Samun Phrai Thai ซีนสีจัดจ้านของขบวนการวัยรุ่น 3 ชาติที่อยากปกป้องสมุนไพรไทยไม่ให้สูญหาย

Highlights

  • Samun Phrai Thai คือซีนเล่มกะทัดรัดที่เล่าสรรพคุณและวิธีการใช้สมุนไพรไทยที่พบได้ในเชียงดาว ผ่านภาพวาดสีจัดจ้านและเทกซ์ประกอบภาษาไทย-อังกฤษ
  • เจ้าของซีนเล่มนี้คือ Dohee Kwon นักวาดสาวชาวเกาหลี, William Le Masurier หนุ่มลูกครึ่งอังกฤษ-ไทยผู้อาศัยอยู่ในเชียงดาว และนท พนายางกูร ศิลปินสาวไทยที่สนใจโปรเจกต์นี้จึงเข้ามาร่วมวาดภาพในฐานะศิลปินรับเชิญ
  • เป้าหมายของซีนเล่มนี้คือการเก็บรักษาความรู้เรื่องการใช้สมุนไพรท้องถิ่นเอาไว้ไม่ให้สูญหาย และนอกจากการส่งต่อความรู้ของผู้เฒ่าผู้แก่ โปรเจกต์นี้ยังส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่จาก 3 ชาติได้พร้อมๆ กัน

Samun Phrai Thai

Dohee Kwon คือสาวชาวเกาหลีผู้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2014 และตกหลุมรักเมืองไทยเข้าเต็มๆ หลังจากนั้นเธอจึงเริ่มแบกเป้เดินทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ เริ่มอาชีพนักวาดภาพประกอบ และปัจจุบันไปๆ มาๆ ระหว่างเกาหลีและไทย

William Le Masurier คือหนุ่มลูกครึ่งอังกฤษ-ไทย ผู้เคยใช้ชีวิตในอังกฤษ เยอรมนี เกาหลี ญี่ปุ่น จีน นิวซีแลนด์ และปัจจุบันย้ายกลับมาเปิดโฮมสเตย์ที่เชิงเขาในเชียงดาวคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่อยากเรียนรู้เรื่องชนเผ่าที่หลากหลาย และความเป็นไทยในแบบหมู่บ้านของเขา

นท พนายางกูร คือสาวชาวไทยที่ไม่ต้องอธิบายให้มากความทุกคนคงรู้จักดี ทั้งในฐานะศิลปินวง X0809 ที่ทำเพลงแนวทดลองสุดเพี้ยน และศิลปินผู้สนใจศาสตร์ sound healing ถึงขั้นที่ทำนิทรรศการเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ทั้งสามพบกัน เป็นเพื่อนกัน และวันหนึ่ง สมุนไพรไทยก็กวักใบชวนให้คนทั้งสามมาทำงานร่วมกัน เกิดเป็นซีนสีสันร้อนแรงที่รวมภาพวาดสมุนไพรไทยของโดฮี สรรพคุณและวิธีการใช้สมุนไพรที่วิลได้ฟังจากผู้อาวุโสในหมู่บ้าน แซมด้วยภาพเพนต์ติ้งของนทที่ไม่ได้เล่าเรื่องพืชพันธุ์โดยตรง แต่ชวนให้คิดถึงความรู้สึกเวลาสมุนไพรทำงานกับร่างกาย

สมุนไพรบางชนิดกินแล้วร้อน บางชนิดก็ออกฤทธิ์เย็น ส่วนซีน Samun Phrai Thai ของวัยรุ่นสามสัญชาตินั้นสวยงาม จัดจ้าน และมีฤทธิ์ต่อสายตาอย่างรุนแรงจนทำให้เราส่งอีเมลหาโดฮีเพื่อสั่งซื้อทันที และไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เราเลยส่งคำถามทางไกลให้เธอ (โดยมีวิลช่วยแจม) เล่ากระบวนการทำงานของขบวนการสามสัญชาติให้ฟังด้วย

คำเตือน : สมุนไพรไทยเล่มนี้มีฤทธิ์รุนแรงอาจมีผลข้างเคียงทำให้อยากสั่งซื้อในทันที โปรดบริโภคอย่างระมัดระวัง

“ฉันมาเมืองไทยครั้งแรกในปี 2014 เป็นประเทศแรกที่ฉันเดินทางคนเดียว ตอนนั้นเมืองไทยเป็นประเทศที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดสำหรับคนเกาหลี (ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น) ฉันเองก็ถูกดึงดูดด้วยภาพ ‘การท่องเที่ยว’ แบบทั่วๆ ไปของเมืองไทย พูดตามตรง ฉันคือหนึ่งในแบ็กแพ็กเกอร์วัยรุ่นประเภทที่แบกกระเป๋าเป้ใบใหญ่ ใส่เสื้อกล้ามเบียร์ช้าง และไปโผล่อยู่ตามปาร์ตี้ แต่ในที่สุดฉันก็เจอเสน่ห์ของเมืองไทยที่ต่างออกไปและรู้สึกโชคดีมากๆ ที่เป็นอย่างนั้น”

