ตามไปดูสงขลาในระดับสายตาของเด็กๆ ที่นิทรรศการ ‘เมืองสงขลาในสายตาหนู’

Highlights

  • Songkhla (Oldtown) Through Young Eyes คือนิทรรศการภาพถ่ายของเด็กๆ ในชุมชนเมืองเก่าสงขลา ซึ่งได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปกับโรงเรียนสังเคราะห์แสง และจัดแสดงผลงานที่ a.e.y. space แกลเลอรีของ เอ๋–ปกรณ์ รุจิระวิไล โดยมีกิมมิกคือทุกภาพจะติดอยู่ในระดับสายตาของเด็กๆ เจ้าของผลงาน
  • “แวบแรกผู้ชมอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมเราติดรูปไม่ค่อยเป็นระเบียบ แถมอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาคนทั่วไปมาก แต่เราคิดว่าการดูแบบนี้แหละสนุก บางทีเราอาจจะต้องก้มดูหรือนั่งยองๆ มันก็ทำให้เราได้กลับไปใช้มุมมองของเด็กอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่เขาเห็น เขาถ่าย หรือพยายามสื่อสารออกมามันเป็นยังไง” 
  • “โจทย์หลักที่เราตั้งไว้คือถ่ายอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับความสุข และมีความเป็นสงขลา แต่ห้ามถ่ายผู้คน” เอ๋เล่าความตั้งใจของบรรดาคุณครูที่อยากท้าทายช่างภาพรุ่นเล็กให้ทะลุออกจากกรอบที่ว่าความสุขเท่ากับภาพคนยิ้ม ผลที่ได้คือผลงานสุดแหวกที่มีตั้งแต่ภาพแมวขนฟู สตรีทอาร์ตในซอย ไปจนถึงผนังอิฐ

เมืองสงขลาในสายตาหนู

ท่ามกลางภาพถ่ายระดับโปรนับร้อยในงาน Portrait of Songkhla ซึ่งจัดแสดงอยู่ทั่วทั้งตัวเมืองเก่า แต่ที่ a.e.y. space แกลเลอรีส่วนตัวของ เอ๋–ปกรณ์ รุจิระวิไล หัวเรือใหญ่ในงานนี้กลับเต็มไปด้วยผลงานจากช่างภาพรุ่นเล็ก ทั้งในแง่อายุและส่วนสูง ภายใต้ชื่องานว่า Songkhla (Oldtown) Through Young Eyes หรือ เมืองสงขลาในสายตาหนู

เมืองสงขลาในสายตาหนู

“ช่วงที่เราถ่ายภาพครอบครัวแล้วได้ไปเจอเด็กๆ ในแต่ละบ้าน พอเห็นเขาเข้ามาดูเบื้องหลังเวลาตากล้องทำงาน เราถึงรู้ว่าเด็กๆ เองก็สนใจการถ่ายรูปเหมือนกัน” เอ๋เล่าถึงแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงถ่ายทำนิทรรศการหลักอย่าง Portrait of Songkhla

ในแง่การจัดแสดงผลงาน เอ๋และทีมงานหยิบเอาความสูงของเหล่าช่างภาพมาใช้นำเสนอได้อย่างน่ารัก เพราะทุกภาพจะถูกติดไว้ตามระดับสายตาของเด็กๆ เจ้าของผลงาน นิทรรศการชุดนี้จึงไม่ได้ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบอย่างที่เราคุ้นชินจากแกลเลอรีทั่วไป แต่ชวนให้ผู้ชมได้ก้มมองและทำความเข้าใจแต่ละภาพอย่างช้าๆ ส่วนที่ผนังตรงกลางนั้นมีอุปกรณ์สำคัญคือกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งติดเรียงรายเป็นรูปหน้ายิ้มตามธีมของงาน 

เมืองสงขลาในสายตาหนู

“โจทย์หลักที่เราตั้งไว้คือถ่ายอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับความสุข และมีความเป็นสงขลา แต่ห้ามถ่ายผู้คน” เอ๋เล่าความตั้งใจของบรรดาคุณครูที่อยากท้าทายช่างภาพรุ่นเล็ก ให้ทะลุออกจากกรอบที่ว่าความสุขเท่ากับภาพคนยิ้ม ผลที่ได้คือผลงานสุดแหวกที่มีตั้งแต่ภาพแมวขนฟู สตรีทอาร์ตในซอย ไปจนถึงผนังอิฐ

ก่อนจะชวนกันตามไปดูผลงานของช่างภาพรุ่นเล็กที่ a.e.y. space เราขอชวนไปฟังที่มาที่ไปของโปรเจกต์ และเรื่องราวเบื้องหลังสนุกๆ จากคำบอกเล่าของเอ๋ ผู้เป็นทั้งทีมงานและเจ้าของแกลเลอรี

เมืองสงขลาในสายตาหนู

 

01 เตรียมการสอน (ที่จะโกลาหลแน่ๆ)

“ไอเดียของนิทรรศการนี้เกิดขึ้นระหว่างทางของการทำ Portrait of Songkhla ที่จะโฟกัสไปที่การเล่าเรื่อง 76 ครอบครัวในสงขลา ซึ่งก็มีทั้งที่เกี่ยวกับการค้า ประวัติศาสตร์ คนรุ่นใหม่ และอีกหลายหัวข้อ แต่เราก็ยังรู้สึกว่ามันยังขาดแง่มุมของเด็กๆ ที่จะโตไปเป็นอนาคตของชุมชน” เพื่อที่จะเพิ่มมิติให้งานนี้ครบถ้วนและรอบด้านยิ่งขึ้น เอ๋จึงหันไปปรึกษาทีมผู้จัดอย่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และ โรงเรียนสังเคราะห์แสง สององค์กรที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดงานตั้งแต่ Portrait of Charoenkrung เรื่อยมาจนถึงงานนี้

“เราอยากปลูกฝังเขาเรื่องการทำงานที่เกี่ยวกับศิลปะ ไอเดียคร่าวๆ ที่มีคืออยากให้เด็กๆ ได้ไป explore เมืองเก่า” จากความตั้งใจของเอ๋ เขาเริ่มเห็นวี่แววความเป็นไปได้ของการทำนิทรรศการภาพถ่ายฝีมือเด็กๆ หลังจากที่ได้ไปคลุกคลีกับลูกหลานของคนในชุมชนมากขึ้นในช่วงของการตระเวนถ่ายภาพครอบครัว

“แต่ทีมสังเคราะห์แสงเขาก็ไม่เคยเปิดคลาสสอนถ่ายรูปเด็กมาก่อน ดังนั้นมันจึงเป็นความท้าทายสำหรับเราทั้งหมด และด้วยอายุของเด็กๆ ที่มีตั้งแต่ 5-15 ขวบ ซึ่งเราก็นึกภาพออกเลยว่ามันจะต้องโกลาหลแน่ๆ” เอ๋เล่ายิ้มๆ

เมืองสงขลาในสายตาหนู

เมื่อตัดสินใจใส่เกียร์เดินหน้าให้โปรเจกต์นี้ เอ๋และชาวโรงเรียนสังเคราะห์แสงมีเวลา 2 สัปดาห์เพื่อแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตัวเอง ในฐานะคนพื้นที่ เอ๋รับบทบาทในการตามหาเด็กๆ จำนวน 20 คนมาร่วมโปรเจกต์นี้ ส่วนการเตรียมการสอนนั้นก็ตกเป็นหน้าที่ของโรงเรียนสังเคราะห์แสง

อุปกรณ์ที่ช่วยทุ่นแรงทีมงานและต่อยอดการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อก็คือ กล้องฟิล์มชนิดใช้แล้วทิ้ง ซึ่งถูกเลือกมาเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดเตรียมอุปกรณ์ ตัดปัญหาเรื่องการตั้งค่าที่วุ่นวาย และในขณะเดียวกันก็เป็นแบบฝึกสมาธิและความอดทนชั้นดีของเด็กๆ

“พอใช้กล้องฟิล์ม ก่อนกดถ่ายเขาจะต้องคิด และเมื่อกดถ่ายไปแล้วก็ยังไม่เห็นในทันที กระบวนการนี้มันจึงเป็นการฝึกสมาธิเด็กมากๆ จากที่เขาคุ้นเคยกับสมาร์ตโฟนและไอแพ็ด อยากดูอะไรก็กดได้ ไม่ชอบก็กดข้าม ทุกอย่างมันรวดเร็วไปหมด แต่พอเขาได้ลองย้อนกลับมาใช้กล้องฟิล์ม เด็กๆ ก็ต้องมีสมาธิให้มากและต้องรู้จักรอคอยให้เป็น”

เมืองสงขลาในสายตาหนู

 

02 เบสิกที่แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องเรียน

ผ่านไปสองสัปดาห์ ทีมสังเคราะห์แสงกลับมาจัดเวิร์กช็อปฉบับเร่งรัดให้เด็กๆ ที่ว่าเร่งรัดเพราะใช้เวลาแค่ครึ่งวันเช้าในการสอนเรื่องพื้นฐานการถ่ายภาพ ส่วนครึ่งวันบ่ายก็ปล่อยให้เด็กๆ ได้ออกไปบันทึก 27 เฟรมภาพที่ชอบลงบนม้วนฟิล์ม แล้วนำกลับมาส่งในตอนเย็น

“เวิร์กช็อปการถ่ายรูปที่มีเวลาแค่ครึ่งวันสอนอะไรเด็กๆ ได้บ้าง” เราสงสัย

“หลักๆ เลยก็คือเราสอนให้เขาคำนึงถึงหลักในการถ่ายรูป 5 ข้อ ก่อนกดถ่ายต้องมั่นใจว่าในรูปเราจะมีอย่างน้อย 1 ใน 5 คือ สีสัน เส้นสาย แสงเงา ความสุข และสงขลา” เอ๋อธิบายถึงหลัก 5 ส. ซึ่งทำให้เราได้เข้าใจว่าทั้ง 5 คำที่เขียนไว้บนผนังแกลเลอรีนั้นมีที่มาจากอะไร

“ทำไมต้องเป็น 5 คำนี้” เราสงสัย

“จริงๆ มันมาจากครูสังเคราะห์แสง แต่พี่ว่าพวกนี้ทั้งหมดก็คือองค์ประกอบพื้นฐานที่ทำให้รูปสวย สิ่งของที่มีสีสันมันก็ดึงดูดสายตา ส่วนแสงเงาก็จะช่วยให้รูปมีมิติ เส้นสายทำให้รูปมีจุดโฟกัส พวกนี้ผมว่ามันเป็นเบสิกที่แม้แต่การเรียนถ่ายภาพของผู้ใหญ่ก็ต้องเรียนรู้ แต่เราแค่สรุปองค์ประกอบพวกนี้มาให้เด็กๆ เขาจำง่ายเท่านั้นเอง

“เชื่อไหมว่าตอนที่ออกไปถ่าย เด็กๆ บางคนเขาไม่ยอมกดชัตเตอร์เพราะมันยังไม่มีองค์ประกอบที่เราสอนให้เขาสังเกต เขาเห็นแล้วมันยังไม่มีอะไร ยังไม่น่าสนใจ เขาก็ไม่กด” นอกจากจะได้เห็นความซื่อสัตย์ของเด็กๆ แล้ว เอ๋เล่าว่านี่ยังทำให้เขาได้เห็นการปรับตัวของเด็กๆ ในการใช้กล้องฟิล์ม จากที่คุ้นเคยกับกล้องดิจิทัลซึ่งกดถ่ายได้ไม่จำกัดจำนวนรูป เราเริ่มเห็นแล้วว่าทุกคนต้องใช้เวลาคิดมากขึ้นจริงๆ

“อีกอย่างคือเราจะมีแบบฝึกหัดให้เด็กๆ สังเกตความรู้สึกตัวเอง เริ่มจากการเขียนโพสต์อิทว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร หลังจากนั้นก็ให้ลองถ่ายสิ่งที่ชอบและไม่ชอบดู เพราะภาพถ่ายมันไม่ใช่แค่กายภาพ แต่การจะถ่ายรูปให้สวยงามมันควรมีความรู้สึกอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้นเราจึงอยากให้เด็กรู้จักกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น” 

 

03 ขบวนถ่ายรูปของเด็กๆ 

หลังจบหลักสูตรเร่งรัดของคุณครูสังเคราะห์แสงในช่วงเช้า ตกบ่ายเด็กๆ ก็กลายมาเป็นคนที่เดินนำขบวน ถือกล้อง และมองหามุมภาพที่ใช่ของตัวเอง โดยมีเหล่าผู้ใหญ่คอยเดินตามหลังเพื่อสังเกตการณ์เงียบๆ

