เป้ ชาตยา : หญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังบาร์บีก้อนและก้าวต่อไปกับร้าน Charna

Highlights

  • เป้–ชาตยา สุพรรณพงศ์ คือทายาทของผู้ก่อตั้งบาร์บีคิวพลาซ่า จากเส้นทางชีวิตที่ไม่เคยใกล้เคียงกับธุรกิจอาหาร วันหนึ่งเธอก็ได้เข้ามาช่วยพ่อแม่ทำแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่าเพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เธอจะได้ลงมือทำ
  • ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา เป้ล้มหลายครั้งแต่ก็ลุกขึ้นมาได้ทุกครั้งด้วยความเชื่อว่าอาหารสามารถเป็นสื่อกลางของคนได้จริงๆ รวมถึงการบริหารองค์กรที่เน้นพนักงานเป็นหลักก็เป็นจุดต่างที่หลายคนประทับใจในตัวเธอ
  • ปัจจุบันเธอและทีมงานเพิ่งเปิดร้าน Charna ร้านอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับคนเมืองที่มีเป้าหมายอยากให้คนกรุงเทพฯ ได้ทานอาหารคุณภาพดี เธอได้ลองลงไปค้นหาวัตถุดิบและสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาด้วยความตั้งใจของตัวเอง เป้บอกกับเราว่ามันปลุกไฟในตัวของเธอขึ้นมาอีกครั้ง

‘ถ้าคุณเกลียดใคร จงแนะนำให้เขาเปิดร้านอาหาร’

ผมจำได้ว่าเคยได้ยินประโยคนี้จากดาราสาวคนหนึ่งในรายการทีวี เธอเพิ่งเปิดร้านอาหารแล้วเจ๊งไม่เป็นท่า เธอจึงมาสาธยายว่ามันยากขนาดไหน

จริงๆ ถึงไม่เคยได้ยินประโยคนี้ ผมก็เห็นความจริงข้อนี้อยู่บ้าง

ไม่ว่าใครที่เคยเปิดร้านอาหาร เราจะได้ยินพวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเหนื่อย เหนื่อยมาก เหนื่อยมากๆ กับการมีร้านอาหารในฝันของตัวเองสักร้านหนึ่ง

‘มันต้องใช้อะไรบางอย่างที่มากกว่าใจรัก’

ดาราสาวว่าไว้อย่างนั้นก่อนจะจบรายการ

Charna เป้ ชาตยา

การเป็นทายาทของบาร์บีคิวพลาซ่าไม่เคยเป็นข้อบังคับในชีวิตของ เป้–ชาตยา สุพรรณพงศ์

เธอคือลูกสาวคนโตของชูพงศ์และนิภานันท์ ชูพจน์เจริญ ผู้สร้างตำนานบาร์บีกอน ถึงอย่างนั้นครอบครัวก็ไม่เคยบังคับเป้ให้มารับผิดชอบธุรกิจของที่บ้านเลยสักครั้ง

แต่วันนี้ตำแหน่งในนามบัตรของเป้คือ CEO ของบริษัท Food Passion

Food Passion คือบริษัทที่เปลี่ยนชื่อมาจากเดอะบาร์บีคิวพลาซ่า บริษัทแม่ของเครือร้านอาหารชื่อดังอย่างบาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซบฮัท และร้านเปิดใหม่ล่าสุดอย่าง Charna ร้านอาหารสุขภาพที่ผมมานั่งคุยกับเธอในวันนี้

การเป็นผู้นำของร้านอาหารกว่าร้อยสาขาคงทำให้เธอเหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่กลับผู้หญิงตรงหน้า ผมคงต้องบอกว่าเธอช่างดูตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

“อาหารทำให้คนมีความสุขได้จริงๆ นะ” ในช่วงหนึ่งของการพูดคุย เป้ว่าไว้อย่างนั้น

กว่าจะมาทำร้านอาหารอย่างตอนนี้ คงไม่ใช่เพราะมีใครบังคับหรือเกลียดเธอหรอก

เพราะจากบทสนทนาของผมกับเป้ที่เกิดขึ้น มันยืนยันในอีกเรื่อง

เธอมีอะไรบางอย่างที่มากกว่าใจรักต่างหาก

พ่อแม่ไม่เคยบอกให้เรากลับมาทำงานร้านอาหารสักครั้งในชีวิต

การคุยกันของเราน่าจะจัดอยู่ในนิยามของคำว่า ‘คุยไป หิวไป’

