‘สำนักพิมพ์นาวา’ กับภารกิจพาสิ่งประดิษฐ์เพี้ยนๆ จากฟินแลนด์ข้ามทะเลมาเติมความครีเอทีฟให้เด็กไทย

Highlights

  • สำนักพิมพ์นาวาคือสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งโดย ก้อย–กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ นักเขียนและนักแปลที่ทำงานในวงการสิ่งพิมพ์มานานกว่า 15 ปี หลายคนรู้จักเธอในฐานะผู้เขียน Finland By Hand และผู้แปล Finding Sisu เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว
  • หนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์นาวาคือ สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนจากตาตุและปาตุ หนังสือภาพจากฟินแลนด์ที่อยู่คู่กับชาวฟินน์มากว่า 20 ปี ด้วยลายเส้นเป็นมิตรและเนื้อหาที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ไม่สอน ไม่สรุป แต่เปิดกว้างให้กับการคิดอย่างอิสระ
  • ก้อยบอกว่าสำนักพิมพ์นาวาเองก็เชื่อมั่นในการเติบโตงอกงามของมนุษย์เช่นกัน เธอตั้งใจส่งต่อแนวคิดนี้ให้กับผู้อ่าน โดยเริ่มต้นจากผู้อ่านวัยเยาว์ที่จะได้ซึมซับวิธีแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยความคิดสร้างสรรค์แบบ ‘ตาตุ’ และ ‘ปาตุ’

ตาตุและปาตุเป็นพี่น้องกัน ทั้งคู่มาจากนครพิลึกกึกกือ ก็เลยชอบทำอะไรแปลกๆ นิดหน่อย ตาตุและปาตุเชื่อว่าทุกอย่างในโลกนี้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ ทั้งคู่จึงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ”

อ่านแล้วก็ดูพิลึกจริง ทั้งชื่อสองพี่น้องที่ไม่เคยได้ยินจากนิทานเรื่องไหนมาก่อน ไหนจะเมืองที่มีชื่อประหลาด ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องพลิกอ่านเนื้อหาใน สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ ดูสักหน่อย

ในนั้นเราเจอกับ ‘เครื่องเตรียมตัวตอนเช้า’ ที่มีฟังก์ชั่นปลุก กินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว 

‘เครื่องสร้างแอ่งน้ำ’ ที่เจาะรูเป็นสระขนาดเล็กให้เด็กๆ แถมยังให้นกตัวเล็กมากินน้ำได้ด้วย 

และยังมี ‘แว่นอเนกประสงค์’ ที่เก็บสารพัดสิ่งของได้ ทั้งร่ม ปฏิทิน ปากกา หรือแม้กระทั่งถุงลมนิรภัย!

การที่เราได้รู้จักสิ่งประดิษฐ์ (ที่อยากเรียกว่าสร้างสรรค์มากกว่าเพี้ยน) ของสองพี่น้องชาวฟินน์นี้ ต้องยกเครดิตให้กับ ‘สำนักพิมพ์นาวา’ สำนักพิมพ์ที่เพิ่งก่อตั้งหมาดๆ เมื่อปีที่แล้วโดย ก้อย–กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ นักเขียนและนักแปลผู้มีประสบการณ์ในวงการสิ่งพิมพ์มานานกว่า 15 ปี 

นาวาลำนี้ประกอบขึ้นจากความช่วยเหลือของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นไหนและความเชื่อแบบใด ตามไปดูกัน

สำนักพิมพ์นาวา

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นที่ 1 : แว่นตาอเนกประสงค์สำหรับคนทำสำนักพิมพ์

“แว่นตาอเนกประสงค์สำหรับคนทำสำนักพิมพ์ไม่เหมือนแว่นทั่วๆ ไป ภายในแว่นมีเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการทำงานมากมายที่เจ้าของได้สั่งสมประสบการณ์ไว้ แว่นนี้จะทำให้คนที่เริ่มทำสำนักพิมพ์หยิบเอาประสบการณ์มาใช้ได้ตลอดเลย!”

ถ้าให้เล่าที่มาการเปิดสำนักพิมพ์ของคนทำงานในวงการสิ่งพิมพ์มากว่า 15 ปีอย่างก้อย เราคงต้องขอหยิบวิธีการแบบตาตุและปาตุมาอธิบาย เพราะการทำงานที่หลากหลายทำให้ก้อยมีแว่นที่มองเห็นงานที่ตัวเองชอบและถนัดมากขึ้น

ก้อยเริ่มต้นฝึกงานในวงการนิตยสารตั้งแต่ปี 2005, ทำงานสารคดีให้กับ National Geographic ประเทศไทย, เรียนต่อปริญญาโทด้าน Digital Culture ที่ University of Jyväskylä ในฟินแลนด์จนมาบอกเล่าเรื่องสนุกๆ ในหนังสือ Finland by Hand ในปี 2009 และกลับมาเป็นคอลัมนิสต์ให้กับ a day จนกระทั่งได้ทำหนังสือในสำนักพิมพ์ openbooks และ openworlds 

“ตอนทำงานแรกๆ เราจะเขียนในสิ่งที่อยาก สิ่งที่ชอบ ไม่ได้นึกว่าคนอ่านจะได้ประโยชน์มาก-น้อยเท่าไหร่ พอมาทำงานที่ openworlds ซึ่งผลิตหนังสือเชิงความรู้ มีสาระ วิชาการ เราได้ทำหนังสือที่เป็นประโยชน์กับคนมากๆ แต่บางทีก็ห่างจากความสนใจของเรา การเห็นวิธีการทำงานหลายๆ แบบทำให้เราเริ่มมองเห็นภาพว่าอยากทำหนังสือประมาณไหนที่จะตอบโจทย์ทั้งความชอบของเราและมีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย”

ความชอบที่มีเป็นทุนเดิมของก้อยคือภาษาและภาพ ตั้งแต่เด็กเธอมีความฝันว่าอยากทำงานเกี่ยวกับสองสิ่งนี้ เธอจึงลุยงานทั้งด้านการเขียน การแปล วาดภาพ และจัดเลย์เอาต์หนังสือมาแต่ไหนแต่ไร   

“คำตอบที่ว่าเราอยากทำหนังสืออะไรก็คือหนังสือภาพนี่แหละ แล้วพอเราคิดว่าจะตั้งสำนักพิมพ์ หนังสือเล่มแรกที่นึกถึงเลยก็คือ ตาตุและปาตุ

สำนักพิมพ์นาวา

ก้อยย้อนเล่าถึงวันที่เธอเดินเข้าร้านหนังสือในเมือง Jyväskylä เมืองแห่งการศึกษาของฟินแลนด์ในช่วงที่ ตาตุและปาตุ กำลังออกเล่มใหม่พอดี จึงได้เห็นดิสเพลย์เล็กๆ น่ารักพร้อมสีสันสดใสของ ตาตุและปาตุ อยู่ 

“หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Aino Havukainen และ Sami Toivonen สองสามีภรรยาที่มีอาชีพเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ พอมีลูกเขาก็มาช่วยกันวาดและเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ถ้านับจนถึงตอนนี้ตาตุปาตุอยู่กับคนฟินแลนด์มา 20 ปีแล้ว ได้รับความนิยมมากจนปีที่แล้วฟินแลนด์ออกแบบแสตมป์ที่เป็นลายกวนๆ ของตาตุปาตุ เพราะสองพี่น้องคู่นี้เป็นเพื่อนกับเด็กฟินน์มานาน สามารถพบได้ทั่วไปตามห้องสมุด โรงเรียน และบ้าน”

พอทุกอย่างลงตัว ทั้งรู้ตัวว่าอยากทำหนังสือแบบไหนและมีเงินทุนก้อนหนึ่ง ก้อยจึงลงมือทำทันที

“เรารีบเขียนอีเมลไปหาคนดูแลลิขสิทธิ์ บอกเขาว่าสนใจอยากซื้อหนังสือมาแปลมาก ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งบริษัทขึ้นมาจริงจังเลยนะ คิดแค่ว่ามันต้องมีหนังสือแบบนี้ในบ้านเราสิ” 

สำนักพิมพ์นาวา

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นที่ 2 : โดมเยี่ยมชมทัศนะชาวฟินน์ 

“บางครั้งชีวิตก็อยากพบเจออะไรใหม่ๆ ถ้าได้เรียนรู้หรือรู้จักแนวคิดของคนต่างชาติน่าจะดี ใครอยากรับประสบการณ์แบบนั้น เราขอเสนอวิธีง่ายๆ เพียงสวมโดมเยี่ยมชมทัศนะชาวต่างชาติ คุณจะได้เรียนรู้เหมือนอาศัยอยู่ประเทศนั้นเลย (ตอนนี้โปรแกรมตั้งไว้แค่คนจากประเทศฟินแลนด์นะ)”

การใช้ชีวิตในเมืองยูวาสกูลา ประเทศฟินแลนด์เกือบ 3 ปี ทำให้ก้อยมองเห็นจุดร่วมของวิธีคิดบางอย่างที่ชาวฟินแลนด์ปลูกฝังกันมานาน เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหนังสือเด็กจากฟินแลนด์จึงเป็นตัวเลือกแรก

“ถ้าเราเอาหนังสือหลายๆ เล่มของคนฟินน์มาดูจะเห็นว่า เส้นหลักจะสะท้อนแนวคิดที่เป็นธรรมชาติของพวกเขา คือเชื่อในศักยภาพมนุษย์ มีวัฒนธรรมอุ้มชู มีการเติบโต การปลูกฝัง การเลี้ยงดู และการบ่มเพาะที่ดี ในขณะเดียวกันก็น่ารักมาก เพราะส่งเสริมให้คนมีจิตใจเอื้ออารีเสมอ”

เธอยกตัวอย่างแนวคิด Sisu ที่เธอเคยแปลไว้ใน Finding Sisu ซึ่งใจความของแนวคิดนี้ก็ย้ำว่ามนุษย์มีศักยภาพ

“ไม่ว่าจะเกิดความท้าทายหรืออุปสรรคมากขนาดไหน ไม่ว่าโลกจะเป็นเช่นไร แต่ซิสุคือการที่เราไปข้างหน้า ไม่ได้หมายความว่าไม่เหนื่อย ไม่แพ้ แต่คนฟินน์มีหลักคิดหรือวิธีปฏิบัติบางอย่างให้เขายังเดินหน้าต่อไปได้

ก้อยเปิดหนังสือ สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ ให้เราดู พร้อมยกตัวอย่างอธิบายไอเดียแบบฟินน์ๆ ที่ซ่อนอยู่ในหนังสือเด็กเล่มนี้ต่อ 

“อย่างตอนเอาต้นฉบับ ตาตุและปาตุ มาลงมือแปลจริงๆ เราก็เห็นว่าเนื้อหาข้างในเชื่อในศักยภาพของเด็กมาก เปิดให้คิดอย่างอิสระ ซึ่งทั้งหมดนี้มาพร้อมกับความสนุกสนาน ตลก เบิกบาน ไม่ได้สอน ไม่มีการสรุปอะไรใดๆ ตาตุปาตุก็แค่อยากคิดแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของทุกคน เช่น ชีวิตประจำวันของเด็กๆ ตอนเช้า ขี้เกียจ ไม่อยากตื่นมาอาบน้ำไปเรียน ทั้งคู่เลยคิดเครื่องเตรียมตัวตอนเช้า เดินเข้าไปในเครื่องแล้วเลือกโปรแกรมให้ปลุกเราได้ 3 แบบ

“นี่คือการตอบสนองความต้องการของเด็กๆ เป็นการแก้ปัญหาชีวิตโดยชวนให้เด็กคิดแบบสนุกๆ คิดให้สร้างสรรค์ ไม่มีผิด-ถูก จะเป็นจริงหรือไม่จริง ไม่รู้ แต่เรามองว่าจินตนาการเป็นรากฐานของนวัตกรรม ซึ่งเป็นแนวคิดที่สากลมากเลย” 

แนวคิดแบบชาวฟินน์จึงกลายมาเป็นองค์ประกอบในการทำหนังสือของสำนักพิมพ์นาวา คือการให้ความสำคัญกับไอเดียและอารมณ์ความรู้สึกที่ทำงานกับสมองและจิตใจ รวมทั้งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปข้างหน้าได้

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นที่ 3 : เครื่องจัดการงานหนังสือ

“บางครั้งการทำงานหนังสือก็มักจะทำให้คนได้เจอเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน คนทำหนังสือจึงต้องอาศัยการเรียนรู้อยู่เสมอ เครื่องจัดการงานหนังสือจึงจะมาช่วยแก้ไขงานที่ซับซ้อนและความกังวลใจของเหล่านักสร้างสรรค์” 

แม้ว่าก้อยจะผ่านประสบการณ์ สะสมชั่วโมงบินจากการทำงานที่หลากหลาย ทั้งงานเขียนสารคดี งานแปล การจัดอาร์ตเวิร์ก หรือแม้กระทั่งตรวจเช็กสีหน้าแท่นที่โรงพิมพ์ แต่เธอก็ยอมรับว่าการรับบทเป็นเรือที่จะพาหนังสือฟินแลนด์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไทยมีข้อกังวลใจไม่น้อย ข้อแรกคือเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจส่งผลต่อการเปิดรับของผู้ปกครองที่เป็นผู้ซื้อหนังสือให้ลูกๆ

“เรายอมรับว่ามันมีความเสี่ยงแล้วก็ไม่มีอะไรแน่นอน เราชั่งใจตลอด ตั้งแต่ก่อนทำ ซื้อมาแล้วก็กังวล ระหว่างทำก็กังวล พอแปลเสร็จจัดทำอาร์ตเวิร์กเสร็จก็ยังกังวลอยู่ คือกังวลทุกกระบวนการ” เธอหัวเราะให้กับคำตอบของตัวเอง

แต่ในเมื่อตั้งใจจะทำแล้วเธอก็มุ่งมั่นให้ถึงเป้าหมาย และ ‘เครื่องช่วยจัดการงานหนังสือ’ ก็ส่งสัญญาณบอกเธอว่าจะต้องหาคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยแก้ความกังวลของเธอให้ได้

“เราปรึกษาผู้ใหญ่หลายท่าน ทั้งในวงการร้านหนังสือและในวงการการศึกษา เช่น คุณสมชัย ถาวรรุ่งโรจน์ ก่อนหน้านี้ท่านเป็นผู้บริหารของ B2S ท่านเชี่ยวชาญการขายหนังสือ มีหลายประเด็นมากที่ท่านพูด เช่น เรื่องนี้มันข้ามวัฒนธรรมมาไกลมาก วิธีคิดของคนไทยกับคนฟินแลนด์ก็ต่างกันมาก

“อีกเรื่องคือร้านหนังสือไทยมักจัดประเภทหนังสือเด็กเป็นหนังสือนิทาน หนังสือเสริมความรู้ หนังสือเรียน แต่ตาตุปาตุไม่เข้าข่ายสักประเภท คุณสมชัยเลยแนะนำว่าให้อธิบายและสื่อสารว่าหนังสือนี้ดียังไง”

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ก้อยเพิ่มเนื้อหาด้านหลัง เป็นคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กจากหลายวงการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง ทั้งครูก้า (กรองทอง บุญประคอง) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ และนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียนที่มีผลงานเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพและพัฒนาการเด็ก

“หลังจากวางขายหนังสือไป ฟีดแบ็กที่เห็นเป็นรูปธรรมจากพ่อแม่เด็กเลยคือ เขาส่งรูปวาดสิ่งประดิษฐ์เข้ามาในอินบอกซ์เพจ เช่น เครื่องทำไอติมที่ไม่มีวันหมด ซึ่งมันตอบสนองความต้องการของเด็กๆ ที่ชอบกินไอติม หรือว่าช่วงโควิด-19 มีข่าวว่าพบเชื้อที่เขียงแซลมอนที่จีน เด็กก็วาดเครื่องฆ่าเชื้อปลาแซลมอน”

ยังไม่นับรวมฟีดแบ็กจากบางครอบครัวที่บอกว่าแอบเห็นเด็กๆ นั่งหัวเราะกับการอ่านตาตุและปาตุ แต่ไม่ใช่แค่เด็กอ่านแล้วสนุก เพราะก้อยบอกว่ามีผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ติดตามหนังสือเล่มนี้อยู่เหมือนกัน

“ในฐานะคนทำเราก็ปลื้มใจว่ามันทำงานกับคนอ่าน” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม  

สำนักพิมพ์นาวา

นอกจากนี้ก้อยยังตั้งเป้าหมายต่อไปของสำนักพิมพ์นาวาว่าจะเลือกหนังสือที่ถ่ายทอดวิธีคิดอันเป็นสากลอย่างแนวคิดของชาวฟินน์ และสร้างสรรค์หนังสือภาพที่ทำงานบนหน้ากระดาษแบบที่การเสพสื่อประเภทอื่นๆ ก็ทำไม่ได้ 

“เราเชื่อว่าคนทำหนังสือทุกคนอยากให้สังคมที่ตัวเองอยู่ดีขึ้น ซึ่งสำหรับเรา เราให้ความสำคัญกับการเติบโตส่วนบุคคล ความเจริญงอกงาม การพัฒนา การที่คนจะลงมือทำสิ่งต่างๆ เช่น คนที่เขามีความคิดสร้างสรรค์เขาจะผ่านความท้าทายต่างๆ ได้ ถ้าหากเขามีความเอื้ออารีเขาจะคิดถึงผู้อื่น หรือความตลกอารมณ์ดีจะทำให้เขามองว่าปัญหามันแก้ได้และเขาจะผ่านมันไปได้

“สิ่งเหล่านี้มันเริ่มจากสเกลเล็กที่สุดคือคนคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราอยากให้สำนักพิมพ์นาวามอบสิ่งที่ดีต่อความคิดและจิตใจในระดับบุคคล โดยเริ่มตั้งแต่เด็กนี่แหละ” 

สำนักพิมพ์นาวา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย