‘คุณกลับบ้านกี่ชั่วโมง คนบางกลอยใช้เวลา 25 ปี’ คุยกับพชร คำชำนาญ ภาคีSaveบางกลอย

บ้านอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนก็จริง แต่สำหรับคนที่อยากกลับบ้านแต่ไม่สามารถกลับได้ก็มีชีวิตที่เศร้าไม่ต่างกัน และชาวบางกลอยรู้สึกแบบนั้นมา 25 ปีแล้ว

ตั้งแต่รัฐไทยประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของชาวปกาเกอะญอที่บางกลอยผู้อาศัยอยู่ในใจแผ่นดินมานานกว่าร้อยปีก็มีอันต้องเปลี่ยนไป แม้จะมีแผนจัดสรรให้ชาวบ้านลงมาทำกินที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง ตั้งแต่ปี 2539 แต่จนถึงตอนนี้พื้นที่ดังกล่าวยังไม่สามารถทำการเกษตรตามแบบวิถีชีวิตชาวบ้านได้

ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี Natthaphon Suwanpakdee

แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้านเพื่อไม่ให้เกิดการขัดขืนต่อการย้ายพื้นที่อยู่อาศัย ทั้งการบังคับให้หายสาบสูญของบิลลี่ พอละจี นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งบ้านบางกลอย การใช้ยุทธการตะนาวศรีเผาทำลายบ้านเรือนของชาวบ้าน รวมถึงบ้านของปู่คออี้ มีมิ ผู้นำจิตวิญญาณชุมชุนบางกลอย แต่ท้ายที่สุดในปีที่ 25 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งก็ตัดสินใจเดินกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดินอีกครั้งจนเกิดการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบางกลอยจึงต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อจัดชุมนุมเรียกร้องสิทธิที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีกลุ่ม ‘ภาคีSaveบางกลอย’ ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลลงนามสัญญาเข้าช่วยเหลือ

ภาคีSaveบางกลอย ทำให้คนเมืองหันมาสนใจเรื่องสิทธิชาติพันธุ์ไม่น้อย และหนึ่งในคนที่ผลักดันให้ภาคีนี้เกิดขึ้นคือ กอล์ฟ–พชร คำชำนาญ เอ็นจีโอรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสิทธิชุมชนและชาติพันธุ์ในภาคเหนือ ถ้าใครได้ดูคลิปเหตุการณ์หน้าหอศิลป์ วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา เขาคือคนที่แสดงเป็นชาวบ้านบางกลอยร่วมกับ บอย–ธัชพงศ์ แกดำ เพื่อจำลองสถานการณ์ในวันที่เจ้าหน้าที่อุทยานใช้ ‘ยุทธการป่าน้ำเพชร’ ล้อมจับชาวบ้านในข้อหาบุกรุกป่า พร้อมฝากขังเรือนจำ และโกนผมชาวบ้านเหมือนพวกเขาต้องคำพิพากษาแล้ว

ในวันนั้น กอล์ฟและบอยจึงโกนผมเพื่อแสดงให้คนเห็นปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมๆ กับสื่อสารว่าพวกเขาอยู่เคียงข้างชาวบ้านบางกลอย และสิ่งที่พวกเขาทำทั้งหมดนั่นเองที่ทำให้เรานัดคุยกับกอล์ฟในวันที่นายกฯ ลงนามช่วยเหลือชาวบางกลอย แต่กลายเป็นว่าหลังจากเราสนทนากันเสร็จไม่นาน นายกฯ ก็ตระบัดสัตย์ไม่ให้ชาวบ้านกลับไปอยู่ใจแผ่นดินอีก ทำให้กอล์ฟและเครือข่ายภาคีSaveบางกลอยต้องคอยลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดอีกแล้ว

และพวกเขาก็อยากให้เราคอยจับตาสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปด้วยกัน

ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี Natthaphon Suwanpakdee

01
จิตวิญญาณของชาวบางกลอย

แม้กอล์ฟจะทำงานเป็นเอ็นจีโอในเชียงใหม่เป็นหลักก็จริง แต่เรื่องของชาวบางกลอยเป็นประเด็นที่คนทำงานด้านสังคมรับรู้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนมานาน กอล์ฟบอกกับเราว่าวันที่เอ็นจีโอด้านชาติพันธุ์รู้ว่าชาวบ้านเดินกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดินอีกครั้ง ทุกคนจึงรับรู้ได้ถึงความกลัวว่าจะมีเรื่องใหญ่เกิดขึ้น เพราะด้วยข้อกฎหมายของพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติที่ผ่านร่างในช่วง คสช. ทำให้คนที่เข้าไปอาศัยในเขตอุทยานจะโดนโทษสูงถึง 4-20 ปี และปรับเงิน 400,000-2,000,000 บาท

