ความรู้สึก
ที่รอคอย
การเปิดอ่าน
คำโปรยสั้นๆ บนปกสีขาว-ฟ้าสะอาดตาของนิยายเรื่อง Last Letter จดหมายรักฉบับสุดท้าย บอกใบ้สิ่งที่เราจะเจอข้างในเล่ม
ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ, คำโปรยนี้บอกใบ้เอกลักษณ์หนังสือสำนักพิมพ์ Biblio เช่นกัน
Biblio คือกลุ่มคนทำหนังสือน้องใหม่ที่คนในวงการสิ่งพิมพ์อาจคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เพราะ จี–จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แห่งนี้คือผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือติดชาร์ตขายดีหลายเล่มจากเครือโมโน กรุ๊ป ทั้งน็อนฟิกชั่นอย่าง อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ นิยายแปลสัญชาติญี่ปุ่นเรื่อง พรุ่งนี้ผมจะเดตกับเธอคนเมื่อวาน นิยายฮิตในอดีตที่เอามาตีพิมพ์ใหม่อย่าง ความลับ และหนังสือหลายร้อยรายชื่อที่เชื่อว่าคุณต้องเคยเปิดอ่านสักเล่ม หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องเห็นผ่านตากันสักปก
หลังจากทำงานให้เครือโมโน กรุ๊ปมา 5 ปี สำนักพิมพ์ก็ยุติบทบาทของตัวเองลงในเดือนมกราคม 2563 จีระวุฒิจึงชวน บิ๊ก–วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร เพื่อนร่วมงานเก่ามาเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ร่วมกัน ด้วยความตั้งใจอยากทำหนังสือแปลที่มีรสชาติถูกปากคนไทย อ่านเมื่อไหร่ก็สนุก พร้อมสโลแกน ‘It’s not just about books.’
เพราะพวกเขาเชื่อว่าหนังสือไม่ใช่แค่หนังสือ แต่มันอาจเป็นบางสิ่งบางอย่างที่พาคนอ่านไปได้ไกลกว่านั้น
แม้จะนิยามตัวเองว่าเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ แต่ Biblio ก็แบ่งตัวเองออกเป็น 2 สำนักพิมพ์ย่อยเพื่อเจาะตลาดคนอ่านที่แตกต่างกัน หนึ่งเดือนหลังจากก่อตั้ง สำนักพิมพ์แรกที่เน้นกลุ่มคนอ่านนิยายนาม Bibli ก็ออก Last Letter จดหมายรักฉบับสุดท้าย นิยายต้นฉบับของภาพยนตร์รักฝีมือผู้กำกับชื่อดัง อิวาอิ ชุนจิ และมีกระแสตอบรับดีจนพวกเขาต้องรีบคลอด Her Name is ชื่อของเธอคือ… รวมเรื่องสั้นจากปลายปากกาผู้เขียน คิมจียอง เกิดปี 82 ซึ่งแม้จะเปิดตัวในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด เล่มนี้ก็ยังพุ่งทยานขึ้นติดท็อปชาร์ตของร้านหนังสือหลายร้านตั้งแต่วางแผง