“ผมว่าเด็กๆ เดินช้าลงนะ คือทุกที่ที่ไปมันก็เป็นถนนที่เขาคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เดินกันอยู่ทุกวัน โดยที่ปกติเขามีจุดหมายแล้วว่าจะไปที่ไหน แต่พอเป็นการเดินถ่ายรูปที่ไม่ได้โฟกัสว่าฉันจะเดินไปที่ไหน เขาจึงต้องหัดเดินให้ช้าลงเพื่อสังเกตเห็นสิ่งต่างๆ จากที่ที่เขาเดินผ่านอยู่ตลอด” เด็กๆ มีเวลาเดินถ่ายกันจนถึงเย็นแล้วต้องนำฟิล์มกลับมาส่งที่ a.e.y. space ซึ่งใช้เวลาแค่ชั่วข้ามคืนเท่านั้นในการล้างฟิล์ม 

“เช้าวันต่อมาเรานัดกับเด็กๆ เพื่อมาดูและเลือกผลงานของทุกคน โดยเอาภาพทั้งหมดฉายขึ้นจอทีละรูป แล้วคุณครูก็จะชวนเจ้าของภาพคุยว่า รูปนี้ถ่ายยังไง ถ่ายที่ไหน หลังจากนั้นก็จะโหวตกันว่ามีใครชอบรูปนี้บ้าง เพื่อที่จะช่วยกันคัดเลือกรูปสำหรับจัดแสดง 

“บรรยากาศตอนคัดภาพนี่สนุกสนานมากเลย เด็กๆ บางคนก็นั่งหัวเราะกันว่ารูปนั้นมีนิ้วติดเข้ามา ซึ่งเราก็พยายามชี้ให้เขาเห็นว่ามันสวยไปอีกแบบหนึ่งนะ นี่คืออีกอย่างที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดมันไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป มันอาจจะก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ในอีกแบบหนึ่งก็ได้ ทุกอย่างมันไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ตลอดเวลา” 

“แล้วในมุมผู้ใหญ่เราได้สังเกตหรือเรียนรู้อะไรจากตัวเด็กๆ” เราย้อนกลับไปถามในมุมของเอ๋เอง

“เรารู้สึกว่าเด็กเดี๋ยวนี้กล้าแสดงออกมากๆ เขากล้ายกมือและกล้าให้ความคิดเห็นว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร เด็กที่เขินอายอาจจะมีบ้างแต่เป็นส่วนน้อย แต่ถ้าถามว่าโกลาหลไหมมันก็โกลาหลเลยแหละ” เอ๋ปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะชอบใจ

songkhla (oldtown) through young eyes

 

04 นิทรรศการที่ต้องก้มดู

เมื่อถึงเวลาติดตั้งรูป วิธีที่ง่ายที่สุดคือการจัดกลุ่มภาพตามหมวดหมู่ หรือเจ้าของผลงาน แล้วติดเรียงให้เป็นระเบียบสวยงาม นั่นคือสิ่งที่ทั้งเอ๋และทีมโรงเรียนสังเคราะห์แสงมีประสบการณ์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

“แต่พี่แบงค์ (ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช) จากทีมสังเคราะห์แสง เขามีไอเดียว่าเด็กทุกคนต่างอายุและสูงไม่เท่ากัน ตรงนี้น่าสนใจ เพราะความสูงของเขามันก็กำหนดมุมมองในการถ่ายรูปของเขาด้วยเหมือนกัน อย่างน้องเฉาก๊วยอายุ 4 ขวบครึ่งเขาก็สูงแค่ 90 ซม.เอง ต่างจากพวกเราที่สูงกันร้อยกว่าเซนติเมตร ดังนั้นเราลองมาติดทั้งหมดตามระดับสายตาของเด็กๆ ดีไหม เพื่อให้เห็นความสูงที่มันลดหลั่นกัน 

songkhla (oldtown) through young eyes

“แวบแรกผู้ชมอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมเราติดรูปไม่ค่อยเป็นระเบียบ แถมอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาคนทั่วไปมาก แต่เราคิดว่าการดูแบบนี้แหละสนุก บางทีเราอาจจะต้องก้มดูหรือนั่งยองๆ มันก็ทำให้เราได้กลับไปใช้มุมมองของเด็กอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่เขาเห็น เขาถ่าย หรือพยายามสื่อสารออกมามันเป็นยังไง” 

แต่นอกจากไอเดียในการจัดวางรูปภาพที่อยากให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจมุมมองของเด็กๆ แล้ว กระบวนการทั้งหมดของ Songkhla (Oldtown) Through Young Eyes ยังตั้งใจพาทุกคน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ให้ได้เข้าใจความสำคัญและมิติใหม่ๆ ของการถ่ายภาพอีกด้วย

