พื้นที่สีเขียวที่เป็นได้มากกว่าสวนสาธารณะ แนวคิด ‘สวนป่ากินได้’ ในวันที่วิกฤตอาหารมาเยือน

เมื่อเร็วๆ นี้องค์กรที่ทำงานเรื่องความมั่นคงด้านอาหารโดยตรงอย่าง FAO เพิ่งออกมาบอกข้อมูลที่ทำเอาคนในแวดวงอาหารต้องขมวดคิ้วกันถ้วนหน้า

นั่นคือ 2021 เป็นปีแรกที่จำนวนผู้คนอดอยากหิวโหยทั่วโลกเพิ่มสูงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ผนวกกับกระแสเรื่องวิกฤตอาหารที่เป็นผลพวงจากทั้งวิกฤตโรคระบาด สงคราม และปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้สายพานการผลิตอาหารทั้งระดับโลกและระดับประเทศปั่นป่วนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

แม้แต่ไทยเราที่นับตัวเองเป็นอู่ข้าวอู่น้ำก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย ทั้งจากราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตสำคัญอย่างปุ๋ยที่ราคาพุ่งอย่างไม่มีอะไรมากั้น ทำให้ราคาอาหารแพงตามไปด้วย และเมื่อหันไปมองเพื่อนบ้านรอบๆ ก็ตกอยู่ในสถานการณ์น่าปวดหัวไม่แพ้กัน โดยเฉพาะประเทศที่มีพื้นที่ผลิตอาหารเล็กจิ๋วอย่างสิงคโปร์ ที่รัฐบาลต้องกุมขมับเมื่อคู่ค้าสินค้าเกษตรและอาหารคนสำคัญอย่างมาเลเซียตั้งกำแพงการส่งออกอาหาร จนทำให้หลายวัตถุดิบในสิงคโปร์ขาดแคลนฉับพลัน กระทั่งเกิดไวรัล ‘ถ้าข้าวมันไก่สิงคโปร์ไม่มีไก่จะเป็นยังไง?’ เพราะเนื้อไก่เกือบทั้งหมดที่ชาวสิงคโปร์กินกันต้องนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย

พูดได้ว่าวลี ข้าวยากหมากแพง ไม่ใช่แค่คำพูดลอยๆ อีกต่อไปแล้ว แต่คือความจริงที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน ทว่าในอีกมุม วิกฤตอาหารที่รุมเร้ารุนแรงก็เป็นชนวนให้เกิดความพยายามแก้ไขความเปราะบางของสายพานการผลิตอาหารเช่นเดียวกัน ระยะหลังเราจึงได้เห็นรัฐบาลหลายประเทศชูนโยบายความมั่นคงด้านอาหารมาเป็นจุดขาย หรือกลยุทธ์ในการพัฒนาระดับโลกก็ต้องมีเรื่องอาหารเข้ามาเอี่ยวไม่มากก็น้อย

หนึ่งในคอนเซปต์การพัฒนาระบบอาหารที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ‘การสร้างพื้นที่อาหารของเมือง’ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่แลกเปลี่ยนซื้อขายอาหาร หรือ ‘พื้นที่สีเขียวกินได้’ (Edible Landscapes) ซึ่งอย่างหลังเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทโลกป่วนในปัจจุบัน คล้ายกับเมื่อนับร้อยปีก่อนที่ซีกโลกตะวันตกเกิดสิ่งที่เรียกว่า Victory Gardens ขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อรัฐบาลทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรปในยุคนั้นรณรงค์ให้ผู้คนปลูกพืชอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน รวมถึงสนับสนุนให้สวนสาธารณะกลายร่างเป็นพื้นที่ผลิตอาหารเลี้ยงคนในเขตเมือง ซึ่งตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างถึงที่สุดในภาวะสงคราม

