ฉันเชื่อว่าถ้าย้อนไปเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ภาพ นท พนายางกูร ที่ทุกคนคุ้นชินน่าจะเป็นหญิงสาวตัวเล็กน่ารักอายุ 17 ปี ผู้พกพาเสียงร้องใสๆ และอูคูเลเล่ตัวน้อยมาขับขานบทเพลงในรายการ เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว ฉันจำได้ว่าตอนนั้นประทับใจเพลง Just Fine ที่เธอแต่งเพื่อให้กำลังใจตัวเองตอนไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศมากถึงขนาดที่ตัวเองก็ตามเชียร์
ความสดใสมีชีวิตชีวาและความเป็นตัวของตัวเองทำให้เธอมาไกลถึงขนาดคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของรายการไปอย่างสวยงาม
จากนั้นนทได้ก้าวเข้ามาทำงานในวงการบันเทิงเต็มตัว ทั้งออกอัลบั้ม ร้องเพลงประกอบละคร รับงานแสดง เป็นพรีเซนเตอร์สินค้า มีงานโฆษณาเข้ามา ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากมาย แน่ล่ะ ในสายตาคนทั่วๆ ไป เธอประสบความสำเร็จและเป็นที่จับตามองมากทีเดียว
ทว่าในสภาวะศิลปินที่มีต้นสังกัดมั่นคงและยังมีที่ทางอีกมากให้โลดแล่นในวงการนี้ นทในวัย 20 ปีต้นๆ กลับตัดสินใจออกมาทำเพลงในแบบของตัวเองหลังหมดสัญญา หลายคนรวมถึงฉันเองก็เริ่มเห็นว่าผู้หญิงคนนี้เปลี่ยนไป
เธอเปลี่ยนแนวมาทำวงกับเพื่อนผู้หญิงอีกคนเป็นเพลงเชิงทดลองแนวอิเล็กทรอนิกที่ฉีกไปจากแนวเพลงเดิมที่เราคุ้นเคย เท่านั้นยังไม่พอ ทั้งเนื้อเพลง เอ็มวี เสื้อผ้าหน้าผม และ performance บนเวที ก็เปลี่ยนไปจนหลายคนอาจจำกัดความสั้นๆ ด้วยคำว่า ‘เพี้ยน’ เลยก็เป็นได้ ราวกับว่านี่ไม่ใช่นทที่เราเคยรู้จักกันมาก่อน
ใช่ หลายคนอาจมองว่าเธอเปลี่ยนไป เธอโตขึ้น เธอติสท์แตก รวมๆ แล้วนี่มันไม่ใช่นทคนเดิมนี่!
แต่เปล่าเลย หญิงสาวคนนั้นในขวบวัย 26 บอกกับฉันว่าเธอตอนนี้ต่างหากที่เป็นนทตัวจริง นทที่ไม่ต้องกังวลเรื่องภาพลักษณ์ นทที่ไม่ได้รับการปรุงแต่ง นทที่ได้เป็นนทจริงๆ
และเมื่อเธอได้กลับมาเป็นตัวเองอย่างเต็มตัวอีกครั้ง ความฝันด้านดนตรีเริ่มเข้าที่เข้าทาง เธอจึงขยับไปหาอีกความฝันที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือความฝันด้านศิลปะที่หล่อหลอมเธอมาตั้งแต่เด็ก
Energy Diary 02 คือนิทรรศการศิลปะล่าสุดของนทในฐานะศิลปิน ซึ่งต่อยอดมาจาก Energy Diary 01 ที่จัดไปเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว นอกจากการเป็นเครื่องมือสื่อสารเกี่ยวกับความสนใจและตัวตนของเธอ ในอีกด้านหนึ่งมันคือสิ่งที่เธอต้องการใช้จรรโลงสังคมและทำให้คนอื่นดีขึ้น
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่นทพูดกับฉันในวันที่เธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จนแทบไม่เหลือท่าทีแบบเด็กๆ ในวันแรกที่ฉันเห็นเธอผ่านทีวีเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วเลย
