‘เจตจำนง โชคชะตา ประชาธิปไตย’ อ่านเรื่องราวที่ซ่อนไว้ในไพ่ทาโรต์การเมืองฉบับ Thai Political Tarot

เพจ Thai Political Tarot เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 

ไม่แน่ใจว่าในทางพยากรณ์ศาสตร์ การเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างจะต้องถือฤกษ์งามยามดีตามตำรามากแค่ไหน แต่ถ้าดูตามเหตุการณ์บ้านเมือง การมีเพจวาดภาพการเมืองบนไพ่ทาโรต์ในช่วงที่มีคนไปชุมนุมทางการเมืองเกือบแสนคนก็นับว่าเป็นฤกษ์สำคัญไม่น้อย 

ส้ม–ปนัดดา เต็มไพบูลย์กุล คือผู้อยู่เบื้องหลัง Thai Political Tarot เธอไม่ได้ตั้งใจทำเพจนี้ขึ้นมาเพื่อทำนายทายทักดวงเมือง หรือพยากรณ์การเคลื่อนทางการเมืองใดๆ แต่ส้มเพียงแค่อยากเลือกใช้ความถนัดและความสนใจส่วนตัว นั่นคือการวาดภาพและไพ่ทาโรต์มาผสานรวมกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในขบวนของคนรุ่นใหม่ 

ไพ่ที่เธอวาดแต่ละใบจึงล้วนมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเมืองที่กำกับด้วยคาแร็กเตอร์ของไพ่ทาโรต์ โดยวาดออกมาเป็นสไตล์น่ารักสดใสตามที่เธอถนัด 

แม้ว่าจะฟังดูสนุก แต่ถึงอย่างนั้น กว่าที่เจ้าตัวจะปล่อยผลงานออกสู่สายตาสาธารณชนได้ ศิลปินหญิงจำเป็นต้องหยิบประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นรายวันมาเทียบเคียงกับความหมายของไพ่แต่ละใบ เพื่อให้ประเด็นที่สื่อสารออกมาสอดคล้องกัน ตรงนี้เองที่เป็นจุดสำคัญซึ่งส้มต้องอาศัยชุดความรู้ทางการเมืองที่สะสมมาจากการเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ออกค่ายเรียนรู้และลงพื้นที่ทำงานด้านสิทธิชุมชน รวมถึงการออกไปเจอสังคมอื่นๆ ในต่างแดน ทั้งหมดผนวกรวมกันเป็นมุมมองที่เธอมีต่อการเมืองไทย

เทียบกับคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ซึ่งกล้าที่จะตั้งคำถามกับการเมือง และกล้าที่จะลุกขึ้นต่อต้านความอยุติธรรมตั้งแต่เด็กๆ ส้มนิยามการเติบโตของตัวเองว่าเป็น ‘คนสายลมแสงแดด’ ที่ค่อยๆ สะสมความรู้ทางการเมืองจากแต่ละช่วงชีวิต จนมาสุกงอมเต็มที่พร้อมกับเกิดปรากฏการณ์ตาสว่าง นั่นจึงทำให้ส้มวาดหวังว่าภาพวาดการเมืองทุกใบจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมือง

การก้าวข้ามจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของศิลปินคนนี้มีที่มายังไง และอะไรที่หล่อหลอมให้เธอเชื่อว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้ย่อมจะดีกว่าการอยู่เฉย เราอยากชวนมาลองเปิดไพ่ชีวิตของเธอไปพร้อมๆ กัน

ไพ่ใบที่ 0 
The Fool

“จริงๆ เราเป็นเด็กในกรอบมาก” ส้มเริ่มต้นเล่าถึงชีวิตตัวเอง หลังจากเราถามว่าเธอสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่ตอนเด็กเลยหรือเปล่า

“เป็นเด็กแบบที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น ‘คนดี’ เรียบร้อย ถูกระเบียบ ไม่ตั้งคำถาม ไม่มีปากเสียง มีอะไรก็เก็บไว้ในใจ”  

ส้มให้นิยามชีวิตตอนเด็กว่า ‘สายลมแสงแดด’ หมายถึง เธอสนใจแค่การใช้ชีวิตของตัวเอง ทำในสิ่งที่สนใจ ไม่ได้คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่อย่างใด นั่นเพราะเธอถูกสอนมาว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก และการเมืองเป็นเรื่องสกปรก