เอ็นจีโอด้านชาติพันธุ์ไม่นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ กอล์ฟเองก็พยายามติดต่อคนที่ใกล้ชิดหรือชาวบ้านบางคนที่ไม่ได้ขึ้นไปเพื่อสอบถามข้อมูล เพราะข้างบนใจแผ่นดินไม่มีสัญญาณที่จะทำให้ติดต่อชาวบ้านที่ขึ้นไปได้โดยตรง

ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี Natthaphon Suwanpakdee

“ตอนนั้นพวกเราที่ทำงานอยู่ในสภาวะที่ ‘กูจะทำยังไงดีวะ’ เราไม่รู้ว่าชาวบ้านข้างบนเขาต้องการอะไร เพราะเขาขึ้นไปแล้ว และเราไม่ได้คุย มันก็เลยเป็นสภาวะที่ว่า สู้ได้กึ่งหนึ่ง เพราะถ้าเราออกตัวแรงมาก มันอาจจะไม่ตรงกับข้อเรียกร้องชาวบ้านหรือว่าสิ่งที่เขาต้องการ ช่วงเวลา 1 เดือนนั้นเราสื่อสารอะไรกันไม่ได้เลย ฉะนั้นการที่เราจะออกมาสื่อสารทางสังคมต้องระวังมาก”  

ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงตั้งข้อสันนิษฐานจากสถานการณ์และข้อมูลที่มีอยู่เดิม เช่น ชาวบ้านขึ้นไปเพราะว่าเขาไม่มีข้าวกิน ข้อมูลจากการสอบถามจากชาวบ้าน พบว่าตลอด 25 ปีที่ถูกอพยพลงมา ใน 36 ครอบครัวที่กลับขึ้นไป ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเลย ทั้งๆ ที่ปี 2539 อุทยานแห่งชาติฯ เคยให้คำมั่นว่าจะจัดที่ดินทำกินให้คนละ 7 ไร่ ที่อยู่อาศัย 3 งาน และถ้าชาวบ้านอยู่ไม่ได้ให้กลับขึ้นไปเหมือนเดิมได้ เพราะนี่คือการทดลองอยู่

ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี Natthaphon Suwanpakdee

“เราคิดแทนชาวบ้านอีกอย่างคือช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พอเพาะปลูกไม่ได้ก็ต้องลงมารับจ้างหาเงินซื้อข้าว แต่พอไม่มีงานให้ทำพวกเขาก็เลยตัดสินใจกลับขึ้นไป เพราะไม่ว่ายังไงนั่นคือทางรอดเดียว หรืออาจจะเป็นทางที่ทำให้เขาตาย แต่อย่างน้อยก็ได้กลับไปตายที่บ้านเกิด” 

แต่เมื่อได้ลงพื้นที่จริงในช่วงปลายเดือนมกราคม กอล์ฟได้คุยกับพะตีนอแอ๊ะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณของชุมชนบางกลอยซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เขาได้พบว่ายังมีอีกข้อเท็จจริงอีกหนึ่งอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนและทำให้เขาสะเทือนใจ

“ปู่คออี้เสียชีวิตปี 2561 ด้วยวัย 107 ปี ทำพิธีศพที่บางกลอยล่าง พะตีนอแอ๊ะบอกว่าการส่งดวงวิญญาณของพ่อยังไม่สมบูรณ์ เพราะว่าตามความเชื่อของกะเหรี่ยง การทำพิธีต้องใช้ข้าวที่มาจากไร่หมุนเวียนในแปลงที่พ่อเขาเคยปลูกให้กินตอนเด็กๆ ซึ่งอยู่ที่บางกลอยบนใจแผ่นดิน ดังนั้นเขาต้องกลับไปที่ไร่แปลงเดิมเพื่อแผ้วถางทำไร่หมุนเวียน เตรียมการสำหรับทำพิธีส่งศพพ่อ นี่คือเหตุผลของพะตีนอแอ๊ะ” 

ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี Natthaphon Suwanpakdee

02
แสงดาวแห่งศรัทธา

วันที่เจ้าหน้าที่อุทยานเริ่มใช้ ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ ด้วยการบังคับให้ชาวบ้านขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาจากใจแผ่นดิน กอล์ฟอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เขาเข้าไปในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่รัฐมนตรีจะตระบัดสัตย์ต่อชาวบ้านบางกลอย และออกข่าวว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน 

อันที่จริงการทำงานในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ จะไม่สามารถทำงานแบบน้ำเสียงแอ็กทิวิสต์ได้ทั้งหมด กอล์ฟรู้ดีว่าการสวมหมวกใบนี้ลงพื้นที่จะต้องรักษาสมดุลในการแก้ปัญหาด้วย แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์เพื่อนมนุษย์ถูกกระทำเขาก็อดที่จะรู้สึกไม่ได้

“เราปรี๊ดแตกเลย  ไปยืนเถียงอยู่กับเจ้าหน้าที่อุทยาน เพราะเรารู้สึกว่าคุณทำแบบนี้ได้ยังไง ในขณะที่เรากำลังทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่ แล้วมาจับชาวบ้านไปทำไม เขากลัวอะไร มันมีข้อมูลอะไรที่ไม่อยากให้เอาออกไปเหรอถึงต้องเอายุทธการนี้มาเพื่อขัดขวางการปฏิบัติงาน” เขาย้อนนึกถึงความรู้สึกโมโหในตอนนั้น

ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี Natthaphon Suwanpakdee

“วันนั้นเราเครียดมาก น้ำตาจะไหลแล้ว เพราะยืนอยู่กับชาวบ้านที่ลานฮอ นั่งมองเฮลิคอปเตอร์บินไปทีละลำๆ โดยที่เราก็รู้ว่าไม่สามารถหยุดเฮลิคอปเตอร์ได้ เราเลยรู้สึกว่า ทำไมกูไร้ประโยชน์จัง คืออย่างน้อยเราควรจะทำได้ในแง่ของเจรจาให้หยุดไง”

บริเวณที่กอล์ฟยืนใกล้ที่จอดเฮลิคอปเตอร์อยู่ตรงโซนบ้านโป่งลึก ห่างจากบางกลอยเล็กน้อย อยู่ๆ เขาก็นึกอยากไปที่ศาลาพอละจีที่บ้านบางกลอย จึงบอกให้คนขับรถมอเตอร์ไซค์พาไปที่นั่น

“ตอนนั้นเราสิ้นหวัง ใจมันพังไปหมดแล้ว  เราค่อนข้างเป็นคนที่ชาวบ้านไว้ใจนะ เพราะก่อนหน้านี้เขาไม่ไว้ใจใครง่ายๆ ฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าเราควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้” 

“ทีนี้พอถึงศาลาพอละจี ที่นั่นมีพี่คนหนึ่งชื่อพี่น้ำ แกเป็นนักดนตรี เอากีตาร์ขึ้นไป เราขึ้นไปบอกว่า ‘พี่น้ำ เล่นเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ให้เราฟังหน่อย ขอแค่เพลงเดียว เรานึกถึงเพลงนี้เป็นเพลงแรก​และอยากร้อง’ เราร้องเพลงนี้ด้วยกันวันนั้นแล้วน้ำตาซึม” 

แสงดาวแห่งศรัทธา คล้ายมาปลอบใจความสิ้นหวังของเขา ก่อนเขาจะกลับไปที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์อีกครั้ง เพื่อตั้งสติ หาทางช่วยเหลือชาวบ้าน และทำหน้าที่ต่อ

“ครั้งนี้เรานิ่ง พยายามคุมสติตัวเองแล้วก็นั่งดูเฮลิคอปเตอร์นั่นแหละ จนมีชาวบ้านทยอยลงมาทีละคนสองคนจนครบ 13 คน เราบันทึกทุกช่วงเวลาไว้เลยว่าใครทำอะไรตอนไหน เวลานี้บินขึ้นไปมีเจ้าหน้าที่กี่คน มีอาวุธไหม ใช้น้ำมันไปแล้วกี่ถัง เวลานี้ชาวบ้านลงมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง ชาวบ้านข้างนอกที่กำลังสังเกตการณ์ กำลังเคลื่อนพลเข้าไปในจุดที่ชาวบ้านกำลังนำลงมา มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่มาทำแนวรั้ว ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไป มีการพูดจากับชาวบ้านแบบนี้ๆ​ เราต้องเก็บข้อมูลไว้” 