ผมนัดพบกับเป้ที่ร้าน Charna ในบ่ายวันหนึ่ง และระหว่างการพูดคุยของเรา อาหารก็ถูกเสิร์ฟเรื่อยๆ

ข้าวหอมมะลิอินทรีย์คลุกปลาทูแม่กลอง ส้มตำข้าวโพดทับทิมสยาม สลัดลาบไก่ผักเคล และน้ำมะพร้าวสด

(โคตร) น่ากินมากๆ

สมแล้วที่เรากำลังนั่งอยู่กับ CEO ของบริษัท Food Passion

Charna ลาบไก่ผักแคล

Charna

“แพสชั่นในอาหารถูกส่งต่อมาจากพ่อแม่หรือเปล่า” ผมเริ่มชวนเป้คุย

“จริงๆ พ่อแม่เราไม่เคยบอกให้เรากลับมาทำงานที่บ้านสักครั้งในชีวิต” เป้ตอบก่อนจะอธิบายต่อ “เขาให้อิสระเรามากๆ เราเองเลยค่อนข้างจะอิสระตั้งแต่เด็ก เราอยากเป็นนักบัลเลต์ เรียนอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ทำงานเอเจนซีมาก่อน พ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร (นิ่งคิด) เป้ว่ามันเกิดจากการซึมซับมากกว่า”

ในช่วงที่บาร์บีคิวพลาซ่ายังเป็นร้านอาหารไม่มีสาขาทั่วประเทศแบบทุกวันนี้ ตอนนั้นพ่อแม่ของเป้สร้างแบรนด์ขึ้นมาด้วยสองมือ ทาวน์เฮาส์ของครอบครัวถูกดัดแปลงเป็นฐานการผลิตย่อมๆ ครัวกลางเกิดจากการดัดแปลงชั้นล่างของบ้าน น้ำจิ้มก็ต้มกันในโรงรถ มังกรบาร์บีกอนคือสิ่งที่เป้เห็นแทบทุกวัน เธอเติบโตมาจากสภาพแวดล้อมเหล่านี้ตั้งแต่เด็กจนโต

“จุดเปลี่ยนอยู่ตรงไหน” ผมถาม

“พอเราไปทำงานข้างนอกมาเยอะๆ เราเริ่มมีหลายอย่างมาแนะนำพ่อแม่ จนวันหนึ่งเขาก็เปรยๆ ขึ้นมาเองว่าถ้าเราอยากให้ไอเดียเกิด ก็ลองกลับมาทำสิ

“เขาไม่ได้บังคับนะแต่เราเองเนี่ยแหละที่กลับมาคิดว่าหรือถึงเวลาแล้วหรือเปล่า ไอเดียพวกนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงๆ ถ้าเราไม่กลับมา จุดนั้นเลยเป็นจุดที่เรารู้สึกว่าโอเค กลับมาก็ได้”

Charna เป้ ชาตยา

“กลับมาแล้วเป็นอย่างที่คิดไหม” ผมสงสัย เพราะการกลับมารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวดูไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งเป็นธุรกิจอาหาร ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

“ยากมาก (ลากเสียงไปหลายวินาที) เราเข้ามาด้วยความรู้ในตำรา ต้องทำอย่างนี้สิ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ในโลกความเป็นจริงมันไม่ใช่เลย มันมีปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้เยอะมาก เราทำไม่ได้ แต่นึกออกไหมตอนนั้นเราเป็นเด็กจบใหม่ ฉันรู้ ฉันเก่ง ฉันทันสมัย มันเลยมีความรู้สึกเหมือนอยากจะออกไปข้างนอกเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง”

ความคิดที่อยากพิสูจน์ตัวเองในเวลานั้นคือที่มาของ ‘Fire Place’ ร้านปิ้งย่าง hi-end ในห้างเอ็มโพเรียมที่เป้เลือกออกมาเปิดแยกจากบาร์บีคิวพลาซ่าเมื่อเกือบสิบปีก่อน ร้านนี้เป้ได้ทำหน้าที่เหมือนเป็นเจ้าของร้านที่ต้องดูแลการจัดการแทบทุกภาคส่วนในร้านด้วยตัวเองแม้ประสบการณ์จะมีอยู่น้อยนิด

“ถ้าให้หันกลับไปมอง เป้ว่าที่พ่อแม่ปล่อยให้เราได้ทำและทดลอง เพราะเขารู้ว่าเราเป็นคนยังไง เขาเลี้ยงเรามาเขารู้ว่าเป้เป็นคนดื้อ ตอนนั้นห้ามเราไม่อยู่หรอก เขาเลยปล่อยให้เราได้ลองและลองล้มตรงนั้นเลย”

คุณพอจะเดาได้ใช่ไหมว่า Fire Place เป็นยังไงต่อ

“เจ๊งคามือ” เป้นิยามสั้นๆ ถึงบทเรียนล้ำค่าเมื่อครั้งอดีต

Charna

ธุรกิจของบ้านเราแม่งโคตรเจ๋ง

ในโลกธุรกิจ คำว่า เจ๊ง คงแปลความหมายได้พอกับคำว่าพ่ายแพ้ และการแพ้ของ Fire Place ก็เป็นครั้งแรกที่เป้ล้มในธุรกิจร้านอาหาร

“เรารู้ตัวแล้วว่าในโลกแห่งความจริง มันยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้อีกมากเลย” เป้เล่าให้ผมฟังถึงสิ่งที่คิดระหว่างปิดร้าน เวลานั้นเธอเสียทั้งเงินและกำลังใจ แต่ก็เหมือนกับทุกเรื่องที่เมื่อเราจ่ายด้วยต้นทุนที่แสนแพง เราก็มักจะได้มาซึ่งบทเรียนล้ำค่าเสมอ

“ถ้าให้มองย้อนกลับ คิดว่าทำไม Fire Place ถึงไม่ประสบความสำเร็จ” ผมย้อนถามให้เป้คิด

“อันแรกเลยคือแบรนด์ของเราไม่มีรากลึก ก่อนเปิดเราทำ market analysis นะคะ ทุกอย่างวิเคราะห์บนข้อมูลตลาดและเราคิดว่าตลาดน่าจะตอบรับ ทุกอย่างถูกต้องตามตำราแต่กลายเป็นว่าเราทำเหมือนในหนังสือหมด มันเลยไม่ลึกในแง่ความเชื่อ ทีนี้เวลาเจอปัญหาแล้วเราต้องแก้ไข เราจะเป๋ไปเป๋มา คนคอมเมนต์ทีก็แก้ที

“อีกข้อคือเรื่องประสบการณ์ ตอนนั้นมันเหมือนเราแค่อยากเปิดธุรกิจขึ้นมาธุรกิจหนึ่ง เราไม่ได้มีแพสชั่นกับมัน ทีนี้พอแก้อะไรแล้วมันไม่เวิร์กเรายอมแพ้เลย สิ่งนี้มันต่างกับบาร์บีคิวพลาซ่า พ่อเราเชื่อมากๆ ในคอนเซปต์ที่บาร์บีคิวพลาซ่าเป็น เขาเชื่อในวิถี self cooking ทีนี้พอเชื่อแล้วมันจะลึก ไม่ว่าจะเปิดสาขาไหนแล้วเจ๊งกี่ครั้งก็ตาม เขาก็จะยังทำเพราะเขาเชื่อ”

การที่ธุรกิจเจ๊งดูจะเป็นความผิดหวังที่รุนแรงเอาการ เป้เองก็ยอมรับกับผมว่าเธอผิดหวังและเกือบจะยอมแพ้ แต่เรื่องของคนที่ประสบความสำเร็จก็มักจะเป็นแบบนี้ ยามที่เหมือนจะมืดมน ถ้าคุณอดทนทำต่อได้นานพอ แสงสว่างจะปรากฏ

เป้ ชาตยา

“ช่วงหมดอาลัยตายอยาก อยู่ดีๆ ในอีเมลของเป้ก็มีคอร์สเรียน family business transformation session ปรากฏขึ้นมา อะไรบางอย่างก็ไม่รู้ในอีเมลนี้ทำให้เรารู้สึกว่านี่อาจจะเป็นสิ่งที่มองหาอยู่ เราเลยตัดสินใจไป

“คลาสนั้นเขาเล่าให้เราฟังว่าใน family business จะมีข้อดีที่เจ๋งมากๆ อยู่ข้อหนึ่ง สิ่งนั้นคือไฟของเถ้าแก่ คนที่คิดเรื่องงานอาทิตย์ละ 7 วัน ปีละ 365 วันน่ะไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ จะมีก็แต่คนที่รักในสิ่งที่ทำจริงๆ เป้กลับมาคิดดูก็พบว่าเออ จริงว่ะ เราย้อนกลับไปนึกเราก็เห็นแต่ภาพพ่อแม่ของเราทำงาน เราได้ยินเขาคุยกันเรื่องงานตลอด เราเริ่มเห็นว่าจริงๆ แล้วพื้นฐานบริษัทเรามันดีมากจากไฟของพวกเขา เรามีทีมงานที่ซื่อสัตย์และเชื่อในสินค้าที่ทำ

“จากเป็นคนที่แพ้ที่มองแบรนด์ของบ้านตัวเองว่าเชย เปิดของตัวเองก็เจ๊ง เรากลับมองมันใหม่และเข้าใจความเจ๋งของมันจริงๆ เรากลับบ้านมาแล้วเดินเข้าไปบอกพ่อแม่เลยนะว่าบริษัทเราแม่งโคตรเจ๋งเลยเนอะ บริษัทเราแม่งเจ๋งมาก เจ๋งจริงๆ”

“พ่อแม่ไม่งงเหรอ”ผมถาม

“งงมาก เขาก็ตอบว่า อ่อจ้ะ” เป้ตอบพร้อมเรียกเสียงหัวเราได้ครืนใหญ่

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เป้ตัดสินใจเข้ามาทำงานในบริษัทของพ่อแม่อย่างเต็มตัวด้วยความเชื่อมั่นใหม่ เธอและทีมงานคลื่นลูกใหม่เริ่มวางระบบ เสริมในจุดที่ขาดและเลือกพัฒนาแบรนด์ที่ตัวเองเคยมองว่าเชยให้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

จุดเริ่มต้นของการ ‘รีแบรนด์’ บาร์บีคิวพลาซ่าเกิดขึ้นในวันนั้น และเรื่องราวที่ตามมาของมังกรน้อยบาร์บีกอนกลายเป็นกรณีศึกษาให้กับนักการตลาดทั่วประเทศ

บาร์บีก้อน

ให้ทุกสิ่งที่เราทำออกมาจากแก่นแท้ในตัวเรา

เมื่อ 4-5 ปีก่อนข่าวการรีแบรนด์ของบาร์บีคิวพลาซ่าถูกยกขึ้นมาศึกษาจากสื่อและนักวิชาการหลายสำนัก

ตั้งแต่การเปลี่ยนหน้าตาของมังกรบาร์บีกอนหน้าร้าน การเรียกแทนแบรนด์ตัวเองว่า ‘พี่ก้อน’ การทำตลาดออนไลน์ คุณภาพสินค้า ไปจนถึงโฆษณาที่ซึ้งกินใจและการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ บาร์บีคิวพลาซ่ากลับมาได้อีกครั้งด้วยยอดขายที่สูงขึ้นกว่าเดิมมาก

การรีแบรนด์ครั้งนั้นถูกยกให้เป็นการรีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดครั้งหนึ่งของแบรนด์ไทย นอกเหนือจากการรีแบรนด์ อีกสิ่งหนึ่งที่บาร์บีคิวพลาซ่าทำที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงคือนโยบายบริษัทที่มีจุดตั้งต้นมาจากตัวของเป้เอง

คำสวยๆ ที่กล่าวไว้ว่า ‘มื้ออาหารเป็นสื่อกลางของความสุข’

และ ‘คุณภาพชีวิตของพนักงานคือสิ่งสำคัญที่บริษัทต้องดูแล’

บาร์บีคิวพลาซ่า

“เป้ว่าทั้งการรีแบรนด์และการเปลี่ยนชื่อมาเป็น Food Passion มันมีที่มาจากแก่นแท้ของตัวเรา เราเคยเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เราแล้วยากมาก ดังนั้นเราเป็นแบบที่เราเป็นทุกวันนี้ดีกว่า เป็นในสิ่งที่เป็น DNA ขององค์กรมาตั้งแต่แรก เราเชื่อมาตลอดว่าอาหารสร้างความสุขให้คนได้และเราดูแลพนักงานให้มีความสุขเหมือนคนในครอบครัวมาเสมอ”