“แต่ก็มีบางเรื่องที่ทำให้รู้สึกตั้งคำถามกับบ้านเราเหมือนกันนะ ตอนเด็กๆ เราชอบไปค่าย ไปทำกิจกรรมเยอะมาก อย่างตอนไปงานชุมนุมลูกเสือภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 25 กับ งานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติญี่ปุ่น ครั้งที่ 14 มันทำให้เรารู้ว่าประเทศอื่นเขาไม่ได้เรียนลูกเสือแบบบ้านเรานี่หว่า ไม่ได้มานั่งเครียดว่าเราจะติดเครื่องแบบครบไหม หรือถ้าใครทำผิดก็ไม่ต้องถูกทำโทษด้วยการสควอตจัมป์

“แต่เขาสอนให้มีวินัยในทางอื่นแทน เช่น การตรงเวลา การอยู่แคมป์ต้องทำยังไง ต้องดูแลตัวเองยังไง ลูกเสือเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนได้มาลองใช้ชีวิตเอาต์ดอร์มากกว่า ซึ่งมันสนุกมาก เหมือนเป็นการพัฒนาตัวเองในทางหนึ่งเลย ผู้บังคับบัญชาก็ไม่ได้วางตัวว่าฉันจะมาทำโทษเธอนะ ซึ่งเราก็สงสัยว่าทำไมลูกเสือในประเทศไทยมันไม่เป็นแบบนี้” 

ถึงจะเริ่มมีคำถาม แต่คำถามเล็กๆ ก็ยังไม่ได้นำเธอไปสู่การมองถึงวิธีคิดระดับสังคมนัก ส้มคิดว่าถ้าต้องหยิบไพ่มาอธิบายวัยเด็กที่ต้องอยู่ในกรอบแบบสังคมไทยคงต้องเป็นไพ่ The Fool

“เราคิดว่าชีวิตเราช่วงเวลานี้เหมือนไพ่ The Fool มีวิธีคิดแบบสายลมแสงแดด เงยหน้ามองฟ้า หน้าผาอยู่ตรงหน้า เรากำลังจะลงแล้ว กำลังจะก้าวสู่โลกความเป็นจริง แต่ยังไม่รู้เลยว่าทางข้างหน้าคือกับดักบางอย่าง”

ไพ่ใบที่ 5
The Hierophant 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ศิลปินหญิงหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เริ่มต้นจากการได้เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สถานที่ที่ส้มมองว่าช่วยกะเทาะเปลือกที่ครอบเธอมาตลอดชีวิต  

“เราไม่ใช่คนที่อ่านหนังสือเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่เด็ก ไม่ค่อยรับรู้ประวัติศาสตร์บาดแผลอะไรมากเลย แล้วพอเข้ามาเรียนอักษรฯ เราเรียนวิชาโทไทยศึกษา มันเลยทำให้เราได้เรียนประวัติศาสตร์ เรียนด้านคติชนวิทยา เรียนความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ ทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมไทยมากขึ้น

“ตอนนั้นเลยได้พบว่า จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์การเมืองบ้านเรามีหลายเรื่องเล่า ซึ่งการศึกษาประวัติศาสตร์มันควรจะศึกษาจากหลายมุมมองใช่ไหม แต่ว่าหนังสือประวัติศาสตร์ที่เราเรียนในโรงเรียนกลับเป็นมุมที่รัฐเลือกมาแล้วว่าอยากให้เราเข้าใจแบบไหน บอกให้เราท่องจำมัน แต่ไม่ได้สอนให้เราวิเคราะห์ตัวเนื้อหาเลย” 

การเรียนที่นี่ทำให้เธอได้เปิดรับมุมมองทางการเมืองที่หลากหลาย จนอาจเรียกได้ว่าทำให้แนวคิดประชาธิปไตยฟูมฟักขึ้นมาในใจมากขึ้นด้วย เพราะคณะนี้สอนเรื่องความเป็นมนุษย์ที่ทำให้นิสิตได้ตั้งคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่เคยเชื่อ

“อย่างพอเรียนปรัชญา ก็เจอคำถามว่าความดีคืออะไร ความงามคืออะไร ความยุติธรรมคืออะไร ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ตั้งคำถามเลย ความดีก็ด้วย เราใช้คำว่าดี แต่เราไม่เคยเข้าใจมันเลย”