ทว่าความแตกต่างของพื้นที่สีเขียวกินได้ในอดีตกับทุกวันนี้นั้น อยู่ตรง ‘วิธีคิดและวิธีการ’ ที่มุ่งแก้ปัญหาเรื่องปากท้องในระยะยาว มากกว่าการสร้างพื้นที่ผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนในยามยากเท่านั้น และหนึ่งในวิธีการที่นักพัฒนาระบบอาหารนำมาปัดฝุ่นปรับปรุงในตอนนี้ก็คือการสร้าง ‘สวนป่ากินได้ในเมือง’ (Urban Food Forestry) ที่มีคีย์เวิร์ดสำคัญอยู่ตรง ‘ความยืดหยุ่น’ และ ‘ความยั่งยืน’ ผ่านการสร้างพื้นที่สีเขียวทั้งพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะด้วยการปลูกพืชอาหาร (Edible Plant) โดยการเลือกพืชอาหารมาปลูกนั้นตั้งอยู่บนหลักการว่า หนึ่ง ต้องสอดคล้องกับระบบนิเวศ ปราศจากสายพันธุ์เอเลี่ยนซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น และสอง พืชที่ปลูกต้องมีความหลากหลายคล้ายพืชในป่า เพื่อให้พืชเหล่านั้นอุ้มชูกันและยืนระยะได้ด้วยตัวเอง เป็นการลดต้นทุนแรงงานในการดูแลและทำให้สวนป่าเป็นแหล่งอาหารสาธารณะได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้สวนป่ากินได้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบนพื้นที่สาธารณะอย่างริมถนน ริมแม่น้ำ เกาะกลางถนน ผ่านกลไกของรัฐที่สนับสนุนให้พืชอาหารกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สีเขียวของเมือง เช่น กลุ่มประเทศนอร์ดิกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาหารท้องถิ่นมาแต่ไหนแต่ไร ก็มีนโยบายปลูกพืชอาหารยืนต้น อาทิ แอปเปิ้ล พีช พลัม ในพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นทั้งอาหารและพื้นที่เรียนรู้เรื่องอาหารให้กับคนทุกวัย ต่อยอดเป็นกิจกรรมหรือเวิร์กช็อปสร้างความรอบรู้เรื่องอาหาร (food literacy) เชื่อมโยงกับโรงเรียน โรงพยาบาล องค์กรต่างๆ กลายเป็นเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาระบบอาหารของเมืองที่เติบโตไปเรื่อยๆ โดยรัฐมีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวก

นอกจากนั้นยังมีสวนป่าอีกรูปแบบที่เกิดขึ้นบนพื้นที่เฉพาะ อาจเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ชุมชนไม่ได้ใช้งาน หรือเป็นพื้นที่ที่รัฐหรือเอกชนจัดสรรให้ใช้ได้ ซึ่งดูเผินๆ คล้ายกับสวนผักหรือสวนสาธารณะชุมชน แต่ความต่างอยู่ตรงพืชที่ถูกเลือกปลูกในสวนป่านั้นเน้นความหลากหลายเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดูแลตัวเองได้ เพื่อลดต้นทุนการดูแลลงให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตโรคระบาดที่แสดงให้เห็นแล้วว่าพื้นที่สีเขียวที่เรียกร้องการดูแลสูงๆ ต่างพากันล้มตายเป็นว่าเล่น

นอกเหนือจากความหลากหลายของสายพันธุ์พืช อีกสิ่งที่จะทำให้สวนป่ายืนระยะได้คือการสร้าง ‘เซนส์ของการเป็นเจ้าของร่วม’ ให้กับคนในชุมชน ผ่านการออกแบบพื้นที่สวนป่าให้มีฟังก์ชั่นใช้สอยหลากหลาย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนทุกกลุ่ม เรียกว่าจะมาเก็บผักเก็บผลไม้ มาออกกำลังกาย มานั่งอ่านหนังสือ หรือมาเล่นดนตรีในสวน ก็ทำได้อย่างสะดวกใจสบายกายเหมือนๆ กัน และเมื่อทุกคนเข้าถึงและใช้งานได้อย่างเท่าเทียม ความร่วมมือดูแลพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

