Teemana Books คนทำหนังสือเด็กที่เชื่อเรื่องการคอนเนกต์ความเป็นเด็กในตัวเอง

Highlights

  • Teemana Books คือสำนักพิมพ์หนังสือภาพสำหรับเด็กที่ก่อตั้งโดย จักร์ เชิดสถิรกุล ผู้ก่อตั้งโครงการ Kaomai Estate 1955 ที่มีงานพาร์ตไทม์เป็นนักเขียนนามปากกา Chak C.
  • หนังสือเล่มแรกของ Teemana Books คือ Flying Whale ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวาฬ สัตว์ทะเลตัวโปรดของจักร์ และสถานการณ์ฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ เล่าเรื่องแบบ rhyme (การร้อยเรื่องด้วยคำที่มีเสียงคล้องจอง) และแทรกด้วยข้อคิดที่ทำให้คนอ่านเข้าใจความเป็นไปของสิ่งรอบตัว
  • นอกจากส่งต่อแนวคิดให้กับเด็กๆ แล้ว การเขียนหนังสือให้เด็กยังพาเขากลับไปคอนเนกต์กับความเป็นเด็กของตัวเอง ไม่ว่าวันนี้หรือวันข้างหน้าเขาจะแก่ตัวไปแค่ไหนก็ตาม

Teemana Books

Just smile!

My magic will bring all of you happiness.

ถ้าเลือกที่จะยิ้มกับสิ่งที่เป็นอยู่ เวทมนตร์ของผมจะพาความสุขไปหาทุกคน

 

ไม่รู้ว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่เผลอดึงเราออกจากรอยยิ้มที่เคยเกิดขึ้นเพราะเรื่องง่ายๆ ไปตอนไหน ที่แน่ๆ ประโยคสุดท้ายในหนังสือเด็ก A Little Elf จากสำนักพิมพ์อิสระนามว่า Teemana Books ดึงรอยยิ้มนั้นกลับคืนมาให้คนวัยยี่สิบกว่าๆ แบบเราได้เสียอย่างนั้น

นอกจาก A Little Elf แล้ว จุดร่วมที่เราค้นพบจาก Flying Whale, The Moon Was Too Bright, Sho’s Magic Fart และ A Squid’s Journey to the Moon หนังสืออีก 4 เล่มฝีมือนักเขียนคนเดียวกันนี้คือมันแฝงไปด้วยแนวคิดที่คนเป็นผู้ใหญ่สามารถอินกับมันได้ ตั้งแต่การเข้าใจตัวเองและความเป็นไปของสิ่งรอบตัว แถมเนื้อหาและภาพประกอบยังมีความเป็นสากลค่อนข้างสูง

สิ่งนี้มาจากความตั้งใจที่อยากจะสร้างความหลากหลายให้กับวงการหนังสือเด็กในไทยของ จักร์ เชิดสถิรกุล ผู้ก่อตั้งโครงการ Kaomai Estate 1955 ที่มีงานพาร์ตไทม์เป็นนักเขียนนามปากกา Chak C. และเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ แห่งที่ว่า

ในฐานะคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์ การทำสำนักพิมพ์ Teemana Books ต้องใช้ความมานะขนาดไหน และการขลุกตัวในโลกหนังสือเด็กตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมาพาชายตรงหน้าเราพบเจอเรื่องราวแบบไหนบ้าง ฟังเจ้าตัวเล่าดีกว่า

Teemana Books

1

“เด็กๆ ผมชอบอ่านหนังสือมาก โดยเฉพาะหนังสือเด็กที่เป็นหนังสือแปล เช่น โต๊ะโตะจัง ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ นอกจากจะเอนจอยเรื่องอ่านแล้วเรายังเอนจอยเรื่องเขียน สมัยเด็กๆ บ้านผมรับนิตยสารก็เลยเขียนเรื่องสั้นๆ เขียนประสบการณ์หมาวิ่งตกน้ำส่งไปตีพิมพ์ แล้วก็พับไปยาวจนกระทั่งผมได้กลับมาเขียนสารคดีท่องเที่ยว”