มากไปกว่าความรู้สึกของกอล์ฟ คือความรู้สึกของชาวบ้านคนอื่นๆ ที่เกิดอาการขวัญเสีย และทำให้ทุกคนย้อนนึกถึงเหตุการณ์ ‘ยุทธการตะนาวศรี’​ เผาบ้านเรือนชาวบ้านในปี 2554 แอ็กทิวิสต์รุ่นใหม่คนนี้รู้ดีว่าสถานการณ์กำลังทำให้ชาวบ้านหมดหวัง เขาคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้กำลังใจกันและกัน

“ตอนกลางคืนพวกเราก็มานั่งล้อมรอบกองไฟกันเหมือนทำพิธีปลุกเรียกขวัญให้กำลังใจชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราคนเมืองทำให้ พี่น้ำเล่นกีตาร์เพลงที่แต่งโดยพี่แก้วใส วงสามัญชน มันเป็นบรรยากาศที่พูดไม่ถูก” กอล์ฟพยายามทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมด แม้ว่าจะไม่อาจบรรยายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ 

ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี Natthaphon Suwanpakdee
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี Natthaphon Suwanpakdee

03
“เพราะการทำงานชาติพันธุ์ไม่ได้มีแค่เรื่องข้อกฎหมาย แต่มีเรื่องอคติและมายาคติในสังคม”

ตั้งแต่ชาวบ้านเดินกลับขึ้นไปใจแผ่นดิน กอล์ฟและคนที่ทำงานในพื้นที่พยายามสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ก็ยังไม่มีพลังมากพอจะทำให้คนหันมาสนใจได้ แม้กอล์ฟจะพยายามใช้ทักษะการทำงานข่าวที่เคยเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มาก็ตาม

“เราพยายามสื่อสารผ่านช่องทางเฟซบุ๊กส่วนตัวและเพจบางเพจ ซึ่งมันไม่ได้อิมแพกต์ขนาดนั้นเพราะมันเฉพาะกลุ่มมาก เราโพสต์ไปก็เห็นเฉพาะเพื่อนเรา แล้วเขาจะมีความรู้สึกว่า บางกลอยแล้วไง หมายถึงทุกคนรู้จักบางกลอยเพราะปู่คออี้กับบิลลี่ แต่ไม่ได้รู้จักองค์รวมของบางกลอยว่าเป็นชุมชนหนึ่งที่ถูกกกดขี่มายังไง ฉะนั้นเรารู้สึกว่านี่คือโจทย์ของเราที่ว่าต้องทำให้บางกลอยออกมาอยู่ที่สว่างให้ได้” เขาบอกอย่างมุ่งมั่น

ภาพ: ณัฐพล สุวรรณภักดี Natthaphon Suwanpakdee

ช่วงเวลาเดียวกันบอยผู้อยู่ในกลุ่มคณะราษฎรเริ่มเคลื่อนไหวด้วยการเอาป้ายข้อความว่า ‘ชาติพันธุ์ก็คือคน’​ และ ‘#saveบางกลอย’ ไปติดที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเกิดการปะทะกับตำรวจ

  “ตอนนั้นเรายังไม่ได้ลงพื้นที่บางกลอย ยังอยู่เชียงใหม่ เราเห็นข่าวก็รับลูกการแขวนป้ายของพี่บอยด้วยการติดป้ายในเชียงใหม่ เพราะที่นี่ชาติพันธุ์เยอะมาก หลังจากนั้นก็เกิดการแขวนป้ายไปทั่วประเทศ หาดใหญ่ ขอนแก่นก็มี กระแสเริ่มขึ้นเกิดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #saveบางกลอย อยู่อันดับที่ 23”

  เหตุการณ์นั้นทำให้พวกเขามารวมตัวกันในนามภาคีเซฟบางกลอยในที่สุด โดยกอล์ฟเป็นคนที่ลงพื้นที่ได้ใกล้ชิดชาวบ้าน คอยอัพเดตข่าวสารให้เครือข่ายทำงานต่อเพื่อให้คนหันมาสนใจประเด็นสิทธิชาติพันธุ์ และร่วมกันเรียกร้องผู้มีอำนาจให้แก้ไขปัญหาที่ค้างคามา 25 ปี

