“ถ้าไม่ได้วาดรูปการเมือง ผมอึดอัดนะ” บิ๊ก เฉลิมพล ศิลปินที่หยิบการเมืองผสมกับคอมิกให้เป็น Amazing Thailand

ครั้งแรกที่เห็นผลงาน The Amazing Thailand ของ บิ๊ก–เฉลิมพล จั่นระยับ เรานึกถึงประโยคคลาสสิกที่ว่า ‘โลกคือละคร’  

แต่เมื่อได้พิจารณาหลายๆ ภาพที่เขาหยิบเอาคนในชีวิตจริงไปไว้ในโลกคอมิก เราคิดว่าคำอธิบายที่เหมาะกับงานของเขาที่สุดน่าจะเป็น ‘ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร’ มากกว่า เพราะในโลกแห่งความจริงยังมีเรื่องราวที่คนถูกกดทับ ทรมาน เจ็บปวดกับเสียงที่ไปไม่ถึงการเปลี่ยนแปลงอยู่

ยังไม่นับว่าบางเรื่องที่เกิดขึ้นในไทยก็แฟนตาซีเสียยิ่งกว่าคอมิกอีก นี่จึงเป็นเหตุผลที่บิ๊กตั้งชื่อผลงานตัวเองว่า The Amazing Thailand ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากคอมิกเรื่อง The Amazing Spider-Man แถมหยอกล้อไปกับสโลแกนการท่องเที่ยวบ้านเราด้วย

ก่อนจะมาเป็นผลงานชุดนี้ บิ๊กเคยผ่านการเป็นการ์ตูนนิสต์การเมืองให้กับนิตยสารหัวหนึ่งมาก่อน แม้ว่าตอนนั้นเจ้าตัวจะคิดว่ายังตกอยู่ในหล่มของโฆษณาชวนเชื่อในสังคม ไม่ได้เชี่ยวชาญรู้ลึกการเมืองไทยมากนัก แต่เขาก็ทำงานนั้นจนเกิดรัฐประหารในปี ’49 ทำให้นิตยสารเล่มนั้นต้องปิดตัวลง  

หลายปีต่อมาบิ๊กไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียเพื่อเปิดมุมมองในการทำศิลปะของตัวเอง จนได้มีโอกาสทำงานคอมิกร่วมกับนักวาดในต่างแดน หลังเรียนจบ เขากลับมาบ้านเกิด เจอข่าวคดีล่าเสือดำในปี 2018 จึงคิดว่าเขาจะต้องสื่อสารถึงประเด็นสังคมการเมืองอีกครั้ง โดยใช้เทคนิคแบบคอมิกที่ได้ไปเรียนรู้จากออสเตรเลีย

นับจากนั้นมา ศิลปินคนนี้ก็สร้างสรรค์ให้ตัวละครที่เราเห็นในชีวิตจริงไปโลดแล่นในโลกแฟนตาซี และชักชวนให้ผู้ชมอย่างเราเข้าไปกดถูกใจให้กับความตลกร้ายที่เขาแทนคนที่เราคุ้นตาเข้าไปเป็นตัวละครที่คุ้นเคยได้เหมาะสมกับเรื่อง

อะไรที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินคนนี้สนใจเรื่องการเมือง ตอนไหนที่เป็นจุดเปลี่ยนเบิกเนตรมุมมองของเขากับสังคมนี้ จนทำให้บิ๊กกลายเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนักวาดที่เผยแพร่ผลงานออกมาสู่สังคม ให้คำพูดของเจ้าตัวช่วยตอบคำถามข้างล่างนี้เลย

ขอถามตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าคุณสนใจเรื่องสังคมการเมืองจนเอามาทำงานศิลปะตั้งแต่ตอนไหน

ถ้าเอาตั้งแต่แรกๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมเรียนที่เพาะช่าง งานตอนเรียนจบผมก็สนใจเรื่องสังคมมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ 

ตอนนั้นผมไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของ Isaac Asimov ชื่อว่า I, Robot ซึ่งเป็นหนังสือที่ตั้งคำถามถึงชีวิตมนุษย์กับเครื่องจักร ผมเลยเอามาเป็นหัวข้อในการทำงานทีสิส แล้วตอนนั้นผมอ่านหนังสือ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ของวินทร์ เลียววาริณ กับ 1984 ของ George Orwell ด้วย เลยคิดว่ามันคล้ายๆ กับสังคมที่เราเจอเลยเนอะก็เลยหยิบมาต่อยอดเป็นประเด็นในงาน