หากเปรียบชีวิตส้มช่วงนี้กับไพ่ เธอหยิบ The Hierophant ซึ่งเป็นไพ่ที่มีภาพพระสังฆราช เพียงแต่ส้มก็ไม่ได้ตีความตรงตัวกับต้นฉบับเสียทีเดียว 

“เรามองไพ่สังฆราชเหมือนอาจารย์ที่สอนเราคือ อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ซึ่งทำให้เราได้เปิดมุมมองที่กว้างขึ้นในการเรียนประวัติศาสตร์ รวมถึงวิธีคิดวิเคราะห์ที่มากขึ้นด้วย”

การได้เบิกเนตรกับสุธาชัยได้กลายเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ทำให้ส้มไม่พอใจกับการรัฐประหารปี 2557 แต่เธอยอมรับว่าในตอนนั้นยังไม่กล้าแสดงออกทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก 

ไพ่ใบที่ 18
The Moon 

การเข้าสู่วัยทำงานเป็นอีกช่วงหนึ่งที่ทำให้ปัญหาการเมืองฉายชัดในความคิดของส้ม นั่นเพราะเธอได้ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนต่างๆ รวมถึงได้ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมกับคนที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์

“เรามีพื้นฐานการตั้งคำถามมาจากตอนเรียนอยู่แล้ว พอได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เราเลยมองเห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาเยอะมาก และทุกอย่างเชื่อมโยงไปถึงระดับการเมืองหมด

มันกะเทาะเปลือกมายาคติบางอย่าง เช่น คนเมืองส่วนใหญ่มองว่าคนต่างจังหวัดยังด้อยพัฒนา เราเลยต้องเข้าไปช่วยเขาในมุมมองแบบเราสูงกว่าเขา เป็นการมองคนไม่เท่ากัน แต่พอเราได้ไปคุยกับชุมชนจริงๆ เขามีผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ ชุมชนมีศักยภาพ มีภูมิปัญญาที่น่าสนใจมาก เขาไม่ได้ด้อยกว่าเราเลย”

ขณะเดียวกันส้มตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีแต่ภาคประชาสังคมที่เข้ามาทำงานสนับสนุนประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งหลายครั้งเมื่อหาต้นตอการแก้ปัญหาแล้วมักมีข้อสรุปว่าต้องไปผลักดันให้รัฐแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย

“สิ่งที่ชุมชนต้องการคือการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม มีโรงเรียนที่ดีกว่านี้ มีการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีกว่านี้ รวมถึงการเข้าถึงเศรษฐกิจชุมชนที่ดีกว่านี้ เขาต้องทำงานกันหนักมาก แต่พอได้กลับมาก็ไม่เท่าคนเมืองอีก ทำไมเราถึงกระจายความเจริญไม่ได้”

พ้นไปจากเวลางานที่ต้องลงพื้นที่ชุมชน ส้มยังพาตัวเองไปร่วมกิจกรรม อบรม เรียนรู้คนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน เช่น เป็นพี่เลี้ยงค่ายสอน Design Thinking ให้เด็กในชุมชนเล็กๆ หรือทริปดินแดนแสนดอกไม้ ปราชญ์ของป่า ปี 2558 ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้วิถีคนอยู่กับป่าของชาวปกาเกอะญอ 

“การได้ไปเห็นเรื่องเหล่านี้ด้วยตาตัวเอง ทำให้เราตกผลึกได้ว่าคนไทยมีความสามารถนะ ยังมีคนที่ตั้งใจดีอยู่เยอะมาก ไอเดียดีๆ ก็เยอะมาก และประชาชนต่างก็ลงมือแก้ปัญหากันเองตามที่จะทำได้ แต่ด่านสุดท้ายมันก็ไปติดกับดักโครงสร้างของประเทศนี้ที่ไม่ได้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนต้องปลอบใจตัวเองด้วยเรื่องของเวรกรรม เรื่องของบุญวาสนา หรือถ้าจะบอกให้คนเริ่มที่ตัวเอง แต่ยังไงมันก็ไม่เท่ากับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอยู่ดี”