“ทั้งหมดนี้มันเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับพวกเรามากๆ ในนามคนเมืองที่ถ้าจะช่วยเขาเรารู้ว่าลำพังชาวบ้านเองสู้ หรือลำพังเฉพาะกลุ่มเราสู้ มันไม่พอ เพราะการทำงานชาติพันธุ์มันหนักกว่าแค่ข้อกฎหมาย แต่มันมีเรื่องอคติ และมายาคติในสังคมที่ทำให้เกิดความชอบธรรมกับรัฐในการกระทำความรุนแรงด้วยอคติ”

ถึงอย่างนั้น การร่วมมือกันของภาคีsaveบางกลอยก็สร้างการรับรู้ให้ผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นวันที่เจ้าหน้าที่ใช้ยุทธการพิทักษ์ป่าน้ำเพชร กอล์ฟรีบประสานงานกับเครือข่ายให้เคลื่อนไหวด่วน พร้อมเผยแพร่บันทึกที่เขาจดช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่จับชาวบ้านให้สำนักข่าวต่างๆ จนทำให้คนหันมาสนใจ พูดคุยเรื่องบางกลอย และแฮชแท็ก #saveบางกลอยก็ขึ้นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ในที่สุด

ต่อจากนั้นภาคีsaveบางกลอยก็คิดกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสียงชาวบ้านมากขึ้น สื่อสารทั้งกับประชาชนด้วยกัน และเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหากับภาครัฐ โดยทำแคมเปญ ‘คุณเดินทางกลับบ้านกี่ชั่วโมง คนบางกลอยใช้เวลา 25 ปี’​ โดยให้คนใส่ชุดปกาเกอะญอไปยืนตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพ กอล์ฟและบอยจัดการแสดงจำลองเหตุการณ์วันที่ชาวบ้านถูกจับและโกนผม จัดการชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล โดยมีนักวิชาการ ศิลปิน และคนมีชื่อเสียงมาร่วมส่งเสียงกับชาวบางกลอย พร้อมมีพิธีเรียกขวัญให้ชาวบ้าน ส่งหนังสือยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามช่วยเหลือ 

ภาพจากเฟซบุ๊ก: พชร คำชำนาญ

ทั้งหมดนี้กอล์ฟถึงกับเอ่ยปากขอบคุณทุกคนในงานและบอกว่า “ไม่เคยมีครั้งไหนที่คนเมืองใกล้ชิดกับชาวบ้านเท่าครั้งนี้” 

“ลำพังเราทำงานแบบนี้คนเดียวไม่ได้ พอมีภาคีซึ่งรวมตัวคนหลายกลุ่มเข้ามาช่วยกัน มันทำให้การสื่อสารเรื่องนี้ไปถึงคนเมืองได้ เราส่งข้อมูลไปให้ พวกเขารู้เลยว่าจะต้องออกแบบกิจกรรมยังไง และต้อง point out ไปที่ใครที่เป็นคนสั่งการ แล้วก็เล่นกับคนนั้น เล่นกับกระแสยังไงได้บ้าง สุดท้ายแล้วแคมเปญเรื่องพาคนบางกลอยกลับบ้าน มันดูจะเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นกว่าครั้งไหน” 

04
“สิ่งที่เราบอกตัวเองเสมอคือ ไม่ว่าอนาคตเราจะไปอยู่ไหน เป็นอะไร เราจะไม่กลับมาทำลายชาวบ้านแน่นอน” 

ในวันที่ชาวบ้านได้รับการประกันตัว พวกเขาเดินทางออกจากเรือนจำและมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาลทันที เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาจากรัฐบาล หลังจากนายกฯ ลงนามช่วยเหลือแล้ว ความหวังของชาวบางกลอยเริ่มกลับมาอีกครั้ง 

พวกเขากำลังกลับบ้าน แต่ไม่ทันที่ล้อจะหมุนไปไหนไกล นายกฯ ก็ออกสื่อบอกว่าห้ามชาวบ้านกลับไปที่ใจแผ่นดินอีก

ตอนนี้ภาคีsaveบางกลอยจึงอยากชวนทุกคนจับตาดูการทำงานของคณะกรรมการฯ ที่นายกฯ แต่งตั้งกันต่อไป ซึ่งกอล์ฟบอกกับเราว่าเขาประชุมและทำงานทุกวัน บางสัปดาห์ต้องลงพื้นที่ดูสถานการณ์ แม้ว่าตอนนี้เขาจะกลับไปทำงานเอ็นจีโอที่เชียงใหม่แล้ว  แต่ก็ต้องขับเคลื่อนภาคีsaveบางกลอยเพื่อดูสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลายดี

หลังจากเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งหมด เราอดถามความรู้สึกส่วนตัวของเขาไม่ได้ว่าการทำงานในฐานแอคทิวิสต์ที่ต้องเจอเหตุการณ์ผู้มีอำนาจย่ำยีประชาชนบ่อยๆ เขารู้สึกยังไงบ้าง 

“เรารู้ตัวมาตลอดว่าเราช่วยได้ไม่มากก็น้อย” เขาตอบกลับมาทันที “ถามว่าเคยท้อไหม เคย ความท้อ ความอ่อนแรง อาการหมดไฟมีหมด แต่ถามว่าให้ออกไปจากตรงนี้ไหม ไม่ ยืนยันว่าจะยังอยู่ เพราะเราเชื่อว่า ถ้าเรายังอยู่เราช่วยได้เยอะ มันเป็นความรู้สึกที่ต้องสู้มากกว่า พอทำมาถึงขนาดนี้แล้วมันปล่อยไม่ได้ อย่างน้อยขอสู้ให้สุด วันหนึ่งเกิดอะไรขึ้นในทางที่ไม่ดีจริงๆ ก็อยากให้บอกตัวเองได้ว่า กูทำดีที่สุดแล้ว ณ ตอนนั้น มันดีไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว มันเหนือความควบคุมแล้ว สุดท้ายความท้อหรืออะไรต่างๆ มี่เกิดขึ้นมันก็เยียวยาได้ด้วยชาวบ้านนี่แหละ”

“ชาวบ้านช่วยเยียวยาคุณยังไงบ้าง” เราถามเพื่อให้เขาช่วยอธิบายต่อ

“การอยู่กับเขา ความสุขของเขา ซึ่งเราก็มีความสุขไง ช่วงไหนเครียดๆ เราก็จะไปที่ที่เราไปประจำ ชุมชนที่ไปประจำ เรารู้สึกมันเป็นเซฟโซน การอยู่กับชาวบ้านมันทำให้เราสงบ ผู้คนต้อนรับ เราสามารถเดินเข้าบ้านนู้น ออกบ้านนี้ ทุกคนเรียกกินข้าวได้ แล้วมันทำให้เรารู้สึกมีชีวิตชีวา ปิดโทรศัพท์ ให้เขาพาเข้าป่า เล่านิทานให้ฟัง ซื้อเบียร์ ซื้อหมูขึ้นไปบ่ายกิน ปรับสารทุกข์สุขดิบ แค่นั้นโอเค กลับลงมาพลังเต็มเปี่ยม” 

“ชุมชนที่เป็นเซฟโซนของเราคือชุมชนที่เราไม่ได้เป็นแค่เอ็นจีโอแต่ว่าเราสามารถเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อ่อนแอได้ ร้องไห้ได้ หรือบ้าบอได้ในพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งโดยส่วนตัวเรามีพื้นที่แบบนั้นเยอะ ก็เลยรู้สึกว่าไม่ถอย ยังไงก็จะไม่ถอย ยังจะอยู่จุดนี้จนกว่าวันนั้นจะหมดแรง หมดจิตหมดใจแล้วจริงๆ ซึ่งตอนนี้มันยังไม่ถึงเวลา เรายังอยู่ตรงนี้ได้อีกยาวนาน” เขาตอบกลับมาด้วยรอยยิ้ม

กอล์ฟทำให้เรารู้ว่าการทำงานเอ็นจีโอสำหรับเขาเอง ไม่ได้ใช้แค่ความคิดในการแก้ปัญหา แต่ใช้ใจจากความเป็นมนุษย์ทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงทั้งเราและคนอื่นๆ ที่มีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน 

“สุดท้ายแล้วไม่ว่าในอนาคตจะเป็นยังไง สิ่งที่เราบอกตัวเองเสมอคือ เราจะไม่กลับมาทำลายชาวบ้านที่เราทำงานด้วยแน่นอน ไม่ว่าอนาคตตอนนั้นเราจะเป็นอะไร อยู่จุดไหน เราจะไม่กลับมาทำลายเขา”

ภาพ: ณัฐพล สุวรรณภักดี Natthaphon Suwanpakdee

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พากเพียร ศรีมหาโชตะ

ชอบถ่ายภาพ + เล่นฟุตบอล อนาคตอยากเป็นช่างภาพฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