อยากเท้าความไปถึงตอนประกวด เดอะสตาร์ฯ นทก็ดูอยู่กับดนตรีแนวแมสๆ มาตลอด อะไรที่ทำให้ย้ายมาทำดนตรีเชิงทดลอง
ตอนแรกเราเป็นคนไม่ฟังเพลงป๊อป คือฟังเพลงป๊อปแต่ไม่ได้ฟังเพลงในกระแส ก็ต้องสารภาพตามตรงว่าก่อนหน้านั้นเราไม่เคยดูรายการมาก่อน เพราะฉะนั้นก็เลยไม่รู้ว่ารายการเป็นยังไง และเราอยู่เชียงใหม่ เรียนอินเตอร์ ไม่ได้ดูทีวี เรียนเสร็จก็เล่นกีฬา อยู่กับเพื่อนๆ เล่นดนตรี วาดรูป เลยไม่ค่อยได้คลุกคลีกับวงการบันเทิงไทย
แต่ที่ไปสมัคร เดอะสตาร์ฯ เพราะเราเห็นป้ายโฆษณาติดอยู่ที่สี่แยกเดิมตลอด แล้วมันก็เหมือนฝังในหัว มันท้าทายจังเลย อยากลองดู พอเข้าไปก็เลยรู้ว่าวงการบันเทิงเป็นแบบนี้ เราไม่สามารถคอนโทรลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเราอยากทำอะไร เราต้องทำในสิ่งที่เขาบอกให้ทำ เพราะฉะนั้นตัวตนและภาพลักษณ์ของนทในตอนนั้นก็คือโดนตกแต่งมาแล้ว ไม่ได้เป็นตัวเราร้อยเปอร์เซ็นต์
ทำงานตรงนั้นมากี่ปี
5 ปี นานมาก
พอไม่ได้อินกับตรงนั้น แต่ไปอยู่ตรงนั้น นทปรับตัวยังไง
ต้องปรับตัวเยอะมาก ยอมรับว่าตอนแรกๆ ก็ซัฟเฟอร์ งง รู้สึกว่าฉันมาทำอะไร ตอนนั้นเด็กและยังมีความตื่นเต้นที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ ได้ร้องเพลงให้คนเยอะๆ ฟังในอิมแพ็คฯ แต่พอไปถึงจุดหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่าแล้วตัวตนเราหายไปไหน เราคือใคร เริ่มงงว่าแล้วเราจะทำอะไรต่อ มีความกลัวด้วย กลัวว่าถ้าเราเป็นแบบนี้ต่อไป เวลาจะครีเอตอะไรออกมา คนจะเข้าใจไหมว่าตัวตนเราคืออะไร เขาจะเชื่อไหมว่าสิ่งที่เราทำต่อๆ ไปมันคือตัวตนเราจริงๆ หรือเขาติดภาพแบบนี้แล้ว แยกแยะไม่ได้ ก็มีความเฟล มีความเศร้า มีความหมดหวัง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็สอนให้เรารู้ว่าชอบและไม่ชอบอะไร พอถึงวันที่มีอิสระ ก็ออกมาทำสิ่งที่เราชอบ
แล้วความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นตอนไหน
น่าจะช่วงที่ต้องออกเพลง เราก็เอาเพลงที่แต่งซึ่งดันเป็นภาษาอังกฤษไปให้เขาฟังว่าอยากออกเพลงแบบนี้ ปรากฏว่าสิ่งที่เราต้องทำคือออกเพลงที่เขาแต่งมา ซึ่งเราไม่มีบทบาทในการบอกเลยว่าอยากให้เพลงเกี่ยวกับอะไร เพลงแนวไหน รู้แค่ว่ามีอีเมลส่งมาบอกว่าอีก 3 วันต้องไปอัดเพลงนี้ นี่คือซิงเกิลต่อไป