แต่ผมได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาว่าให้โฟกัสที่ประเด็นเดียว ผมก็เลยเลือกเรื่องที่อินที่สุดคือระบบการศึกษา เพราะเป็นกระบวนการเริ่มต้นในการผลิตคนออกไปสู่สังคม แล้วการศึกษาบ้านเรามันมีกรอบบางอย่างอยู่ ซึ่งเหมือนเครื่องจักร มีตำราเดิมๆ มีชุดความรู้เดิมๆ ที่มันไม่ได้เปลี่ยนไปจาก 20-30 ปีที่ผ่านมา เปรียบเหมือนทำแม่พิมพ์ซ้ำไปเรื่อยๆ

จากประเด็นนั้น ผมเลยเอามาทำงานเชิงทดลอง โดยทำเป็นงานแบบจลนศิลป์ (Kinetic Art) เอาวัสดุที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ มาทำเป็นงาน เช่น เอาโต๊ะไม้นักเรียนจริงๆ มาดัดแปลงเป็นเครื่องจักรให้มันเคลื่อนไหวได้ ให้ตัวโต๊ะนักเรียนเป็นเหมือนตัวปั๊มแม่พิมพ์จากกระดานดำลงไปเก็บในลิ้นชักใต้โต๊ะ จากงานที่มันนิ่งเฉยก็จะให้คนเข้าไปสัมผัสและมีประสบการณ์กับกลไกที่เราได้ทำขึ้น 

การทำงานตรงนี้น่าจะเป็นจุดบ่มเพาะให้เราศึกษาเรื่องสังคมการเมืองมากขึ้นด้วย

ตอนนั้นคุณมีมุมมองต่อประเด็นสังคมการเมืองในแบบไหน ‘ตาสว่าง’ แบบที่คนรุ่นนี้พูดหรือเปล่า

จริงๆ คนรุ่นผมโตมากับ propraganda นะ แม้ว่าผมเองจะเป็นคนชอบอ่านหนังสืออย่าง ‘จาก 14 ตุลาถึง 6 ตุลา’ ของอาจารย์ป๋วย ชอบอ่านเรื่อง 2475 เขมรแดง สงครามเวียดนาม คือมันมีคำถามบางอย่างในใจที่ไม่รู้ว่าจริงไหม แต่เราก็ไม่ได้แสดงความเห็นออกมา

ตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมยังไม่รู้ลึกเรื่องการเมืองเลย ก็คิดว่าไปหางานทำเรื่อยๆ เก็บประสบการณ์ จนมีคนรู้จักมาชวนไปเป็นการ์ตูนนิสต์ที่นิตยสารหัวหนึ่ง ทั้งๆ ที่ผมมีความรู้การเมืองแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ 

วิธีการทำงานคือบรรณาธิการจะส่งประเด็นที่ต้องการมา แล้วผมก็จะไปอ่านข่าวเพื่อมาวาดการ์ตูนช่อง ซึ่งข่าวที่มีส่วนใหญ่ก็จะมาจากสื่อหลัก แต่ผมหาข้อมูลหลายฝั่งนะ แล้วเอามาชั่งน้ำหนักดู เพียงแต่มันไม่มีใครรู้เท่าทันการเมืองหรือผู้มีอำนาจหรอก เพราะเราเป็นแค่หมากตัวหนึ่ง ตอนนั้นคิดแค่ว่าเขาให้เงินมาเราก็ทำ เพราะอยากเอาเงินไปทำงานศิลปะ ความคิดตื้นเขินมาก 

ผมวาดได้ 2-3 ตอนนิตยสารก็ต้องปิดตัวลงเพราะรัฐประหารปี ’49 ต่อจากนั้นผมก็ไม่ได้แตะงานการเมืองอีกเลย หันกลับมาทำงานประจำเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ แล้วก็คิดว่าจะเอาเวลาว่างมาเป็นศิลปินทำงานส่วนตัว ก่อนจะตัดสินใจว่าไปเรียนต่อออสเตรเลียดีกว่า 

ทำไมคุณถึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย

ข้างในมันเรียกร้อง เพราะผมทำงานได้ประมาณ 6 ปี มีอะไรบางอย่างที่อยากจะพูด อยากจะแสดงออก เราเลยคิดว่าไปใช้ชีวิตต่างประเทศดีกว่า น่าจะได้เห็นอะไรอีกเยอะ โดยเฉพาะวงการศิลปะ 

ผมมองเห็นระบบอะไรหลายอย่างในวงการบ้านเรา อย่างหอศิลป์ ศิลปินจะต้องเขียนงานตามหอศิลป์กำหนด หรือว่าตามที่งานประกวดกำหนด เราต้องทำแบบนี้ๆ นะ ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ซึ่งมันไม่สนุกเลย มันเหมือนจะอิสระแต่ก็ไม่อิสระ มีกรอบบางอย่างครอบอยู่ ก็เลยสงสัยว่าต่างประเทศเป็นแบบนั้นหรือเปล่า งั้นลองไปดูว่างานเขาเขียนกันยังไง พวกศิลปินข้างทางพวก busking เป็นยังไง เหมือนกับศิลปินข้างทางบ้านเราไหม 

อีกอย่างคืออยากรู้ภาษาอังกฤษเพื่อมาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้ อยากรู้ว่าฝรั่งคิดอะไรบ้าง

ประสบการณ์ที่นู่นทำให้คุณได้เปิดโลกอะไรบ้าง

เยอะมากครับ ผมไปเรียน Business IT เพราะรู้สึกว่าปัญหาส่วนใหญ่ของศิลปินคือขายของไม่เก่ง ผมเลือกเรียนสาขานี้แล้วก็ทำงานไปด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เรียน เพราะหนีไปเดินหอศิลป์ ไปดูศิลปินข้างทางทำงาน ไปใช้ชีวิตกับเขา

แล้วก็ไปลองหางานจ็อบเล็กๆ น้อยๆ ทำหลังเลิกเรียน ดูว่าถ้าเราเป็นเอเชียแล้วไปรับงานเขียนรูปจะเป็นยังไง เคยไปสมัครทำงานที่โรงอาหารในกูเกิล เขาก็ให้ผมไปวาดภาพเมนูทุกวันๆ บางทีก็ได้แกะสลักพวกผักผลไม้ในวันฮัลโลวีนหรือคริสต์มาส

แล้วที่ออสเตรเลียจะมีเว็บไซต์คล้ายๆ พันทิปของบ้านเรา จะมีคนประกาศตามหาคนทำนู่นทำนี่ วันหนึ่งผมเจอว่ามีคนตามหาคนเขียนคอมิกเพื่อออกงาน Oz Comic-Con ผมก็เลยส่งเรซูเม่ไป เขาก็ติดต่อกลับมาบรีฟให้เขียนงานคอมิกประมาณ 2 เล่ม ทำให้ผมได้มีประสบการณ์เขียนงานคอมิกตั้งแต่ตอนนั้น

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเอาเทคนิคแบบคอมิกมาวาดงานการเมืองไทยหรือเปล่า

ใช่ครับ หลังจากเรียนจบผมกลับไทยก็มาเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานปกติ จนกระทั่งมีข่าวเรื่องเสือดำ เรารู้สึกว่าอันนี้มันไม่ถูกต้องแล้ว เงินมันซื้อได้ทุกอย่าง มันทำให้พ้นผิดได้ สัตว์ตัวหนึ่งที่อยู่ของมันดีๆ ก็ต้องจบลงด้วยเกมกีฬาของผู้มีอำนาจหรือใครบางคน สุดท้ายไม่สามารถดำเนินคดีได้ แต่ถ้าเป็นคนไม่ร่ำรวยเขาอาจจะโดนเล่นงานด้วยระบบทางกฎหมายไป มันเริ่มเห็นความไม่ยุติธรรม เลยเขียนมันออกมา

ผมรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้คล้ายกับเหตุการณ์ทุ่งใหญ่นเรศวรที่เกิดก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เราคิดว่าเฮ้ย มันจะต้องมีเหตุการณ์การเมืองตามมาแน่ๆ 

อีกอย่างผมคิดว่าตัวเองรับรู้เรื่องการเมือง ความคิดผมเปลี่ยนไปนานแล้ว แต่ก่อนมันอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่แสดงออกมา พอเจอเหตุการณ์นี้ เลยคิดว่ามันน่าจะถึงเวลาที่เราจะแสดงออกความคิดเห็นของเราได้แล้ว โดยที่จะพูดในมุมที่เรารู้สึก อินกับมันจริงๆ เราเลือกจะไม่โกหกตัวเองดีกว่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ก็เลยเขียนงานเสือดำออกมาชิ้นแรกๆ

ตอนนั้นผมเลือกเขียนงานตามข่าวที่เจอในหน้าไทม์ไลน์ พยายามไม่ใส่อารมณ์ร่วมว่าเราเกลียดชังใคร แต่ให้คนที่ดูงานเราไปตีความต่อเอาเอง ฉะนั้นการเขียนงานที่ดีที่สุด คือต้องอ่านข่าวก่อนเยอะมากๆ 

คุณวาดภาพจากข่าว แต่ทำไมถึงเอามันมาดัดแปลงเป็นปกคอมิกล่ะ

ผมอยากลองเอาคอนเซปต์ปกหนังสือการ์ตูนมาใช้ดู น่าจะเคยอ่านคำคมเกี่ยวกับหนังสือที่ว่า ‘อย่าตัดสินหนังสือจากปก’ ใช่ไหม ผมก็เลยเอามันมาใช้เป็นแนวคิดเพื่อหยิบปกการ์ตูนคอมิกมาเล่นกับประเด็นข่าวว่าบางทีปกอาจจะดูรุนแรง แต่เนื้อหาข้างในอาจจะเป็นอีกแบบก็ได้ ต้องลองไปตามอ่านเนื้อข่าวจริงๆ ก่อน 

แล้วตอนนั้นเลือกเรื่อง The Amazing Spider-Man มาเล่น ก็เลยเป็นที่มาที่ผมเปลี่ยนชื่อเป็น The Amazing Thailand งานที่ผมทำจะเรียกว่า appropriation art ศิลปะการหยิบยืมมาดัดแปลงเป็นเนื้อหาในบ้านเรา 

ถ้าคุณเลือกประเด็นจากข่าวมาตีความ แล้วคุณต้องกรองข่าวก่อนจะเอามาทำงานศิลปะไหม

มีครับ ส่วนใหญ่เราดูว่าประเด็นไหนที่คนพูดถึงเยอะสุด แล้วก็เลือกจากเซนส์เรา ผมไม่รู้จะอธิบายยังไง มันดูเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกมากเลย (หัวเราะ) 

แต่หลักๆ คิดว่าเราจะมีแนวคิดเบื้องหลังชุดหนึ่งในการกรองข้อมูล ซึ่งก็มาจากการอ่านหนังสือ การดูหนัง การพูดคุย การสังเกต เราคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นวัตถุดิบอย่างดี ทำให้เรากรองได้ว่าข่าวไหนจะเขียนหรือไม่เขียน และจะเลือกอันที่รู้สึกว่าทุกคนสนใจ พูดถึง แล้วก็แปลงเนื้อหาจากข่าวออกมาเป็นภาพ โดยภาพที่เราทำจะต้องแมส ให้เข้าถึงคนมากที่สุด เพื่อเป็นการบันทึกช่วงเวลาในสังคม อันนี้จะเป็นพอยต์การทำงานเราเป็นหลัก 

ส่วนตัวผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องเขียนให้รุนแรงไปทุกเรื่องก็ได้ ผมพยายามเขียนอย่างชาญฉลาด แล้วก็สื่อสารให้มีความเป็นตลกร้ายอยู่ในนั้น ซ่อนความขำขันให้หัวเราะทั้งน้ำตา เพราะในมุมของเราเองคิดว่ายังอยู่ภายใต้กฎหมายของผู้มีอำนาจที่เขียนเอาไว้ มันยังไม่ฟรีขนาดนั้น ถ้าเราฟรีมากเกินไปกฎหมายอาจจะเล่นงานเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อาจจะดูขี้ขลาด แต่ผมอยากสู้ไปนานๆ เขียนไปนานๆ แซะมันไปเรื่อยๆ เพราะผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างไม่ได้เกิดจากเราคนเดียว ต้องอาศัยหลายๆ คนร่วมมือกัน ดังนั้น ก็เขียนไปเรื่อยๆ เพื่อให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงกระบวนการของคนเสพงาน 

ทุกวันนี้การทำงานประเด็นการเมืองสำคัญกับคุณยังไง

ถ้าไม่เขียนผมรู้สึกอึดอัดนะ เพราะว่าเราเขียนทุกวัน แต่ก่อนปีแรกเราเขียนทุกวัน ข่าวมาหนักๆ เราเขียน หลังๆ มีงานอื่นเข้ามาด้วยมันก็อาจจะลดน้อยลง แค่เลือกประเด็นที่คนพูดถึงมากๆ 

แต่ถ้าไม่เขียนเราจะรู้สึกคันไม้คันมือ อึดอัด แต่ก็ต้องข่มตัวเอง บางข่าวอยากเขียนมาก แต่มันมีงานอื่นจ่อคออยู่ ก็เอาไว้ก่อน ให้คนอื่นได้แสดงฝีมือบ้าง แต่ถ้าไม่เขียนเลยผมทำไม่ได้แล้วนะตอนนี้ เพราะมันเป็นกิจวัตรที่ต้องทำไปแล้ว 

จากการทำงานภาพหยอกล้อการเมืองมาจนถึงตอนนี้ คุณมองเห็นบทบาทของนักวาดในขบวนเรียกร้อง ณ ตอนนี้ยังไงบ้าง

เรามองว่าพวกเราเป็นเหมือนสื่อรูปแบบหนึ่งที่ทำให้คนไม่สนใจการเมืองหรือไม่สนใจบริบทในสังคมบ้านเราเลยให้กลับมามองฉุกคิดว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนอ่านข่าวไปมันก็ผ่านไป การใช้ภาพในการสื่อสารเป็นพื้นฐานง่ายๆ ที่มันมีมาตั้งนานและเข้าถึงคนได้ง่ายที่สุดแล้วล่ะ

อย่างพวกเราที่เป็นนักวาดภาพประกอบหรือศิลปินงานการเมือง ทุกคนเป็นเหมือนสื่อกลางระหว่างสังคมกับผู้มีอำนาจให้มองเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น อยู่ที่ว่าเขาจะฟังเรา มองเราหรือเปล่า

และต้องบอกตรงนี้เลยนะว่าเราเขียนงานนี่ไม่ได้รับเงินจากใครเลย เราก็เขียนตามข่าวที่เราฟังมา ใครจะเอางานเราไปใช้ก็เอาไป อย่างน้อยมันก็เป็นการขับเคลื่อนให้สังคมยุติธรรมจริงๆ ทุกคนอยากให้สังคมมันดีขึ้นแหละ ไม่ว่าจะฝ่ายไหน เพียงแต่ทุกคนจะมีมุมมองเป็นของตัวเอง

แล้วในความเห็นของคุณในฐานะคนที่ปล่อยงาน The Amazing Thailand ในเพจ The Art District86 มา 3 ปี คิดว่าทำไมนักเรียนศิลปะถึงออกมาขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตยด้วยการวาดภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้

เราว่าเด็กหลายคนที่เรียนจบมา แน่นอนว่าเขาหางานโคตรยากเลย แต่ถ้าคนมีฝีมือหน่อย โอเค มันก็ไปของมันได้ หรือบ้านมีฐานะ มีเงินหน่อยก็ไปทำงานศิลปะต่อ 

เรื่องพวกนี้มันเกี่ยวกับต้นทุนชีวิต คนที่เรียนจบมาไม่มีงานทำ เราว่ามีเยอะมากๆ เลย แล้วถ้าทำงานออกมา ใครจะมาซื้องานศิลปะล่ะ ต้องวาดรูปอะไรเราถึงจะได้แสดง ถึงจะได้เงิน งานที่เราอยากเขียนมันอิสระจริงเหรอ มันก็ไม่อิสระจริงๆ อย่างน้อยโซเชียลมันก็อีกช่องทางหนึ่งที่เราใส่เสรีภาพของเราไปในนั้นได้ 

เราคิดว่าท้องของทุกคนยังหิวอยู่เลย ทุกคนเลยเลือกที่จะออกมาพูดมากกว่า   

AUTHOR