โดฮีละคำว่าเสน่ห์ของเมืองไทยไว้เป็นปริศนา แต่ถ้าให้เดาจากการเดินทางที่ผ่านมาและสิ่งที่เธอเลือกบันทึกในภาพวาด เสน่ห์ที่ว่าคงหนีไม่พ้นความเงียบสงบของธรรมชาติ โดยเฉพาะในภาคเหนือที่เธอชอบเป็นพิเศษ

“ในทริปแรกฉันเริ่มต้นการเดินทางด้วยการนั่งรถบัสจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ และแวะเที่ยวจังหวัดต่างๆ ระหว่างทาง อย่างอยุธยา พิษณุโลก สุโขทัย และลำปาง หลังจากทริปนั้นเพื่อนสนิทชาวเกาหลีของฉันก็ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ฉันเลยไปเยี่ยมเธอทุกปีและได้เที่ยวรอบๆ เชียงใหม่อยู่บ่อยๆ รวมไปถึงปาย

“ปีที่ผ่านมาฉันเจอเพื่อนใหม่จากเชียงดาวและได้สำรวจส่วนที่เหนือขึ้นไปจากเชียงใหม่ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า เราไปเที่ยวหลายอำเภอ หลายหมู่บ้าน ที่ฉันจำได้ก็มีหมู่บ้านอรุโณทัยและตำบลเมืองนะที่เชียงดาว และอำเภอฝาง”

เพื่อนใหม่จากเชียงดาวจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากวิล โดฮีเจอวิลที่เทศกาลดนตรีวันเดอร์ฟรุต ก่อนวิลจะชวนให้เธอลองไปเที่ยวโฮมสเตย์ของเขาดู แต่เมื่อรู้จักตัวตนและผลงานของเธอมากขึ้น จากเพื่อนเฉยๆ ก็กลายเป็นเพื่อนร่วมงานไปด้วย

โปสเตอร์ที่โดฮีวาดให้วงดนตรี Khruangbin

งานนี้โดฮีวาดให้ Dek Doi Chiang Dao โฮมสเตย์ของวิล

“ช่วงที่เจอโดฮี ผมกำลังอยากจะถ่ายทอดข้อมูลของสมุนไพรไทยด้วยภาพที่มีสีสันสดใสเพื่อให้คนเข้าใจง่ายอยู่พอดี” วิลช่วยตอบมาในอีเมล “ผมรู้จักสมุนไพรไทยครั้งแรกตอนไปเดินเขากับเพื่อนในหมู่บ้านที่เชียงดาว คนเฒ่าคนแก่ที่นั่นมีความรู้เรื่องสมุนไพรเยอะมาก และผมอยากบันทึกไว้ก่อนมันจะหายไป”

แรกเริ่ม วิลพาโดฮีไปฝากเนื้อฝากตัวกับพ่อทัยหรือผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่รอบรู้เรื่องสมุนไพรในเชียงดาวมากกว่าใคร และเป็นพ่อทัยผู้นี้เองที่พาโดฮีและวิลออกเดินป่าไปทำความรู้จักกับสมุนไพรชนิดต่างๆ

“เกณฑ์มีอยู่ว่าสมุนไพรชนิดนั้นต้องพบเจอได้ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในสวนครัวของคนในหมู่บ้านหรือป่าที่อยู่รอบๆ ส่วนขั้นตอนการทำซีนไม่ซับซ้อนเลย ผมแค่ถามพ่อทัยเรื่องสมุนไพรและพืชที่เขาใช้ในชีวิตประจำวัน เก็บข้อมูลคุณสมบัติของพืชเหล่านั้น แล้วก็ถ่ายรูปต้นไม้ ใบไม้มาให้โดฮีวาดรูป”

“ฉันไม่เข้าใจว่าพ่อทัยพูดอะไรหรอก” โดฮีสารภาพ​ “แต่เขาจะหยิบพืชมาให้เราดูและมันก็ช่วยได้มาก ฉันเก็บพืชบางชนิดจากสวนของเขากลับมาที่ห้องทำงานแล้วฉันก็วาดภาพออกมาเลย ทั้งหมดมี 8 ภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรง กลิ่น เรื่องราว และเอฟเฟกต์ของสมุนไพรแต่ละชนิด

“ถ้าเทียบกับการใช้สมุนไพรของคนเกาหลี จากประสบการณ์ฉันเจอแต่เรื่องที่คล้ายๆ กันนะ หรือกระทั่งคิดว่าคนไทยกับคนเกาหลีใช้สมุนไพรเหมือนกันด้วยซ้ำ เรามีชาสมุนไพรสำหรับดื่มเพื่อลดความเจ็บปวด เราป่นสมุนไพรมาใช้โปะรักษาแผล หรือใช้สมุนไพรอวยพรให้โชคดีตอนขึ้นบ้านใหม่ ตอนเรียนรู้เรื่องสมุนไพรไทยจากพ่อทัยฉันรู้สึกคุ้นเคยมากและคิดว่านั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันสนใจสมุนไพรไทยแบบลึกซึ้ง