“บางคนอาจจะมองว่าการถ่ายรูปเป็นสกิลที่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ แค่มีกล้องก็ถ่ายได้ แต่จริงๆ แล้วมันต้องอาศัยการทำความเข้าใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เหมือนวิธีที่โรงเรียนสังเคราะห์แสงพาเด็กๆ มาทำกิจกรรมนี้ เพราะมันจะทำให้เขามีระบบคิดที่ดีขึ้น เมื่อกลั่นกรองออกมาเป็นงานก็จะทำให้งานมีอิมแพกต์และลึกซึ้งมากขึ้น 

“ในอนาคตเราคิดว่าการถ่ายภาพมันก็เป็นสื่อที่ต่อยอดไปได้หลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือสร้างผลงานศิลปะ เราคิดว่าเราก็ได้ช่วยปูพื้นฐานให้กับเขา หลังจากจบงานนี้ไป ถ้ามีสักคนที่เขาเติบโตมาเป็นศิลปินหรือทำงานสร้างสรรค์แบบนี้ แค่นั้นเราก็ดีใจมากแล้วครับ เพราะเราก็ถือว่าเป็นคนที่ได้ช่วยเติมหนึ่งสกิลให้พวกเขา” เอ๋สรุปพร้อมรอยยิ้ม

songkhla (oldtown) through young eyes


นอกจาก Songkhla (Oldtown) Through Young Eyes ยังมีนิทรรศการอื่นๆ ในงาน Portrait of Songkhla ให้ตามไปดูกันอีกมากมาย

  1. Portrait of Songkhla นิทรรศการหลักที่รวบรวมเรื่องราวและภาพถ่ายกว่า 70 ครอบครัวชาวเมืองเก่าสงขลา (จัดแสดงถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2563 ณ โรงสีแดง หับโห้หิน ถนนนครนอก)
  2. Portrait of Songkhla Family Landmark ผลงาน Photo Montage รวบรวมภาพถ่ายของครอบครัวเมืองเก่าสงขลาบนกำแพงขนาดใหญ่ (จัดแสดงถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ณ หัวมุมถนนหนองจิก ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อหลักเมือง)
  3. From Singora to Songkhla นิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจก ที่ฉายภาพวิถีชีวิตของชาวเมืองเก่าสงขลาในอดีต (จัดแสดงถึงวันที่ 27 กันยายน 2563 ณ โรงงิ้ว ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ถนนนางงาม)
  4. Miss Songkhla นิทรรศการภาพถ่ายพอร์เทรตผู้หญิงสงขลาจากหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายช่วงวัย หลากหลายเพศสภาพ (จัดแสดงถึงวันที่ 27 กันยายน 2563 ณ บ้านเก้าห้อง ถนนหนองจิก) 
  5. The Soul of Songkhla นิทรรศการภาพถ่ายบุคคลที่มีบทบาทสทำคัญในเมืองเก่าสงขลา และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของคนทั้งชุมชนในปัจจุบัน (จัดแสดงถึงวันที่ 27 กันยายน 2563 ณ บ้านเก้าห้อง ถนนหนองจิก) 
  6. The Last Recipe of Songkhla นิทรรศการภาพถ่ายอาหารสูตรโบราณของสงขลาที่กำลังจะหายไปในรุ่นของเรา (จัดแสดงถึงวันที่ 27 กันยายน 2563 ณ ผนังตรงข้ามบ้านป้าปราณี หัวมุมถนนนครใน-ยะหริ่ง) 
  7. Songkhla (Oldtown) Post ผลงานศิลปะพร้อมเรื่องราวของชาวเมืองเก่าสงขลา ที่ถูกบันทึกไว้ ณ พ.ศ. 2563 ในรูปแบบนิทรรศการหนังสือพิมพ์เล่มยักษ์ (จัดแสดงถึงวันที่ 27 กันยายน 2563 ณ หัวมุมถนนหนองจิก ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อหลักเมือง)
  8. The Making of Portrait of Songkhla นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการทำงาน Portrait of Songkhla (จัดแสดงถึงวันที่ 27 กันยายน 2563 ณ ร้านโอห์มอิเลคทรอนิคส์ หัวมุมถนนนางงาม-รามัญ)
  9. Songkhla (Oldtown) Through Young Eyes เมืองสงขลาในสายตาหนู  นิทรรศการภาพถ่ายสงขลาในมุมมองของเด็กๆ ชาวสงขลา (จัดแสดงถึงวันที่ 27 กันยายน 2563 ณ a.e.y. space ถนนนางงาม)

AUTHOR