ในช่วงรอยต่อระหว่างเรียนจบด้านการจัดการเชิงยั่งยืน (Sustainability Management) จาก Columbia University สหรัฐอเมริกา และกลับเชียงใหม่เพื่อสานต่อธุรกิจครอบครัว จักร์กลับมานับหนึ่งกับศาสตร์ของการเขียนอีกครั้งโดยเริ่มต้นจากการเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองประทับใจ นอกจากการลงมือทำ จักร์ยังพาตัวเองเข้าคลาส writing เพื่อเรียนรู้วิธีการทำงานของนักเขียนด้วย

“มีเซสชั่นหนึ่งเป็นคลาสของคุณเอ๋ นิ้วกลม เขาไม่ได้พูดอะไรเรื่องการเขียนนะ แต่พูดถึงฟีลลิ่งข้างในเวลาที่เราลงมือเขียน ผมรู้จากตอนนั้นว่านี่น่าจะเป็นวิธีการที่มันใช่กับตัวเอง

“ผมอยากเขียนหนังสือและผมชอบวาฬ อยากเล่าเรื่องวาฬมาก ช่วงนั้นเป็นเดือนมีนาคม ที่เชียงใหม่เจอปัญหาหมอกควันจากไฟป่าพอดี ถ้าเราเอาสองอย่างนี้มารวมกันได้ก็น่าสนใจดี ผมได้อ่านหนังสือ The Snail and the Whale และ The Gruffalo ของ Julia Donaldson เธอทำให้ผมรู้ว่าหนังสือเด็กก็สามารถทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลยากๆ ได้นะ แถมยังเป็นหนังสือเด็กที่ภาพประกอบเจ๋งมาก ผมเห็นแล้วชอบมาก”

นักเขียนชาวอังกฤษคนนี้ไม่เพียงแต่จุดประกายให้จักร์อยากทำหนังสือภาพสำหรับเด็กอย่างเดียว แต่ยังทำให้เขาอะเมซิ่งกับวิธีการเล่าเรื่องแบบ rhyme ที่เป็นการร้อยเรื่องด้วยคำที่มีเสียงคล้องจอง จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากลองแต่งไรม์ดู แม้จะท้าทายสำหรับคนแต่งเรื่อง แต่มันถือเป็นประโยชน์กับเด็กๆ ที่จะได้เรียนรู้เรื่องคำศัพท์และการออกเสียงไปด้วย

Teemana Books

“การเขียนหนังสือเด็กมันไม่มีคนทำคู่มือหรือคลาสที่จะสอนเราเยอะขนาดนั้น ส่วนใหญ่ผมก็เสิร์ชหาเอง อย่างไรม์ก็ต้องไปหาว่ามันคืออะไร บ้านเรายังไม่มีคอมมิวนิตี้คนทำหนังสือเด็กที่แข็งแรงและเปิดกว้างเท่าประเทศอื่นๆ คนที่อยากทำก็ต้องดิ้นรนมากหน่อย

“อย่างทุกปีที่สิงคโปร์จะมีนิทรรศการ Asian Festival of Children’s Content ที่รวมคนทำคอนเทนต์หนังสือเด็กทั้งฝั่งนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ ผมก็ตัดสินใจบินไปดูเองเลยว่ามันเป็นยังไง

“ในงานจะมีการ submit manuscript คือส่งสิ่งที่เราเขียนไปให้ผู้เชี่ยวชาญรีวิว ผมอยากรู้ว่าไรม์ที่ตัวเองเขียนมันโอเคไหมก็เลยส่งไป เขาบอกว่าของผมอาจจะไม่ถึงขั้นเป็นไรม์ขนาดนั้น เหมือนเป็นเพลงที่เล่นกับคำคล้องจองบ้าง ช่วงไหนปล่อยได้ก็ปล่อย ไม่อยากจะบังคับมันมาก” จักร์สรุปการเดินทางในปีแรก

 

One day after the sun went down, 

High above the town, there came a big grey whale, 

Rising up from the ocean to the sky with no wings. 