เดือนถัดมา วะบิ ซะบิ: แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ก็ออกมาแนะนำตัวกับผู้อ่านในฐานะหนังสือเล่มแรกของ Be(ing) สำนักพิมพ์อีกแห่งในเครือที่เจาะตลาดน็อนฟิกชั่น แล้ววะบิ ซะบิ ก็กลายเป็นดาวเด่นบนชาร์ตเคียงข้างกับหนังสือดังจากสำนักพิมพ์ใหญ่ได้อย่างไม่เคอะเขิน
Biblio ทำให้เรานึกถึงประโยค must have done something right ถ้าแปลเป็นไทยตรงๆ ก็คงประมาณว่า คงไปทำอะไรถูกสักอย่าง (เลยไปได้สวยขนาดนี้)
พวกเขาทำบางสิ่งที่ว่านั้นยังไง เราชวน จีระวุฒิ เขียวมณี หัวเรือใหญ่ของ Biblio มาสนทนาเรื่องการทำหนังสือให้จับหัวใจคนอ่าน
5 ปีกับการทำงานในเครือโมโน กรุ๊ป คุณได้เรียนรู้อะไรจากที่นั่นบ้าง
ที่โมโน เราได้เรียนรู้ว่าถ้าคุณจะทำหนังสือให้ขายได้และดีด้วยต้องทำยังไง เนื่องจากเขาให้อิสระเราเยอะในการจะเลือกทำหนังสือ แต่มันก็แลกมากับความเหนื่อยเหมือนกัน เพราะโมโนไม่ได้ถนัดการทำพ็อกเก็ตบุ๊กมาตั้งแต่แรก การเข้าไปเหมือนนับหนึ่งใหม่เลย แต่ก็เป็นการนับหนึ่งที่ทำให้กระดูกเราแข็งขึ้น
เราเรียนรู้ว่าการทำพ็อกเก็ตบุ๊กไม่ใช่เน้นความสนุกอย่างเดียว คุณต้องมองถึงรายได้ เทรนด์ และคุณค่าของหนังสือแต่ละเล่มที่คุณปล่อยออกมาด้วย การเลือกหนังสือแต่ละเล่มมาทำมันเหมือนการทำอาหาร เราต้องรู้ก่อนว่าเราทำให้ใครกิน เราเห็นกลุ่มคนอ่านแล้ว เรารู้แล้วว่าโอเค เราจะเหยาะซอสเท่านี้ ใส่หมูเท่านี้ ส่วนผสมต่างๆ ที่ปรุงลงไปต้องพอดีคำกับกลุ่มคนอ่าน เราไม่ได้ทำหนังสือออกมาเพื่อให้คนทุกคนอ่านแล้วชอบเหมือนกันหมด ไม่ เราทำเพื่อคนกลุ่มไหนเราก็ทำให้คนกลุ่มนั้นเสมอ
เราทำมาหลายร้อยเล่ม จนกระทั่งตอนที่ได้ทำนิยายแปลเรื่อง Tomorrow I will date the yesterday’s you : พรุ่งนี้ผมจะเดตกับเธอคนเมื่อวาน ซึ่งกลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดีประจำปีของคิโนะ ทำให้เราคิดว่าน่าจะจับทางถูกแล้ว
กดดันไหมกับการนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
กับ Biblio เรามองว่าเราไม่ได้นับหนึ่งนะ เท้าความก่อนว่า ตอนที่เริ่มกับโมโน เราผ่านงานนิตยสารกับพ็อกเก็ตบุ๊กชีวประวัตินักดนตรีมา เรารู้สึกว่าตัวเองยังไม่เก่ง ตอนนี้ก็ยังไม่เก่ง (หัวเราะ) แต่เราอยากพิสูจน์ตัวเองมากๆ ว่าถ้าต้องทำสำนักพิมพ์เองโดยที่เราไปอยู่ในสนามใหญ่ขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือทำให้สำนักพิมพ์ติดตลาด เราจะทำได้ไหม ตอนนั้นมันคือนับหนึ่งจริงๆ
