Wasted! The Story of Food Waste สารคดีที่ทำให้เราเลิกทิ้งอาหารโดยเปล่าประโยชน์

‘ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า…’

เชื่อว่าความทรงจำวัยเด็กของหลายๆ คนมีอาขยานบทนี้เป็นส่วนประกอบหลัก โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหารในโรงเรียนหรือค่ายลูกเสือ

หรือกระทั่งประโยคที่พ่อแม่และครูบาอาจารย์มักบอกเราซ้ำๆ ว่า ‘กินข้าวให้หมดนะ ชาวนาเหนื่อยยากกว่าจะได้ข้าวสักเม็ด’

นั่นเป็นบริบทแบบไทยๆ ส่วนในประเทศตะวันตก ประโยคที่ว่าอาจเปลี่ยนไปเป็น ‘รู้ไหมว่าเด็กๆ ในแอฟริกากำลังอดอยากแค่ไหน’

ไม่ว่าจะเป็นประโยคไหน แต่ใจความสำคัญที่พวกเรารับรู้ได้ร่วมกันคือ เราไม่ควรกินทิ้งกินขว้าง แต่ในเมื่อรู้เช่นนี้ แล้วทำไมคนทั่วโลกยังทิ้งขว้างอาหารมากถึง 1.3 พันล้านตันต่อปี หรือนับเป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่โลกผลิตได้ที่ต้องถูกทิ้งลงถังขยะไปก่อนจะมาถึงจานอาหารของเราเสียอีก  

สารคดีเรื่อง Wasted! The Story of Food Waste (2017) มีคำตอบให้กับคำถามข้างต้น

การทิ้งขว้างอาหารเกิดขึ้นในทุกจุดแวะพักของอาหารก่อนที่จะมาถึงปากเรา ตั้งแต่ในไร่นา ในซูเปอร์มาร์เก็ต จนถึงในครัวของเราเอง นอกจากจะพาเราไปดูต้นตอของปัญหา สารคดีเรื่องนี้ยังพาเราไปดูวิธีแก้ไขปัญหาผ่านแนวคิด ‘ลำดับแห่งการบริโภค’ (hierarchy of consumption) ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

 

1. อาหารที่ยังกินได้ ก็ควรกินให้หมด หรือไม่ก็ควรส่งต่อให้ผู้อื่น

ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ที่หน้าตาไม่สวยงามจนไม่ผ่านเกณฑ์ของซูเปอร์มาร์เก็ต หรืออาหารสดและวัตถุดิบที่ ‘หมดอายุ’ ตามวันที่ระบุไว้บนฉลาก แต่ดมหรือชิมแล้วยังกินได้ เราก็ควรนำมาปรุงอาหารกินให้หมด หรือในกรณีของสินค้าบนเชลฟ์ที่ขายไม่หมด ร้านค้าต่างๆ ก็ควรนำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ 

 

2. อาหารที่คนกินไม่ได้แล้ว ควรทำเป็นอาหารสัตว์

หากอาหารนั้นหมดอายุแล้วจริงๆ หรือเป็นเศษอาหารที่ไม่สามารถกินได้แล้ว ลำดับต่อไปของการบริโภคก็คือส่งต่อให้สัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ในฟาร์มต่างๆ ที่โดยทั่วไปแล้วอาจจะกินผลิตผลที่ปลูกขึ้นสำหรับสัตว์เป็นการเฉพาะ เพราะนอกจากจะลดปัญหาขยะอาหารแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มได้อีกด้วย 

 

3. อาหารที่สัตว์ก็กินไม่ได้ ควรนำไปแปรรูปเป็นพลังงาน

อีกวิธีแก้ไขปัญหาขยะอาหารที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึงคือการนำขยะอาหารไปแปรรูปเป็นพลังงาน 

 

4. เศษอาหารที่เหลือทิ้ง ควรนำไปหมักเป็นปุ๋ย

หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้วว่าเศษอาหารสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักได้ สารคดีพาเราไปเกาะรั้วโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา เพื่อแอบดูเหล่าเด็กนักเรียนช่วยกันรวบรวมเศษอาหารจากโรงอาหารไปหมักเป็นปุ๋ย แล้วนำปุ๋ยเหล่านั้นไปปลูกผักและผลไม้นานาชนิดสำหรับกินร่วมกันในโรงเรียน จะเรียกว่าเป็นการนำเศษอาหารไปทำเป็นอาหารใหม่ก็คงจะไม่ผิดนัก

imdb.com/title/tt6207096

5. ไม่ว่าอย่างไรก็ห้ามทิ้งขยะอาหารในบ่อขยะ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าผักกาดหัวหนึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายเป็นสิบๆ ปีหากอยู่ในบ่อขยะ เพราะว่าในบ่อขยะที่ทับถมกันนั้นไม่มีอากาศซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการย่อยสลาย นอกจากนี้ขยะอาหารที่หมักหมมกันมากๆ ยังก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก อย่างในสารคดีเราได้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเกาหลี ที่กำหนดให้ทุกครัวเรือนแยกขยะอาหารมาทิ้งในถังขยะเฉพาะ โดยต้องจ่ายค่าจัดเก็บตามน้ำหนักของขยะอาหารเหล่านั้นด้วย จึงช่วยลดปริมาณขยะอาหารในประเทศลงได้โดยปริยาย 

 

แม้ว่าสารคดีเรื่อง Wasted! The Story of Food Waste จะฉายให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์การทิ้งขว้างอาหารในระดับโลก แต่เมื่อดูจบมันก็ชวนให้เราย้อนคิดถึงสถานการณ์ในบ้านเราซึ่งก็คงร้ายแรงไม่แพ้กัน

แต่ยังดีที่มีหลายองค์กรในประเทศไทยที่มองเห็นปัญหาเหล่านี้ เช่น เทสโก้ โลตัส ซึ่งพยายามแก้ไขปัญหาขยะอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่สำคัญ วิธีการแก้ไขปัญหาของเทสโก้ โลตัส ยังสอดคล้องกับวิธีการแก้ไขปัญหาที่สารคดีนำเสนอ อย่างโครงการ ‘กินได้ไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดและอาหารที่บรรจุภัณฑ์ชำรุดแต่ยังกินได้อยู่ให้กับผู้ยากไร้สำหรับบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโดยตรงให้กับชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงกับสาขาของร้านค้า หรือการบริจาคให้กับมูลนิธิ SOS Thailand ซึ่งช่วยบริหารจัดการเรื่องการกระจายอาหารสู่ผู้ยากไร้อีกต่อหนึ่ง ส่วนในกรณีที่อาหารไม่สามารถกินได้แล้วก็จะนำไปทำเป็นปุ๋ยหรืออาหารสัตว์แทน โดยปัจจุบันร้านค้าของเทสโก้ โลตัส 40 สาขาไม่มีการทิ้งอาหารเลยแม้แต่น้อย

นี่เป็นตัวอย่างของความพยายามแก้ปัญหาขยะอาหารในฝั่งของผู้ขาย ด้านผู้ซื้อและผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็สามารถมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออาหารแค่พอบริโภค ไม่ซื้อมาตุนไว้เยอะจนเน่าเสียไปก่อนจะได้กิน การแยกขยะอาหารออกมาจากขยะอื่นๆ การนำเศษอาหารไปทำเป็นปุ๋ยสำหรับใส่ต้นไม้ที่บ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าเราทุกคนเตือนความจำตัวเองอยู่เสมอเหมือนในวัยเด็กว่า ‘ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า…’ และช่วยกันลดขยะอาหารคนละไม้คนละมือเท่าที่ตัวเองจะทำได้ สักวันหนึ่งปริมาณอาหารที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ 1.3 พันล้านตันต่อปี อาจจะลดเหลือแค่ 1.3 กิโลกรัม หรือไม่เหลือเลยก็เป็นได้

AUTHOR