ยุคนี้ใครก็เดินไปไหนได้ไม่หลง แค่ปักหมุดสถานที่ที่ต้องการใน Google Maps ก็บอกระยะทางและเวลาเสร็จสรรพไม่ว่าจะขับรถ นั่งรถเมล์หรือเดินเท้าเอาก็ตาม วันเปลี่ยนเวลาผ่าน ดูเหมือนป้ายบอกทางบนเสาสูงๆ ป้ายข้อมูลสถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ กำลังไร้ความหมาย จะด้วยเหตุผลว่าเก่าเชย ข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือไม่ตอบใจคนยุคดิจิทัลแล้วก็ตาม
แต่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพ (TCDC) สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGa) และสตูดิโอออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่ party / space / design มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงป้ายเหล่านั้นได้ ในวาระที่ย่านเจริญกรุงกำลังจะคึกคักไปด้วยเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week 2018) ตั้งแต่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์นี้ การออกแบบป้ายสัญลักษณ์ที่ ‘สื่อสาร’ และ ‘ใช้งานได้’ ทั้งในแง่จุดหมายปลายทาง การเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะ มากกว่าปักไว้บนพื้นเฉยๆ ไร้คนเหลียวมองเลยเกิดขึ้นในชื่อ ‘Makeover Charoenkrung’
รู้ตัวอีกทีในบ่ายวันติดตั้งชิ้นงานจริง เราก็เดินตามติด จี๊ด-พิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ของ TCDC ผู้ควบตำแหน่งนายกสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย, โต๊ด-กัลย์ธีรา สงวนตั้ง, โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร, ฟ้า-สุวารี ศิริโชคธนวัชร์ และ โบ-สมิตา ทองเนียม ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในทีมงานสร้างสรรค์โปรเจกต์สนุกนี้เข้าไปในซอยเจริญกรุง 36 และขอให้พวกเขาเล่าให้ฟังว่านักออกแบบจะมายุ่งกับการเปลี่ยนป้ายกันไปทำไม
มองหาป้ายที่ทำให้เจริญกรุงเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
การย้ายที่ตั้งของ TCDC มาที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรักไม่ใช่การย้ายโดยไม่สนใจชุมชนรอบข้าง แต่เป็นความตั้งใจของ TCDC ที่จะต้องทำความรู้จักและเข้าใจผู้อาศัยอยู่ก่อน พร้อมกับพัฒนาเจริญกรุงให้เป็นย่านสร้างสรรค์ด้วย
ในปี 2558 จึงเกิดโครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง (Co-Create Chareonkrung) ที่หลายหน่วยงานร่วมมือกันนำเสนอพื้นที่สร้างสรรค์ในมิติอื่นๆ ที่ยังขาดอยู่ ทั้งการปรับปรุงและพัฒนาอาคารร้างเก่าแก่ที่ไม่ถูกใช้งาน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะริมน้ำ การเชื่อมต่อตรอกซอกซอย และออกแบบป้ายสัญลักษณ์ที่จะเอื้อให้คนเดินจากถนนใหญ่เข้าไปสู่ถนนเล็กที่เต็มไปด้วยจุดหมายปลายทางน่าสนใจ ตั้งแต่ศุลกสถาน สถานทูตฝรั่งเศส ชุมชนมัสยิดฮารูณ หรือแกลเลอรีเปิดใหม่มากมายที่ล้วนกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติหน้าใหม่เข้ามาในพื้นที่อยู่เสมอ
พิชิต: โครงสร้างเดิมของย่านนี้มีถนนเล็กย่อยอยู่บ้างแล้ว การเชื่อมต่อซอกซอยและโอกาสที่คนในพื้นที่จะเปลี่ยนบ้านเป็นร้านค้าหรืออะไรก็ตามเลยเกิดขึ้นได้ง่าย แต่สิ่งที่จะเชื่อมคนเข้ากับจุดหมายปลายทางเหล่านี้ เรามองหาระบบป้ายสัญลักษณ์ (signage system) เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยฟีดให้คนเดินเข้ามา
มองหาโจทย์ใหม่ที่เอื้อให้เกิดการเดินเข้าไปในชุมชน
