All of Us Are Dead ซอมบี้ยุค 5G ปรสิตกับเหยื่อ-ผู้ล่า และทฤษฎีโกลาหล

หลังจากมี K-Pop เป็นเครื่องมือเผยแพร่วัฒนธรรมกับ soft power และทำให้โลกรู้จักเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องมานานเป็นทศวรรษ ตั้งแต่การมาของ Train to Busan ตามมาด้วยออริจินัลซีรีส์ของ Netflix เรื่อง Kingdom เกาหลีดูจะหันมาเอาดีด้านซอมบี้ไม่แพ้แนวดราม่าและแนวพีเรียด กับวงบอยแบนด์เกิร์ลกรุ๊ป จนเกิดเป็น genre ใหม่ที่ชื่อ ‘K-Zombie’ ขึ้นมา

นิยามของความซอมบี้เกาหลี คือเน้นความดุดัน รวดเร็ว น่ากลัว สมกับเป็นยุค 5G ที่ทุกอย่างต้องรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเลยจะมาช้าๆ เนิบๆ กับซ้ำซากจำเจเหมือนเดิมไม่ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ทำให้ K-Zombie เป็นที่กล่าวขานกับคนทั่วโลกคอยจับตามองอยู่ตลอดคือ 1. คราวนี้จะเป็นซอมบี้เกาหลีในสถานที่แบบไหน ยุคไหน ช่วงเวลาไหน 2. เล่าผ่านอะไร ตัวละครไหน 3. หนังหรือซีรีส์เรื่องนั้นจะพูดอะไร

หรือกล่าวได้ว่า นอกจากจะทำดีด้านความดุเดือดเลือดพล่าน สิ่งที่เกาหลีทำได้ดีคือ ใช้โลกอันน่ากลัวของไวรัสและซอมบี้เป็น background โดยมี foreground เป็นสิ่งที่อยากจะพูด สันดานดิบมนุษย์ ความเห็นแก่ตัว ที่พูดให้เห็นภาพคือมนุษย์นั่นแหละที่น่ากลัวกว่าซอมบี้เหมือนที่ซีรีส์ The Walking Dead นำเสนออย่างชัดเจนมาตลอด มากกว่าที่จะเป็นแค่การดูตัวละครถูกกัด ถูกกิน หรือวิ่งตะโกนหนีตายขอความช่วยเหลือแล้วพบจุดจบอย่างน่าอนาถด้วยสภาพศพไม่สวย

หลังจากที่เรามีซอมบี้รถไฟ ซอมบี้หอพัก กับซอมบี้โชซอน คราวนี้ถึงเวลาของซอมบี้ในโรงเรียนไฮสคูลกันบ้าง All of Us Are Dead คือซีรีส์ K-Zombie ที่ดัดแปลงจากเว็บตูนชื่อเดียวกัน ด้วยทุนสร้างที่หนา กับความน่าดู ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ทำลายทุกสถิติที่เคยมีมา ด้วยการเปิดตัวเป็นอันดับ 1 เอาชนะ Hellbound กับ Squid Game หนำซ้ำยังเป็นซีรีส์ที่มีคนดูมากที่สุดใน Netflix ในเวลานี้ เลยอยากจะชวนคุยและพูดถึงในเชิงบทวิเคราะห์สักหน่อยว่าซีรีส์เรื่องนี้มีดีอะไร ทำไมถึงน่าดู และมีประเด็นอะไรที่ควรค่าแก่การพูดถึงบ้าง?

(บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญซีรีส์ All of Us Are Dead)

1

ต้องบอกว่าเรื่องนี้น่าดูตั้งแต่ตัวอย่างกับคอนเซปต์ในโรงเรียนแล้ว ด้วยความเป็นเด็กวัยรุ่น ม.ปลาย ที่ต้องเอาตัวรอดกันเอง สถานที่ปิดตาย กับวัตถุดิบชั้นดีและความอุดมสมบูรณ์ของตัวเลขมนุษย์ที่จะเปลี่ยนเป็นซอมบี้มากมายขนาดนี้ ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ดูเลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าความน่าสนใจแทบไม่ใช่ซอมบี้ แต่เป็นการรอคอยว่าซีรีส์จะพูดอะไร มีตัวละครแบบไหนมาให้เราเกาะบ้าง และจะได้เห็นอะไรโหดร้ายจากมนุษย์ รวมไปถึงเรื่องนี้มีอะไรที่แตกต่างจากเรื่องอื่น