แต่กับ Biblio เราผ่านการทำหนังสือมาในระดับหนึ่งแล้ว เราค่อนข้างมั่นใจมากๆ ว่านี่คือการนับหนึ่งในเลเวลที่สูงขึ้นกว่าเดิม มันท้าทายกว่าเดิม สนุกกว่าเดิมด้วย ข้อดีคือ 5 ปีที่โมโนเรารู้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็น ตอนมาทำ Biblio ก็ตัดออกเลย
แล้วอะไรคือสิ่งที่จำเป็นในการทำหนังสือให้ติดตลาด
ต้องรู้ว่าโจทย์ของสำนักพิมพ์เราคืออะไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร
Biblio แบ่งเป็น 2 แบรนด์คือ Bibli กับ Be(ing) กลุ่มลูกค้าแบรนด์แรกคือคนที่ชอบอ่านนิยายแปลจากฝั่งเอเชีย เริ่มต้นด้วยนิยายญี่ปุ่นซึ่งเป็นแม็กเน็ตดึงดูดลูกค้าได้ตลอด ต่อด้วยการเปิดตลาดกับเกาหลี เพราะนอกจากภาพยนตร์ที่มาแรงอยู่แล้ว นิยายเกาหลีก็มาแรงไม่แพ้กัน สุดท้ายคือนิยายไต้หวัน ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป
ทำไมถึงเจาะกลุ่มตลาดนิยายเอเชีย
เพราะกลิ่นนิยายเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ค่อนข้างถูกจริตกับคนไทย อย่างนิยายญี่ปุ่นนี่ฮิตในหมู่คนอ่านตลอด เพราะนักเขียนญี่ปุ่นเก่งในการสร้างพล็อตและเล่าเรื่อง อีกทั้งคนไทยมีมุมมองที่ดีกับประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก เราโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่นจนพาเรามาสู่การอ่านหนังสืออื่นๆ ทำให้เชื่อมโยงได้ง่าย
ทำไมหนังสือที่เคยพิมพ์มาก่อนถึงกลับมาขายดี ยกตัวอย่างเล่มหนึ่งที่เคยทำและชัดเจนมากคือ ความลับ ของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ ซึ่งพิมพ์มาสิบกว่าปีแล้ว ในยุคนั้นขายดีมาก เราเองก็มีฉบับเก่า แต่พอสิบปีหลังเราซื้อลิขสิทธิ์มาทำใหม่ ฟีดแบ็กดีมากจนต้องพิมพ์ซ้ำ เราก็จับทางได้แล้วว่า คนไทยค่อนข้างเซนซิทีฟกับพล็อตเรื่องครอบครัวเยอะ ถ้ามันถูกเล่าด้วยประเด็นที่แหลมคมคนอ่านจะชอบ
นิยายญี่ปุ่นหลายเล่มเล่าเรื่องสนุก มีพล็อตที่แข็งแรง น่าสนใจ และไม่เชย ไม่ว่าจะอ่านเมื่อสิบปีที่แล้ว ความลับ ก็ยังไม่เชยเลย ขนาดคุณแสตมป์ อภิวัชร์ เขาก็ชอบมากจนเอามาทวีต เรารู้สึกว่าคนอ่านไม่ว่าเจนฯ ไหนถ้าเขาเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่เป็นสากลได้เขาก็จะอ่าน เด็กรุ่นต่อมาก็อ่านต่อได้ เราว่าญี่ปุ่นค่อนข้างเก่งเพราะวัฒนธรรมในการอ่านการเขียนของเขามันแข็งแรงมากๆ จนผลผลิตที่เขาสั่งสมออกมา มันสามารถเก็บกินและใช้ได้ตลอด ของบางอย่างเราขายคนในยุคนี้ได้ ขายคนในยุคต่อไปก็ได้ ญี่ปุ่นเป็นอย่างนั้น
จุดร่วมของหนังสือ Bibli คืออะไร