เมื่อมองในรายละเอียด การสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้จึงไม่ใช่เครื่องมือที่ตอบโจทย์เพียงเรื่องปากท้อง แต่ยังตอบสนองอีกหลายเป้าหมาย ไล่ตั้งแต่เรื่องระดับปัจเจกอย่างการเป็นพื้นที่เยียวยาผู้คนจากภาวะตึงเครียด ด้วยการเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับธรรมชาติผ่านการเรียนรู้ต้นทางอาหารในจาน ไปจนถึงเรื่องระดับสังคม ผ่านการทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางที่คนในชุมชนสามารถเข้ามาใช้เวลาร่วมกัน เกิดเป็นความสัมพันธ์ต่อยอดกลายเป็นเครือข่ายความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่จะมีประโยชน์มากๆ เมื่อเกิดวิกฤตซึ่งต้องการความร่วมมือร่วมใจระหว่างคนในชุมชน อย่างที่เราเห็นภาพชัดมาตลอดช่วงวิกฤตโรคระบาด และที่จะมองข้ามไม่ได้เลยก็คือ สวนป่ากินได้นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งกับกลุ่มคนเปราะบาง อาทิ คนจนเมือง คนไร้บ้าน หรือผู้มีรายได้น้อย ที่ความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่ดีน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม

แต่เหนืออื่นใด เครื่องมืออย่างสวนป่ากินได้จะทำงานเต็มประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นบนปัจจัยที่เอื้อในหลายๆ ด้านประกอบกัน ยิ่งเมื่อพิจารณาความสำเร็จของสวนป่ากินได้ทั่วโลก จะพบว่านโยบายและกลไกรัฐมีผลอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การเกิดขึ้นของ Beacon Food Forest ณ เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมด้านอาหาร 4 คนที่ตัดสินใจเดินเข้าไปเสนอไอเดียการเปลี่ยนพื้นที่ร้างกลางเมืองให้เป็นสวนป่ากินได้ หลังการเจรจานานหลายเดือน สุดท้ายสภาเทศบาลเมืองซีแอตเทิลก็อนุมัติการใช้พื้นที่พร้อมปรับแก้กฎหมายการบางส่วนเพื่อเอื้อให้ผู้คนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากสวนแห่งนี้ได้อย่างยืดหยุ่น พร้อมเป็นตัวกลางสร้างความร่วมมือ ดึงเอาสถาปนิกชุมชน นักพฤกษศาสตร์ นักผังเมือง ฯลฯ เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันผลลัพธ์ให้เกิดเร็วขึ้น และเมื่อภาพใหญ่ชัดเจนและโครงสร้างพื้นฐานแข็งแรงพอ ในที่สุด Beacon Food Forest ก็กลายเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเรียนรู้ที่ยืนระยะมากว่า 14 ปีแล้ว

สุดท้ายเรื่องราวข้างต้นอาจทำให้เราพูดได้ว่า การพัฒนาระบบอาหารของเมืองในวันที่วิกฤตอาหารครั้งใหญ่กำลังเดินทางมาเคาะประตูบ้าน อาจต้องเริ่มจากการที่ทุกฝ่ายเห็นภาพตรงกันว่า แท้จริงอาหารนั้นไม่ใช่แค่เพียงสินค้า ทว่าอาหารเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ซึ่งล้วนเป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและสังคมของเราเสมอมา และตลอดไป

อ้างอิง

https://beaconfoodforest.org

https://www.fao.org/state-of-food-security-nutrition

         Urban food forestry and its role to increase food security: A Brazilian overview and its potentialities, Vitor Vannozzi Brito and Simone Borelli. 2020. 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

รัชดาภรณ์ เหมจินดา

นักออกแบบกราฟิก และภาพประกอบ จากย่านลาดพร้าวที่ปวดร้าวทุกเช้าเย็น (จากสภาพการจราจร)