การกำกับและเรื่องของงานสร้างถือว่าทำได้ดี All of Us Are Dead โดดเด่นในด้านการโชว์ให้เห็นถึงความโหดร้ายและวิ่งเร็วของซอมบี้ ทำให้เราอิน กัดฟัน ตื่นเต้นแบบนั่งไม่ติดเก้าอี้ หัวใจเต้นแรงถี่ๆ ไปพร้อมๆ กับตัวละครและเหตุการณ์ได้ สร้าง tempo เก่ง กับบทที่แสดงถึงความพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดของมนุษย์ผ่านความ ‘ฉันยังไม่อยากตาย’ ของนักเรียนแต่ละคนที่แสดงออกมาทางคำพูดและการกระทำ ทั้งยังแฝงไปด้วยความเป็นตัวเองและอคติต่อเพื่อนมนุษย์

แต่นอกเหนือจากนั้นมีส่วนที่สอบตกไม่น้อย (หรือเยอะนั่นแหละ) ไม่ว่าจะเป็น character arc ที่ดูแปร่งๆ, การจับวางตัวละครกับพล็อตที่ดูตามอำเภอใจและจงใจ, logic กับ decision ของตัวละครที่ดูจะผิดเพี้ยน, พล็อตโฮลที่เข้าขั้นแผลเหวอะจำนวนมาก และการที่ซีรีส์ไม่สามารถไปสุดได้ในเรื่องของ character development, การหาทางลงหรือการใช้สอยตัวละครที่ไม่สามารถทำให้เหมาะสมได้ และค่อนข้างทำได้สิ้นเปลือง เปล่าประโยชน์ และสุรุ่ยสุร่ายพอสมควร, การทำให้เราสับสนบ่อยครั้งว่าควรรู้สึกอย่างไรกับตัวละครหรือควรรู้สึกตามหรือไม่ ควรคิดยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้น และการที่ 12 อีพีเป็นจำนวนที่ยาวเกินไป เนื้อหาสามารถตัดทอนเหลือ 6 หรืออย่างมากก็ 8-9 ได้ ซีรีส์เรื่องนี้เลยเป็นภาพสมมุติที่ดีว่าหาก Kingdom ทำเยอะอีพีกว่านั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เรียกได้ว่าดูเรื่องนี้ด้วยระยะเวลาเท่านี้แล้วทำให้เกิดอาการ ‘เอียนซอมบี้ syndrome’ เลยทีเดียว

การกำกับนับว่าเป็นจุดแข็งของซีรีส์ K-Zombie เรื่องนี้ ในขณะเดียวกันบทแม้จะมีสิ่งน่าสนใจอย่าง tactic หรือกลยุทธ์การเอาตัวรอด ความสามัคคี, friendship กับบทพูดคมๆ ดีๆ แต่ก็มีข้อผิดพลาดอันใหญ่หลวงแบบที่เห็นตำตาได้ทุกอีพีเช่นกัน ที่ใหญ่จนทำให้เกิดคนดูสองประเภท เพียงแต่ที่บอกว่าสองประเภทนี้ไม่ใช่ว่าชอบไม่ชอบ แต่แบ่งได้เป็นคนที่ไม่ชอบ กับคนที่รู้สึกชอบเพราะเจอข้อเสียจนชินและมองข้ามได้หรือชอบเพราะมองว่าพล็อตโฮล ประโยคพูดประหลาดๆ ที่หลายครั้งอยากจะพูดก็พูด หรืออะไรก็ตามที่ไม่เมกเซนส์เหล่านั้นคือความบันเทิงรูปแบบหนึ่งของการดูซีรีส์เรื่องนี้ไปแล้ว ซึ่งผู้เขียนคือหนึ่งในคนกลุ่มหลัง

2

แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้น และอาจดูตำหนิติเตียนต่อซีรีส์อย่างไม่ปรานี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้มีความสดใหม่ ประเด็นน่าสนใจ และมีอะไรที่ชวนให้พูดถึง จึงจะขอละประเด็นที่มองว่าซีรีส์ทำให้มั่นใจไม่ได้ว่าควรรู้สึกยังไงไป แล้วพูดถึงเรื่องที่ควรพูดและมั่นใจได้ คือคอนเซปต์เกี่ยวกับผู้ล่าและผู้ถูกล่ากับความเป็นปรสิต เรื่องนี้ผูกโยงกับที่มาของซอมบี้ที่การสะท้อนถึงการต่อสู้ ปรับตัว วิวัฒนาการ และเอาชีวิตรอดในโลกความจริง ซึ่งเป็นประเด็นน่าสนใจที่ว่าของซีรีส์ All of Us Are Dead 

โดยปกติแล้วเราจะเห็นว่าไวรัสซอมบี้โดยเฉพาะในหนังซีรีส์แถบตะวันตกจะมีแหล่งกำเนิดจากแล็ปทดลองวิทยาศาสตร์ใหญ่ๆ โดยรัฐบาล บริษัท ไม่ก็ศูนย์วิจัยของกองทัพ เป็นการแสดงถึงความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติและความทะเยอทะยานไม่รู้จักพอของผู้มีอำนาจที่ต้องการกุมอำนาจต่อรองหรือสิทธิ์ในการใช้ชีวิตเหนือผู้อื่น เพราะพวกเขาอยู่ใน position ที่ทำได้ มีทรัพยากรทั้งคน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ความสามารถในการจัดหา เงินทุน และสิทธิ์ที่จะทำ (สิทธิ์ที่จะไม่ถูกใครห้าม) ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโครงการประเภทลับๆ ล่อๆ ไม่ว่าจะมาจากภาษีประชาชนหรือเงินจากนายทุนก็ตาม 

กลับกัน เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นที่ humble และมันเกี่ยวข้องเต็มๆ กับการบูลลี่และการถูกบูลลี่ และความพยายามสู้ของ ‘ผู้ถูกกดขี่’ ทั้งหมดเริ่มต้นจากเด็กคนหนึ่งนามว่า อีจินซู ถูกบูลลี่ จากนั้น อีบยองชาน ครูวิทย์ของโรงเรียนมัธยมปลายฮโยซันแห่งเมืองฮโยซันที่เป็นพ่อของเขา ได้ทำการทดลองเพื่อหาทางกระตุ้นให้ลูกชายกล้าพอและแข็งแกร่งพอที่จะโต้กลับอันธพาล ผลคือไวรัสที่เขาตั้งชื่อว่า ‘ไวรัสโยนาส’ ตามนักปรัชญาชาวเยอรมันที่มีความเกี่ยวข้องกับงานวิจัยเกี่ยวกับชีวิตในศตวรรษที่ 20

บยองชานไม่ใช่ไม่ได้ลองวิธีการเบื้องต้นอย่างการปฏิบัติตามขั้นตอนและระบบ เขารีพอร์ตอาจารย์ใหญ่เกี่ยวกับการบูลลี่ในโรงเรียน แต่อาจารย์ใหญ่ก็เอาแต่แคร์ภาพลักษณ์และปิดข่าว อีกทั้งพอไปถึงขั้นตอนการสืบสวนที่นำผู้ปกครอง อาจารย์ กับเด็กที่บูลลี่และถูกบูลลี่มานั่งรวมกันในห้องเดียว ผลคือเด็กสามคนได้แก่ลูกชายของเขา, เด็กผู้หญิงชื่อมินอึนจีที่เคยถูกบังคับให้แก้ผ้าถ่ายคลิป กับคิมชอลซูเด็กชายที่ชอบมินอึนจี ต่างก็ไม่กล้าที่จะบอกว่าพวกเขาถูกบูลลี่ 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกฎอันโหดร้ายของธรรมชาติต่างๆ ที่เรามักได้ยินอยู่เสมอ “ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอด” “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” “โลกเรามีสิ่งมีชีวิตสองประเภทคือผู้ล่า (predator) และผู้ถูกล่า (prey)” 

คำพูดเหล่านี้เป็นกฎเกณฑ์ที่มีความเป็นสัจพจน์ หรือเป็นจริงแท้ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมุมมองและเป็นระบบที่มีมาตั้งแต่เราจะนิยามคำศัพท์และความหมายของมันซะอีก ในเรื่องการล่ากับการถูกล่า การล่าเริ่มต้นมาจากความต้องการเพื่อยังชีพ และมีชีวิตอยู่ ในขณะเดียวกันในบางครั้งมันกลายมาเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งเมื่อผู้ล่าทำเพื่อความสะใจและทำให้ตัวเองอยู่สูง อิ่มเอมพอใจ แสดงความมีอำนาจบาตรใหญ่เพื่อบอกว่าพวกเขา ‘ทำได้’ เพื่อตอบสนองจิตใจหรือเติมเต็มช่องว่างจิตใจอันโสมมที่ไม่ควรสร้างมาหรือเกิดขึ้น ในขณะที่ผู้ถูกล่ารู้สึกเหมือนโดนกลืนกิน และการบูลลี่กับการถูกบูลลี่และการล่ากับการถูกล่าจึงเป็นสิ่งที่ต่างกันแต่ก็เหมือนกันและสามารถเป็นอย่างเดียวกันได้ในเวลาเดียวกัน

เด็กๆ เหล่านี้ไม่มีทางเลือก หากพวกเขายอมรับ พวกเขาจะกลายเป็นพวกขี้ฟ้อง (อีจินซูย้ายโรงเรียนก็ยังไม่วายโดนตามแกล้ง) และโดนเล่นหนัก ส่วนถ้าไม่บอก ก็โดนเล่นหนักเรื่อยไปเช่นกัน เรียกได้ว่าโดนทั้งขึ้นทั้งร่อง เหมือนที่ไม่ว่าหมู ไก่ กุ้ง ปลาหมึก จะรู้ตัวหรือยอมรับยอมจำนนว่าเป็นอาหารและอยู่ใต้ห่วงโซ่ของมนุษย์อย่างเราหรือไม่ การที่พวกมันเป็นเช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใดๆ ระบบถูกเซ็ตไว้แล้วด้วยตัวมันเอง ด้วยความสามารถในการวิวัฒนาการหรือเกิดมาสูงกว่าด้อยกว่าที่ดูจะควบคุมไม่ได้แต่แรก

เมื่อย้อนกลับไป track ดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสิ่งมีชีวิตอื่นทำได้แค่วิวัฒนาการทางกายภาพในช่วงเวลาที่กินเวลานานเป็นพันๆ หมื่นๆ แสนๆ หรือล้านปี เหมือนที่กุ้งและกั้งมีเปลือกเพื่อจะไม่ถูกกินง่ายๆ ปลาปักเป้ามีหนามและพิษ, ตัวนิ่มกับเต่าต้องมีเกล็ดและกระดองเพื่อป้องกันตัวเอง ในขณะที่ถึงจุดหนึ่งมนุษย์หยุดวิวัฒนาการมาตั้งนานแล้ว พวกเราตัวนุ่มนิ่ม ไม่ได้มีอะไรมาป้องกันตัว แต่พวกเรากลับใช้สมองของเราทลายข้อจำกัดทางกายภาพและการใช้ชีวิตเรื่อยมา มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พิเศษตรงที่มีสมอง ความคิดความอ่าน การวางแผน การสร้างระบบ การจัดหา ความสามารถในการสร้างสรรค์และเรียนรู้ และอวัยวะที่จะทำมันได้ที่ดูจะมีประสิทธิภาพและสะดวกโยธินกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เราเรียนรู้วิธีสร้างเครื่องนุ่งห่ม ปรุงสุกอาหาร เก็บอาหาร ล่าเป็นระบบ ใช้ชีวิตเป็นรูปแบบที่ชัดเจน มีความสามารถในการใช้ภาษาที่ซับซ้อน รวมถึงการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ อย่างเครื่องบินแม้ว่าเราไม่ได้มีปีกเหมือนนก หรืออย่างรถแม้ไม่ได้วิ่งไวเหมือนชีตาห์ และอีกมากมาย

3

ประเด็นนี้น่าสนใจตรงคำถามที่ว่า เมื่อมาถึงจุดจุดหนึ่งที่มนุษย์กันเองทำการล่ากันเพื่อความสนุกและผู้ถูกบูลลี่ไม่สามารถป้องกันตัวได้อาจเพราะร่างกาย ชนชั้น ฐานะ จำนวน หรือตัวระบบการกดขี่ก็ตาม พวกเขาจะเอาอะไรไปสู้?

นั่นจึงมาสู่ทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory) ที่ว่าด้วยความอลหม่านวุ่นวายที่เกิดขึ้นตามระบบพลวัต ที่ดูเหมือนสะเปะสะปะ แต่แท้จริงแล้วมีระบบระเบียบของมันอยู่ เพราะความโกลาหลเป็นการเกิดขึ้นอันมีสาเหตุที่เข้าใจได้และนับเป็นอีกหนึ่งของรูปแบบที่ไม่มีรูปแบบ ความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นเมื่อมันต้องเกิด หรือมีความเป็นธรรมชาติ คือการที่อะไรบางอย่างเกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่สามารถทำนายผลลัพธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นล่วงหน้าได้แต่ไม่ใช่เหตุการณ์แบบสุ่ม และความโกลาหลตามทฤษฎีนี้ไวต่อสภาวะเริ่มต้น หากมีตัวกระตุ้น (การบูลลี่) เกิดขึ้น ก็จะนำมาซึ่งความโกลาหล (การโต้กลับ) ได้ เหมือนเหตุการณ์อุกาบาตตก, การปฏิวัติทางการเมือง และเหตุการณ์การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ เมื่อปี 2020 ที่นำมาซึ่งการประท้วงครั้งใหญ่และสร้างความโกลาหลในวงกว้างแบบปฏิกิริยาลูกโซ่

ความโกลาหลคือวิวัฒนาการหรือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามระเบียบตามกฎ action = reaction ในเมื่อครูวิทย์ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เนื่องจากลูกชายของเขาอยู่ในสถานะผู้ถูกล่าสัมบูรณ์และยิ่งจะเป็นมากขึ้นทุกวัน และเขาเองก็ยังทำอะไรกับระบบไม่ได้ เขาจึงได้ก่อความโกลาหลคือสร้างไวรัสโยนาสขึ้นมาแล้วปฏิวัติวงจรนี้ใหม่ด้วยการใช้ความรู้ของการเป็นอดีตนักวิจัยเซลล์ในการสร้างยากระตุ้นฮอร์โมนโดยได้ไอเดียมาจากผู้ล่า-ผู้ถูกล่าที่เรารู้จักกันดีอย่างแมว-หนู ที่ในบางครั้งเมื่อหนูถูกต้อนจนเข้าตาจนพวกมันเริ่มจะ aggressive และโต้กลับ เข้าโจมตีแมวแบบไม่มีอะไรจะเสีย ซอมบี้ในเรื่องนี้จึงเป็นซอมบี้ชนิดใหม่ที่เพิ่งจะเคยได้ยิน ‘ซอมบี้ของผู้ถูกบูลลี่’ หรือ ‘ซอมบี้ของผู้ถูกกดขี่’

เรื่องของวิวัฒนาการในซีรีส์เรื่องนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ครูวิทย์ยังได้ยกตัวอย่างเรื่องของหนอนบรูดแซคแถบเขียว (Green-Banded Broodsac หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leucochloridium Paradoxum) ที่เข้าไปในตัวของหอยทากในฐานะปรสิต จากนั้นเปลี่ยนให้มันกลายเป็นซอมบี้ ขึ้นไปที่สูง จากนั้นก็ถูกนกกิน แล้วพวกมันจะอาศัยและวางไข่ในทางเดินอาหารนก เมื่อนกถ่ายมูลและหอยทากกินเข้าไป ก็จะเกิดวงจรนี้อย่างไม่สิ้น เป็นวงจรชีวิตที่ฟังดูพิศวงและน่าหวาดกลัวในเวลาเดียวกัน สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีสติปัญญาเช่นนี้ แต่สามารถอยู่รอด สืบพันธุ์ และสร้างวงจรนี้ได้เรื่อยๆ

นั่นก็เพราะ ‘ความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตอยู่’ อีบยองชานได้พูดถึงประเด็นนี้โดยภาพตัดสลับไปยังเด็กหญิงที่ถูกรังแกไปพร้อมๆ กัน หากมีความมุ่งมั่นพอ สิ่งมีชีวิตมักจะดิ้นรนให้ตัวเองอยู่รอดด้วยหนทางใดหนทางหนึ่งเอง สิ่งที่เขาพูดสะท้อนถึงเด็กผู้หญิงคนนั้นในฐานะผู้ถูกบูลลี่และตัวไวรัสในเวลาเดียวกัน เพราะโลกเราไม่ได้มีคนสองประเภทแค่ผู้ล่าและผู้ถูกล่า ตรงกลางยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ปรสิต’ หรือ’ไวรัส’ อยู่

สิ่งที่เกิดขึ้นของการดิ้นรนคือ ‘วิวัฒนาการ’ ไวรัสโยนาสที่ตอนแรกไร้ตัวตน ได้มีตัวตนเมื่อถูกสร้างและได้เข้าไปในร่างกายคนที่มีความสามารถในการคิดที่สูงกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในเบื้องต้นพวกมันเข้าไปในร่างเพื่อกระตุ้นให้คนคนนั้นดึง (จริงๆ ควรใช้คำว่าระเบิด) สัญชาตญาณดิบ นั่นก็คือความหิวกระหาย และอารมณ์รุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ จากนั้นใช้ร่างกายนั้น ‘กิน’ เพื่อหล่อเลี้ยง และ ‘กัด’ เพื่อส่งต่อและสืบพันธุ์ในลักษณะแพร่กระจาย กล่าวได้ว่าการดิ้นรนของผู้ถูกบูลลี่ ได้สร้างสิ่งที่ต้องการอยู่รอดและมีตัวตนต่อไปขึ้นมา และพวกมันพยายามที่จะ take over โลกใบนี้ในฐานะความโกลาหล โดยใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วที่ชื่อว่า ‘มนุษย์’ เป็นอาวุธล้างเผ่าพันธุ์ตัวเอง

ทั้งยังมีซอมบี้สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘เสี้ยวบี้ (halfbie)’ ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างคนกับซอมบี้เกิดขึ้นมาจากการวิวัฒนาการอีก เสี้ยวบี้ก็เหมือนตัวไวรัสที่ครูวิทย์นิยามว่ามันไม่ใช่ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ตัวละครควีนัม อึนจี และหัวหน้าห้อง กลายเป็นเสี้ยวบี้หลักถูกกัดซึ่งเกิดจากแอนติบอดี้และลักษณะเซลล์เฉพาะตัวที่ถูกคัดเลือกให้อยู่ร่วมกัน เหมือนที่หนอนบรูดแซคแถบเขียวเลือกจะอยู่กับนก แต่ต่างตรงที่มันไม่ค่อยทำอะไรนก (ทำบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ตาย) แต่กับมนุษย์พวกมันเสริมแกร่งและเพิ่มประสาทสัมผัสให้ไม่ว่าจะเป็น การได้ยิน การได้กลิ่น พละกำลัง เพื่อให้เจ้าของร่างหรือโฮสต์ของมันเอาชีวิตรอดได้ในโลกที่พวกมันกำลังจะจัดระเบียบใหม่ให้ไร้ระเบียบ

เลยกลายเป็นว่า ไวรัสคือการรีเซ็ตสถานะทุกคนให้เท่ากันคือ เป็นผู้ประสบภัยในโลก zombie-apocalyptic ไปในตัว ซึ่งถึงตอนนั้นสถานะต่างๆ ระหว่างมนุษย์ก็จะลดลง เกิดเป็นการปกครองแบบไม่มีขื่อมีแปหรือการปกครองกันเอง (anarchy) และทุกคนต่างก็ต้องการที่จะเป็นผู้รอดชีวิต (survivor) ส่วนไวรัสคือสิ่งที่บูลลี่มนุษย์ทั้งโลกแล้วตั้งตนเป็นใหญ่ซะเอง

หลังจากนั้นการจัดระเบียบใหม่จะเป็นสิ่งเดียวกับที่ชาร์ลส์ ดาวิน นิยามว่าเป็น “กฎการคัดสรรทางธรรมชาติ” ที่ว่าด้วยการวิวัฒนาการเพื่ออยู่รอดโดยใช้ระยะเวลานาน เพียงแต่ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาจดูจับต้องไม่ได้ด้วยมือเปล่า ทำร้ายไม่ได้ ทำลายไม่ได้ และสามารถวิวัฒน์ได้เพียงระยะเวลาอันสั้น ใครจะรู้ว่าหากนายพลที่รับหน้าที่จัดการสถานการณ์ไวรัสคนนั้นไม่ได้ตัดสินใจพรากชีวิตคนบางส่วนกับระเบิดอารยธรรมที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเพื่อเซฟชีวิตชาวเกาหลีในเมืองหลวง คนส่วนใหญ่ และชาวโลกที่อาจติดเชื้อ (ซึ่งแสดงถึงการดิ้นรนในแบบของมนุษย์ที่จะรอดได้และเอาชนะไวรัสได้ก็ต่อเมื่อตัดมนุษยธรรมออก ซึ่งยากจะพูดว่าถูกหรือผิด พูดได้เพียงว่าเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด) หลังจากเหตุการณ์ตอนจบซีรีส์เรื่องนี้ ไวรัสนี้จะวิวัฒนาการยังไงได้อีก บางทีพวกมันอาจจะบินได้ มีอวัยวะงอก และมีร่างกายขนาดใหญ่เหมือนในเกมซอมบี้สุดสยองอย่าง Resident Evil ก็ได้ 

แต่จากที่เห็นในซีรีส์ เหมือนจะไม่ได้เล่นประเด็นนี้เพราะจะเป็นการเบี่ยงไปไกลพอสมควร แค่มีคนที่เดินท่ามกลางซอมบี้ได้ก็น่ากลัวจะแย่อยู่แล้ว และจะเห็นได้ว่าตัวละครที่มีสถานะเป็นผู้ล่าอย่างควีนัม คนที่กลางๆ และอยู่รอดมาตลอดอย่างโดดเดี่ยวอย่างหัวหน้าห้อง (ไม่บูลลี่และไม่ถูกบูลลี่) และตัวละครที่ถูกล่าอย่างอึนจี ทั้งสามตัวละครที่แสดงความซ้าย กลาง ขวา นี้ แสดงถึงการที่ไวรัสไม่ได้เลือกว่าคนดีไม่ดี แต่คนทุกประเภทได้รับอำนาจและสิทธิ์ในการอยู่รอดในโลกใบใหม่หากพวกเขามีคุณสมบัติบางอย่างพอ เพียงแต่รอดภายใต้สถานะ “ผู้ถูกกดขี่ที่ได้รับการอนุญาตให้รอด” ของไวรัสอีกที

4

ซีรีส์ All of Us Are Dead พูดถึงการมีอำนาจ (power) และการไร้อำนาจ (powerless) กับเรื่องไวรัส กฎธรรมชาติ กับความโกลาหลที่จะต้องเกิดขึ้นได้อย่างมีประเด็น

สำหรับตัวซีรีส์ ก็เป็นอะไรที่มีความเป็นขั้วตรงข้ามพอๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องอย่าง ล่า-ถูกล่า บูลลี่-ถูกบูลลี่ ระเบียบ-โกลาหล โกรธ-ความระงับ หิว-อดกลั้น หรือตาย-ไม่ตาย รอด-ไม่รอด เพราะซีรีส์เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่ดี-ไม่ดี แข็งแรง-ไม่แข็งแรง มั่ว-ไม่มั่ว จุดอ่อน-จุดแข็ง ความฉลาด-ความไม่ฉลาด ความสามัคคี-การผลักไสและแตกคอ การรักกัน-ความเกลียดชัง ความเข้าใจกัน-ความไม่พยายามเข้าใจ ความน่าจดจำ-ความไม่น่าจดจำ การทำให้คนดูอินและรู้สึกตามได้-กับการทำให้สับสนว่าควรจะรู้สึกยังไง ความน่ากลัวของซอมบี้ผ่านการกำกับที่ทำได้ดี-จุดอ่อนจากการเขียนบท สิ่งที่พูดมีประเด็น-ความไม่มีสาระ ความเมกเซนส์-ไม่เมกเซนส์ จุดที่คิดมาดี-พล็อตโฮล และอีกมากมาย จนยากจะบอกได้ว่าตกลงแล้วควรจะรู้สึกยังไง ควรชอบ-ไม่ชอบดี และเป็นซีรีส์ที่ควรแนะนำให้ดู-ไม่แนะนำให้ดู

หากเน้นเรื่องบทมากกว่านี้ และตัดทอนรายละเอียด กับกล้าที่จะหลุดกรอบจากเว็บตูน (ที่มีข้อเสียและพล็อตโฮลเป็นทุนเดิม) ด้วยความสนุกและประเด็นน่าสนใจที่ซีรีส์เรื่องนี้มีให้ จะทำให้มันเป็นซีรีส์ที่พูดว่า “ดี” ได้อย่างมั่นใจ แต่จากที่มีและที่ได้ สิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือ All of Us Are Dead เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นอีกหนึ่งเครื่องยันยืนว่าเกาหลีเอาดีทางด้านซอมบี้แล้วรุ่ง มั่นใจว่ากระแส K-Zombie จะไม่จบแค่นี้ จากความสำเร็จที่ผ่านมาและ All of Us Are Dead จะทำให้มีซีรีส์ซอมบี้เกาหลีตามมาอีกมาก และทำให้อดรอคอยไม่ได้ว่าต่อไปจะมีซอมบี้ใน space & time ไหนอีก

AUTHOR