โจทย์ที่ทั้ง TCDC, ThaiGa และ party / space / design มองเห็นร่วมกันคือการออกแบบป้ายที่สอดรับกับพฤติกรรมของคนใช้และมอบประสบการณ์ใหม่ที่แปลกออกไป ด้วยสภาพของย่านที่มีทั้งตึกเก่า โรงแรม ร้านอาหาร เลยมาลงล็อกที่การทำป้ายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในย่านเจริญกรุง โดยมีปลายทางเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
กัลย์ธีรา: พอสโคปของงานเราชัด เราเลยเปิดกว้างเรื่องรูปแบบด้วย จะไม่ได้เห็นป้ายแบบเดิมๆ แต่เปิดโอกาสให้ได้เล่น ทดลองสร้างสัญญะหรือความสนุกสนานบางอย่างลงในป้ายเพื่อสร้างประสบการณ์ให้คนอยากเดินเข้าไปในตรอกซอกซอยมากขึิ้น
พิชิต: เราอยู่ในยุคที่ถึงเรายังไปไม่ถึง เราก็รู้แล้วว่าจะไปไหน เจออะไร แต่ระหว่างทางที่จะไปถึง มันมีอะไรที่ช่วยสร้างความบันเทิงหรือดึงดูดใจเราได้หรือเปล่า ถ้าเราอยู่บ้าน เราจะไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้แน่นอน อยากให้คนมองดูระหว่างทางมากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เขาอยากเดิน
มองหาคนใช้ป้ายและเข้าไปคุยให้รู้ปัญหา
เมื่อได้โจทย์ที่สนุกตรงใจ ทีม party / space / design ลงพื้นที่สัมภาษณ์คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ จนพบปัญหาเกี่ยวกับป้ายมากมายตั้งแต่ป้ายชำรุด ข้อมูลระยะทางไม่ชัดเจน ไม่ดึงดูดให้สนใจ หรือแม้แต่ข้อมูลในป้ายผิด แถมคนในพื้นที่เองก็ไม่ได้ใช้งานป้าย เพราะอาศัยความเคยชินก็รู้ว่าสถานที่นี่อยู่ตรงไหนและเดินไปยังไง
ทีมงานเลยได้ข้อเสนอแนะส่วนใหญ่มาจากชาวต่างชาติ เช่นว่าควรมีระยะทางและทิศทางบอกในป้ายแผนที่ให้ชัดเจนว่าสถานที่ไหนถึงก่อนหรือหลัง รวมถึงข้อมูลภาษาอังกฤษที่ต้องเด่นชัด หรือบอกให้รู้ว่าในซอยนั้นๆ มีอะไรน่าสนใจให้เดินเข้าไปหา
มองหางานออกแบบที่สะดุดตาคนเดินและใกล้ชิดคนพื้นที่
การออกแบบงานในพื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มใหญ่ย่อมต่างไปจากการออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่ที่ party / space / design ถนัด ศุภรัตน์เล่าภาพรวมว่านอกจากปรับเปลี่ยนป้าย ไอเดียสำคัญคือการดึงเอาคาแรกเตอร์สัตว์ที่มีมากในย่านเจริญกรุงอย่างแมวมาใช้เล่าเรื่องเป็นตัวแทนคนในพื้นที่ ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับคนยุคนี้ได้ดีกว่า
ศุภรัตน์: เวลาเราเห็นพี่วินมอเตอร์ไซค์เลี้ยงแมวอยู่เราจะรู้สึกว่าพื้นที่นั้นน่ารักขึ้นมาทันที เลยหยิบเซนส์ตรงนี้มาใช้ทำป้ายให้กำลังใจคนเดินที่ไม่ได้ไถมือถือเล่น คือเดินจริงๆ พอได้เห็นป้ายพวกนี้ก็จะรู้ว่ายังอยู่ในเส้นทางของ Bangkok Design Week อยู่นะ คาแรกเตอร์แมวที่เราออกแบบก็มีหลายท่าทางซ่อนไว้ให้ลองหา เป็นเหมือนไมล์สโตนให้คนที่เลือกจะเดินมางาน ซึ่งคุณจะไม่เจอป้ายพวกนี้ในกูเกิลแมปส์หรอก คุณต้องออกมาเดินจริงๆ เท่านั้น
สุวารี: เหตุผลที่เราเลือกแมวเป็นคาแรกเตอร์หลักเพราะชุมชนแถบนี้เป็นชุมชนอิสลาม เขาจะใกล้ชิดกับแมวมากกว่าสุนัข ซึ่งก็ถือเป็นการเข้าใจพื้นที่ในอีกระดับหนึ่งด้วย
ศุภรัตน์: อีกอย่างคือมีตึก CAT Telecom ด้วย มันพอดีเป๊ะเลยทั้งชื่อและสีส้ม ในช่วงแรกที่ออกแบบก็มีหลายสีที่เราจะสร้างขึ้นมา เช่น สีเขียวใบตอง สีเหลืองแท็กซี่ แต่สุดท้ายด้วยงบประมาณจำกัดทำให้เราเลือกสีที่ใช้มาสองสี คือสีส้มวินมอเตอร์ไซค์และสีฟ้าท่อแป๊บ ทั้งหมดเราอยากล้อไปกับเนื้อหาของย่านด้วย ถ้าฝรั่งมาเห็นแมว เห็นตึก CAT อาจจะรู้สึกว่ามีอะไรหรือเปล่า เราอยากให้แมวเป็นเจ้าของถิ่นตรงนี้