และก็มาอีกจุดหนึ่งที่เริ่มรู้สึกมากขึ้นคือตอนไปร้องเพลง เราก็ร้องในแบบที่อยากจะร้อง แต่เขาบอกว่าไม่ได้ ร้องแบบนี้ไม่ได้ ร้องไม่ชัด ร เรือ ล ลิง มันต้องชัด ต้องร้องแบบนี้ๆ เท่านั้น เราเลยเริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ เราคืออะไร จริงๆ เขาไม่ได้มองเราเป็นศิลปินหรือเปล่า เขามองเราเป็นสินค้าที่ต้องตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาอยากจะขาย แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลเราเข้าใจมากๆ หลังจากโตขึ้นแล้วมองย้อนกลับไป เข้าใจว่าทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น เพราะเขารู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และเราเองก็ไม่ใช่คนลงทุนทุกอย่างที่เราทำ เพราะฉะนั้นเราไม่มีสิทธิพูด เรามีหน้าที่ทำงานให้เขา ทำตามที่เขาบอก มันก็ถูกต้องแล้ว เขาไม่ผิด
ตอนนั้นเรารู้สึกไม่เข้าใจนะ แต่ตอนนี้ก็รู้สึกขอบคุณที่ทำให้เราโตขึ้น ทำให้เข้าใจการทำงานกับคน ทำให้เรามีความอดทนและสามารถทำงานในภาวะกดดันหรือภาวะที่เราไม่ได้อยากทำ ก็ขอบคุณตรงนั้น
ช่วงไหนที่เราออกมาเป็นศิลปินอิสระและทำเพลงเอง
ประมาณ 4-5 ปีแล้วมั้ง แต่คนอาจไม่คุ้นชินเพราะเราไม่ได้แมสเหมือนเดิม เราก็ทำอะไรของเราในกลุ่มคนที่เขาเข้าใจ ก็เริ่มทำดนตรีอิเล็กทรอนิกภายใต้ชื่อ X0809 ร่วมกับเพื่อนผู้หญิงอีกคน (เยล–อัญญา เมืองโคตร) เป็นแบบบ้าคลั่งไปเลย เพี้ยนสุดโต่งเพราะต้องการลบภาพจำเราในแบบที่แมสสุดๆ
แต่มันดูเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมากเลยนะ
รู้สึกว่าในเมื่อเราแมสสุดแล้ว ต้องไปให้สุดอีกฝั่งหนึ่งเพื่อ satisfy ความต้องการของตัวเองและเพื่อลบภาพเก่า คลีนให้หมดเลยว่าเราไม่ใช่อย่างนั้น
ตอน X0809 คือตัวจริงของนทเลยใช่ไหม
เราเป็นอย่างนั้น แต่ ณ จุดนั้นเราอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนความขบถในตัวเองมันต้องการที่จะปลดปล่อย เอาจริงตอนนั้นเราก็เด็กด้วยแหละ ยังไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วภาพที่เราเป็นอยู่ก่อนหน้านี้มันก็ดีแล้วนะ คนเขาก็ชอบแล้ว แต่แค่เราเองที่ไม่พอใจกับสิ่งที่จะต้องฝืนทนมา ด้วยความที่เราเป็นคนขบถในตัวก็เลยไปอีกทางสุดโต่งเลย แล้วพอเวลาผ่านไปเราถึงมาเจอตรงกลาง
ตอนนั้นเราคิดถึงกระแสหรือปฏิกิริยาของแฟนคลับขนาดไหน
ไม่แคร์เลย ตอนนั้นคิดถึงแต่ความอยากจะปลดปล่อยตัวเอง ความอยากจะ express ตัวเองอย่างเดียว ว่าฉันต้องเอาตัวเองกลับมาอีกรอบ รู้สึกว่าตัวเองก่อนหน้านี้มันงง มันหลงทาง ต้องเอาตัวเองกลับมาในจุดที่เราสบายใจและได้ปลดปล่อยอีกรอบหนึ่ง ก็เลยทำทุกวิถีทางที่จะ express ตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด
รู้สึกยังไงบ้างพอได้อิสระในการทำเพลงเองแล้ว