 

ความสนุกเวลาอ่านเหล่าคำคล้องจองใน Flying Whale หนังสือเล่มแรกจาก Teemana Books แบบออกเสียง คือหลักฐานยืนยันความตั้งใจของชายคนนี้ได้สวยงามมากทีเดียว

2

นอกจากการเป็นนักเขียน เขายังควบตำแหน่งบรรณาธิการในสำนักพิมพ์ที่ตัวเองก่อตั้งด้วย นั่นแปลว่าหน้าที่ในการคิดภาพรวมของหนังสือทุกเล่มและกำหนดทิศทางในโลกธุรกิจหนังสือก็ต้องเป็นหน้าที่เขาทั้งหมด เจ้าตัวสารภาพกับเราว่ามันไม่ง่ายเลย

“ผมทำงานค่อนข้างลำบากกว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์อื่นนะ ผมเคยส่งไปทั้งในและต่างประเทศ สุดท้ายผมพบว่าทุกวันนี้ต้นฉบับหนังสือดีๆ มันกองเต็มโต๊ะบรรณาธิการไปหมดเลย มุมหนึ่งธุรกิจสิ่งพิมพ์ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำกำไรมากแล้วในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเลือกลงทุนกับสิ่งที่สร้างชื่อเสียงหรือให้ผลตอบแทนกับเขาได้ดีกว่า หนังสือเด็กที่ผมอยากจะทำมันเลยยากมากที่จะเข้าไปอยู่ในระบบกับหนังสือทั่วไป”

จักร์หมายมั่นว่าหนังสือของ Teemana Books หรือ ‘หนังสือเด็กที่อยากจะทำ’ ต้องมีความเป็นสากล เริ่มต้นจากการใช้ภาษาอังกฤษในการเล่าเรื่อง

“จริงๆ ถ้าผมเลือกทำหนังสือภาษาไทย ในแง่การขายมันน่าจะง่ายกว่านี้ แต่อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้คุณพ่อคุณแม่ก็สนับสนุนให้ลูกๆ ใช้ภาษาอังกฤษหรือหลายๆ ภาษา มองอีกมุมมันก็อาจจะเป็นโอกาสได้เหมือนกัน แต่พอสิ่งที่เราตัดสินใจทำมันดูไม่ได้สร้างกำไรมาก ยิ่งเราไปให้ภายนอกช่วยทำเยอะต้นทุนก็จะยิ่งบานออก สิ่งไหนที่พอจะทำเองได้ก็ทำ ผมดีลเองหมดเลยตั้งแต่นักวาดภาพประกอบ คนทำรูปเล่ม อย่างเล่มแรกๆ ที่ปล่อยก็แพ็กส่งเองกับมือ”

แม้จะบ่นว่ายากลำบากแต่ทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นในการทำหนังสือก็สอนให้เขาเข้าใจโลกธุรกิจมากขึ้น มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มขมวดคิ้วสงสัยว่า ทำไมเขาถึงเลือกที่จะทำทุกอย่างคนเดียว เหนื่อยคนเดียวแบบนี้

“ก่อนหน้านี้ผมเคยเอาต้นฉบับไปให้คนอื่นช่วยทำ ปรากฏว่าตอนนั้นเขาไปจ้าง editor มาแก้ภาษาผม ซึ่งจริงๆ เขาเจตนาดีนะ แต่มันเหมือนเขาไม่เข้าใจสิ่งที่ผมพยายามกับเด็กเท่าไหร่ มันกลายเป็นการโฟกัสการใช้ไวยากรณ์หรือคำศัพท์มากกว่า หรือการมีจุดสามจุดเขาก็ตัดออกเพราะคิดว่าถ้าไม่มีมันอาจจะเหมาะกว่า แต่สำหรับเรามันเป็นสิ่งที่เราจงใจอยากให้มี ช่วงหลังๆ ผมก็โอเค คิดว่าผมทำเองก็ได้” เขาหัวเราะ