พออายุเพิ่มขึ้น เรารู้สึกว่าเราอยากทำหนังสือที่มีคุณค่ากับคนอ่าน อย่าง Last Letter พอเราได้อ่านต้นฉบับ เรารู้สึกเลยว่ามันเป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตคนได้นะ คล้ายๆ ว่ามันสามารถที่จะแก้บั๊กบางอย่างในใจคนอ่านได้เหมือนกัน
เหมือนเจอเล่มที่ใช่
ใช่ ซึ่งหนังสือเล่มนั้นอาจไม่ได้มีเรื่องราวตรงกับชีวิตเราไปทั้งหมด แต่เงื่อนไขบางอย่างที่ตัวละครเจอในเรื่องอาจเป็นเงื่อนไขเดียวกับที่ชีวิตคุณเจออยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเราอ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่มากก็น้อยหนังสือจะช่วยปลดล็อกบางอย่างได้
เราอยากทำหนังสือที่มันช่วยทลายกำแพงบางอย่างในจิตใจคนอ่านลงไปได้ และก็เป็นหนังสือที่เขาอยากเก็บมันไว้ และเขาอยากพูดถึงมันไปนานๆ อยากเป็นหนังสือที่เขาเก็บไว้บนชั้นหนังสือของเขาไปเรื่อยๆ ว่างก็หยิบมาอ่านอีก
แล้ว Be(ing) ล่ะ ต่างจาก Bibli ยังไง
ถ้า Bibli คือนิยาย Be(ing) ก็จะเป็นน็อนฟิกชั่น หนังสือในกลุ่ม Be(ing) เป็นหนังสือที่ตอบโจทย์ในเรื่องการนำเสนอความรู้ที่หลากหลาย เพราะโลกในยุคนี้คนเราไม่สามารถรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้แล้ว และเราต้องเรียนรู้ความรู้จากหลายๆ ศาสตร์ และเอามาผสมกับแนวคิดของเราในการปรับใช้กับโลกในวันข้างหน้า โดยเฉพาะในยุคนี้ที่โลกข้างหน้ามันอาจไม่เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นการมีความรู้ที่หลากหลายจะช่วยเราได้
หนังสือของ Be(ing) มีทั้งแนวปรัชญาอย่างวะบิ ซะบิ มีประวัติลีโอนาร์โด ดา วินชี มี Origin Story ที่เป็นแนวเดียวกับ เซเปียนส์ พูดถึงการกำเนิดโลกจักรวาล เล่มนี้ดังเพราะเป็น 1 ใน 5 เล่มที่บิล เกตส์ แนะนำให้เป็นหนังสือที่น่าอ่านที่สุด
Be(ing) มีเกณฑ์การเลือกต้นฉบับยังไง
เราพยายามเลือกหนังสือที่ไม่น่าเบื่อ เช่น Leonardo da Vinci ของ Walter Isaacson คนเขียน สตีฟ จ็อบส์ เพราะในบรรดาประวัติลีโอนาร์โดทั้งหมดทั้งมวล เล่มนี้เล่าชีวประวัติของดาร์วินชีในมุมที่เราไม่เคยรู้มาก่อนหลายเรื่องมาก เขาเล่าสนุก คิดว่าคนยุคนี้จะกลับมาสนใจงานของดาร์วินชีมากขึ้นด้วยจากการอ่านเล่มนี้แน่ๆ หรือกระทั่ง วะบิ ซะบิ เหตุผลที่เราเลือกเหมือน อิคิไก คือมันเป็นหนังสือปรัชญาแบบญี่ปุ่นในยุคสมัยใหม่ที่ไม่ใช่ปรัชญาเพียวๆ แบบเมื่อก่อนแล้ว แต่มีการเอามาปรับใช้ในการเยียวยาจิตใจเวลาเจอปัญหาวะบิ ซะบิ เล่มนี้จะแตกต่างจาก วะบิ-ซะบิ ของสำนักพิมพ์ openbooks โดยจะเน้นจิตวิทยาพัฒนาตัวเองมากขึ้น จะมาทางเดียวกับ อิคิไก และ คินสึงิ ที่เคยทำมาก่อน
นอกจากเนื้อหา มีองค์ประกอบไหนอีกไหมที่คุณให้ความสำคัญ
หน้าปก ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและเหนื่อยที่สุด ด้วยเทรนด์คนอ่านในยุคหลังเขาไม่ได้ชอบหนังสือที่เนื้อหาอย่างเดียว แต่ชอบแพ็กเกจที่ดูดี น่าถือ เราก็ต้องศึกษาเทรนด์การออกแบบปกหนังสือว่ามันไปทางไหน ซึ่งเราก็โชคดีที่ว่าได้ร่วมงานกับนักออกแบบเก่งๆ เยอะตั้งแต่อยู่โมโน
สำหรับเรา ปกที่ดีคือปกที่เล่าเรื่องได้ ไม่ใช่สวยแต่ไม่เข้ากับเรื่อง หน้าปกแบบนี้จะทำให้คนอ่านคาดหวังกับเนื้อเรื่องข้างใน อย่างน้อยปกมันควรจะไกด์ความคาดหวังของคนอ่านได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ เรายังแทรกความพิเศษอื่นๆ ลงไปในเล่มเพื่อให้คนอ่านรู้สึกพิเศษ อย่างตอนที่เราทำ Last Letter ก็มีโปสต์การ์ดและซองจดหมายด้วย เรารู้สึกว่ามันเป็นความใส่ใจว่าถ้าเราทำหนังสือเกี่ยวกับจดหมาย คนอ่านก็น่าจะได้รับจดหมายจริงๆ จากสำนักพิมพ์ด้วย มันก็เป็นการสื่อสารระหว่างเรากับคนอ่าน
พอมี 2 สำนักพิมพ์ย่อยที่มีกลุ่มคนอ่านแตกต่างกันชัดเจนแบบนี้ การวางแผนกลยุทธ์ของการโปรโมตต้องยากแน่ๆ
ท้าทายมาก เพราะยุคนี้ทุกคนขายของเก่ง เราเองถึงจะทำงานมานาน แต่พอโปรโมตแบรนด์หนังสือใหม่ๆ เราก็ต้องใช้เวลากับมันค่อนข้างเยอะ กลยุทธ์ของเรา เรามองว่าเราสร้างภาพจำให้ว่า โอเค ถ้าคุณอ่าน Bibli คุณก็จะได้อ่านเรื่องราวประมาณนี้ โซเชียลมีเดียเราก็มีทุกช่องทางนะ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ หรือเว็บไซต์ออนไลน์สั่งหนังสือของเรา
เรารู้สึกว่าจุดที่ทำให้คนจำเราได้คือปกติแล้วสำนักพิมพ์อื่นๆ จะไม่ค่อยเอาลิสต์ของปีนั้นมาโชว์ อย่างเรา โชว์ตั้งแต่แรกเลย เราโชว์เลยเพราะรู้สึกว่าจะกั๊กไปทำไม ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าจะทำอะไร ตอนเราโปรโมตลิสต์บุ๊ก คนอ่านสนใจมาก ทั้งที่ตอนนั้นเรามีหนังสือออกแค่เล่มเดียว แต่พอโปรโมตไลน์อัพพวกนี้ออกไปกลายเป็นว่ามันเป็นการสร้างแบรนด์ โปรโมตแบรนด์ของเราในระยะสั้นทั้งที่เราไม่มีหนังสือออกเลย แต่ว่ามันเหมือนเป็นพันธะสัญญาเกิดขึ้นว่า ปีนี้คุณจะได้อ่านทุกเล่มที่เห็นในลิสต์นี้
ข้อดีคือคนจำได้ แล้วมีข้อเสียบ้างไหม
ไม่มีนะ เพราะคนอ่านยังไงเขาก็อยากรู้อยู่แล้ว เขาหลังไมค์มาตลอด เล่มนี้จะออกเมื่อไหร่ เรารู้สึกว่าเออ เราก็เห็นความสนใจของคนอ่าน มันดีนะ เพราะรู้สึกว่าการที่เขาสนใจเราน่าจะมาถูกทางแล้วล่ะในการที่ลงโปรโมตแต่ละเล่มออกไปก่อน แล้วเราก็ทยอยออกมา