โคตรสนุกเลย รู้สึกว่าเป็นช่วงที่สนุกมากๆ ที่ได้ทำเพลงเอง เพราะเรากับเพื่อนก็โปรดิวซ์ทุกอย่างเองหมดเลย เขียนทุกอย่าง ทำทุกขั้นตอนเองหมด ทั้งพีอาร์แพลน มาร์เกตติ้ง เอ็มวีจะเป็นแนวไหน ไปถ่ายที่ไหน เลือกเสื้อผ้าหน้าผม ทำทุกอย่างเองหมดเลยจริงๆ ขนาดอัพเพลงลงระบบต่างๆ เราก็ยังนั่งทำกันเอง มันก็สนุกที่ได้เรียนรู้ในทุกๆ ขั้นตอน
มีแบบที่ไม่รู้จักวงมาก่อนแล้วมาเห็นว่าเป็นนทไหม
มีๆ ตลกมาก มีคอมเมนต์หนึ่งในยูทูบที่เราชอบมาก เขาเขียนว่า มาดูแล้วนะครับ ไม่เข้าใจอะไรเลยครับ ขอบคุณมากครับ
มันทำให้นทรู้ว่ายังมีคนอีกมากที่ไม่รู้จักดนตรีแนวนี้ใช่ไหม
ใช่ แต่เราก็เหมือนได้ input ความรู้ใหม่ๆ ให้เขาว่ามันมีอะไรแบบนี้ด้วยนะ กับคนที่เขาไม่เคยเห็น ไม่เคยฟัง มาก่อนก็จะมีคอมเมนต์ทำนองว่า ขอบคุณมากที่ทำให้เราได้รู้จักดนตรีแนวใหม่ ปกติเราเคยฟังแต่แนวเพลงประกอบละครกับเพลงป๊อป ก็เป็นการเปิดโลกให้เขา
ตอนนี้ยังทำเพลงอยู่หรือเปล่า
ทำ แต่แค่ไม่ได้ทำในเชิงคอมเมอร์เชียล ที่ผ่านมาส่วนมากเราทำเพลงให้กับนิทรรศการศิลปะหรือศิลปินที่ทำโปรเจกต์ให้นิทรรศการศิลปะ เป็นซาวนด์อาร์ตมากกว่า ซึ่งเราเองก็ค้นพบว่าเราชอบ แล้วมันก็มาถึงจุดที่เราทำดนตรีอิเล็กทรอนิกและเป็นคอมเมอร์เชียลมิวสิกที่ขายได้ พอถึงจุดที่อิ่มตัว เราขี้เกียจขายแล้ว เราอยากทำอะไรที่มันไม่คอมเมอร์เชียลเท่าไหร่ ที่มัน satisfy ตัวเองในอีกเลเวลหนึ่งนั่นคือ อยากใช้ดนตรีมารักษาคน มันไม่ใช่ดนตรีบำบัด แต่เรียกว่า sound healing มีความ spiritual มากกว่า ซึ่งก็มีวิทยาศาสตร์แบ็กอัพอยู่เหมือนกัน เพราะเครื่องดนตรีที่ใช้อย่างฆ้อง โบลว์ คริสตัลโบลว์ โบลว์ที่ทำจากเหล็ก ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่ามันทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในความถี่ต่างๆ ซึ่งร่างกายของมนุษย์เรา 2 ใน 3 คือน้ำ เพราะฉะนั้นเครื่องดนตรีเหล่านี้จะไปปรับสมดุลในร่างกาย
อยากให้เล่าว่าไปสนใจและศึกษาเรื่องนี้ได้ยังไง
เราไปเจอเพราะตอนนั้นอยากทำงานศิลปะ รู้สึกว่าพอทำดนตรีทดลองเสร็จ มาเป็นคอมเมอร์เชียลมิวสิก ได้ไปแสดงที่ต่างประเทศเยอะเหมือนกัน ก็แฮปปี้ สนุกดี แต่ก็เกิดคำถามว่าแล้วยังไงต่อ สเตปต่อไปคืออยากลองกลับมาทำงานศิลปะ และพอเริ่มทำงานศิลปะได้สักพักก็รู้สึกว่าจะต้องมีท็อปปิกที่เราต้องพูดถึงมันเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาคอนเซปต์นี้ต่อไป แล้วเราอยากพูดถึงเรื่องอะไรล่ะ ก็มารีเสิร์ชและสะท้อนกับตัวเองว่าอยากพูดเรื่องพลังงาน เลยไปเรียนเรกิ คริสตัล ออร่า อะไรพวกนี้ แล้วพอเข้าไปในศาสตร์นี้มากขึ้น มันก็มีเรื่อง sound healing เข้ามา เราเป็นนักดนตรีก็รู้สึกว่ามันดีมาก พอเรียนรู้มากขึ้น เราก็อินสุดๆ จนไปเรียนที่เนปาลซึ่งเป็นจุดกำเนิดเครื่องดนตรีเหล่านี้
จากดนตรีที่เป็นความชอบและความสนุก พอมันมาช่วยในแง่จิตวิญญาณ นทได้เรียนรู้อะไรบ้าง
มันดีมาก เราเองก็ดีขึ้นด้วย เราสงบมากขึ้น ทุกครั้งที่ทำ sound healing ให้กับคนอื่น เราก็รักษาตัวเองไปด้วย เพราะเราก็ได้ยินมันเหมือนกัน แล้วจะรู้สึกว่าเรานิ่งขึ้น ผ่อนคลาย เหมือนรู้แล้วว่าถ้าเครียดหรือมีความไม่แน่นอนกับชีวิต เรามีทางออกแบบนี้ที่ไม่ต้องไปพึ่งอย่างอื่น
เมื่อก่อนเราอาจจะต้องไปพึ่งอย่างอื่นมากมาย ไปเที่ยว ไปช้อปปิ้ง ไปปาร์ตี้ เพื่อให้รู้สึกดี แต่ตอนนี้มันไม่มี มันไม่ต้อง สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่สิ่งที่ทำให้มีความสุขชั่วคราว เหมือนเรามีความสุขแค่ตรงนั้นแล้วจะโหยหามันตลอด ซึ่งจริงๆ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เฮลท์ตี้กับชีวิตเราด้วยซ้ำ พอรู้แบบนี้ เวลาเครียด ไม่มีความสุข หรือกำลังงงกับชีวิต เราสามารถใช้ sound healing หรือการนั่งสมาธิ เพื่อทำให้เรากลับสู่ภาวะปกติได้ มันก็ดีต่อตัวเองมากกว่า
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีที่ทางในซีนดนตรีกระแสหลักแล้วใช่ไหม
ไม่เลย เราอิ่มตัวของเราเอง เพราะเวลาทำดนตรีในเชิงคอมเมอร์เชียล มันมีอะไรที่ติดมามากกว่าแค่การทำดนตรี ตอนที่เราอยู่ในวงการตอนนั้น มันก็ต้องแลกด้วยการที่โลกส่วนตัวเราหายไป เรากลายเป็นคนของประชาชน แล้วพอเรามาทำดนตรีอิเล็กทรอนิกที่ไม่ได้แมสเท่าเดิม คนก็ยังรู้จักเราอยู่ดี แต่ก็จะมีอะไรเพิ่มขึ้น อย่างดนตรีแนวนี้มันต้องเล่นตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน กลุ่มคนฟังดนตรีแนวนี้ก็จะไม่ใช่แนวใสๆ เหมือนคนที่ฟังดนตรีแนวก่อนหน้านี้ที่เราทำ บางทีก็มีคนที่เมามากๆ มาดู ซึ่งเราก็ไม่ชอบเพราะตัวเองเป็นคนไม่กินเหล้า และเราก็ไม่ชอบที่จะต้องอยู่กับคนเมามากๆ มันมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เรารู้สึกว่าหรือตรงนี้มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำไปเรื่อยๆ มันอาจจะเป็นสิ่งที่เราอยากทำบ้าง แต่นานๆ ทีหรือเปล่า
แปลว่านทเองไม่ได้ยึดติดกับชื่อเสียงเก่าๆ หรือการที่คนรู้จักเรามากๆ แบบสมัยก่อน
เราเป็นคนไม่เชื่อในเรื่องความดัง ความสำเร็จ ในแง่ที่ต้องมีชื่อเสียงมากขึ้นหรืออะไรแบบนี้ เราเชื่อในเรื่องการซื่อสัตย์กับตัวตนมากกว่าว่าเราคือใคร อยากทำอะไรจริงๆ และเรามีความสุขกับการได้ทำอะไร
แล้วมาทำงานด้านศิลปะได้ยังไง
พอเราเริ่มทำงานด้านนี้ คนในวงการที่รู้จักเราอยู่แล้วเห็นก็มาชวน ซึ่งอีกหนึ่งอย่างที่เราได้จากการออกมาจากความแมสหรือความคอมเมอร์เชียลคือ เราได้รู้จักคนที่อยู่เบื้องหลัง คนที่ทำงานศิลปะ และคนที่ทำงานสายดนตรีจริงๆ มากขึ้น ได้พูดคุยกับเขา และเขาก็เห็นว่าเราไม่ได้เป็นแค่เด็กคนหนึ่งในวงการ แต่เรามีความตั้งใจในสิ่งที่ทำจริงๆ พอเขาเห็นตรงนั้น บางคนก็ชวนมาทำนู่นทำนี่
อยากให้เล่าถึงพัฒนาการทางศิลปะของนท
เมื่อก่อนก็เพนต์ทุกอย่าง เพนต์รูปสัตว์เลี้ยง รูปน้องชาย รูปตัวเอง จนกระทั่งมาถึงจุดหนึ่งที่เราอยากมีท็อปปิกที่อยากพูดถึงตลอด เกี่ยวกับอะไรสักอย่าง แล้วอยากจะพัฒนาท็อปปิกนั้นไปเรื่อยๆ ก็เลยมาได้เรื่องพลังงาน และรู้สึกว่าในช่วงแรกๆ ไม่อยากเพนต์พลังงานเป็นรูปธรรมมากในแง่รูปสัตว์ สิ่งของ หรือคน เราอยากให้เป็นแบบแอ็บสแตรกท์ไปก่อน ฉะนั้น ซีรีส์แรกๆ ในการทำงานศิลปินของเราก็เลยเป็นแอ็บสแตรกท์มากกว่า แต่ต่อๆ ไปก็อยากจะพัฒนาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทำไมนิทรรศการ Energy Diary 02 ถึงใช้ลมหายใจสร้างงานศิลปะ
ตอน Energy Diary 01 ใช้มือเพนต์แล้วรู้สึกว่ามันก็ทำไปแล้ว แล้วยังไงต่อ เราเลยอยากใช้พลังงานที่บริสุทธิ์ที่สุดของมนุษย์ ซึ่งเราคิดว่ามันคือลมหายใจ เพราะเราไม่กินข้าวก็ไม่ตาย อยู่ได้เป็นอาทิตย์ แต่ถ้าไม่หายใจปั๊บก็คือตาย การหายใจเป็นสิ่งที่อยู่กับตัวเราตลอดเวลา ขนาดนอนก็หายใจ สลบก็หายใจ มันเป็นอะไรที่เราทำอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่ามันคือพลังงานที่บริสุทธิ์ที่สุดของเราจริงๆ ขนาดเวลานั่งสมาธิ ลมหายใจก็เป็นตัวทำให้เราเข้าสมาธิได้
การใช้ลมหายใจสร้างงานศิลปะมันแตกต่างจากการใช้มือขนาดไหน
มันคือการเพนต์โดยใช้ emotional body ไม่ใช่ physical body เพราะฉะนั้นมันเหมือนการแคปเจอร์พลังงานออกมาเป็นวิชวลจริงๆ พู่กันจะขยับตามลมหายใจของคนๆ นั้น แล้วตัวคู่สีก็จะบ่งบอกความเป็นตัวของเขาได้
วางแผนในอนาคตต่อแล้วหรือยัง
อยากไปเรียนต่อ ก็ดูมหาวิทยาลัยที่ยุโรปไว้ และอยากจัดนิทรรศการอีก แต่ครั้งต่อไปอยากใช้เวลาเพนต์แต่ละงานนานๆ เพราะตอนนี้ทุกอย่างเหมือนเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วมาก แค่หายใจเข้าไปก็เกิดเป็นชิ้นงานแล้ว เราเลยอยากใช้เวลากับชิ้นงานให้มากขึ้น
อีกอย่างคืออยากทำ non-profit organization ชื่อว่า High on Your Own Supply ซึ่งคำว่า high จะใช้เวลาเมาอะไรสักอย่างมากๆ เมาเหล้า เมานู่นนี่นั่น แต่ไฮของเราในที่นี้คือมีความสุขมากๆ ดังนั้น High on Your Own Supply ก็คือไฮด้วยซัพพลายของเราเอง ในแง่นี้ไม่ใช่การเอาเหล้าหรืออะไรมาเองนะ แต่เป็นลมหายใจและพลังของเรา จะเริ่มจากแค่หนึ่งวันก่อน ตั้งแต่ตอนบ่ายๆ ให้คนมาทำ breathing exercise ทำ sound healing แล้วให้ดีเจค่อยๆ ใส่เพลงอิเล็กทรอนิก เอเลเมนต์ต่างๆ เข้ามาจนกระทั่งเป็นปาร์ตี้จริงๆ ซึ่งที่นั่นเราจะเสิร์ฟแค่น้ำเปล่าและให้คนไฮด้วยตัวเอง