“เคยมีคนมาบอกว่าโมเดลธุรกิจแบบนี้มันโลกสวยเกินไปไหม” ผมแย้งถามสิ่งที่หลายคนสงสัย

“มีอยู่แล้ว” เธอตอบทันทีก่อนจะอธิบายต่อ

“เอาจริงๆ นะ สิ่งสำคัญคือเรารู้ตัวว่าไม่ได้พูดเอาโลกสวย เราไม่ได้พูดให้ตัวเองเป็นนางงาม นางเอกอะไรแบบนั้น อาจจะจะมีคนสงสัยว่าทำได้จริงๆ เหรอ ทำไปเพื่ออะไร เราเข้าใจ แต่เราพูดจริงๆ ในฐานะตัวเราเองและนักธุรกิจ

“ในฐานะตัวเอง ส่วนตัวเราเชื่อจริงๆ ในการดูแลคนให้มีความสุขโดยใช้อาหารเป็นสื่อกลาง นี่เป็นหน้าที่ขององค์กรที่เรายึดเป็นแกนกลางไว้ตลอด ตื่นเช้ามาเราต้องคิดถึงสิ่งนี้เป็นอันดับแรก เพราะเวลาเราท้อ ห่วย หรือเหนื่อยอะไรก็ตาม การที่เรามีสิ่งนี้ยึดไว้อย่างน้อยมันทำให้เรารู้ว่าเรากำลังทำสิ่งที่ดีให้กับคนอื่น

“แต่ถ้าพูดในฐานะนักธุรกิจ เราก็จะตอบตรงๆ ว่าที่เราทำก็เพื่อกำไรเหมือนกันนั่นแหละ เราไม่ได้ทำธุรกิจแบบ CSR เราก็ทำเพราะหวังกำไรแต่ที่เราจะบอกก็คือถ้าคุณหวังกำไรคุณต้องทำตรงนี้ เชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าคุณอยากมีผลกำไรคุณต้องดูแลพนักงาน เพราะไม่อย่างนั้นกำไรของคุณจะหามาได้ด้วยความยากลำบากมากและไม่ยั่งยืน

“เป้ว่ามันเป็นเหตุเป็นผลนะ เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มดูแลพนักงาน เขาจะพร้อมสู้ตาย เขาพร้อมจะขายของให้คุณ คุณไม่มีทางขายของเองได้ แต่เขาขายได้ ดังนั้นเหนื่อยแค่ไหนเขาก็จะสู้ตาย ลูกค้าก็จะประทับใจ ธุรกิจคุณจะดี แล้วคุณก็จะมีกำลังมาดูแลพนักงานให้ดีขึ้นอีกที เราไม่ได้มีเป้าหมายให้พนักงานลั้นลา จับมือ มีความสุขกระโดดโลดเต้นนะคะ แต่เราทำเพื่อให้พนักงานผูกพันกับเรา”

เหมือนสคริปต์แต่ไม่ใช่ พอพูดจบพนักงานของร้านก็มาเสิร์ฟน้ำให้เราทานพร้อมรอยยิ้มพอดี

บาร์บีคิวพลาซ่า

ความผูกพันที่เราหยอดกระปุกทำ มันสร้างความแข็งแรงเอง

ถึงจะมีใครหลายคนเคลือบแคลงสงสัยว่านโยบายสวยหรูสามารถทำได้จริงหรือไม่ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่โกหก

Food Passion ได้รับเลือกเป็นบริษัททางด้านอุตสาหกรรมอาหารที่ดีที่สุดในปีที่ผ่านมาจาก BrandAge และรางวัล AON Best Employers Thailand สองปีซ้อน รวมถึงกำไรที่บริษัททำได้ก็อยู่ในจุดที่น่าพอใจแม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง

ฟังดูเหมือนผลลัพธ์เหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เป้เชื่อมาตลอดนั้นถูกต้อง แต่ถ้าจะให้ยกเหตุการณ์ที่เธอรู้สึกว่าที่ทำอยู่นั้นถูกทาง เป้บอกผมว่าไม่ใช่เรื่องของเงินหรือกำไรใดๆ แต่มันเป็นช่วงเวลาที่แสนลำบากที่เธอและพนักงานทุกคนจับมือผ่านมาด้วยกันต่างหาก

“เป้คิดว่าสิ่งดีๆ ที่พวกเราทำมันส่งผลชัดๆ ตอนที่เรามีวิกฤตนะ คือตอนที่ดีๆ อะไรก็ดีหมดแหละ แต่ตอนไม่ดี อะไรเหล่านี้มันส่งผล

“อย่างวิกฤตตอนกระทะดำที่เราต้องปิดชั่วคราวไปหลายสาขาเพื่อไม่ให้พนักงานรับความกดดัน (วิกฤตครั้งนั้นเกิดจากความเข้าใจผิดในการทำความสะอาดกระทะแบบใหม่ทำให้มีลูกค้าบางส่วนร้องเรียนเรื่องน้ำซุปที่มีคราบดำปนเปื้อนอยู่) เป้จำได้ว่าตัวเองต้องไป verified ให้ร้านกลับมาเปิดใหม่ที่สาขาเซ็นทรัลเวสต์เกต เราเข้าไปถึงแล้วพนักงานนั่งกันอยู่เต็มร้านแต่ร้านเงียบกริบเลย บรรยากาศอึมครึมมาก ระหว่างที่เราเดินไปเช็กกระทะเราก็คิดว่าถ้ามันไม่ผ่านจริงๆ พวกเขาจะรู้สึกยังไง แต่สุดท้ายมันก็ผ่าน พอเราบอกพนักงาน ทุกคนดีใจมาก ร้องไห้เลยก็มี

“สิ่งที่เป้ประทับใจในวันนั้นคือพนักงานในร้านเหล่านี้ จริงๆ แล้วกับสถานการณ์ของร้านเรา พวกเขาเดินออกไป 3 ก้าวจะเจอร้านที่รับสมัครพนักงานใหม่เลยนะ แต่ทำไมเขาไม่ไปล่ะ เขายังอยู่เจอเราในวันนั้น ผ่านภาวะกดดัน ความเครียดต่างๆ กับเรามา วันนั้นทำให้เป้รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว มันเป็นเหตุการณ์ที่บอกเราว่าความผูกพันที่หยอดกระปุกทำมา มันสร้างความแข็งแรงได้จริงๆ”

บาร์บีคิวพลาซ่า เป้ ชาตยา

ถ้าเราหันกลับไปมองช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บาร์บีคิวพลาซ่าถือเป็นแบรนด์ที่มั่นคงแบรนด์หนึ่ง ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหา ในความเป็นจริงพวกเขาประสบปัญหาอยู่พอสมควรเหมือนกัน แต่อาจเป็นเพราะความเชื่อมั่นแบบนี้เองที่พาพวกเขาผ่านทุกปัญหาไปได้

“เคยมีคนถามเราเหมือนกันนะว่าเวลาเกิดปัญหา เราเคยต้องหาคนที่รับผิดชอบไหม แต่เป้คิดตามแล้วในความเป็นจริงมันไม่มีเลย เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เกิดความผิดพลาด ทุกคนรู้ว่าพลาดแต่ไม่มีใครอยากให้เกิดหรอก เซ็งน่ะเซ็งอยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดที่พลาดและเซ็ง ทุกคนแม่งตั้งใจเต็มที่ที่สุดแล้ว ไม่มีใครในองค์กรจงใจให้มันเกิดหรอก ดังนั้นเราไปหาวิธีแก้กันดีกว่า

“เป้เข้าใจว่าพอบาร์บีคิวพลาซ่าเริ่มอยู่ในกระแส หลายคนอาจจะตั้งคำถามนะว่าถ้าเป้คิดแบบนี้แล้วเรารู้สึกไหมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันถี่เกินไปแล้ว ผิดซ้ำผิดซาก บาร์บีกอนต้องออกมาขอโทษอีกกี่ครั้ง แบรนด์จะบอบช้ำไหม (เงียบคิด) เป้เชื่อในความจริงใจของแบรนด์มากกว่า ถ้าผิดจริง เราก็ต้องขอโทษและปรับปรุง เราอาจจะควบคุมความคิดทุกคนไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราต้องรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ สิ่งที่เราทำลงไปเราทำไปเพราะอะไร เพราะมาคิดอีกทีแบรนด์เราก็ไม่ได้บอบช้ำขนาดนั้น เป้กลับมองว่าแบรนด์เรามีพัฒนาการมากกว่า แบรนด์เราอยากก้าวไปข้างหน้าเราเลยกล้าลองทำ ซึ่งแน่นอนเราสะดุดหกล้มเป็นครั้งคราว ไม่ใช่สะดุดครั้งเดียวแล้วไม่มีวันล้มอีกเลย เราจะสะดุดหกล้มอยู่แบบนี้แหละ แต่ขอแค่ไม่สะดุดเรื่องเดิม

“เพราะการที่เราล้มมันแปลว่าเราวิ่งอยู่ไงเราถึงล้ม ถ้าอยู่เฉยๆ เราคงไม่ล้มหรอก”  

Charna เป้ ชาตยา

เราเรียนรู้สิ่งใหม่ทุกวัน

ถ้า Food Passion กำลังวิ่งอยู่ ก้าวล่าสุดของพวกเขาคงเป็นสถานที่ที่ผมกับเป้นั่งคุยกันอยู่ตอนนี้

Charna เป็นร้านอาหารในเครือของ Food Passion ที่เพิ่งเปิดมาได้แค่ 2 เดือน ในแง่เมนู ที่นี่แตกต่างกับบาร์บีคิวพลาซ่าอย่างสิ้นเชิง ร้านขายอาหารสุขภาพในเชิงออร์แกนิก บรรยากาศในร้านเป็นแบบสบายๆ เหมือนกินข้าวบ้านเพื่อน ดูแล้วเป็นก้าวที่ใหญ่เหมือนกันกับการออกมาสร้างแบรนด์ใหม่ที่หนีออกจากแบรนด์เก่าขนาดนี้

“เราตั้งใจตั้งแต่วันแรกแล้วว่าเราอยากลองถอดหมวกของบริษัทใหญ่ดู” เป้บอกผมในระหว่างที่น้ำทับทิมถูกเสิร์ฟมาอยู่ตรงหน้า

“เราอยากกลับไปทำอะไรที่เหมือนกับว่าเรากำลังทำร้านอาหารร้านใหม่โดยไม่ติดกรอบอะไร อาจจะดีหน่อยตรงที่เราเริ่มต้นภายใต้การดูแลของมืออาชีพอย่าง Food Passion แต่มันก็จะเป็นร้านที่เราค่อยๆ ฟูมฟัก DNA ของมันกับมือเราเอง ถ้าให้เปรียบเทียบคือเป็นเหมือนลูกชายลูกสาวของพ่อแม่ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง มีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่าง แต่มี value ที่เป็น value เดียวกันกับ Food Passion นั่นคือการทำให้ลูกค้ามีความสุขกับมื้ออาหาร”

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ Charna นอกจากความสุขของลูกค้าคือวัตถุดิบ ถ้าเราพลิกเมนูของ Charna ดูเราจะพบคำบรรยายที่มาของวัตถุดิบต่างๆ ในร้าน ทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือของ Charna กับกลุ่มเกษตรกรหลายท่านที่ทำกิจการของตัวเองอย่างเป็นมิตรต่อธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น มะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์จาก Aromatic Farm ไข่ขบถจากบ้านรักษ์ดิน และอาหารทะเลจากเครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล 

การทานอาหารของ Charna เลยทำให้เรารู้สึกว่าเป็นการรักษ์โลกไปโดยปริยาย

และเบื้องหลังของวัตถุดิบเหล่านี้ไม่ใช่แค่ฝ่ายจัดหาวัตถุดิบ แต่ CEO ที่นั่งอยู่เบื้องหน้าผมนั้นลงไปเริ่มต้นมันด้วยมือของตัวเอง

Charna

Charna

“จากนโยบายความสุขของพนักงาน ที่ Charna เราขยายให้ไกลกว่านั้นไปถึงคนต้นน้ำซึ่งก็คือเกษตรกร เป้และทีมเดินทางไปหาเกษตรกรที่มีแนวคิดเหมือนเรา ไม่ใช่การที่โทรหาแล้วขอ product list และราคา แต่เราโทรนัดหมายแต่ละท่านและตระเวนไปหาเขาเพื่อพูดคุยและบอกแนวคิดของเราว่าเราอยากให้คนกรุงเทพฯ ได้กินอาหารที่มีวัตถุดิบคุณภาพดี

“เราต้องไปคุยเพื่อให้รู้ว่าแต่ละท่านมีอะไรบ้าง ปลูกยังไง ทำยังไงถึงจะได้วัตถุดิบนี้มา คือเราอยากไปเป็นเพื่อนเขาจริงๆ และจากการที่เราไปคุย เราได้รับคำแนะนำจากคนต้นเรื่องในหลายๆ อย่าง เช่น ฤดูกาลไหนคือช่วงเวลาที่ถูกต้องที่สุดของวัตถุดิบแต่ละชนิด แต่ละอย่างมันมีช่วงเวลาที่ดีที่สุดอยู่ไม่กี่เดือน และเรายังได้รู้ว่าวัตถุดิบเหล่านี้เอาไปทำอะไรถึงจะอร่อย เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ทุกวันและเหมือนเราได้เป็นตัวแทนของความเชื่อของเขาด้วย”

“รู้สึกอย่างไรบ้างกับการกลับมาเปิดร้านใหม่อีกรอบในเวลานี้” ผมถามให้เป้ได้ลองทบทวนตัวเอง

“เป้ยอมรับนะว่าเราไม่ได้มีความเป็นเถ้าแก่เท่าพ่อกับแม่ ยุคที่เขาทำมันโคตรยากเลย จากศูนย์ร้าน เป็นหนึ่ง เป็นสอง เป็นห้าสิบร้าน แต่พอเราได้มาทำ Charna มันจุดไฟด้านนี้ของเราขึ้นมาอีกครั้ง เราสนุกกับมันมาก เหมือนเราได้กลับมาเป็นเถ้าแก่อีกครั้งหนึ่ง จริงๆ แล้วเรามีอะไรต้องแก้ทุกอาทิตย์นะคะ แต่เป้รู้สึกอยากแก้จังเลย เรามีพลัง ไม่ยอมแพ้ บวกกับถ้าเราทำสิ่งนี้ได้ มันจะดีไปถึงคนต้นน้ำ เขาก็จะขายของได้มากขึ้น และถ้าเราทำให้ demand ตรงนี้มันเพิ่มได้ ราคาก็จะถูกลงจนทำให้คนส่วนมากเข้าถึงอาหารสุขภาพได้อีก ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราอยากปลดล็อก”

ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว Charna จะปลดล็อกสิ่งที่เธอหวังได้จริงหรือเปล่า แต่เมื่อได้ลองชิมอาหารที่อยู่ตรงหน้า ผมคิดว่าเธอเจอกุญแจแล้ว

Charna เป้ ชาตยา

ประสบการณ์ที่ได้มา มันหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

ในความเป็นจริงแล้วมื้ออาหารที่ถูกจัดแจงมีมากกว่าที่ผมบรรยายไว้มาก

ถ้าจะบอกว่านี่คือการสัมภาษณ์ที่อิ่มที่สุดก็คงจะไม่เกินไปนัก เพราะนอกจากอิ่มกาย ในใจก็อิ่มไปกับเรื่องราวด้วย

การได้ฟังเส้นทางความเป็นมาของใครสักคนหนึ่ง เรามักจะพบที่มาของตัวตนในปัจจุบันเสมอ และกับเป้ก็เช่นกัน

การเป็นทายาทบาร์บีคิวพลาซ่าไม่ได้สร้างทางเดินอนาคตที่ถูกบังคับ แต่เป็นเป้เองต่างหากที่เลือกเดินมาในเส้นทางนี้ และตลอดเส้นทางที่เดินมาเป็นสิบปี เธอก็ล้มไม่รู้กี่ทีอย่างที่เล่าให้เราฟัง แต่จากที่เห็นและได้ฟังก็ได้ทำให้ได้รู้ว่าเธอเพื่อไปข้างหน้าเสมอเพื่อให้ไปได้ไกลขึ้นในทางที่เลือกเดิน

“เป้ว่าเป้โชคดีนะ โชคดีที่อยู่ถูกองค์กร ถูกขนาดไซส์ ถูกขณะเวลาที่เราได้มีโอกาสได้ทำอะไรบางอย่าง ถ้าวันนี้เป้คนที่เปิด Fire Place มาทำ Charna เป้ว่าเป้ก็ทำไม่ได้ มันเป็นเรื่องของชั่วโมงบิน (นิ่งคิด) คือทางลัดมันมีอยู่จริงนะ แต่เป้ว่ามันก็คงไม่ได้ลัดมากหรอก ยังไงมันก็ต้องมีการเก็บประสบการณ์”

“ถ้าให้มองย้อนกลับไป คิดว่าคุ้มค่าไหมกับเส้นทางที่เลือกเดินมาทั้งหมด” ผมเอ่ยถามคำถามสุดท้าย

เป้นิ่งคิดไปนาน ก่อนจะตอบพร้อมรอยยิ้ม

“ไม่รู้ว่าคุ้มไหมนะ แต่เป้คิดว่าประสบการณ์สิบกว่าปีที่ผ่านมากับการทำให้คนมีความสุขจากมื้ออาหาร มันหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วล่ะ”

Charna เป้ ชาตยา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!