3

สิ่งที่ต้องให้น้ำหนักมากพอๆ กับเนื้อหาที่ย่อยง่ายคือการใช้ภาพประกอบที่ดึงดูดความสนใจเด็กๆ จักร์รู้ความจริงข้อนี้ดี หนังสือทั้ง 5 เล่มที่ออกมาเขาจึงตั้งใจคัดเลือกเพื่อนร่วมงานอย่างนักวาดภาพประกอบมากๆ ทั้งนักวาดที่อาจจะเคยหรือไม่เคยทำหนังสือเด็กมาก่อน เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้หนังสือของเขาเป็นที่สนใจของเด็กๆ หรือโดดเด้งเข้าตาคนซื้ออย่างคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น แต่การทำหนังสือเด็กที่หลุดจากลายเส้นแบบเดิมๆ คือการเพิ่มความหลากหลายให้เชลฟ์หนังสือเด็กในบ้านเราด้วย

ในอีกมุมหนึ่ง ความตั้งใจของเขาถือเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานให้กับนักวาดภาพประกอบบ้านเราด้วยเหมือนกัน

“ปกติผมใช้เวลาเขียนเทกซ์ไม่นาน บางเล่มก็เขียนคืนเดียวเสร็จ พอมีเทกซ์แล้วก็ต้องหานักวาดที่เหมาะกับเรื่อง ซึ่งนักวาดนิทานในไทยหาค่อนข้างยาก ยิ่งเป็นนักวาดที่เหมาะกับเราด้วยแล้วแค่มองหาก็กินเวลาเยอะเหมือนกัน อย่าง Flying Whale ก็มีทั้งคนที่ปฏิเสธหรือวาดแล้วทิ้งกลางทาง ผมใช้เวลาเกือบปีจนกว่าจะเจอเบลล์ (เศรษฐพร ก่อวาณิชกุล–นักวาดภาพประกอบหนุ่ม เจ้าของคาแร็กเตอร์เด็กชายและเด็กสาวหัวทอง John and Lulu) เขาเป็นนักวาดที่โอเคกับวาฬและอยากลองวาดหนังสือให้เด็กมากๆ พอเป้าหมายเราแมตช์กันงานมันก็เสร็จเร็วมาก เบลล์ใช้เวลาวาดแค่ 2 อาทิตย์ก็เสร็จแล้ว แทบไม่แก้อะไรเลย”

สิ่งที่เราเรียนรู้จากคนทำหนังสือเด็กคนนี้คือการทำงานของนักเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็ก ส่วนใหญ่เทกซ์กับภาพมักจะปรากฏมาพร้อมๆ กัน พอเป็นแบบนี้นักวาดที่รับงานต่อก็จะทำงานง่ายขึ้น แต่จักร์กลับบอกเราว่าในขวบปีหลังๆ เขาพยายามจะจินตนาการเรื่องภาพให้น้อยลง และปล่อยให้นักวาดทำงานอย่างมีอิสระมากขึ้น

Teemana Books

นอกจาก Flying Whale แล้ว เล่มล่าสุดอย่าง Sho’s Magic Fart ก็เป็นอีกเล่มที่จักร์ได้ทำงานกับนักวาดภาพประกอบที่ไม่เคยมีประสบการณ์วาดภาพหนังสือเด็กมาก่อน แถมผลงานที่ออกมาเจ้าตัวก็รู้สึกแฮปปี้สุดๆ

Sho’s Magic Fart เล่มนี้แปลกกว่าเรื่องอื่นๆ คือผมไม่ได้เน้นไอเดียเบื้องหลังในการเขียน เน้นอย่างเดียวคืออยากให้เด็กๆ หัวเราะ แต่นักวาดไทยที่ลายเส้นน่าสนใจ ตลก และกล้าพอยังไม่ค่อยมี กว่าจะได้คุยกับน้องนท พนายางกูร ก็รอเกินปีเหมือนกัน น้องนทไม่เคยวาดภาพประกอบหนังสือเด็กมาก่อน ดราฟต์แรกที่ส่งมามันหลุดจากที่ผมคิดไว้มาก แล้วภาพในเล่มที่ออกมามันก็เป็นลายเส้นที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