ทำไมต้องเป็นน้ำเปล่า
มันเป็นเหมือนการสอนให้เขาเห็นว่าจริงๆ แล้วเขาไม่เห็นต้องการสิ่งอื่นๆ อย่างเหล้าหรือบุหรี่มาทำให้เขารู้สึกดี รู้สึกไฮ รู้สึกเต็ม เขาสามารถไฮกับตัวเองได้ และเป็นการสอนสมาธิในยุคสมัยใหม่ เป็น modern world เพราะวัยรุ่นสมัยนี้ถ้าบอกว่าสอนเรื่องสมาธิ เขาคงวิ่งหนีกันไปแล้ว แต่ถ้าบอกว่าเราจะทำการทดลองกันและมีดีเจตอนจบด้วย ไปหรือเปล่า เขาก็ไปอยู่แล้ว เป็นการ input ข้อมูลดีๆ เข้าไปในหัวเขา และเราเองก็อยู่ในวงการดนตรีมานาน เราเห็นเวลาไปคอนเสิร์ตหรือไปเล่นดนตรี แน่นอนว่าต้องคู่กับการเสิร์ฟแอลกอฮอล์ ซึ่งเรารู้สึกว่าบางคนไปคอนเสิร์ตเพื่อไปกินเหล้าด้วยซ้ำ ไม่ได้ไปฟังเพลง บางคนบอกว่าวันนี้ไม่อยากไปคอนเสิร์ตเลย ถามว่าทำไม ก็บอกว่าไม่อยากกินเหล้า ซึ่งมันไม่ใช่ การไปคอนเสิร์ตเราไปเพื่อฟังเพลง ไม่ใช่ไปกินเหล้า คือบางคนเขายังแยกไม่ได้
มาเริ่มมีแนวคิดเรื่องการไม่พึ่งพาตัวเองนานหรือยัง
ประมาณ 2 ปีแล้ว เริ่มเข้ามาศึกษาเรื่องนี้เพราะในยุคปัจจุบันมีสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เราหลงระเริงได้เยอะมาก ไม่ว่าจะปัจจัยภายนอก เทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และสิ่งต่างๆ เต็มไปหมด เรารู้สึกว่าคนควรกลับมาอยู่กับตัวเอง ควรจะมีความสุขกับตัวเองได้ อีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ปัจจุบันคนบริโภคเยอะมาก ไม่ใช่แค่กิน แต่รวมถึงการช้อปปิ้งต่างๆ ซื้อกันเยอะจนตอนนี้โลกจะตายแล้ว
เราคิดว่าถ้าคนเราพอใจในตัวเองและไม่ต้องการปัจจัยภายนอกก็จะไม่ต้องไปบริโภคมากขึ้น ไม่ต้องไปเบียดเบียนสิ่งต่างๆ ไม่ต้องไปเบียดเบียนธรรมชาติ หรือไปเบียดเบียนคนรอบข้างให้ผลิตอะไรมากขึ้นด้วยเช่นกัน
นทเลยเลือกที่จะสื่อสารเรื่องนี้ผ่านงานศิลปะด้วย ถูกไหม
เราก็อยากทำงานที่ทำให้คนตระหนักถึงธรรมชาติและรักธรรมชาติมากขึ้น แต่ถามว่ามันคือแพสชั่นทั้งหมดไหม ก็ยังไม่ใช่ เราเลยคิดว่าจะใช้งานศิลปะนี้สื่อให้คนเต็มกับตัวเองก่อน เพราะถ้าคนเต็มกับตัวเองปั๊บ เขาก็จะเบียดเบียนธรรมชาติน้อยลงไปเอง เป็น butterfly effect ต่อไป
แล้วคิดว่าตอนนี้เต็มกับตัวเองหรือยัง
น่าจะประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกของกิเลสและวัตถุนิยม เรายังทำงานอยู่ตรงนี้ เรายังทำงานแฟชั่นที่มีคนส่งเสื้อผ้ามาให้ตลอด เรายังมีความอยากได้อันนี้ๆ อยู่ แต่ก็ไม่ค่อยซื้อแล้ว ช้อปปิ้งน้อยลงมากๆ พยายามมีสติกับทุกๆ สิ่งที่เข้ามา
เห็นว่าในนิทรรศการมีชิ้นงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก sand mandala ที่พูดเรื่องความไม่ยั่งยืนของชีวิตด้วย