มองหางานออกแบบที่ลดทอนให้ธรรมดา
ป้ายสัญลักษณ์ที่เราจะได้เห็นกันในงาน Bangkok Design Week นี้จะไล่ยาวตั้งแต่ลง BTS สะพานตากสิน ซอยเจริญกรุง 50 มาจนถึงซอยเจริญกรุง 36 โดยมีตั้งแต่ป้ายพื้นฐานที่เข้าไปปรับปรุง คือป้ายบอกทิศทาง ป้ายข้อมูลสถานที่ที่มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ใส่ไอคอนของสถานที่เข้าไปให้ชัดเจน
ที่สนุกคือป้ายแผนที่ย่านถูกคิดใหม่จากไอเดียว่าคนยุคนี้ไม่ได้อ่านแผนที่เพื่อหาว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ไหนหรือไปยังไง แต่อยากรู้ว่าถ้าเราจะเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งจะใช้เวลานานเท่าไหร่ การใช้ไอคอนในแผนที่ก็ทำให้การเดินหน้ามองหาป้ายเป็นเรื่องสนุกกว่าที่เคย
ศุภรัตน์: เราพัฒนาดราฟต์มาเรื่อยๆ ทั้งการใช้หมา แมว มารวมกับองค์ประกอบบ้านๆ อย่างเก้าอี้พลาสติก ใส่ข้อมูลเหมือนมีคนมาเล่า แต่เรารุู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ฉาบฉวยและไม่เป็นสากล ฝรั่งมาดูก็คงเห็นว่ารกและคนในพื้นที่เองก็ไม่ได้ยอมรับป้ายได้ง่ายขนาดนั้น คนกลัวป้าย แต่ไม่กลัวสัญลักษณ์ สุดท้ายด้วยเวลาที่เร็วขนาดนี้ เราเลยพัฒนางานในเชิงสัญลักษณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ เริ่มถอดงานที่เป็นตัวตนเราออกทีละนิดเพราะมันเกี่ยวกับเมือง พยายามจะเล่าให้น้อย แต่สร้างความจดจำให้เกิดขึ้นกับคนที่มาเดินงานนี้ เหลือแต่สิ่งที่จำเป็น อะไรที่ทำแล้วติสท์เกินไปเราก็ถอดออกหมดเลย
สมิตา: แต่ถ้าโดยอุดมคติ งานที่เราอยากทำให้เกิดจริงๆ มีคิดกันตั้งแต่ติดไฟบนเสาเพื่อให้แสงสว่างตอนกลางคืน หรือจุดหนึ่งในซอยเจริญกรุง 38 ที่ช่างภาพวิเวียน ไมเออร์ เคยมาถ่ายรูป เราก็จะมีป้ายบอกไว้ว่าถ้าคุณถ่ายรูปตรงนี้คุณจะได้มุมเดียวกับวิเวียนเลยนะ รวมถึงไอเดียการมองเห็นภาพในอดีตซึ่งถ้าทำป้ายหรืออะไรที่เป็นเลเยอร์อดีตซ้อนทับกับปัจจุบันได้ก็น่าจะสนุก เราคิดมาเยอะมาก แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างทำให้จาก 33 จุด เหลือติดตั้งได้จริง 18 จุด
ตัวอย่างป้ายทุกประเภทที่จะติดตั้งให้เห็นกันครบมีอยู่ที่ซอยเจริญกรุง 36 ปลายทางคือศุลกสถานและชุมชนมุสลิมที่แข็งแรง เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าถ้าเกิดขึ้นกับซอยอื่นๆ ในย่านนี้จะเป็นรูปแบบไหน ซึ่งเราอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองตามเจ้าเหมียวเหล่านี้ไปกันนะ
มองหาผลการทดลองและโอกาสสร้างสรรค์ย่านใหม่ๆ
ป้ายบอกทาง ป้ายข้อมูล และป้ายแผนที่ จะติดตั้งยาวต่อเนื่องประมาณ 6 เดือน แต่เจ้าป้ายแมวเหมียวจะถูกเก็บออกไปหลังจบงาน Bangkok Design Week 2018 เป็นเรื่องน่าเสียดายเล็กๆ แต่ทีมคนทำบอกเราว่าทุกโปรเจกต์ของ TCDC ล้วนเป็นการทดลองต้นแบบเพื่อจะหาวิธีการที่ดีที่สุด ถึงป้ายจะไม่อยู่ แต่สถิติและความคิดเห็นของผู้คนจะถูกรวบรวมเพื่อประเมินว่างานนี้เชื่อมโยงกับคนใช้งานได้ในมิติใดบ้างซึ่งน่าดีใจที่กรุงเทพมหานครก็ยินดีที่จะทดลองไปด้วยกัน
ไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นการเปลี่ยนป้ายใหม่นี้ในย่านอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ ก็เป็นได้
“เราอยากเริ่มต้นให้คนเดินก่อน ถ้าคนเริ่มเดิน คนจะเห็นว่าในย่านนี้มีเรื่องราวอะไรที่ถูกทิ้งไว้ตรงนี้ ซึ่งเราว่าภารกิจแรกของเราประสบความสำเร็จแล้ว คนมาเดินแน่ เราเองก็เดิน”
ภาพ party / space / design