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ส้มจึงได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น รวมถึงการมองภาพสิ่งรอบตัวในเชิงการเมืองระดับประเทศมากขึ้น แตกต่างไปจากตอนเด็กที่ไม่เคยมองเห็นการเมืองอยู่รอบตัวเลย

“เราว่าตัวเองมาไกลมากเหมือนกัน จากเคยเป็นเด็กดีเชื่อโฆษณาชวนเชื่อในสังคม หวาดกลัวต่อการตั้งคำถาม แล้วพอเก็บเล็กผสมน้อยจากการไปเจออะไรหลายอย่าง มันเหมือนลากเส้นต่อจุดจนเรามองเห็นภาพใหญ่ของปัญหาทั้งหมด” 

เธอทบทวนความคิดของตัวเอง ก่อนจะหยิบไพ่ The Moon มาเปรียบเทียบกับชีวิตในช่วงวัยทำงาน

“ดวงจันทร์มันคือความคลุมเครือ วิกฤตศรัทธา ความฝัน เปรียบเสมือนการที่เราไม่ได้ตื่นรู้แบบสว่างทันที แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากความมืด ความกลัวในบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งของตัวเราก็คือการโฟกัสปัญหาไม่ถูกจุด เราก็ค่อยๆ ปะติดปะต่อจนมองเห็นตามความเป็นจริงว่า ปัญหาที่ได้เห็นทั้งหมด มันเป็นเพราะโครงสร้างทางการเมือง ดวงจันทร์เป็นเหมือนการทำงานกับวิกฤตศรัทธาของตัวเราเองที่มีต่อประเทศนี้” 

ไพ่ใบที่ 16
The Tower

ถ้า The Moon เป็นหมุดหมายหนึ่งที่ทำให้ส้มตาสว่างทางการเมือง The Tower ไพ่ใบต่อมาที่เธอเลือกก็คงอธิบายได้ว่าทำไมศิลปินคนนี้ถึงตัดสินใจออกมาส่งเสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในปี 2020 

“ก่อนจะเกิดการยุบพรรคอนาคตใหม่ เราไป Work and Holiday ที่ออสเตรเลีย มันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราเห็นการเปรียบเทียบวิธีคิดและวัฒนธรรมของไทยกับต่างประเทศชัดขึ้นมาก

“เช่น เวลาพูดถึงความเท่าเทียมและความเสมอภาค แรกๆ ก็ยังไม่เห็นภาพหรอกว่าจะต้องออกมาเป็นยังไงบ้าง จนกระทั่งเราพบสังคมออสเตรเลีย ทำให้รู้ว่านี่แหละคือเมืองที่รักเรา เช่น จะขึ้นรถเมล์ก็ไม่ต้องไปยืนรอว่าจะมาเมื่อไหร่ แค่กดกูเกิลแมปส์ก็สามารถดูรอบรถเมล์ได้เลย อะไรเล็กๆ น้อยๆ ในออสเตรเลียหล่อหลอมให้เรารู้สึกว่า นี่สิความเป็นมนุษย์ มันควรได้รับความรักและคุณค่าแบบนี้

“แต่โครงสร้างบ้านเรามันทำให้เราไม่รู้สึกว่าถูกรัก เราจะต้องมีความพยายามในการทำบางอย่าง ต้องไปรอรถเมล์ก็แล้ว ไหนจะต้องวิ่งตามรถอีก หรือเดินบนฟุตพาทก็เสี่ยงว่ามอเตอร์ไซค์จะขึ้นมาไหม บางทีบีบแตรด่าเราด้วยว่าไม่ยอมหลบ” 

หลังจากมีข่าวพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ นั่นจึงเป็นสัญญาณที่ส้มคิดว่าการแสดงออกทางการเมืองไม่ควรมีอยู่แค่ในอินเทอร์เน็ต หรือผ่านกลไกการเลือกตั้งและรัฐสภาเพียงอย่างเดียว เพราะในเมื่อทุกคนพยายามมีส่วนร่วมแล้ว ทำไมถึงเกิดการปิดกั้นทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ความโกรธทำให้ส้มคิดว่าถึงเวลาที่ต้องทำให้ผู้มีอำนาจเห็นว่าทุกเสียงมีคุณค่า

