็นไปตามความตั้งใจแม้กระทั่งต้องเสียสละอะไรไปบางอย่างก็ตาม เขาได้คร่าชีวิตกระต่ายตัวน้อยน่ารัก เขาก็เอามันมาชำแหละบนโต๊ะเพื่อศึกษา anatomy ของมันในเชิงการแพทย์ ต่อมา Pete กับ Phil สนิทกันมากขึ้นหลัง Pete ไปค้นพบความลับของ Phil ทั้งคู่ทำอะไรด้วยกัน ไปไหนด้วยกันบ่อยขึ้น ไปจนถึง Phil ถักเชือกหนังให้ Pete ซึ่งทั้งหมดทำให้พูดได้ว่าลึกๆ แล้ว Phil รู้สึกโล่งใจว่าในโลกใบนี้อย่างน้อยๆ ก็มีคนคนหนึ่งที่เขาสามารถเป็นตัวเองด้วยได้ Phil จึงเริ่มเปิดใจกับ Pete และ Pete เอง (แม้หนังจะไม่ได้แสดงให้เห็นตรงๆ) ก็ดูที่จะมีความรู้สึกบางอย่างให้กับ Phil เช่นกัน แต่จะเป็นความรู้สึกอะไร เคารพ ชื่นชอบในเชิงไหน อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนที่จะตีความ
จนมาถึงไคลแมกซ์ของหนังที่ทำให้เราช็อกอีกรอบพอๆ กับที่ล่วงรู้ความลับนั้นของ Phil และเรื่องความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่าง Phil กับ Bronco Henry นั่นก็คือการที่ Phil ตายด้วย ‘โรคแอนแทร็กซ์’ หรือติดเชื้อทางผิวหนัง
ซึ่งคนระวังตัวอย่าง Phil ไม่น่าตายเพราะโรคนี้แม้จะใช้มือเปล่าก็ตาม และหนังก็ได้วางเป็นนัยว่าคนที่วางยาฆ่า Phil ด้วยเชื้อแอนแทร็กซ์ด้วยการเห็นเขาใส่ถุงมือและซ่อนเชือกไว้ใต้เตียงในตอนท้าย นอกหน้าต่างนั้น George กับ Rose แม่เขาจูบกันอยู่ แค่ฉากสั้นๆ นี้บอกอะไรได้หลายอย่าง ทั้งยังพาเรื่องราวไปขมวดถึงประโยคที่พูดตอนต้นเรื่องว่า “ผมจะเป็นลูกแบบไหน หากไม่ปกป้องแม่ของผม” แม้ Pete จะรู้สึกดีกับ Phil แต่เขายอมสละ Phil เพื่อแม่ ในขณะเดียวกัน การที่ Phil พูดในช่วงกลางเรื่องเรื่องที่ว่า “หากมองไม่เห็นก็แปลว่าไม่มี” ก็ยังแสดงถึงการปกปิดอันมิดชิดเรื่องเพศวิถีของ Phil เช่นกัน
‘ความตาย’ นั่นคือผลของการกระทำของ Phil ตั้งแต่แรก ผลพวงของการปฏิเสธความจริงที่ไปทำร้ายคนอื่น และ Phil ต้องมาพบกับจุดจบแม้บรรยากาศทุกอย่างจะดีขึ้นแล้ว แม้เขารู้สึกวางใจและสบายใจแล้ว และแม้ว่าเราจะได้เห็นแง่มุมอ่อนโยนจนเห็นอกเห็นใจและเข้าใจตัวละครนี้แล้วก็ตาม สาเหตุทั้งหมดที่ Phil ตายคือเขาได้ทำให้ Pete กลายเป็นหมาจนตรอก แทนที่จะอ่อนแอ Pete กลับ react ด้วยการแสดงความเกรี้ยวด้วยความไม่มีอะไรจะเสีย นี่คือ ‘พลังของสุนัข’ ตามชื่อเรื่อง
ผู้แต่งอย่าง Thomas Savage เขียนหนังสือที่เป็นต้นฉบับหนังเรื่องนี้โดยมาจากประสบการณ์ของตัวเองที่เป็นเกย์แต่ต้องปิดบังความเป็นจริงด้วยการแต่งงานกับผู้หญิง ความอัดอั้นตันใจต่อค่านิยมสังคมในปี 1967 และ Jane Campion ได้รับไม้ต่อ นำมันมาแปลงจากอักษรเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างทรงพลังในอีก platform
การเลือกให้เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในปี 1925 กับการเลือกที่จะเล่าในสภาพภูมิศาสตร์แบบที่ราบและเนินเขาในยุคคาวบอย เป็นการเลือกอย่างชาญฉลาด ให้พื้นที่โล่งๆ เล่าเรื่องราวสังคมชูความเป็นชายและสื่อสารเมสเสจอย่างชัดเจน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่สิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ (ซึ่งสามารถคัดกรองได้) ยิ่งมีน้อย ยิ่งตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก คนดูจะยิ่งรู้ยิ่งเข้าใจว่าควรโฟกัสอะไร และหนังก็ได้แสดงเจตจำนงว่าจะโฟกัสหรือเน้นไปที่ความสัมพันธ์ การแสดงตัวตนอย่างไรในสังคมหนึ่งๆ และความรู้สึกของตัวละคร เพื่อให้เห็นถึงความเข้มข้นกับความซีเรียสว่ามันคือเรื่องใหญ่และสำคัญต่อจิตใจตัวละครขนาดไหน
ท้ายที่สุด The Power of the Dog ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับอำนาจ ความสูงต่ำ ความ toxic masculinity ความเก็บกดภายใต้ค่านิยมทางเพศในบริบทและยุคสมัย กับตัวตนภายใน และเรื่องราวนี้ยังทำให้น่าตั้งคำถามว่าใครกันแน่คือหมาที่ขี้แพ้กว่ากัน ระหว่างหมาที่ได้แต่เห่าที่ไม่กล้าเผยตัวจากเงามืด หรือหมาที่ถูกเห่าใส่ตลอดแต่เผยคมเขี้ยวในยามที่มันหันหลังชนกำแพงหลังจากถูกไล่ต้อนมายังตรอกทางตัน