ระหว่างหนังสือที่ดังมาก ซื้อมาจะขายได้แน่ๆ กับหนังสือที่ดีมากๆ แต่ไม่ค่อยดัง คุณมีแนวโน้มจะซื้อแบบไหนมามากกว่ากัน
เราไม่สามารถจะทำหนังสือทุกแนวได้ ถึงจะทำหลายสำนักพิมพ์แต่เราก็ต้องรู้ว่าคนอ่านเป็นใคร ตอบโจทย์คนอ่านเราให้ได้ก่อน ด้วยความที่เราเป็นคนอ่านมานาน เรารู้ว่าสำนักพิมพ์ยิปซี สามัญชน ผีเสื้อ หรือเม่นวรรณกรรม เขาทำหนังสือประเภทไหน เสิร์ฟคนอ่านกลุ่มไหน เราเห็น เพราะเราเองก็เป็นลูกค้าเขา ทาร์เก็ตของแต่ละสำนักพิมพ์จะชัดเจนอยู่แล้ว
ถ้าเป็นวรรณกรรมระดับขึ้นหิ้งมากๆ เราก็อาจจะไม่ไปแตะตรงนั้นมาก อาจจะเบาลงมาหน่อย ให้อ่านง่าย ไม่ใช่เพราะเราไม่อยากทำ แต่เรามองว่ามีสำนักพิมพ์อื่นที่ทำได้ดีกว่าเรา เพราะเขามีกลุ่มเป้าหมายของเขาชัดเจนกว่า เราไม่จำเป็นต้องไปแย่งทำ เรารู้สึกว่าเราทำในไลน์ของตัวเองก็มีคนสนใจอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันเป็นข้อดีที่ว่าในเมื่อแต่ละสำนักพิมพ์ทำหนังสือที่หลากหลายไป วงการก็มีหนังสือที่หลากหลาย เพราะยังไงถ้าคุณไปเดินงานหนังสือ คุณก็จะเดินวนไม่หมด ไม่ว่าจะเดินมติชน อมรินทร์ คุณก็วกกลับมาสำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างบุ๊คสเคปได้ เพราะฉะนั้นแล้วไม่จำเป็นเลยที่ทุกคนต้องทำหนังสือเหมือนกันเพื่อกลุ่มเดียวกันหมด ใครถนัดสายไหนก็ทำสายนั้นไป มันจะเกิดผลดีกับภาพรวมวงการมากกว่า
หลายคนบอกว่าตอนนี้คือช่วงที่วงการหนังสือซบเซา ทำไมถึงเลือกเปิดสำนักพิมพ์ในช่วงเวลาแบบนี้
การทำสำนักพิมพ์เป็นสิ่งที่มีเสน่ห์นะ คือการที่เราทำหนังสือแต่ละเล่มออกมา วิธีคิดก็คล้ายๆ ทำหนังเรื่องหนึ่ง มันมีเรื่องให้ตื่นเต้นได้ตลอด กระทั่งการผิดพลาดก็ตื่นเต้นเหมือนกัน ส่งต้นฉบับไม่ทัน พิมพ์เข้าโรงพิมพ์ช้า ก็ตื่นเต้นเหมือนกัน เราเชื่อว่าถ้าไปถามบรรณาธิการสำนักพิมพ์ท่านอื่นว่าทำไมเขาถึงเลิกทำกันไม่ได้ ทั้งที่บางช่วงอาจแย่ บางช่วงเขามองว่านอกจากธุรกิจนี้ที่มันไปได้ เขาก็มองอีกทางหนึ่งด้วยว่าการทำหนังสือมันก็สนุกนะ สนุกกับการควบคุม กำหนดทุกๆ อย่าง รายละเอียดทุกๆ อย่างที่จะปรากฏในเล่มนี้ให้คนอ่านได้ มันสนุกในขั้นว่าเราก็อยากลุ้นเหมือนกันว่าคนอ่านจะชอบไหม จะถูกใจไหมนะ หรือถ้ามีอะไรที่เขาไม่ถูกใจ เราจะมาปรับตรงไหนดี ตรงนี้เราว่ามันเป็นเสน่ห์และเป็นความท้าทายของคนทำหนังสือ
คุณทำงานหนังสือมาเยอะ อยากรู้ว่าหนังสือที่ดีคืออะไรในความหมายของคุณ
(นิ่งคิด) อย่างแรกคือคนตั้งใจซื้อไปอ่านจะต้องไม่ผิดหวัง หรือได้อะไรบางอย่างที่เกินความคาดหวังกลับไป เรารู้สึกว่าหนังสือดีหรือไม่ดีอยู่ที่มันทำหน้าที่กับคนอ่านได้มากแค่ไหน เราไม่ได้มองว่า อิคิไก จะมีคุณค่ามากกว่า Last Letter
จิตใจคนเรามีหลายมิติ หนังสือบางเล่มก็เหมาะกับจิตใจเราในแต่ละช่วงเวลา บางเวลาเราอาจต้องการเล่มที่หนักหน่วงหรือหนักแน่น เล่มที่ดึงเรากลับมาสู่ความเป็นจริง บางทีเราต้องการเล่มที่ดึงเราออกไปสู่โลกที่สามารถจินตนาการต่อได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็กลับไปจัดการกับความรู้สึกตัวเองที่ค้างคาได้บ้าง
หนังสือดีคือหนังสือที่มอบช่วงเวลาให้เราจัดการกับตัวเองได้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ดูถูกหนังสือว่าหนังสือประเภทไหน เพราะคนอ่านมีทุกประเภทอยู่แล้ว
3 เล่มที่ใช่ของจีระวุฒิ
ถ้าหนังสือที่ใช่ช่วยปลดล็อกความรู้สึกบางอย่างในใจคนอ่านได้ เราชักอยากรู้แล้วว่าหนังสือเล่มนั้นของจีระวุฒิจะเป็นเล่มไหน เลยเอ่ยปากขอ 3 เล่มกระทบใจที่เขาอยากแนะนำ
นี่คือ 3 เล่มนั้นที่ปลดล็อกบางอย่างในใจของเขา และถ้าลองอ่านดู ไม่แน่ว่ามันอาจทำงานกับคุณได้เหมือนกัน
สูญเสียแค่ไหน ก็ไม่เสียศูนย์
กาย วินช์ เขียน
วรรธนา วงษ์ฉัตร แปล
“เล่มนี้คืองานเก่าของผมตอนยังทำงานอยู่ที่โมโน จัดอยู่ในกลุ่มของเทกซ์บุ๊กอ่านง่าย อ่านแล้วได้รู้ว่าการเยียวยาจิตใจที่แตกสลายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันอย่างมาก บางเรื่องที่คนอื่นอาจมองว่าไม่เป็นไร ความจริงแล้วมันเป็น เช่นเรื่องเลี้ยงหมา แมว วันหนึ่งสัตว์เลี้ยงตาย ใครๆ ก็มองว่าธรรมดา เราไม่มีทางรู้เลยว่าระดับของความบาดเจ็บทางจิตใจของเจ้าของมากเท่าไหร่ และเราไม่สามารถเอาบรรทัดฐานปกติของสังคมไปวัดได้
“หนังสือเล่มนี้บอกวิธีการที่คนใกล้ตัวจะช่วยเยียวยา ประคับประคอง หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำให้เขาบาดเจ็บมากกว่าเดิม เป็นเล่มที่เราไม่ได้คาดหวังว่าผลตอบรับจะดี แต่ออกมาแล้วเกินคาด เป็นเล่มที่ผมทำแล้วชอบมากที่สุดเล่มหนึ่งเลย”
อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่
เคน โมงิ เขียน
วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล
“ตอนเราซื้อลิขสิทธิ์เล่มนี้มาทำ เทรนด์ของหนังสือปรัชญาญี่ปุ่นยังไม่มานะ แต่เหมือนเรามองเห็นว่าวิถีชีวิตปกติธรรมดาของคนญี่ปุ่นมีเรื่องน่าสนใจซ่อนอยู่ อาจารย์เคน โมงิ จับประเด็นของปัญหาชีวิตมาเขียนเพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาชีวิตคน อ่านแล้วเหมือนมีใครมาจุดเทียนในห้องที่มันมืดๆ เรามั่นใจว่าคนต้องชอบ
“ตอนทำเราใส่ใจกับการเลือกทุกๆ อย่าง เลือกพี่อ๋อง (วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ) มาเป็นคนแปล เพราะพี่อ๋องเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ตั้งคำถามกับชีวิต ค้นหาชีวิตผ่านงานที่ทำตลอดเวลา ชื่อเล่ม ‘ความหมายของการมีชีวิตอยู่’ ก็เป็นชื่อที่พี่อ๋องตั้งให้ด้วย เลือกน้องใหม่ (มานิตา ส่งเสริม) มาเป็นคนออกแบบปก รวมทั้งการทำหนังสือเล่มเล็กไซส์นี้เท่านั้น ห้ามใหญ่กว่านี้ เพราะปรัชญามันคือ the little book of ikigai
“ตอนวางแผงคนหนุ่มสาวสนใจเยอะมาก บรรยากาศของสังคมตอนนั้นกำลังต้องการหนังสือแบบนี้ เพราะช่วงนั้นทุกคนกำลังอยู่ในสังคมการเมืองที่มันแสดงออกได้ไม่เต็มที่ ผิดหวัง ต้องหาที่ยึดเหนี่ยวใหม่ๆ ให้กับตัวเอง เล่มนี้คือหนังสือในกลุ่มค้นหาความหมายของตัวเอง มันเลยถูกที่ถูกเวลา”
Her Name is ชื่อของเธอคือ…
โชนัมจู เขียน
นิภารัตน์ รุ่งรังษี แปล
“ก่อนหน้านี้เราทำหนังสือของ rupi kaur เป็นหนังสือของผู้หญิงที่ไม่หวานแหวว มีเนื้อหาเข้มข้น พูดถึงโครงสร้างทางสังคมกดขี่ผู้หญิงคล้าย Her Name is ชื่อของเธอคือ… ความต่างก็คือเล่มนี้ฉายภาพปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่ผู้หญิงเกาหลีเจอ ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่ารู้จักผู้หญิงเกาหลีมากแค่ไหน ภาพที่เราเห็นส่วนมากมาจากหนัง เพลง แต่ภาพชีวิตของผู้หญิงเกาหลีจริงๆ เป็นยังไง เรารู้หรือเปล่า
“Her Name is ชื่อของเธอคือ… สะท้อนเสียงของผู้หญิงเกาหลีหลากหลายวัย และมีแบ็กกราวนด์เป็นเรื่องการเมือง การประท้วงประธานาธิบดีเกาหลีที่โดนถอดถอน โครงสร้างทางสังคมแบบชายเป็นใหญ่ แต่ไม่ใช่เป็นหนังสือที่บอกว่าผู้ชายเลว แต่มันชวนให้สะท้อนคิดว่าเสียงของผู้หญิงดังไปถึงสังคมวงกว้างหรือเปล่า หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่พาเสียงเหล่านั้นออกมา
“หลายอย่างรีเลตกับสังคมไทยมาก พออ่านจบ มันทำให้เรากลับมามองแม่เราเองเลยว่า หรือแม่ก็เคยผ่านเรื่องพวกนี้มาก่อน มันเป็นหนังสือที่ถ้าเป็นผู้หญิงอ่านจะอินมากๆ แต่ถ้าเป็นผู้ชายอ่าน จะโอเค ฉันอยากฟังเธอพูด”