“เราเลยคิดว่า The Tower คือหอคอยถล่ม เพราะมันคือจุดเปลี่ยนที่เรามองว่าการเมืองไทยนี่เละเทะไม่มีชิ้นดี ถ้าสังคมเราพยายามสอนว่าบ้านเมืองต้องสงบสุข ไม่มีม็อบ แต่พอมีความพยายามต่อสู้ด้วยกลไกรัฐสภาก็ยังถูกกำจัดทิ้งอีก ประชาชนที่ใช้สิทธิเลือกผู้แทนเข้าไปก็เหมือนกับความหวังพังทลาย มันคือการบีบให้มวลชนหมดความอดทนและลงถนน” 

ไพ่ใบที่ 10 และ ไพ่ใบที่ 20
Wheel of Fortune /  The Judgement  

ตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมารวมตัวเรียกร้องทางการเมือง ส้มกลับจากออสเตรเลียมาไทยและไปร่วมชุมนุมแทบทุกครั้ง อีกทั้งยังตัดสินใจเปิดเพจ Thai Political Tarot เพื่อร่วมขบวนด้วย

เพื่อให้เธอบอกเล่าถึงสิ่งที่ทำและทัศนคติที่มีต่อบ้านเมืองนี้ได้อย่างเต็มที่ เราจึงนำบทสนทนาที่ได้คุยกับเธอในวันนั้นมาให้ทุกคนได้อ่านกันด้านล่างนี้

พอตัดสินใจได้แล้วว่าถึงเวลาที่จะต้องแสดงออกทางการเมือง อะไรทำให้คุณเลือกวาดภาพการเมืองออกมาเป็นไพ่ทาโรต์

ตอนนั้นบรรยากาศการเมืองมันหดหู่มาก ทั้งโควิด-19 คนตกงานเยอะ การเมืองก็ไม่ดี เรามีความสนใจทางจิตวิทยา พวกสายเยียวยาจิตใจอยู่แล้ว ซึ่งการเปิดไพ่มันมีมิติที่ได้สนทนากับตัวเอง หรือว่าคนที่เขาไปดูไพ่ก็เพราะเรามีเรื่องที่ไม่สบายใจ เราเลยคิดว่าไพ่ทาโรต์ทำหน้าที่คล้ายๆ นักจิตวิทยาคำปรึกษาได้ ก็เลยเริ่มต้นศึกษา 

เราเห็นว่าไพ่แต่ละใบสะท้อนสภาวะความเป็นมนุษย์ รวมถึงว่าตอนนั้นข่าวการเมืองเยอะ เลยเห็นว่าไพ่มีแพตเทิร์นบางอย่างที่น่าจะสวมเข้ากับการเมืองไทยได้ ทำให้เราวาดออกมา 

ตอนแรกโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวก่อน จนมีเพื่อนมาติดตามอยากให้เราวาดใบต่อๆ ไป พอวาดได้จำนวนหนึ่งเราก็เอาไปลงทวิตเตอร์ คนก็สนใจ เลยตัดสินใจเปิดเพจจริงจัง เพราะเราเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว การทำในสิ่งที่เราชอบให้เป็นประเด็นการเมืองมันก็มีส่วนช่วยให้มูฟเมนต์มีความหลากหลายในการสื่อสารได้

คุณมีแนวทางในการดึงประเด็นการเมืองมาวาดลงบนไพ่ยังไงบ้าง

ในตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะเอามาทำเพจเลย ประเด็นในภาพมันเลยมีความตามใจฉันอยู่บ้าง แล้วก็ไม่ได้มองไพ่ออกมาเป็นชุดว่าเราจะมีแนวทางกับมันยังไง ช่วงแรกเราเลยวาดตามสถานการณ์ เช่น ทนายอานนท์ถูกจับครั้งแรกหลังปราศรัย แล้วเขาถูกตำรวจลากใน สน. หรือว่าการออกมาชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นม็อบฟรุ้งฟริ้งมีแต่เด็กเต็มไปหมดเลย

พอเริ่มทำเพจแล้วมีคนเข้ามาติดตาม สิ่งที่ต้องทำคือ ภาพที่วาดอาจจะต้องสอดคล้องกับความหมายของไพ่ให้มากขึ้น เราต้องใส่ใจในการเลือกประเด็น และมีระบบสัญลักษณ์ของต้นฉบับไพ่ เพื่อให้คนมีพื้นฐานเรื่องการเมืองน้อย แต่เขาอาจจะมีความรู้การดูไพ่เข้าใจไปด้วย 