เราชอบเรื่องนี้มาก เลยเอาทรายสีมาเล่นด้วย เป็นการปัดทรายลงไปสู่งานข้างล่างแทนการเพนต์ และด้วยความที่เราชอบคริสตัลอยู่แล้วก็เอามาใช้ในงานด้วย ทีนี้พอเริ่มทำงานกับมันดาลามากขึ้นก็อยากทำของตัวเองบ้าง เลยเอาอะคริลิกมาเลเซอร์คัตเป็นลายมันดาลาที่เราออกแบบเอง และค่อยๆ เททรายลงในนั้นกลายเป็นลวดลายสวยงาม เราทำฟังก์ชั่นของงานนี้ให้หมุนได้เหมือนนาฬิกาทราย ทุกครั้งที่หมุนทราย สีจะผสมกันไปเรื่อยๆ จนไม่เหลืออะไรเลยเหมือนที่เขาปัดทรายสวยๆ ให้หายไป ก็พูดถึงเรื่องความไม่แน่นอนของชีวิตเหมือนกัน และอีกเรื่องก็คืออะไรก็ตามที่เราไปยุ่งกับมันมากเกินไป มันก็จะพัง
จากที่ฟัง นทดูปลงมากขึ้น
มันไม่มีอะไรแน่นอนในชีวิต วันนี้ดี พรุ่งนี้อาจจะไม่ดีก็ได้ เราก็ต้องรับมันให้ได้
เหมือนไปทางธรรมะมากในวัย 26 ปี
เราไม่มีศาสนานะ เราเชื่อในทุกศาสนาเลย รู้สึกว่าทุกศาสนามีข้อดีของมัน แต่เราจะไม่ให้งานเราเอนไปทางศาสนามากเกินไป เพราะคนบางกลุ่มจะไม่อิน ซึ่งเราอยากให้งานเราเข้าได้กับทุกคน ต้องการสื่อสารเรื่องนี้ว่ามันดีกับทุกคนจริงๆ ถ้ามีศาสนา คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่อินกับศาสนานี้จะปิดทันที เราก็เลยพูดถึง spiritual ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นแบ็กอัพ
ถ้าสังเกตงานของเราแม้จะดู spiritual มาก แต่มีเดียมหรือการทำงานจะเป็นเทคโนโลยีหมดเลย ไม่ว่าจะมอเตอร์ โค้ดดิ้ง การใช้ไฟ เพราะเราต้องการจะโชว์ว่ามันมีบาลานซ์ระหว่างสองโลกได้เช่นกัน
จากจุดที่มีชื่อเสียงและทุกคนรู้จักจนกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง นทได้เรียนรู้อะไรบ้าง
มันคือการไม่ยึดติด ไม่มีอีโก้ และไม่ตัดสินคน ไม่ยึดติดในแง่นี้คือเราไม่ยึดติดในชื่อเสียง ในความที่ฉันเคยเป็นนท ฉันเคยอยู่บนบิลบอร์ดนี้ ฉันเคยมีคนรู้จักมาก เราจะไม่ยึดติดกับตรงนั้นและจะไม่คิดว่าเราคืออันนั้น เราจะคิดว่าเราคือมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เท่าเทียมกัน และเรารู้สึกว่าอีโก้มันแย่มาก ทุกครั้งที่รู้สึกว่ามีอีโก้ เราจะพยายามกดมันกลับไปในที่ที่มันควรอยู่ เพราะทุกคนมีอีโก้อยู่แล้ว
มันยากหรือเปล่า เพราะคนเป็นศิลปินก็น่าจะต้องมีอีโก้ประมาณหนึ่ง
ไม่เกี่ยว เราเชื่อว่าคนสามารถประสบความสำเร็จ สามารถมีพาวเวอร์ สามารถมีชื่อเสียงได้ โดยที่ไม่ต้องมีอีโก้ มันมีวิธีนั้น ทุกคนอาจไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าต้องนิสัยไม่ดี กดขี่คน คนถึงเชื่อฟัง หรือทำให้เรามีพลังมากขึ้น แต่เราเชื่อว่าความดีน่าจะทำให้คนเชื่อฟังเราได้เหมือนกัน