The Moon Was Too Bright เล่มที่ว่าด้วยค่ำคืนที่แสนวุ่นวาย(ใจ)ของเด็กชายโช เป็นอีกเล่มที่เราชอบทั้งในแง่เนื้อหาที่ให้บทเรียนบางอย่างกับคนในวัยผู้ใหญ่ และภาพประกอบน่ารักๆ ฝีมือ Chorkung (ฉ่อกุง) นักวาดภาพประกอบสาวที่เคยฝากผลงานในหนังสือเด็กมาแล้วหลายเล่ม

“มีคนบอกผมว่าการเขียนหนังสือเด็กแบบที่พยายามยัดเยียดบทเรียนเข้าไปมันจะทำให้หนังสือออกมาไม่เป็นธรรมชาติ ผมเลยไม่อยากบังคับเนื้อหาสาระเข้าไปมากเท่าไหร่ อย่าง The Moon Was Too Bright มันเกิดจากวันที่ผมรำคาญตัวเองที่นอนไม่หลับ รำคาญคนนั้นคนนี้ที่ทำเสียงดัง พอทบทวนดูแล้วจริงๆ มันไม่ใช่ความผิดของอะไรเลย ถ้าเราทำใจให้ปล่อยวาง ทุกอย่างก็จบ พอคิดแบบนี้แล้วชีวิตเรามีความสุขขึ้นเยอะเลย

“แต่ละเล่มทำงานไม่เหมือนกันเลย รายทางมักจะมีเหตุนั้นเหตุนี้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ตลอดเวลา”

Teemana Books

4

มาถึงตรงนี้หลายคนน่าจะพอเดาออกว่าหมุดปลายทางของ Teemana Books มีสองเรื่องหลักๆ หนึ่ง–คือพื้นที่ปล่อยของของจักร์ และสอง–คือการทำหนังสือเนื้อหาย่อยง่ายให้เด็กๆ อ่าน

“ตอนเด็กๆ ผมเคยอ่าน The Neverending Story ของ Michael Ende ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันเป็นหนังสือเด็กที่สนุกดี แต่พอกลับมาอ่านตอนโตปุ๊บ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่หนังสือเด็กธรรมดาๆ แล้ว คือไม่ว่าจะอ่านตอนไหนเราจะได้อะไรบางอย่างที่มันต่างกันออกไปกลับมาทุกครั้ง ผมอยากเขียนอะไรแบบนี้ให้คนอ่าน”

“แล้วงานพาร์ตไทม์นี้ให้อะไรกับคุณบ้าง” เราให้คำถามที่เรียบง่ายที่สุดเป็นคำถามปิดท้าย

“ผมเชื่อว่าสกิลที่ทุกคนมีมันเหมือนดินสอที่ต้องการการเหลาไส้ให้คมตลอดเวลา การทำ Teemana Books เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้สกิลของผมแหลมคมขึ้น นอกจากจะพัฒนาสกิลแล้วมันยังทำให้ผมไม่ลืมตัวตนเด็กๆ ที่เราเก็บมันไว้ข้างใน คือการงาน ความเครียด หรือการเป็นผู้ใหญ่มันทำให้เรื่องพวกนี้หายไปเรื่อยๆ การเขียนทำให้ผมได้เห็นประโยชน์จากการใช้จินตนาการ และได้คอนเนกต์กับเด็กคนนั้นตลอดเวลาไม่ว่าตัวเองจะแก่แค่ไหน

“สำหรับผม ‘ความเป็นเด็ก’ มันเป็นสิ่งที่มีค่ามาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนควรจะเป็นเหมือนผมนะ เวลาที่ผมคุยกับคนทั่วไปหรือเพื่อนๆ บางคนเขาอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าความเป็นเด็กหรือจินตนาการมันจำเป็นในการใช้ชีวิตมากขนาดนั้น แค่โฟกัสกับงาน กับครอบครัว แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว แต่ผมมีความสุขที่ตัวเองเป็นแบบนี้” จักร์ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม


ใครอยากรู้จัก Teemana Books เพิ่มมากขึ้น ติดตามต่อได้ที่ เฟซบุ๊กสำนักพิมพ์ เลย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