พอทำภาพออกไปเรื่อยๆ เรามาคิดเหมือนกันว่าไพ่จะเป็นยังไงต่อ เพราะมีคนเชียร์ให้เราทำเป็นชุดขาย เพราะฉะนั้น อันนี้คือช่วงที่ 3 ที่เราจะต้องมาคิดทิศทางที่แน่นอน เช่น ถ้าเราวาดไพ่ใบนี้ แล้วเลือกคนนี้จะเป็นการสร้างภาพจำคน หรือตอกย้ำภาพลักษณ์อะไรบางอย่างที่สังคมมอบให้แก่คนกลุ่มนี้หรือเปล่า หรือว่าถ้าเราวาดคนนี้จะมีปัญหาเรื่องการบูชาตัวบุคคลไหม เราจะพยายามคิดหาเหตุผลให้คำถามพวกนี้ตลอด

รวมถึงว่าการต่อสู้ไม่ได้มีแค่ประเด็นใหญ่ระดับประเทศอย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่คนต่อสู้อยู่จำนวนมาก เช่น ต่างจังหวัดมีปัญหาที่ดิน หรือมีประเด็นที่คนเมืองอย่างเราไม่รู้ว่ามีปัญหาอยู่ เรารู้สึกว่ามันสำคัญเหมือนกันที่เราควรจะให้ไพ่ครอบคลุมเรื่องการต่อสู้ที่หลากหลายในประเทศนี้ เราเลยจะพยายามมองหาไดเรกชั่นที่เล่าเรื่องได้ทั้งหมด

ที่บอกว่าคุณต้องเอาเหตุการณ์ทางการเมืองมาตีความกับระบบสัญลักษณ์ของไพ่ทาโรต์ด้วย จะต้องทำยังไงบ้าง

เราอ้างอิงไพ่ทาโรต์เวอร์ชั่นไรเดอร์เวตสมิธ (RWS) ซึ่งเป็นฉบับคลาสสิกที่คนใช้กัน คนจะได้สืบค้นอินเทอร์เน็ตหาความหมายได้ด้วย เพราะเราใส่คำอธิบายภาพไม่ยาว อยากให้ทุกคนไปตีความเอง 

ดังนั้นในการวาดภาพเราจะยึดสัญลักษณ์หรือวางองค์ประกอบตามไพ่ เช่น เราเคยทำไพ่ The Devil ไปก่อนหน้านี้ พูดถึงเรื่องอำนาจนิยม เราก็ใช้องค์ประกอบตามภาพไพ่ คือมีเดวิลใช้โซ่ล่ามมนุษย์ผู้ชายกับผู้หญิง แต่เราเปลี่ยนผู้หญิงเป็นนักเรียนหญิงที่ต้องตัดผมสั้นเท่าติ่งหู ส่วนผู้ชายเป็นทหารเกณฑ์แทน

แต่ก็ไม่ได้ยึดตามไพ่ทุกใบ เพราะมีสัญลักษณ์บางอย่างที่อาจจะไม่ครอบคลุมกับแนวคิดความหลากหลายปัจจุบัน เช่น บทบาทในไพ่ส่วนใหญ่จะเป็นชาย-หญิง แม้ว่าในไพ่ The World เหมือนจะเป็นคนสองเพศ แต่เราคิดว่ายุคสมัยนี้แล้วเรื่องเพศในไพ่ก็น่าจะได้รับการตีความใหม่ไปด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังอยู่ระหว่างการเรียนรู้ไปพร้อมกับทำไพ่ด้วย

พอต้องหยิบเหตุการณ์จริงมาตีความตามไพ่เอง คุณมีความกังวลไหมว่ามันอาจจะมีบางอย่างที่คนไม่ได้เห็นตรงกัน

จริงๆ เรามีฟอร์มที่ให้คนอื่นๆ เสนอประเด็นและไอเดียมาด้วยนะ เพราะมายด์เซตตั้งต้นของเราคือการวาดไพ่เหล่านี้ขึ้นมาได้ มันไม่ใช่ผลงานของเราคนเดียวอยู่แล้ว 

แล้วถ้าย้อนกลับไปดูจริงๆ เราว่าเนื้อหาและแนวคิดที่เราเลือกหยิบประเด็นมาวาด มันเกิดจากการที่เราได้รับโอกาสในการไปค่าย อบรม เจอคนที่มีความคิดที่ก้าวหน้ากว่าเรา แล้วมันทำให้เราได้รับความคิดเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งให้ภาพอีกทีด้วย เลยคิดว่าความเป็นเจ้าของ Thai Political Tarot มันมาจากสังคม ไม่ใช่แค่เราคนเดียว

อีกประเด็นคือ ตัวไพ่เองเป็นองค์ความรู้ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยตัวคอนเซปต์มันจึงต้องถามความคิดเห็นคนอยู่แล้ว เช่น คนที่เขาดูไพ่มาก่อนจะมีวิสัยทัศน์ที่แหลมคมกว่าเรา เรามีเพื่อนที่เป็นแม่หมอก็ถามเพื่อนว่าตีความสถานการณ์แบบนี้กับไพ่นี้ได้ไหม 

ในฐานะที่คุณนิยามว่าตัวเองเคยเป็น ‘คนสายลมแสงแดด’ มาก่อน คุณคิดว่าจะมีทางไหนในการสื่อสารให้คนที่ยังไม่ได้ตื่นรู้ทางการเมืองหันมาสนใจเรื่องนี้บ้างไหม

ต้องบอกก่อนว่า วิธีการสื่อสารหรือการจัดการความขัดแย้งได้ดีที่สุดของแต่ละคนอาจจะมีแนวทางไม่เหมือนกัน ซึ่งรูปแบบที่คนในสังคมยอมรับวิธีร่วมกันคืออะไร เรายังไม่แน่ใจ แต่โดยแนวทางส่วนตัวเรา เรามองว่าการจัดการกับความขัดแย้งต้องเข้าใจว่าคนเหล่านี้ต้องการอะไร อะไรที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องทางการเมือง 

ไม่รู้ว่าดูโลกสวยไปไหม เพราะจริงๆ คนที่สายลมแสงแดดก็น่าจะโดนโกรธอยู่ไม่น้อย บางทีเราก็โกรธ ถึงได้ทำภาพไพ่ The Ignorant ขึ้นมา ทั้งๆ ที่เราเคยเป็นแบบนั้นมาก่อน เราเข้าใจได้นะว่าทำไมคนที่เขาสู้มาก่อนเขาถึงโกรธคนที่ไม่ยอมสนใจการเมือง หรือคนที่เพิ่งมาตื่นรู้ เพราะเขาสู้มานานก็มีสิทธิที่จะโกรธ

แต่คนที่ถูกโกรธนี่เป็นจุดวัดใจเลย เพราะว่าหลายๆ คนที่ตื่นรู้แล้ว พอรู้สึกว่าโดนโกรธก็ไม่อยากเคลื่อนไหวต่อ งั้นฉันเฉยๆ แล้วกันเพราะพวกเธอโกรธฉัน

จากประสบการณ์ที่เห็น เราคิดว่าต้องอย่าลืมว่ามันควรเรียกร้องการเมืองต่อไปหรือเปล่า มันเหมือนเราต้องก้ามพ้นความเป็นตัวเองไปเพื่ออะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากกว่าเรา คือถ้าเราโกรธแล้วไม่ร่วมกับพวกเธอแล้ว เพราะเธอโกรธฉัน มันก็จะกลายเป็นว่า เราติดอยู่กับตัวเองในเรื่องนี้ 

แต่นั่นแหละ เราไม่ใช่คนที่จะสอนคนอื่นๆ ได้ว่าจะต้องทำตัวยังไง และคิดว่าสถานการณ์ในตอนนี้ เดี๋ยวพอเหตุการณ์มันดำเนินไป ทุกคนก็จะเรียนรู้เองว่าใช้วิธีไหนสื่อสารต่อกันแล้วจะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก เช่น บางคนเขาอาจจะรู้สึกว่าการด่ามันเวิร์กก็ได้ หรือบางคนอาจจะคิดว่าสื่อสารแบบเข้าใจเขามันเวิร์กก็ได้

จากการวาดรูปไพ่มาตั้งแต่ช่วงปี 2020 จนถึงตอนนี้ คุณคิดว่าบทบาทของตัวเองในการขับเคลื่อนการเมืองเป็นยังไงบ้าง

สิ่งหนึ่งที่เราคาดหวังว่าตัวเองต้องทำให้ได้ในระยะสั้น คือท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่การเคลื่อนไหวการเมืองมันไม่ได้สมูทมาก ยังมีเราคนหนึ่งที่ทำภาพออกไปสู่สังคม ให้คนไม่ลืมว่าเราสู้กับอะไร เพื่ออะไรอยู่  

แต่อีกบทบาทหนึ่งที่เราทำคือการให้กำลังใจคนในขบวน ทั้งวาดภาพแกนนำ ภาพคนในขบวนที่อาจจะไม่ค่อยมีใครพูดถึง เช่น กลุ่มอาชีวะ ด้วยความที่เราอยากให้สังคมนี้มัน inclusive มากขึ้น ไม่อยากให้สังคมจดจำแค่คนเบื้องหน้า แต่คนเบื้องหลังที่เขาก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เราอยากทำให้เห็นความหลากหลาย การที่เราจะต่อสู้ไปด้วยกันแล้วสำเร็จ มันอาจจะต้องอาศัยการที่ทุกคนมองเห็นความสำคัญของกันและกัน ยอมรับว่าแม้ทุกคนแตกต่างกัน แต่คุณคือส่วนหนึ่งของพวกเรา 

แล้วก็มีบางภาพที่เราวาดมาเพื่อให้กำลังใจกันในช่วงที่เราออกไปเคลื่อนไหวการเมืองกันได้ไม่เต็มที่ ด้วยการวาดภาพอนาคตสังคมที่เรามุ่งหวัง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจริงหรอก แต่ในความสิ้นหวังตอนนี้ มันอาจจะยังจำเป็นว่ามีความฝันอะไรบางอย่างอยู่ที่ต้องให้กำลังใจกันไว้

ส่วนการมองในแง่บทบาทการทำภาพให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราตัวคนเดียวคงไม่ได้สร้างอิมแพกต์ได้ขนาดนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันเหมือนการวิ่งมาราธอนเหมือนกันนะ อาจจะต้องทำงานกันไปอีกยาวๆ และต้องอาศัยศิลปินหลายคนผลิตซอฟต์พาวเวอร์เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อนำทางคนไปสู่ประเด็นสังคมหรืออะไรบางอย่าง ซึ่งการเกิดขึ้นของกลุ่มนักวาดภาพประกอบประชาธิปไตยมันดีมากๆ เลย มันมีอิมแพกต์มาก

สุดท้ายคุณคิดว่าอะไรคือความหวังที่ทำให้คุณยังคงวาดภาพการเมืองบนไพ่ทาโรต์ต่อไป

เรามีความหวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงนะ แต่ตอบไม่ได้ว่ามูฟเมนต์นี้จะไปได้ไกลเแค่ไหน มันจะมีวันซาแล้วขึ้นมาใหม่ไหม หรือว่าจะจบในรุ่นเราไหม แต่เราว่าประเด็นที่สำคัญกว่าคือถ้าเราไม่ทำตอนนี้ ความเปลี่ยนแปลงมันจะไกลออกไปเรื่อยๆ พรุ่งนี้เปลี่ยนไหมไม่รู้ อีก 10 ปีเปลี่ยนไหมไม่รู้ แต่ถ้าเราไม่ทำมันไม่เปลี่ยนแน่ๆ 

คือถ้าถามว่าใจอยากให้มีเดดไลน์แน่ชัดไหมว่ามันจะอีกกี่ปี เราอยากมี เพราะอยากให้มันจบที่รุ่นเราเหมือนกัน แต่ก็เข้าใจว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกตึงเครียดว่าจะต้องจบในเร็ววัน ซึ่งเผด็จการไม่ยอมให้มันจบง่ายๆ แน่ ยิ่งเรากำลังสู้อยู่กับสิ่งที่มันใหญ่กว่าตัวเรามาก เพราะฉะนั้นเราก็หวังแค่ว่า ขอให้ได้เห็นก่อนตายละกัน เพียงแต่ว่ามันจะออกมาเป็นยังไงไม่มีใครรู้หรอก ที่รู้แน่ๆ คือวันน้ีเราเลือกได้ว่าจะสู้หรือไม่สู้ 

AUTHOR