เราเป็นคนหนึ่งที่ติดกาแฟเลเวลที่ต้องพึ่งพามันทุกเช้าบ่าย แต่พอมาสังเกตเพื่อนรอบตัวแล้ว เจ้าแก้วกาแฟแบบใช้แล้วทิ้งที่เพื่อนเดินโต๋เต๋ถือจากร้านกาแฟมากินที่ออฟฟิศ ดูดปรื๊ดเดียวหมด แก้วกระดาษที่เคลือบด้วยพลาสติกผ่านการใช้งานไม่กี่นาทีก็กลายเป็นขยะไปซะแล้ว ดูเป็นความสะดวกสบายของชีวิตที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเอาซะเลย
ถ้าสาวกันยาวๆ เรื่องปริมาณขยะที่มนุษย์โลกผู้เสพติดกาเฟอีนรังสรรค์ขึ้นมา เราพบว่ามันเป็นตัวเลขที่น่ากุมขมับชะมัด หรือขยะพลาสติกย่อยยากเหล่านั้นส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์โลกเพื่อนรัก หน้าฟีดที่ทุกคนเลื่อนผ่านอยู่ทุกวันก็น่าจะบอกได้ว่ามันย่ำแย่ยังไง
เรารู้จักแก้ว KeepCup ครั้งแรกจากคำแนะนำของเจ้าของคาเฟ่ชื่อดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สีสันของมันสะดุดตาเราเข้าอย่างจัง เมื่อพลิกดูก้นแก้วเราก็เจอกับคำว่า made in australia เมืองที่มีวัฒนธรรมกาแฟที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุด แถมบาริสต้าที่นู่นก็ชื่นชอบแก้วกาแฟรียูสรูปทรงนี้เป็นพิเศษด้วย
รู้ตัวอีกทีเราก็เป็นเจ้าของมันมาเกินสามปีเข้าให้แล้ว และทุกวันนี้มันกลายเป็นแก้วกาแฟใบเก่าที่ยังใช้งานได้ดี เบื้องหลังของมันก็ดีมากๆ จนอยากหยิบมาเล่าต่อให้ทุกคนได้ฟัง
เรื่องราวของแบรนด์แก้วกาแฟที่เราหลงใหลเริ่มต้นขึ้นจากสองพี่น้องชาวออสซี่ Abigail Forsyth และ Jamie Forsyth ร่วมกันก่อตั้งร้านกาแฟ Bluebag ในเมลเบิร์นราวๆ ปี 1998 ในขณะที่ธุรกิจของพวกเขาเติบโตอย่างสวยงาม ปริมาณกาแฟที่ร้านขายได้ต่อวันกลับทำให้พวกเขาเอะใจถึงปริมาณขยะที่ร้านมีส่วนร่วมในการให้กำเนิด
ตอนแรกพวกเขาพยายามยับยั้งวงจรนี้ด้วยการนำแก้วกาแฟรียูสทั่วไปในท้องตลาดมาใช้ที่ร้าน แต่มันกลับไม่ตอบโจทย์คนทำกาแฟแบบ specialty โดยเฉพาะแก้วเซรามิกที่หนาเทอะทะและหนัก บาริสต้าต้องเสียเวลาอุ่นแก้วก่อนเทกาแฟและนมลงไป หรือแก้วแบบสูญญากาศ (thermos) ที่ทำลายความสวยงามของครีม่าของช็อตกาแฟ
พอเป็นคาเฟ่ที่พิถีพิถันในทุกรายละเอียดตั้งแต่กาแฟหยดแรกที่เทลงในแก้ว และมีใจอยากทำธุรกิจที่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด สองพี่น้องจึงตัดสินใจสร้างทางเลือกใหม่ด้วยการออกแบบถ้วยกาแฟรียูสที่เหมาะสมกับการใช้งานของบาริสต้า (ด้วยรูปทรงที่ออกแบบมาอย่างพอดีมือ ง่ายต่อการหยิบจับเพื่อเทลาเต้อาร์ต) และที่สำคัญต้องดีต่อความสุนทรีย์ของคนดื่มกาแฟด้วย
พวกเขาร่วมมือศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบในออสเตรเลีย แถมยังใช้ทีมผู้ผลิตที่เป็นคนในท้องถิ่น KeepCup ถูกผลิตขึ้นมาจากแม่พิมพ์เดี่ยวและเลือกใช้วัสดุพลาสติกทนความร้อนคุณภาพดีอย่าง polypropylene เพียงชนิดเดียวเพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการรีไซเคิล และแตกไลน์การผลิตแก้วโซดาไลม์ เอาใจคนที่ชอบผิวสัมผัสแบบแก้วด้วย
หลายคนอาจรู้สึกว่ามันย้อนแย้งตรงที่พวกเขายังคงใช้พลาสติกเป็นวัสดุหลักในการพิมพ์แก้ว ถ้าลองเทียบสัดส่วนแล้ว แก้ว KeepCup ไซส์เล็กสุด 1 ใบ ใช้พลาสติกเทียบเท่าถ้วยกาแฟพร้อมฝาปิดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง 28 ใบเลยทีเดียว
แต่ความจริงอีกข้อในโลกของวัสดุรีไซเคิลคือ กระบวนการรีไซเคิลวัสดุบางชนิดอาจใช้ต้นทุนหรือทรัพยากรในการรีไซเคิลเยอะกว่าการผลิตใหม่เสียอีก ในปี 2009 ศูนย์การออกแบบของ RMIT ทำการวิเคราะห์ life cycle ของแก้ว KeepCup ผลคือคอกาแฟอย่างเราๆ สามารถช่วยประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำและต้นไม้ได้จริงหลังจากที่เรารียูสมันเกิน 15 ครั้ง (ใช้แค่ 15 ครั้งก็คุ้มค่ากับต้นทุนในการผลิตแล้ว)
ที่สำคัญเรายังรักดีไซน์สนุกๆ ของตัวแก้วด้วย KeepCup หนึ่งใบประกอบไปด้วยตัวแก้ว ฝา จุกอุดรู และแถบซิลิโคนกันความร้อนที่จับแล้วกระชับมือ แถมเราสามารถเลือกมิกซ์แอนด์แมตช์สีสันที่เราชอบได้เอง ชนิดที่ว่าถือเดินไปไหนก็ไม่ซ้ำใคร ซึ่งคอลเลกชั่นพิเศษที่เราเล็งที่จะซื้อในเร็ววันนี้คือ Star Wars x KeepCup ถ้าสาวกสตาร์วอร์สได้เห็นแก้วจริงคงกรี๊ดหนักไม่แพ้เราแน่ๆ
ส่วนความจุของแก้วค่อนข้างมีมาตรฐานราวกับว่าถูกคิดมาให้เหมาะสมกับการดื่มกาแฟแต่ละชนิด เช่น บางคนที่ชอบเอสเพรสโซ่อาจใช้แก้วขนาด 4 oz หรือคนที่ชอบกาแฟนม KeepCup ก็มีไซส์ 6 oz และ 8 oz ให้เลือก รวมทั้งแก้วไซส์ใหญ่อย่าง 12 oz และ 16 oz เอาใจคนชอบเมนูกาแฟเย็นและเครื่องดื่มเย็นอื่นๆ เป็นโปรดักต์รักโลกที่เข้ากับรสนิยมการดื่มของ ‘ทุกคน’ ได้จริงๆ
ภาพ KeepCup
แหล่งอ้างอิง