“ส่วนนทเป็นศิลปินรับเชิญ เราเล่าเรื่องซีนเล่มนี้ให้เธอฟังและนทก็ชอบไอเดียมาก เธอก็เลยเพนต์ภาพขึ้นมาจำนวนหนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจจากสมุนไพรที่เราศึกษา”

นอกจากคุณสมบัติที่ได้ยินได้ฟัง โดฮียังได้ชิมรสและลองฤทธิ์ของสมุนไพรในโอกาสต่างๆ เช่น ที่เธอเล่าให้ BOOKMARK MAGAZINE ฟังถึงตอนได้ชิมชาใบกระท่อมที่หมู่บ้านอรุโณทัยว่า “…มันให้ความรู้สึกสบายๆ แต่ไม่เหมือนกับกัญชา เราถามพวกเขาว่ามันใช้ยังไงและตัดสินใจที่จะใส่มันลงไปในหนังสือ” หรือตอนที่รถมอเตอร์ไซค์ล้มแล้วชาวบ้านป่นใบหนุมานนั่งแท่นมาโปะแผลให้

นั่นเอง ภาพวาดสมุนไพรของเธอจึงไม่ได้เน้นความสมจริงของกิ่งก้าน ดอกใบ แต่ชวนให้รู้สึกถึงฤทธิ์ของสมุนไพรที่เธออยากให้คนที่ไม่เคยลองได้เข้าใจ

ส่วนสำหรับศิลปินที่ได้คลุกกับสมุนไพรไทยด้วยตัวเอง เรื่องที่เธอได้เข้าใจกลับมีอะไรมากกว่าสรรพคุณของพืชพรรณ

“ฉันได้เรียนรู้ว่าบางครั้งสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญอะไรถ้าดูดีๆ กลับเป็นสิ่งที่มีค่ามากๆ ได้ อย่างที่สองคือการเก็บรักษาและส่งต่อความรู้จากคนเจเนอเรชั่นก่อนนั้นสำคัญยิ่งกว่าสำคัญ​ ความรู้นั้นมันมีคุณค่าในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่การเรียนรู้มันสามารถเป็นจุดที่ทำให้คนต่างเจเนอเรชั่นมาพูดคุยกันได้และสามารถเป็นแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้ด้วย”

อ้อ! พูดถึงแรงบันดาลใจ ไม่ใช่แค่สมุนไพรเท่านั้นที่บันดาลให้เกิดซีนเล่มนี้ แต่สีสันที่เห็นในเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้โดฮีเลือกชุดสีอันร้อนแรงมาใช้ในเล่ม

ไม่ใช่แค่นั้น มันยังกลายเป็นชุดสีที่เป็นเอกลักษณ์ของโดฮีซึ่งเธออวดทุกคนว่าได้แรงบันดาลใจจากประเทศแถวนี้อย่างภาคภูมิใจ

“สีที่ฉันใช้ในซีนเล่มนี้ไม่ได้สื่อถึงเชียงดาวเท่านั้นแต่ยังสื่อความหมายถึงประเทศไทยทั้งหมด มีทั้งสีที่สื่อถึงธรรมชาติและเมืองที่คึกคัก ซึ่งเราเจอได้ทั้งคู่ในเมืองไทย แต่ฉันก็ไม่ได้อยากให้ความหมายกับสีทุกสีที่ใช้หรอกนะเพราะคิดว่าแต่ละคนก็ให้ความหมายแต่ละสีไม่เหมือนกัน อย่างสีเขียวที่คนมักใช้สื่อความหมายถึงภูเขาก็สามารถเป็นสีของเลเซอร์ในผับแนวเทคโนในกรุงเทพฯ ได้เหมือนกัน

“เวลาคนพูดถึงงานของฉันส่วนมากก็มักจะพูดถึง ‘สีสันจัดจ้าน’ เป็นอย่างแรก ฉันชอบที่งานของฉันถูกจดจำในสมองของผู้คนในฐานะสีสวยๆ และนั่นก็เป็นสิ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน สีในงานของฉันเป็นสีที่ฉันเห็นตอนเดินทางที่นั่น มันทำให้ฉันรู้สึกได้ถึงพลังงานหลากหลาย และฉันก็ชอบมันทุกสีเลยในที่สุดมันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้งานของฉัน การอยู่ในเมืองไทยจึงทำให้ฉันได้แรงบันดาลใจอยู่เสมอๆ แบบนี้จะไม่ให้รักที่นั่นได้ยังไง”


zine: Samun Phrai Thai
maker: Dohee Kwon, William Le Masurier, นท พนายางกูร

ขนาด 14.8 x 21 ซ.ม. พิมพ์ 5 สี จำนวน 28 หน้าด้วยเทคนิค Risograph โดย Witti Studio
มีจำนวนจำกัด 50 เล่ม ราคาเล่มละ 1,000 บาท สามารถสั่งซื้อได้ทางอินสตาแกรมของโดฮี kimchisuperpower

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone