ปีที่แล้วเราพาเพื่อนๆ เยือนงานกาแฟโลก World of Coffee ที่ SCA (Specialty Coffee Association) จัดขึ้นที่อัมสเตอร์ดัม ปีนี้เราขอลัดฟ้าบินไปบอสตัน ซึมซับวัฒนธรรมกาแฟของประเทศโลกที่หนึ่งอย่างอเมริกา เยือนงานประจำปีอีกหนึ่งงานใหญ่อย่าง Specialty Coffee Expo
ส่วนตัวเราตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ไปงานกาแฟในต่างประเทศ เพราะนอกจากจะได้เปิดหูเปิดตาดูนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกคิดมาเพื่อพัฒนากาแฟแล้ว มุมหนึ่งก็เป็นงานที่พาเรากลับไปเจอเพื่อนๆ ในแวดวงกาแฟและได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่จากทั่วทุกมุมโลกด้วย
ไฮไลต์ของงาน Specialty Coffee Expo ปีนี้ คือการเปิดให้คนที่มาร่วมงานได้มี interactive experiences หรือประสบการณ์ร่วมกับผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น เอาเป็นว่าตลอดหลายวันที่เรามีโอกาสได้สัมผัสสิ่งน่าสนใจอะไรบ้าง ตามมาเลย
โซน Best New Product
ทุกปี SCA จะจัดประกวดผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาเรียกว่า Best New Product คือการออกแบบนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ที่มีเงื่อนไขว่าต้องใช้งานได้จริง เราหยิบผลิตภัณฑ์ที่ชอบสองสามชิ้นมาแนะนำให้คุณรู้จัก
01
Bellwether
คนในแวดวงกาแฟฝั่งอเมริกากำลังฮิตเทรนด์ eco friendly กันสุดๆ ซึ่ง Bellwether คือเครื่องคั่วกาแฟที่ได้รับรางวัลในรายการประกวดนี้ ด้วยคอนเซปต์เครื่องคั่วกาแฟสุดคลีนที่ไม่สร้างมลพิษให้กับอากาศ (เพราะการทำงานของเครื่องคั่วกาแฟปกติจะปล่อยฝุ่นขนาดเล็กที่เกิดจากเปลือกเมล็ดที่ร่อนออกมา) พร้อมกับระบบการทำงานที่สั่งผ่านแอพพลิเคชั่นแสนสะดวกสบาย
“เรามีแอพที่ใช้งานง่าย ผู้ใช้งานที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการคั่วกาแฟมาก่อนก็สามารถใช้ได้ โดยเราจะเซตโปรไฟล์การคั่วกาแฟให้จากโรงงาน ลูกค้าเพียงแค่ใส่สารกาแฟเข้าไปในเครื่องแล้วกดปุ่มสตาร์ท เพียงแค่นี้เขาก็จะมีกาแฟคั่วหอมๆ เอาไว้ใช้ที่หน้าร้านของตัวเองได้เลย”
ขนาดที่กะทัดรัด (พอๆ กับตู้เย็นขนาดเล็ก) และดีไซน์ที่สวยกริ๊บของเจ้า Bellwether บอกได้เลยว่าวางไว้มุมไหนของร้านก็สวย
02
HuskeeCup
HuskeeCup คือแก้วกาแฟที่เกิดจากการรีไซเคิลเปลือกกาแฟและแกลบกาแฟ (silver skin) เหลือทิ้ง เรียกได้ว่าเป็นแก้วกาแฟรักโลกอย่างแท้จริง
ทางทีมงานเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า ทุกๆ ฤดูเก็บเกี่ยวกาแฟพวกเขามักเห็นสิ่งเหล่านี้ถูกทิ้งให้ย่อยสลายทีละหลายร้อยตัน ที่มาของแบรนด์จึงเกิดจากการที่พวกเขาตั้งคำถามว่า ‘เราจะทำอะไรกับสิ่งนี้ได้บ้าง’ จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาแนวคิด ปรึกษากระทั่งนักออกแบบและวิศกร ช่วยกันหาวิถีทางในการนำขยะอินทรีย์เหลือทิ้งพวกนี้กลับมาใช้งานใหม่
สิ่งที่พวกเขาค้นพบร่วมกันเมื่อหลอมมันออกมาเป็นแก้ว คือวัสดุเหลือทิ้งชนิดนี้มีคุณสมบัติในการเก็บความร้อนดีกว่าแก้วกาแฟทั่วไป เราถามพวกเขากลับเรื่องความทนทานของแก้วที่ทำจากวัสดุธรรมชาติด้วยความสงสัย พวกเขาตอบกลับพร้อมรอยยิ้มว่า ‘หายห่วง’ เพราะตัวแก้วถูกออกแบบมาให้ใช้กับเครื่องล้างจาน แถมยังยืดหยุ่น ทนทานต่อการแตกหักอย่างไม่น่าเชื่อ
นอกจากเจ้าแก้ว Huskee แล้ว ในงานยังมีบูธแบรนด์แก้วกาแฟรักษ์โลกอีกหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์โปรดของเราอย่าง Keepcup ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์สปอนเซอร์ของงานในปีนี้ (เป็นสปอนเซอร์อย่างไรเราขออุบไว้ก่อน) และอีกแบรนด์ที่สะดุดตาเอามากๆ ก็คือ Stojo
Stojo คือแบรนด์แก้วกาแฟน้องใหม่ส่งตรงจากนิวยอร์ก เกิดจากการตระหนักถึงปัญหาขยะจากแก้วกาแฟที่ถูกทิ้งจากการใช้เพียงครั้งเดียว จะให้พกแก้วแข็งทื่อตลอดเวลาก็ดูจะลำบาก พวกเขาจึงให้กำเนิดแก้วกาแฟซิลิโคนที่มาพร้อมกับหลอด จุดเด่นคือน้ำหนักเบา พับเก็บได้ไม่เปลืองพื้นที่ในกระเป๋า เรียกได้ว่าเป็นแก้วกาแฟที่น่าจับตามองอีกเจ้าหนึ่งเลย
03
Dona Spice Soda
Dona คือแบรนด์เครื่องดื่มโซดาและไซรัปที่ใช้สำหรับผสมกับเครื่องดื่ม หรือแม้แต่กับกาแฟที่มีจุดเด่นคือการใช้เครื่องเทศมาเป็นส่วนผสม
แม้ว่า Dona จะหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปในอเมริกา แต่สิ่งที่ทำให้เราสนใจแบรนด์นี้คือการหาวัตถุดิบเครื่องเทศของพวกเขาที่มีคอนเซปต์คล้ายกับกาแฟพิเศษเอามากๆ ตั้งแต่การทุ่มเทรีเสิร์ชหาวัตถุดิบ ข้ามน้ำข้ามทะเลเดินทางไปหาเกษตรกรถึงแหล่งเพาะปลูก ทดสอบคุณสมบัติรสชาติและกลิ่นของมัน รวมทั้งใส่ใจความสดใหม่ของวัตถุดิบก่อนนำมาปรุงเป็นเครื่องดื่มสุดพิเศษที่วางอยู่ตรงหน้า
โซน Roaster Village
จะไม่พูดถึงโซนโปรดของคนสายคาเฟ่ฮอปปิ้งก็คงไม่ได้ Roaster Village คือโซนที่รวมร้านกาแฟดังทั่วโลกมาเปิดป๊อปอัพให้คนที่เดินในงานได้ชิมกาแฟกันฟรีๆ และมีเมล็ดกาแฟให้ซื้อติดไม้ติดมือไปชงเองที่บ้าน เรื่องที่น่ารักในปีนี้คือแบรนด์ Keepcup ใจดีเป็นสปอนเซอร์แก้วขนาด 4 ออนซ์ ใช้แทนแก้วกระดาษสำหรับหยิบชิมตามบูธ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามเผลอหยิบใส่กระเป๋าเก็บกลับบ้านเด็ดขาด
01
New Harvest Coffee Roasters
ขอประเดิมร้านแรกด้วยร้านกาแฟจากเมือง Rhode Island ทางทีมบอกเราว่าพวกเขาเดินทางไปหาเมล็ดกาแฟ ตามฟาร์มกาแฟในอเมริกาใต้และอเมริกากลางเป็นประจำทุกปี ตัดพ่อค้าคนกลางออก ซื้อตรงจากเกษตรกรเพื่อให้พวกเขาได้รับเงินจากการขายเมล็ดอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เขาแนะนำให้เราดื่มกาแฟ Costa Rica Las Palomas แปรรูปแบบ fully washed (แบบเปียก) กาแฟที่นี่ปลูกอยู่สูงถึง 1,850 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ยิ่งกาแฟปลูกสูงรสชาติก็จะยิ่งซับซ้อน แก้วนี้ให้รสชาติที่สมูทและหวานอมเปรี้ยวคล้ายแอปเปิลเขียว ตบท้ายด้วยรสโกโก้ รสชาติน่าค้นหาจนเราหยุดขอแก้วที่สองไม่ได้เลย
02
Apex Coffee Roasters
โรงคั่วขนาดเล็กจากรัฐเท็กซัสที่มองว่ากาแฟเป็นงานฝีมือและศิลปะของผู้ผลิตในสายพานกาแฟตั้งแต่คนต้นน้ำ คนโพรเซส กระทั่งคนคั่ว เพื่อให้คนดื่มได้รับประสบการณ์และความเพลิดเพลินจากกาแฟแก้วตรงหน้าให้ได้มากที่สุด พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการคั่วกาแฟเอามากๆ เพราะนี่เป็นขั้นตอนที่ถือได้ว่าเป็นการปลดล็อกกลิ่นและรสชาติทั้งหมดของกาแฟนั่นเอง
เราชิมกาแฟ Kenya Kiambu สายพันธุ์ SL-28, SL-34 ที่เป็นกาแฟสายพันธุ์พื้นฐานของกาแฟเคนยา แปรรูปแบบ dry ferment (หมักจนแห้งแล้วนำไปล้าง) ให้รสชาติโทนผลไม้อย่างลูกแพร แอปริคอต และสับปะรด ชวนน้ำลายสอเอามากๆ
03
Flight Coffee Co.
เราสังเกตว่าหลายๆ ร้านที่มาเปิดบูธในงานเป็นร้านที่ให้ความสำคัญกับ fair trade ความยุติธรรมของการซื้อขายเมล็ดกาแฟจากเกษตรกร สิ่งที่ได้มากกว่าการซื้อขายอย่างโปร่งใสคือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างร้านกาแฟ โรงคั่ว และเกษตรกร แน่นอน Flight Coffee Co. เองก็มุ่งเน้นเรื่องนี้ แถมยังเน้นเรื่องคุณภาพของกาแฟไม่แพ้กัน หน้าร้านจริงตั้งอยู่ที่เมือง Dover ส่วนโรงคั่วตั้งอยู่ที่เมือง Bedford รัฐ New Hampshire
มาร้านนี้เราเลือกชิมกาแฟ Burundi Dukorerikawa สายพันธุ์ bourbon ที่แปรรูปแบบ natural (แบบแห้ง) ให้รสชาติเหมือนมิกซ์เบอร์รี่ หวานฉ่ำคล้ายแอปเปิล และตบท้ายด้วยรสของพลัม เรียกได้ว่าอร่อยไม่แพ้ร้านอื่นเลยทีเดียว
04
Brandywine Coffee Roasters
แวะมาบูธที่คอนเซปต์แหวกกว่าใครเพื่อนกันบ้าง บูธของ Brandywine Coffee Roasters ถือว่าเป็นบูธที่มีคนมุงดูเยอะมากๆ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้มาเพื่อแจกกาแฟให้คนในงานชิม สิ่งที่พวกเขาทำคือชวนคนในงานมาวาดลวดลายลงบนถุงกาแฟเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก ซึ่งระหว่างที่เราเข้าไปร่วมละเลงสีสันบนถุงกาแฟสีขาว ทีมงานก็เล่าเรื่องราวของร้านตัวเองให้เราฟังไปด้วย
ร้านของพวกเขาตั้งอยู่ที่ย่าน Brandywine Valley เมือง Wilmington รัฐ Delaware พวกเขาเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองจากโรงคั่วเล็กๆ ที่ค่อยๆ ปรับปรุง ยกระดับกาแฟของตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายของพวกเขาคือนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
หลายคนอาจสงสัยว่าถุงกาแฟเกี่ยวอะไรกับความตั้งใจของพวกเขา จริงๆ แล้วพวกเขาพยายามเปรียบว่าความตั้งใจในการจัดหาและคั่วกาแฟแต่ละถุงของร้าน มันคืองานศิลปะที่ต้องใช้ความละเมียดและมีคุณค่าเหมือนกับถุงกาแฟทำมือที่ทุกคนตั้งใจทำมันขึ้นมานั่นเอง
โซน Design Lab
โซนนี้เป็นเหมือนพื้นที่รวบรวมงานออกแบบแพ็กเกจจิ้งของแบรนด์กาแฟชื่อดังต่างๆ เปิดเผยเบื้องลึกเบื้องหลัง ไอเดียของผลงาน รวมทั้งเรื่องวิธีคิดคอนเซปต์ การดีไซน์ material ต่างๆ ที่น่าจะมีประโยชน์กับคนที่คิดจะทำธุรกิจกาแฟ
โซน Certified Home Brewer Display
โซนนี้อยู่ถัดจากโซน Design Lab เป็นโซนที่จัดเพื่อคนชอบทำกาแฟดื่มเองที่บ้านหรือ home brewer มีของเล่น เช่น เครื่องดริปกาแฟอัตโนมัติที่สามารถตั้งสัดส่วนของกาแฟ น้ำ และอุณหภูมิได้เอง เพื่อให้ผู้ใช้ได้ดื่มกาแฟดีๆ เหมือนมีบาริสต้ามาชงให้ดื่มที่บ้าน
Photo provided courtesy of the Specialty Coffee Association.